อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

รู้ทันเนชั่นแนล จีโอกราฟิค



National Geographic หลายๆฉบับจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศมุสลิม ไปสัมผัสผู้คนชื่นชมวัฒนธรรมของเขา แต่แอบแฝงการเหน็บแนมทำลายศาสนา และก็มักใช้วิธีอ้อมๆซึ่งเป็นที่นิยมของสื่อต่างๆในปัจจุบันคือ โจมตีกลุ่มเคร่งครัดทำนองว่าหัวอนุรักษ์หรือตีความศาสนาแบบสุดโต่ง โดยบอกว่ามีมุสลิมอีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย (หรือจริงๆจะเรียกว่า National Geographic เป็นต้นแบบในวิธีการแบบนี้ก็ว่าได้) ซึ่งทั้งนี้เราขอไม่พาดพิงไปถึงผู้ที่ได้รับลิขสิทธิ์มาแปลและตีพิมพ์ในเมืองไทย เพียงแต่จะขอคัดลอกจากฉบับแปลไทยเท่านั้นเอง

สำหรับหนังสือ “National Geographic” ฉบับที่ 156 กรกฎาคม 2557 ได้นำเสนอเรื่องราวของดินแดนฮิญาซในซาอุดีอาระเบีย ว่าเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมที่น่าหวงแหนก่อนกำเนิดศาสนาอิสลาม จนกระทั่งหลังยุคอิสลาม (ไม่กล่าวถึงสังคมสมัยนบีมุฮัมมัด) ก็มีวัฒนธรรมและมีเรื่องราวของผู้คนที่น่าสนใจ แต่ด้วยกับความผิดของกลุ่มอิสลามสายเคร่งครัดทำให้มาทำลายวัฒนธรรมและโบราณสถานไปหมด ( เราคัดลอกจากฉบับแปลไทย และในส่วนที่เราชี้แจงจะใช้ว่า ชี้แจง : ) ดังนี้

National Geographic (หน้า 99) :
ในคฤหาสน์หลังงามที่เมืองท่าญิดดะฮ์ สตรีชาวฮิญาซพูดจาฉะฉานสามนางคอยเติมถ้วยใบนี้ไม่ให้พร่อง พวกเธอผลัดกันพูดคุยเพราะหวังจะแก้ความเข้าใจผิดที่โลกมีต่อซาอุดีอาระเบีย เป็นต้นว่า ราชอาณาจักรนี้เป็นสังคมที่ถูกหล่อหลอมด้วยพิมพ์เดียวกัน เป็นวัฒนธรรมที่อิสลามสายเคร่งครัดขัดเกลาจนแบนราบไร้มิติ เป็นชนชาติที่ถูกลัทธิบริโภคนิยมและความมั่งคั่งจากน้ำมันครอบงำจนดูน่าเบื่อ ซึ่งไม่จริงเลย

ชี้แจง :
(ถ้าหากว่าสตรีเหนียมอายผู้จาไม่ฉะฉานนั่นแสดงว่าเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้องสินะ?) ความจริงแล้วสังคมซาอุดีอาระเบียไม่ได้เป็นสังคมที่เคร่งครัดนัก เพียงแต่มีกฎหมายและวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่มาจากศาสนาอิสลาม แต่เป็นภาพที่ปรากฏออกมาชัดและแตกต่างจากสังคมโลกนั่นก็คือเรื่องการแต่งกายและกฎหมายในเรื่องเกี่ยวกับเพศ แต่ในส่วนของลัทธิบริโภคนิยมนั้นเป็นวัฒนธรรมมาจากตะวันตกที่เข้ามาครอบงำ จึงทำให้สังคมซาอุดีอาระเบียผสมผสานระหว่างอิสลามและบริโภคนิยม ทำให้มีคนสวมนิกอบแต่บริโภค McDonald, KFC และช้อปปิ้งฟุ่มเฟือยตามแบบตะวันตก และคนจำนวนมากก็ไม่ได้ศรัทธาหรือยึดหลักการศาสนาตามแบบเขาปฏิบัติเพียงแต่ทำตามกฎหมายที่ได้ถูกวางไว้มาตั้งแต่รุ่นก่อน และที่สำคัญกษัตริย์คนปัจจุบันของซาอุดีอาระเบียก็ฝักใฝ่ในตะวันตกและเซคิวลาร์ สื่อต่างๆไม่ว่าจะข่าวและบันเทิงก็ล้วนแล้วไม่เป็นไปตามหลักการอิสลาม กฎหมายบางอย่างก็มาจากอิสลาม และบางอย่างก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมจารีต
ซึ่งอิสลามนั้นไม่ได้มีสายเคร่งหรือสายไหน อิสลามมีสายเดียวคือแนวทางที่นบีมุฮัมมัดได้สั่งสอนต่อเหล่าสาวก นี่คือเคร่งครัดที่สุด ใครที่ยึดถือสิ่งที่ไม่ตรงคำสอนไม่ว่าจะเกินเลยหรือจะหย่อนยานนั่นไม่ถือว่ามาจากศาสนาอิสลาม

