...... สาเหตุ ..........
สาเหตุที่ทำให้อีหม่านอ่อนแอนั้นมีหลายสาเหตุ บางส่วนปรากฏอยู่ร่วมกับตัวโรค เช่น การกระทำบาปต่าง ๆ การหมกมุ่นกับโลกนี้ ต่อไปนี้จะกล่าวถึงบางสาเหตุเพิ่มเติมจากที่กล่าวมาข้างต้น
1. ห่างไกลจากบรรยากาศแห่งอีหม่าน
สาเหตุหนึ่งก็คือ การห่างไกลจากบรรยากาศแห่งอีหม่านเป็นเวลานาน นี่คือปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคอีหม่านอ่อนในบุคคลหนึ่ง
อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ตรัสว่า
“ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่หัวใจของพวกเขาจะนอบน้อมต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และสิ่งซึ่งได้มีลงมาคือความจริง และพวกเขาอย่าได้เป็นเช่นบรรดาผู้ได้รับคัมภีร์มาแต่ก่อนนี้ แล้วช่วงเวลาได้เนิ่นนานเกินไปแก่พวกเขา ดังนั้นหัวใจของพวกเขาจึงแข็งกระด้าง และส่วนมากของพวกเขาจึงเป็นผู้ฝ่าฝืน” (อัลกุรอาน 57 : 16)
อายะฮฺนี้แสดงให้เห็นว่า การอยู่ห่างไกลจากบรรยากาศแห่งอีหม่าน เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความอ่อนแอของอีหม่านขึ้นในหัวใจ ยกตัวอย่างบุคคลหนึ่งได้อยู่ห่างไกลจากพี่น้องร่วมศาสนาของเขาเป็นเวลายาวนาน อันเนื่องจากการเดินทาง การงาน หรือเรื่องอื่น ๆ เป็นผลให้บรรยากาศแห่งอีหม่านขาดหายไปจากชีวิตของเขา ซึ่งเขาเคยมีชีวิตอย่างร่มเย็นได้ร่วมเงาของมัน และหัวใจที่แข็งแกร่งของเขาก็เคยเจริญงอกงามอย่างต่อเนื่อง โดยลำพังแล้วผู้ศรัทาคนหนึ่งจะอ่อนแอ แต่จะเข้มแข็งหากอยู่ร่วมกับพี่น้องร่วมศาสนาของเขา ท่านฮะซัน อัล-บัศรียฺ ได้กล่าวว่า “พี่น้องของเราเป็นที่รักต่อเรามากกว่าครอบครัวของเรา ครอบครัวของเราทำให้เรานึกถึงโลกนี้ แต่พี่น้องของเราทำให้เรานึกถึงโลกหน้า”
หากการห่างไกลจากบรรยากาศเช่นนี้ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องผลที่ตามมาก็คือ เกิดความไม่คุ้นเคยขึ้นในหัวใจ ในที่สุดจะทำให้เขารู้สึกไม่ชอบบรรยากาศแห่งอีหม่าน ส่งผลให้จิตใจแข็งกระด้าง และมืดบอดและดับรัศมีแห่งอีหม่าน นี่เป็นคำอธิบายเหตุการณ์พลิกผันกับบางคนที่ออกเดินทางหรือถูกส่งไปยังสถานที่อื่นเพื่อทำงานหรือศึกษาหาความรู้
2. ห่างไกลจากแบบอย่างที่ดีงาม
คนที่ได้ศึกษาเล่าเรียนภายใต้การดูแลของคนดีที่มีทั้งความรู้ที่อำนวยประโยชน์ อะมัล (การงาน) ที่ดีงาม อีหม่านที่แข็งแกร่ง และได้เอาใจใส่พร้อมกับเป็นตัวอย่างให้แก่เขาในเรื่องของความรู้ บุคลิกภาพ และความดีเลิศอื่น ๆ หากว่านักเรียนคนนี้ห่างจากครูของเขาไปสักระยะหนึ่ง เขาจะรู้สึกได้ถึงความแข็งกระด้างของหัวใจ ด้วยเหตุนี้ เมื่อท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้ถึงแก่ชีวิต และได้มีการจัดการฝังร่างของท่าน บรรดาเศาะฮาบะฮฺได้กล่าวว่า “เมื่อเรามองดูหัวใจของเราแล้วรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างล้ำลึก”
ทั้งนี้เพราะว่าความรู้สึกอ้างว้างเข้ามาเผชิญกับชีวิตพวกเขา อันเนื่องจากการจากไปของ มุร็อบบียฺ (ผู้นำการขัดเกลาทางจิตวิญญาณ) ครู และแบบอย่างเช่นเดียวกับบางรายงานที่พรรณนาสภาพในขณะนั้นไว้ว่า “ประหนึ่งแกะที่อยู่ท่ามกลางค่ำคืนฝนพรำแห่งฤดูหนาว”
