อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

ฟิกรุน สลาฟียุน - แนวความคิดสะลาฟีย์



 การมีความจริงใจต่อการดะอฺวะฮฺ การเสียสละเพื่องานดะอฺวะฮฺ หรือการอยู่ในหมู่คนกลุ่มแรกที่เข้าร่วมงานในขอบเขตนี้  เหล่านี้มิใช่คุณสมบัติเพียงประการเดียวของการเป็นผู้นำในทำงานเพื่ออิสลาม

            ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเองในทัศนะของอัลลอฮฺ สุบหฯ  และในสายของประชาชนก็ตาม  ประเภทของภาวะผู้นำที่ต้องการนั้นควรเป็นบุคคลที่มีความสามารถในทางปัญญา  จิตวิทยาและความสามารถในทางการปฏิบัติจริง  นอกเหนือจากการมีคุณสมบัติเบื้องต้นทางด้านบุคลิก ธรรมจริยาและอีมานตามแบบนิยมที่ยึดสืบต่อกันมา

            สำหรับภาวะผู้นำนั้น  ข้าพเจ้ามิได้หมายถึงบุคคลที่อยู่ในระดับบนสุดของการปกครองโดยลำดับขั้น  แต่หมายถึงกลุ่มคณะที่วางแผนปฏิบัติงาน  ลงมือทำงาน  อำนวยการและควบคุมงาน  ตลอดจนทำให้การงานเหล่านั้นออกมาดีที่สุดภายใต้การบังคับบัญชาของกลุ่มคณะดังกล่าว  ทั้งนี้เพื่อแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นจาก "ภาวะที่ถูกทำลาย" ไปสู่ "การสร้างสรรค์"  จาก "การโต้เถียงขัดแย้ง" ไปสู่ "การปฏิบัติงาน"  และจาก  "ความเกียจคร้าน" ไปสู่ "การดิ้นรนต่อสู้อย่างจริงจัง"

           สิ่งที่มีความสำคัญ ณ ที่นี้ได้แก่  เราควร(กระทั่งจะต้อง)เตรียมภาวะผู้นำซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับยุคสมัยที่กำลังมาถึง เพื่อทำให้เป็นที่มั่นใจว่าผู้ที่จะเข้ามายืนถือหางเสือเรือนั้นมีเพียงเหล่าผู้นำที่เข้มแข็ง  สัตย์ซื่อ วางใจได้และรอบรู้เท่านั้น เราต้องเตรียมภาวะผู้นำทางด้านแนวความคิด การศึกษาและการเมืองให้พร้อม

            นี่คือสิ่งที่เราต้องขบคิดอย่างจริงจัง  และดำเนินมาตรการและจังหวะก้าวในทางปฏิบัติที่จำเป็นเพื่อทำให้เรื่องนี้สัมฤทธิผล  เราต้องแปรเปลี่ยนทฤษฎีไปเป็นการนำไปปฏิบัติ
            ณ จุดนี้  ข้าพเจ้าใคร่ขออภิปรายเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญของแนวความคิดที่เราจะสถาปนาขึ้น(ในตัวผู้นำการปฏิบัติงานรุ่นใหม่)โดยผ่านความมานะบากบั่นที่ปรารถนาอย่างแรงกล้านี้      
            แนวความคิดซึ่งการตัรฺบียะฮฺอันเป็นที่ต้องการของเราตั้งมั่นอยู่นั้นมีลักษณะพิเศษที่บรรดาครูบาอาจารย์ควรจะค้นหาและทำให้เป็นที่ยอมรับ  ... แนวคิดเหล่านี้ได้แก่

            ๑ .ฟิกรุน สลาฟียุน          - แนวความคิดสะลาฟีย์
            ๒. ฟิกรุน ตัจญดีดียุน      - แนวความคิดฟื้นฟู
            ๓. ฟิกรุน อิลมียุน           - แนวความคิดวิทยาศาสตร์
            ๔. ฟิกรุน วากิอียุน          - แนวความคิดที่เป็นจริง
            ๕. ฟิกรุน วะสะฏียุน        - แนวความคิดสายกลาง
            ๖. ฟิกรุน มุสตักบะลียุน   - แนวความคิดอนาคตศาสตร์


                                                        * * * * * * * * * *



ฟิกรุน สลาฟียุน - แนวความคิดสะลาฟีย์
     ในบรรดาลักษณะพิเศษเฉพาะของแนวความคิดนี้ได้แก่ความเป็นแนวความคิดสะลาฟีย์(แนวทางของชนมุสลิมยุคแรก)  คำว่า "สะลาฟีย์" นี้ข้าพเจ้าหมายถึงว่ามันควรจะเป็นแบบวิธีทางปัญญาที่วางอยู่บนพื้นฐานของการใช้ความเข้าใจในบทบัญญัติของอัล-กุรฺอาน  และข้อแนะนำของสุนนะฮฺตามที่เข้าใจโดยชนรุ่นที่ประเสริฐที่สุดของอุมมะฮฺ  ซึ่งได้แก่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลฯ  และบรรดาผู้ดำเนินตามแนวทางของพวกเขาอย่างถูกต้อง

หลักมูลฐานของแบบวิธีสะลาฟีย์ที่แท้จริง

            แบบวิธีนี้โดยทั่วไปวางอยู่บนพื้นฐานของหลักการและหลักมูลฐานต่อไปนี้ :

            1.  ตัดสินโดยอาศัยตัวบทที่บริสุทธิ์  มิได้อาศัยคำพูดของคนเราเป็นเครื่องตัดสิน
            2. ใช้การกำหนดความหมายของมุตะชาบิฮาต(ตัวบทที่เข้าใจยาก)โดยอาศัยมุฮฺกะมาต(ตัวบทที่เข้าใจง่าย)  และกำหนดความหมายของซ็อนนียาต(ตัวบทที่ไม่มีข้อสรุปแน่นอน)โดยอาศัยก็อฏอียาต(ตัวบทที่มีข้อสรุปแน่นอน)เป็นเครื่องตัดสิน      
            3. ทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นฟุรูอฺ(ข้อคิดเห็นที่ไม่สำคัญ)และญุซฺอียาต(ข้อวินิจฉัยเรื่องปลีกย่อย)โดยอาศัยอุศูล(หลักพื้นฐาน)และกุลลียาต(หลักทั่วไป)เป็นเครื่องนำทาง
         



"ทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นฟุรูอฺ และญุซฺอียาต (ข้อวินิจฉัยเรื่องปลีกย่อย)โดยอาศัยอุศูล(หลักพื้นฐาน)และกุลลียาต(หลักทั่วไป)เป็นเครื่องนำทาง"

4. ส่งเสริมสนับสนุนอิจญ์ติฮาด(การวินิจฉัยปัญหาศาสนาของบุคคลที่อยู่ในระดับมุจญ์ตะฮิด)และตัจญ์ดีด(การฟื้นฟู)  ประณามความไม่ยืดหยุ่นและตักลีด(การทำตามอย่างไร้สติ)
            5. ในเรื่องของธรรมจริยา  มีการส่งเสริมสนับสนุนการยึดมั่นในความประพฤติที่ถูกต้อง ไม่ส่งเสริมความหละหลวม
            6. ในขอบเขตของฟิกฮฺ  มีการส่งเสริมสนับสนุนตัยสีรฺ(การทำให้สะดวกง่ายดาย)  แต่ไม่ส่งเสริมสนับสนุนตะอฺสีรฺ(การทำให้สิ่งต่างๆ ยุ่งยากและลำบาก)
            7. ในขอบเขตของการชี้แนะและการนำทาง  มีการส่งเสริมสนับสนุนตับชีรฺ (มีความสุภาพอ่อนโยนต่อประชาชน  และปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยดี)มากกว่าที่จะส่งเสริมสนับสนุนตันฟีรฺ(ทำให้พวกเขาหวาดกลัวโดยมีท่าทีหยาบกระด้างต่อพวกเขา)
            8. ในขอบเขตของอะกีดะฮฺ  มีการทุ่มเทความสนใจให้กับการบ่มเพาะอีมานที่ถูกต้องและมั่นคง  แต่ไม่สนใจกับญิดาล(การโต้เถียง)
            9. ในขอบเขตของอิบาดะฮฺ  มีการทุ่มเทความสนใจให้กับรูฮฺ (จิตใจและเนื้อหาสาระ)  แต่ไม่สนใจกับชักลฺ(รูปแบบ)
            10. ให้ความสนใจกับการยึดมั่นกฎเกณฑ์ในเรื่องทางศาสนา  และการสร้างสรรค์ใหม่ของระเบียบกฎเกณฑ์ทางโลก
            นี่คือสารัตถะของแบบวิธีที่เหล่าผู้ศรัทธาในยุคแรกปฏิบัติตาม  และนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติของชนรุ่นหัวกระทิของอุมมะฮฺ  ซึ่งอัลลอฮฺ ศุบหฯ ได้ทรงยกย่องชมเชยชนรุ่นนี้เอาไว้ในอัล-กุรฺอาน  ท่านนบี ศ็อลฯ เองได้สดุดีพวกเขาเอาไว้ในหะดีษ  นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาควรคู่แก่การยกย่องสรรเสริญอย่างแท้จริง
            พวกเขาได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับอัล-กุรฺอานให้แก่ชนรุ่นต่อๆ มา  พวกเขาจดจำสุนนะฮฺ  บรรลุสู่ชัยชนะ  แพร่กระจายแสงสว่างของความยุติธรรมและเอี๊ยะฮฺซาน  สถาปนารัฐแห่งความรู้และอีมาน  สร้างอารยธรรมที่เป็นสากล  ที่เคร่งครัดศาสนา  มีมนุษยธรรมและเกี่ยวกับธรรมจริยา  .ความทรงจำหรืออนุสรณ์ของพวกเขายังคงมีอยู่ในประวัติศาสตร์

ความอยุติธรรมที่ "อัส-สะลาฟียะฮฺ" ได้รับทั้งจากฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน

            คำว่า "สะลาฟียะฮฺ" ได้รับการปฏิบัติด้วยความไม่เป็นธรรมจากผู้สนับสนุน  และจากผู้ต่อต้านด้วยเช่นกัน
            ผู้สนับสนุนสะลาฟียะฮฺจำนวนมาก  หรือบรรดาผู้ที่ถูกประชาชนกล่าวอ้างว่าเป็นผู้สนับสนุนสะลาฟียะฮฺ  หรือผู้ที่อ้างตัวเองก็ตาม  บุคคลเหล่านี้ได้ตีวงแบบวิธีนี้ให้เป็นเพียงเค้าโครงของสิ่งที่เป็นระเบียบแบบแผนและการโต้เถียงปัญหาศาสนาที่เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของอิลมฺ อัล-กะลาม(ศาสตร์ทางด้านปรัชญา)  ฟิกฮฺหรือตะเศาวุฟ  พวกเขาใช้เวลาช่วงกลางวันและไม่ยอมหลับไม่ยอมนอนตลอดทั้งคืนตั้งป้อมโจมตีอย่างไม่ปรานีปราศรัยเล่นงานบุคคลใดก็ตามที่คัดค้านความคิดเห็นของพวกเขาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง  หรือปฏิเสธคำวินิจฉัยของบุคคลเหล่านั้นในส่วนที่เกี่ยวกับรายละเอียดข้อใดข้อหนึ่ง
            ทัศนคติของพวกเขากลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะเยาะ  จนกระทั่งปัจจุบันคนบางคนคิดว่าแบบวิธี "สะลาฟีย์" เป็นแบบวิธีของการโต้เถียงปัญหาศาสนา  ไม่ใช่การสร้างสรรค์และผลงานอะไรเลย  หรือบางคนคิดว่าสะลาฟีย์สนใจแต่เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยโดยยอมสูญเสียหลักทั่วไป  หรือสนใจแต่ข้อคิดเห็นที่เป็นเรื่องถกเถียงขัดแย้งโดยยอมสูญเสียทัศนะที่ได้รับการเห็นพ้อง  ตลอดจนสนใจแต่เรื่องรูปแบบและตัวอักษรโดยยอมสูญเสียจิตใจและแก่นสารไป
            ในทางตรงกันข้าม  ผู้ต่อต้าน "อัส-สะลาฟียะฮฺ" พรรณนาว่ามันเป็นความล้าหลัง  กล่าวคือสะลาฟีย์มักจะมองย้อนหลัง  ไม่ยอมเคลื่อนไปข้างหน้า  และไม่มีความหาญกล้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต  นอกจากนี้พวกเขายังพรรณนาว่าสะลาฟีย์เป็นความบ้าคลั่ง  ไม่เคยรับฟังและไม่เคยสนใจความคิดเห็นของคนอื่น  เพราะพวกเขาถือว่าสะลาฟีย์สวนทางกับตัจญ์ดีด  อิบดาอฺ(การสร้างสรรค์ใหม่)และอิจญ์ติฮาด  และยังห่างไกลจากทางสายกลางอีกด้วย  แท้จริงนี่คือความอยุติธรรมที่เกิดกับแนวทางสะลาฟียะฮฺ  ตลอดจนผู้สนับสนุนที่แท้จริงของแนวทางนี้

            บางทีผู้สนับสนุนแนวทาง "อัส-สะลาฟียะฮฺ" ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในยุคก่อนๆ นั้นเห็นจะได้แก่ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนิ ตัยมียะฮฺ  และท่าน อัล-อิมาม อิบนิ อัล-กอยยิม  ลูกศิษย์ของท่าน  ทั้งสองท่านเป็นตัวแทนของขบวนการเคลื่อนไหวฟื้นฟูอิสลามในยุคสมัยของพวกท่านที่คู่ควรที่สุดโดยแท้จริง  ขบวนการเคลื่อนไหวของพวกท่านเป็นการฟื้นฟูศาสตร์ต่างๆ ของอิสลามในลักษณะรอบด้าน  พวกท่านยืนเผชิญหน้ากับการตักลีดและลัทธิคลั่งไคล้ทางอุดมการณ์ ทางศาสนศาสตร์และทางนิติบัญญัติอิสลาม(ฟิกฮฺ)ที่เข้ามาครอบงำความคิดอิสลามเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว
            อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้ท่านจะต่อต้านแบบวิธีของการตักลีดที่มีลักษณะคลั่งไคล้ก็ตาม  แต่พวกท่านก็ยังให้ความเคารพและการยกย่องแก่เหล่าอิมามของมัซฮับ(สำนักนิติบัญญัติอิสลาม)ต่างๆ ตามสมควร  ดังที่ท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺเขียนไว้ในตำราของท่านชื่อ  "ลบล้างคำกล่าวโทษที่มีต่ออิมามผู้มีชื่อเสียง"
            ยิ่งกว่านั้น  ในการรณรงค์ของพวกท่านเพื่อต่อต้านความวิปลาสทางด้านแนวความคิดและทางคำสอน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสนับสนุนของบรรดาสำนักคิดฮุลูล(พระเจ้าเสด็จลงมาสิงสถิตในตัวมนุษย์)และอิตติฮาด(การขึ้นไปรวมกับพระเจ้า)  และความเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมที่แทรกซึมเข้ามาในตะเศาวุฟโดยเงื้อมมือของคนโง่เขลา  คนหลอกลวงและพวกที่เห็นแก่เงิน  ท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺ และท่านอิบนิ อัล-กอยยิมได้ปฏิบัติด้วยความยุติธรรมต่อแนวทางตะเศาวุฟขนานแท้  และยังได้ยกย่องชมเชยผู้สนับสนุนตะเศาวุฟที่ซื่อสัตย์อีกด้วย  พวกท่านได้ผลิตตำรับตำรามากมายทางด้านนี้  ในหนังสือชุดใหญ่ "มัจมัวอฺ ฟะตาวา" (ประมวลคำวินิจฉัยทางศาสนา) ของท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺ  ปรากฏว่ามีข้อเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงสองเล่มด้วยกัน  ท่านอิบนิ กอยยิมเองได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน  ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือหนังสือ "มะดาริจญ์ อัส-สาลิกีน"  (วิถีของผู้เดินทาง)  และ "ชัรฺฮ มะนาซิล อัส-สาอิรีน"  (คำอธิบายว่าด้วยสถานที่หยุดพักของนักเดินทาง)จำนวนสามเล่มด้วยกัน

นอกเหนือจากคำวินิจฉัยของพวกเขายังต้องนำแบบวิธีของสะลัฟมาใช้ด้วย

            ข้าพเจ้าจำต้องย้ำเอาไว้ ณ ที่นี้ว่า  เราต้องปฏิบัติตามแนวทางของสะลัฟ  มิใช่จะปฏิบัติตามเฉพาะคำพูดของพวกเขาเพียงอย่างเดียว  เพราะบุคคลอาจนำเอาคำวินิจฉัยของพวกเขามาประยุกต์ใช้ในรายละเอียดปลีกย่อยบางเรื่อง  แต่กลับไม่ทราบอะไรเลยเกี่ยวกับแบบวิธีที่มีความสมดุลและมีลักษณะประสานกันของพวกเขา
            บุคคลอาจจะนำเอาแก่นของแบบวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้  และพยายามให้บรรลุเป้าหมาย  ขณะเดียวกันอาจจะมีความเห็นผิดแผกไปจากความคิดเห็นของเหล่ามุสลิมยุคแรกในบางข้อก็อาจเป็นไปได้
            นี่คือคำอธิบายว่าข้าพเจ้ามีจุดยืนที่แตกต่างจากท่านอิมามอิบนิ ตัยมียะฮฺ  และอิมามอิบนิ อัล-กอยยิมได้อย่างไร  ข้าพเจ้าเคารพและชื่นชมแบบวิธีของพวกท่านโดยรวม  แต่นั่นก็มิได้ทำให้ข้าพเจ้ายอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทั้งสองเคยพูดเอาไว้  ถ้าข้าพเจ้ายอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทั้งสองพูดเอาไว้  ก็เท่ากับข้าพเจ้ากำลังตักลีดตามท่านทั้งสองในทุกสิ่งทุกอย่าง  และดังนั้นจึงเป็นการละเมิดแบบวิธีที่ท่านทั้งสองสนับสนุน  และแบบวิธีที่ทำให้ท่านทั้งสองต้องต่อสู้กับความยากลำบากและการต่อต้านคัดค้านนานาชนิด  แบบวิธีของพวกท่านเรียกร้องให้มีการไตร่ตรอง  ให้ตัดสินด้วยข้อพิสูจน์  และพิเคราะห์โดยตัวข้อวินิจฉัยเอง  มิใช่โดยตัวตนของผู้ที่ทำการวินิจฉัย
            ดังนั้น เมื่อคนผู้หนึ่งยังตักลีดตามท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺ  และท่านอิบนิ อัล-กอยยิม  แล้วการที่ผู้นั้นวิพากษ์วิจารณ์บรรดาบุคคลที่ตักลีดตามอิมามอบู หะนีฟะฮฺ  และอิมามมาลิกจะเป็นเรื่องถูกต้องได้อย่าง?