National Geographic (หน้า 99-100) :
พวกเธอบอกว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นเหมือนภาพโมเสก มีชีวิตและงดงามหลากมิติ กอปรไปด้วยแว่นแคว้นและวัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายยิ่ง ตั้งแต่ภาคตะวันออกของชาวมุสลิมนิกายชีอะฮ์ ภาคใต้ของชาวเยเมน ภาคเหนือของชาวเลแวนต์ ไปจนถึงฐานที่มั่นของชนเผ่าเบดูอินตรงใจกลางประเทศ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนิกายนัจด์หรือวะห์ฮาบี อิสลามสายเคร่งครัด ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของราชวงศ์ซาอุดผู้ปกครองประเทศในปัจจุบัน

ชี้แจง :
ที่กล่าวถึงกลุ่มมุสลิมที่เคร่งครัดในซาอุดีว่าเป็นนิกายวะห์ฮาบีนั้นไม่ถูกต้อง วะห์ฮาบีไม่ใช่นิกายเหมือนอย่างชีอะฮ์ที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้า นามวะห์ฮาบีนั้นหมายถึงมุสลิมนิกายซุนนีที่ปฏิบัติแนวทางเดียวกับมุฮัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งซาอุดีอาระเบียร่วมกับมุฮัมมัด บิน ซาอุด (จึงทำให้มีราชวงศ์ซาอุดปกครองเรื่อยมา) ซึ่งอยู่ในฮัมบาลี (สำนักนิติบัญญัติ 1 ใน 4 ของซุนนี) ถ้าหากว่าเป็นกลุ่มที่เคร่งครัดจนผิดแผกแล้วไฉนทั้งราชวงศ์อังกฤษและรัฐบาลสหรัฐจึงได้มาผูกมิตรสานสัมพันธ์ด้วย (สงสัย National Geographic ต้องตรวจสอบรัฐบาลซะหน่อยแล้ว) และในทางวิชาการศาสนาเราสามารถให้นิยามได้ว่า อย่างไหนคือซุนนี อย่างไหนคือชีอะห์ หรือแนวทางย่อยๆก็สามารถระบุได้หมด ไม่ว่าจะคอวาริจ, มุอฺตะซีละฮ์, มุรฺญีอะห์ ฯลฯ แต่ไม่มีระบุชื่อวะห์ฮาบีในหลักสูตรวิชาการศาสนาเลย ไม่มีใครสามารถให้นิยามได้ ถ้าหากอธิบายออกมาก็คือเป็นเนื้อหาความเชื่อของซุนนีทุกประการ

