อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชี้แจงหนังสือ "Social Studies สรุปสังคม มัธยมปลาย


ชี้แจงหนังสือ "Social Studies สรุปสังคม มัธยมปลาย" ของติวเตอร์พอยท์ นำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับอิสลาม

โดยปกติในตำราทั่วไปที่ไม่ได้เขียนโดยมุสลิมนั้นก็มักมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาอิสลามอยู่แล้ว สำหรับเนื้อหาของศาสนาอิสลามในหลักสูตรการศึกษานั้นค่อนข้างน้อยและสั้น ไม่อาจทำให้เข้าใจศาสนาอิสลามได้ชัดเจนมากนัก แต่ตามหลักสูตรแล้วก็ไม่เน้นออกข้อสอบเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ส่วนมากจะมีก็เพียงคำถามปรนัยข้อเดียวหรือสองข้ออย่างมาก ฉะนั้นหนังสือติวสอบก็ไม่ควรมีเนื้อหาเกี่ยวกับนิกาย เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องมีความแม่นยำด้านข้อมูล

ในการนำเสนอของผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมนั้น ก็ย่อมต้องเป็นกลางไม่โน้มเอียงไปทางนิกายใด เพียงแต่ต้องนำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องเกี่ยวกับความเข้าใจของคนในนิกายนั้นๆ หรือกลุ่มนั้นๆ (กรณีถ้าจะลงรายละเอียดแนวทางย่อยๆ)

สำหรับอิสลามนั้น ตัวศาสนาไม่มีนิกาย แต่นิกายในที่นี้หมายถึงนิกายของมุสลิมแต่ละกลุ่มแนวทาง ซึ่งหากแบ่งประเภทเหมือนกับส่วนของศาสนาคริสต์แล้ว ดังเช่นหนังสือเล่มนี้ก็ได้ระบุว่ามีโรมันคาทอลิก, ออโธด็อกซ์ และโปรเตสแตนท์ ในลักษณะประหนึ่งแยกกันเป็นคนละศาสนาเพียงแต่ใช้ชื่อเดียวกัน เช่นนั้นแล้วของมุสลิมจะมี 2 นิกายเท่านั้นก็คือ ซุนนี และ ชีอะห์ ซึ่งแต่ละนิกายจะมีกลุ่มก้อนแยกย่อยไปอีกหลายแนวทาง แต่หลักๆมาจาก 2 กลุ่มนี้

ในส่วนอื่นที่เป็นเนื้อหาของศาสนาอิสลามนั้น อาจจะสั้นและไม่ครบถ้วนแต่ก็ไม่ได้มีอะไรที่คลาดเคลื่อน แต่จะมีข้อมูลที่บิดเบือน คลาดเคลื่อนไม่ตรงตามความเป็นจริง คือหน้า 17 ของหนังสือ “Social Studies สรุปสังคม มัธยมปลาย” (ในส่วนของนิกาย) ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นกลางมาจากทางบุคคลที่ยึดถือในนิกายชีอะห์ โดยเนื้อหาทั้งหมดกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ (เราพิมพ์ตามสำนวนในหนังสือทั้งหมดทุกคำพูด)

>>>>>>
4.) นิกายในศาสนาอิสลาม : การแยกนิกายในอิสลาม มิได้เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องคำสอนหรือศาสนกิจ แต่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองและการปกครองที่หาข้อยุติไม่ได้ จึงเกิดเป็นนิกายต่างๆมากมาย ซึ่งมีนิกายที่สำคัญในปัจจุบัน ไดแก่

ซุนนี (Sunni)
- ชื่อนิกายมาจากคำว่า “ซุนนะห์” แปลว่าจารีตที่นับถือกันมาแต่เดิม
- เป็นนิกายที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลก เช่น ส่วนมากในตุรกี ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศไทย
- หลังจากสิ้นนบีมูฮัมหมัด ได้มีการจัดเลือกตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่ง “คอลีฟะห์” (กาหลิบ) โดยคอลีฟะห์คนแรกที่ได้รับเลือกคือ อะบูบักร์
- เคารพคอลีฟะห์เพียง 4 คนเท่านั้นคือ อะบูบักร์ อุมัร อุสมาน และอาลี
- สัญลักษณ์ของนิกายคือหมวกสีขาว

