อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อย่าคิดว่ามีวันนี้เพราะพี่ให้



วันนี้หลายคนได้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนมุ่งหวังไว้ทางดุนยา ไม่ว่าการประกอบอาชีพ ริสกี หรือความมุ่งหวังอื่นใดก็ตาม

แต่บางคนกลับลืมนึกถึงไปว่าที่มีวันนี้ เพราะความพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา

ต่างภาคภูมิใจในความสำเร็จของตน มีความหลงลืมตนเอง ไม่ขอบคุณต่อพระองค์

ทุ่มเทแต่งานของตน โดยไม่ยอมก้มหัว สุญูดขอความชูโกรต่อพระองค์ ที่ให้ความเนียะอ์มัตสิ่งดีๆทั้งหลาย และทรงเมตตาเราะฮ์มัตแก่เรา ทิ้งการทำอิบาดะฮฺ ไม่ว่าการละหมาด การถือศิลอด หรือการจ่ายซะกาตต่อพระองค์

หลงลืมศาสนา ใช้ชีวิตอย่างคนต่างศาสนิก พบปะสร้างเฮฮาจนลืมการงานที่ต้องพกพากลับไปหาพระองค์

หากเขาได้งาน ได้เรียน เค้าจักขอบคุณอัลลอฮซุบฮานาฮุวาตะอาลาอีกไหม หรือเค้าจะจัดการชีวิตให้อยู่กับหลักการเรื่อยไปหรือเปล่าเท่านั้น!!

เขาคิดไปเองว่า สิ่งที่เขาได้รับนั้น มันคงจะเป็นอย่างนั้นอยู่เรื่อยไปกระมัง

เขาคิดไปเองว่า สิ่งที่เขาเป็นอยู่นั้น มันคงจะเป็นอย่างนี้อยู่จนกระทั่งเกษียณหรือครบวาระไปหรอกกระมัง

เขาคิดไปเองว่า ที่เขามีวันนี้เพราะพี่ให้

แต่นั้นเป็นความคิดที่ผิดๆของเขาอย่างร้ายกาจ เพราะการที่เขาได้มีในวันนี้ หากไม่ใช่ความประสงค์ของพระองค์อัลลฮฺตะอาลาแล้วไซร้ เขาไม่อาจมีวันนี้อย่างแน่นอน


«وَلَوْ أَنَّ أَهْلَ الْقُرَى آمَنُواْ وَاتَّقَواْ لَفَتَحْنَا عَلَيْهِم بَرَكَاتٍ مِّنَ السَّمَاء وَالأَرْضِ، وَلَـكِن كَذَّبُواْ فَأَخَذْنَاهُم بِمَا كَانُواْ يَكْسِبُونَ»

 “และหากว่าชาวเมืองนั้นได้ศรัทธา (ต่ออัลลอฮฺ) และมีความยำเกรง (ต่อพระองค์) แล้วไซร้
เราย่อมเปิดให้แก่พวกเขาซึ่งความจำเริญต่างๆจากฟากฟ้าและแผ่นดินอย่างแน่นอน แต่ทว่าพวกเขากลับปฏิเสธ ดังนั้น เราจึงได้ลงโทษพวกเขา เนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขากำลังแสวงหาอยู่”
(ซูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ อายะฮฺ 96)

รายงานจากมะกิล บิน ยะสาร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า: ท่านรอซูล  ได้กล่าวว่า:

«يَقُولُ رَبُّكُمْ تَبَارَكَ وَتَعَالَى: يَا ابْنَ آدَمَ تَفَرَّغْ لِعِبَادَتِي أَمْلأْ صَدْرَكَ غِنًى، وَأَمْلأْ يَدَيْكَ رِزْقًا، يَا ابْنَ آدَمَ لاَ تَبَاعَدْ مِنِّي فَأَمْلأْ قَلْبَكَ فَقْرًا وَأَمْلأْ يَدَيْكَ شُغْلاً» أخرجه الحاكم

พระผู้อภิบาลผู้ทรงสูงส่งของพวกเจ้าได้ตรัสว่า: โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ย เจ้าจงอุทิศเวลาเพื่อทำอิบาดะฮฺต่อฉัน
แล้วฉันจะทำให้หัวใจของเจ้าเต็มอิ่มด้วยความร่ำรวย (รู้สึกพอ) และทำให้มือของสูเจ้าเต็มไปด้วยปัจจัยยังชีพ
โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ย จงอย่าได้ออกห่างจากฉัน มิเช่นนั้นฉันจะทำให้หัวใจของสูเจ้าเต็มไปด้วยความยากจน และมือของสูเจ้าเต็มไปด้วยการงาน” 
(หะดีษ เศาะฮีหฺ รายงานโดย  อัลหากิม หมายเลข 7926  ดู อัล-สิลสิละฮฺ อัล-เศาะหีหะฮฺ หมายเลข 1359)


والله أعلم بالصواب



หลายคราที่ดุอา ยกมือขึ้นวอนขอ



หลายครั้ง หลายครา
ที่ดุอา ยกมือ ขึ้นวอนขอ
บอกตัวเอง เอาไว้ ให้เฝ้ารอ
สิ่งที่ขอ คงได้ ในสักวัน

ฉันยกมือ ขึ้นวอนขอ ความเข้มแข็ง
ให้มีแรง ต่อสู้ กับสิ่งร้าย
อุปสรรค์ ก็เดินมา เสียมากมาย
จนใจกาย ตั้งรับ แทบไม่ทัน

ฉันร้องให้ คร่ำครวญ กับพระองค์
ให้หมดลง หายไป เถิดปัญหา
บอกตัวเอง ให้เข้มแข็ง ในทุกครา
อุปสรรค ที่มีมา ก็หายไป

ฉันได้แล้ว ได้มา ความเข้มแข็ง
แต่ก็เกือบ อ่อนแรง เสียหลายหน
แต่เฝ้าบอก ตัวเอง ให้อดทน
แม้ผ่านพ้น พบน้ำตา มาหลายคราว

คนหนึ่งคน กว่าที่เขา จะยิ้มได้
ต้องร้องไห้ เสียน้ำตา มาหลายหน
ความสำเร็จ ต้องแลกกับ ความอดทน
ต้องผ่านพ้น บททดสอบ จึงได้มา

อย่าเศร้าใจ ไปเลย หากย่ำแย่
มันก็แค่ บททดสอบ ก็เท่านั้น
เพื่อจะรู้ ว่าเราทน แค่ไหนกัน
หากผ่านมัน รอยยิ้ม จะตามมา

เวลา ที่เจอ กับปัญหา
ก็เพื่อว่า สอนให้เรา นั้นเข้มแข็ง
เหนื่อยได้ แต่อย่าท้อ อย่าอ่อนแรง
จงกล้าแกร่ง ให้สมกับ ผู้ศรัทธา

เราโชคดี กว่าชนใด ในโลกนี้
ที่ยังมี ผู้สร้าง ให้ยึดมั่น
จะก้มหน้า เอาแต่เศร้า ทำไมกัน
เงยหน้าพลัน แล้วต่อสู้ ฝ่ามันไป


อัลฮัมดุลิ้ลละห์..
เราโชคดีกว่าชนชาติใดในโลกนี้ที่ยังมีผู้สร้างให้ยึดมั่น..

..............................
ประชาชาติ อิสลาม

"อินชาอัลลอฮ์" ในการให้คำมั่นสัญญา



          "อินชาอัลลอฮ์" หมายความว่า "หากพระองค์ทรงประสงค์" ซึ่งโดยทั่วไปผู้ที่เป็นมุสลิมจะใช้คำนี้ เมื่อต้องการรับปากว่าจะทำในสิ่งๆหนึ่งที่เขาตั้งใจไว้ ตามสิ่งที่ได้ตกลงกันไว้กับมุสลิมด้วยกันเอง จะเห็นว่าการใช้คำนี้จะติดปากผู้ที่เป็นมุสลิมบางคน แต่อีกหลายคนกลับไม่มีการพูดคำนี้เลย อาจเพราะว่าอาย เกรงว่าคนรอบข้างจะรู้ว่าเราเป็นมุสลิม หรือเกรงว่าคนอื่นไม่เข้าใจ หรืออาจเพราะมุสลิมไม่เข้าใจเสียเอง หรืออาจเพราะไม่แน่ใจว่าจะทำในสิ่งที่พูด และรับปากไว้ได้หรือไม่

          การรับปากว่าจะทำ เสมือนหนึ่งการให้คำมั่นสัญญา การให้ความหวังกับพี่น้องมุสลิมที่ตกลงกันไว้ว่า จะสามารทำได้สำเร็จตามที่รับปากไว้ หรือจะรีบทำให้ได้ตามที่พูดไว้ เพราะฉะนั้น มุสลิมจึงใช้คำว่า "อินชาอัลลอฮ์" ซึ่งมีพระนามของอัลลอฮ์ อยู่ในคำนั้น เพื่อเป็นพยานยืนยันในการรับปากทางคำพูด รวมทั้งการให้คำสัญญาในสิ่งนั้น

          ปัจจุบันเราจะพบว่า"อินชาอัลลอฮ" กลับไม่ได้เป็นอย่างที่ควรจะเป็น มุสลิมหลายต่อหลายคน รวมทั้งผู้ที่มีความรู้ จะใช้คำว่า "อินชาอัลลอฮ" เป็นการพูดเพื่อให้พ้นๆไป ในความรับผิดชอบต่อหน้าเท่านั้น แต่จะทำตามที่รับปากไว้หรือไม่นั้นไม่สำคัญ  เป็นคำที่ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใส่ใจว่าการกล่าวคำว่า "อินชาอัลลอฮ" คือการกล่าวด้วยพระนามของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงเกรียงไกรยิ่ง ผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและเปิดเผย พระนามของอัลลอฮ์ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการรับปาก และมั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ จึงกล่าวว่า "อินชาอัลลอฮ"

          "อินชาอัลลอฮ" หากพระองค์ประสงค์  ความประสงค์ของพระองค์อัลลอฮ์นั้น มนุษย์ไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ได้ เหมือนกับการกำหนดกฏสภาวะการณ์ (กอฎอ-กอฎัร) ซึ่งเป็นกำหนดที่มนุษย์ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตต่อไปของชีวิตมนุษย์ผู้นั้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่สำหรับการทำงานเพียงเล็กน้อยที่เป็นความดี หรือการทำงานเพื่อศาสนาของพระองค์นั้น "อินชาอัลลอฮ" จึงเป็นสิ่งที่พระองค์พึงประสงค์จะให้เป็นไปตามการตั้งเจตนาที่ดี การกระทำในสิ่งที่เป็นความดี เมื่อเรากล่าวคำว่า "อินชาอัลลอฮ" นั่นคือการรับปากว่าจะปฏิบัติตามที่พูดไว้ และบุคคลที่เราพูดไว้หรือให้คำมั่นสัญญาไว้ ก็จะตั้งความหวังว่าเขาจะได้ในสิ่งที่ดีที่ได้กล่าวไว้ว่า "อินชาอัลลอฮ"

          เพราะฉะนั้นการใช้คำกล่าวว่า "อินชาอัลลอฮ" ซึ่งมีพระนามของอัลลอฮ์ จึงมิใช่เป็นการใช้อย่างพร่ำเพรื่อ หรือขอให้ผ่านพ้นไป ไม่ว่ากี่ครั้งก็จะกล่าวว่า "อินชาอัลลอฮ" แต่ไม่เคยที่จะปฏิบัติตามนั้นเลยสักครั้ง   แม้ว่าสิ่งที่รับปากนั้นจะเป็นการทำความดีก็ตาม

          มุสลิมกับคำว่า "อินชาอัลลอฮ" เป็นคำทีอยู่คู่กันในวิถีแห่งชีวิต เพราะเราดำเนินชีวิตด้วยพระประสงค์แห่งอัลลอฮ์  และทำทุกอย่างในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ และทุกอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้หากพระองค์ไม่ประสงค์ให้เกิด

          ขอให้มุสลิมทุกคนใช้คำว่า "อินชาอัลลอฮ" ด้วยการตั้งเจตนาเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์แห่งอัลลอฮ์ "อินชาอัลลอฮ"พระองค์จะให้ในสิ่งที่ท่านประสงค์ที่เป็นความดีได้เกิดขึ้น พระองค์จะทำให้เกิดความจำเริญ(บารอกัต) ในคำพูด คำกล่าว และจะทำให้เราเป็นผู้ที่คนอื่นไว้วางใจ และเชื่อมั่นในคำพูด คำสัญญาที่ให้ไว้ และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการยืนยันคำสัญญาที่ให้ไว้กับมนุษย์ผู้ต่ำต้อยด้วยกันเอง  และเราต้องพึงระลึกเสมอว่า "พระองค์อัลลอฮ์ นั้น มิทรงผิดคำสัญญา"


.........................................
โดย  อุมม์รอชิด
http://www.islammore.com/

ผู้ถูกปรักปรำ อัลลอฮฺจะเปิดเผยความจริง




นักวิชากการผู้สันทัดกรณีบางท่านได้ระบุว่า
"เมื่อท่านนบียูซุฟ ได้ถูกปรักปรำด้วยข้อลวนลามและปรุกป้ำภรรยาของท่านอะซีซ เสนาบดีของอียิปต์ ผู้เป็นนายของทานนบียูซุฟ ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรง
พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ได้ทรงให้ท่านนบียูซุฟบริสุทธิ์จากมนทินของข้อหานั้น ด้วยคำพูดของเด็กทารกที่ยังอยู่ในเปล

และท่านหญิงมัรยัม เมื่อครั้งถูกปรกปรำด้วยข้อหาผิดประเวณีจนตั้งครรภ์ท่านบีอีซา โดยไม่มีพ่อ
พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ได้ทรงให่พระนางท่านบริสุทธิ์จากมนทินของข้อหาอันฉกาจนั้นด้วยคำพูดของท่านนบีอีซา ผู้เป็นบุตรของนาง ขณะยังเป็นทารก

อีกทั้งท่านญุรอยจ์นักปฏิบัติธรรมแห่งชนอิสรออีล เมื่อคราวถูกใส่ร้ายจากหญิงโสเภณีว่าท่านญุรอยจ์ลอบได้เสียกับนางจนตั้งครรภ์และคลอดลูก ภายหลังหญิงโสเภณีได้อุ้มทารกที่เกิดจากคนเลี้ยงแกะข้างอาศรมของท่านญุรอยจ์ เที่ยวโพนทนาว่าพ่อของเด็กคือญุรอยจ์ จนเป็นเหตุทำให้ชนอิสราเอลที่เคารพนับถือและยกย่องท่านญุรอยจ์ พากันไปทำลายรื้อถอนอาศรมและประชาทัณฑ์ท่าน
พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ได้ทรงทำให้ท่านญุรอยจ์บริสุทธิ์จากข้อมลทินนั้น ด้วยคำพูดของทารกที่ยืนยันว่าพ่อของตนคือชายเลี้ยงแกะ

ส่วนท่านหยิงอาอิชะฮ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา ผู้เป็นมารดาแห่งสรัทธาชนนั้น เมื่อคราที่พระนางถุกปรักปรำใส่ร้ายว่าผิดประเวณี จากคำโนทนาของเหล่าชนผู้กลับกลอก

พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ได้ทรงให้พระนางบริสุทธิ์จากมนทินนั้นด้วย พระดำรัสของพระองค์เองในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พระองค์มิทรงพึงพแพระทัยในการประกาศความบริสุทธิ์ของพระนางด้วยคำพูดของเด้กทารก หรือคำพุดของท่านนบีมุหัมมัดเอง
หากพระองค์ได้ทรงประกาศความบริสุทธิ์ของพระนางไว้ในอัลกุรอานจากข้อปรักปรำทั้งมวล"

(จากตัฟสีรฺ อัลกุรฏุบีย์ 12/212)

ข้อปรักปรำของบาทหลวงคริสต์ต่อท่านหญิงอาอิชะฮฺ




เล่ากันว่ามีบาทหลวงในคริสต์ศาสนาคนหนึ่ง ต้องการเล่นงานชาวมุสลิมด้วยการเล่นงานชาวมุสลิมด้วยการบิรภาษโจมตีท่านหญิงอาอิชะฮฺ ผู้เป็นมารดาแห่งศรัทธาชน

บาทหลวงกล่าวว่า
"ผู้คนทั้งหลายได้กล่าวหานางว่าผิดประเวณี และเราก็มิอาจทราบได้ว่านางเป็นผู้บริสุทธิ์หรือเป็นผู้ต้องหากันแน่?

ชายมุสลิมบางคนที่อยู่ ณ ที่นั่น จึงตอบบาทหลวงผู้นี้ว่า

 : โอ้ ท่านผู้นี้ขอจงฟังเถิด ! กล่าวตือ มีสตรีอยู่ 2 นาง ทั้งคู่ถูกล่าวหาว่าผิดประเวณี

แต่อัลกุรอานก็ได้ประกาศถึงความบริสุทธิ์ของนางทั้งสอง

 จากข้อปรักปรำนั้น

หนึ่งใน 2 คนนั้นไม่มีสามี

แล้วนางก็มีลูกเกิดมา (หมายถึงท่านหญิงมัรฺยัม)

ส่วนอีกนางหนึ่งมีสามีอยู่แล้ว แต่นางไม่มีลูก (หมายถึงท่านหญิงอาอิชะฮฺ)

คนไหนเล่า?! ที่สมควรโดนข้อกล่าววหามากกว่ากัน?

