อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การเพ่งพิจารณาต่อความหมายในอัล-กุรอานส่วนหนึ่งของวิธีบำบัดอีหม่านอ่อน





...... วิธีบำบัด ..........

ต่อไปนี้เป็นวิธีการทางชะรีอะฮฺที่มุสลิมคนหนึ่งสามารถบำบัดอีหม่านอ่อนและหัวใจแข็งกระด้างในตัวของเขา หลังจากได้มอบหมายต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) และนำตัวเขาเข้าสู่การต่อสู้ดิ้นรน

1. เพ่งพิจารณาต่อความหมายในอัล-กุรอาน

การพิจารณาใครครวญต่ออัล-กุรอานที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ประทานลงมาเพื่อสร้างความแจ่มชัดแก่ทุก ๆ สิ่ง และเป็นความเจิดจรัสที่พระองค์ใช้นำทางแก่บุคคลที่พระองค์ประสงค์ในหมู่ปวงบ่าวของพระองค์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอัล-กุรอานนั้นมีการเยียวยาที่ยิ่งใหญ่และมีการบำบัดที่หวังผลได้ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ตรัสไว้ว่า

“และเราได้ให้ส่วนหนึ่งจากอัลกุรอานลงมาซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา...” (อัล-กุรอาน 17 : 82)

วิธีการบำบัดต้องผ่านการครุ่นคิดพิจารณาความหมายของมัน ท่านเราะซูล (ซ.ล.) เคยใคร่ครวญความหมายในอัล-กุรอาน โดยท่านได้อ่านมันซ้ำแล้วซ้ำอีกขณะที่กำลังยืนขึ้นละหมาดในยามรค่ำคืน (ละหมาดกิยามุลลัยลฺ) จนกระทั่งค่ำคืนหนึ่ง ท่านได้อ่านอายะฮฺเพียงอายะฮฺเดียวจากอัล-กุรอาน ในเวลานั้นท่านกำลังละหมาด โดยไม่ได้ข้ามมัน จนกระทั้งถึงเช้า อายะฮฺนั้นคือ

“หากพระองค์จะทรงลงโทษพวกเขา แท้จริงพวกเขาก็คือบ่าวของพระองค์ และหากพระองค์จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา แท้จริงพระองค์ท่านคือ ผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัล-กุรอาน 5 : 118) รายงานโดย อะหมัด 4/149 และในศิฟะฮฺ อัศ-เศาะลาฮฺ ของอัล-อัลบานียฺ หน้า 102

ท่านเราะซูล (ซ.ล.) เคยใคร่ครวญอัล-กุรอาน ท่านได้บรรลุถึงระดับที่ซาบซึ้ง มีรายงานจากอิบนุ ฮิบบาน ในเศาะฮีฮฺของเขา ด้วยสายรายงานที่ดีจากอะฏอเราะฮฺ กล่าวว่า

“ฉันและอุบัยดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัยรฺ ได้เข้าไปพบท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) และอุบัยดุลลอฮฺ อิบนุ อัมัยรฺ ได้กล่าวว่า “โปรดบอกฉันถึงสิ่งที่น่าประทับใจที่ท่านได้เห็นจากบางส่วนของท่านเราะซูล (ซ.ล.)” ท่านหญฺงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ร้องไห้ แล้วนางได้เล่าว่า

ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้ยืนขึ้นในค่ำคืนหนึ่ง - หมายถึงละหมาด - แล้วท่านกล่าวว่า “โอ้ อาอิชะฮฺ ปล่อยฉันให้อิบาดะฮฺต่อผู้เป็นเจ้าของฉันเถิด” นางกล่าวว่า ฉันกล่าวว่า “วัลลอฮฺ – ขอสาชบานด้วยอัลลอฮฺ (ซ.บ.) - ฉันรักที่จะอยู่ใกล้ท่าน และรักที่จะทำให้ท่านมีความสุข” แล้วท่านได้ลุกขึ้น ชำระร่างกาย จากนั้นก็ยืนขึ้นละหมาด แล้วท่านก็ร้องไห้จนตักชุ่มไปด้วยน้ำตา แล้วท่านร้องไห้ต่อไปจนพื้นเปียก จนกระทั่งบิลาลได้อะซานสู่การละหมาด