ชิอะห์ (Shiah)
- ชื่อนิกายมาจากคำว่า “ชีอะตุลอาลี” แปลว่าผู้สนับสนุนอาลี เรียกสั้นๆว่าชิอะห์
- เป็นนิกายที่มีผู้นับถือมากที่สุดในอิหร่าน อิรัก อินเดีย อัฟกานิสถาน
- มีตำแหน่งผู้สืบทอดของนบีมูฮัมหมัดเรียกว่า “อิหม่าม” เป็นผู้หมดมลทินจากบาป และเป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า และเชื่อว่าจะต้องเป็นญาติของศาสดา ซึ่งมีอิหม่ามที่สืบทอดอย่างถูกต้องเพียง 12 คนเท่านั้น
- เชื่อว่านบีมูฮัมหมัดได้แต่งตั้ง “อาลี” ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านเป็นผู้สืบทอดไว้แล้วต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก หลังจากเดินทางกลับจากการบำเพ็ญฮัจญ์ครั้งสุดท้าย ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าคอลิฟะห์ที่ได้เลือกตั้งกันขึ้นมานั้นไม่ใช่คอลีฟะห์ที่แท้จริง
- สัญลักษณ์ของนิกายคือหมวกสีแดง

คอวาริจ (Kowarige)
- ชื่อนิกายเป็นพหูพจน์ของคำว่า “คอริจ” แปลว่าผู้ออกไป
- เป็นนิกายที่มีผู้นับถือมากในโอมาน แอลจีเรีย คาบสมุทรอาระเบียตอนใต้
- สาเหตุที่นิกายคอวาริจแยกตัวออกมาเนื่องจากไม่พอใจคอลีฟะห์คนที่ 4 คือคอลีฟะห์อาลี จึงได้มีการเลือกตั้งคอลีฟะห์ของตนเองขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นญาติของศาสดา และมุสลิมทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งนี้ด้วย
- มุสลิมโดยทั่วไปมองมุสลิมนิกายคอวาริจว่าเป็นพวกนอกคอก

วะฮาบี (Wahabi)
- ชื่อนิกายมาจากชื่อผู้ก่อตั้งนิกายคือ โมฮัมเหม็ด อับดุล วาฮับ
- เป็นนิกายที่มีผู้นับถือบ้างในอินเดีย แอฟริกาตะวันออก และประเทศในตะวันออกกลาง
- จุดประสงค์หลักของนิกายนี้ คือ การรักษาความดั้งเดิม และความบริสุทธิ์ของศาสนาอิสลามเอาไว้ ปฏิเสธทุกสิ่งที่มิได้กล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอาน
- เชื่อในพระอัลเลาะห์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ไม่เชื่อผู้นำศาสนาคนใดอีก ทั้งคอลีฟะฟ์ อิหม่าม แม้กระทั่งศาสดานบีมูฮัมหมัด

>>>>>>>>>>>>>>>>>
จากตรงนี้มีส่วนที่คลาดเคลื่อนซึ่งขอขี้แจงเป็นประเด็น ดังต่อไปนี้
( ในส่วนที่หนังสือกล่าวจะใช้ว่า Social Studies : และในส่วนที่ทางเราชี้แจงจะใช้ว่า ชี้แจง : )

Social Studies :
การแยกนิกายในอิสลาม มิได้เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องคำสอนหรือศาสนกิจ แต่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองและการปกครองที่หาข้อยุติไม่ได้ จึงเกิดเป็นนิกายต่างๆมากมาย