เมื่อได้รับคำตอบพร้อมตั้งคำถามเช่นนี้

บาทหลวงผู้นั้นก็ถึงกับอึ้งไม่อาจสาวความใดได้อีก เรียกว่าเป็นใบ้ไปเลยทีเดียว
(จาก ตัฟสีรฺ ศ็อฟวะห์ อัตตะฟาสีรฺ 2/339)

การทำงานไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการศึกษาหาความรู้




               ทุกคนมีหน้าที่การงานที่แตกต่างกันไป อาจเป็นงานส่วนตัว ลูกจ้าง เจ้าของกิจการ หรือรับราชการ  แต่การทำงานเหล่านั้นก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการศึกษาหาความรู้

บรรดาเศาะหาบะฮฺมากมายต่างก็ทำงาน และเมื่อพวกท่านกลับจากภาระหน้าที่การงานของพวกท่าน พวกท่านก็ต่างขวนขวายศึกษาหาความรู้ในเวลาช่วงวันที่เหลืออยู่ พวกท่านต่างก็อดนอน เพื่อศึกษาอัลกุรอานและหะดิษ

ท่านอบูสะอี๊ด ร่อฎียัลลฮอุอันฮุม เล่าว่า
"เมื่อพวกเราออกไปทำสงคราม เราจะให้คนหนึ่ง หรือสองคน อยู่เพื่อรับฟังคำพูดขากท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้พูดไว้ให้พวกเราฟัง"
والله أعلم بالصواب

ความสวยงามของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย



                พระองค์อัลลอฮฺได้ประทานความโปรดปารนแก่ปวงบ่าวของพระองค์ ด้วยการให้พวกเขามีเสื้อผ้า เพื่อปกปิดส่วนพึงสงวนของพวกเขา เพื่อให้พวกเขามีลักษณะรูปร่างที่สวยงามสะอาดสะอ้านเป็นสง่าราศี

และอาภรณ์ที่ดีที่สุด คือ เสื้อผ้าอาภรณ์แห่งการตั๊กวา(ยำเกรง) ซึ่งทำให้ผู้ที่สวมใส่สะอาดหมดจดทั้งภายนอก และภายใน

พระองค์อัลลอฮฺ ศุบอานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

يَا بَنِي آدَمَ قَدْ أَنزَلْنَا عَلَيْكُمْ لِبَاسًا يُوَارِي سَوْآتِكُمْ وَرِيشًا وَلِبَاسُ التَّقْوَىٰ ذَٰلِكَ خَيْرٌ  ( 26 ) อัล-อะอฺรอฟ - Ayaa 26

ลูกหลานอาดัมเอ๋ย! แท้จริงเราได้ให้ลงมาแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งเครื่องนุ่งห่ม ทีปกปิดสิ่งที่อันน่าละอายของพวกเจ้าและเครื่องนุ่งห่มที่ให้ความสวยงาม และเครื่องนุ่งห่มแห่งความยำเกรง นั่นคือสิ่งที่ดียิ่ง "
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัลอะอ์ร็อฟ 7:26)

"และเสื้ออาภรณ์แห่งการตั๊กวานั้นดีที่สุด"

يَا بَنِي آدَمَ خُذُوا زِينَتَكُمْ عِندَ كُلِّ مَسْجِدٍ  ( 31 ) อัล-อะอฺรอฟ - Ayaa 31

"ลูหลานของอาดัมเอ๋ย ! จงเอา เครื่องประดับกาย ของพวกเจ้า ณ ทุกมัสยิด"
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัลอะอ์ร็อฟ 7:31)

การแต่งกายให้สวยงาม จึงเป็นที่ต้องการให้มุสลิมปฏิบัติ โดยไม่เป็นการฟุ่มเฟือย และไม่เป็นการเย่อหยิ่งยะโส (ตะกับบุร)

والله أعلم بالصواب


การออกซากาตหนี้สินของการซื้อขาย



หนี้สินสำหรับการซื้อขาย บางครั้งได้รับเงินสดทันที บางครั้งก็ไม่ได้เงินสดโดยทันที แต่จะได้รับเป็นงวดๆ หนี้สินจึงมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

-หนี้สินที่พ่อค้ายังไม่ได้รับคืนจากลูกค้า มีด้วยกัน 2 แบบ นั้นคือ

1.หนี้สินที่ลูกค้ามีความสามารถนำมาใช้คืนได้ตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ หนี้สินสินในลักษณะเช่นนี้ พ่าค้าจะต้องนำมาคิดคำนวณออกซะกาตด้วย ถึงแม้จะยังไม่ได้รับคืนก็ตาม

2.หนี้สินที่ลูกค้าไม่สามารถนำมาใช้คืนได้ และไม่รู้ว่าจะนำมาชดใช้คืนเมื่อไร หนี้สินลักษณะดังกล่าว พ่อค้าไม่ต้องนำเอามาคำนวณออกซะกาตด้วย ให้รอจนกว่าได้คืน จึงจะนำมาออกซะกาต เฉพาะปีที่ได้รับชดใช้หนี้เท่านั้น

และสำหรับหนี้สินที่พ่อค้ายังไม่ได้ชำระคืนให้กับเจ้าหนี้ ให้พ่อค้าหรือเจ้าของกิจการที่มีหนี้สินอยู่กับผู้อื่น หักออกจากจำนวนทรัพย์สินก่อน หากเงินที่เหลือจาการหักยังครบเกณฑ์(นิศอบ) อยู่ก็ให้ออกวะกาต

والله أعلم بالصواب

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การทำทานต่อเครือญาติ



บรรดานักวิชาการมีความเห็นพ้องตรงกันว่า การติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาตินั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นวาญิบต้องปฏิบัติ

พระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 وَبَثَّ مِنْهُمَا رِجَالًا كَثِيرًا وَنِسَاءً وَاتَّقُوا اللَّهَ الَّذِي تَسَاءَلُونَ بِهِ وَالْأَرْحَامَ إِنَّ اللَّهَ كَانَ عَلَيْكُمْ رَقِيبًا ( 1 ) อัน-นิสาอ์ - Ayaa 1

 "และจงยำเกรงอัลลอฮฺที่พวกเจ้าต่างขอกัน ด้วยพระองค์ และพึงรักษาเครือญาติ แท้จริงอัลลอฮฺทรงสอดส่องดูพวกเจ้าอยู่เสมอ"
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอันนิซาอฺ 4:1)



และการทำทานทีีประเสริฐที่สุดคือ การทำทานต่อเครือญาติ

รายงานจากท่านหญิงอุมมุกัลโซม บุตรีของท่านอุกบะฮฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"การทำทานทีีประเสริฐที่สุดคือ การทำทานต่อเครือญาติที่ซ่อนความเป็นศัตรูไว้ในใจ" (บันทึกหะดิษโดยอิมามอัฏฏ็อบรอนีย์ และอัลฮากิม)

รายงานจากท่านซัลมาน บุตรของท่านอามิร ร่อฎียัลลอฮุอันฮุม เล่าว่า ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"การทำทานต่อคนขัดสนนั้น เป็นการทำทานที่จะได้ผลบุญเนื่องจากการทำทานนั้น และทำทานต่อเครือญาตินั้น ได้ถึง 2 ผลบุญ คือผลบุญของการทำทาน และผลบุญของการเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ" (บันทึกหะดิษโดยอิมามอัตติรมีซีย์)


ท่านอนัส ร่อฎียัลลอฮุอันฮุม เล่าว่า ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"ผู้ใดที่ต้องการให้ริสกีของเขามีมากมาย และให้อายุของเขาเพิ่มพูน เขาจงเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ" (บันทึกหะดิษโดยอิมามบุคอรียื และอิมามมุสลิม)



































วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ชายฆ่าร้อยศพผู้เตาบัตกลับใจ



มีฮะดีษของท่านนบี  เป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่ง ซึ่งฆ่าคนถึง 100 คน และต้องการเตาบัต หรือกลับตัวว่า

“ครั้งหนึ่งก่อนหน้ายุคสมัยของพวกท่าน มีชายผู้หนึ่งได้ฆ่าคนถึง ๙๙ คน และเขาต้องการกลับตัว จึงได้ถามถึงผู้ที่มีความรู้ที่สุดในแผ่นดิน เพื่อที่จะได้ไปขอคำแนะนำจากเขาผู้นั้น มีคนแนะนำให้เขาไป ถามนักบวชผู้หนึ่ง เขาได้ไปหา และถามนักบวชผู้นั้นว่า เขาได้ฆ่าคนไปแล้วถึง 99 คน มีทางที่เขาจะเตาบัต กลับตัวเป็นคนดีได้ไหม ?  นักบวชตอบเขาว่า ไม่มี เมื่อฟังเช่นนั้น เขาจึงฆ่านักบวชคนนั้น เป็นศพที่หนึ่งร้อย จากนั้นก็มีคนแนะนำ ให้เขาไปหานักปราชญ์ผู้หนึ่ง เขาจึงได้ไปหา และถามนักปราชญ์ผู้นั้นว่า เขาได้ฆ่าคนไปแล้วหนึ่งร้อยศพ มีทางที่เขาจะเตาบัตได้ไหม ? นักปราชญ์ตอบเขาว่า ย่อมมีทางสำหรับเขาแน่นอน เพราะไม่มีสิ่งใดเลย ที่จะขัดขวางเขา จากการเตาบัต นักปราชญ์แนะนำให้เขาอพยพ เพราะเป็นเมืองที่มีแต่คนชั่ว  เขาจึงออกเดินทางไปยังเมือง ที่นักปราชญ์ผู้นั้นแนะนำ แต่เขาได้เสียชีวิตลงกลางทาง ก่อนที่จะไปถึงเมืองนั้น ได้มีมลาอิกะห์สองท่านมา คือมลาอิกะห์ที่จะนำไปสู่ความเมตตา และมลาอิกะห์ที่จะนำไปสู่การลงโทษ เพื่อรับวิญญาณเขา  มลาอิกะห์แห่งความเมตตา ต้องการนำวิญญาณเขาไป โดยกล่าวว่า เขาผู้นี้ได้เตาบัตแล้ว และมุ่งมั่นไปหาอัลเลาะห์ ด้วยใจจริง  ขณะที่มลาอิกะห์แห่งการลงโทษ ต้องการนำตัวเขาไป และกล่าวว่า เขาผู้นี้ยังไม่เคยทำดีเลยแม้แต่น้อย  อัลเลาะห์ จึงส่งมลาอิกะห์อีกท่านหนึ่ง เพื่อเป็นผู้ตัดสิน โดยบอกให้มลาอิกะห์ทั้งสอง วัดระยะทางจากจุดที่เขาเสียชีวิต ไปยังทั้งสองเมือง เพื่อพิสูจน์ว่า เมืองไหนมีระยะทางใกล้กว่า ก็ให้ถือว่า เขาเป็นชาวเมืองนั้น  มลาอิกะห์ทั้งสอง จึงทำการวัดระยะทาง และพบว่าเมืองที่เขาจะอพยพไป มีระยะทางใกล้กว่า เมื่อเป็นดังนั้น มลาอิกะห์แห่งความเมตตา จึงได้รับวิญญาณของชายผู้นั้นไป  (บันทึกโดยมุสลิม)



จากคำสอนจากฮะดีษนี้ ก็คือ อัลลอฮฺมีความเมตตาสงสารบ่าว ของพระองค์เสมอ แม้แต่บ่าวที่ทำความผิดร้ายแรง ฆ่าคนตายถึงหนึ่งร้อยศพ อัลลอฮฺก็พร้อมที่จะรับการกลับตัว เป็นคนดีของเขา ด้วยการเตาบัต ดังนั้น ผู้ที่กระทำความผิด จะต้องไม่ปล่อยตัว ให้จมปลักอยู่ในความผิดนั้น ต่อไป เขาจะต้องรีบกลับตัว เป็นคนดี ด้วยการเตาบัตอย่างแท้จริง และด้วยความจริงใจ อย่างที่เรียกว่า “เตาบะห์นะซูฮา”
ดังพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา  ได้ตรัสไว้ว่า

                                     يَأَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوْا تُوْبُوْا إِلَى اللهِ تَوْبَةً نَصُوْحًا عَسَى رَبُّكُمْ أَنْ يُكَفِّرَ عَنْكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَيُدْخِلَكُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِيْ مِنْ تَحْتِهَا اْلأَنْهَارُ

มีความหมายว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเตาบัต คือการกลับตัว เข้าหาอัลลอฮฺ เป็นการเตาบัต อย่างแท้จริงเถิด แน่นอนว่าอัลเลาะห์ จะทรงลบล้างความผิดของพวกเจ้า และนำพวกเจ้า เข้าสู่สวรรค์ ซึ่งมีสายน้ำไหลอยู่เบื้องล่าง”  (ในซูเราะห์ อัตตะห์รีม โองการที่ 8 ว่า  )

والله أعلم بالصواب

ความร่ำรวยมันมิได้อยู่ที่การมีทรัพย์สินเงินทองมาก



ความร่ำรวยมันมิได้อยู่ที่การมีทรัพย์สินเงินทองมาก
แต่ความร่ำรวยนั้นอยู่ที่จิตใจ
ร่ำรวยนั้น หมายถึง การมีพอ ความพอ ไม่มักมากและไม่ฟุ้งเฟ้อ
บอกโดยมุสลิม, เลขที่: 1051
:::
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะอำนาจที่ผ่านความยากจน
อำนาจที่สะท้อนผ่านชีวิตที่ยากจนของท่านนาบี(ซล)หรอกหรือ
ที่มีอิทธิพลอย่างไพศาลต่อการเปลี่ยนแปรงประวัติศาสตร์
และอารยธรรมของมนุษย์ชาติ
การแสวงหาความร่ำรวยและอำนาจต่าง ๆ
ซึ่งเป็นทิศทางและเป้าหมายของชีวิตผู้คนส่วนใหญ่
การแสวงหานั้นได้นำพาผู้คนจำนวนมากไปสู่การเบียดเบียน
ทำร้ายกัน เพื่อแย่งชิงอำนาจ ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม
จนนำไปสู่ความทุกข์ร้อนต่าง ๆ ที่เกิดจากการเบียดเบียน
ตนเองและผู้อื่น อันทำให้เราห่างไกลจากเป้าหมาย
ของแก่นแท้แห่งความสุขในชีวิต
ความพอเพียง
ที่จะนำเราไปสู่อำนาจอันเกิดจากการอยู่เหนือนัฟซู
อยู่เหนือความอยากทั้งมวล
ความพอเพียง
จึงเป็นทิศทางเดินของชีวิตที่จำนำเราไปสู่
บรรทัดสุดท้าย ของแก่นแท้แห่งความสุขที่สมบูรณ์ยิ่งกว่า
และแน่แท้ ความพอใจจะเกิดขึ้น เมื่อหัวใจยอมจำนน
ในสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนด อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
นักกวีอาหรับได้กล่าวไว้ว่า
“ฉันคิดว่าการสะสมทรัพย์สิน
มิได้เป็นความสุขอย่างที่คิด
ใช่ว่าผู้มีความสุขคือได้สุขในโลกนี้
แต่ทว่าผู้ที่รอดพ้นจากนรกคือผู้ที่มีสุขอย่างแท้จริง”
น่ะคนดี ... อินชาอัลลอฮฺ

.............................
Ismaal Binmahmud

การกล่าวขออนุญาตเข้าบ้านพักอาศัยของผู้อื่น


         แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ทรงให้บ้านเรือนที่พักอาศัย ให้มนุษย์ได้พักพิง ได้รู้สึกเป็นส่วนตัว สงบ และวางใจว่าจะไม่มีผู้ใดมาเห็นอวัยวะอันพึงสงวนและสิ่งต้องห้ามต่างๆของพวกเขา

ดังนั้น บ้านและที่พักอาศัยจึงต้องเป็นสถานต้องห้ามและปลอดภัยไม่ให้ผู้ใดละเมิด นอกจากเจ้าของบ้านจะทราบและอนุญาตตามที่เจ้าของบ้านประสงค์ และในสภาพที่พวกเขาปรารถนาให้ผู้อื่นพบเห็น

พระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า


يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تَدْخُلُوا بُيُوتًا غَيْرَ بُيُوتِكُمْ حَتَّىٰ تَسْتَأْنِسُوا وَتُسَلِّمُوا عَلَىٰ أَهْلِهَا ذَٰلِكُمْ خَيْرٌ لَّكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ ( 27 ) อัน-นูร - Ayaa 27

"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย พวกเจ้าอย่าเข้าไปในบ้านใดอื่นจากบ้านของพวกเจ้า จนกว่าจะขออนุญาติและให้สลามแก่เจ้าของบ้านเสียก่อน เช่นนั้นแหละเป็นการดีสำหรับพวกเจ้า หวังว่าพวกเจ้าจะใคร่ครวญ"

فَإِن لَّمْ تَجِدُوا فِيهَا أَحَدًا فَلَا تَدْخُلُوهَا حَتَّىٰ يُؤْذَنَ لَكُمْ وَإِن قِيلَ لَكُمُ ارْجِعُوا فَارْجِعُوا هُوَ أَزْكَىٰ لَكُمْ وَاللَّهُ بِمَا تَعْمَلُونَ عَلِيمٌ ( 28 ) อัน-นูร - Ayaa 28