            นอกจากนี้  มันออกจะไม่เป็นธรรมแก่ท่านอิมามทั้งสอง  หากจะพาดพิงเฉพาะภาควิชาการและภาคสติปัญญาในชีวิตของท่านทั้งสอง  โดยละเลยด้านอื่นๆ ที่โชติช่วงชัชวาลในชีวิตอันกระตือรือร้นของท่านทั้งสอง  เราไม่ควรจะละเลยรูปการร็อบบานีย์(เคร่งครัดและยำเกรงต่อพระเจ้า)ที่ทำให้บุรุษอย่างอิบนิ ตัยมียะฮฺ กล่าวว่า "บางครั้งฉันก็กล่าวว่า  ถ้าผู้อยู่ในญันนะฮฺ(สวนสวรรค์)ดำเนินชีวิตเหมือนกับของฉัน  เมื่อนั้นก็หมายความว่าพวกเขาได้ดำเนินชีวิตที่งดงามแล้ว"  นอกจากนี้  ท่านยังเคยกล่าวในยามทุกข์ยากและในยามถูกกักขังว่า  "บรรดาศัตรูของฉันจะสามารถทำอะไรกับฉันได้?  การถูกกักขังของฉันเป็นการแยกตัวมาอยู่อย่างสันโดษ (เพื่อทำอิบาดะฮฺ)  และการถูกเนรเทศของฉันเป็นการเดินทางเพื่อศาสนา( เช่นเพื่อแสวงหาความรู้)  และการถูกประหารชีวิตของฉันเป็นชะฮาดะฮฺ(การพลีชีพ)"
            ท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺเป็นผู้มีรสนิยมเคร่งครัดในศาสนา  เช่นเดียวกับอิบนิ อัล-กอยยิม  ลูกศิษย์ของท่าน  ผู้ใดก็ตามที่อ่านตำรับตำราของท่านทั้งสองด้วยความตั้งใจและสุจริตใจย่อมจะตระหนักในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี  ยิ่งกว่านั้นเราไม่ควรจะละเลยแง่มุมทางด้านการสนับสนุนช่วยเหลืองานดะอฺวะฮฺและญิฮาดในชีวิตของท่านอิมามทั้งสอง  ท่านอิบนิ ตัยมียะฮฺเคยมีส่วนร่วมในยุทธการทางทหารด้วยตัวของท่านเองเป็นบางครั้ง   ท่านได้ต่อสู้ด้วยมือของท่านเอง  และคำพูดของท่านยังได้คุ้ยเขี่ยไฟแห่งความเร่าร้อนให้ลุกโชนในหัวใจของทหารคนอื่นๆ  ท่านอิมามทั้งสองดำรงชีวิตอยู่ในการดิ้นรนต่อสู้อย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อฟื้นฟูอิสลาม  ต้องเข้าคุกหลายครั้งเพราะความพยายามอันเร่าร้อนของพวกท่าน  จนกระทั่งชัยคุลอิสลาม อิบนิ ตัยมียะฮฺ สิ้นชีวิตในคุกในปีฮิจเราะฮฺศักราช 728  นี่คือสิ่งที่สะลาฟียะฮฺขนานแท้เป็นไป !

            ถ้าเราตรวจสอบประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของเรา  เราจะพบว่าอุละมาอฺผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดซึ่งสนับสนุนส่งเสริมสะลาฟียะฮฺในบทความ  หนังสือและนิตยสารของท่าน  และยังได้ชูธงสะลาฟียะฮฺสมัยใหม่นั้นได้แก่อัลลามะฮฺ มุฮัมมัด รอชีด ริฎอ  ท่านเป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของนิตยสาร "อัล-มะนารฺ"  ตัฟซีรฺ อัล-มะนารฺซึ่งเป็นตัฟซีรฺที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลกมุสลิมยังได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารดังกล่าว
            อิมามมุฮัมมัด รอชีด ริฎอ เป็นผู้ฟื้นฟูอิสลามในยุคสมัยของท่านอย่างแท้จริง  ผู้ใดก็ตามที่อ่านตัฟซีรฺของท่าน  ฟะตาวาของท่าน  หรือหนังสือของท่าน  เช่น  อัล-วะหฺยุล มุฮัมมะดีย์ (การดลใจของมุฮัมมัด)  ยุสรุล อิสลาม (ความง่ายดายของอิสลาม)  นิดาอุ ลิลญินสิล ละฏีฟ (การเรียกร้องให้กับเพศหญิง)  อัล-คิลาฟะฮฺ (ระบบคิลาฟะฮฺ)  มุฮาวะรอตุล มุศลิหฺ วัล มุก็อดลิด (ข้อโต้แย้งของผู้ฟื้นฟูและผู้ยึดถือการตักลีด)  ตลอดจนหนังสือและบทความอื่นอีกมาก  จะตระหนักได้อย่างไม่ต้องสงสัยว่าความคิดของท่านอิมามมุฮัมมัด รอชีด ริฎอ เป็น "มะนารฺ" (ประภาคาร)อย่างแท้จริง  ซึ่งช่วยนำทางให้นาวาของอิสลามแล่นฝ่าไปในประวัติศาสตร์สมัยใหม่  ชีวิตในทางปฏิบัติของท่านเป็นการนำเอาแนวความคิดสะลาฟีย์มาประยุกต์ใช้โดยแท้จริง

            อิมามริฎอเป็นผู้ริเริ่มกฎทองที่ท่านอิมามหะสัน อัล-บันนาได้นำไปใช้ในเวลาต่อมา  นั่นคือข้อความว่า  "เราควรจะประสานความร่วมมือกันในสิ่งที่เราเห็นพ้องต้องกัน  และยกโทษให้แก่กันและกันสำหรับสิ่งที่เรามีความเห็นแตกต่างกัน"

            ช่างเป็นกฎที่น่าพิศวงอะไรเช่นนี้ ! (1)  แต่จะเป็นเช่นนี้ได้  ขอเพียงให้บรรดาผู้ที่อ้างว่าสนับสนุนและอ้างว่าเป็นผู้เจริญรอยตามชาวสะลัฟได้เข้าใจข้อความนี้อย่างถูกต้องเท่านั้น

- - - - - - - - - - - - - -





ชัยคฺ ดร. ยูซุฟ อัล-เกาะเราะฎอวียฺ เขียน
อบู ฟาอิซ  แปลและเรียบเรียง

http://www.fityah.com/


เชิงอรรถ

(1) ข้าพเจ้าได้พิสูจน์ลักษณะที่เชื่อถือได้และความมีเหตุผลของกฎดังกล่าวด้วยพยานหลักฐานจากชะรีอะฮฺ  กรุณาดูหนังสือ "ฟัตวาร่วมสมัย" ของข้าพเจ้าเล่มที่สอง   

   

·       เชิงอรรถอธิบายเพิ่มเติม เป็นของบุคคลที่ถูกระบุไว้ในวงเล็บ ได้แก่ บรรณาธิการ(ฉบับแปลภาษาอังกฤษ), ผู้แปล(คือแปลเป็นภาษไทย),  อัลอัค (ผู้อธิบายเพิ่มเติม) ส่วนที่ไม่ได้ระบุไว้นั้นเป็นของชัยคฺ ยูซุฟ อัล-เกาะเราะฎอวียฺ

เงื่อนไขของการตักลีด



อุลามาอฺนักปราชญ์ได้แจกแจงถึงการตักลีด(การรับความเห็นผู้อื่นโดยไม่รู้หลักฐาน) สามารถเกิดขึ้นจากภาวการณ์ 2 ประการ ดังนี้

1.การตักลีดจะเกิดขึ้นได้ภายใต้การที่บุคคลผู้หนึ่งเป็นมุก็อลลิด(ผู้ตาม)อาม หมายถึงเป็นบุคคลธรรมดาสามัญที่ไม่มีความสามารถในการเรียบเรียงแสวงหาและตีความแม่บททางศาสนาสู่การถักทอขึ้น เป็นข้อตัดสินในทางชารีอะฮฺ โดยพื้นฐานแล้วบุคคลจำพวกนี้นั้นเป็นที่บังคับแก่พวกเขาด้วยซ้ำในการตักลีดตามผู้รู้ดังใจความของอัลกุรอานที่ระบุว่า “จงถามผู้รู้หากพวกเจ้าไม่รู้”(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัลนะห์ลฺ 16:43)

2.การตักลีดของมุจตะฮิด หมายถึง ในบางครั้งมุจตะฮิด อาจประสบพบเจอปัญหาใหม่ๆ อย่างกระทันหันและบ่อยครั้งที่ปัญหาเร่งด่วนเช่นนี้ เป็นที่ยากลำบากสำหรับมุจตะฮิดที่จะทำการฟัตวาได้ทันท่วงทีนอกเสียจากต้องให้เวลาแก่เขาในการค้นคว้าเพื่อการตกวา ดังนั้นในภาวการณ์เร่งด่วนเช่นนี้ มุจญ์ตะฮิดอาจจะทำการตักลีดต่อผู้รู้ที่ตนมอบความไว้วางใจในประเด็นที่ตนเองยังไม่อาจหาคำตอบได้

การตักลีดนั้นในการยอมรับในการวินิจฉัยของบรรดาอุลามาอ์เป็นประเด็นๆไป โดยพิจารณาว่าประเด็นดังกล่าวนั้น การวินิจฉัยมีความถูกต้องกับหลักฐานและเหตุผลหรือไม่

والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿



อย่านำข้อผิดพลาดของนักปราชญ์มาเป็นหลักฐาน



                  นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งปวงนั้นไม่ใช่มะอฺซูม ทุกท่านย่อมมีความผิดพลาดและมีความถูกต้อง ไม่ว่าอิมามทั้งสี่ หรือนักปราชญ์ท่านอื่นๆ อันได้แก่ ท่านอิมามนะวาวีย์ , อิมามอิบนิหะญัร , ท่านอิมามอิบนุตัยมียะฮฺ เป็นต้น นักปราชญ์เหล่านั้น ย่อมมีความผิดพลาด หากการตัดสินเรื่องใดในศาสนาของนักปราชญ์ได้กระทำความผิดพลาด ความผิดพลาดนั้นก็จะไม่ถูกยอมรับ และความผิดพลาดของเขาก็จะถูกปฏิเสธ ไม่อาจนำมาอ้างอิงในคำพูดหรือการตัดสิ้นที่ผิดพลาดของนักปราชญ์นั้นได้

ท่านอิมามมาลิก ร่อหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า
ไม่มีผู้ใดในหมู่พวกเราที่ความเห็นของเขาจะไม่ถูกปฏิเสธใดๆเลย เว้นแต่ เพียงบุคคลที่อยู่ในกุบูรฺนี้ หมายถึง ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัญฮิ วะซัลลัม


                 ดังนั้นสิ่งที่เป็นความถูกของนักปราชญ์ผู้นั้น ย่อมจะต้องถูกยอมรับ และสิ่งใดที่เขาผิดพลาดก็จำต้องละทิ้งไป และนักปราชญ์เหล่านั้น คือส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ปฏิบัติตามอะกีดะฮฺแห่งอลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ แต่เพียงว่าเขาได้มีความผิดพลาดในการอธิบายหะดิษหรือในคำพูดบางอย่างที่เขากล่าวไป และไม่ให้นำสิ่งที่ผิดพลาดมาเป็นหลักฐานเท่านั้น

والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿


วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

หรือจะเลือกคู่ครองเพียงว่าเป็นอิสลามในบัตรประชาชน




หลายคนได้เลือกคู่ครอง ก็พิจารณาแต่เพียงว่า เป็นอิสลามในบัตรประชาชน ไม่กินหมู แต่กลับไม่คลุมผม ไม่ละหมาด ไม่ถือศิลอด ไม่รู้ศาสนา มีแต่เพียงชื่อเรียกว่า เป็นมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม แต่กลับไม่รู้จักอัลลอฮฺ

มุสลิมที่จะเรียกว่า ผู้มีศาสนา หมายถึง คนที่รู้จักอัลลอฮฺ เคารพภัคดี ทำตามคำสั่งใช้ ไม่ทำสิ่งที่ต้องห้าม และมีความเกลงกลัวพระองค์

และ 4 ประการที่ ผู้ชาย หรือผู้หญิงจะเลือกคู่ครองของเขา คือ
1.ทรัพย์สินของผู้ที่จะเลือกเป็นคู่ครอง
2.วงศ์ตระกูลของผู้ที่จะเลือกเป็นคู่ครอง
3.ความสวย ความหล่อของผู้ที่จะเลือกเป็นคู่ครอง
4.ศาสนาของของผู้ที่จะเลือกเป็นคู่ครอง

แต่คุณสมบัติอันดับแรกที่สุด ที่จะต้องเลือก คือ การมีศาสนาของผู้ที่จะเลือกเป็นคู่ชีวิตของเขา

ดังหะดิษต่อไปนี้

ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า
สี่ประการที่ผู้หญิงถูกเลือกแต่งงาน คือ ทรัพย์ของนาง วงศ์ตระกูลของนาง ความสวยของนาง และศาสนาของนาง จงเลือกทีศาสนาของนาง แล้วท่านจะมีความสุข (บันทึกหะดิษโดยอิมามบุคอรีย์)

เมื่อเราเลือกคู่ที่จะแต่งงานด้วย ด้วยพิจารณาจากผู้ที่มีศาสนาอันดับแรก ก่อนฐานะความรำรวย วงค์ตระกูล หรือพิจารณาจากความสวยหล่อของเรือนร่าง เช่นนั้นแล้ว เขาผู้นั้นก็จะพาครอบครัวให้พบกับความสุขทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺอย่างแน่นอน

แต่หากเขาเลือกคู่ครองเพียงระบุในบัตรประจำตัวประชาชนว่า นับถือศาสนา อิสลาม ถึงแม้ผู้นั้นจะมีฐานะร่ำรวย มีวงศ์ตระกูล รูปร่างงดงามหล่อเหลา แต่ขาดการรู้จักอัลลอฮฺ ไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์สั่งใช้ หรือไม่งดเว้นในสิ่งที่พระองค์สั่งห้าม เช่น ไม่ปฏิบัติละหมาด เล่นการพนัน ดื่มสิ่งมึนเมา ฯลฯ ผู้ที่เลือกคู่ครองเช่นนี้ เขาผู้นั้นจะพาครอบครัวให้ประสบกับความทุกข์ทั้งในดุนยานี้และอาคีเราะฮฺ เว้นแต่ คู่ครองของเขาจะกลับตัวในภายหลัง


والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿

เนื้อแท้ของทรัพย์สิน




เมื่อมนุษย์คนใดได้ทรัพย์ชิ้นใดมาแล้ว ก็กล่าวว่า นั้นมันทรัพย์ของฉัน ทั้งที่มันเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ เขาได้หวงแหนมัน ลุ่มหลงกับทรัพย์อันนั้น จนลืมพระเจ้าของเขาที่ได้ประทานริสกีทรัพย์นั้นมาแก่เขา
อันแท้จริงทรัพย์สินเหล่านั้น หากเรานำมารับประทาน มันก็ถูกย่อยสลายเผ่าพล่านกลายเป็นพลังงานเสริมสร้างร่างกายของเรา และขับถ่ายของเสียในสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการออกไป หากทรัพย์สิ้นนั้นเราสวมใส่ มาขับขี่ หรือนำมาใช้งานตามปกติของทรัพย์ชิ้นนั้น ไม่นานมันก็ขาดวิ่น สึกหรอ และสูญสลายไปในที่สุด อย่างเราซื้อรถมาใช้งานไม่นานมันก็กลายเป็นรถคันเก่า มีการสึกหรอ ถึงแม้จะตวรจซ่อม ก็ไม่กลับคืนดีเหมือนตอนได้รถคันนั้นมาใหม่ๆ เสื้อผ้าเมื่อสวมใส่นานๆ มันก็เริ่มเก่าขาดวิ่น เสื้อตัวนั้นก็อยู่กับเราไม่นาน ก็ต้องซื้อตัวใหม่ แต่ถ้าหากเรานำมันไปบริจาคทาน ความดีจากผลที่เรานำทรัพย์ชิ้นนั้นไปบริจาค พระองค์อัลลอฮฺก็จะเก็บรักษา เพื่อตอบแทนเราในวันอาคีเราะฮฺ

ส่วนนอกเหนือจากนี้ เป็นสิ่งว่างเปล่าและเลื่อนลอย เมื่อตายไปทรัพย์อันนี้ก็ไม่ได้ติดตามเราไป นอกจากทิ้งเป็นทรัพย์มรดกแก่ทายาทของเขาสืบต่อกันไป อย่างที่ดิน เราบอกว่านั้นเป็นของเรา แต่เมื่อเราตายไปเราก็ไม่สามารถนำที่ดินนั้นติดตัวไปได้ กลับได้คนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ และคนที่ได้ครอบครองต่อมาเมื่อเขาตาย เขาไม่สามารถแบกหามที่ดินนั้นไปกับเขาได้เช่นเดียวกัน นอกจากคนที่ยังมีชีวิตสืบทอดที่ดินนั้นๆ ต่อไป

ท่านบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวไว้ถึงเนื้อแท้ของทรัพย์สิน ดังหะดิษต่อไปนี้

 รายงานจากท่านอบู อุรอยเราะฮฺ เล่าว่าท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า
มนุษย์จะกล่าวว่า ทรัพย์ของฉัน ทรัพย์ของฉัน อันที่จริงที่จะเป็นทรัพย์ของเขาจริงๆ นั้นมี 3 วิธี ด้วยกัน คือ ได้รับประทานมันแล้วสูญสิ้นไปแล้ว ได้สวมใส่มันแล้วขาดวิ่นไป และได้ให้(บริจาค) มันแล้ว ถูกเก็บรักษาไว้ (เพื่ออาคิเราะฮฺ) ไปแล้ว ส่วนที่อื่นจากวิธีนี้ ถือเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย อีกทั้งเป็นสิ่งที่ทิ้งไว้เพื่อมนุษย์คนอื่น (บันทึกหะดิษโดยมุสลิม หะดิษเลขที่ 2490)

จากหะดิษ ชัดเจนแล้วว่า ทรัพย์สินที่จะถือว่าเป็นของเขาผู้นั้น เพียง 3 กรณีเท่านั้น คือ

1.เมื่อนำทรัพย์นั้นมารับประทาน

2.เมื่อนำทรัพย์สิ้นนั้นมาใช้จนชำรุด

3.เมื่อนำทรัพย์นั้นมาบริจาค

นอกจาก 3 กรณีดังกล่าว ทรัพย์สินเหล่านั้นหาเป็นทรัพย์สินของเขาจริงๆไม่ เมื่อเขาได้ตายไป เขาก็ไม่สามรถนำทรัพย์สินเหล่านั้นไปพร้อมกับตัวเขาได้เลย

ดังนั้นการลุ่มหลงกับทรัพย์สินบนโลกดุนยานี้ เป็นสิ่งที่เลือนลอย นอกจากเรานำมันไปใช้ประโยชน์ในหนทางที่ถูกต้อง และให้เรานึกเสมอว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของเรา แต่มันเป็นกรรมสิทธิ์ของของอัลลอฮฺ ที่จะกลับคืนไปสู่พระองค์  จะทำให้เรามีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า


والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿


กลุ่มแนวคิด อัล-มะตูริดียะฮฺ


الماتريدية

อัล-มาตุรีดียะฮฺ คือ มุสลิมคณะหนึ่งที่นิยมอิลมุลกะลาม (วิชาวิภาษวิทยา) ซึ่งอุตริขึ้นมาในศาสนาอิสลาม สำนักคิดนี้ก่อตั้งโดยอบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ สำนักคิดนี้มีการใช้หลักฐานและหลักฐานของการโต้แย้งทางด้านปัญญาและวิภาษวิทยาในการตอบโต้แนวคิดของอัล-มุอฺตะซิละฮฺ , แนวคิดอัล-ญะฮฺมิยะฮฺ และแนวคิดอื่นๆ เพื่อพิสูจน์สัจธรรมและหลักการศรัทธาของศาสนาอิสลาม

การกำเนิดของแนวคิดและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
แนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺ ได้มีวิวัฒนาการหลายช่วระดับเฉกเช่นกลุ่มแนวคิดวิภาษวิทยากลุ่มอื่นๆ ซึ่งแต่เดิมนั้น “อัล-มาตุรีดียะฮฺ” ยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนมากนัก จนกระทั่งหลังการเสียชีวิตของผู้ก่อตั้ง ทำนองเดียวกับแนวคิดของอัล-อะชาอิเราะฮฺไม่เป็นที่รู้จักนอกจากหลังการเสียชีวิตของอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าแนวคิดกลุ่มนี้ได้ผ่านวิวัฒนาการมา 4 ยุคสมัย ดังนี้
1. ยุคของการเริ่มต้น (ปี ฮ.ศ. 333) ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ที่การโต้เถียงอภิปรายปัญหาต่างๆกับกลุ่มอัล-มุอฺตะซิละฮฺ ซึ่งมีบุคคลที่โดดเด่นในยุคนี้คือ อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ท่านมีชื่อเต็มว่า มุหัมมัด บิน มุหัมมัด บิน มะหฺมูด อัล-มาตุรีดีย์ อัส-สะมัรก็อนดีย์
คำว่า “อัล-มาตุริดีย์” มาจากคำว่า “มาตุรีด” ซึ่งเป็นชื่อ หมู่บ้านหนึ่งใกล้กับเมืองสะมัรก็อนดฺ (Samarkand) ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน อบู มันศูรฺเกิดที่หมู่บ้านนี้และไม่ปรากฏวันเดือนปีเกิดของท่านอย่างชัดเจน และไม่มีการบันทึกชีวประวัติและเกร็ดชีวิตของท่านมากมายนัก แม้กระทั่งประวัติการศึกษาของท่านในวัยเยาว์และผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดก็ไม่มีการบันทึกหากมีการบันทึกก็มีจำนวนน้อยเท่านั้น เช่น ท่านนุศ็อยรฺ บิน ยะหฺยา อัล-บัลคีย์ เป็นต้น บ้างก็ว่าท่านชื่อ นัศรฺ ซึ่งอบู มันศูรฺ รับเอาฟิกฮฺในสายมัซฮับหะนะฟียฺและอิลมุลกะลามจากท่านผู้นี้
อบู มันศูรฺได้รับฉายานามจากผู้เจริญรอยตามแนวคิดของท่านว่า “อิมาม อัล-มะฮฺดีย์” และ “อิมามอัล-มุตะกัลลิมีน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนที่มีฐานะสูงส่งแค่ไหนในทัศนะของผู้ติดตามแนวคิดท่าน
อับดุลลอฮฺ อัล-มุรออีย์ กล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-ฟัตหฺ อัล-มุบีน ฟี เฏาะบะกอต อัล-อุศูลิยีน (1/193-194)” ว่า “อบู มันศูรฺ เป็นผู้ที่มีความหนักแน่นเวลาโต้เถียง ท่านได้พิทักษ์ปกป้องหลักการเชื่อมั่นของชาวมุสลิม และโต้ตอบข้อคลุมเครือของพวกปฏิเสธพระเจ้า”
ชัยคฺ อบู อัล-หะสัน อัน-นัดวีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ริญาล อัล-ฟิกรฺ วะ อัล-ดะอฺวะฮฺ” (หน้า 139) ว่า “อบูมันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์ ท่านเป็นนักคิดที่สำคัญคนหนึ่ง ท่านมีคุณลักษณะพิเศษ คือเป็นอัจฉริยบุคคล มีความรู้ในวิชาด้านต่างๆ” จะเห็นได้ว่าชัยคฺ อบู อัล-หะสัน อัน-นัดวีย์ ได้ให้ความสำคัญแก่อบู มันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์มากกว่าอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์เสียอีก ตามที่ปรากฏในหนังสือ ตารีค อัด-ดะอฺวะฮฺ วะ อัล-อะซีมะฮฺ (1/114-115)
อบู มันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์ มีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกับอบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้เห็นหรือร่วมสมัยกับยุคความขัดแย้งระหว่างอะฮฺลุลหะดีษ กับอะฮฺลุลกะลามจากกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺและกลุ่มอื่นๆ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายมุอฺตะซิละฮฺ แต่ว่าท่านอาจมีแนวทางที่แตกต่างจากแนวทางของ อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ อยู่บ้าง  แม้ว่าในหลายประเด็นทัศนะของท่านทั้งสองจะสอดคล้องกันก็ตาม แต่ในประวัติศาสตร์ไม่มีการบันทึกว่าบุคคลทั้งสองเคยพบเจอ หรือเคยติดต่อสื่อสารถึงกัน หรือเคยอ่านหนังสือของกันและกัน
อบู มันศูรฺ อัล-มาตุริดีย์ เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 333 ร่างของท่านถูกฝัง ณ เมือง สะมัรก็อนดฺ ท่านมีผลงานทางวิชาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านวิชาฟิกฮฺ (ศาสนบัญญัติ) หรือวิชาตัฟสีรฺอัลกุรอาน(อรรถาธิบายอัลกุรอาน) เช่น หนังสือ ตะอ์วีลาต อะฮฺลิ อัส-สุนนะฮฺ หรือ ตะอ์วีลาต อัลกุรอาน หนังสือเล่มนี้ได้ทำการตะอ์วีล (ตีความ) โองการต่างๆ ในอัลกุรอาน ไม่ว่าจะเป็นโองการที่เกี่ยวข้องกับศิฟาต(คุณลักษณะ) ของอัลลอฮฺ ท่านได้ทำการตะอ์วีลเหมือนกับการตะอ์วีลของพวกอัล-ญะฮฺมิยะฮฺ
หนังสือเกี่ยวกับวิภาษวิทยาของท่านมีชื่อว่า กิตาบ อัต-เตาฮีด ในหนังสือเล่มนี้ท่านได้ยอมรับทฤษฎีของพวกวิภาษวิทยา และได้ชี้แจงทัศนะของท่านเกี่ยวประเด็นปัญหาหลักที่เกี่ยวข้องกับหลักการเชื่อมั่น อัต-เตาฮีด ที่ผู้แต่งหมายถึงคือ เตาฮีด อัล-คอลิกิยะฮฺ , เตาฮีด อัร-รุบูบิยะฮฺ และบางส่วนจากเตาฮีด อัล-อัสมาอ์ วะ อัศ-ศิฟาต แต่ทว่าเป็นหลักการเชื่อมั่นตามแนวทางของอัล-ญะฮฺมิยะฮฺ ที่ปฏิเสธส่วนมากจากคุณลักษณะของอัลลอฮฺด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการให้เกิดความบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺและปฏิเสธการเสมอเหมือนระหว่างคุณลักษณะของอัลลอฮฺกับคุณลักษณะของสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง มีบางคนกล่าวว่าท่านได้แต่งหนังสืออธิบายหลักการเชื่อมั่นของอิมามอบู หะนีฟะฮ ชื่อหนังสือว่า ชัรหฺ กิตาบ อัล-ฟิกฮฺ อัล-อักบัรฺ นอกจากนี้ท่านได้แต่งหนังสือตอบโต้กลุ่มมุอฺตะซิละฮฺ , หนังสือตอบโต้กลุ่มอัร-รอฟิเฎาะฮฺ และหนังสือตอบโต้กลุ่มอัล-เกาะรอมิเฏาะฮฺ

2. ยุคการก่อตั้ง (ฮ.ศ. 333 – 500) เป็นช่วงที่สานุศิษย์ของอัล-มาตุรีดีย์ และผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากท่านเริ่มเผยแพร่แนวคิดนี้ ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่กลุ่มวิภาษวิทยาถือกำเนิดขึ้นในเมืองสะมัรก็อนดฺเป็นครั้งแรก จากนั้นมีการเผยแพร่แนวคิดนี้อย่างแพร่หลาย ตลอดจนถึงการแต่งตำราเพื่อสนับสนุนปกป้องแนวคิดนี้ โดยยึดวิชาฟิกฮฺตามมัซฮับ หะนะฟีย์เป็นหลัก จึงทำให้แนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คนในเมืองนี้และเมืองอื่นๆ ที่ใกล้เคียงอย่างมาก ปราชญ์ที่มีความโดดเด่นในยุคนี้คือ อบู อัล-กอสิม อิสหาก บิน มุหัมมัด บิน อิสมาอีล อัล-หะกีม อัส-สะมัรก็อนดีย์ ฮ.ศ.342 ท่านมีปรัชญาคำสอนมากมาย และอีกท่านหนึ่งคือ อบู มุหัมมัด อับดุลกะรีม บิน มูซา บิน อีซา อัล-บัซดะวีย์ (ฮ.ศ. 390)
จากนั้นเป็นการเริ่มเข้าสู่ยุคต่อไป ซึ่งเป็นยุคต่อเนื่องจากยุคที่ผ่านมา โดยมีปราชญ์ที่โดดเด่นดังนี้


บุคคลสำคัญของแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ
อบู อัล-ยุสรฺ อัล-บัซดะวีย์ ( ฮ.ศ. 421-493) ท่านมีชื่อเต็มว่า มุหัมมัด บิน มุหัมมัด บิน อัล-หุสัยนฺ บิน อับดุลกะรีม  คำว่า อัล-บัซดะวีย์ มาจากคำว่า บัซดะวะฮฺ หรือ บัซดะฮฺ ท่านมีฉายานามว่า อัล-กอฎีย์ อัศ-ศ็อดรฺ ท่านเป็นปราชญ์คนหนึ่งในมัซฮับ หะนะฟีย์ รองจากพี่ชายของท่าน อะลีย์ อัล-บัซดะวีย์ ท่านเกิดเมื่อปี ฮ.ศ. 421
ท่านได้ศึกษาความรู้จากบิดา ซึ่งรับการศึกษามาจากปู่ของท่าน  ซึ่งเป็นศิษย์เอกของท่านอบู  มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ท่านได้ศึกษาตำราปรัชญาต่าง เช่นตำราของอัล-กินดีย์ ศึกษาตำราของมุอฺตะซิละฮฺ เช่น ตำราของอัล-ญุบบาอีย์ , อัล-กะอฺบีย์ และ อัน-นัซซอม เป็นต้น ท่านได้กล่าวถึงตำราเหล่านั้นว่า ไม่อนุญาตให้ถือและอ่านตำราเหล่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงใจ และดูหมิ่นต่อหลักการศรัทธา แต่ท่านก็ไม่เห็นด้วยจะไปกล่าวคนที่ยึดถือตำราเหล่านั้นเป็นสิ่งอุตริกรรม นอกจากนี้ท่านได้ศึกษาตำราของอบู  หะซัน อัล-อัชอะรีย์ อย่างล้ำลึก จนท่านกล่าวว่าอนุญาตให้อ่านตำราของอัล-อัชอะรีย์ได้หลังจากที่ผู้อ่านรู้ว่ามีประเด็นไหนบ้างที่บกพร่อง ท่านยังศึกษาตำราสองเล่มของอบู มันศูรฺ อัล-มะตุรีดีย์ คือ ตำรา อัต-ตะวีลาต และ อัต-เตาฮีด แล้วท่านพบว่าตำรา อัต-เตาฮีดนั้นมีเนื้อหาที่ยาว และการเรียบเรียงค่อนข้างยาก ดังนั้นท่านจึงได้ทำการเรียบเรียงใหม่เพื่อให้ตำรามีความง่ายขึ้น นอกจากนี้ท่านยังเพิ่มเติมประเด็นต่างๆ ไว้อีกด้วยในหนังสือที่ชื่อว่า อุศูลลุดดีน
อบู อัล-ยุสรฺ อัล-บัซดะวีย์ มีลูกศิษย์มากมายที่มาเล่าเรียนหาความรู้จากท่าน เช่น บุตรชายของท่านเอง มีชื่อว่า อัล-กอฎีย์ อบู อัล-มะอานีย์ อะหฺมัด , นัจญ์มุดดีน อุมัรฺ บิน มุหัมมัด อัน-นะสะฟีย์ เจ้าของตำรา อัล-อะกออิด อัล-นะสะฟียะฮฺ และคนอื่นๆ อีกมากมาย อบู อัล-ยุสรฺ เสียชีวิต ณ เมืองบุคอรอ ในวันที่ 9 เดือน เราะญับ ปี ฮ.ศ. 493