National Geographic (หน้า 101) :
ซัลมา อลีเรซา ช่างปักผ้าพื้นบ้าน บอกว่า “ชุดพื้นบ้านของผู้หญิงในฮิญาซไม่ใช่ชุดอะบายาสีดำที่คลุมตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ซึ่งผู้ปกครองนิกายนัจด์กำหนดให้ใส่ แต่ก่อนผู้หญิงที่นี่เคยใส่สีแดงและสีฟ้าสดใสในที่สาธารณะ นั่นถึงจะเรียกว่าชุดพื้นบ้านค่ะ แต่ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไปในทศวรรษ 1960 เมื่อเงินจากน้ำมันทะลักเข้ามา เราก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่เร็วเกินไป และสูญเสียอะไรไปมากเหลือเกินในช่วงเวลาแค่ 50 ปี”

ชี้แจง :
ดูเหมือนเวลาผู้คนไม่พอใจอะไรก็จะโทษไปที่บุคคลหรือกลุ่มที่สอนเรื่องนั้น โดยไม่กล้าจะโทษไปที่อิสลามที่ตนศรัทธาโดยตรง (และเวลาคนนอกหากไม่กล้าโจมตีอิสลามโดยตรงก็มักจะโจมตีไปที่บุคคลหรือกลุ่มเช่นกัน และดูไม่เป็นการหมิ่นศาสนาหรือสร้างความผิดใจกับมุสลิมด้วย) ทั้งที่จริงแล้วการแต่งกายที่คลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นหลักบัญญัติของอิสลาม โดยไม่ระบุว่าจะต้องเป็นชุดยาวผืนเดียวหรืออะบายา แต่คุณจะออกแบบยังไงก็ได้ให้คลุมทุกส่วนและไม่รัดรูป ซึ่งนี่คือหลักปฏิบัติ และมุสลิมทุกสำนักและนิกายยึดถือ เป็นการปฏิบัติที่แตกต่างระหว่างมุสลิมกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมมาตั้งแต่สมัยนบีมุฮัมมัด ส่วนสำหรับเรื่องสีดำนั้นก็ถือเป็นสีที่เรียบร้อย ผู้ชายก็สวมใส่ได้ แต่ไม่ได้เป็นข้อบังคับทางศาสนา แต่เหล่าสาวกหญิงหลายท่านเลือกจะแต่งกายสีดำ ท่านหญิงอุมมุสะละมะฮฺ (ภรรยานบีมุฮัมมัดท่านหนึ่ง) กล่าวว่า เมื่อโองการ “...และจงดึงผ้าคลุมของพวกนางลงมาปิดตัวของพวกนาง...” [อัลกุรอาน 33:59] ถูกประทานลงมา สตรีชาวอันซอร (เมืองมะดีนะฮฺ) ออกจากบ้านในสภาพเหมือนมีกาบนศีรษะเพราะเครื่องแต่งกายของพวกนาง (กล่าวถึงอีกาเพื่อเปรียบสีดำ)” (หะดีษบันทึกโดยอบูดาวูด) สตรีสามารถใส่สีแดงหรือใดๆก็ได้ดังเช่นที่ภรรยานบีมุฮัมมัดก็เคยสวมผ้าสีย้อมจากดอกกุหลาบ (เพียงแต่ไม่ให้มีลวดลายที่ดึงดูสายตา) อย่างในอัฟกานิสถานสตรีที่เลื่อมใสในการปกครองของฏอบิบานก็สวมสีฟ้า (และสื่อตะวันตกก็โจมตีเหมือนกัน ตกลงฉบับนี้ National Geographic ไม่มีปัญหากับสีฟ้าแล้วหรือ)