"เมื่อพวกเจ้าไม่พบผู้ใดในบ้านนั้นก็อย่าเข้าไป จนกว่าจะได้รับอนุญาตแก่พวกเจ้า และเมื่อมีการกล่าวแก่พวกเจ้าว่า จงกลับไป ก็จงกลับไปมันเป็นการเหมาะสมยิ่งแก่พวกเจ้า และอัลลอฮ์ทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ"
(อัลกุรอาน สูเราะฮ์อันนูร 24:27-28)

สำหรับรูปแบบการขออนุญาตเจ้าของบ้านที่จะเข้าไปไปในบ้านพักอาศัยนั้น คือ ให้กล่าว อัสลามุอาลัยกุม ข้าพเจ้าจะเข้าไปได้ไหม? และผู้ขออนุญาตควรจะเปิดเผยตัวตนของเขาโดยการเอ่ยชื่อของเขา หากเขาไม่รับอนุญาต หรือเจ้าของบ้านไม่อยู่ก็ให้เขากลับไป

แท้จริงท่านอบูมูซา อัลอัชอารีย์ได้มาหาท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏ็อบ และได้กล่าวว่า
 : อัสลามุอะลัยกุม นี้คืออบูมูซา" (บันทึกโดยอิมามมุสลิม)

รายงานจากท่านอิบนุอับบ๊าส ร่อฎียัลลอฮุอันฮุม กล่าวว่า
"ท่านอุมัรฺ ได้มาหาท่านนบี และกล่าวว่า
"อัสลามุอะลัยกุม โอ้ท่านรสูล อัสลามุอะลัยกุม อุมัรฺจะเข้าไปได้ไหมครับ?" (บันทึกโดยอิมามอะหฺมัด)

والله أعلم بالصواب


สิ่งที่ไม่ควรกระทำกับพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน



-ไม่ใช้อัลกุรอานหนุนศีรษะ ไม่เอาอัลกุรอานมารองมือ เพราะเพียงใช้หนังสืออื่นมาหนุนก็ไม่เป็นที่สมควร

-ไม่นำสิ่งที่ไม่ใช่อัลกุรอานมาปะปนกับอัลกุรอาน

-ไม่โยนอัลกุรอาน เมื่อต้องการหยิบยื่นอัลกุรอานให้แก่ผู้อื่น

-ไม่ตบแต่งอัลกุรอานด้วยทองคำ เพราะเป็นการทำให้อัลกุรอานปะปนกับเครื่องประดับแห่งโลกนี้

-ต้องระวังอย่าให้สิ่งสกปรกเปรอะเปื้อนอัลกุรอาน

-ไม่ลบอัลกุรอานบนกระดานดำด้วยน้ำลายหรือไม้ถูพื้น แต่ให้ลบด้วยน้ำหรือแปรงลบกระดานดำ

-จะไม่วางหนังสือใดๆบนอัลกุรอาน แม้จะเป็นหนังสือตำรับตำราก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้อัลกุรอานอยู่ในตำแหน่งที่สูงส่งกว่าบรรดาหนังสือทั้งปวง

-อย่าได้วางอัลกุรอานไวบนพื้น แต่ให้วางอัลกุรอานบนตัก หรือบนสิ่งหนึ่งสิ่งใดเบื้องหน้า

-เมื่อวางอัลกุรอาน หรืออ่านอัลกุรอานเสร็จ จะไม่ปล่อยให้เปิดค้างไว้อยู่

-ไม่อ่านอัลกุรอานกลับหัว

-ไม่เขียนอัลกุรอานบนพื้นหรือผิวบนผนัง

-ไม่ทำให้อัลกุรอานเป็นเล่มเล็กๆ

รายงานจากท่านอุมัรฺ อิบนุลค็อฏฏ้อบ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา ว่า
"ท่านได้เห็นอัลกุรอานอยู่ในมือชายผู้หนึ่ง ท่านถามว่า : ใครเขียน? เขาตอบว่า : ฉันเอง แล้วท่านก็ตีเขาด้วยแส้ และกล่าวว่า
"ท่านทั้งหลายจงให้ความยิ่งใหญ่แก่อัลกุรอานเถิด ท่านรสูลห้ามมิให้เรียกว่า : มุชัยยิด (มัสยิดเล็ก) หรือมุซ็อยฮิฟ(อัลกุรอานเล่มเล็กๆ)"

والله أعلم بالصواب



จัดแถวละหมาดให้ตรงและชิดกัน




ให้อิมามกล่าวให้มะมูมจัดแถวให้ตรงและชิดกันก่อนเข้าพิธีละหมาด

«سَوُّوا صُفُوفَكُمْ، فَإنّ تَسْوِيَةَ الصُّفُوفِ مِنْ إقَامَةِ الصَّلاةِ»

ความว่า “ท่านทั้งหลายจงจัดแถวของท่านให้ตรง เพราะแถวที่ตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงการละหมาด” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 723 สำนวนนี้เป็นของอัล-บุคอรีย์และมุสลิม เลขที่: 433)

 หรือกล่าวว่า

«أَقِيمُوا الصُّفُوفَ، وَحَاذُوا بَيْنَ المَنَاكِبِ، وَسُدُّوا الخَلَلَ، وَلِيْنُوا بِأَيْدِي إخْوَانِكُمْ، وَلا تَذَرُوا فُرُجَاتٍ لِلشَّيْطَانِ، وَمَنْ وَصَلَ صَفّاً وَصَلَـهُ الله، وَمَنْ قَطَعَ صَفّاً قَطَعَهُ الله»

ความว่า “ท่านทั้งหลายจงจัดแถวของท่านให้ตรง จงจัดบ่าให้เสมอ จงอุดช่องว่าง จงอ่อนไม้อ่อนมือกับพี่น้องของท่าน จงอย่าเปิดช่องว่างให้ชัยฏอน และผู้ใดที่ชอบทำแถวให้ต่อกันอย่างสมบูรณ์อัลลอฮฺก็จะต่อผลบุญของเขาให้สมบูรณ์ และผู้ที่ชอบทำแถวให้บกพร่องอัลลอฮฺก็จะทำให้ผลบุญของเขาบกพร่องเช่นกัน” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด สำนวนนี้เป็นของอบู ดาวูดหมายเลข 666 และบันทึกโดยอัน-นะสาอีย์ หมายเลข 819)

 หรือกล่าวว่า

«اسْتَوُوا، اسْتَوُوا، اسْتَوُوا»

ความว่า “ท่านทั้งหลายจงจัดแถวซึ่งกันและกันให้ตรง จงจัดแถวแถวซึ่งกันและกันให้ตรง จงจัดแถวแถวซึ่งกันและกันให้ตรง” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่โดยอัน-นะสาอีย์ หมายเลข 813)

والله أعلم بالصواب




โปรดประทานความสงบมั่นให้แก่พวกเราด้วยเถิด



“โอ้อัลลอฮฺหากไม่มีพระองค์แล้ว พวกเราจะไม่ได้รับทางนำ พวกเราจะไม่ได้บริจาค พวกเราจะไม่ได้ละหมาด ขอได้โปรดประทานความสงบมั่นให้แก่พวกเราด้วยเถิด

อีกทั้งความโปรดปราน ที่พวกเขาดื้อรั้นต่อพวกเรา เมื่อพวกเขาประสงค์ต่อความวิบัติ แน่นอนพวกเขาก็ดื้อรั้นต่อพวกเราและเขาตะโกนก้องถึงความวิบัตินั้น”

(บันทึกโดย : บุคอรีย์)


โอ้อัลลอฮฺ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีความอ่อนแอ

โอ้อัลลอฮฺ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีความดื้อรั้น

โอ้อัลลอฮฺ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีความเห็นแก่ตัว

โอ้อัลลอฮฺ พระองค์ทรงสร้างชัยฎอนและมันเป็นศัตรูกับมนุษย์

โอ้อัลลอฮฺ พระองค์ทรงรู้ว่าชัยฎอนมันล่อลวงมนุษย์ให้เป็นเชื้อเพลิงในนรกร่วมกับมัน

โอ้อัลลอฮฺ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์เพื่อทดสอบในความเคารพภักดี

โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์โปรดชี้นำทางที่เที่ยงตรงให้กับบ่าวผู้ศรัทธาทั้งหลายด้วยเถิด

------------------
สุวัฒน์ อิสมาแอล

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ฉันวิงวอนขอ "ความเข้มแข็ง" จากอัลลอฮฺ



ฉันวิงวอนขอ "ความเข้มแข็ง" จากอัลลอฮฺ

และพระองค์ประทานซึ่ง "ความยากลำบาก" แก่ฉันเพื่อทำให้ฉันเข้มแข็ง

***ฉันวิงวอนขอ "สติปัญญา" จากอัลลอฮฺ
และพระองค์ประทานซึ่ง "ปัญหามากมาย" แก่ฉันเพื่อให้ฉันได้แก้ไข

***ฉันวิงวอนขอ "ความกล้าหาญ" จากอัลลอฮฺ
และพระองค์ประทานซึ่ง "อุปสรรค" แก่ฉันเพื่อให้ฉันได้ฝ่าฟันไป

***ฉันวิงวินขอ "ความรัก" จากอัลลอฮฺ
และพระองค์ประทานซึ่ง "ผู้คนที่ประสบปัญหา" เพื่อให้ฉันได้เข้าไปช่วยเหลือ

***ฉันวิงวอนขอ "ความช่วยเหลือ" จากอัลลอฮฺ
และพระองค์ประทานซึ่ง "โอกาสต่างๆมากมาย" แก่ฉัน

^^อาจเป็นไปได้ว่าฉันไม่ได้รับสิ่งใดเลยที่ฉันปรารถนา หากแต่ได้รับในทุกๆสิ่งที่ฉันต้องการ...อัลฮัมดุลิ้ลลาฮ

......................
Ni-dae Jongjit

ยอมรับในเรื่องที่มีการขัดแย้งกัน


"จะต้องเปิดใจให้กว้าง

ยอมรับในเรื่องที่มีการขัดแย้งกัน 

หากเรื่องที่ขัดแย้งกัน

เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการวินิจฉัยและวิเคราะห์ (อิจญติฮาด) 

ก็ให้อภัยกันได้

แต่ถ้าหากเรื่องที่ขัดแย้งกัน

เป็นเรื่องที่มีหลักฐานชัดแจ้งอยู่แล้ว 

คือมีตัวบทชัดเจนในกิตาบุลลออฺ 

สุนนะฮฺ

และมติเอกฉันท์ของบรรดาอุละมาอฺ (อิจญมาอฺ) 

การคัดค้านและไม่ยอมรับในเรื่องดังกล่าว

เป็นสิ่งที่อภัยและอ่อนโยนให้ไม่ได้เด็ดขาด"

(เชคอิบนุ อุซัยมีน)

.............................


สิทธิที่พึงปฏิบัติต่อผู้มีวิชาความรู้


ท่านอลี อิบนุ อะบีฏอลิบ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุม กล่าวว่า

"หนึ่งในสิ่งที่พึงปฏิบัติต่อผู้มีวิชาความรู้ คือ

 เมื่อท่านมาหาเขา ท่านจงให้สลามแก่เขาเป็นการส่วนตัว 

และให้สลามแก่กลุ่มชนโดยรวม

 ให้ท่านนั่งตรงข้ามเขา 

อย่าได้ชี้มือของท่าน 

ใช้สายตาของท่านเพื่อส่งสัญญาณ

 ตลอดจนการแสดงออกใดๆที่ไม่สุภาพ 

และอย่าได้ซักถามบ่อยจนเกินไป 

เพราะแท้จริงผู้ที่มีวิชาความรู้นั้น

เปรียบดังต้นอินทผาลัมที่มีผลสุก

 ซึงผลของมันนั้นพร้อมที่จะร่วงลงมาให้เก็บกินได้ทุกเมื่อ"



และท่านอลี อิบนุ อะบีฏอลิบ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุม กล่าวว่าอีกว่า

"แท้จริง สิทธิที่พึงปฏิบัติต่อผู้มีวิชาความรู้ คือ

 อย่าได้ถามเขามากเกินไป 

อย่าได้รบเร้าในการได้คำตอบจากเขา

 อย่าได้สอดรู้สอดเห็นในเรื่องส่วนตัวของเขา

 อย่าได้นินทาผู้อื่นต่อหน้าเขา 

อย่าได้เสาะหาข้อผิดพลาดของเขา

 เมื่อเขาผิดพลาดก็ให้อภัยแก่เขา 

ให้เกียรติและยกย่องเขา เพื่ออัลลอฮฺ 

อย่าได้นั่งขวางหน้าเขา 

และหากเขามีความต้องการในสิ่งใด

 ให้รีบรุดปรณนิบัติเขาก่อนผู้อื่น"

...............................................


มรดกที่ทิ้งไว้คือความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ




ท่านมุกอติล บิน สุลัยมาน รอฮิมาฮุลลอฮฺ ได้เข้าไปพบท่านมันศูร รอฮิมาฮุลลอฮฺ ในวันที่ท่านมันศูรต้องทำการสัญญา เพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งคิลาฟะห์อิสลามียะห์คนใหม่ในบัฆดาด (อิรัก)

ท่านมันศูร จึงพูดว่า : โอ้ท่านมุกอติล โปรดจงนาศีฮัต (ตักเตือนหรือชี้แนะ) ฉันหน่อย
ท่านมุกอติลจึงถามว่า : จะให้ฉันจะนาศีฮัตท่าน ด้วยสิ่งที่ฉันเห็น หรือด้วยสิ่งที่ฉันได้ยิน ?
ท่านมันศูร จึงตอบว่า : ก็ตามที่ท่านเห็นอยู่สิ

ท่านมุกอติลจึงพูดว่า : โอ้ ท่านอามีรุ้ลมุอฺมินีน แท้จริง ท่านอุมัร บิน อับดุลอาซีซ มีลูกทั้งหมด 11 คน และท่านได้ทิ้งสมบัติของท่านทั้งหมด 18 ดีนาร์ ใช้เงินในการจัดการศพของท่าน 5 ดีนาร์ ใช้ในการฝังศพ 4 ดีนาร์ เงินที่เหลือนั้น แบ่งให้ลูก ๆ ของท่าน

แต่ฮิชาม บิน อับดุลมาลิก มีลูกทั้งหมด 11 คน ลูกแต่ละคน ได้รับคนละ 1,000,000 ดีนาร์

โอ้ อามีรุ้ลมุอฺมินีน ฉันได้เห็นภายในวันเดียว 1 ในบรรดาลูกของท่านอุมัร บิน อับดุลอาซีซ ออกเศาะดาเกาะห์ม้า 100 ตัว เพื่อทำการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ แต่ 1 ในบรรดาลูกของฮิชามนั้น เป็นคนขอทานที่เดินเร่ร่อนไปมาในตลาด

ก่อนที่ท่านอุมัร บิน อับดุลอาซีซเสียชีวิต ในขณะที่ท่านกำลังนอนป่วยอยู่บนเตียง ผู้คนก็ได้ถามท่านว่า : ก่อนที่ชีวิตของท่านจะสิ้นลง ท่านได้ทิ้งมรดกอะไรไว้ให้กับลูกหลานของท่าน ?

ท่านตอบว่า : ฉันได้มอบให้แก่พวกเขา ซึ่งความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ถ้าหากว่าพวกเขาเป็นลูกหลานที่ดี อัลลอฮฺทรงเลี้ยงดูบุคคลที่ดี แต่ถ้าหากว่าพวกเขาไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฉันไม่มีวันที่จะมอบให้แก่พวกเขาโดยเด็ดขาด กับสิ่งที่ต้องทำให้พวกเขากระทำการมะอฺซิยัตต่อเอกองค์อัลลอฮฺ



✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿



บทความดี ๆ โดย : مقتطفات لـ أحمد الشقيري ヅ
ถอดความและเรียงคำโดย : อูลุล อัลบ๊าบ 

อิบาดะฮฺที่ดวงตาสมควรได้ปฏิบัติ


       จำเป็นที่ให้ตาทั้งสองของเราได้รับส่วนที่ควรได้รับจากอัลกุรอาน นั้นคือการคิดใคร่ครวญ และการได้รับข้อคิดจากอัลกุรอาน มันคืออิบาดะฮฺที่สมควรที่ดวงตาของเราจะได้ปฏิบัติ

ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"จงให้สายตาพวกท่าน ซึ่งการอิบาดะฮฺที่มันสมควรได้ปฏิบัติ บรรดาเศาะหาบะฮฺได้กล่าวขึ้นว่า : โอ็ รสูลุลลอฮฺ อะไรคืการอิบาดะฮฺที่สมควรที่ดวงตาจะได้ปฏิบัติ? ท่านตอบว่า : การพิจารณาและการใคร่ครวญในอัลกุรอาน และการได้รับข้อคิดจากความมหัศจรรย์ของอัลกุรอาน"

และท่านรสูลุลลอฮฺ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"การอิบาดะฮฺที่ประเสริฐของประชาชาติของฉันนั้น คือการอ่านอัลกุรอานโดยพิจารณาใคร่ครวญ"

والله أعلم بالصواب


ใครขี้อายกว่า



ครั้งหนึ่ง หลานชาย ได้ถามว่า..
" ก๊ะ คิดว่า สมัยนี้ ผู้หญิงกับผู้ชาย ใครขี้อาย กว่ากัน "
เรา ก็ตอบกลับไปว่า
" ผู้หญิงซิ ขี้อาย กว่าผู้ชาย "
หลานโต้กลับมาว่า..