3. ยุคแห่งการแต่งตำราและวางรากฐานหลักการเชื่อมั่นของอัล-มาตุรีดียะฮฺ (ฮ.ศ. 500-700) ในยุคนี้มีความโดดเด่นเฉพาะคือมีการแต่งตำราตลอดจนรวบรวมหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับหลักการเชื่อมั่นตามแนวคิดของอัล-มาตุรีดียะฮฺ ด้วยเหตุนี้ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่ยิ่งใหญ่ในหน้าประวัติของอัล-มาตุรีดียะฮฺ เนื่องจากมีการวางรากฐานของแนวคิดหรือหลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดียะฮฺ ในยุคนี้มีบุคคลที่โดดเด่นดังต่อไปนี้
อบู อัล-มะอีน อัน-นะสะฟีย์ (ฮ.ศ. 438-508) ท่านมีชื่อเต็มว่า มัยมูน บิน มุหัมมัด บิน มุอฺตะมัด อัน-นะสะฟีย์ อัล-มักหูลีย์ คำว่า อัน-นะสะฟีย์ มาจากคำว่า นะสัฟ คือชื่อเมืองใหญ่เมืองหนึ่งตั้งอยู่ระหว่าง ญัยหูน และ สะมัรก็อนดฺ สำหรับ อัล-มักหูลีย์ มาจากชื่อปู่ของเขา แต่ส่วนมากจะรู้จักชื่อของท่านด้วยการพ่วงท้ายชื่อเมือง คือ อัน-นะสะฟีย์มากกว่า ท่านมีฉายานามมากมาย เช่น สัยฟุล หักก์ วัดดีน นับว่าท่านเป็นปราชญ์แห่งสำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺที่โดดเด่นท่านหนึ่ง แต่ผู้ที่บันทึกชีวประวัติของท่านไม่ได้กล่าวถึงคณาจารย์ของท่านและการศึกษาหาความรู้ของท่านมากนัก ดร.ฟัตหุลลอฮฺ เคาะลีฟ กล่าวว่า นับว่าท่านอบู อัล-มะอีน อัล-นะสะฟีย์ เป็นผู้ที่รับใช้สำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ เขาอยู่ในแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺเหมือนกับอัล-บากิลลานีย์ และเหมือนอัล-เฆาะซาลีย์ในแนวคิด อัล-อะชาอิเราะฮฺ ส่วนตำราที่สำคัญของท่านคือ ตับศิเราะฮฺ อัล-อะดิลละฮฺ ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงที่สำคัญในการจะรู้จักแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ รองจากหนังสือ อัต-เตาฮีด ของอบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ และยังถือว่าเป็นหนังสืออ้างอิงที่เนื้อหากว้างขวางมากกว่าหนังสือเล่มอื่นๆ นอกจากนี้ท่านได้ย่อหนังสือเล่มนี้ลงในหนังสือของท่านแต่งเอง คือหนังสือ อัต-ตัมฮีด และท่านยังแต่งตำราชื่อว่า บะหฺรุลกะลาม ซึ่งเป็นหนังสือฉบับกระทัดรัดกล่าวถึงประเด็นต่างๆของอิลมุลกะลาม (วิภาษวิทยา) ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 เดือนซุลหิจญะฮฺ  ฮ.ศ. 508 ท่านมีสิริอายุรวม 70 ปี
นัจญ์มุดดีน อุมัรฺ อัน-นะสะฟีย์ (ฮ.ศ. 462-537) ท่านมีชื่อเต็มว่า อบู หัฟศฺ นัจญ์มุดดีน อุมัรฺ บิน มุหัมมัด บิน อะหฺมัด บิน อิสมาอีล อัล-หะนะฟีย์ อัน-นะสะฟีย์ อัส-สะมัรก็อนดีย์ ท่านมีฉายานามมากมาย แต่ที่โดดเด่นคือ นัจญ์มุดดีน ท่านเกิดที่เมือง นะสัฟ ปี ฮ.ศ. 462 ท่านเป็นผู้ที่มีอาจารย์มากมายถึง 500 คน อาทิเช่น อบู อัล-ยุสรฺ อัล-บัซดะวีย์, อับดุลลอฮฺ บิน อะลีย์ บิน อีซา อัน-นะสะฟีย์ เป็นต้น ท่านมีลูกศิษย์ที่มาเล่าเรียนตักตวงความรู้จากท่านมากมายเช่นกัน นอกจากนี้ท่านได้แต่งตำรามากมาย ประมาณ 100 กว่าเล่ม เช่น หนังสือมุญัมมะอฺ อัล-อุลูม, หนังสืออัต-ตัยสีรฺ ฟี ตัฟสีรฺ อัลกุรอาน, หนังสืออัน-นะญาหฺ ฟี ชัรหฺ กิตาบ อัคบาร  อัศ-ศิหาหฺ, หนังสืออัล-อะกออิด ซึ่งรู้จักกันในชื่อ อะกออิด อัน-นะสะฟียะฮฺ ซึ่งนับว่าเป็นหนังสือแม่บทที่สำคัญเกี่ยวของกับหลักการเชื่อมั่นตามแนวทางของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ เป็นหนังสือฉบับย่อจากหนังสือ ตับศิเราะฮฺ อัล-อะดิลละฮฺ ของอบู อัล-มะอีน อัน-นะสะฟีย์
อัส-สัมอานีย์ ได้กล่าวยกย่องท่านว่า “ท่านเป็นผู้นำที่ทรงเกียรติ มีความปราดเปรื่อง ท่านได้แต่งตำรามากมายเกี่ยวกับตัฟสีรฺ และอัล-หะดีษ ...ครั้นเมื่อฉันได้มาเยือนเมืองสะมัรก็อนดฺ ฉันได้ยืมตำรางานเขียนของท่านหลายเล่มและพบว่ามีข้อคลุมเครือมากมายในหนังสือที่ท่านแต่งจนเลยขอบเขต ดังนั้น ฉันจึงรู้ว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบวิชาหะดีษ แต่ท่านไม่ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺให้เข้าใจในวิชานี้”
ท่านเสียชีวิต ณ เมือง สะมัรก็อนดฺ คืนวันพฤหัสบดี วันที่ 12 เดือน ญุมาดัลเอาวัล ฮ.ศ. 537

4. ยุคการเผยแพร่แนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ (ฮ.ศ.700-1300) ยุคนี้นับได้ว่าเป็นยุคที่สำคัญอีกยุคหนึ่งของแนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺ เนื่องจากแนวคิดนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ ทั้งนี้เพราะได้รับแรงหนุนจากบรรดาสุลต่านราชวงค์อุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน) จึงทำให้แนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺขจรขจายไปทั่วแคว้นในอาณาจักรออตโตมาน ทั้งเอเชียตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ประเทศอาหรับ อินเดีย ตุรกี และโรม ในยุคนี้มีบุคคลที่โดดเด่น คือ อัล-กะมาล บิน อัล-ฮัมมาม ผู้แต่งหนังสือ อัล-มุสายะเราะฮฺ ฟี อัล-อะกออิด อัล-มันญุยะฮฺ ฟี อัล-อาคิเราะฮฺ ซึ่งเป็นหนังสือที่ใช้สอนอยู่ในบางมหาวิทยาลัยอิสลามในปัจจุบัน
ในยุคนี้มีการแต่งตำรามากมายเกี่ยวกับวิชาวิภาษวิทยา ไม่ว่าจะเป็นมะตัน(ตัวบท) หรือหนังสืออธิบายตัวบทต่างๆ หนังสือที่มาเพิ่มเติมคำอธิบาย และเล่มที่อธิบายปลีกย่อยอีกมากมาย

ปัจจุบันในชมพูทวีปยังมีหลายสำนักที่ยังคงเผยแพร่แนวคิดของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ เช่นสำนักต่อไปนี้
1. สำนักดิวบันด์ และอัน-นัดวียะฮฺ (ฮ.ศ. 1283) สำนักนี้ให้ความสำคัญกับการแต่งตำราหะดีษ และอธิบายหะดีษ สำนักดิวบันดิยะฮฺ คือผู้นำด้านวิชาการอัลกุรอาน อัล-หะดีษ และเหตุผลทางปัญญา นอกจากนั้นแล้วพวกเขาคือ นิยมแนวคิดศูฟีย์ ในหมู่พวกเขามีอุตริกรรมเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นลัทธิบูชากุบูรฺ (หลุมฝังศพ) ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีการกล่าวถึงในหนังสือของพวกเขาเอง “อัล-มุฮันนัด อะลา อัล-มุฟันนัด” แต่งโดย ชัยคฺ เคาะลีล อะหฺมัด อัส-สะฮารันฟูรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของสำนักนี้ และหนังสือนี้ถือว่าเป็นหนังสืออ้างอิงสำคัญด้านอะกีดะฮฺของสำนักดิวบันดิยะฮฺ และเช่นเดียวกัน สำนักอัน-นัดวิยะฮฺ ก็มีแนวคิดคล้ายคลึงกับดิวบันดิยะฮฺ ซึ่งยึดหลักตามอัล-มาตุรีดิยะฮฺ
3. สำนักอัล-บัรเลวีย์ (ฮ.ศ. 1272) เป็นสำนักที่พาดพิงไปยังผู้นำของพวกเขา ที่ชื่อ อะหฺมัด ริฎอ ข่าน อัล-อัฟฆอนีย์ สังกัดมัซฮับ อัล-หะนะฟีย์ ด้านวิชาฟิกฮฺ และสังกัดอัล-มาตุรีดิยะฮฺด้านหลักศรัทธา เป็นศูฟีย์ ได้รับฉายานามว่า “อับดุลมุศเฏาะฟา-บ่าวของท่านนบี” (ฮ.ศ.1340) ในยุคนี้ปรากฏขึ้นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺอย่างชัดแจ้ง กลุ่มนี้จะต่อต้านแนวคิดของดิวบันดิยะฮฺอย่างมาก และกล่าวหาว่ากลุ่มดิวบันดิยะฮฺและอะฮลุซซุนนะฮฺเป็นพวกปฏิเสธศรัทธา
3. สำนักอัล-เกาษะรีย์ (ฮ.ศ. 1296) เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งโดยชัยคฺมุหัมมัด ซาฮิด อัล-เกาษะรีย์ อัล-ญัรกะสีย์  สังกัดมัซฮับ อัล-หะนะฟีย์ ด้านวิชาฟิกฮฺ และสังกัดอัล-มาตุรีดิยะฮฺด้านหลักศรัทธา (ฮ.ศ. 1371) กลุ่มนี้จะกล่าวเท็จต่อนักปราชญ์มุสลิมหลายท่าน ตลอดจนถึงการสาปแช่งประณามปราชญ์มุสลิมอันทรงเกียรติ กลุ่มนี้ยังกล่าวหาพวกเขาเหล่านั้นว่าเป็นพวกมุญัสสิมะฮฺ และมุชับบิฮะฮฺ พวกเขาถือว่าหนังสือตำราต่างๆ ที่แต่งโดยปราชญ์ชาวสะลัฟ เช่น หนังสือ อัต-เตาฮีด หนังสืออัล-อิบานะฮฺ หนังสืออัช-ชะรีอะฮฺ หนังสืออัศ-ศิฟาต หนังสืออัล-อุลูว์ และหนังสืออื่นๆของชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺนั้นเป็นตำราเจว็ด ที่กล่าวว่าอัลลอฮฺมีรูปร่างเหมือนสิ่งที่ถูกสร้างและมีการเปรียบเทียบอัลลอฮฺกับมัคลูก ในกลุ่มนี้ยังปรากฏชัดการเชิญชวนสู่อุตริกรรม และการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ มีการเทิดทูนบูชาหลุมฝังศพ ภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นการ “ตะวัสสุล-นำเป็นสื่อกลาง” เรื่องเหล่านี้สามารถสังเกตได้จากคำอธิบายและความเห็นของอัล-เกาษะรีย์ที่ได้เขียนแสดงไว้ต่อหนังสือ อัล-อัสมาอ์ วะ อัศ-ศิฟาต ของอัล-บัยฮะกีย์ และในหนังสือ มะกอลาต ที่อัล-เกาษะรีย์แต่งขึ้นมาเอง