เมื่อบิลาล (ร.ฎ.) เห็นท่านร้องไห้ก็ถามว่า “โอ้ เราะซูลของอัลลอฮฺ ท่านร้องไห้ ทั้ง ๆ ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ให้อภัยกับท่านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความผิดที่มาก่อนหรือที่มาภายหลัง (หมายถึงความผิดทั้งหมด)” ท่านเราะซูล (ซ.ล.) กล่าวว่า “จะไม่ให้ฉันเป็นบ่าวที่ของคุณดอกหรือ ? ในคืนนี้ได้มีอายาตที่ประทานลงมา ซึ่งความวิบัติจะมีแก่คนที่อ่านมัน แต่ไม่ใคร่ครวญมัน (อายะฮฺเหล่านี้ก็คือ)

“แท้จริงในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และการที่กลางวันและกลางคืนตามหลังกันนั้น แน่นอนมีหลายสัญญาณสำหรับผู้มีปัญญา คือ บรรดาผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮฺทั้งในสภาพยืน และนั่ง และในสถานที่นอนตะแคงและพวกเขาพินิจพิจารณากันในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน (โดยกล่าวว่า) โอ้พระเจ้าของพวกข้าพระองค์ พระองค์มิได้ทรงสร้างสิ่งนี้มาโดยไร้สาระ มหาบริสุทธิ์พระองค์ท่าน โปรดทรงคุ้มครองพวกข้าพระองค์ให้พ้นจากการลงโทษแห่งไฟนรกด้วยเถิด” (อัล-กุรอาน 3 : 190 – 191) อ้างจาก อัช – ชิลชิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะฮฺ 1/106

เรื่องราวที่เกิดขึ้นเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า จำเป็นที่ต้องมีการใคร่ครวญต่ออายะฮฺเหล่านี้


ในอัล-กุรอานนั้นมีเรื่องของเตาฮีด คำสัญญา การสำทับ กฎหมาย การแจ้งข่าว การเล่าเรื่องต่าง ๆ มารยาท และจริยธรรม อิทธิพลจากสิ่งเหล่านี้ที่เกิดต่อชีวิตหนึ่ง ๆ นั้นมีหลากหลาย ทำนรองเดียวกันซูเราะฮฺหนึน่งก็อาจมีการสำทับชีวิตมากกว่าซูเราะฮอื่นดังที่มีการชี้ชัดจากฮะดีษของท่านเราะซูล (ซ.ล.) ที่ว่า

“(ซูเราะฮฺ) ฮูด และพี่น้องของมันทำให้ผมของฉันขาว ก่อนถึงวัยผมหงอก (วัยชรา)” อัช-ชิลชิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะฮฺ 2/679

และในบางรายงานระบุว่าเป็นซูเราะฮฺ

ฮูด, อัล-วากิอะฮฺฐ อัล-มุรสะลาต, อัมมา ยะตะสาอะลูน (ซูเราะฮฺ อัน-นะบะอ์) อิชัช-ชุมสุ กุววิร็อต (ซูเราะฮฺ อัต-ตักวัร) รายงานโดยอัต-ตริมีซีย์ 3297 และในอัช-ชิลละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะฮฺ หมายเลข 955

ผมของท่านเราะซูล (ซ.ล.) หงอก เพราะว่าซูเราะฮฺเหล่านี้ประกอบไปด้วยความแท้จริงของอีหม่านและภารกิจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมันได้เติมลงสู่หัวใจของท่านเราะซูล (ซ.ล.) อย่างหนักหน่วง จนผลสะท้อนของมันบังเกิดต่อเส้นผมและร่างกายของท่าน อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ตรัสว่า : เจ้าจงอยู่ในความเที่ยงธรรมเช่นที่ถูกบัญชา และผู้ที่ขอลุโทษร่วมกับเจ้า (อัล-กุรอาน 11 : 112)

บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านเราะซูล (ซ.ล.) อ่านอัล-กุรอาน เพ่งพิจารณาเนื้อหาในนั้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขา ท่านอบูบักรฺ (ร.ฎ.) เป็นบุรุษที่สุภาพ มีจิตใจอ่อนโยน เมื่อท่านนำผู้คนละหมาดและอ่านดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จากอัล-กุรอาน ท่านไม่สามารถควบคุมตัวเองจากการร้องไห้ได้สำหรับท่านอุมัร (ร.ฎ.) นั้นถึงกับป่วย หลังจากได้อ่านอายะฮฺอัล-กุรอานที่ว่า “แท้จริงการลงโทษของพระเจ้าของเจ้าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่มีผู้ใดจะเบี่ยงเบนมันได้” (อัล-กุรอาน 52 : 7-8) รายงานพร้อมสายรายงานในตัฟซีรฺ อิบนุ กะซีร 7/406

เสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้ยินไปถึงแถวหลังเมื่อได้อ่านดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เกี่ยวกับเรื่องราวของท่านนบียะกูบ (อ.ล) ที่ว่า “ฉันร้องเรียนความเศร้าสลดของฉันและความทุกข์ระทมของฉันต่ออัลลอฮฺ” (อัล-กุรอาน 12 : 86) จากมะนากิบ อุมัรฺ โดยอิบนุ เญาซียฺ 167

ท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้กล่าวว่า “หากหัวใจของเราสะอาดแล้ว มันจะไม่เคยพอกับ (การลิ้มรส) ดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)” แล้วท่านก็เป็นชะฮีดด้วยการถูกสังหารอย่างอธรรม เลือดของท่านเปื้อนอัล-กุรอาน เรื่องราวจากบรรดาเศาะฮาบะฮฺในทำนองนี้มีอีกมากมาย

ท่านอัยยูบ รายงานว่า “ฉันได้ยินสะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ อ่านอะยะฮฺนี้มากกว่า 20 ครั้งในละหมาด “และพวกเจ้าจงยำเกรงวันหนึ่ง ซึ่งพวกเจ้าจะถูกนำกลับไปยังอัลลอฮฺในวันนั้น” (อัล-กุรอาน 2 : 228) จากชิยาร อะอฺลาม อัน-นุบะลาอ์ 4/324 และส่วนท้ายของอายะฮฺนี้ที่ถูกประทานลงมาในอัล-กุรอาน จบลงที่ว่า “แล้วแต่ละชีวิตจะถูกตอบแทนโดยครบถ้วนตามที่ชีวิตนั้นได้แสวงหาไว้ และพวกเขาจะไม่ถูกอธรรม

ท่านอิบรอฮีม อิบนุ บะซารฺ กล่าวว่า “อายะฮฺที่ท่านอลี อิบนุ ฟุฏอยลฺ อ่านขณะที่กำลังจะตาย คือ “และหากเจ้าจะได้เห็น ขณะที่พวกเขาถูกให้หยุดยืนอยู่เบื้องหน้าไฟนรกแล้วพวกเขาได้กล่าวว่า โอ้ ! หวังว่าเราจะถูกนำกลับไป (อัล-กุรอาน 6 : 27) เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้เขาก็เสียชีวิต และฉันเป็นคนหนึ่งที่ได้ละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่เขา” จากชิยาร อะอฺลาม อัน นุบะลาอ์ 4/446

แม้แต่ขณะที่สัจญดะฮฺ ติลาวะฮฺ (ก้มกราบเนื่องจากการอ่านอายะฮฺบางอายะฮฺที่มีซุนนะฮฺระบุให้กราบ) ก็มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นหลาย ๆ แบบ ดังเช่นมีเรื่องของชายคนหนึ่งที่ได้อ่านอายะฮฺที่ว่า “และพวกเขาจะหมอบราบลงใบหน้าจรดพื้นพลางร้องไห้ และมันจะเพิ่มการสำรวมแก่พวกเขา” (อัล-กุรอาน 17 : 109) แล้วเขาได้สุญุด (กราบ) จากนั้นเขาได้กล่าวตำหนิตัวเองว่า “นี่คือสุญุด แต่ไหนเล่าการร้องไห้ ?”

ส่วนหนึ่งของการเพ่งพิจารณาที่เป็นยอดของอัล-กุรอานก็คือ การมีโอหารแบบอุปมาอุปมัยในนั้น เนื่องจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ยกตัวอย่างมันมาเพื่อให้เราเพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับการพินิจพิจารณาใคร่ครวญ โดยอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ตรัสว่า “และอัลลอฮฺได้ทรงยกอุทาหรณ์แก่ปวงมนุษย์เพื่อพวกเขาจะได้รำลึก (อัล-กุรอาน 14 : 25) แล้วพระองค์ได้ตรัสไว้อีกว่า “อุปมาเหล่านี้เราได้ยกมันมาเปรียบเทียบสำหรับมนุษย์ เพื่อพวกเขาจะได้พิจารณาใคร่ครวญ” (อัล-กุรอาน 59 : 21)