* "ไม่จริงหรอก ผู้ชาย ขี้อาย กว่า ไปดูในเฟสซิ
มีแต่ผู้หญิงลงรูป โชว์หน้าตา รูปร่าง กันเพียบเลย .."

เรา ก็ได้แต่อึ้ง เถียงไม่ออกเลยงานนี้ อิอิ

...................................
กอหญ้า ที่พริ้วไหว

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การตัสบีฮฺต่ออัลลอฮฺตลอดทั้งชีวิตของผม



"ไม่มีดุอาอฺใดที่ผมขอแล้ว จะไม่ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ เว้นแต่เพียงสิ่งหนึ่งเท่านั้น"

อิหม่ามอิบนุล เญาซียฺ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) เขียนไว้ในหนังสือของท่านเกี่ยวกับ “ความดีงามของอิหม่ามอะหมัด (เราะหิมะฮุลลอฮฺ)” โดยท่านได้บอกเล่าเรื่องราวที่งดงามเรื่องหนึ่งอันทำให้ตระหนักถึง “ความสำคัญของการอัซการฺ”

“อิหม่ามอะหมัด” คือบุรุษท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในโลกมุสลิม ทั้งก่อนและหลังช่วงชีวิตของท่าน อีหม่ามอัดเศาะฮาบียอฺเคยกล่าวว่า งานญะนาซะฮฺของอีหม่ามอะหมัดนั้นมีความยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงยุคนั้น เพียงแค่วันเดียวเท่านั้น มีคนถึง 1.3 ล้านคนที่เข้าร่วมละหมาดญะนาซะฮฺให้กับท่าน ซุบฮานั้ลลอฮฺ อีหม่ามอะหมัดมักจะปกปิดใบหน้าของท่านขณะเดินทางออกไปแสวงหาความรู้ เพื่อที่ผู้คนจะไม่สามารถจดจำท่านได้ และนี่คือความถ่อมตนของท่าน

วันหนึ่ง ขณะที่ท่านเดินทางไปที่อัชชาม และระหว่างทางนั้น ท่านได้หยุดที่มัสญิดแห่งหนึ่งเพื่อพักค้างคืนที่นั่น ยามผู้ดูแลความปลอดภัยของมัสญิดได้บอกกับท่านว่า “ท่านจำต้องออกไปจากที่นี่ เพราะมัสญิดกำลังจะปิดแล้ว” อีหม่ามอะหมัดจึงตอบว่า “ผมไม่มีที่จะไปครับ” ยามคนเดิมได้ตอบท่านว่า “จงออกจากที่นี่ไปเสีย” ในความเป็นจริงแล้ว ณ สถานการณ์เช่นนั้น อีหม่ามอะหมัดสามารถที่จะบอกกับยามคนนั้นไปได้ว่า “เออ ผมคืออีหม่ามอะหมัด” หากแต่ท่านไม่ได้กระทำเช่นนั้น ทว่า ท่านได้แบกเอาสัมภาระของท่านและไปนอนที่ขั้นบันไดของมัสญิด เมื่อยามคนเดิมเดินออกมาและพบท่านนอนอยู่ที่นั่น จึงได้ไล่ท่านออกไปจากขั้นบันได และให้ไปที่อื่นเสีย ขณะนั้นอีหม่ามอะหมัดเองก็ไม่ทราบว่า ท่านควรจะทำเช่นไร

ยามคนดังกล่าวได้ใช้ขาของเขาไล่ท่าน และลากท่านไปกลางถนนและปล่อยท่านไว้ที่นั่น ขณะนั้น อีหม่ามอะหมัดจึงต้องจำใจยอม

ขณะเดียวกัน ชายอบขนมปังที่เป็นเจ้าของร้านขายขนมปังที่อยู่ข้างถนน ได้เห็นอีหม่ามอะหมัด จึงเข้ามาหาท่านและบอกกับท่านว่า “ท่านสามารถพักที่ร้านของผมคืนนี้ได้นะครับ” “ท่านจะนอนตรงนี้ก็ได้นะครับ เดี๋ยวผมขอไปทำงานก่อน” จากนั้นเขาจึงได้หลีกทางให้กับอีหม่ามอะหมัด

ระหว่างนั้นอีหม่ามอะหมัด (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) ได้สังเกตเห็นพฤติกรรมของชายคนดังกล่าว ระหว่างที่เขาผสมแป้ง และวางมันไว้ในเตาอบ และทุกๆ ขั้นตอนของการทำขนมปัง ไม่ว่าจะเป็นการนวด การปั้น การอบ ชายคนดังกล่าวจะกล่าวว่า
“ซุบฮานั้ลลอฮฺ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ อัลลอฮุ อักบัรฺ”
“ซุบฮานั้ลลอฮฺ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ อัลลอฮุ อักบัรฺ”
“ซุบฮานั้ลลอฮฺ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ อัลลอฮุ อักบัรฺ”

ตลอดทั้งคืน เขาทำการตัสบีฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา

จนอีหม่ามอะหมัดเกิดความประหลาดใจ และครุ่นคิดเกี่ยวกับการกระทำของเขา .. คนส่วนใหญ่มักจะเกิดความเบื่อหน่ายอย่างรวดเร็วกับการตัสบีฮฺ หากแต่ชายคนนี้กลับทำการซิเกรฺในที่ทำงานของเขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มันก็ไม่ใช่การละหมาดตะฮัดยุด หรือการเอี้ยติกาฟแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ อีหม่ามอะหมัดจึงถามเขาว่า “ท่านอยู่ในสภาพเช่นนี้มานานเท่าไหร่แล้วหรือครับ” เขาตอบว่า “สภาพเช่นไรหรือครับ”
อีหม่ามอะหมัดจึงกล่าวว่า “การตัสบีฮฺต่ออัลลอฮฺ”
“ตลอดทั้งชีวิตของผมครับ” ชายทำขนมปังตอบ

อีหม่ามอะหมัดถามคำถามที่สองกับเขาว่า “แล้วท่านได้รับอะไรจากอัลลอฮฺ อันเป็นผลที่ได้มาจากการตัสบีฮฺที่ท่านทำมาโดยตลอด”

“ไม่มีดุอาอฺใดที่ผมขอแล้ว จะไม่ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ เว้นแต่เพียงสิ่งหนึ่งเท่านั้น” เขาตอบ

อีหม่ามอะหมัดกล่าว “ซุบฮานั้ลลอฮฺ! ท่านไม่เคยขอดุอาอฺใดต่ออัลลอฮฺ แล้วจะไม่ได้รับการตอบรับจากพระองค์อย่างนั้นหรือ”

เขาจึงกล่าวตอบย้ำว่า “ไม่มีดุอาอฺใดที่ผมขอแล้ว จะไม่ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ เว้นแต่เพียงสิ่งหนึ่งเท่านั้น”

อีหม่ามอะหมัด (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) จึงถามเขาต่อว่า “และสิ่งนั้นคืออะไรหรือครับ”
เขาตอบว่า “การได้พบกับอีหม่ามอะหมัด”

อีหม่ามอะหมัดถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาเมื่อได้ยินเช่นนั้น และท่านก็เข้าไปสวมกอดชายคนดังกล่าว และบอกกับเขาว่า

“ซุบฮานั้ลลลอฮฺ โอ้ นี่คือ..อัลลอฮฺ พระองค์ได้ทรงนำอะหมัดมายังท่าน โดยที่พระองค์ได้ลากตัวเขามายังร้านขนมปังของท่าน” “หากมิใช่เพราะท่านแล้ว ผมคงจะนอนอย่างสงบสุขอยู่ในมัสญิดแล้ว”

ซุบฮานั้ลลอฮฺ

“และจงรำลึกถึงพระเจ้าของเจ้าภายในใจของเจ้าด้วยความนอบน้อม และความยำเกรงโดยมิต้องเปล่งเสียง ในยามเช้า และยามเย็น และจงอย่าเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เผลอเรอ” (อัลกุรอาน 7.205)

..................................................................................................................................
 http://salaf-stories.blogspot.com/2011/12/i-never-made-dua-to-allah-for-anything.html

Pon Sang


วิชาความรู้ควบคู่กับมารยาท


ท่านอบูซะกะรียา อัลอันบะรีย์ กล่าวว่า

“วิชาความรู้ที่ปราศจากมารยาท เปรียบดังไฟที่ไร้ฟืน

และมารยาทที่ปราศจากวิชาความรู้เปรียบดังร่างกายที่ไร้วิญญาณ”

..................................

ความโปรดปรานในภัยพิบัติ



รายงานจากท่านอุมัรฺ อิบนุ อัลคอฏฏอบ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา ว่า

“ไม่มีภัยพิบัติอันใดได้มาประสบกับฉัน

 นอกเสียจากฉันพบว่า

 ในภัยพิบัตินั้นมีความโปรดปรานอยู่ 3 ประการ

1. ภัยพิบัติอันเป็นการทดสอบนั้นมิได้เกิดขึ้นกับฉันในเรื่องของศาสนา

2. ภัยพิบัติเหล่านั้นมิได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าที่มันเคยเกิดขึ้น

3. พระองค์อัลลอฮฺ จะทรงตอบแทนผลานิสงส์อันยิ่งใหญ่ในการทดสอบนั้น

ต่อมาภายหลังท่านก็อ่านพระดำรัสที่ว่า


أُولَٰئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِّن رَّبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ وَأُولَٰئِكَ هُمُ الْمُهْتَدُونَ

 “พวกเขาเหล่านั้นแหละ เหนือพวกเขาก็คือการประทานพรและพระเมตตาจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และพวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ที่ได้รับทางนำ” (อัลกุรอาน สูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 157)

(จาก ตัฟสีรฺ ศ็อฟวะห์ อัตตะฟาสีรฺ 1/106)



เมื่อจะหาว ผ่ายลมและขับเสมหะขณะอ่านอัลกุรอาน



     เมื่อมุสลิมคนใดกำลังอ่านอัลกุรอาน และเมื่อเกิดจะหาว ก็ให้กลั้นไว้ก่อน เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่อัลกุรอาน เพราะเมื่อเขาอ่านก็เหมือนกับว่าเขาอยู่ในสถานะที่กำลังสนทนากับพระเจ้าของเขา และการหาวนั้นมาจากชัยฏอน

และขณะที่อ่านอัลกุรอาน หากจะผ่ายลมก็ให้หยุดอ่านก่อน จนกว่าจะผ่ายลมเสร็จเรียบร้อย แล้วค่อยกลับมาอ่านใหม่ ถือเป็นมารยาทที่ดีงาม

และเมื่อผู้กำลังอ่านอัลกุรอานมีการขับเสมหะออกมา ก็ให้บ้วนปากทุกครั้ง

"ปรากฏว่าท่านอิบนุอับบ๊าส ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา ได้เตรียมภาชนะใส่น้ำไว้ข้างหน้าท่าน ทุกครั้งที่ท่านขับเสมหะออกมา ท่านก็จะบ้วนปาก"

والله أعلم بالصواب


บททดสอบจากอัลลอฮฺจะเริ่มต้นจากสิ่งใหญ่ๆ



ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในโลกใบนี้ จะถูกเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ แล้วมันจะค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นมา นอกเหนือจากสิ่งเดียว นั่นคือ บททดสอบจากอัลลอฮฺ

มันจะเริ่มต้นจากใหญ่ โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว แล้วมันจะค่อย ๆ เล็กลงมา ไปตามกาลเวลา

เป็นเพราะว่าเราเผลอ และไม่ค่อยเอาใจใส่ในการรำลึกอัลลอฮฺ พระองค์จึงส่งบททดสอบมาให้เรา เพื่อให้เราได้นึกถึงพระองค์อยู่ตลอดเวลา

...........................................................
ข้อความดี ๆ โดย : إلهي أنت تعلم كيف حالي
ถอดความและเรียงคำโดย : อูลุล อัลบ๊าบ 

คราตกหลุมสังคมอุบาทว์



เด็กคนนั้นเล่นซนจนผลัดตกบ่อลึกที่เตรียมก่อสร้างตึกแห่งหนึ่ง
เวลาผ่านไป หลายลมเฮือกจากเช้ายันเย็น
เขาเอาแต่ร้องไห้หลังจากพยายามตะเกียกตะกาย หลายครั้งหลายคราเพื่อเอาตัวเองขึ้นไปบนพื้น
เขาหมดสิ้นหนทางและความหวัง
ท้อแท้เหลือเกินเหนื่อยใจเหลือเกิน
จนมีเด็กชายรุ่นพี่อีกคนผ่านมาได้ ยินเสียงร้องไห้จึงตามมาเห็น
จึงเข้าช่วยเหลืออย่างทุลักทุเลเนื่องจาก หลุมนั้นลึกมากและห่างไกลบ้านผู้คน
เวลาผ่านไปเรื่อยๆ
และแล้วเด็กน้อย ก็ขึ้นจากหลุมได้และซาบซึ้งในการช่วยเหลือครั้งนี้
จึงนับได้ว่ารุ่นพี่คน นี้คือผู้บุญคุณที่สุดในชีวิต
เขารีบวิ่งกลับไปที่บ้านและเล่าความให้คน ที่บ้านฟังถึงความเป็นมา

เวลาผ่านไปสิบปี
เด็กน้อยเดินทางมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯและได้เจอกับรุ่นพี่คนนั้นอีกครา
เขาเจอกับเพื่อนใหม่ที่ไม่ดี
เขาเริ่มเที่ยว
เริ่มมีแฟน
เริ่มสูบบุหรี่
และทำตัวออกห่างอิสลามในที่สุด
รุ่นพี่มีพระคุณคนนั้นได้ตักเตือนและห้ามปรามครั้งแล้วครั้งเล่า
จนในที่สุดคำตอบที่ได้รับกลับมาว่า "อย่ามายุ่งกับฉัน ฉันอยู่ของฉันได้"

----------------------------------------------------

คราวตกหลุมสังคม อุบาทว์ทำไมไม่ยอมให้ใครมาฉุดล่ะ
ใยตกหลุมบ่อลึกจึงต้องการคนช่วยเหลือ

ทั้งๆที่บ่อนี้ที่เจอคือบ่อไฟนรกที่เลวร้ายกว่าบ่อก่อสร้างในวัยเด็ก นั้นหลายเท่านัก
...............................
อ้างจาก zadilam
ประชาชาติ อิสลาม

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บททดสอบของพระองค์อัลลอฮฺต่อสามคนพิการ



รายงานมาจากท่านอบูอุรอยเราะฮฺ เล่าว่า เขาเองได้ยินท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

: มีพวกบนู อิสรออีล 3 คน

 เป็นโรคเรื้อน ,หัวล้าน และตาบอด

ดังนั้นอัลลอฮฺจะทรงทดสอบพวกเขา

จึงได้ทรงส่งมะลาอิกะฮฺ โดยมะลาอิกะฮฺได้ไปหาคนที่เป็นโรคเรื้อน

พลางถามว่า : มีสิ่งใดที่ท่านพอใจมากที่สุดสำหรับท่าน

ชายที่เป็นโรคเรื้อนตอบว่า : สีผิวที่สวยและผิวหนังที่งดงาม อีกทั้งประสงค์จะให้พ้นจากโรคที่มนุษย์พากันรังเกียจตัวฉัน

 ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  กล่าวว่า

: มะลาอิกะฮฺได้ลูบไปที่คนที่เป็นโรคเรื้อน ความที่ผิวหนังน่ารังเกียจก็หายไปจากเขา เขาได้มีสีผิวที่สวยงาม

 มะลาอิกะฮฺจึงกล่าวอีกว่า : ทรัพย์สินอะไรที่ท่านพอใจที่สุด

เขาตอบว่า : อูฐ หรือตอบว่า :

ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เล่าอีกว่า :

 เขาได้รับอูฐตั้งท้อง 10 เดือน 1 ตัว

มะลาอิกะฮฺกล่าวว่า : ขออัลลออฺได้โปรดประทานความจำเริญให้กับท่านด้วยอูฐตัวเมียนี้

 ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวอีกว่า

 : มะลาอิกะฮฺได้ไปหาคนหัวล้านอีก พลางกล่าวว่า : มีสิ่งใดที่ท่านพอใจที่สุด

 เขาตอบว่า : การที่มีผมที่สวย และให้สิ่งที่มนุษย์รังเกียจหายไปจากฉัน

 ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เล่าว่า 

มะลาอิกะฮฺได้ลูบเขา สิ่งน่าเกลียดก็หายไป เขามีผมสวยงาม

 มะละอิกะฮฺกล่าวอีกว่า : แล้วทรัพย์อะไรที่ท่านรักมากที่สุด

 เขาตอบว่า : วัว

 เขาจึงได้รับวัวที่ตั้งท้อง

มะลาอิกะฮฺยังกล่าวกับเขาอีกว่า : ขออัลลออฺได้โปรดประทานความจำเริญให้กับท่านด้วยในวัวตัวเมียตั้งท้อง

(ต่อมา) ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็กล่าวอีกว่า

: มะลาอิกะฮฺได้ไปหาคนที่ตาบอดอีก

 พลางกล่าวว่า ; มีสิ่งใดที่พอใจมากที่สุด

ชายตาบอดตอบว่า : ขออัลลออฺได้ทรงปรับเปลี่ยนตาของฉัน (ให้ได้มองเห็น) เพื่อฉันจะได้มองดูผู้คนอื่นๆ

 ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

 : มะลาอิกะฮฺจึงลูบเขา อัลลอฮฺก็ทรงปรับเปลี่ยนตาของเขา

 มะลาอิกะฮฺก็ถามอีกว่า : มีทรัพย์สินใดที่ท่านรักมากที่สุด เขาตอบว่า : แพะ เขาจึงได้รับแพะที่มีลูก(หมายถึงเป็นแม่พันธุ์แล้ว)

สัตว์ทั้งหมดได้ได้ให้ผลผลิตและลูกมากมาย

เขาเล่าว่า ชายคนโน้น (ที่เป็นโรคผิวหนัง) ก็มีอูฐมากมายเต็มหุบเขา

 อีกคน(คนหัวล้าน) ก็มีวัวมากมายที่หุบเขา

และคนตาบอดก็มีแพะมากมายที่หุบเขา



เขาเล่าว่า : ต่อมามะลาอิกะฮฺได้ไปหาคนที่เป็นโรคเรื้อนอีก

 โดยแปลงร่างมาในรูปเดิมของเขา (แปลงร่างเป็นคนที่เป็นโรคผิวหนัง)

พลางกล่าว (กับชายที่เคยเป็นโรคผิวหนัง) ว่า ; (ฉันเป็น) คนยากจนขาดพาหนะที่จะใช้ในการเดินทางของฉันจึงไม่สามารถทำให้ฉันไปไปถึงที่หมายได้

 นอกจากความอนุเคราะห์ของอัลลอฮฺที่จะประทานโดยผ่านความอนุเคราะห์ของท่าน

 ฉันจึงวอนขอต่อท่าน ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ประทานผิวหนังที่งดงาม ประทานให้กับท่านรวมทั้งทรัพย์สิน (อูฐ) อีก

เพื่อฉันจะได้อาศัยมันในการเดินทางของฉัน

 ชายผู้นี้ตอบว่า : ภารกิจของฉันมีอีกมากมาย

มะลาอิกะฮฺจึงได้กล่าวกับเขาว่า : คล้ายกับฉันรู้จักท่านมาก่อน ท่านไม่เคยเป็นโรคเรื้อนหรือ?