แนวความคิดและหลักการเชื่อมั่นที่สำคัญของอัล-มาตุรีดียะฮฺ
ที่มาของความรู้ศาสนาตามแนวคิดอัล-มาตุรีดิยะฮฺ แบ่งออกเป็นสองแหล่ง ดังต่อไปนี้
1. อัล-อิลาฮียาต (หลักฐานทางปัญญา) คือ การที่ปัญญามีความเชื่อโดยเอกเทศ ส่วนหลักฐานต่างๆ นั้นตามมาภายหลัง ซึ่งรวมถึง ประเด็นต่างๆ ของอัต-เตาฮีดและคุณลักษณะของอัลลอฮฺ
2. อัช-ชัรอียาต (หลักฐานทางตัวบท) คือ สิ่งที่ปัญญาจำเป็นต้องเชื่อตามไม่ว่าในทางยืนยันหรือปฏิเสธ ซึ่งปัญญาไม่สามารถเข้าถึงเรื่องเหล่านี้เองได้ เช่น อัน-นุบุวาต(การเป็นนบี-ศาสนทูต), การลงโทษในหลุมฝังศพ, และเรื่องราวในวันอาคิเราะฮฺ บางคนนั้นยังถือว่าเรื่อง อัน-นุบุวาต ก็เป็นเรื่องอักลิยาต (ปัญญา) ด้วยเช่นกัน
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าประการเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ซึ่งยึดถือว่า อัลกุรอาน สุนนะฮฺ และคำพูดของเศาะหาบะฮฺ คือแหล่งที่มาหลักของศาสนา
นอกจากนี้อุตริกรรมอีกประการของอัล-มาตุรีดิยะฮฺก็คือการจำแนกอุศูลุดดีน(หลักศาสนา) เป็น 2 ประเภท คือ อักลิยาตและสัมอิยาต ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักปรัชญา ที่เชื่อว่า หลักฐานของศาสนาขัดแย้งกับปัญญาของมนุษย์ ดังนั้น พวกเขาจึงพยามยามจะผสานระหว่างปัญญากับหลักฐานของศาสนา ถึงขั้นใช้ปัญญาในทางที่ไม่ควรที่จะหาคำตอบด้วยปัญญา จึงทำให้ได้กฎต่างๆ ที่โมฆะขัดแย้งกับบทบัญญัติของศาสนา จนบางครั้งพวกเขาต้องหันไปใช้วิธีการตะอ์วีล (ตีความให้ผิดแผกจากความหมายเดิม) บางครั้งใช้วิธีการตัฟวีฎ (ไม่แสดงความเห็นในเรื่องความหมาย) ในขณะที่อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ เชื่อว่า ไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างปัญญาที่สมบูรณ์กับหลักฐานที่เศาะฮีหฺ (ถูกต้อง)
จากการจำแนกหลักศาสนาข้างต้น จะเห็นว่าจุดยืนของพวกเขาต่อตัวบทหลักฐานศาสนาในประเด็นอัล-อิลาฮิยาต หรือ อัล-อักลิยาต มีดังนี้
 - หากเป็นหลักฐานจากอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺที่มุตะวาติรฺ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เด็ดขาดแน่นอนและจำเป็นต้องรับรู้อย่างมั่นใจ (ก็อฏอีย์) ตามทัศนะของพวกเขา กล่าวคือ ปัญญาสามารถรับรู้ได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งกับปัญญาของพวกเขาแต่อย่างใด ดังนั้นพวกเขาจึงนำหลักฐานนี้มายืนยันในหลักการเชื่อมั่นของพวกเขา หากหลักฐานนั้นเป็นหลักฐานที่เป็นเรื่องที่รับรู้อย่างซ็อนนีย์ (สงสัย) ซึ่งหมายถึง หลักฐานนั้นขัดแย้งกับปัญญาของพวกเขา ก็จะมีการตีความหลักฐานนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลทางปัญญา หรือพวกเขาจะตัฟวีฎ (มอบหมาย) ความหมายเหล่านั้นว่าอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงรู้ถึงความหมายที่แท้จริง พวกเขามีความสับสนอย่างมากในประเด็นนี้ และไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนสำหรับพวกเขา บางคนให้ความสำคัญกับการตีความมากกว่าการมอบหมายความหมายแด่อัลลอฮฺ ในขณะที่บางคนให้ความสำคัญกับการมอบหมายความหมายมากกว่าการตีความ และบางคนถือว่าใช้ได้ทั้งสองกรณี นอกจากนี้บางคนเห็นว่าการตีความนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะกับบรรดาผู้รู้หรือปราชญ์เท่านั้น ส่วนการตัฟวีฎ-มอบหมายความหมายจะเหมาะสมกับผู้คนทั่วไป
จะสังเกตเห็นว่า การตะอ์วีล (ตีความตัวบทให้มีความหมายเป็นอย่างอื่น) นั้นไม่เคยปรากฏในยุคของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หรือในยุคแรกเริ่มของอิสลาม แท้จริงการตะอ์วีล เป็นอุตริกรรมที่จากพวกยิวและคริสเตียน ที่เข้ามาครอบงำความคิดของพวกญะฮฺมียะฮฺ และมุอฺตะซิละฮฺ การตะอ์วีลนั้นส่งผลให้เกิดอุตริกรรมต่างๆ นานาในอิสลามจนถึงขั้นทำให้ประชาชาติอิสลามแตกแยกเป็นกลุ่มต่างๆ  ดังนั้น การตะอ์วีลถือว่าอันตรายยิ่งกว่าการตะอฺฏีล (ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺ) เพราะการตะอ์วีลนั้นจะส่งผลให้เกิดการตัชบีฮฺ (เปรียบเทียบคุณลักษณะของอัลลอฮฺกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง) การตะอฺฏีล และการกล่าวหาว่าท่านเราะสูลนั้นเป็นผู้ไม่มีความรู้ หรือปกปิดความรู้ที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมา
ทัศนะตัฟวีฎนั้นถือว่าเป็นทัศนะที่เลวร้ายที่สุดของพวกอุตริในศาสนา เนื่องจากการตัฟวีฎนั้นขัดแย้งกับหลักฐานที่เกี่ยวกับการใคร่ครวญในความหมายของอัลกุรอาน และเป็นทัศนะที่พยายามยัดเยียดว่าบรรดานบีหรือศาสนทูตเป็นผู้ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับอัลลอฮฺเลย
ส่วนหะดีษประเภทอาหาด (หะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนน้อยไม่ถึงขั้นมุตะวาติรฺ) พวกเขาถือว่า หะดีษนั้นให้ประโยชน์เฉพาะเฉพาะการรับรู้อย่างซ็อนนีย์ (สงสัยว่าเป็นหะดีษที่พาดพิงถึงท่านนบีหรือไม่) ไม่ได้ให้ประโยชน์เป็นความรู้ที่แน่นอนชัดเจน (ก็อฏอีย์) แต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่สามารถนำหะดีษประเภทนี้มาใช้ปฏิบัติได้ในศาสนบัญญัติตามหลักวิชาอูศูลุลฟิกฮฺ หรือหลักศาสนบัญญัติที่พวกเขาได้วางเกณฑ์ไว้ ส่วนในเรื่องหลักศรัทธาพวกเขาจะไม่นำหะดีษประเภทอาหาดมาอ้างอิงเด็ดขาด ถึงแม้ว่าจะมีเงื่อนไขครบถ้วนตามหลักวิชาฟิกฮฺแล้วก็ตาม ส่วนเมื่อหะดีษอาหาดไปขัดแย้งกับปัญญาของพวกเขา และไม่สามารถที่จะตีความความหมายของหะดีษนั้นเป็นอย่างอื่น พวกเขาจะตำหนิที่ผู้รายงานหะดีษว่าเป็นผู้หลงลืม หรือสับสน ทั้งๆ ที่ความหมายผิวเผินไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาประสงค์ นี่คือจุดยืนของพวกอัล-มาตุรีดียะฮฺทั้งในยุคก่อนและในยุคปัจจุบัน จนถึงขั้นที่ว่าอัล-เกาษะรีย์และพรรคพวกของเขาในสำนักอัด-ดิวบันดิยะฮฺ ตำหนิใส่ไคล้ตำราหะดีษของปวงปราชญ์หะดีษ รวมถึงตำราหะดีษของอัล-บุคอรีย์และมุสลิม ตลอดจนตำหนิหลักการเชื่อมั่นของผู้นำชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ เช่น ท่านหัมมาด บิน สะละมะฮฺ ผู้รายงานหะดีษต่างๆ เกี่ยวกับคุณลักษณะของอัลลอฮฺ  ท่านอิมามอัด-ดาริมีย์ เจ้าของตำราอัส-สุนัน ทั้งมวลนั้นเป็นทัศนะของพวกอุตริในศาสนา ซึ่งคิดขึ้นโดยพวกเกาะดะริยะฮฺ และมุอฺตะซิละฮฺ เนื่องจากหะดีษต่างๆ ได้ชี้ชัดว่าพวกเขานั้นมีจุดยืนขัดแย้งกับการกระทำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม โดยสิ้นเชิง เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยส่งเศาะหาบะฮฺตัวคนเดียวเป็นทูตเพื่อไปเชิญชวนสู่อิสลาม ณ ต่างแดน อีกทั้งการแบ่งหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ออกเป็นหะดีษมุตะวาติรฺและหะดีษอาหาดนั้นไม่เป็นที่รู้จักในยุคของเศาะหาบะฮฺและอัต-ตาบิอีนแต่ประการใด
- แนวคิดของพวกเขา ส่งผลให้มีกฎเกณฑ์ขึ้นมาว่าจำเป็นต้องรู้จักอัลลอฮฺด้วยปัญญาก่อนที่จะรู้จักอัลลอฮฺด้วยการรับฟังหลักฐานจากตัวบท พวกเขาถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอันดับแรกสำหรับผู้ที่บรรลุศาสนภาวะ และอัลลอฮฺทรงไม่ละเว้นการลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักพระองค์ แม้ว่าเขาผู้นั้นจะอยู่ในยุคช่วงที่ไม่มีนบีหรือเราะสูล ทัศนะนี้สอดคล้องกับทัศนะของพวกมุอฺตะซิละฮฺ ซึ่งเป็นทัศนะที่โมฆะอย่างชัดเจน เนื่องจากขัดแย้งกับตัวบทหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺที่อธิบายว่าการรู้จักอัลลอฮฺนั้นจำเป็นด้วยปัญญาและตำหนิผู้ที่ไม่ยอมรู้จักอัลลอฮฺ แต่ว่าการลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ศรัทธานั้นจะไม่ลงโทษนอกจากจะมีศาสนามาถึงตัวเขาเสียก่อน ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَمَا كُنَّا مُعَذِّبِينَ حَتَّىٰ نَبۡعَثَ رَسُولٗا ١٥ ﴾ [الإسراء: ١٥]
ความว่า “ และเรามิเคยลงโทษผู้ใด จนกว่าเราจะแต่งตั้งศาสนทูตมา” (อัล-อิสรออ์ : 15 )

ที่ถูกต้องจริงๆ ก็คือ สิ่งแรกที่จำเป็นสำหรับผู้ที่บรรลุศาสนภาวะต้องปฏิบัติและถือว่าด้วยประการนี้แหละที่ทำให้เขาผู้นั้นเป็นมุสลิมได้ ก็คือการกล่าวปฏิญานว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺและมุหัมมัดนั้นคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ ตลอดจนถึงการประกาศตัดขาดจากทุกศาสนาที่ขัดกับศาสนาอิสลาม เรื่องนี้ดังที่ท่านเราะสูลเคยส่งท่านมุอาซฺ บิน ญะบัล ไปยังประเทศยะมัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มิได้สั่งให้มุอาซฺ กระทำสิ่งใดนอกจากเชิญชวนในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น เช่นเดียวกับบรรดานบีคนก่อนๆ พวกเขามิได้เชิญชวนประชาชาติของพวกเขาสู่อื่นใดนอกจากด้วยคำกล่าวที่ว่า
﴿ٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ مَا لَكُم مِّنۡ إِلَٰهٍ غَيۡرُهُۥٓ ﴾ [الأعراف: ٥٩]
ความว่า “จงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด ไม่มีพระเจ้าผู้คู่ควรแก่การเคารพสักการะใดๆ สำหรับพวกท่านอีกแล้วอื่นจากพระองค์” (อัล-อะอฺรอฟ :59)

สำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ มีทัศนะว่า ปัญญาของคนนั้นสามารถกำหนดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีและสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่พวกเขามีความขัดแย้งในประเด็นกฎของอัลลอฮฺต่อปัญญาที่สามารถจำแนกระหว่างสิ่งที่ดีและสิ่งที่เลว โดยพวกเขาบางคนกล่าวว่า แท้จริงบ่าวจะถูกลงโทษตามการกระทำที่เลวทรามของเขาแม้ว่าไม่มีสาส์นหรือคำสอนของศาสนทูตมายังเขาก็ตาม ในที่ขณะที่บ้างคนมีความเห็นตรงข้ามกับทัศนะข้างต้น
สำนักคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺมีทัศนะเช่นเดียวกับพวกวิภาษวิทยานิยมกลุ่มอื่นๆ คือ พวกเขาเชื่อว่า คำมะญาซฺ (คำอ้อม) นั้นมีอยู่จริงในภาษาอาหรับ ทั้งในอัลกุรอานและอัล-หะดีษ มะญาซฺ(คำอ้อม) ในที่นี้พวกเขาหมายถึง คำที่มีความหมายเป็นอย่างอื่นจากความหมายที่ถูกวางไว้หรือความหมายเดิม ในทัศนะของพวกเขาแล้วมะญาซฺนั้นเป็นประเภทเดียวกันกับคำพูดที่เป็นความจริง ดังนั้น พวกเขาจึงยึดถือมะญาซฺในการตีความหลักฐานต่างๆ ของศาสนาโดยอ้างว่าการตะอ์วีลนั้นสามารถป้องกันไม่ให้เข้าใจว่าอัลลอฮฺนั้นมีรูปร่างร่างกาย หรือเปรียบเทียบอัลลอฮฺกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง นี่เป็นทัศนะที่เข้าข่ายอุตริ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในด้านภาษาและศาสนบัญญัติ บรรดาปราชญ์ด้านภาษาอาหรับยุคก่อน เช่น อัล-เคาะลีล บิน อะหฺมัด หรือ สีบาวัยฮฺ ไม่เคยกล่าวเช่นนั้นเลย ซึ่งไม่นับรวมความเห็นของนักปราชญ์วิชาฟิกฮฺ หรืออุศูลุลฟิกฮฺ ต่างเห็นต่างกับแนวคิดเรื่องมะญาซฺ(ในความหมายที่พวกมาตุรีดียะฮฺหมายถึง)
- ความหมายของอัต-เตาฮีด ตามทัศนะของอัล-มาตุรีดียะฮฺ คือ การยืนยันว่าอัลลอฮฺทรงเอกะใน ซาต(อาตมัน)ของพระองค์เอง ไม่มีสาขา หรือส่วนย่อยออกมาจากพระองค์ พระองค์ทรงเอกะในคุณลักษณะโดยไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน เอกะในการกระทำของพระองค์ ไม่มีผู้ใดมีภาคีในการสร้าง สรรพสิ่งต่างๆ ดังนั้นกลุ่มอัล-มาตุรีดียะฮฺพยายามอย่างสุดกำลังเพื่อยืนยันอัต-เตาฮีดประเภทนี้ ด้วยทัศนะที่ว่า อัลลอฮฺนั้น คือ ผู้ทรงอานุภาพในการสร้าง โดยนำหลักฐานต่างๆ มาอ้างอิงไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางปัญญา ตรรกะวิทยาที่มาจากพวกมุอฺตะซิละฮฺและญะฮฺมิยะฮฺ เช่น เหตุผลการเกิดขึ้นของวัตถุและสสาร อันเป็นหลักฐานที่ปราชญ์ชาวสะลัฟวิพากษ์ และได้ชี้แจงโต้ตอบพวกเขาว่า หลักฐานการมีอยู่ของอัลลอฮฺจากอัลกุรอานนั้นชัดเจนและถูกต้องกว่า ในประเด็นนี้อบู อัล-หะสัน อัล-อัชอะรีย์ได้ชี้แจงในหนังสือของท่าน “ริสาละฮฺ อิลา อะฮฺลิ อัษ-ษะฆ็อรฺ” อิบนุ รุชดฺในหนังสือ “มะนาฮิจญ์ อัล-อะดิลละฮฺ” และชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ ในหนังสือ “ดัรอุ ตะอารุฎ อัล-อักลฺ วันนักลฺ” และอีกประเด็นหนึ่งที่อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีทัศนะขัดแย้งกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ คือ พวกเขาได้จัดประเภทอัต-เตาฮีด อัร-รุบูบิยะฮฺ อยู่ในประเภทเดียวกับอัต-เตาฮีด อัล-อุลูฮิยะฮฺ ดังนั้น คำว่า อิลาฮฺ (พระผู้เป็นเจ้า) ตามทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ คือ พระผู้ทรงควรเคารพสักการะเพียงองค์เดียวเท่านั้นไม่มีการตั้งภาคีใดๆ กับพระองค์ และการที่พระองค์ส่งศาสนทูตมายังมนุษยชาตินั้นก็เพื่อยืนยันในความเป็นพระเจ้าของพระองค์ และเชิญชวนมวลมนุษยชาติสู่การให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺทั้งในด้านอัร-รุบูบิยะฮฺ ด้านอัล-อุลูฮิยะฮฺ และด้านพระนาม/คุณลักษณะของพระองค์
อัล-มาตุรีดิยะฮฺยืนยันว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้นทรงมีพระนามอันวิจิตร พวกเขากล่าวว่า ไม่มีการเรียกพระนามของอัลลอฮฺนอกจากพระนามที่พระองค์ทรงเรียกขานพระองค์เองในอัลกุรอานหรือสุนนะฮฺ เท่านั้น ซึ่งในประเด็นนี้อัล-มาตุรีดียะฮฺมีความเห็นพ้องกับทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาได้ตั้งพระนามแด่อัลลอฮฺขึ้นมาเอง เช่น อัศ-ศอนิอฺ  อัล-เกาะดีม และอัซ-ซาต เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขามิได้จำแนกระหว่างการบอกเล่าเกี่ยวกับอัลลอฮฺกับการตั้งพระนามให้แด่พระองค์
อัล-มาตุรีดียะฮฺยืนยันคุณลักษณะของอัลลอฮฺเพียง 8 คุณลักษณะเท่านั้น คือ อัล-หะยาฮฺ(ทรงมีชีวิต), อัล-กุดเราะฮฺ (ทรงเดชานุภาพ), อัล-อิลมฺ (ทรงรอบรู้), อัล-อิรอดะฮฺ (ทรงเจตนา), อัส-สัมอฺ (ทรงได้ยิน), อัล-บะศ็อรฺ(ทรงมองเห็น) , อัล-กะลาม (ทรงพูด), อัต-ตักวีน (ทรงสร้าง)  และการกระทำของพระองค์ทุกอย่างนั้นอยู่ในประเภทคุณลักษณะอัต-ตักวีน ส่วนคุณลักษณะอื่นๆ ที่ระบุในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ นั้นคือ ศิฟาต เคาะบะริยะฮฺ (คุณลักษณะของอัลลอฮฺที่ไม่สามารถรู้ได้เองด้วยสติปัญญา แต่รู้ได้ด้วยบทบัญญัติ) และศิฟาต ซาติยะฮฺ(คุณลักษณะที่ผูกพันกับอาตมัน) หรือ ศิฟาต ฟิอฺลิยะฮฺ(คุณลักษณะที่ผูกพันกับการกระทำ)นั้นไม่อยู่ในกรอบของปัญญาที่จะรับรู้ได้ ดังนั้น พวกเขาจึงปฏิเสธคุณลักษณะดังกล่าว ส่วนอะฮฺลุซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ยึดถือในประเด็นของพระนามของอัลลอฮฺ เฉกเช่นเดียวกับการยึดถือในประเด็นของคุณลักษณะของพระองค์ ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองประการนี้มาจากอัลลอฮฺและเราะสูล จำเป็นต้องเชื่อมั่นและยืนยันตาม โดยไม่มีการเปรียบเทียบกับสรรพสิ่งที่ถูกสร้าง อีกทั้งไม่มีการปฏิเสธพระนามหรือคุณลักษณะใดๆ ของพระองค์ พร้อมกับมอบหมายในเรื่องกัยฟียะฮฺ (ลักษณะเป็นอย่างไร) และยืนยันความหมายที่เหมาะสมกับฐานะของพระองค์ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า  
﴿لَيۡسَ كَمِثۡلِهِۦ شَيۡءٞۖ وَهُوَ ٱلسَّمِيعُ ٱلۡبَصِيرُ ١١ ﴾ [الشورى: ١١]
ความว่า “ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ และพระองค์คือ ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น” (อัช-ชูรอ : 11)