อย่างไรก็ตาม ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ยังได้ทิ้งผู้นำที่ยิ่งใหญ่ไว้เบื้องหลัง ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการสืบตำแหน่งและบางส่วนของพวกเขา สามารถเป็นแบบอย่างให้กับคนอื่น ๆ ได้อีกด้วย แต่ทุกวันนี้มุสลิมเราะต่างโหยหา “แบบอย่าง” ที่ใกล้เคียงกับพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง
3. สาเหตุในข้อนี้เกิดจากการห่างไกลจากการแสวงหาความรู้อิสลาม
ขาดความคุ้นเคยกับหนังสือของชาวสลัฟ (ชนยุคแรก) และหนังสือเกี่ยวกับอีหม่านที่จะช่วยชุบหัวใจให้มีชีวิต มีหนังสือหลายประเภทที่ทำให้คนอ่านเกิดความรู้สึก และกระตุ้นอีหม่านในหัวใจของเขา และขับเคลื่อนแรงจูงใจแห่งอีหม่านที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวเขาได้
หนังสือชั้นยอดที่สุดจากที่กล่าวมาก็คือ อัล-กุรอาน จากนั้นก็คือ ตำรับตำราที่เกี่ยวกับ อัล-ฮาดีษ และหนังสือของบรรดาอุลามะฮฺชั้นนำในเรื่องของการทำให้หัวใจนุ่มนวล และการให้คำตักเตือน ซึ่งพวกเขามีความยอดเยี่ยมในการนำเสนออะกีดะฮฺผ่านวิธีการชุบหัวใจให้มีชิวิต ตัวอย่างเช่น หนังสือของ อัลลามะฮฺ อิบนุ กอยยิม, อิบนุ เราะญับ และคนอื่น ๆ
สำหรับการตัดขาดออกจากหนังสือแนวนี้ พร้อม ๆ กันนั้นได้หันไปคร่ำเคร่งอยู่กับหนังสือเชิงอุดมการณ์ล้วน ๆ หรืองานเขียนเกี่ยวกับกฎหมายอิสลามที่ปราศจากการนำเสนอหลักฐาน หรือตำราด้านภาษาและหลักการพื้นฐานต่าง ๆ บางครั้งอาจก่อให้เกิดความแข็งกระด้างขึ้นในหัวใจ
นี่ไม่ใช่การตำหนิตำราด้านภาษาหรือหลักการพื้นฐานต่าง ๆ หรือหนังสืออื่น ๆ แต่เป็นการให้คำเตือนแก่บุคคลที่หลีกเลี่ยงจากการอ่านหนังสือตัฟซีรและฮะดีษ ซึ่งท่านพบว่าเขาแทบจะไม่อ่านหนังสือประเภทนี้เลย แม้ว่าหนังสือประเภทนี้จะนำเขาสู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็ตาม
ยกตัวอย่าง เมื่อท่านอ่านเศาะฮีฮฺบุคอรีและมุสลิม ท่านจะรับรู้ถึงบรรยากาศยุคแรกในสมัยของท่านเราะซูล (ซ.ล.) และบรรดาเศาะฮาบะฮฺ ท่านจะรู้สึกถึงลมหายใจของอีหม่านจากชีวประวัติและชีวิตของพวกเขา อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น
อะหลุล ฮะดีษ (กลุ่มชนแห่ง อัล – ฮะดีษ) ก็คือกลุ่มชนของท่านเราะซูล (ซ.ล.) แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้อยู่ร่วมกับท่าน แต่พวกเขาก็ได้อยู่ร่วมกับลมหายใจของท่าน (หมายถึงคำพูดของท่านนบี (ซ.ล.) ในหนังสือ ฮะดีษ – ผู้แปล)
สาเหตุการห่างไกลจากตำรับตำราเกี่ยวข้องกับอีหม่าน จะส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดกับผู้ที่ศึกษาวิชาการต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำสอนอิสลาม เช่น ปรัชญา จิตวิทยา สังคมวิทยา และวิชาการแขนงอื่น ๆ ที่ประกอบขึ้นมาโดยห่างไกลจากคำสอนอิสลาม เช่นเดียวกับการหมกมุ่นอ่านนวนิยายเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ หรือติดตามข่าวสารที่ไร้ประโยชน์จากหน้าหนังสือพิมพ์ วารสาร และอื่น ๆ ที่เขาสนใจและติดตามอย่างต่อเนื่อง
4. อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ห้อมล้อมด้วยบาป