ซึ่งมนุษย์พากันรังเกียจท่าน แล้วท่านก็มิใช่คนจนดอกหรือ?

ที่อัลลออฺได้ประทาน(อูฐ)ให้กับท่าน

เขาจึงได้กล่าว(กับมะลาอิกะฮฺ) ว่า : ที่จริงแนเองได้รับมรดกทรัพย์สินนี้มาจากบรรพบุรุษต่อๆมา ซึ่งเป็นผู้มีเกียรติยิ่ง


มะลาอิกะฮฺจึงได้กล่าวว่า : หากท่านเป็นผู้พูดโกหก ก็ขอให้อัลลอฮฺทรงให้ท่านกลับกลายเป็นอย่างเดิมด้วย

ผู้เล่าได้เล่า(ตามที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม))กล่าวคือ

 มะลาอิกะฮฺได้ไปหาคนหัวล้านในรูปเดิม(ของคนหัวล้าน)

และมะลาอิกะฮฺก็ได้กล่าวดับเขาเช่นเดียวกับคนนี้(คนโรคเรื้อน)

และคนหัวล้านก็ก็ได้โต้แย้งเขาเหมือนกับที่ดต้แย้งนี้

 มะลาอิกะฮฺก็กล่าวว่า : หากท่านเป็นคนโกหก ขออัลลอฮฺได้ทรงให้ท่านปรับเปลี่ยนไปอย่างเดิม(หัวล้าน)

เขาเล่าอีกว่า

 : มะลาอิกะฮฺได้ไปหาคนตาบอด ด้วยรูปร่างของคนตาบอด (เดิม)

พลางกล่าวว่า : (ฉันเอง) เป็นคนยากจน คนเดินทางไม่มีพาหนะที่ใช้เดินทางในการเดินทางของฉัน

 และไม่สามารถจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้เว้นแต่อัลลอฮฺ

ต่อมาก็ด้วยตัวท่าน(จะช่วยเหลือ) ฉันจึงขอต่อท่าน ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ประทานการเห็น(สายตา)แก่ท่านด้วยแพะหนึ่งตัว

 เพื่อฉันจะได้อาสัยมันไปสู่จุดหมายปลายทางของฉัน

ชายคนนั้นจึงกล่าวว่า : ฉันเป็นคนตาบอดมาก่อน และอัลลอฮฺทรงให้ตาของฉันมองเห็น

ขอท่านจงเอาไปตามที่ท่านประสงค์เถิด

 และทิ้งไว้ตามที่ประส่ง (จะเอาเท่าไร จะทิ้งไว้เท่าไรก็ได้)

ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันจะไม่ลำบากใจเลยแม้แต่น้อยในสิ่งที่ท่านได้เอาไปเพื่ออัลลอฮฺ


มะลาอิกะฮฺจึงได้กล่าวว่า : จงเอาทรัพย์สินของท่านไปเถิด ที่จริงท่านถูกทดสอบ

 และความจริงท่านได้รับความโปรดปรานแล้ว แต่เพื่อนทั้งสองของท่านถูกพระองค์กริ้ว”

(หะดิษเศาะเฮียะฮฺมุสลิม หมายเลข 2496 อยู่ในส่วนที่ 7 เรื่องของสามคนพิการที่อยู่ในภาวะทุกข์ยาก)

...................................

คำพูดของอิมามชาฟิอีย์เกี่ยวกับการศึกษาหาความรู้




ท่านอิมามชาฟิอีย์ ร่อหิมะอุลลอฮฺ กล่าวว่า
“ความรู้นั้น มิใช่เพียงสิ่งที่ถูกท่องจำ หากแต่วิชาความรู้นั้นคือ สิ่งที่ยังประโยชน์(เพื่อนำมาปฏิบัติ”)

ท่านยังกล่าวอีกว่า
“ฉันต้องการที่จะให้มนุษย์ทุกคนได้ศึกษาวิชาความรู้นี้ โดยไม่มาพาดพิงวิชาความรู้นั้นมายังฉันแม้เพียงอักษรเดียว”

ท่านยังกล่าวอีกว่า
ไม่มีผู้ใดที่แสวงหาวิชาความรู้ด้วยการอาศัยอำนาจและเกรียงไกรแล้วจะประสบความสำเร็จ ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในการแสวงหาความรู้ก็คือ ผู้ที่แสวงหาความรู้ด้วยความนอมน้อม ถ่อมตน ด้วยความสมถะ และการให้เกียรติผู้รู้”

ท่านยังกล่าวอีกว่า
“หน้าที่ของผู้ที่ศึกษาความรู้นั้นก็คือ ต้องเพียรพยายามให้ถึงที่สุด ในการเพิ่มพูนวิชาความรู้ของเขา และอดทนต่อสิ่งกีดขวางที่มาประสบกับเขาในการแสวงหาวิชาความรู้”

ท่านยังกล่าวอีกว่า
“ฉันจะค่อยๆคลี่แผ่นกระดาษที่อยู่ต่อหน้าท่านอิมามมาลิก เพื่อมิให้ท่านได้ยินเสียงของมัน”
.......................................

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เครื่องหมายของคนมุนาฟิก (กลับกลอก)

مُنَافِقٌ




รายงานจาก อะบีฮุรอยเราะห์  ว่า แท้จริงท่านรอซูล  กล่าวว่า :

       เครื่องหมายของคนมุนาฟิก (กลับกลอก) นั้นมีสามประการคือ เมื่อพูดจาเขาก็โกหก เมื่อสัญญาเขาก็ผิดคำสัญญา เมื่อได้รับความไว้วางใจ เขาก็ทุจริต

สำนวนของมุสลิมมีเพิ่มข้อความอีกว่า “ถึงแม้ว่าเขาจะถือศีลอด ละหมาด และอ้างว่าเขาเป็นมุสลิม”

(บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)
ดูในบุคอรีย์ เล่ม 1 หน้า 83-84  และดูในมุสลิม หะดีษเลขที่ 59


คำอธิบาย

             “นิฟาก” การหน้าไหว้หลังหลอก เป็นลักษณะที่ถูกตำหนิ และเครื่องหมายที่แสดงว่าคนหนึ่งเป็น “มุนาฟิก” (ผู้หน้าไหว้หลังหลอก) ก็คือ การพูดโกหก ตลบตะแลง ไม่พูดความจริง ไม่รักษาสัญญา หรือไม่ตั้งใจจะปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อสัญญา และเป็นผู้ที่ชอบทุจริตเมื่อมีผู้คนเชื่อถือและไว้เนื้อเชื่อใจ
            การทุจริตที่เลวร้ายที่สุดคือ ทุจริตต่ออมานะห์ ในเรื่องของบทบัญญัติศาสนา และการเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ซึ่งมนุษย์ได้เป็นผู้แบกรับภาระหน้าที่ไว้ มีกี่มากน้อยมาแล้วที่พี่น้องมุสลิมเข้าใจว่าตนเองยังเป็นมุสลิมอยู่ เพราะยังถือศีลอด ละหมาด และยังกระทำในส่วนที่เป็นฟัรฎูอื่นๆ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เขาไม่ได้ดำเนินตามแนวทางของอิสลามเลย เพราะเขายังมีลักษณะนิสัยของ “มุนาฟิก” ติดอยู่ กล่าวคือ ยังพูดโกหก ผิดสัญญา และทุจริต หรือถ้าหากว่ายังถือว่าเขาเป็นมุสลิมโดยอนุโลมแล้ว คงจะเป็นได้เพียงมุสลิมประเภทที่มีระดับความเป็นผู้นับถือศาสนาที่ต่ำมากเหลือเกินเท่านั้น

สิ่งที่ได้รับจากฮะดีษนี้

1. คน “มุนาฟิก” คือผู้หน้าไหว้หลังหลอก กลับกลอก ต่อหน้าอย่างหนึ่ง ลับหลังอีกอย่างหนึ่ง
2. หนึ่งในเครื่องหมายของมุนาฟิก ก็คือ เป็นผู้ที่ไม่มีอะมานะห์ (ไว้ใจไม่ได้)


...............................................
ริยาดุสซอลีฮีน
โดย สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ

อิสลามกับการโกนขนลับ



 การโกนขนลับไม่ว่าทั้งเพศชายและเพศหญิงนั้นเป็นสุนนะฮฺที่ศาสนาระบุว่าจะต้องขจัด หนึ่งในนั้นคือการโกนขนลับน

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า

 " خمس من الفطرة الإستحداد والختان وقص الشارب ونتف الإبط وتقليم الأظافر "

ความว่า " 5 ประการถือว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ คือ การโกนขนใต้ร่มผ้า (โกนขนลับ), การทำคิตาน (การตัดหนังหุ้มส่วนปลายของอวัยวะเพศ),การเล็มหนวด,การถอนขนรักแร้ และการตัดเล็บ" (บันทึกโดยกลุ่มผู้บันทึกหะดีษ)

การโกนขนลับถือว่าเป็นการทำความสะอาดในส่วนที่สำคัญของอวัยวะเพศของเรา เนื่องจากตัวโลนที่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งประเภทเดียวกับหมัดที่อาศัยอยู่บริเวณขนตามหัวเหน่า ครั้นเมื่อเราโกนขนลับทิ้งไป ตัวโลนก็จะไม่มีตรงบริเวณอวัยวะเพศของเรา

ศาสนาระบุให้เราโกนขนลับไม่เกิน 40 วัน

ท่านอนัสเล่าว่า

 " وقت لنا النبي صلى الله عليه وسلم قص الشارب وتقليم الأظافر ونتف الإبط وحلق العانة ألا يترك أكثر من أربعين ليلة "

ความว่า "ท่านรสูลุลลอฮฺกำหนดเวลาให้แก่พวกเราในการเล็มหนวด,การตัดเล็บ,การถอนขนรักแร้,การโกนขนลับ โดยไม่ปล่อยเวลาทิ้งไว้เกินกว่า 40 คืน" (บันทึกโดยอบูดาวูด,อะหฺมัด และท่านอื่นๆ)

สรุปคือ การโกนขนลับเป็นสุนนะฮฺนบีที่เน้นหนักให้กระทำ เนื่องจากเป็นการทำความสะอาดต่อร่างกายซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติที่พระองค์อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้

 ส่วนถ้าไม่เคยทำมาก่อนเลยนั้น ก็ไม่ถือมีความผิดแต่ประการใด เพราะการโกนขนลับเป็นสุนนะฮฺที่เน้นหนักให้กระทำ

 والله أعلم

การสาปแช่ง




การสาปแช่งทางด้านภาษาหมายถึง กล่าวคำให้เป็นไปในทางร้าย หรือให้มีอันเป็นไปต่างๆ เช่น สาปคนให้เป็นสัตว์ เป็นต้น

ส่วนประโยคที่ว่า "อัลลอฮฺทรงสาปแช่ง" นั้น ตามความหมายทางด้านศาสนาหมายถึง พระองค์อัลลอฮฺทรงงดความเมตตาแก่บุคคลผู้นั้น
 เช่น
 ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า " لعن الله آكل الربا ومؤكله وشاهديه وكاتبه "

ความว่า "พระองค์อัลลอฮฺทรงสาปแช่งบุคคลที่กินดอกเบี้ย,บุคคลที่ให้ดอกเบี้ย, บุคคลสองคนที่เป็นพยานเกี่ยวกับดอกเบี้ย และบุคคลที่บันทึกเกี่ยวกับดอกเบี้ย" (บันทึกโดยอะหฺมัด,อบูดาวูด,ติรฺมิซีย์,นะสาอีย์ และอิบนุหิบบาน)

สำนวนหะดีษข้างต้นที่ระบุว่า " พระองค์อัลลอฮฺทรงสาปแช่ง" จึงหมายถึง พระองค์อัลลอฮฺทรงงดความเมตตากับบุคคลที่กิน,บุคคลที่ให้,บุคคลที่เป็นพยาน และบุคคลที่บันทึกเกี่ยวกับดอกเบี้ย
ไม่ใช่แปลว่า พระองค์อัลลอฮฺทรงสาป ทรงแช่งกลุ่มบุคคลดังกล่าว

 หากเราอ่านหะดีษซึ่งมีสำนวนที่ว่า
"ท่านรสูลุลลอฮฺสาปแช่ง" 
หมายถึง ท่านรสูลขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้งดความเมตตาแก่บุคคลผู้นั้น

ส่วนสำนวนหะดีษที่ระบุว่า
 "บรรดามะลาอิกะฮฺสาปแช่ง" 
หมายถึง บรรดามะลาอิกะฮฺขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้งดความเมตตาต่อบุคคลผู้นั้น

والسلام

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คุณค่าในสิ่งที่คุณทำให้กับฉัน



มีผู้ชายคนหนึ่ง ที่รักภรรยาของเขามาก ทั้งคู่มีลูกทั้งหมด 3 คน เขาสามารถให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามีให้ภรรยาของเขาได้ หากแต่ภรรยาของเขาไม่เคยซาบซึ้งกับสิ่งที่เขาทำให้เธอเลย และถึงแม้ว่าผู้ชายคนนี้จะไม่ได้เป็นคนที่ร่ำรวย แต่เขาก็พร้อมจะแบ่งปันทุกอย่างที่เขามีให้กับเธอวันหนึ่ง ผู้เป็นสามีซื้อชุดกระโปรงชุดหนึ่งให้กับภรรยา แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับมาจากภรรยา คือการที่เธอพูดจาดูถูกเขา เพราะชุดกระโปรงที่เขาซื้อให้เธอมันราคาถูกและคุณภาพต่ำ หากทว่าสามีก็ได้แต่ยิ้มให้เธอ และบอกกับเธอว่า “วันหนึ่ง เมื่อผมรวยและผมจะซื้อของมีราคาทุกๆ อย่างที่คุณต้องการให้กับคุณนะ”
โดยปกติแล้ว ภรรยาของเขาไม่เคยโทรหาเขาเลย เว้นเสียแต่ว่าเธอจะต้องการอะไรสักอย่าง เธอถึงจะโทรหาเขา มีอยู่ครั้งหนึ่งคำร้องขอของเธอไม่ได้รับการตอบสนอง จากนั้นเธอก็หาเรื่องทะเลาะกับเขาเป็นระยะเวลาหลายวัน บางครั้งก็มีการทำร้ายร่างกายด้วย

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่เขากลับจากที่ทำงาน เขาได้ซื้อเนื้อ 1 กิโลกรัมกลับมาด้วย สามีผู้น่าสงสารรู้สึกมีความสุขอย่างมากเพราะเขาตั้งใจว่าเขาจะเซอร์ไพรส์ภรรยา เมื่อเขากลับมาถึงบ้าน เขายื่นถุงเนื้อให้แก่เธอ ทันใดนั้นเธอก็ร้องดังออกมาว่า

“อี๋ นี่หนะเหรอ ที่คุณเรียกตัวคุณว่า ลูกผู้ชาย มีสามีคนไหนบ้าง นอกจากคุณ ที่จะกลับมาบ้าน กับเนื้อเพียงแค่กิโลเดียว แต่ไม่มีน้ำมัน ไม่มีผักอะไรมาด้วยเลย อย่างนี้นะ คุณน่าจะทิ้งๆ เนื้อนี่ไปซะ คุณไม่ได้เรื่องอะไรเลยสักอย่าง”

จากนั้นเธอก็โยนเนื้อลงไปในถังขยะ และกลับเข้าไปในบ้าน ผู้เป็นสามีรู้สึกแย่มาก แต่เขาก็ไม่เคยหยุดรักเธอเลย