อัล-มาตุรีดียะฮฺ กล่าวว่า อัลกุรอานนั้นไม่ใช่ถ้อยคำของอัลลอฮฺอย่างแท้จริง แต่เป็นกะลาม นัฟสีย์ (ถ้อยคำที่ไม่มีเสียง) ซึ่งไม่สามารถได้ยิน ส่วนที่เสียงเราได้ยินนั้นเป็นแค่สัญลักษณ์ ดังนั้น คัมภีร์อัลกุรอานนั้นถือเป็นมัคลูก (สรรพสิ่งที่ถูกสร้าง) ซึ่งเป็นทัศนะของพวกอุตริกรรมในศาสนาโดยปราศจากหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺมายืนยัน อีกทั้งไม่มีคำกล่าวของกัลยาณชนรุ่นแรกมาสนับสนุน คนแรกที่กล่าวเช่นนี้ คือ อิบนุ กุ๊ลลาบ แท้จริงแล้วอัลลอฮฺ ตะอาลานั้นสามารถตรัสเมื่อใดก็ได้ หรือตรัสสิ่งใดก็ได้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ดังที่พระองค์ทรงพูดกับนบีมูซา อะลัยฮิสะลาม หรือ ทรงพูดกับบ่าวของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ ดังนั้น อัลกุรอานคือพจนารถของอัลลอฮฺ อย่างแท้จริงไม่ใช่สรรพสิ่งที่ถูกสร้างแต่อย่างใด เช่นเดียวกับคัมภีร์ อัต-เตารอฮฺ คัมภีร์ อัล-อินญีล และคัมภีร์ อัซ-ซะบูรฺ นี่คือหลักการเชื่อมั่นของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ จากกัลยานชนรุ่นแรกของประชาติอิสลามและผู้เจริญรอยตาม
อัล-มาตุรีดิยะฮฺ กล่าวว่า อีมาน (การศรัทธา) คือ การเชื่อมั่นด้วยจิตใจเท่านั้น บางคนได้เพิ่มว่า การยอมรับด้วยวาจา พวกเขาเชื่อว่าอีมานนั้นไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง และห้ามการอิสติษนาอ์ในการปฏิญาณเรื่องอีมาน (คือการตั้งเงื่อนไขในการศรัทธาโดยกล่าวว่า “ฉันเป็นผู้ศรัทธา อินชาอัลลอฮฺ”) พวกเขาถือว่าอิสลามและอีมานคือสิ่งเดียวกัน ไม่มีข้อแตกต่างระหว่างทั้งสองสิ่งนี้ ซึ่งทัศนะนี้สอดคล้องกับแนวคิดของพวกมุรญิอะฮฺ แต่ขัดแย้งกับจุดยืนของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ที่ยึดถือว่า อีมาน คือ การศรัทธาด้วยจิตใจ การยอมรับด้วยวาจาและการปฏิบัติด้วยกาย อีมานนั้นมีการเพิ่มขึ้นด้วยการภักดีต่ออัลลอฮฺและมีการลดลงเมื่อมีการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ และอนุญาตให้กล่าวคำอิสติษนาอ์ ในการศรัทธา(ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้มีการรับรองตนเอง) และเชื่อว่า อีมานและอิสลามเป็นสิ่งคู่กัน  เมื่อกล่าวถึงอีมานและอิสลามในที่เดียวกันจะมีความหมายที่ต่างกัน แต่เมื่อกล่าวถึงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะหมายถึงทั้งสองอย่าง
อัล-มาตุรีดิยะฮฺ มีทัศนะเห็นพ้องกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ในเรื่องศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ เช่น เรื่อง เหตุการณ์ในโลกแห่งบัรฺซัค (สุสาน) สถานการณ์ในวันกิยามะฮฺ การชุมนุม ณ ทุ่งมะห์ชัรฺ การฟื้นคืนชีพ ตราชูชั่งความดีความชั่ว สะพานอัศ-ศิรอฏ การชะฟาอะฮฺ (ไถ่ถอนโทษ) สวรรค์ และนรก เนื่องจากพวกเขาถือว่าหลักฐานของศาสนานั้นมาจากการฟัง และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ที่จะเกิดขึ้นจริงตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกกล่าวไว้ อีกทั้งยังมีหลักฐานยืนยันจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ
อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีทัศนะว่าบ่าวสามารถมองเห็นพระผู้เป็นเจ้าในโลกอาคิเราะฮฺ แต่ทว่าพวกเขาปฏิเสธทิศทางและการเผชิญหน้า ซึ่งทัศนะนี้มีความขัดแย้งกันเอง เนื่องจากพวกเขายืนยันศรัทธาในสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งเป็นทัศนะที่ขัดแย้งกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ
อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีความเห็นพ้องกับทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ ในประเด็นเศาะหาบะฮฺ กับลำดับการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ และเชื่อว่าข้อพิพาทระหว่างเศาะหาบะฮฺด้วยกันนั้นถือว่าเป็นการวินิจฉัยของแต่ละคน ดังนั้นจำเป็นต้องหยุดการกล่าวหาละเมิดจาบจ้วงบรรดาเศาหาบะฮฺ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการปฏิเสธศรัทธา หรืออุตริกรรมหรือเป็นพฤติกรรมที่ชั่วช้า อัล-มาตุรีดิยะฮฺมีทัศนะว่า ตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺนั้นเหมาะควรเฉพาะชนตระกูลกุร็อยชฺเท่านั้น และอนุญาตให้ละหมาดตามหลังมุสลิมทุกคนไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นคนดีหรือคนเลว และไม่อนุญาตให้ทรยศหรือเป็นกบฏต่อผู้นำที่มีพฤติกรรมชั่ว
อัล-มาตุรีดียะฮฺมีทัศนะพ้องกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ในประเด็นเรื่องอัล-เกาะดัรฺ อัล-กุดเราะฮฺ และอัล-อิสติฏออะฮฺ โดยเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ล้วนแล้วมาจากประสงค์ของอัลลอฮฺ และการกระทำของมนุษย์ทั้งที่ดีและชั่วนั้นคือสิ่งที่อัลลอฮฺได้สร้างมา แต่มนุษย์นั้นมีสิทธิเลือกที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยจะได้รับผลตอบแทนที่ดีและชั่วในสิ่งที่ตนได้กระทำ และบ่าวนั้นมีสิทธิเลือกปฏิบัติในคำสอนของศาสนาโดยไม่มีการบังคับให้กระทำแต่อย่างใด
อัล-มาตุรีดิยะฮฺ เห็นว่าไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีความสามารถปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาบัญญัติ ซึ่งเป็นทัศนะที่พ้องกับแนวคิดมุอฺตะซิละฮฺ ส่วนอะฮลุซซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ เห็นว่า ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับความประเสริฐ ไม่ควรไปกำหนดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งอนุญาตหรือต้องห้าม


รากเหง้าแนวคิดและหลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ
จากการศึกษาข้างต้นผู้วิจัยพบว่า หลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดิยะฮฺนั้นมีการปะปนระหว่างสัจธรรมกับความเท็จ ในส่วนของสัจธรรมนั้นพวกเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอะฮฺลุสสุนนะฮฺ ที่สังกัดมัซฮับ หะนะฟีย์รุ่นแรก เพราะผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่ามัซฮับ หะนะฟีย์ หลังจากที่อิมาม อบู หะนีฟะฮฺ เสียชีวิตนั้นมีการแตกแยกทางความคิดออกเป็นหลายสำนัก ซึ่งไม่มีผู้ใดยืนหยัดตามแนวทางที่อิมามอบู หะนีฟะฮฺและสหายของท่านทั้งสองได้วางไว้นอกจากบางคนที่อัลลอฮฺได้ประทานทางนำเท่านั้น และส่วนใหญ่แล้วผู้สังกัดมัซฮับหะนะฟีย์จะฝักใฝ่แนวคิดของกลุ่มอุตริกรรม เช่น กลุ่มญะฮฺมิยะฮฺ และ มุอฺตะซิละฮฺ
และเนื่องจากประวัติศาสตร์มิได้กล่าวถึงรายละเอียดของการศึกษาหาความรู้ของอบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ว่าศึกษาหาความรู้จากปราชญ์ท่านใดบ้าง ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์รากเหง้าแนวคิดของท่านดังนี้
- อบูมันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ได้รับอิทธิพลทางความคิดโดยตรง หรือทางอ้อมผ่านคณาจารย์ของท่านที่ฝักใฝ่แนวคิด ญะฮฺมิยะฮฺ ในประเด็นอัล-อิรญาอ์ (การตั้งความหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ) และการตะอฺฏีล (ปฏิเสธพระนามหรือคุณลักษณะของอัลลอฮฺ) เช่นเดียวกันนั้น ท่านได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพวกมุอฺตะซิละฮฺและนักปรัชญากรีก ในประเด็นการปฏิเสธบางคุณลักษณะของอัลลอฮฺและการตีความคุณลักษณะของอัลลอฮฺให้มีความหมายเป็นอย่างอื่น ตลอดจนถึงการปฏิเสธคุณลักษณะอัล-อุลูว์ (การทรงเหนือบัลลังค์) และศิฟาต อัล-เคาะบะริยะฮฺ ซึ่งพวกเขาเข้าใจผิดว่านั้นคือหลักการเชื่อมันของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ
- อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอิบนุ กุ๊ลลาบ ( ฮ.ศ. 240) ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้อุตริทัศนะที่ว่าพจนารถของอัลลอฮฺนั้นเป็นกะลาม นัฟสีย์ (ถ้อยคำที่ปราศจากเสียง) อัล-มาตุรีดีย์ได้รับอิทธิพลจากทัศนะนี้ทั้งที่ตนเองกับอิบนุ กุ๊ลลาบไม่มีโอกาสได้พบเจอกันมาก่อน เนื่องจากอิบนุ กุ๊ลลาบเสียชีวิตก่อนที่อัล-มาตุรีดีย์จะถือกำเนิดเสียอีก  ชัยคุลอิสลาม อิบุตัยมิยะฮฺ ได้ยืนยันว่า อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ได้มีทัศนะตามอิบนุก๊ลลาบในหลายประเด็นด้วยกัน เช่น ประเด็นคุณลักษณะของอัลลอฮฺ ประเด็นเกี่ยวกับอัลกุรอาน ว่าอัลลอฮฺนั้นตรัสด้วยพระประสงค์และเดชานุภาพของพระองค์เองหรือไม่ และประเด็นเกี่ยวกับ อัล-อิสติษนาอ์ (ตั้งข้อยกเว้นหรือเงื่อนไข)ในการศรัทธา (มัจญ์มูอฺ อัล-ฟะตาวา 7/433 , มินหาจญ์ อัส-สุนนะฮฺ 2/362)

การแพร่กระจายและแหล่งของแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺ
แนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺได้แพร่กระจายไปยังหลายประเทศ โดยเฉพาะในชมพูทวีปและประเทศใกล้เคียงอย่าง จีน บังคลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถานนั้นมีผู้ยึดถือตามแนวคิดนี้อย่างมากมาย เช่นเดียวกับ ประเทศตุรกี เปอร์เซีย บางประเทศในยุโรป เอเชียกลาง และประเทศแถบแอฟริกาตอนเหนือก็มีผู้ฝักใฝ่แนวคิดนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการแพร่กระจายของอิทธิพลมัซฮับ หะนะฟีย์ นับว่าแนวคิดอัล-มาตุรีดียะฮฺยังคงได้รับกระแสความนิยมในแถบประเทศเหล่านี้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. บรรดาปราชญ์ของสำนักคิดนี้ได้รับการสนับสนุนและการอุปถัมภ์จากบรรดากษัตริย์และผู้ปกครองรัฐ โดยเฉพาะบรรดาสุลต่านแห่งราชวงศ์อุษมานิยะฮฺ (ออตโตมาน)
2. โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาของอัล-มาตุรีดียะฮฺมีบทบาทสำคัญมากในการเผยแพร่แนวคิดนี้ โดยเฉพาะโรงเรียนดิวบันดิยะฮฺในประเทศอินเดีย ปากีสถาน และประเทศอื่นๆ ซึ่งในโรงเรียนเหล่านี้ยังมีการเรียนการสอนตำรับตำราเกี่ยวกับหลักการศรัทธาของอัล-มาตุรีดิยะฮฺ ว่าอัล-มาตุรีดิยะฮฺคือแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ
3. มีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังโดยเฉพาะในด้านการแต่งตำราเกี่ยวกับอิลมุลกะลาม (วิชาวิภาษวิทยา) และหนังสือตอบโต้กลุ่มแนวคิดเบี่ยงเบนอย่างแนวคิดของญะฮฺมิยะฮฺ แนวคิดมุอฺตะซิละฮฺ และแนวคิดรอฟีเฎาะฮฺ (ชีอะฮฺ)
4. การพาดพิงถึงอิมามอบู หะนีฟะฮฺและการสังกัดกับมัซฮับ หะนะฟีย์ในด้านวิชาฟิกฮฺ



บทสรุป
อัล-มาตุรีดียะฮฺ เป็นกลุ่มวิภาษวิทยานิยมกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้น ณ เมืองสะมัรก็อนดฺ ในฮิจญ์เราะฮฺศตวรรษที่ 4 กลุ่มนี้พาดพิงไปยังบุคคลหนึ่งที่มีนามว่า อบู มันศูรฺ อัล-มาตุรีดีย์ ว่าเป็นผู้ก่อตั้งแนวคิดนี้ กลุ่มแนวคิดนี้จะใช้หลักฐานและเหตุผลทางปัญญา ตรรกวิทยา ในการโต้แย้งกับคู่กรณีอย่างพวกมุอฺตะซิละฮฺ พวกญะฮฺมิยะฮฺ และพวกบาฏินียะฮฺ เป็นต้น เดิมนั้นกลุ่มแนวคิดนี้พยามยามที่จะแสวงหาทางสายกลางระหว่างแนวคิดของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ กับแนวคิด มุอฺตะซิละฮฺ ญะฮฺมิยะฮฺ และ พวกวิภาษวิทยานิยม แต่ในที่สุดแนวคิดนี้ได้ให้ความสำคัญต่อเหตุผลทางปัญญามากกว่าหลักฐานจากศาสนบัญญัติ (อัลกุรอานและสุนนะฮฺ) จึงทำให้มีทัศนะที่แบ่งหลักการศาสนาออกเป็น หลักการอักลิยาต และหลักการสัมอิยาต จากการแบ่งประเภทหลักการศาสนาดังกล่าวทำให้เกิดการตีความและการตัฟวีฎขึ้นมา พวกเขามีทัศนะว่าในอัลกุรอานและหะดีษนั้นมีมะญาซฺ (คำที่มีความหมายเป็นอย่างอื่นจากความหมายโดยผิวเผิน)  มีทัศนะไม่รับหลักฐานที่เป็นหะดีษอาหาด (หะดีษที่มีสายรายงานจำนวนน้อยไม่ถึงขั้นมุตะวาติรฺ) พวกเขามีทัศนะว่าคัมภีร์ของอัลลอฮฺซึ่งหมายรวมถึงอัลกุรอานด้วยนั้นเป็นมัคลูก (สิ่งที่ถูกสร้าง) และอัลกุรอานนั้นเป็นพจนารถของอัลลอฮฺที่ดำรงด้วยตนเอง ซึ่งเป็นทัศนะที่ใกล้เคียงกับแนวคิดของมุอฺตะซิละฮฺ และญะฮฺมิยะฮฺ ส่วนประเด็นเกี่ยวกับอีมาน (การศรัทธา) นั้นพวกเขามีทัศนะเหมือนกับพวกมุรฺญิอะฮฺ พวกเขาทัศนะที่เหมือนกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ ในประเด็นเกี่ยวกับ อัล-เกาะดัรฺ เรื่องราวของวันอาคิเราะฮฺ เหตุการณ์ในโลกแห่งบัรฺซัค(หลุมฝังศพ) และประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งผู้นำมุสลิมและเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ด้วยการที่พวกเขาจำกัดชนิดของอัต-เตาฮีดมีเพียง เตาฮีด อัล-คอลิกียะฮฺ และ อัร-รุบูบิยะฮฺ จึงทำให้อิทธิพลของพวกปรัชญานิยมเข้ามาครอบงำความคิดพวกเขา ส่วนสาเหตุสำคัญที่มีผู้คนยึดถือแนวคิดนี้มีจำนวนมาก ก็เพราะแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนและอุปถัมภ์จากอำนาจรัฐมาตลอด เช่น อาณาจักรอุษมานียะฮฺ  นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาและโรงเรียนที่มีชื่อเสียงช่วยเผยแพร่แนวคิดนี้อีกทาง และด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ทำตามแนวคิดนี้ส่วนใหญ่สังกัดมัซฮับ หะนะฟีย์ในด้านวิชาฟิกฮฺจึงทำให้แนวคิดอัล-มาตุรีดีย์แพร่หลายจวบจนทุกวันนี้ แม้กระนั้นก็ตามพวกเขามีบทบาทสำคัญในการโต้ตอบแนวคิดอื่นที่หลงทางอย่างพวกมุอฺตะซิละฮฺ บาฏินียะฮฺ พวกปรัชญาปฏิเสธพระเจ้า และพวกรอฟิเฎาะฮฺ (ชีอะฮฺ) และพวกเขายังมีบทบาทสำคัญในการแต่ง วิเคราะห์ตำราเกี่ยวกับหะดีษ แต่ก็มีหลายประเด็นที่ควรระมัดระวัง



แปลโดย : อันวา สะอุ
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม  อุษมาน
ที่มา : หนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะซาฮิบ วะ อัล-อะห์ซาบ อัล-มุอาศิเราะฮฺ


จากหนังสือ

الموسوعة الميسرة في الأديان والمذاهب والأحزاب المعاصرة، إعداد الندوة العالمية للشباب الإسلامي