สาเหตุของอีหม่านอ่อนอีกประการหนึ่ง ก็คือ การที่มุสลิมคนหนึ่งอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กึกก้องไปด้วยเสียงแห่งการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) (เต็มไปด้วยการกระทำบาป – ผู้แปล) คนหนึ่งคุยโอ้อวดถึงบาปที่เขาได้กระทำไป อีกคนฮัมเพลงทั้งเนื้อร้องและทำนอง คนที่สามสูบบุหรี่ คนที่สี่กำลังกางหนังสือลามก คนที่ห้าพ่นคำหยาบคายสบถถ้อยคำที่กักขฬะ ส่วนการสนทนาก็มีเรื่องทำนอง “คนนั้นพูดว่า คนนี้เล่าว่า” (เรื่องโจษจันที่ไม่มีหลักฐาน – ผู้แปล) การนินทา การใส่ร้าย หพูดคุยกันเกี่ยวกับข่าวของการแข่งขันฟุตบอล สภาพอย่างนี้เกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด
ในบางสิ่งแวดล้อมไม่มีการนึกถึงเรื่องอื่นใดเลยเว้นแต่เรื่องของโลกนี้ ดังที่ปรากฏอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าในสถานที่พบปะกันของผู้คน หรือที่ทำงานต่าง ๆ มีแต่การพูดคุยกันเรื่องของธุรกิจ การทำงาน ทรัพย์สิน การลงทุน ปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน การขึ้นเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง การมอบหมายงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไดรับความเอาใจใส่เป็นเรื่องแรกจากผู้คน และเป็นเรื่องพูดจากกันในลำดับต้น ๆ
สำหรับในบ้านก็เกิดเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้มีภัยร้ายและกิจการที่ชั่วร้ายต่าง ๆ จากสิ่งที่น่าอับอายสำหรับมุสลิม และทำเอาหัวใจของเขาต้องแตกสลาย นั่นคือ บ้านของมุสลิมเต็มไปด้วยบทเพลงที่ไร้ยางอาย ภาพยนตร์ที่ชั่วร้าย การปะปนที่ต้องห้ามระหว่างชายหญิง และเรื่องเลวร้ายอื่น ๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ทำให้หัวใจต้องประสบกับโรคร้ายที่เปลี่ยนมันให้กลายเป็นความแข็งกระด้าง
5. หมกมุ่นอยู่กับโลกนี้
การหมกมุ่นอยู่กับโลกนี้ จนหัวใจได้กลายเป็นทาสของมัน เป็นสาเหตุอีกข้อหนึ่งของอีหม่านอ่อน ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
“ทาสของดีนารฺ ทาสของดีรฮัม ประสบกับความวิบัติ” รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2730
ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวอีกว่า
“เพียงพอแล้วสำหรับคนหนึ่งจากพวกท่าน ที่สิ่งที่อยู่ในโลกนี้เสมือนเสบียงของคนเดินทาง” รายงานโดย อัฎ-เฏาะบะรอนียฺ ในอัล-กะบีรฺ 4/78 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ 2384
หมายความว่ามันเป็นสิ่งที่เล็กน้อยเป็นเพียงปัจจัย ที่ทำให้เขาบรรลุจุดหมายปลายทาง
ปรากฏการณ์การลุ่มหลงต่อโลกนี้เป็นสิ่งชัดเจนในยุคสมัยนี้ ซึ่งจะพบเห็นความกระหายทางวัตถุและความปรารถนาที่จะได้รับสิ่งของในโลกอันไร้ค่านี้ได้ลุกลามแพร่กระจายโดยทั่วไป มนุษย์จึงหันมาแข่งขันกันในธุรกิจการค้า อุตสาหกรรมการผลิต และหุ้นส่วนต่าง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นหลักฐานยืนยันในสิ่งที่ท่านนบี (ซ.ล.) ได้แจ้งให้ทราบแล้วว่า อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ตรัสว่า