แต่แล้ววันหนึ่ง ผู้เป็นสามีรู้สึกปวดที่เท้าข้างซ้ายของเขา จากนั้นมันก็มีเนื้องอกปรากฎขึ้นที่เท้าของเขา และมันก็เริ่มใหญ่ขึ้นและสร้างความเจ็บปวดแก่เขามากขึ้น เขาจึงต้องไปโรงพยาบาลหลังจากที่ทนกับความเจ็บปวดเป็นระยะเวลาหลายเดือน และสุดท้ายเขาก็พบว่าเขาเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เขายากจน เขาจึงไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่ดีกว่าที่ควรจะเป็นได้

และถึงแม้ว่าเขาจะป่วย แต่เขาก็พยายามอย่างมากที่จะเลี้ยงดูครอบครัวมาโดยตลอด สองปีผ่านไป อาการของเขาแย่ลง เขาจึงต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดโดยตัดขาข้างนั้นออก แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะมันสายเกินไป เชื้อไวรัสได้ลุกลามไปเกือบทั่วทั้งร่างกายของเขาแล้ว

ท้ายที่สุด เขาจึงเรียกภรรยาของเขามา และบอกกับเธอว่า “ดูแลลูกๆ ของเราด้วยนะ ผมรู้สึกว่าผมคงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกต่อไปแล้ว ขออัลลอฮฺทรงดูแลคุณและลูกๆ ด้วยเถิด” ไม่นานนักเขาก็เสียชีวิตลง

ผู้เป็นภรรยาและลูกๆ ต่างโศกเศร้าเสียใจ ร้องไห้เป็นระยะเวลาหลายวัน

สองเดือนผ่านไปหลังจากที่ผู้เป็นสามีเสียชีวิตลง ผู้เป็นภรรยาก็ร้องไห้คร่ำครวญถึงสามีของเธอและพูดออกมาว่า “ที่รักของฉัน ตลอดเวลาคุณทำแต่สิ่งที่ดีที่สุดให้ฉัน คุณปฏิบัติต่อฉันอย่างดี คุณให้ฉันทุกอย่างเท่าที่คุณสามารถจะให้ได้ แต่สิ่งที่ฉันตอบแทนคุณคือการทะเลาะเบาะแว้ง การทำร้ายคุณ ฉันไม่เคยเห็นค่าความสำคัญของคุณและความรักของคุณเลย จนกระทั่งคุณจากฉันไป และตอนนี้ฉันคือคนที่ทำหน้าที่หาอาหาร เสื้อผ้า การศึกษาและสิ่งต่างๆ ให้กับลูก ฉันจำได้ว่าครั้งหนึ่งฉันเคยโยนเนื้อหนึ่งกิโลที่คุณซื้อมาให้ลงถังขยะ แต่ตอนนี้ฉันไม่มีปัญญาแม้แต่จะหาเนื้อสักครึ่งกิโลให้กับครอบครัวเลย มันมีคำพูดที่ว่า “คนดีมักจะเสียชีวิตตอนอายุยังน้อย” นั่นคงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงเสียชีวิตสินะ คุณคือสามีที่ฉันดูถูกเหยียดหยามมาโดยตลอด แต่คุณก็จะยิ้มตอบกลับมาให้ฉันเสมอ คุณคือสามีที่คอยดูแลเอาใจใส่และเต็มไปด้วยความรัก หากเป็นไปได้ ฉันก็อยากจะขอโทษคุณที่ฉันไม่เคยเห็นคุณค่าสิ่งที่คุณทำให้กับฉันตอนที่คุณยังมีชีวิตอยู่”

บทเรียนจากเรื่องนี้

- ขอบคุณและเห็นคุณค่าในสิ่งที่คุณได้รับมาเสมอ ไม่ว่ามันจะเล็กหรือใหญ่เพียงใดก็ตาม

- ความรัก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า “เรามีมากแค่ไหน” แต่มันขึ้นอยู่กับว่า “เราแบ่งปันสิ่งเล็กน้อยที่เรามีให้กันอย่างไร”

โอ้ อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ขอวิงวอนต่อพระองค์โปรดประทานปัจจัยที่ดีให้แก่ข้าพระองค์ตลอดไปทั้งในดุนยาและอาคิเราะหฺ และโปรดประทานหัวใจที่ขอบคุณให้แก่ข้าพระองค์เพื่อที่ข้าพระองค์จะเป็นผู้ขอบคุณต่อสิ่งใดก็ตามที่พระองค์ประทานให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อามีน
•••••••••••••••
ญะซากิ้ลลาฮุ ค็อยร็อน พี่ Kanokwan K.
แปล بنت الاسلام
Nu-ain Hanany


ทุกๆความฟุ้งซ่าน



หญิงโสด ฟุ้งซ่านว่าตัวเองจะไม่มีวันได้แต่งงาน
ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ฟุ้งซ่านว่าตัวเองจะไม่มีวันได้ลูก
ผู้ชาย ฟุ้งซ่านว่าตัวเองจะต้องพบเจอกับความยากไร้และอับปาง
คนชรา ฟุ้งซ่านว่าตัวเองจะต้องเจอกับโรคร้ายต่าง ๆ นา ๆ
นักศึกษา ฟุ้งซ่านว่าตัวเองจะต้องสอบไม่ผ่าน

แต่คุณรู้ไหมว่า ทุก ๆ ความฟุ้งซ่านที่คุณได้สร้างภาพขึ้นมาทั้งหมดนั้น มันเกิดจากการที่คุณได้ห่างไกลจากอัลลอฮฺ และขยับตัวเข้าใกล้บรรดาชัยฏอน ก็เพราะว่า อัลลอฮฺทรงได้กล่าวไว้ว่า :

الشَّيْطَانُ يَعِدُكُمُ الْفَقْرَ‌ وَيَأْمُرُ‌كُم بِالْفَحْشَاءِ ۖ وَاللَّـهُ يَعِدُكُم مَّغْفِرَ‌ةً مِّنْهُ وَفَضْلًا ۗ وَاللَّـهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ

ชัยฎอนนั้น มันจะขู่พวกเจ้าให้กลัวความยากจน และจะใช้พวกเจ้าให้กระทำความชั่ว และอัลลอฮ์นั้น ทรงสัญญาแก่พวกเจ้าไว้ ซึ่งการอภัยโทษ และความกรุณาจากพระองค์ และอัลลอฮ์นั้น เป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้ (ซูเราะห์ อัลบากอเราะห์ : 268)



✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿



บทความดีๆ โดย : شاركنا كل يوم بدعاء وأيه من كتاب الله وحديث من احاديث الرسول ( ص )
ถอดความและเรียงคำโดย : อูลุล อัลบ๊าบ

การให้อภัย คืออาวุธของคนที่เข้มแข็ง



โดย อาจารย์อรุณ บุญชม

อัลลอฮฺทรงเชิญชวนบ่าวของพระองค์สู่การให้อภัย พระองค์ตรัสว่า

“บรรดาผู้ยำเกรง คือ บรรดาผู้ข่มโทสะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย”

(อาลิอิมรอน : 134)

ความเมตตาที่มีอยู่ในหัวใจของบ่าว จะทำให้บ่าวให้อภัยแก่ผู้ที่ทำความผิดต่อตนหรือละเมิดตน เขาจะไม่ลงโทษทั้งที่มีความสามารถจะลงโทษได้ และเมื่อบ่าวได้กระทำเช่นนั้น เขาย่อมมีสิทธิ์ได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ พระองค์ ตรัสความว่า

“ผู้มีเกียรติและผู้มั่งคั่งในหมู่พวกเจ้าอย่าได้สาบานที่จะไม่ให้ (ความช่วยเหลือ) แก่ญาติมิตร และคนจน และผู้อพยพในหนทางของอัลลอฮฺ และพวกเขาจงอภัยและยกโทษ (ให้แก่พวกเขาเถิด) พวกเจ้าไม่ชอบหรือที่อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

(อันนูร : 22)

โองการนี้ประทานลงมาขณะที่ท่านอบูบักรสาบานว่าจะไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูแก่มิสเตาะฮฺ ซึ่งเป็นญาติของเขา เพราะเขามีส่วนร่วมในการแพร่ข่าวลือกล่าวหาพระนางอาอิชะฮฺว่ากระทำผิดร้ายแรง การสาบานของเขา เพื่อเป็นการลงโทษมิสเตาะฮฺ อัลลอฮฺได้สั่งสอนให้อภัย โดยตรัสว่า

“พวกเขาจงอภัย และยกโทษ”

อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ท้ายอายะฮฺว่า ผู้ใดให้อภัยแก่คนที่ทำผิดต่อเขา อัลลอฮฺก็จะให้อภัยเขา

“พวกเจ้าไม่ชอบหรือที่อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า”


มีรายงานจากท่านอบูบักร ได้กล่าวว่า พวกเราได้รับรายงานว่าอัลลอฮฺตะอาลาทรงใช้ผู้ประกาศในวันกิยามะฮฺ ให้ประกาศว่า

“ผู้ใดมีอะไรติดค้างอยู่ที่อัลลอฮฺบ้างให้เขาจงลุกขึ้นยืน อัลลอฮฺก็จะตอบแทนพวกเขา เท่ากับที่เขาได้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์”

การเชิญชวนสู่จริยธรรม

อิสลามปรารถนาให้มุสลิมทุกคนเป็นผู้เชิญชวนสู่อิสลามด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันสูงส่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าว อิสลามจึงแนะนำพวกเขาให้ ให้อภัยแม้กับคนต่างศาสนิกที่กระทำความผิดต่อเขาในระดับบุคคล

“จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมหมัด) แก่บรรดาผู้ศรัทธาให้พวกเขาให้อภัยแก่บรรดาผู้ที่ไม่หวัง ในผลบุญของอัลลอฮฺ และไม่กลัวการลงโทษของพระองค์ เพื่อพระองค์จะทรงตอบแทน แก่หมู่ชนตามที่พวกเขาได้ทำความผิดเอาไว้”

(อัลญาซิยะฮฺ : 14)

การที่มุสลิมปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมด้วยจริยธรรมอันสูงส่งเช่นนี้ เป็นเหตุทำให้มีผู้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก และเป็นการยึดถือแบบอย่างของท่านศาสดามุฮัมหมัด อีกด้วย

ท่านอับดุลลอฮฺ บุตรมัสอูด กล่าวว่า : ฉันมองดูท่านนบีมุฮัมหมด ขณะที่ท่านกำลังเล่าถึง นบีท่านหนึ่งถูกพวกพ้องของพวกเขาทำร้ายจนเลือดออก เขาใช้มือลูบเลือดที่เปื้อนใบหน้า พลางก็กล่าวว่า

“ข้าแต่องค์อภิบาลได้โปรดให้อภัยแก่พวกพ้องของฉันด้วยเถิด เพราะความจริงพวกเขาไม่รู้”

อิสลาม อบรมมุสลิมให้ยึดถือความหมายอันยิ่งใหญ่และสูงส่ง จนถึงกับทำให้ท่านอุมัร อิบนุ คอตตอบ กล่าวว่า

“ประชาชาติของฉันทุกคนได้รับการอภัยจากฉัน”

ในความหมายเดียวกันนี้ เราจะรู้สึกได้ในคำพูดของอิบนุมัสอูด ขณะที่เขานั่งอยู่ในตลาดเพื่อซื้ออาหาร เมื่อเขาต้องการจะจ่ายเงินค่าอาหาร เขาพบว่ามันได้ถูกขโมยไปเสียแล้ว ประชาชนเมื่อทราบเช่นนั้น ก็ประกาศหาตัวคนที่ขโมยเงินของเขาไป อับดุลลอฮฺ บุตรมัสอูด ได้ยกมือวิงวอนว่า

“ข้าแด่อัลลอฮฺ ถ้าหากความจำเป็น เป็นแรงผลักดันให้เขาต้องเอาเงินไป ขอพระองค์ได้โปรดเพิ่มพูนมันแก่เขา แต่ถ้าหากเขาเอามันไปโดยไม่เกรงกลัวบาป ขอพระองค์ได้โปรดให้มันเป็นบาปสุดท้ายของเขาด้วยเทอญ”

การให้อภัยนั้นดีที่สุด

ในเมื่ออิสลามได้ยืนยันสิทธิของผู้ถูกละเมิดด้วยการลงโทษผู้ที่ละเมิดอย่างสาสมกัน ตรงตามนัยของความยุติธรรม ดังนั้น การให้อภัยและการไม่ถือโทษที่ไม่ใช่เป็นการยั่วยุให้เกิดการละเมิด จึงเป็นสิ่งที่มีเกียรติและเป็นความเมตตาอย่างยิ่ง อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า

“และบรรดาผู้ที่เมื่อมีความอธรรมเกิดขึ้นแก่พวกเขา พวกเขาก็แก้แค้นตอบแทน และการตอบแทนความชั่วคือความชั่วที่เสมอกัน ดังนั้น ผู้ใด้ให้อภัยและไกล่เกลี่ยให้คืนดีกัน รางวัลตอบแทนพวกเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ไม่โปรดบรรดาผู้อธรรม

ชนเหล่านั้นจะไม่มีทางตำหนิแก่พวกเขา ส่วนที่จะเกิดโทษนั้น ได้แก่ บรรดาผู้ที่อธรรมต่อมนุษย์ และก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน โดยปราศจากความเป็นธรรม ชนเหล่านี้ พวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด และแน่นอน ผู้ที่อดทนและให้อภัย แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่นมั่นคง”

(อัชชูรอ : 39-43)

 คำดำรัสของพระองค์ที่ว่า

“และบรรดาผู้ที่เมื่อมีความอธรรมเกิดขึ้นแก่พวกเขา พวกเขาก็แก้แค้นตอบแทน และการตอบแทนความชั่วคือความชั่วที่เสมอกัน”

เป็นการเปิดเผยสิทธิของผู้มีศรัทธาในการแก้แค้นเมื่อถูกละเมิด และได้กำหนดกรอบของการแก้แค้นคือการตอบแทนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นกรอบที่จะไม่ยินยอมให้มีการละเมิด


 หลังจากนั้น อัลลอฮฺได้เสนอขั้นของความดี เพื่อเป็นการส่งเสริม โดยพระองค์ตรัสว่า

“ดังนั้น ผู้ใด้ให้อภัยและไกล่เกลี่ยให้คืนดีกัน รางวัลตอบแทนพวกเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ”


 จากนั้น ติดตามด้วยคำประกาศว่า พวกที่ละเมิดจะไม่ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ

“แท้จริงพระองค์ไม่โปรดบรรดาผู้อธรรม”

 จากนั้นก็ประกาศสิทธิในการแก้แค้นของผู้ที่ละเมิดและประกาศอย่างจริงจังว่า ผู้ละเมิดจะต้องได้รับการลงโทษในโลกนี้ และได้รับการทรมานอย่างแสนสาหัสในโลกหน้า (อาคิเราะฮฺ) พระองค์อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

“แต่ถ้าผู้ใดแก้แค้นตอบแทนหลังจากได้รับความอธรรม ชนเหล่านั้นจะไม่มีทางตำหนิแก่พวกเขา ส่วนที่จะเกิดโทษนั้น ได้แก่ บรรดาผู้ที่อธรรมต่อมนุษย์ และก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นในแผ่นดินโดยปราศจากความเป็นธรรม ชนเหล่านี้พวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด”

 หลังจากนั้นก็ได้กล่าวถึงขั้นของความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดเด่น และยังมีการผลักดันอีกครั้งหนึ่งให้ไปสู่ระดับของการทำความดีด้วยการอดทน และการให้อภัยโดยการประกาศว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นเรื่องที่หนักแน่นมั่นคง

“และแน่นอนผู้ที่อดทนให้อภัย แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่นมั่นคง”

ลักษณะเหล่านี้มีมาในตัวบทที่ถูกนำมาเสนออย่างกลมกลืนกัน จะสังเกตได้ว่าเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของความนึกคิดที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง และมีคำแนะนำต่างๆ ที่สูงส่ง พร้อมทั้งระมัดระวังความรู้สึกเจ็บปวดของผู้ที่ถูกกระทำ และมองเห็นความรุนแรงของผู้ละเมิด มีคำประกาศว่าสิทธิของผู้ที่ถูกละเมิดต้องแก้แค้นตามความเป็นจริง หลังจากนั้น ก็ผลักดันให้พวกเขาเกิดความอดทนและการให้อภัย ทั้งหมดนี้คือ สีสันของวงจรระหว่างความยุติธรรมกับการสร้างความดี

ในวันที่เข้าพิชิตนครมักกะฮฺ ท่านศาสดา ได้กล่าวแก่ชาวกุเรช ซึ่งเป็นศัตรูของท่านและขับไล่ท่านออกไปจากนครมักกะฮฺว่า

“พวกท่านเห็นว่าฉันควรจะปฏิบัติกับพวกท่านอย่างไร?”