ที่มา http://www.saaid.net/feraq/mthahb/6.htm

หลักฐานว่าด้วยการที่อัลลอฮฺทรงเสด็จลงมา




รายงานจากท่านอบูฮุร้อยเราะฮิ ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์ เล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
พระผู้อภิบาลจะเสด็จลงมา(นุซูล) ยังฟากฟ้าต่ำสุด ในทุกค่ำคืนจนกระทั้งเหลือ แค่ 1 ใน 3 สุดท้ายของกลางคืน โดยพระองค์จะกล่าวว่า ผู้ใดวิงวอนต่อข้า ดังนั้นข้าจะตอบรับเขา และผู้ใดขอต่อข้า ข้าก็จะให้เขา และผู้ใดขออภัยโทษต่อข้า ก็จะอภัยแก่เขา (บันทึกหะดิษโดยอิมามบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)

หะดิษข้างต้นนี้ เป็นสายรายงานที่ถูกต้องตามเงื่อนไขของหะดิษเศาะเฮียะฮฺ โดยผ่านการรายงานจากบรรดาศอหาบะฮฺเกือบ 29 คน จึงไม่เป็นที่อนุญาตแก่ชาวสุนนะฮฺคนใดที่จะทำการปฏิเสธหะดิษต้นนี้

สิ่งที่เราเข้าใจตามที่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทรงพรรณนาไว้ถึงการกระทำของพระองค์อัลลอฮฺ การลงมาดังกล่าวในความเป็นจริงแล้ว คือ การลงมายังฟากฟ้าต่ำสุดจริงๆ และไม่ใช่เป็นการอุปมาอุปมัยของคำแต่อย่างใดเลย การลงมาของพระองค์นั้น เป็นการกระทำที่สอดคล้องกับความสูงส่ง และความบริสุทธิ์ของพระองค์เอง กระทำไปตามประสงค์ของพระองค์ด้วยความสมบูรณ์แบบ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า พระองค์ทรงไม่เหมือนสิ่งใด และไม่มีสิ่งใดที่เสมอ เหมือนพระองค์ เช่นเดียวกับการพระองค์ทรงดำรัสว่าพระองค์คือผู้ได้ยิน การได้ยินของพระองค์ คือการได้ยินในความหมายจริงหากแต่ภาวะของการได้ยินของพระองค์นั้น ไม่ได้เป็นวัตถุธรรม ดังเช่นสรรพสัตว์ทีต้องมีใบหู หรืออวัยวะเพื่อการได้ยิน

ด้วยเหตุนี้จึงไม่พบว่าตัวท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บรรดาสาวกของท่านเอง ตลอดปวงปราชญ์แห่งชนสลัฟได้ทำการให้ความหมายหะดิษนี้ด้วยความหมายอย่างอื่น จึงไม่เป็นที่อนุมัติที่เราจะสู้รู้การกระทำตัวเหนือท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ด้วยการอธิบายถึงการลงมาของพระเมตตาเราะฮฺมัตแห่งพระองค์อัลลอฮฺ ไม่ใช่พระองค์ทรงเสด็จลงมาจริงๆ ดังกลุ่มวิภาษนิยมเข้าใจกัน

ท่านออบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า
ทัศนะที่ถูกต้องจากจุดยืนของชาวสลัพก็คือว่า อัลลอฮฺทรงลงมา และ(การลงมา) นั้นมิได้หมายความว่า อัลลอฮฺได้ละทิ้ง(การอิสติวาอ์เหนือ)บัลลังค์ไปในตัว...และการลงมาของอัลลอฮฺยังฟากฟ้าชั้นต่ำสุดดังการกล่าวของท่านรสูล ของพระองค์นั้น ได้เกิดขึ้นในซีกทิศตะวันออก และต่อมาก็ซีกตะวันตก(เพราะดวงอาทิตย์มีขึ้นลง)"  (ตะกียุดดีนอิบนิตัยมียะฮฺ 1416)

والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿



วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลักฐานว่าด้วยการชี้นิ้วพร้อมกระดิกมันขณะนั่งตะชะฮฺฮุดในละหมาด





การชี้นิ้วของผู้ละหมาดโดยไม่ต้องกระดิกนิ้วหรือกระดิกนิ้วในขณะนั่งตะชะฮฺฮุด ไม่ว่านั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรก หรือครั้งสุดท้าย นักวิชาการมีทัศนะต่างกันดังนี้

ทัศนะแรก

ให้ชี้นิ้วชี้ขวา โดยไม่ต้องกระดิกนิ้ว

ดังหลักฐานอัลหะดิษดังนี้

ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ ซุบัยร์  ได้กล่าวว่า

‏أَنَّ النَّبِيَّ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏كَانَ ‏ ‏يُشِيرُ بِأُصْبُعِهِ إِذَا دَعَا وَلَا يُحَرِّكُهَا

"แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้น  ได้ชี้ด้วยนิ้วของท่านเมื่ออ่านดุอาตะชะฮุด  โดยท่านไม่ได้ทำการเคลื่อนไหวกระดิกนิ้ว" (บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 989,  ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1269,  ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132  และท่านอัล-บัฆวีย์ในหนังสือ “ชัรหุ อัซ-ซุนนะฮ์” หะดีษที่ 677)

ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-มัจญมั๊วะอฺ” เล่มที่ 3 หน้า 454 ว่า สายรายงานของหะดีษนี้ ถูกต้อง

แต่นักวิชาการหะดีษหลายท่านได้กล่าววิจารณ์หะดีษนี้ว่ามีความบกพร่องทั้งในด้านสายรายงานและในด้านตัวบท คือ 
ข้อบกพร่องในด้านสายรายงานก็คือ  ท่านมุหัมมัด บินอัจญลานซึ่งเป็นผู้รายงานท่านหนึ่งของหะดีษนี้ (เป็นตาบิอีน, สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 148) แม้ตามปกติเป็นผู้ที่พอจะเชื่อถือได้(صَدُوْقٌ) และได้รับความเชื่อถือจากนักวิชาการบางท่าน  แต่ขณะเดียวกันก็ถูกนักวิชาการจำนวนมากกล่าวว่า  سَيِّئُ الْحِفْظِ  คือ เป็นผู้ที่ความจำแย่ (จากหนังสือ “อัล-กาชิฟ” ของท่านอัษ-ษะฮะบีย์  เล่มที่ 3 หน้า 69)

หะดีษซึ่งผู้รายงานที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้รายงานมาจะถือว่า เป็น “สายรายงานที่ถูกต้อง” ดังคำกล่าวของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ ย่อมไม่ได้  แต่ตามหลักการแล้วต้องถือว่า เป็นหะดีษที่สายรายงานค่อนข้างอ่อน, หรืออย่างดีที่สุดก็อาจกล่าวได้เพียงว่า สายรายงานของมัน หะซัน (สวยงาม) เท่านั้น (หนังสือ “ศิฟะตุ ศ่อลาติ้นนบีย์ฯ”  หน้า 159  และหนังสือ “ตะมามุ้ลมินนะฮ์” หน้า 217)

ทัศนะที่2

.ให้ชี้นิ้วชี้ขวา และให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺเมื่อกล่าวถึงประโยคชะฮาดะฮฺ

ผู้ที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้คือ ผู้ที่ตามมัซฮับชาฟีอีย์ และมัซฮับฮานาฟีย์

-นักวิชาการสายมัซฮับชาฟีอีย์ มีทัศนะ ว่า ให้ยกนิ้วชี้ครั้งเดียว ขณะกล่าว “อิลลัลลอฮฺ”

-นักวิชาการสายมัซฮับฮานาฟีย์ มีทัศนะ ว่า ให้ยกนิ้วชี้ขณะกล่าวคำว่า “ลา” คือคำปฏิเสธเมื่อถึงคำว่า “อิลลัลลอฮฺ” คือ ยืนยันนั้น ให้ลดนิ้วลงตามเดิม

แต่ทัศนะที่ว่า ให้ยกนิ้วชี้ครั้งเดียว ขณะกล่าว “อิลลัลลอฮฺ” หรือว่า ให้ยกนิ้วชี้ขณะกล่าวคำว่า “ลา” คือคำปฏิเสธเมื่อถึงคำว่า “อิลลัลลอฮฺ” คือ ยืนยันนั้น ให้ลดนิ้วลงตามเดิม นั้นเป็นเพียงทัศนะเท่านั้น ไม่มีหลักฐานยืนยันอัลกุรอานและอัลหะดิษแต่อย่างใด

ท่านมุบาร็อก ปูรีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ตุห์ฟะตุ้ล อะห์วะซีย์” เล่มที่ 2 หน้า 185 ว่า 

ظَاهِرُ اْلأَحَادِيْثِ يَدُلُّ عَلَى اْلإِشَارَةِ مِنِ ابْتِدَاءِ الْجُلُوْسِ، وَلَمْ أَرَ حَدِيْثًا صَحِيْحًا يَدُلُّ عَلَى مَا قَالَ الشَّافِعِيَّةُ وَالْحَنَفِيَّةُ

“ตามรูปการณ์ของบรรดาหะดีษเหล่านี้ (ที่กล่าวถึงการยกนิ้วชี้ในการอ่านตะชะฮ์ฮุด) แสดงว่า การยกนิ้วชี้ดังกล่าวให้กระทำตั้งแต่เริ่มนั่งตะชะฮ์ฮุดแล้ว, และฉันก็ไม่เคยเจอหะดีษที่ถูกต้องบทใดจะเป็นหลักฐานยืนยันแนวทัศนะชาฟิอีย์และหะนะฟีย์(ในเรื่องนี้)เลย"


ทัศนะที่ 3

 ให้ชี้นิ้วชี้ขวา และให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺ ทุกๆการกล่าวถึงพระนามของอัลลอฮฺ

เช่น

เมื่อผู้ละหมาดอ่านดุอาอ์ขณะนั่งตะชะฮฺฮุดในบทต่อไปนี้

 “อัตต้าฮี้ยาตุล มุบาร่อกาตุซ ซ่อล่าวาตุตต็อยยี่บาตุ ลิลลาฮฺ , อัซซ่าลามอ้าลัยก้า อัยยุฮันน่าบียุ วะเราะหฺม่าตุลลอฮี ว่าบ้าร่อกาตุฮฺ  , อัซซ่าลามุ อ้าลัยนา ว่าอ้าลา อิบาดิลลาฮิซซอลี่ฮีน อัชฮ่าดุ อันลา อิลาฮ่า อิ้ลลัลลอฮฺ , ว่าอัชฮ่าดุ อันน่า มุฮัมม่าดัรฺ ร่อซูลุลลอฮฺ”

เมื่อผู้ละหมาดอ่านดุอาอ์ตะชะฮฺฮุดและกล่าวถึงคำว่า “ ลิลลาฮฺ” ก็ให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺ เมื่อสิ้นสุดคำพระนามของอัลลอฮฺข้างต้น ก็ให้ปล่อยนิ้วที่ชี้ปล่อยลงต่ำ
และเมื่อกล่าวมาถึงคำว่า “ตุลลอฮี” และคำว่า “อิ้ลลัลลอฮฺ” และ "ลุลลอฮฺ" ก็ให้ผู้ละหมาดกระทำการชี้นิ้วเหมือนเช่นที่กระทำเมื่อกล่าวถึงคำ“ตุ ลิลลาฮฺ”

ผู้ที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้คือ ผู้ที่ตามมัซฮับฮัมบาลีย์

-นักวิชาการสายมัซฮับฮัมบาลีย์ มีทัศนะ ให้ชี้นิ้วทุกครั้งที่ระบุถึงพระนามของอัลลอฮฺ เป็นการชี้ถึงการให้เอกภาพ(เตาฮีด) ไม่ต้องกระดิกนิ้วแต่ประการใด

ทัศนะให้ชี้นิ้วชี้ขวา และให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺ ทุกๆการกล่าวถึงพระนามของอัลลอฮฺ ก็เป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการไม่มีหลักฐานยืนยันอัลกุรอานและอัลหะดิษเช่นเดียวกันทัศนะที่ 2

ทัศนะที่ 4

ให้ชี้นิ้วชี้ขวา พร้อมกระดิกนิ้วชี้ขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺตลอดที่อ่านดุอาอ์ขณะนั่งตะชะฮฺฮุด อ่านศอละวาตนบี และอ่านดุอาอ์ตามความประสงค์ก่อนให้สลาม

ผู้ที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้คือ ผู้ที่ตามมัซฮับมาลีกีย์

-นักวิชาการสายมัซฮับมาลิกีย์ มีทัศนะ ว่า ให้กระดิกนิ้วขวาและซ้ายไปจนจบละหมาด

ต่อไปนี้กล่าวถึงถึงหะดิษที่ให้ชี้นิ้วชี้ขวา พร้อมกระดิกนิ้วชี้ตั้งแต่เริ่มกล่าวดุอาอ์ตะชะฮฺฮุดไปจนจบละหมาด 

จากวาอีล บิน หะญัร เขาได้กล่าวในเรื่องลักษณะการละหมาดของเราะซูลุลลอฮ ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมว่า

حَاذَتَا بِأُذُنَيْهِ،   ثُمَّ وَضَعَ يَدَهُ الْيُمْنَى عَلَى كَفِّهِ الْيُسْرَى وَالرُّسْغِ وَالسَّاعِدِ،  فَلَمَّا أَرَادَ أَنْ يَرْكَعَ رَفَعَ يَدَيْهِ مِثْلَهَا،  قَالَ : وَوَضَعَ يَدَيْهِ عَلَى رُكْبَتِيْهِ ثُمَّ لَمَّا رَفَعَ رَأْسَهُ رَفَعَ يَدَيْهِ مِثْلَهَا،  ثُمَّ سَجَدَ فَجَعَلَ كَفَّيْهِ بِحِذَاءِ أُذُنَيْهِ،   ثُمَّ قَعَدَ وَافْتَرَشَ رِجْلَهُ الْيُسْرَى وَوَضَعَ كَفَّهُ الْيُسْرَى عَلَى فَخِذِهِ وَرُكْبَتِهِ الْيُسْرَى،   وَجَعَلَ حَدَّ مِرْفَقِهِ اْلأَيْمَنِ عَلَى فَخِذِهِ الْيُمْنَى،   ثُمَّ قَبَضَ اثْنَتَيْنِ مِنْ أَصَابِعِهِ،  وَحَلَّقَ حَلْقَةً،  ثُمَّ رَفَعَ إِصْبَعَهُ،  فَرَأَيْتُهُ يُحَرِّكُهَا يَدْعُوْ بِهَا  

“ขอยืนยันว่าฉันได้พิจารณาดูท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่าท่านจะละหมาดอย่างไร  ฉันเห็นท่านยืนขึ้นแล้วกล่าวตักบีรฺ โดยท่านจะยกมือทั้งสองขึ้นจนเสมอกับหูทั้งสองของท่าน  หลังจากนั้นท่านก็วางมือขวาทับบนมือซ้าย ข้อมือ และท่อนแขนซ้ายของท่าน เมื่อท่านต้องการจะรุกั๊วะอฺ ท่านก็ยกมือทั้งสองขึ้นในลักษณะเดิม (ท่านวาอิลกล่าวต่อไปว่า) และวางมือทั้งสองของท่านบนเข่าทั้งสองของท่าน  ต่อมาเมื่อเงยศีรษะขึ้น (มายืนเอี๊ยะอฺติดาล) ท่านก็ยกมือทั้งสองขึ้นในลักษณะเดิมอีก  แล้วท่านก็สุญูด ซึ่งท่านจะวางฝ่ามือทั้งสองของท่านให้เสมอกับหูทั้งสองของท่าน  ต่อมา ท่านก็(ลุกขึ้นมา)นั่ง โดยจะแบเท้าซ้ายออก (รองก้น คือนั่งอิฟติรอช)  และท่านจะวางฝ่ามือซ้ายลงบนขาและเข่าข้างซ้ายของท่าน และวางข้อศอกขวาลงบนขาข้างขวาของท่าน  แล้วท่านก็กำนิ้วของท่านสองนิ้ว (คือนิ้วนางกับนิ้วก้อย)  และทำให้นิ้ว (หัวแม่มือกับนิ้วกลาง)จรดกันเป็นวง  ต่อมาท่านก็ยกนิ้ว(ชี้)ของท่านขึ้น แล้วฉันเห็นท่านกระดิกมันพร้อมกล่าววิงวอน (คือ อ่านตะชะฮ์ฮุด)"
(บันทึกหะดิษโดย อะหมัด,อันนะสาอีย์,อบูดาวูดและอื่นจากพวกเขา)

ที่มาของหะดิษ 
ثبت في ((مسند أحمد)) : (4/318) و ((المجتبى)) للنسائي : (2/126 -127) و ( 3/371) و ((سنن أبي داود)) : رقم (713) و ((صحيح ابن خزيمة)) رقم (480) و (714) و ((المنتقى)) لابن الجارود : رقم (208) و ((صحيح ابن حبان)) : رقم (1851 – موارد) و (( السنن الكبرى)) للبيهقي : (2/27 و 28 و 132) و ((المعجم الكبير)) للطبراني : (22/35) عن وائل بن حُجر ـ رضي الله عنه 

สายรายงานของหะดีษบทนี้ มีดังต่อไปนี้ 

1.  ท่านมุอาวิยะฮ์ บินอัมรฺ  รายงานจากท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์,  จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์,  จากบิดาของท่านคือท่านกุลัยบ์ บินชิฮาบ,  จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์
(บันทึกโดย ท่านอัด-ดาริมีย์  หะดีษที่ 1380,  ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 132,  ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 714  และท่านอิบนุหิบบาน  หะดีษที่ 1860)