“เราได้ให้ความมั่งคั่งลงมาเพื่อให้มีการละหมาดและการจ่ายซะกาต แต่หากลูกหลานอาดัมมีหุบเขา (บางรายงานกล่าวว่า หุบเขาที่เต็มไปด้วยทองคำ – ผู้แปล) หนึ่ง เขาก็ต้องการที่จะมีหุบเขาที่สอง ถ้าเขามีสองหุบเขา เขาก็ต้องการที่จะมีหุบเขาแห่งที่สาม ท้องของลูกหลานอาดัมไม่มีอะไรเติมลงไปเว้นแต่ดินฝุ่น (หมายถึง เขายังคงโลภมากจนกระทั่งวิญญาณหลุดจากร่างและดินสุสานจะกลบหน้าของเขา – ผู้แปล) จากนั้นอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะรับการกลับเนื้อกลับตัวจากผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว” รายงานโดย อะหมัด 5/219 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ 1781
6. สาละวนอยู่กับทรัพย์สิน ภรรยา และลูก ๆ
เช่นเดียวกันสาเหตุหนึ่งของอีหม่านอ่อนก็คือ การสาละวนอยู่กับทรัพย์สิน ภรรยาและลูก ๆ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้กล่าวว่า
“และพึงรู้เถิดว่า แท้จริงทรัพย์สินของพวกเจ้าและลูก ๆ ของพวกเจ้านั้น เป็นสิ่งทดสอบ” (อัล-กุรอาน 8 : 28)
“ได้ถูกทำให้สวยงาม (ลุ่มหลง) แก่มนุษย์ซึ่งความรักในบรรดาสิ่งที่เป็นเสน่ห์อันได้แก่ผู้หญิงและลูกชาย, ทองและเงินอันมากมาย และม้าดี และปศุสัตว์ และไร่นา นั้นเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ชั่วคราวในชีวิต ความเป็นอยู่แห่งโลกนี้เท่านั้น และอัลลอฮฺนั้น ณ พระองค์ คือที่กลับอันสวยงาม” (อัล-กุรอาน 3 : 14)
ความหมายของอายะฮฺนี้ที่กล่าวถึงความรักต่อสิ่งต่าง ๆ นำโดยผู้หญิง ลูก ๆ คือการให้ความรักเกินกว่าการฏออะฮฺ (เชื่อฟัง) ต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเราะซูล (ซ.ล.) ซึ่งผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวนี้นับว่าน่ารังเกียจเป็นอย่างยิ่ง แต่หากว่าความรักดังกล่าวอยู่ในทิศทางของชะรีอะฮฺ อันอยู่ในขอบเขตของการฏออะฮฺต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็ย่อมได้รับการสรรเสริญ ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
“สิ่งอันเป็นที่รักแก่ฉันในโลกนี้ได้แก่สตรีและน้ำหอม และสิ่งเย็นตาเย็นใจของฉันนั้นอยู่ในละหมาด” รายงานโดย อะหมัด 3/128 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ 3124
คนจำนวนมากตามหลังภรรยาในเรื่องที่ต้องห้าม และตามใจลูก ๆ จนออกนอกการฏออะฮฺต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ท่านนบี (ซ.บ.) ได้กล่าวไว้ว่า
“ลูกคือความเศร้า ความขลาด และความตระหนี่” รายงานโดย อัฏ เฏาะบะรอนียฺ ในอัล-กะบีร 24/241 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามีอฺ 1990
คำว่า “ความตระหนี่” หมายถึง เมื่อคนหนึ่งต้องการบริจาคสางหนึ่งไปในหนทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ชัยฏอนก็จะเตือนให้เขานึกถึงลูก ๆ ทำให้เขาเกิดความคิดขึ้นว่า “ลูก ๆ ของฉันมีสิทธิ์ในทรัพย์นี้ยิ่งกว่าใคร ฉันต้องเหลือไว้ให้พวกเขา พวกเขามีความต้องการมันหลังจากฉันจากไป” เขาจึงไม่ยอมบริจาคออกไปในหนทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)
คำว่า “ความขลาด” หมายถึง เมื่อเขาต้องการาออกไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ชัยฏอนก็จะมาหาเขาแล้วกล่าวว่า “ท่านจะต้องถูกฆ่าและตายไป ลูก ๆ ของพวกท่านก็จะสูญเสีย ต้องอยู่ตามลำพัง กลายเป็นเด็กกำพร้า” เขาจึงไม่ออกไปญิฮาด