พวกเขากล่าวว่า ท่านเป็นพี่น้องที่ประเสริฐ และเป็นลูกของพี่น้องที่ประเสริฐ ท่านศาสดาได้กล่าวขึ้นว่า ฉันขอกล่าวแก่พวกท่านเหมือนกับที่นบียูซุฟ ได้กล่าวแก่พี่น้องของเขาว่า

“ไม่มีการประณามพวกท่านในวันนี้ พวกท่านจงไปกันเถิด พวกท่านถูกปลดปล่อยแล้ว”

ในอายะฮฺอื่น อัลกุรอานได้บรรยายเรื่องผลบุญของผู้ให้อภัยว่า

“ และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยจากองค์อภิบาลของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ ที่ความกว้างของมันคือ บรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ยำเกรง ซึ่งพวกเขาบริจาคในยามที่สุขสบายและเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทสะและบรรดาผู้ให้อภัย แก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย”

(อาลิอิมรอน : 133-134)

การให้อภัยเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีจิตใจที่งดงาม

♦ คนที่ให้อภัยผู้อื่นย่อมเป็นผู้ที่มีจิตใจสูงส่งและงดงาม มีความมุ่งมั่นสูง มีขันติธรรม และมีความอดทน มุอาวิยะฮฺได้กล่าวว่า :

“พวกท่านจงมีความขันติธรรมและอดทน จนกว่าพวกท่านจะมีโอกาส และเมื่อพวกท่านมีโอกาสพวกท่านจงให้อภัยและให้ความกรุณา”

♦ ขณะเมื่ออับดุลมาลิก บุตรมัรวาน ได้นำเชลยศึกมา อับดุลมาลิก ได้ถามท่านรอญาอฺ ว่า ท่านมีความเห็นเป็นอย่างไร? ท่านรอญาอฺกล่าวว่า :

"ความจริงอัลลอฮฺได้มอบสิ่งที่อัลลอฮฺรักให้แก่ท่านแล้ว นั่นคือ ชัยชนะ ดังนั้น ท่านจงมอบสิ่งที่อัลลอฮฺรักให้แก่พระองค์เถิด นั่นคือ การให้อภัย"

ดังนั้นเขาจึงให้อภัยแก่เชลยศึกนั้นทั้งหมด

♦ การให้อภัยเป็นจรรยาของผู้ที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งเมื่อพวกเขามีความสามารถ และอัลลอฮฺให้ความสามารถแก่เขาที่จะจัดการกับผู้ที่ละเมิดพวกเขาได้ แต่พวกเขายอมให้อภัย

♦ ท่านอิหม่ามบุคอรีได้กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วย การแก้แค้นผู้ละเมิดว่า คำดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า “และบรรดาผู้ที่เมื่อมีความอยุติธรรมเกิดขึ้นแก่พวกเขา พวกเขาก็แก้แค้นตอบแทน”

♦ อิบรอฮีม อันนะคออีย์ ได้กล่าวว่า : พวกเขารังเกียจที่จะเป็นผู้ที่ต่ำต้อย ดังนั้น เมื่อพวกเขามีความสามารถล้างแค้นพวกเขาจะให้อภัย

การให้อภัยจะทำให้ผู้ให้อภัยมีเกียรติ

มนุษย์บางคนอาจคิดว่า การไม่ดำเนินการตามสิทธิ์แก่ผู้ที่ละเมิดตนนั้นเป็นความตกต่ำ และไร้เกียรติ ความจริงแล้วมีบทบัญญัติที่ชัดเจนบ่งชี้ว่าการให้อภัยจะทำให้ผู้ให้อภัยสูงส่งและจะทำให้เขามีเกียรติ ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺได้รายงานว่า ท่านรอซูล ได้กล่าวว่า

“การทำทานจะไม่ทำให้ทรัพย์ลดหย่อนลง บ่าวของอัลลอฮฺที่ให้อภัยจะได้รับเกียรติสูงขึ้น ผู้ที่นอบน้อมถ่อมตน อัลลอฮฺจะทรงยกย่องเขาให้สูงขึ้น”

(รายงานโดยมุสลิม)

ผู้ที่สมควรได้รับการให้อภัยจากท่าน คือ ผู้ที่อยู่ร่วมกับท่าน ได้แก่ ภรรยา บุตร และคนรับใช้ ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺตะอาลา จึงได้บรรยายเรื่องภรรยาและบุตรไว้เป็นพิเศษว่า

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงในหมู่คู่ครองของพวกเจ้าและลูกหลานของพวกเจ้านั้น มีบางคนเป็นศัตรูของพวกเจ้า ดังนั้น จงระมัดระวังในการปฏิบัติกับพวกเขา และถ้าหากพวกเจ้าอภัยและยกโทษ (ให้พวกเขา) แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

(อัตตะฆอบุน : 14)

โดยปกติแล้ว หัวหน้าครอบครัวย่อมเริ่มทำความดีและปฏิบัติอย่างสุภาพอ่อนโยนแก่ภรรยาและบุตรของเขา และเมื่อพบว่าคนในครอบครัวของเขากระทำความผิดจนทำให้เขาโกรธอย่างรุนแรงและลำบากที่จะให้อภัยและยกโทษให้ได้ เพราะเขาจะถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการไม่ให้ความเคารพ ไม่เชื่อฟัง และเนรคุณ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการอบรมสั่งสอนเป็นพิเศษในเรื่องนี้ให้เขายกโทษและให้อภัย เพื่อทำให้เขาได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺตะอาลา

สำหรับคนรับใช้นั้นได้มีผู้เรียนถามท่านนบี ว่า “พวกเราจะให้อภัยแก่คนรับใช้สักกี่ครั้ง?

ท่านนิ่งไม่ตอบ มีผู้ถามท่านอีก แต่ท่านก็นิ่ง ไม่ตอบ จนถูกถามเป็นครั้งที่สาม

ท่านจึงตอบว่า พวกท่านจงให้อภัยเขา วันละเจ็ดสิบครั้ง”

(รายงานโดยอบูดาวูด)
ที่มา: วารสาร “ที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี” ปีที่ 3 ฉบับที่ 1


บทตัสบีห์ในรู่กั๊วะ


أَذْكَارُ الرُّكُوْعِ 


1 ให้กล่าวว่า

سُبْـحَانَ رَبِّيَ العَظِيْمِ

คำอ่าน ( ซุบหานะ ร็อบบิยัล อะซีม )

“ บริสุทธิคุณยิ่ง พระผู้อภิบาลแห่งข้าพระองค์ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ”

บันทึกโดยมุสลิม

2 หรือให้กล่าวว่า

سُبْـحَانَكَ وَبِـحَـمْدِكَ لاَ إلَـهَ إلاَّ أَنْتَ

คำอ่าน ( ซุบหานะกะ วะ บิหัมดิกะ ลาอิลาฮะ อิลลา อันตะ )

“ บริสุทธิ์ยิ่งพระองค์ท่าน และด้วยการสรรเสริญพระองค์ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอก จากพระองค์ ”

บันทึกโดยมุสลิม

3 หรือให้กล่าวว่า

سُبْـحَانَكَ اللَّهُـمَّ رَبَّنَا وَبِـحَـمْدِكَ اللَّهُـمَّ اغْفِرْ لِيْ

คำอ่าน ( ซุบหานะกัลลอฮุมมะ ร็อบบะนา วะบิหัมดิกะ อัลลอฮุมมัฆฟิรฺลี  )

“ มหาบริสุทธิ์ยิ่งพระองค์ท่าน โอ้อัลลอฮ์ โอ้พระผู้อภิบาลของเรา และด้วยการสรรเสริญ พระองค์ ได้โปรดประทานอภัยโทษแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ”

บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม

บทตัสบีห์นี้สมควรกล่าวให้มาก ๆ ทั้งในรุกูอฺและในสุญูด

4 หรือให้กล่าวว่าี้

سُبُّوحٌ قُدُّوْسٌ رَبُّ المَلاَئِكَةِ وَالرُّوْحِ

คำอ่าน ( ซุบบูหุน กุดดูซุน ร็อบบุล มะลาอิกะติ วัรรูหฺ )

“ผู้ทรงบริสุทธิคุณยิ่ง ผู้ทรงศักด์สิทธิ์ยิ่ง พระผู้อภิบาลแห่งมวลมลาอิกะฮฺทั้งหลายและญิบรีล ”

   บันทึกโดยมุสลิม

5 หรือให้กล่าวว่า

اللَّهُـمَّ لَكَ رَكَعْتُ وَبِكَ آمَنْتُ وَلَكَ أَسْلَـمْتُ، خَشَعَ لَكَ سَمْعِيْ وَبَصَرِيْ وَمُـخِّيْ وَعَظْمِيْ وَعَصَبِيْ

คำอ่าน ( อัลลอฮุมมะ ละกะ เราะกะอฺตุ, วะบิกะ อามันตุ, วะละกะ อัสลัมตุ, เคาะชะอะ ละกะ ซัมอี, วะ บะเศาะรี, วะมุคคี, วะอัซมี, วะ อะเศาะบี )

“โอ้อัลลอฮฺ แด่พระองค์ข้าได้โค้งรุกั๊วะ กับพระองค์ข้าได้ศรัทธา แด่พระองค์ข้าได้สยบยอม หูของข้าฯ ดวงตาของข้าฯ สมองของข้าฯ กระดูกของข้าฯ และเส้นประสาทของข้าฯ ได้น้อมนอบต่อพระองค์แล้ว ”

บันทึกโดยมุสลิม

6 หรือให้กล่าวว่า

سُبْـحَانَ ذِي الجَبَرُوْتِ، وَالمَلَكُوْتِ، وَالكِبْرِيَاءِ، وَالعَظَمَةِ

คำอ่าน  ( สุบหานะ ซิล วะบะรูต วัล มะละกูต วัล กิบริยาอ์ วัล อะเซาะมะฮฺ )

“ มหาบริสุทธิ์ยิ่ง พระองค์ผู้ทรงยิ่งด้วยความเกรียงไกร อำนาจบารมี ศักดิ์ศรี และความยิ่งใหญ่ ”

บันทึกโดยอาบูดาวูดและอันนะซาอีย์

โดยให้กล่าวทั้งในรุกูอฺและในสุญูด



ทั้งนี้หากมีความสามารถให้ใช้บทตัสบีหฺสำนวนนี้บ้าง สำนวนนั้นบ้าง ตามโอกาสและความสะดวก เพื่อเป็นการ รักษาไว้ซึ่งซุนนะฮฺแบบอย่างของท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในทุกๆสำนวนที่ได้มีรายงานไว้

.............................................
 โดย อ.อับดุลลอฮฺ สุไลหมัด

น้ำกระท่อมเป็นสิ่งมึนเมาเป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม


            ปัจจุบัน วัยรุ่นมุสลิมบ้านเรา ต่างเข้าหายาเสพติดเป็นที่พึ่ง โดยเฉพาะน้ำกระท่อม หรือ ที่เรียกติดปากว่า 4x100 อันเนื่องจากมีการผสมสารต่างๆเข้าไปกับน้ำกระท่อม ได้แก่ ยาไอซ์ หรือที่เรียกว่าน้ำแข็ง , ยากันยุง , ยาแก้ไอ , โค้ก , สีสะท้อนแสงที่ใช้ทาพื้นถนน , ผงเรืองแสงในหลอดฟูลออเรสเซนน์ เป็นต้น ทั้งที่เด็กวัยรุ่นเหล่านั้นไม่ได้มีปัญหาทางครอบแต่อย่างใด ที่ประสบคือ มีการต้มดื่มกินกันในบ้าน วัยรุ่นเจ้าของบ้านก็ได้ชักชวนเพื่อนมาตั้งวงต้มน้ำกระท่อม และดื่มกินกัน พร้อมดีดเล่นกีตาร์ขับร้องเพลงอย่างสนุกสนาน โดยที่พ่อแม่ นั่งอยูบริเวณนั้น หรือไม่ ก็ออกมาสังเกตการณ์อยู่เนื่องๆบริเวณที่ลูกและเพื่อนๆของลูกกำลังสนุกคลื่นเคลงในอาการที่มึนเมาซึ่งสารในน้ำกระท่อมกำลังออกฤทธิ์ เพียงเพื่อไม่ให้ลูกๆออกไปเที่ยวเตร่ หรือให้อยู่ในสายตาของตน จึงต้องแลกเปลี่ยนกับการที่ลูกชักชวนเพื่อนๆมาตั้งวงที่บ้านเพื่อต้มน้ำกระท่อมดื่มกินกัน โดยไม่สนใจว่ามันคือสิ่งที่ต้องห้ามในอิสลาม ผิดต่อกฏหมายบ้านเมือง หรือปัญหาทางสัมคมตามมาหรือไม่

และเมื่อทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้ามาตรวจค้นหรือจับลูกๆของตนตรวจฉี่ ก็แก้ต่างให้ลูกของตนต่างๆนานา อ้างว่าลูกของตนกินแค่น้ำโค้กบ้าง ลูกของตนไม่ได้ไปมั่วสุมกับสิ่งเหล่านั้นบ้าง และเมื่อเจ้าหน้าที่จะนำตัวลูกของตนไปบำบัดฟื้นฟู ก็กีดกันไม่ยอมให้ส่งตัวไปบำบัด กลัวจะเสียชื่อเสียงของวงตระกูล กลัวถูกชาวบ้านประนาม เพราะตัวเองเป็นถึงผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา แต่ลูกของตนเองกลับเป็นเสียเอง และนำลูกของตนเองกลับมาวนเวียนกับยาเสพติดนั้นเหมือนเดิม

ปัญหาวัยรุ่นติดน้ำกระท่อมยังวนเวียนอยู่ในสังคมมุสลิมบ้านเรา หากพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ยังเห็นดีเห็นงาม และไม่ยอมแก้ปัญหา แต่กลับปล่อยให้วัยรุ่นมั่วสุ่มกับน้ำกระท่อมนี้ต่อไป

เคยเห็นลูกของโต๊ะครูสอนศาสนา กับลูกของผู้เคร่งคลัดออกดะวะฮ์ ตับลีฆ ทุกๆ 40 วัน ทุกๆสี่เดือนมาให้สลามกับผู้เขียน ซึ่งทั้งสองอยู่ในอาการมึนเมาอย่างรุนแรง ผู้เขียนหนักอกหนักใจเป็นอย่างมากถึงการกระทำของพวกเขาทั้งสอง จึงไปปรึกษาเพื่อนคนหนึ่งถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเราเคยเรียนหนังสือศาสนา ไปมัสยิดด้วยกัน แต่เราได้แยกทางกันเพราะเขาไปเรียนต่อที่ปอเนาะแห่งหนึ่ง มาพบเขาอีกทีตอนเรียนปริญญาตรี แต่คำตอบที่ได้รับจากเขาก็คือ : สิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าน้ำกระท่อม ยาบ้า ยาไอซ์ กันชา เราสัมผัสมาหมดแล้ว แต่ตอนนี้เลิกแล้ว : ได้ยินคำตอบจากนั้นผู้เขียนไม่เอ่ยปากกล่าวถามต่อไปอีกเลย พร้อมกับก้มหัวสายตามองลงต่ำ ด้วยอาการที่ผิดหวังและตกตะลึง ผู้เขียนไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าจะได้รับคำตอบเช่นนี้จากเพื่อนคนนี้ และคิดว่าเขาคงห่างไกลกับสิ่งเหล่านั้น เพราะสถานที่เปาะเนาะเป็นที่พร่ำสอนศาสนา เป็นสถานที่เกาะกำบังให้เขาปลอดจากสิ่งเหล่านั้นได้  แต่ทำไมถึงกลับตาละปัดเช่นนี้



น้ำกระท่อมเป็นสิ่งมึนเมา

มุสลิมบางคนเข้าใจว่าน้ำกระท่อมถึงแม้จะมึนเมา แต่มันไม่ใช่สุรา จึงรับประทานได้ แต่ตามหลักบทบัญญัติศาสนาแล้ว อิสลามมิได้ห้ามดื่มเฉพาะสุรา แต่ได้ห้ามสิ่งใดก็ตามที่เสพ ดื่ม หรือรับประทานเข้าไปในร่างกายแล้ว ก่อให้เกิดมึนเมา สิ่งมึนเมาทุกชนิดจึงเป็นสิ่งหะรอมต้องห้ามตามหลักศาสนา

عن عائشة رضي الله عنها قالت: سئل رسول الله ﷺ عن البِتْعِ -وهو شـراب العسـل- فقال رسول الله ﷺ: «كُلُّ شَرَابٍ أَسْكَرَ فَهُوَ حَرَامٌ». متفق عليه

     รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ  เราะฎิยัลลอฮฺอันฮา กล่าวว่า  ท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  ถูกถามถึงเรื่องอัลบิตอิ – เครื่องดื่มจากน้ำผึ้ง -  ท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม  กล่าวว่า
 “ทุกสิ่งที่ดื่มแล้วมึนเมา  สิ่งนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้าม (หะรอม)” 
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 5586  สำนวนหะดีษเป็นของท่าน  และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2001)

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« كُلُّ مُسْكِرٍ حَرَامٌ ، إنَّ عَلى اللَّهِ عزّ وجلّ عَهْدًا لِمَنْ يَشْرَبُ الْمُسْكِرَ أَنْ يَسْقِيَهُ مِنْ طِيْنَةِ الْخَبَالِ »

ความว่า “ทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาเป็นสิ่งที่ต้องห้าม แท้จริงอัลลอฮฺทรงมีสัญญากับผู้ที่ดื่มสิ่งที่ทำให้มึนเมาว่าพระองค์จะให้เขาได้ดื่มฏีนะตุลเคาะบาล”

พวกเขากล่าวว่า "โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ‘ฏีนะตุลเคาะบาล’ ที่ว่านี้คืออะไรหรือครับ?” ท่านตอบว่า

« عَرَقُ أَهْلِ النّارِ، أو عُصَارَةُ أَهْلِ النّارِ »  [رواه البخاري برقم 2003]   