ส่วนเรื่องการคลุมหน้านั้น ซุนนีทั้ง 4 สำนักนั้นให้มีการคลุมหน้าทั้งหมด จะเห็นต่างกันเพียงแค่ มันถึงขั้นเป็นข้อบังคับหรือแค่รณรงค์ให้กระทำ ซึ่งเหล่าภรรยานบีมุฮัมมัดและสาวกหญิงนั้นก็มีคลุมหน้า ท่านอิบนุ อับบาส สาวกท่านหนึ่งอธิบายอัลกุรอานโองการข้างต้นว่า “อัลลอฮฺทรงบัญชาแก่สตรีมุสลิมว่า เมื่อพวกนางออกจากบ้านด้วยความจำเป็น นางก็ควรจะปกปิดใบหน้าโดยดึงบางส่วนของเสื้อคลุมมาคลุมศีรษะ” (อิบนุญะรีร เล่ม 22 หน้า 29) ส่วนการสวมชุดจนปิดเท้านั้นเป็นหลักการอิสลามที่มุสลิมเข้าใจโดยทั่วไป ยกเว้นสังคมที่อาจไม่ได้ศึกษาศาสนาแต่ปฏิบัติตามกันมาโดยเป็นประเพณีจากคนรุ่นก่อน ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเรียกว่าเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมมากกว่า ส่วนกลุ่มที่เคร่งครัดนั้นไม่ได้อนุรักษ์วัฒนธรรมหรือประเพณีอะไรเลย เพียงแต่ปฏิบัติตามบัญญัติจากพระเจ้าเท่านั้น

ฉะนั้นการสุ่มสำรวจความคิดเห็นจากบุคคลบางส่วนจะใช้เป็นสิ่งชี้วัดว่าเป็นศาสนาอิสลามไม่ได้ และดูเหมือนผู้ให้ความเห็นท่านนี้จะสับสนอีกว่า พอปี 1960 ความเป็นสมัยใหม่เข้ามา จึงทำให้หลายๆอย่างเปลี่ยนไป เธอกล่าวถึงความร่ำรวยจากการขายน้ำมันทำให้สังคมเปลี่ยนไปในขณะที่กำลังตัดพ้อถึงการแต่งกายที่รัฐบาลบังคับ ดูเหมือนเธอกำลังโทษมหาอำนาจที่เข้ามาอิทธิพลเรื่องการซื้อขายน้ำมันทำให้การแต่งกายของผู้คนและวัฒนธรรมต่างๆเปลี่ยนไป คือเธอกำลังโทษรัฐบาลคุณอยู่นะ National Geographic

National Geographic (หน้า 101) :
รอบยะฮ์ อัล ฟัฎล์ หญิงสาวซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาด บอกว่า “ถ้าถามว่าฮิญาซยังแตกต่างจากที่อื่นอยู่ไหม ลองมองไปรอบๆตัวคุณดูสิคะ”
จริงอย่างที่เธอว่า ผู้หญิงซึ่งนั่งกันอยู่ที่โต๊ะไม่สวมผ้าคลุมหน้า พวกเธอสวมชุดลำลองเป็นเสื้อกับกางเกง (การนัดคุยแบบนี้ทำได้ยากหากเป็นในกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งการแบ่งแยกทางเพศและวิถีชนเผ่ายังเครงครัด) บ้านที่เรานั่งคุยตกแต่งอย่างเรียบง่ายและเป็นสากล

ชี้แจง :
ดูเหมือนผู้หญิงที่ให้สัมภาษณ์กำลังใช้ความคิดและการปฏิบัติของตนเองเป็นมาตรฐาน แต่เราจะไม่ตำหนิหรือประณามบุคคลเหล่านั้นรวมถึงบุคคลทั่วไป เพราะการที่จะมีความรู้หรือไม่หรืออาจมีความรู้แต่ปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหนนั่นก็เป็นสิทธิ์และทางเลือกของแต่ละคน เราอาจปฏิบัติไม่ได้ดีหรือเคร่งครัดไปกว่าเขาหรืออาจทำตามคำสอนศาสนาเทียบเขาไม่ได้ในบางเรื่องด้วยซ้ำไป เพียงแต่จะชี้แจงว่าสิ่งใดที่เป็นหลักการศาสนา และสิ่งใดไม่ใช่ เพราะเกรงจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักการศาสนาอย่างถูกต้องกลับกลายเป็นคนที่ปฏิบัติผิดไป เช่นกรณีนี้คือเรื่องการแต่งกายและการวางตัว สำหรับการวางตัวของชนเผ่านี้มีการแบ่งแยกทางเพศในการพูดคุยนั้นเขาทำตามหลักการศาสนาอิสลามอย่างถูกต้องแล้ว เพียงแต่ในเรื่องการแต่งกายนั้นอาจยังไม่ถูก การไม่คลุมหน้าอาจไม่ถือว่าผิด สามารถกระทำได้ตามทัศนะที่ได้กล่าวชี้แจงไปข้างต้น แต่ในส่วนการสวมชุดลำลองต่อหน้าคนนอกถือว่าไม่ตรงตามหลักการศาสนา