คำว่า “ความเขลา” หมายถึง ลูก ๆ จะดึงพ่อออกจากการแสวงหาความรู้ ความพยายามที่จะศึกษาเล่าเรียน การเข้าร่วมกลุ่มศึกษาและการอ่านหนังสือ
คำว่า “ความเศร้า” หมายถึง เมื่อลูก ๆ ไม่สบายพ่อก็พลอยเศร้าโศกไปด้วย เมื่อลูก ๆ ต้องการสิ่งใด แล้วพ่อหามาไม่ได้ พ่อก็ย่อมเสียใจ และเมื่อเขาเติบโตแล้วดื้อ ดังนั้นความเสียใจและความวิตกกังวลก็ยังคงมีอยู่ต่อไป
ทั้งนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายไม่ให้แต่งงานหรือมีลูกหรือทอดทิ้งการอบรมพวกเขา แต่หมายความว่าให้ระมัดระวังจากการสาละวนอยู่กับพวกเขาในเรื่องต้องห้ามต่าง ๆ
สำหรับการล่อลวงที่มาจากทรัพย์สิน ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
“ทุกประชาชาติมีฟิตนะฮฺ (การทดสอบและการล่อลวง) ส่วนฟิตนะฮฺของประชาชาติของฉันคือ ทรัยพ์สมบัติ” รายงานโดยอัต-ติรมีซียฮ 2336 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ 2148
ความกระหายต่อทรัพย์สิน สร้างความเสื่อมเสียอย่างใหญ่หลวงต่อศาสนา ยิ่งกว่าหมาป่าโจมตีฝูงแกะเสียอีก ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
“หมาป่าสองตัวที่หิวโหย ถูกส่งไปยังแกะ จะไม่สร้างความเสียหายได้เท่ากับความโลภของคน ๆ หนึ่งในทรัพย์สินและชื่อเสียงที่จะมีต่อศาสนาของเขา” รายงานโดย อัต-ติรมีซียฺ 2376 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามีล 5620
ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านเราะซูล (ซ.ล) ได้กระตุเนให้ยึดเอาความพอเพียงโดยไม่ต้องการเพิ่มเติมจนต้องหันห่างออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ (ซ.บ.)
“(การมี) คนรับใช้และพาหนะเพื่อใช้ในหนทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นการสะสมทรัพย์สินที่เพียงพอแล้วสำหรับท่าน” รายงานโดยอะหมัด 5/290 และในเศาะฮีอฺ อัล-ญามิอฺ 2386
ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้สำทับบุคคลที่สะสมทรัพย์ที่นอกเหนือไปจากเพื่อการบริจาคไว้ว่า
“ความวิบัติจงประสบกับผู้ที่สะสมทรัพย์ ยกเว้นบุคคลที่กล่าวกับทรัพย์สินว่า อันนี้ อันนี้ อันนี้ อันนี้ (คือมีไว้บริจาค) ให้กับคนสี่คน อันนี้ ให้กับผู้ที่อยู่ด้านขวา อันนี้แก่ผู้ที่อยู่ด้านซ้าย อันนี้ให้แก่ผู้ที่อยู่ข้างหน้า อันนี้ให้แก่ผู้ที่อยู่ด้านหลัง” รายงานโดยอิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 4129 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ 7317 หมายความว่า ได้บริจาคเพื่อความดีไปทุก ๆ ทาง
7. หวังจะมีอายุยืนยาว
สาเหตุหนึ่งของอีหม่านอ่อนก็คือ ความหวังที่จะมีชีวิตยืนยาว อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้กล่าวว่า
“เจ้าจงปล่อยพวกเขาบริโภคและร่าเริงและความหวังจะทำให้พวกเขาลืม แล้วพวกเขาก็จะรู้” (อัล-กุรอาน 15 : 3)