“คือน้ำเหงื่อของชาวนรก หรือสิ่งสกปรกที่มาจากชาวนรก” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 2003)

ซึ่งในใบกระท่อม  มีแอลคาลอยด์หลายชนิด  แต่ที่สำคัญคือ mitragynine และ 7-hydroxy mitragynine เมื่อนำใบกระท่อมจำนวน 20 ใบ จะสกัดแล้วให้สาร mitragynine ประมาณ 17 มิลลิกรัม   การใช้ใบกระท่อมในขนาดต่ำๆ ให้ผลกระตุ้นระบบประสาท มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทคล้ายยาบ้าอ่อน ๆ ส่วนขนาดสูงกดประสาท
เมื่อเสพเข้าไปจะมึน ๆ ง่วง ๆ เหมือนเมาเหล้า



ส่วนประกอบในน้ำใบกระท่อม

ปัจจุบันผู้ดื่มน้ำกระท่อมมีการคิดสูตร ผสมสารต่างๆลงไปในน้ำใบกระท่อมให้เกิดความมึนเมามากขึ้น อันได้แก่ ยาไอซ์ หรือที่เรียกว่าน้ำแข็ง , ยากันยุง , ยาแก้ไอ , โค้ก , สีสะท้อนแสงที่ใช้ทาพื้นถนน , ผงเรืองแสงในหลอดฟูลออเรสเซนน์ เป็นต้น ซึ่งสารประกอบเหล่านี้ ก่อให้เกิดการมึนเมา และมีผลอันตรายต่อร่งกายมากมาย สารต่างๆนี้ มีผลต่อประสาทและก่อให้เกิดอันตรายดังนี้

1. ยา ICE หรือ ไอซ์ เมทแอมเฟตามีน เป็นก้อนผลึกใสเหมือนน้ำแข็ง  สังเคราะห์จากสารอีเฟดรีน (Ephedrine) เมื่อเสพเข้าแล้วจะทำให้มึนเมาถึงขนาดเห็นภาพหลอน อาการซึมเศร้ารุนแรง ลดความอยากอาหารและน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว หวาดระแวง ย้ำคิดย้ำทำ มีความผิดปกติของปอดและไต ซึ่งอาจถึงตายได้ ประสาทหลอน มีปัญหาเกี่ยวกับฟัน มีโรคต่างๆ เกี่ยวกับหัวใจ

2. ยาแก้ไอ แบบน้ำที่ผสมสาร “โคเดอีน”  โคเดอีนผลิตมาจากฝิ่น ซึ่งเป็นน้ำยาง (juice) ที่กรีดได้จากผลฝิ่น โคเดอีน ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ยาแก้ไอเมื่อผสมกับน้ำโค้กหรือนำอัดลมจะก่อให้อาการมึนเมา

3. ยากันยุง มีสาร"ไพรีทรอยด์" ที่ผสมอยู่ในยาจุดกันยุงจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท หากได้รับสารพรีทรอยด์ในปริมาณมาก ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย การรับรู้ต่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ชัก หมดสติ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต

ฯลฯ

นี้เป็นเพียงยกตัวอย่างของสารบางชนิด ที่ผสมในน้ำกระท่อม ซึ่งนอกจากก่อให้เกิดความมึนเมาแล้ว มันยังส่งผลอันตรายต่อร่างกายของผู้เสพ รับประทาน หรือดื่มเข้าไปอีกด้วย


อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ตรัสว่า

﴿ وَلَا تَقۡتُلُوٓاْ أَنفُسَكُمۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ كَانَ بِكُمۡ رَحِيمٗا ﴾  [النساء : 29]

ความว่า “และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ” (อัน-นิสาอ์ : 29)

เล่าจากอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«لَاضَرَرَ وَلَاضِرَارَ» [رواه احمد في مسنده 1/313]

ความว่า “อย่าทำร้ายตนเอง และอย่าทำร้ายผู้อื่น” (บันทึกโดยอะหฺมัด  : 1/ 313)


والله أعلم بالصواب





วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ฐานะของบุคคลพิจารณาจากการอ่านอัลกุรอาน


ผลตอบแทนแก่ผู้ที่อ่านอัลกุรอานนั้น ถึงแม้จะอ่านด้วยความยากลำบากก็ตาม จำเป็นสำหรับผู้ไม่มีโอกาสเรียนหรือท่องจำอัลกุรอานขณะเยาว์วัย ให้ใช้ความพยายามเพื่อท่องจำหรืออ่านอัลกุรอาน แม้เขาจะประสบกับความยากลำบาก อ่านติดๆขัดๆ ก็ตาม และความพยามของเขาดังกล่าวนั้นจะไม่สูญเปล่า เพราะอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนแก่เขาถึง 2 เท่า

สำหรับผู้ที่ชำนาญและอ่านอัลกุรอานอย่างคล่องแคล่ว จะมีฐานะอันสูงสุดในสวนสวรรค์

รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"ผู้ที่ชำนาญในเรื่องการอ่านอัลกุรอานนั้น จะได้อยู่ร่วมกับบรรดามลาอิกะฮฺผู้ทรงเกียรติ และผู้ที่อ่านอัลกุรอานอย่างติดๆขัดๆ เขาจะได้รับผลตอบแทนถึง 2 เท่า" (บันทึกหะดิษโดยอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)


แบบอย่างอันอัศจรรย์และอัจฉริยะของ ศาสดามุหัมมัด ในชีวิตประจำวัน




................

1. ซุนนะฮฺในการพูด

(1) อย่าพูดในสิ่งที่ไม่ได้ปฏิบัติ อัลลอฮฺทรงรังเกียจผู้ที่พูดแต่เขาไม่ปฏิบัติ (หลักฐานจากอัลกุรอาน)

(2) ทุก ๆ คำพูดของมนุษย์จะถูกบันทึกโดยมลาอิกะฮฺ อะตีด (หลักฐานจากอัลกุรอาน)

(3) ส่วนมากของมนุษย์จะตกนรกเนื่องจากลิ้นและอวัยวะเพศของเขา (หะดีษ : ติรมีซี)

(4) ต้องมีความซื่อสัตย์ในทุก ๆ คำพูดและการกระทำ ผู้ที่มีความซื่อสัตย์จะเข้าสู่สรวงสวรรค์ด้วยความง่ายดาย (หะดีษ : มุสลิม)

(5) ต้องพูดจากด้วยความสุภาพแม้ต่อหน้าคนชั่ว ผู้ที่พูดจากับคนอื่นด้วยความอ่อนโยน อัลลอฮฺจะอ่อนโยนต่อเขา ผู้ใดที่พูดจาหยาบคายต่อผู้อื่น อัลลอฮฺก็จะทรงหยาบคายต่อเขาเช่นกัน (หะดีษ : มุสลิม)

(6) อนุญาตให้มีการพูโเล่นได้บ้างแต่ต้องไม่มากจนเกินควร และต้องไม่กล่าวคำเท็จออกมา (หะดีษ : ติรมีซี, อะหฺมัด, ฏ็อบรอนี)

(7) อัลลอฮฺทรงเกลียดชังผู้ที่พูดจาเล่นลิ้น (หะดีษ : อบูดาวูด, ติรมีซี) ใครตีสองหน้าในโลกนี้ โลกหน้าเขาจะมีสองลิ้น (ที่ทำจาก) ไฟ (หะดีษ : อิบนุมาญะฮฺ)

(8) จงสนทนากับผู้คนด้วยภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจของคนส่วนใหญ่ (หะดีษ : ติรมีซี) อย่าใช้ภาษาที่ฟังยากหรือเกินระดับสติปัญญาของผู้ฟัง

(9) การพูดจาน้อย ๆ เป็นส่วนหนึ่งของอีมาน ส่วนการพูดโม้โอ้อวด เป็นส่วนหนึ่งของซีฟัตมุนาฟิก (หะดีษ : ติรมีซี)

(10) ไม่จำเป็นต้องพูดทุกอย่างที่รู้ เพียงพอแล้วที่เขาจะถูกเรียกว่าเป็นผู้โกหกที่ยิ่งใหญ่หากเขาพูดมากเกินไปในสิ่งที่เขารู้ (หะดีษ : มุสลิม, อบูดาวูด, หากิม)

(11) อย่าถามมากเกินไปในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรู้ (หะดีษ : บุคอรี, มุสลิม, ติรมีซี, อบูดาวูด)

(12) อย่าพูดเสียงดังหรือค่อยเกินไป (หะดีษ : บัยฮะกี)

(13) ซุนนะฮฺให้กล่าวว่า "อินนาลิลลาฮิ วาอินนาอีลัยฮิ รอญิอูน" ความว่า "แท้จริงเรามาจากอัลลอฮฺ และเราต้องกลับคือสู่พระองค์"

(14) การสงบนิ่ง (งดพูดจา) เป็นอิบาดะฮิชั้นสูงสุด (หะดีษ : อัดดัยละมีย์)

(15) ไม่ควรสรรเสริญบุคคลต่อหน้า เนื่องจากท่านนบีเคยกล่าวว่า "การเชือดเฉือนบุรุษหนึ่งก็คือ การที่ท่านสรรเสริญเขาต่อหน้านั่นเอง" (หะดีษ : อิบนิอะบิดดุนยา)

(16) นบิเคยกล่าวว่า "พวกท่านจงโปรยฝุ่นใส่หน้าคนที่ชอบสรรเสริญพวกท่านต่อหน้า" (หะดีษ : ติรมีซี)


*** คำพูดที่ต้องห้าม***

(1) ห้ามโกหก จะโกหกได้ก็ต้องอยู่้ในเงื่อนไขดังนี้
1) ในสงคราม
2) เพื่อปรองดองระหว่างคุ่กรณี
3) เพื่อรักษาความรักความอบอุ่นระหว่างสามีภรรยา
(หะดีษ : มุสลิมป

(2) การโกหกมดเท็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ
1) การอ้างว่าเป็นญาติของบุคคลหนึ่งทั้งที่ไม่ใช่
2) การอ้างว่าตนเองฝันเช่นนั้นเช่นนี้ทั้งที่ไม่ได้เป็นจริง
3) การโกหกโดยอ้างนามของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม

(3) ห้ามการด่าทอพี่น้องมุสลิมด้วยกัน ใครเริ่มต้นก่อนคนนั้นจะมีบาปที่หนักกว่า (หะดีษ : มุสลิม)

(4) ห้ามบุคคลสองคนกล่าวตำหนิติเตียนซึ่งกันและกัน เพราะในที่สุดจะนำไปสู่การท่ะเลาะเบาะแว้งได้ (หะดีษ : มุสลิม

(5) อย่าเรียกมนุษย์ว่ากษัตริย์เหนือกษัตริย์ เพราะตำแหน่งเฉพาะนี้มีอัลลอฮฺ ซูบหานะฮูวาตะอาลา เท่านั้น (หะดีษ : บุคอรี, มุสลิม)

(6) อย่าเรียกคนมุนาฟิกว่า "หัวหน้าหรือท่าน..." (หะดีษ : อบูดาวูด)

(7) ห้ามเรียกคนมุสลิมว่า "เจ้ากาฟิรฺ" เพราะความเป็นกาฟิรฺจะสะท้อนกลับมายังพูดที่พูด (หะดีษ : บุคอรี, มุสลิม)

(8) อย่าดูถูกพี่น้องมุสลิม (หะดีษ : บุคอรี, มุสลิม)

(9) อย่ากล่าวกับตัวเองว่า "โชคร้านเหลือเกินสำหรับฉัน" (หะดีษ : มุสลิม) เพราะคำนี้บอกถึงการไม่มอบหมายต่ออัลลอฮฺ และไม่ใช่ซีฟัตของมุอฺมิน

(10) อย่าด่าทอคนรับใช้ (หะดีษ : ติรมีซี)

(11) อย่าด่าไก่ตัวผู้เพราะมันปลุกให้ตื่นละหมาดศูบฮิ (หะดีษ : อบูดาวูด)

(12) อย่าด่ลม ฝน ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง เพราะนั่นคือสัญญาณเตือนจากอัลลอฮฺ (หะดีษ : ติรมีซี)

(13) อย่าด่ามัยยิดหรือคนที่ตายไปแล้ว (หะดีษ : ติรมีซี)

(14) อย่าด่าอย่าดูถูกวันเดือนปี (หะดีษ : มุสลิม)


(15) อย่ากล่าวว่า "พรุ่งนี้ฉันจะทำนั้นทำนี้ประหนึ่งว่าเราจะมีชีวิตอยู่" แต่จงกล่าวด้วยว่า "อินชาอัลลอฮฺ" (หลักฐานจากอัลกุรอาน)

(16) อย่ากล่าวกับคน ๆ หนึ่งว่า อัลลอฮฺไม่ยกโทษให้หรอก แม้ว่าเขาจะทำบาปหนักก็ตาม เพราะการอภัยโทษนั้นเป็นลิขสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น (หะดีษ : มุสลิม, ฏ็อบรอนี)

(17) จงอย่าเรียกคนรับใช้ของท่านว่า "โอ้บ่าวของข้า" เพราะมนุษย์เป็นบ่าวของอัลลอฮฺ ซุบหานะฮูวาตะอาลา เท่านั้น แต่จงเรียกว่า "โอ้ผู้ช่วยเหลือของข้า"

(18) อย่าเรียกคน ๆ หนึ่งด้วยถ้อยคำว่า "โอ้เจ้าคนที่ชอบอยู่เป็นหม้าย" (ไม่แต่งงาน) (หะดีษ : บัยฮะกี)

(19) อย่ากล่าวว่า ถ้าหากอย่างนั้น ถ้าหากอย่างนี้ เพราะจะเป็นการเปิดทางให้ชัยฏอน (หะดีษ : หากิม)

(20) อย่าใช้ถ้อยคำที่หยาบคายไม่สุภาพ เพราะคำเหล่านั้นจะทำให้หัวใจแข็งกระด้าง หัีวใจแข็งกระด้างจะโน้มนำไปสู่การทำบาป และบาปกรรมจะำนำไปสู่ไฟนรก (หะดีษ : บุคอรี, มุสลิม, ติรมีซี)

(21) หะรอมที่จะกล่าวว่า "มาฉันจะพนันกับท่าน" แม้ว่าจะเป็นการล้อเล่น หากพูดไปแล้วจะต้องลบล้างด้วยการทำศอดาเกาะฮฺ (หะดีษ : บุคอรี, มุสลิม, นะซาอี, ติรมีซี)

........................

อุซตาซ เอช เอ อับดุรรอฮฺมาน อะหฺมัด : เขียน

อาจารย์มันศูร อับดุลลอฮฺ : แปลและเรียบเรียง

(จากหนังสือ : แบบอบย่างอันอัศจรรย์ ศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) 

อดทน เพื่อชัยชนะ


มรดกของทารกในครรภ์มารดา



ميراث الحمل


อัล-หัมลฺ  คือ  ทารกในครรภ์มารดา

ทารกในครรภ์จะได้รับมรดกเมื่อใด
ทารกในครรภ์จะได้รับมรดกก็ต่อเมื่อทารกถูกคลอดออกมาและมีเสียงร้อง   และเขาได้อยู่ในมดลูกขณะที่เจ้ามรดกได้เสียชีวิตไป  ถึงแม้ว่าทารกจะเป็นเพียงหยดน้ำอสุจิก็ตาม  และสัญญาณคือ  ทารกมีเสียง, จาม หรือร้องไห้  เป็นต้น
จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า:  ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า:

«مَا مِنْ بَنِي آدَمَ مَوْلُودٌ إِلَّا يَمَسُّهُ الشَّيْطَانُ حِينَ يُولَدُ فَيَسْتَهِلُّ صَارِخًا مِنْ مَسِّ الشَّيْطَانِ غَيْرَ مَرْيَمَ وَابْنِهَا».

ความว่า: “ไม่มีลูกหลานอาดัมคนใดที่ถือกำเนิดออกมา  นอกจากชัยฏอนจะสัมผัสถูกตัวของเขา  และเขาก็จะร้อง  นอกจากมัรยัมและบุตรของนาง” (มุตตะฟะกุลอะลัยฮฺ รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ เลขที่ 3441, สำนวนเป็นของท่าน, และมุสลิม  เลขที่ 2366)

บุคคลที่เสียชีวิตและได้ทิ้งทารกในครรภ์ไว้นั้น   มีสองกรณี
1. ให้รอจนกระทั่งคลอด  และเมื่อทราบว่าทารกเป็นชายหรือหญิง  จึงแบ่งมรดก
2. หรือถ้าหากมีการร้องขอให้แบ่งมรดกก่อนคลอด, เราก็ต้องสมมุติจำนวนมากไว้ก่อนเช่น เป็นชายสองคน หรือหญิงสองคน หากคลอดมาเป็นชายก็จะได้รับสิทธิ์ลูกชาย และผู้รับมรดกคนอื่นก็ได้รับสิทธิ์ของเขา  และทายาทบางคนที่ทารกไม่ได้กั้นสิทธิ์  เขาก็จะได้สิทธิ์ของเขา  เช่น ย่าหรือยาย และทายาทบางคนถูกลดสิทธิ์  ก็ต้องรับน้อยลงไป เช่น ภรรยาและมารดา   และบางคนไม่ได้รับเลย  เช่น พี่น้องผู้ตาย

..............................................................................
มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮฺ อัต-ตุวัยญิรีย์
แปลโดย : ซอบิร อับดุลกอดิร อูมา
ตรวจทานโดย : ฟัยซอล อับดุลฮาดี