ชี้แจง :
การขัดแย้งทางนิกายระหว่างซุนนีและชีอะห์เริ่มต้นมาจากเหตุเรื่องการปกครองจริง แต่ภายหลังได้มีความขัดแย้งเรื่องหลักความเชื่อ หลักคำสอนและศาสนกิจด้วย หากแยกย่อยกลุ่มตามที่ทางหนังสือแบ่งมาให้แล้ว มีตัวอย่างของคอวาริจด้วยนั้น กลุ่มนี้เกิดจากการขัดแย้งในเรื่องความเชื่อ คำสอนโดยตรง ก่อนจะเป็นความขัดแย้งทางการเมือง คือคอวาริจมีความเชื่อว่าคนทำบาปใหญ่ถือว่าออกนอกรีตศาสนาอิสลาม และทำให้เกิดการก่อกบฏต่อผู้ปกครองบ้านเมือง แต่มุสลิมกระแสหลักไม่ได้เชื่อเช่นนั้น
ส่วนสำหรับกลุ่มแนวทางแยกย่อยอื่นๆนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการปกครอง แต่เป็นความแตกต่างซึ่งมีทั้งในเรื่องของความเชื่อและเรื่องของศาสนกิจ เช่นแนวมุอ์ตะซีละห์, อะชาอิเราะห์, ก็อดรียะห์ เป็นต้น

Social Studies :
ซุนนี (Sunni)
- ชื่อนิกายมาจากคำว่า “ซุนนะห์” แปลว่าจารีตที่นับถือกันมาแต่เดิม
- เป็นนิกายที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลก เช่น ส่วนมากในตุรกี ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศไทย

ชี้แจง :
ซุนนะห์ ไม่ได้แปลว่าจารีตที่นับถือกันมาแต่เดิม แต่ซุนนะห์แปลว่า หนทางหรือแนวทาง ในวิชาการศาสนาหมายถึงแนวทางของท่านศาสดามุฮัมมัด ซุนนีเป็นแนวทางที่เคารพรักบรรดาสาวกศาสดาทุกคน ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ (ซึ่งมีกลุ่มย่อยตามความเชื่อที่ต่างกันเล็กๆน้อยๆออกไป แต่ถือเป็นซุนนีทั้งหมด) ยกเว้นประเทศอิหร่านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชีอะห์ และในอิรักซึ่งมีชีอะห์อยู่มากพอสมควร

Social Studies :
- หลังจากสิ้นนบีมูฮัมหมัด ได้มีการจัดเลือกตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่ง “คอลีฟะห์” (กาหลิบ) โดยคอลีฟะห์คนแรกที่ได้รับเลือกคือ อะบูบักร์
- เคารพคอลีฟะห์เพียง 4 คนเท่านั้นคือ อะบูบักร์ อุมัร อุสมาน และอาลี
- สัญลักษณ์ของนิกายคือหมวกสีขาว

ชี้แจง :
ตำแหน่งคอลีฟะห์คนแรกไม่ได้เป็นการเลือกตั้ง (คือไม่ได้ให้ประชาชนทุกคนมาโหวต) แต่ใช้หลักการชูรอ คือให้บุคคลสำคัญที่สังคมนับถือมาปรึกษาหารือแต่งตั้งผู้นำ และให้สัตยาบันรับรอง ซึ่งท่านอาลี คอลีฟะห์คนที่ 4 ก็รับรองการเป็นคอลีฟะห์ของ 3 ท่านแรก โดยที่ท่านเป็นที่ปรึกษาของทั้ง 3 คอลีฟะห์ และซุนนีไม่ได้เคารพคอลีฟะห์เพียง 4 คนเท่านั้น แต่เคารพคอลีฟะห์ทุกคนถึงแม้ภายหลัง รัฐอิสลามจะแตกออกเป็น 2 อาณาจักรก็ตาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอลีฟะห์ที่เป็นสาวกท่านศาสดาก็จะเคารพเป็นพิเศษ
ข้อสุดท้าย เรื่องสีหมวกไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของนิกายใดๆ ข้อนี้ถือว่าเป็นความคลาดเคลื่อนอย่างมาก มุสลิมจะมีเอกลักษณ์เรื่องการแต่งกายคือผ้าพันศีรษะหรือหมวก แต่ไม่เป็นข้อบังคับเหมือนในศาสนาซิกข์ และไม่มีข้อกำหนดเรื่องสี ซุนนีสามารถสวมหมวกสีดำ สีขาว สีแดง หรือสีใดๆก็ได้ ไม่มีความเชื่อใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้