ส่วนอีกประการคือเรื่องของวัฒนธรรมการตกแต่งบ้าน เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา เรื่องของอาหาร อาคารบ้านเรือน พาหนะ เครื่องใช้ไม้สอย ไม่มีบัญญัติศาสนาว่าจะต้องเป็นไปตามวัฒนธรรมชาติใดเผ่าใด เพราะอิสลามเป็นศาสนาสากลสำหรับคนทั่วโลก การจะตกแต่งบ้านเป็นแบบตะวันตก จะกินอาหารแบบจีน ญี่ปุ่น ไม่มีข้อจำกัดทางศาสนา หากแต่อิสลามจัดกรอบไว้กว้างๆเช่นว่า เนื้อสัตว์ประเภทไหนที่กินไม่ได้ เป็นต้น

National Geographic (หน้า 101, 106) :
อีฟในคริสตธรรมคัมภีร์ถูกฝังในญิดดะฮ์ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองท่าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวและทันสมัย สุสานของอีฟมี “โดมโบราณสูงตระหง่าน” ครอบอยู่ด้วย ตามคำบอกเล่าของนักเดินทางชาวมัวร์นาม อิบนุ ญุบัยร์ โดมที่ว่าอันตรธานไปแล้ว เหล่าอาจารย์สำนักวะห์ฮาบีซึ่งชิงชังปูชนียสถาน อันแสดงถึงการสักการะบูชารูปเคารพ

ชี้แจง :
อาดัมและอีฟ (เฮาวา) ไม่ได้มีอยู่แต่ในคริสตธรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องราวที่อิสลามระบุไว้โดยละเอียด โดยที่อิสลามไม่ได้เป็นศาสนาที่วิวัฒนาการหรือลอกเลียนมาจากยูดายและคริสต์ แต่เป็นศาสนาที่พระเจ้าประทานมาให้ยังนบีมุฮัมมัด เหมือนกับที่ประทานให้แก่อับราฮาม (บิดาแห่งชาวยิวและอาหรับ) ผู้สร้างกะอฺบะห์ ซึ่งโนโลกนี้ไม่เคยมีใครระบุหรืออ้างว่าอับราฮาม (อิบรอฮีม) เป็นยิวหรือคริสต์ ซึ่งแน่นอนว่าศาสนาของอับราฮามก็คือศาสนาเดียวกับศาสนาของนบีมุฮัมมัด รวมถึงศาสนาของโมเสสและเยซูด้วย
ส่วนหากมีการทำลายโดมสุสานจริงนั่นก็เป็นไปตามคำสอนของนบีมุฮัมมัด ไม่ใช่เป็นแนวคิดที่ริเริ่มมาจากอาจารย์คนใด เพราะท่านได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺ ได้สาปแช่งชาวยะฮูดี และนัศรอนีย์ (ชาวคัมภีร์ก่อนหน้า) พวกเขาได้นำเอาสุสานของบรรดานบีเป็นมัสญิด (หมายถึงเป็นสถานที่สักการะบูชา)” ซึ่งท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ภรรยานบี) กล่าวว่า “หากมิใช่เหตุดังกล่าวแล้ว สุสานของท่าน ย่อมต้องทำให้ดูเด่น หากแต่ท่านกลัวว่า จะมีการนำสุสานของท่านไปทำมัสญิด” (หะดีษบันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม หมายเลข 529) ซึ่งท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (เจ้าของหนึ่ง 1 ใน 4 สำนักของซุนนี) ได้กล่าวว่า “ฉันเห็นชอบที่จะไม่มีการสร้างใดๆ (บนหลุมศพ) และถูกโบกด้วยปูนขาวเพราะแท้จริงสิ่งดังกล่าวคล้ายคลึงกับการประดับประดาตกแต่งและการโอ้อวด และความตายนั้นไม่ใช่เรื่องของทั้งสองสิ่งนั้น (คือความตายไม่ใช่เรื่องจะมาตกแต่งให้สวยงามและการโอ้อวด)” (หนังสืออัลอุมม์ เล่มที่ 3)