ชาวสลัฟคนหนึ่งได้ครุ่นคิดต่อการอุปมาโวหารหนึ่งจากหลาย ๆ ตอนในอัล-กุรอาน แล้วเขาไม่สามารถสร้างความกระจ่างกับความหมายของมันได้ ทำให้เขาถึงกับร้องไห้ มีคนถามถึงสาเหตุที่ทำให้เขาร้องไห้ เขาตอบว่า “อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ตรัสไว้ว่า : และเหล่านี้คืออุปมาทั้งหลายที่เราได้เปรียบเทียบมันสำหรับปวงมนุษย์ แต่ไม่มีผู้ใดตระหนักมันหรอ นอกจากผู้มีความรู้ (อัล-กุรอาน 29 : 43) ฉันไม่สามารถเข้าใจอุปมาอันนี้ได้ เพราะฉันไม่มีความรู้ ฉันจึงร้องไห้กับความไม่รู้ที่มีในตัวฉัน”

อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ยกอุปมาอุปมัยไว้ในอัล-กุรอานอย่างมากมาย ดังตัวเย่างเช่น
“ผู้ที่จุดไฟขึ้น” (อัล-กุรอาน 2 : 17)

“ประดุจดังผู้ที่ส่งเสียงตวาดสิ่งที่มันฟังไม่รู้เรื่อง” (อัล-กุรอาน 2 : 171)

“อุปมัยเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่งที่งอกขึ้นเป็นเจ็ดรวง” (อัล-กุรอาน : 261)

“อุปมัยสุนัขหากเจ้าขับไล่มัน มันก็จะหอบแลบลิ้นห้อยลง หรือถ้าเจ้าปล่อยมันไว้ มันก็จะหอบแลบลื้นห้อยลง” (อัล-กุรอาน 7 : 176)

“ประหนึ่งเช่นกับลาที่แบกหนังสือจำนวนหนึ่ง” (อัล-กุรอาน 62 : 5)

“”แมลงวัน” (อัล-กุรอาน 22 : 73)

“แมงมุม” (อัล-กุรอาน 29 : 41)

“ดังเช่นคนตาบอดและหูหนวกกับคนมองเห็นและได้ยิน” (อัล-กุรอาน 11 : 24)

“ประดุจดังขี้เถ้าเมื่อลมพัดมันไปอย่างแรง” (อัล-กุรอาน 14: 18)

“ดั่งต้นไม้ที่ดี” (อัล-กุรอาน 14 : 24)

“ดั่งต้นไม้ที่อับเฉาะ” (อัล-กุรอาน 14 : 26)

“ผู้ที่ทรงให้น้ำลงมาจากฟากฟ้า” (อัล-กุรอาน 6 : 99)

“เสมือนดังช่องตามผนังที่มีตะเกียง” (อัล-กุรอาน 24 : 35)

“บ่าวผู้เป็นทาสไม่มีอำนาจในสิ่งใด” (อัล-กุรอาน 16 : 75)

“ชายคนหนึ่งเป็นของหุ้นส่วนหลายคน” (อัล-กุรอาน 39 : 29) เป็นต้น

เป้าหมายที่ให้กลับไปพิจารณาอายะฮฺที่มีการอุปมาอุปมัยเหล่านี้ก็คือ การให้ความใส่ใจกับมันเป็นกรณีพิเศษ

อัลลามะฮฺ อิบนุ กอยยิม ได้สรุปประเด็นต่าง ๆ ให้กับมุสลิมที่ทำการเยียวยาหัวใจที่แข็งกระด้างโดยใช้อัล-กุรอานว่า “มีพื้นฐานสองข้อ (ในการเยียวยาอีหม่านอ่อน) ที่ขาดเสียมิได้ หนึ่งก็คือให้ท่านเคลื่อนหัวใจของท่านจากที่พำนักในโลกนี้และให้มันไปสถิตอยู่ในที่พำนักแห่งโลกหน้า หลังจากนั้นให้นำหัวใจของท่านทั้งหมดจดจ่ออยู่กับความหมายอัล-กุรอานและความกระจ่างในนั้น เพ่งพินิตและสร้างความเข้าใจในความมุ่งหมายของมัน ว่ามันถูกประทานมาเพื่อเป้าหมายอันใด นำตัวท่านเข้าไปมีส่วนร่วมในทุก ๆ อายะฮฺ แล้วกำหนดมันให้เป็นยาเพื่อบำบัดหัวใจของท่าน เมื่ออายะฮฺนี้ได้ถูกนำไปเป็นยาบำบัดหัวใจของท่านแล้ว หัวใจของท่านก็จะปราศจากโรคร้าย ด้วยการอนุมัติจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

......................................................
เชค มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล – มุนัจญิด : เขียน
อับดุลมะญีด อับดุรรออูฟ : แปลและเรียบเรียง
(จากหนังสือ : อีหม่านอ่อน)
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น