Social Studies :
ชิอะห์ (Shiah)
- ชื่อนิกายมาจากคำว่า “ชีอะตุลอาลี” แปลว่าผู้สนับสนุนอาลี เรียกสั้นๆว่าชิอะห์
- เป็นนิกายที่มีผู้นับถือมากที่สุดในอิหร่าน อิรัก อินเดีย อัฟกานิสถาน

ชี้แจง :
ค่อนข้างตรง แต่คลาดเคลื่อนเรื่องประชากรในส่วนของอินเดียและอัฟกานิสถาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซุนนี มัซหับ(สำนักนิติบัญญัติ)หะนะฟี ไม่ใช่ชีอะห์

Social Studies :
- มีตำแหน่งผู้สืบทอดของนบีมูฮัมหมัดเรียกว่า “อิหม่าม” เป็นผู้หมดมลทินจากบาป และเป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า และเชื่อว่าจะต้องเป็นญาติของศาสดา ซึ่งมีอิหม่ามที่สืบทอดอย่างถูกต้องเพียง 12 คนเท่านั้น
- เชื่อว่านบีมูฮัมหมัดได้แต่งตั้ง “อาลี” ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านเป็นผู้สืบทอดไว้แล้วต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก หลังจากเดินทางกลับจากการบำเพ็ญฮัจญ์ครั้งสุดท้าย ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าคอลิฟะห์ที่ได้เลือกตั้งกันขึ้นมานั้นไม่ใช่คอลีฟะห์ที่แท้จริง
- สัญลักษณ์ของนิกายคือหมวกสีแดง

ชี้แจง :
ในส่วนอิหม่ามของชีอะห์นั้นอธิบายได้ถูกต้อง แต่เรื่องจำนวนอิหม่ามจะเห็นได้ชัดว่าข้อมูลมาจากชีอะห์ในกลุ่ม 12 อิหม่ามฝ่ายเดียว ไม่เป็นธรรมต่อชีอะห์กลุ่มอื่น เนื่องจากชีอะห์มีกลุ่มที่เชื่อว่าอิหม่ามมีแค่ 4 คน (เรียกว่าชีอะห์ 4 อิหม่าม) และบางกลุ่มเชื่อว่าอิหม่ามที่ถูกต้องมี 7 คน (เรียกว่าชีอะห์ 7 อิหม่าม)
สำหรับส่วนที่ว่าท่านนบีมุฮัมมัดแต่งตั้งท่านอาลีไว้แล้วจึงไม่ยอมรับคอลีฟะห์ท่านอื่นนั้น ตรงตามที่ชีอะห์เชื่อทุกประการ แต่มุสลิมนิกายซุนนีไม่ได้เชื่อเช่นนั้น ซุนนีเชื่อว่าท่านนบีมุฮัมมัดไม่ได้แต่งตั้งใครไว้ และเชื่อว่าได้ชี้แนะในเรื่องความประเสริฐของสาวกไว้เท่านั้น ซึ่งบรรดาผู้นำสังคมจึงชูรอแต่งตั้งคอลีฟะห์ตามลำดับความประเสริฐ
ส่วนเรื่องของหมวกที่ว่าสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของชีอะห์ก็ไม่ตรง เพราะเราจะเห็นได้ว่าซุนนีจำนวนมากก็นิยมสวมสีแดง เช่นบรรดาคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยประเทศอียิปต์ ส่วนบรรดาผู้นำศาสนาของชีอะห์ก็ไม่ได้สวมหมวกสีแดง แต่นิยมโพกผ้าพันศีรษะสีขาวบ้างและสีดำบ้าง เนื่องจากศาสดาเคยพันผ้าสีดำไว้เช่นกัน