สังคมมุสลิมหลายที่ตกอยู่ในการเคารพบูชาหลุมศพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของอิสลาม และซุนนีทุกสำนักไม่อนุญาตให้ปฏิบัติ ฉะนั้นสุสานใดที่ตกแต่งจนเกรงว่าจะทำให้เกิดการเคารพบูชาได้ก็ต้องมีการจัดการเสียใหม่เพื่อป้องกันก็ถูกต้องแล้ว

National Geographic (หน้า 111,116) :
ชาวฮิญาซบางคนกล่าวโทษการตีความศาสนาอิสลามอย่างอนุรักษ์นิยมสุดโต่งของผู้ปกครองซาอุดีอาระเบียว่าเป็นสาเหตุการของการลบล้างอดีตของเขา ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นักประวัติศาสตร์เมืองต่างประณามการทุบทำลายย่านเก่าแก่ต่างๆในนครเมกกะและเมดีนา รวมทั้งการรื้อถอนโครงสร้างโบราณซึ่งเกี่ยวโยงกับศาสดามุฮัมมัดจนราบคาบ..........
นิกายวะห์ฮาบีเน้นย้ำว่า อดีตทุกอย่างก่อนศาสนาอิสลามถือกำเนิด ถือเป็นญาฮิลียะฮ์ หรือยุคแห่งความไม่รู้ นอกจากนี้พวกเขายังกลัวว่า แม้แต่การอนุรักษ์สถานที่สำคัญทางศาสนาเองก็อาจนำไปสู่การบูชาวัตถุ หาใช่การบูชาพระเป็นเจ้า ซึ่งเท่ากับสนับสนุนการบูชารูปเคารพหรือชีริก

ชี้แจง :
การรื้ออาคารบางส่วนในมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ก็เพื่อขยายรองรับการมาของผู้ทำฮัจญ์จากทั่วโลก (ดังที่มีระบุในหนังสือถูกต้องแล้ว) แม้แต่ปัจจุบันก็มีการขยายเพิ่มขึ้นอีก กระทั่งโรงแรมใหญ่รอบๆบริเวณก็ต้องรื้อออกด้วยเพื่อขยายมัสญิด แต่สำหรับในอดีตที่มีการรื้อปาติมากรรมบางอย่างที่ตกแต่งสุสานนบีมุฮัมมัดนั้นก็เพื่อขจัดและป้องกันการเคารพบูชาซึ่งมันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว และในปัจจุบันเราก็จะเห็นได้ว่าอะไรที่เกี่ยวกับสุสานของนบีมุฮัมมัดเองและที่อื่นๆก็มักจะเกี่ยวข้องกับการบูชา ซึ่งเป็นสิ่งผิดหลักการศาสนาอิสลาม มุสลิมซุนนีทุกสำนักถือว่าผิดไม่ใช่เฉพาะวะห์ฮาบีหรือฮัมบาลี และศาสนาก็ได้มีบัญญัติห้ามการตกแต่งสุสานไว้อย่างรอบครอบแล้ว