ท่านอลี (ร.ฎ.) ได้กล่าวว่า “ฉันกลัวสิ่งที่เกรงว่าจะเกิดกับพวกท่าน คือ การตามอารมณ์ตัวเอง และหวังจะมีอายุยืนยาว เพราะการตามอารมณ์ตัวเองนั้นทำให้หันเหออกจากสัจธรรม ส่วนความหวังที่จะมีอายุยืนยาวนั้นทำให้ลืมชีวิตในโลกหน้า” จากฟัตฮฺ อัล-บารียฺ 11/236 ในบางรายงานกล่าวว่า “สี่ประการจากความทุกข์เข็ญ คือ (1) ดวงตาที่แห้งแล้ง (ไม่เคยร้องไห้ (2) หัวใจที่แข็งกระด้าง (3) ความหวังที่อยากมีอายุยืนยาว (4) ความกระหายในโลกนี้”
ผลของความหวังอยากมีอายุยืนยาว คือ ทำให้การเชื่อฟังอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นไปอย่างเฉื่อยชา ผัดวันประกันพรุ่ง กระหายอยากได้สิ่งที่อยู่ในโลกนี้ ลืมชีวิตในโลกหน้า และมีหัวใจที่แข็งกระด้าง เพราะว่าจิตใจที่นุ่มนวลและพลังความคิดที่แจ่มชัด จะมีได้ก็แต่เพียงการรำลึกถึงความตาย หลุมฝังศพ การตอบแทนความดี การลงโทษ และความน่าสะพรึงกลัวในวันกิยามะฮฺเท่านั้น อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้กล่าวว่า
“แล้วช่วงเวลาได้เนิ่นนานเกินไปแก่พวกเขา ดังนั้นหัวใจของพวกเขาจึงแข็งกระด้าง” (อัล-กุรอาน 57 : 16)
มีผู้กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ไม่ได้หวังที่จะมีชีวิตยืนยาว ก็จะมีความกังวลน้อย และหัวใจของเขาจะแจ่มจรัส เพราะว่าเมื่อความตายมาถึง เขาก็ทุ่มเทการฏออะฮฺ (การเชื่อฟัง)” ฟัตฮฺ อัล-บารียฺ 11/237
8. กินมาก นอนมาก พูดมาก พบปะผู้คนมาก
สาเหตุหนึ่งของอีหม่านอ่อนก็คือ การกินมาก นอนมาก พูดมาก พบปะผู้คนมาก ไม่นอนยามค่ำคืน
การกินมากทำให้ปัญญาทึบ น้ำหนักตัวเพิ่ม ซึ่งเป็นอุปสรรถต่อการปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และง่ายที่ชัยฏอนจะเข้ามาล่อลวง ดังที่มีคนกล่าวไว้ว่า “ใครก็ตามที่กินมาก ดื่มมาก และนอนมาก จะสูญเสียรางวัลอันยิ่งใหญ่”
การพูดมากทำให้หัวใจแข็งกระด้าง การพบปะผู้คนมากทำให้ไม่มีเวลาตรวจสอบตนเอง ปลีกตัว ครุ่นคิดและใคร่ครวญ การหัวเราะมากทำให้สูญเสียแก่นสารแห่งชีวิตในหัวใจ และทำให้หัวใจตายด้าน ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ในฮะดีษ เศาะฮีฮฺ ไว้ว่า
“พวกท่านจงอย่าหัวเราะให้มาก เพราะการหัวเราะมากทำให้หัวใจตายด้าน” รายงานโดย อิบนุ มาญะฮฺ 4193 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ
และเช่นเดียวกันเวลาที่ไม่ได้เติมให้เต็มไปด้วยการเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะส่งผลให้หัวใจแข็งกระด้าง จนทำให้คำยับยั้งแห่งอัล-กุรอานและคำแนะนำแห่งอีหม่านไม่เกิดประโยชน์อันใดแก่เขา
สาเหตุชองอีหม่านอ่อนอีกมากมาย คงไม่สามารถกล่าวถึงมันได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นไปได้ที่จะนำเอาสิ่งที่ได้กล่าวไปแล้วมาวางเป็นแนวทางให้ครอบคลุมถึงสิ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึงผู้ที่มีสติปัญญานั้นย่อมเข้าใจถึงสิ่งนี้โดยตัวเขาเอง เราขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ชำระหัวใจของเราให้ขาวสะอาดและปกป้องเราให้พ้นจากความชั่วร้ายของเราเอง
........................................
เชค มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล – มุนัจญิด : เขียน
อับดุลมะญีด อับดุรรออูฟ : แปลและเรียบเรียง
(จากหนังสือ : อีหม่านอ่อน)
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น