Social Studies :
วะฮาบี (Wahabi)
- ชื่อนิกายมาจากชื่อผู้ก่อตั้งนิกายคือ โมฮัมเหม็ด อับดุล วาฮับ
- เป็นนิกายที่มีผู้นับถือบ้างในอินเดีย แอฟริกาตะวันออก และประเทศในตะวันออกกลาง

ชี้แจง :
(สำหรับส่วนของคอวาริจไม่มีอะไรท้วงติง จึงขอข้าม)
ความจริงแล้ววะฮาบีไม่ใช่กลุ่มนิกายหรือกลุ่มความเชื่อย่อยใดๆ ไม่มีในหลักสูตรการเรียนการศึกษาวิชาการศาสนาว่าวะฮาบีเป็นนิกายหรือเป็นกลุ่มแนวทางย่อยแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นชื่อเรียกที่เกิดจากความขัดแย้งในสังคมมุสลิม แล้วก็มีการนำไปตั้งชื่อโจมตี โดยไม่มีนิยามหรือข้อมูลสามารถระบุได้ว่ากลุ่มใดคือวะฮาบี มีความเชื่ออย่างไร จนกระทั่งสื่อตะวันตกนำชื่อนี้ไปเรียกขานกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ
แนวทางที่ถูกเรียกว่าวะฮาบีนั้น ก็คือกลุ่มซุนนีที่ยึดถือมัซหับฮัมบาลี ซึ่งมีมากในซาอุดิอาระเบีย (ที่ทางหนังสือกล่าวถึงซุนนีว่าส่วนมากอยู่ในซาอุดิอาระเบีย) เนื่องจากมุฮัมมัด อับดุลวะฮาบ (ชื่อสะกดแบบเดียวกันกับชื่อท่านศาสดา) เป็นผู้อยู่ในแนวซุนนี มัซหับฮัมบาลี และเป็นผู้ก่อตั้งประเทศซาอุดิอาระเบีย ขึ้นชื่อเรื่องการฟื้นฟูหลักการอิสลามอันบริสุทธิ์เหมือนยุคแรก และคนเจริญรอยตามการฟื้นฟูนี้มีอยู่ในทุกประเทศที่มีซุนนี มีซุนนีที่ไหนก็จะมีกลุ่มที่เรียกร้องสู่อิสลามอันบริสุทธิ์หรือที่ถูกเรียกว่าวะฮาบีนี้

Social Studies :
- จุดประสงค์หลักของนิกายนี้ คือ การรักษาความดั้งเดิม และความบริสุทธิ์ของศาสนาอิสลามเอาไว้ ปฏิเสธทุกสิ่งที่มิได้กล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอาน
- เชื่อในพระอัลเลาะห์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ไม่เชื่อผู้นำศาสนาคนใดอีก ทั้งคอลีฟะฟ์ อิหม่าม แม้กระทั่งศาสดานบีมูฮัมหมัด