ส่วนคำว่า “ญาฮิลียะฮ์” นั้นไม่มีใครว่าหมายถึงทุกสิ่งที่ก่อนการประกาศศาสนาของนบีมุฮัมมัด แต่ญาฮิลียะฮ์ หมายถึงสิ่งต่างๆที่ขัดแย้งกับคำสอนของพระเจ้า ขัดแย้งกับศาสนาที่อับราฮาม (นบีอิบรอฮีม) ได้สั่งสอน เช่นอับราฮาม สอนให้สักการะพระเจ้าองค์เดียวและได้ทำลายรูปปั้นด้วย แต่ชนอาหรับกลับเคารพเทวรูปจำนวนมากมาย ยุคนั้นจึงเรียกว่าญาฮิลียะฮ์ (ยุคของความงมงาย) ซึ่งสังคมลุ่มหลงด้วยเรื่องสิ่งมัวเมา โสเภณี การคดโกงเอารัดเอาเปรียบ แต่สิ่งใดก็ตามที่เป็นเรื่องดีงามและอยู่ยุคนั้นก็ไม่ถือเป็นญาฮิลียะฮฺ

และที่ว่ามีการตีความอย่างสุดโต่งนั้นไม่ถูกต้องเพราะเป็นหลักการอิสลามขั้นพื้นฐาน หากแต่สังคมชินชามากับสิ่งผิดๆ (เหมือนกับสังคมศาสนาอื่นก็มีเช่น เป็นสังคมพุทธ แต่มีการดื่มเหล้า หรือเล่นการพนัน ขูดเลขใบ้หวยโดยเป็นปกติ)
และแสดงให้เห็นว่าหากใครมีความเคร่งครัดหรือที่ถูกเรียกกันว่าสุดโต่งนั้นไม่ได้มีหัวอนุรักษ์ใดๆ ก็เลยรื้อทำลายวัฒนธรรมโบราณได้โดยไม่หวงแหน (ต้องขอบคุณ National Geographic จริงๆที่นำเสนอประเด็นนี้จึงทำให้ชาวโลกเข้าใจมากขึ้นว่าคนกลุ่มไหนที่หัวอนุรักษ์)
จะเห็นได้ชัดว่า กลุ่มที่เป็นหัวอนุรักษ์นิยมตัวจริงนั้นจะไม่พอใจที่วัฒนธรรมและประเพณีของเขาถูกทำลาย แต่กลุ่มที่เคร่งครัดจะไม่ยึดติดอนุรักษ์วัฒนธรรมหนึ่งวัฒนธรรมใดถึงแม้จะเป็นของเผ่าหรือของชาติตนเองก็ตาม
……………………………….
นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างที่เราหยิบยกมาจาก National Geographic ฉบับหนึ่ง ซึ่งคาดว่าต่อไปก็คงจะมีอะไรมาให้เราชี้แจงอยู่เรื่อยๆเหมือนกัน

วันนี้ทางฝ่ายชีอะฮฺและอิหร่านก็กล่าวหาว่าวะห์ฮาบีก็คือซาอุดีซึ่งเป็นสมุนอเมริกาทำลายโลกมุสลิม ในขณะที่สื่ออเมริกาก็กล่าวหาว่าวะห์ฮาบีคือกลุ่มเคร่งหัวรุนแรงทำให้กำเนิดอัลกออิดะห์และกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ตกลงจะเอายังไงแน่ หรือวะห์ฮาบีจะเป็นผีหรือนามอุปโลกน์ที่เอาไว้เป็นลูกไม้ทำลายศาสนาอิสลามที่แท้จริงเท่านั้นเอง เรียน National Geographic ช่วยไขความกระจ่างเรื่องนี้สู่ชาวโลกหน่อย อย่าปล่อยให้ชาวโลกอยู่บนความสับสน
....................................................
บทความเกี่ยวข้อง
มาลาลา ตกเป็นเครื่องมือให้ร้ายโลกมุสลิม
https://www.facebook.com/assabikoonthailand/photos/a.589552777733187.1073741825.465123040176162/824160314272431/?type=1&relevant_count=1

ชี้แจงหนังสือ "Social Studies สรุปสังคม มัธยมปลาย" ของติวเตอร์พอยท์ นำเสนอข้อมูลคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับอิสลาม
https://www.facebook.com/assabikoonthailand/photos/a.589552777733187.1073741825.465123040176162/831832146838581/?type=1&relevant_count=1


โดยอัซซาบิกูน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น