2.  ท่านอับดุลลอฮ์ บินมุบาร็อก  รายงานจากท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์,  จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์,  จากบิดาของท่าน,  จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์
(บันทึกโดย ท่านอัน-นะซาอีย์  หะดีษที่ 888 และ 1267)

3.  ท่านอับดุศเศาะมัด บินอับดุลวาริษ ได้รายงานจากท่านซาอิดะฮ์บินกุดามะฮ์, จากท่านอาศิม บินกุลัยบ์,  จากบิดาของท่าน,  จากท่านวาอิล บินหุจญริน ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์
(บันทึกโดย ท่านอิหม่ามอะห์มัดในหนังสือ “อัล-มุสนัด”  เล่มที่ 4 หน้า 318)

เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า ท่านมุอาวิยะฮ์ บินอัมรฺ,  ท่านอับดุลลอฮ์ บินมุบาร็อก และท่านอับดุศเศาะมัด บินอับดุลวาริษ ต่างก็รายงานหะดีษนี้มาจากแหล่งเดียวกันคือ จากท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ แล้วสืบสายรายงานต่อไปจนถึงท่านวาอิล บินหุจญริน ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์

สำหรับท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ (สิ้นชีวิตในปีฮ.ศ.160) ที่รายงานเพิ่มคำว่า กระดิกนิ้ว เป็นผู้รายงานหะดีษจำนวนน้อยที่นักวิชาการมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ความเชื่อถือท่าน และเป็นความเชื่อถือในระดับสูงมาก

ยกตัวอย่างทัศนะของนักวิชาการบางท่านที่มีต่อท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ ดังนี้ 

1. ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “ตักรีบุตตะฮ์ซีบ”  เล่มที่ 1 หน้า 256 ว่า 

        زَائِدَةُ بْنُ قَدَامَةَ الثَّقَفِىُّ، أَبُوالصَّلْتِ،  الْكُوْفِىُّ،  ثِقَةٌ ثَبْتٌ، صَاحِبُ سُنَّةٍ

“ซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ อัษ-ษะกอฟีย์,  อบุศศ้อลต์,  เป็นชาวเมืองกูฟะฮ์,  เชื่อถือได้, มีความมั่นคงแน่นอนมาก(ในการรายงานหะดีษ)  เป็นชาวซุนนะฮ์” 

2. ท่านอัษ-ษะฮะบีย์ ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-กาชิฟ”  เล่มที่ 1 หน้า 246 ว่า

         زَائِدَةُ بْنُ قُدَامَةَ، أَبُوالصَّلْتِ، اَلثَّقَفِىُّ، اَلْكُوْفِىُّ، اَلْحَافِظُ، ... ثِقَةٌ حُجَّةٌ

“ซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์,  อบุศศ็อลต์,  อัษ-ษะกอฟีย์,  เป็นชาวเมืองกูฟะฮ์,  เป็นผู้ที่มีความจำดีเยี่ยม,  เชื่อถือได้,  เป็นหลักประกันได้เรื่องหะดีษ” 

3. ท่านอิบนุหิบบาน ได้กล่าวในหนังสือ “อัษ-ษิกอต”  เล่มที่ 6 หน้า 340 ว่า 

   كَانَ مِنَ الْحُفَّاظِ الْمُتْقِنِيْنَ،  وَكَانَ لاَ يَعُدُّ السَّمَاعَ حَتىَّ يَسْمَعَهُ ثَلاَثَ مَرَّاتٍ،  وَكَانَ لاَ يُحَدِّثُ أَحَدًا حَتىَّ يَشْهَدَ عَنْهُ عَدْلٌ أَنَّهُ مِنْ أَهْلِ السُّنَّةِ 

“ท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ เป็นหนึ่งจากผู้ที่มีความจำดีเยี่ยมและละเอียดประณีต (ในเรื่องหะดีษ) มาก,  ท่านจะไม่ถือว่าได้ยิน(หะดีษจากผู้ใด) จนกว่าท่านจะได้ฟังมันถึงสามครั้ง,  และท่านจะไม่ยอมพูดเรื่องหะดีษกับผู้ใดจนกว่าจะมีผู้มีคุณธรรมมายืนยันกับท่านว่า บุคคลผู้นั้นเป็นชาวซุนนะฮ์” 

4. ท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ได้กล่าว .. ดังบันทึกในหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัต-ตะฮ์ซีบ” .. เล่มที่ 3 หน้า 265 ว่า

                                       مِنَ اْلأَثْبَاتِ اْلأَئِمَّةِ

“เขาเป็นหนึ่งจากผู้ที่แน่นมากในเรื่องหะดีษ, เป็นผู้นำ(ในเรื่องหะดีษ)”

กฎเกณฑ์ของวิชามุศเฏาะละฮ์หะดีษระบุว่า ข้อความจากการรายงาน “เพิ่มเติม” ของผู้ที่เชื่อถือได้ จะเป็นที่ยอมรับ ตามกฎเกณฑ์ที่ว่า 

                                     زِيَادَةُ الثِّقَةِ مَقْبُوْلَةٌ

“การรายงานเพิ่มเติมของผู้ที่เชื่อถือได้นั้น จะต้องยอมรับ”

ดังนั้น การรายงานเพิ่มเติมของท่านซาอิดะฮ์ บินกุดามะฮ์ จากคำพูดของท่านวาอิล บินหุจญริน ร่อฎัยัลลอฮุอันฮู ด้วยข้อความที่ว่า  แล้วฉันก็เห็นท่านกระดิกนิ้วชี้  จึงถือเป็นข้อความที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการหะดีษ

สายรายงานข้างต้นนี้ทั้งหมด เป็นสายรายงานที่ถูกต้องโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ  และข้อความที่รายงานมา

และไม่ปรากฏมีนักวิชาการท่านใดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ไม่ว่าท่านอิหม่ามนะวะวีย์,  ท่านอัล-บัยฮะกีย์,  ท่านอิบนุ้ลก็อยยิม เป็นต้น จะปฏิเสธความถูกต้องของ “สายรายงาน” หะดีษบทนี้แม้แต่ท่านเดียว ไม่ว่าเขาจะยอมปฏิบัติตาม “เนื้อหา” ของหะดีษนี้ คือการกระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุดหรือไม่ก็ตาม

  หะดีษที่รายงานว่าท่านนบีย์ยกนิ้วชี้ขึ้นแล้วกระดิกนิ้วชี้ด้วยนี้ ถือเป็นหะดีษที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องลักษณะการนั่งตะชะฮ์ฮุด,ลักษณะการวางมือและลักษณะนิ้วของท่านนบีย์ขณะนั่งตะชะฮ์ฮุดไว้อย่างละเอียดที่สุดยิ่งกว่าทุกกระแสที่มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้

ส่วนการกระดิกนิ้ว ให้กระดิกตลอดหรือไม่

เมื่อรายงานมาถึงตอนนั่งอ่านตะชะฮ์ฮุด ท่านวาอิลก็ได้รายงานลักษณะมือของท่านนบีย์อย่างต่อเนื่องว่า ท่านได้กำนิ้วสองนิ้ว,  อีกสองนิ้วจรดกันเป็นวงกลม,  แล้วก็ยกนิ้วชี้ขึ้น แล้วก็กระดิกมัน
แสดงว่า ตามรูปการณ์แล้ว  ให้กระดิกนิ้วชี้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นอ่านตะชะฮ์ฮุดเป็นต้นไปจนจบหรือสิ้นสุดการอ่านตะชะฮ์ฮุดนั้น 

ท่านอบูอุบัยดะฮ มัชฮูร บิน หะซันกล่าวว่า 

فهذه رواية صحيحة صريحة في تحريك الأصبع ، وجاء وصف فعله بـ (( يحرِّك )) وهو فعل مضارع ، يفيد الاستمراريّة حتى تسليم المصلّي و فراغه من صلاته ، ويدل على ذلك ، قوله : 
((يدعو بها)) 

และนี้คือ รายงานที่เศาะเฮียะ อีกทั้งชัดเจน ในการกระดิกนี้ว และปรากฏลักษณะการกระทำของท่านนบี ด้วยคำว่า (ยุหัรริกุ) มันเป็นกริยาปัจจุบันกาล มีความหมายว่า กระดิกตลอดจนกระทั่งผู้ละหมาดกล่าวสลามและเสร็จสิ้นการละหมาดของเขา และ คำพูดของเขา(วาอีล)ที่ว่า (และท่านนบีได้อ่านดุอาด้วยมัน) เป็นหลักฐานแสดงบอกดังกล่าว - ดู อัลเกาลุลมุบีน ฟี อัคเฏาะอิลมุศอ็ลลีน หน้า 162 

ท่านอัลอะซีม อะบาดี กล่าวว่า 

وفيه تحريكها دائما 

ในมัน(ในหะดิษวาอีล) แสดงว่า การกระดิกมัน(นิ้ว)นั้น (กระดิก)ตลอด - เอานุ้ลมะอฺบูด เล่ม 1 หน้า 374 

จึงสรุปได้ว่า การกระดิกนิ้วชี้ขณะอ่านตะชะฮ์ฮุด ถือเป็นซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม และการกระดิกนิ้วนั้นให้กระดิกตลอดจนจบการละหมาด

ดังนั้น การกระดิกนิ้ว หรือไม่กระดิกนิ้ว หรือให้ชี้นิ้ว หรือให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺเมื่อกล่าวถึงประโยคชะฮาดะฮฺ หรือเมื่อกล่าวถึงพระนามของอัลลอฮฺ นั้นเป็นข้อขัดแย้งบางอย่างซึ่งเป็นปลีกย่อย ของชาวสลัฟ แต่พวกเขาก็ไม่ได้สร้างความเป็นอริต่อกัน เพราะความขัดแย้งนั้น พวกเขาต่างยึดมั่นในการอิจญ์ติฮาดของตนเอง

แต่มุสลิมบ้านเราบางคน หรือบางกลุ่ม กลับมีความแย้งกันและเป็นอริต่อกันในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า ตั้งแต่ศึกษาเล่าเรียนศาสนามา ก็ไม่เคยเห็นโต๊ะครูเขาสอนให้กระดิกนิ้วขณะกล่าวดุอาอ์ตะชะฮฺฮุดเลย นั่นก็จริงอยู่ที่ว่าในตำราเรียนศาสนาบ้านเราซึ่งต่างก็สังกัดมัซฮับชาฟีอีย์ ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องกระดิกนิ้ว แต่กล่าวถึงให้ชี้นิ้วขึ้นตรงไปทางกิบละฮฺเมื่อกล่าวถึงประโยคชะฮาดะฮฺ ซึ่งเป็นเพียงทัศนะของนักวิชาการ แต่การกระดิกนิ้วขณะชี้เมื่ออ่านดุอาอ์ตะชะฮฺฮุด นั้นมีหลักฐานอ้างอิง เป็นแบบอย่างการปฏิบัติจากท่านรสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม อย่างชัดเจน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่กระดิกนิ้วขณะชี้เมื่ออ่านดุอาอ์ตะชะฮฺฮุด กระทำไปโดยตามอำเภอใจ หรือไม่มีหลักฐานรับรองแต่อย่างใด


والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

ดุอาอ์เข้าและออกจากมัสยิด



ดุอาอ์์เมื่อเข้ามัสยิด

    สุนนะฮฺเมื่อมุสลิมคนใดออกไปมัสญิดให้ก้าวเท้าขวาก่อนเข้ามัสญิดพร้อมกับกล่าวดุอาอ์ว่า

«أَعُوذُ بِالله العَظِيمِ، وَبِوَجْهِهِ الكَرِيمِ، وَسُلْطَانِـهِ القَدِيمِ، مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيمِ»

คำอ่าน อะอูซุบิลลาฮิล อะซีม วะ บิวัจญ์ฮิฮิล กะรีม วะ สุลฏอนิฮิล เกาะดีม มินัช ชัยฏอนิร เราะญีม

ความหมาย “ข้าขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ และด้วยพระพักตร์อันทรงเกียรติของพระองค์ และด้วยอำนาจอันดั้งเดิมแห่งพระองค์ จากชัยฏอนผู้ถูกสาปแช่ง” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข  466)

หรือกล่าวว่า

«اللَّهُـمَّ افْتَـحْ لِي أَبْوَابَ رَحْـمَتِكَ»

คำอ่าน อัลลอฮุมมัฟตะหฺ ลี อับวาบะ เราะห์มะติก

ความหมาย “โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงเปิดประตูแห่งความเมตตาของพระองค์ให้กับข้าพระองค์ด้วยเถิด” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข  713)

 ดุอาอ์์เมื่อออกจากมัสยิด

 เมื่อออกจากมัสญิดสุนนะฮฺให้ก้าวเท้าซ้ายพร้อมกล่าวว่า

«اللَّهُـمَّ إنِّي أَسْأَلُكَ مِنْ فَضْلِكَ»

คำอ่าน "อัลลอฮุมมะ อินนี อัสอะลุกะ มิน ฟัฎลิก"

ความหมาย “โอ้ อัลลอฮฺ แท้จริงข้าพระองค์ขอจากพระองค์ ซึ่งความประเสริฐแห่งพระองค์” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 713)

والله أعلم بالصواب
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿

สัญลักษณ์ของผู้ลุ่มหลงต่อชาวสุนนะฮฺ



เมื่อแนวทางแห่งอะฮฺลุสสุนนะฮฺ ได้มีสัญลักษณ์แห่งการได้รับกดขี่ และต่อต้านจากกลุ่มลุ่มหลงทั้งหลาย แต่ชาวอะฮฺลุสสุนนะฮฺ ก็ยังท่าทายไฟแห่งความพยาบาทนั้นไว้ได้

ต่อไปนี้เป็นคำพูดของปราชญ์ชาวสลัฟ คือท่านอบูฮาติมมุหัมมัด อิบนุอิดรีส อัรรอซีย์ เกี่ยวกับสัญลักษณ์ของกลุ่มลุ่มหลงแต่ละกลุ่ม ที่ได้เรียกชื่อ และให้ร้ายแก่ชาวสุนนะฮฺ ตามที่พวกเขาเห็นว่ามันขัดกับความเชื่อและสติปัญญาของพวกเขา

รายงานจากท่านอบูฮาติมมุหัมมัด อิบนุอิดรีส อัรรอซีย์ (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ฮ.ศ.195-277) ท่านได้กล่าวถึงกลุ่มชนผู้พิทักษ์อิสลามไว้ว่า
และสัญลักษณ์ของพวกบิดอะฮฺ คือ
การพูดจาให้ร้ายของพวกเขาต่ออะฮฺลุลอะษาร (ผู้ยึดมั่นในอัลหะดิษและอะฮฺลุสสุนนะฮฺ)
✿‧:﹎。✿‧:﹎。✿‧:﹎。
และสัญละกษณ์ของพวกซินดีก คือ
การที่พวกเขาเรียกชาวสุนนะฮฺว่า ฮัชวียะฮฺ (ชนผู้ที่โง่เขลาซึ่งสู้การใช้ตรรกะของพวกเขาไม่ได้)
และพวกเขานั้น ชอบแสวงหาอยู่แต่สายรายงานบาฏิล
✿‧:﹎。✿‧:﹎。✿‧:﹎。
และสัญลักษณ์ของพวกญะฮิมีญะฮฺ (พวกที่ปฏิเสธศิฟัตอัลลอฮฺตามที่ปรากฏในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ) คือ
การที่พวกเขาเรียกชาวสุนนะฮฺว่า มุชับบิฮะฮฺ (พวกเชื่อว่าอัลลอฮฺเหมือนมัคลูก)
✿‧:﹎。✿‧:﹎。✿‧:﹎。
และสัญลักษณ์ของพวกก้อดรียะฮฺ (พวกที่มีหลักศรัทธาเรื่องเกาะดัรผิดเพี้ยน) คือการที่พวกเขาเรียกอะฮฺลุลอะษาร ว่า มุญาบิเราะฮฺ (พวกเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีอิสระทางการกระทำ)
✿‧:﹎。✿‧:﹎。✿‧:﹎。
และสัญลักษณ์ของมุรญิอะฮฺ คือ
การที่พวกเขาเรียกชาวสุนนะฮฺว่า มุคอลิฟะฮฺ และนุกศอนีอะฮฺ
✿‧:﹎。✿‧:﹎。✿‧:﹎。
และสัญญาลักษณ์ของพวกชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺ คือ
การที่พวกเขาเรียกชาวสุนนะฮฺ ว่า นาศิบะฮฺ (ศัตรูต่อลูกหลานนบี)

(อบูกอซิมฮิบบะตุลอฮฺอิบนิลหะซันบินมันศู อัลเฎาะบะรีย์ อัลลาลิกาอีย์ 1423 ชัรฮุลอุซูลอิอฺติก๊อดอะลุสสุนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ ม.ป.ท. : ดารฺต็อยยิบะฮฺ เล่ม 1 หน้า 201-202)


 ✿‧:﹎。✿‧:﹎。✿‧:﹎。✿‧:﹎。✿‧:﹎。✿‧:﹎。✿‧:﹎。