ชี้แจง :
การฟื้นฟูอิสลามอันบริสุทธิ์มีอยู่ในทุกๆยุค ทุกๆที่ที่มีชาวซุนนีก็จะมีกลุ่มคนที่พยามปฏิบัติตามคำสอนในอัลกุรอานและอัลฮะดีส เหมือนที่ทางหนังสือกล่าวไว้ในหน้า 16 ว่าเป็นแหล่งคำสอนของอิสลาม และไม่มีมุสลิมกลุ่มใดที่ปฏิเสธ อย่างกลุ่มที่ถูกเรียกว่าวะฮาบีก็ไม่ได้ปฏิเสธทุกสิ่งที่ไม่อยู่ในอัลกุรอาน แต่ยึดถือฮะดีสของศาสดามุฮัมมัดด้วย รวมถึงแบบอย่างคำสอนจากเหล่าสาวก ฉะนั้นที่กล่าวว่า กลุ่มนี้ไม่เชื่อผู้นำศาสนาคนใดอีก ทั้งคอลีฟะห์ อิหม่าม แม้กระทั่งศาสดามุฮัมมัด นั้นเป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก
มุสลิมทุกกลุ่มยึดถือคำสอนของศาสดามุฮัมมัด ยกเว้นในประวัติศาสตร์มีอยู่กลุ่มเดียวที่ไม่ยึดถือคือ กลุ่มกุรอานียีน กลุ่มนี้จะยึดถือแต่อัลกุรอานเท่านั้น ไม่ยึดฮะดีส
มุสลิมซุนนีทุกกลุ่มยึดถือสาวกและคอลีฟะห์ ส่วนชีอะห์จะยึดถืออิหม่าม (ไม่ว่าจะ 7 หรือ 12) แต่สถานะต่างกันกับที่ซุนนีเคารพ เนื่องจากซุนนีจะไม่เคารพนับถือใครถึงขั้นบูชา นอกจากพระเจ้าเท่านั้นที่สักการะบูชา
ดังที่ในหนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ใน หน้า 16 บรรทัดที่ 6 “.....เชื่อในพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว คือพระอัลเลาะห์ (Allah) เท่านั้น” และในหน้า 18 (ดังนี้)
2.) ประวัติศาสนา
..........
- ศาสนาอิสลามไม่มีนักบวช มีเพียงอิหม่ามเป็นผู้นำในการนมัสการพระเจ้าเท่านั้น
- ศาสนาอิสลามไม่มีรูปเคารพใดๆ ......
1) หลักศรัทธา 6 (หลักอีมาน)
1. ศรัทธาในพระอัลเลาะห์ : ไม่สักการบูชาสิ่งอื่นใด เพราะถือเป็นการตั้งสิ่งเสมอพระเจ้า ซึ่งถือเป็นบาปมหันต์ มิอาจยกโทษให้ได้

นี่คือหลักการสิ่งที่ซุนนีทั้งหมดยึดถือ และหนังสือก็ได้กล่าวถึงหลักการอิสลามอย่างถูกต้องแล้ว
..............................

เราขอชี้แจงเพียงเท่านี้ และเรียนทุกท่านให้ทราบว่า ปัจจุบันชีอะห์มักเคลื่อนไหวในด้านการให้ข้อมูลกับคนศาสนิกอื่น ซึ่งเป็นข้อมูลที่มักไม่ตรงความจริงที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งขอให้บรรดาผู้ผลิตสื่อทั้งหลายหากต้องการนำเสนอเกี่ยวกับอิสลาม ให้รับข้อมูลไปจากทางมุสลิมกระแสหลักเท่านั้น และต้องเป็นบุคคลที่ยอมรับโดยทั่วกันเช่น จุฬาราชมนตรี หรือคณาจารย์ที่สำนักจุฬาราชมนตรีรับรอง เป็นผู้ให้ความรู้หรือตรวจสอบความถูกต้อง ไม่ใช้การสอบถามข้อมูลจากมุสลิมเพียงเพราะเป็นคนมีชื่อเสียงในสังคม เนื่องจากอาจเป็นบุคคลที่ไม่รอบรู้เรื่องศาสนาก็เป็นได้

หากจะนำเสนอถึงศาสนาใดๆ หรือนิกายใดๆ ก็ให้เป็นไปตามข้อมูลที่ศาสนิกนั้นๆ หรือกลุ่มนิกายๆนั้นยึดถือ ไม่ใช่นำเสนอตามมุมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ซึ่งสำหรับเพจนี้ได้ชี้แจงตามความเข้าใจของซุนนี



......................
โดยอัซซาบิกูน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น