อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อาการของผู้้ที่มีอีหม่านอ่อน


...... อาการ ..........

โรคที่ก่อให้เกิดอีหม่านอ่อนนั้นมีหลายโรคและปรากฏอาการที่หลากหลาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1. กระทำบาปและสิ่งต้องห้ามต่าง ๆ 

อาการหนึ่งของอีหม่านอ่อน คือ การตกอยู่ในการทำบาปและสิ่งต้องห้ามต่าง ๆ บางคนได้ทำบาปอย่างหนึ่งและยังคงทำมันอย่างต่อเนื่อง บางคนได้ทำบาปชนิดต่าง ๆ หลากหลาย เมื่อตกอยู่ในการทำบาปมากมายจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยที่เขาเคยชินกับมันและค่อย ๆ หมดสิ้นความละอายในหัวใจจนถึงขนาดที่เขาสามารถทำบาปได้อย่างเปิดเผย สภาพเช่นนี้ได้เข้ามาอยู่ในข่ายของฮะดีษที่ว่า

“อุมมะฮฺ (ประชาชาติ) ของฉันทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ดี เว้นแต่ผู้ที่กระทำบาปอย่างเปิดเผย และส่วนหนึ่งจากการกระทำบาปที่เปิดเผยก็คือ ชายคนหนึ่งได้กระทำบางอย่างในกลางคืนล่วงถึงเวลาเช้า และอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ปกปิดบาปของเขา แต่เขา (กลับนำมันมา) กล่าวว่า ‘นี่นายคนนี้ นายคนนั้น (รู้ไหม) เมื่อคืนนี้ ฉันได้กระทำสิ่งนั้นสิ่งนี้’ ผู้เป็นเจ้าของเขาได้ปกปิดบาปของเขาตลอดคืน แต่แล้วเมื่อเวลาเข้ามาถึง เขาก็เปิดเผยสิ่งที่อัลลอฮฺได้ปิดไว้” (รายงานโดย บุคอรีย์ ใน อัล-ฟัตฮฺ 10/486)

2. หัวใจแข็งกระด้าง

รู้สึกถึงความแข็งกระด้างของหัวใจ จนกระทั่งคนผู้นั้นรู้สึกว่าหัวใจของเขาได้เปลี่ยนเป็นก้อนหินที่แข็งกระด้าง จนไม่มีสิ่งใดที่สามารถทะลุผ่านมันเข้าไปหรือมีสิ่งอื่น ๆ ที่จะผ่านออกมาจากมันได้เช่นกัน อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ตรัสว่า

“แล้วหลังจากนั้น หัวใจของพวกเจ้าก็แข็งกระด้าง มันประดุจหินหรือแข็งกระด้างยิ่งกว่า...” (อัล กุรอาน 2 : 74)

ผู้ที่มีหัวใจที่แข็งกระด้างนั้น ไม่รู้สึกสาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตักเตือนให้รำลึกถึงความตาย หรือการมองดูคนตาย หรือร่างที่ไร้วิญญาณ บางทีแม้แต่การแบกศพไปสุสานด้วยตัวเขาเอง และได้โปรยดินลงสู่หลุมฝังศพก็ตาม การเดินระหว่างหลุมฝังศพของเขา เสมือนเป็นเพียงการเดินระหว่างก้อนหิน

3. ทำอิบาดะฮฺอย่างลวก ๆ 

เมื่อทำละหมาด อ่านอัล-กุรอาน อ่านดุอาอ์ และอื่น ๆ จิตใจของเขาจะไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ขาดการใคร่ครวญหรือพิจารณาในความหมายของถ้อยคำที่กล่าวในดุอาอ์ต่าง ๆ เขาเคยชินที่จะอ่านดุอาอ์ที่ถูกระบุไว้ให้อ่านในเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นการเฉพาะตามที่ซุนนะฮฺได้กำหนดไว้ โดยปราศจากการพิจารณาความหมายที่ปรากฏอยู่ในดุอาอ์นั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องหะดีษได้บอกไว้ว่า

“พวกท่านพึงทราบเถิดว่า อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะไม่ตอบรับดุอาอ์จากหัวใจที่ละเลย ง่วนอยู่กับการละเล่น” รายงานโดยติรมีซีย์ หมายเลข 3479 และปรากฏอยู่ใน ซิลซิละฮฺ อัศ-เศาะฮีอะฮฺ 594


4. เกียจคร้านในการฏออะฮฺ (เชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และรอซูล (ซ.ล.) และอิบาดะฮฺต่าง ๆ (การเคารพภักดี)

เมื่อเขาต้องปฏิบัติตามหลักการอิสลาม หรือการอิบาดะฮฺต่าง ๆ ก็มีเพียงแต่การเคลื่อนไหวที่ว่างเปล่า หากได้มีจิตวิญญาณภายในไม่ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้พรรณนาลักษณะของบรรดา มุนาฟิก (บุคคลที่ภายนอกเป็นมุสลิมแต่ซ่อนการปฏิเสธไว้ภายใน) ไว้ว่า

“และเมื่อพวกเขาลุกขึ้นไปละหมาด พวกเขาก็ลุกขึ้นในสภาพเกียจคร้าน...” (อัล-กุรอาน 4: 142)

เมื่อฤดูกาลแห่งการทำความดีและเวลาของการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ ได้ผ่านมา เขาก็ไม่ใส่ใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไม่สนใจถึงผลบุญต่าง ๆ ที่จะได้รับ ทั้งที่มีความสามารถเขาก็ผัดผ่อนการทำฮัจญ์ออกไป ทั้งที่เขามีความสามารถแต่ก็ไม่ยอมเข้าร่วมการญิฮาดเขาล่าช้าในการเข้าร่วมละหมาดญะมาอะฮฺ (ละหมาดเป็นหมู่คระ) หรือแม้กระทั้งละหมาดวันศูรก์ก็ตาม

ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ว่า

“กลุ่มชนหนึ่งยังคงล่าช้าในการเข้าไปยืนเป็นแถวแรก (ในการละหมาด) จนกระทั่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้หน่วงเหนี่ยวพวกเขาไว้ในนรก” รายงานโดย อบูดาวูด หมายเลข 679 และในเศาะฮีหฺ อัต-ตัรฆีบ หมายเลข 510

ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าเขาได้นอนหลับหรือหลงลืม โดยผ่านเวลาละหมาดฟัรฎูต่าง ๆ แต่ความรู้สึกที่จะตำหนิตัวเองหรือหลงลืม โดยผ่านเวลาละหมาดฟัรฎูต่าง ๆ แต่ความรู้สึกที่จะตำหนิตัวเองก็ยังไม่เกิดขึ้นในมโนธรรมของเขา

เช่นเดียวกัน เมื่อละหมาด ซุนนะฮฺรอติบะฮฺ (สุนัตก่อนและหลังเวลาฟัรฎู) หรือวิรดฺต่าง ๆ (คือการอ่านซิกรฺและดุอาอ์ในสภาพต่าง ๆ) ได้ผ่านไปเขายังไม่มีความรู้สึกกระหายที่จะชดเชยมัน หรือชดใช้ในสิ่งที่ได้สูญเสียมันไป

เช่นเดียวกันในเรื่องซุนนะฮฺ หรือ ฟัรฎู กิฟายะฮฺ นั้น เขาก็มีเจตนาที่จะละเลยปล่อยให้มันผ่านไป หรือแม้แต่การเข้าร่วมละหมาดอีด (ซึ่งอุละมาอฺบางท่านมีทัศนะว่าเป็นฟัรฎูที่จะต้องเข้าร่วม)

เขายังไม่สนใจที่จะละหมาดกุสูฟและคุสูฟ (ละหมาดในกรณีที่เกิดสุริยุปราคา และจันทรุปราคา) รวมทั้งการเข้าร่วมละหมาดญะนาซะฮฺ

เขาไม่กระหายที่จะได้รับผลบุญจากละหมาดเหล่านี้ (ซึ่งเป็นละหมาดซุนนะฮฺ หรือละหมาดฟัรฎู กิฟายะฮฺ) ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้พรรณนาไว้ในอัลกุรอานว่า

“แท้จริงพวกเขาแข่งขันกันในการทำความดีและพวกเขาวิงวอนเราด้วยความหวังในความเมตตาและด้วยความกลัวการลงโ?ษของเรา และพวเขาเป็นผู้ถ่อมตัวเกรงกลัวต่อเรา” (อัลกุรอาน 21 : 90)

อาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องจกาความเกียจคร้านในการเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เช่น ความเกียจคร้านในการกระทำสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺเราะวาติบต่าง ๆ การละหมาดกายมุลลัยลฺ (การละหมาดในช่วงท้ายที่สามของยามค่ำคืน) การไปยังมัสญิดแต่เนิ่น ๆ และละหมาดนะวาฟิล (ละหมาดที่ไม่ได้บังคับ) อื่น ๆ อาทิ ละหมาดฎูฮา (ยามสาย) ก็ไม่เคยให้ความำสคัญมิพักต้องพูดถึงละหมาดเตาบะฮฺ 2 เราะกะอะฮฺ หรือละหมาดอิสติคอเราะฮฺ

 5. คับแค้นใจ อารมณ์แปรปรวนและซึมเศร้า

ผู้ประสบกับอาการเหล่านี้จะเสมือนหนึ่งมีสิ่งที่หนักกดทับจนจมดิ่งลงสู่เบื้องลึก จนทำให้เขาหงุดหงิดง่ายและพร่ำบ่นแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มาประสบกับเขา เขารู้สึกคับแค้นต่อพฤติกรรมของผู้คนที่ห้อมล้อมเขาและเขามักสูญเสียความอดกลั้นไปจากตัวเขา ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้บอกลักษณะของอีหม่านไว้ว่า

“อีหม่านนั้นคือ การอดทนและการอดกลั้น” อัส-ซิลซิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะฮฺ หมายเลข 554 86/2

และท่านนบี (ซ.ล.) ยังได้กล่าวถึงลักษณะของผู้มีอีหม่านไว้อีกว่า

“ผู้มีอีหม่านนั้นเป็นมิตรและทำให้ผู้อื่นรู้สึกเป็นมิตร ไม่มีความดีสำหรับผู้ที่ไม่เป็นมิตรและทำให้คนอื่นรู้สึกไม่เป็นมิตร” อัส-ซิลซิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะฮฺ หมายเลข 427

6. อายะฮฺอัล-กุรอานไม่ส่งผลใด ๆ ต่อเขา

อายะฮฺต่าง ๆ ในอัล-กุรอานไม่ว่า เรื่องคำสัญญาในเรื่องของสวรรค์ หรือ คำเตือนในเรื่องของนรก คำสั่งใช้หรือคำสั่งห้าม คำบรรยายภาพของวันกิยามะฮฺ ไม่มีผลใด ๆ ต่อตัวเขา

อาการของอีหม่านอ่อนข้อนี้ ก็คือ เขาจะเบื่อหน่ายที่จะฟังอัล-กุรอาน เขาไม่สามารถจะอ่านอัล-กุรอาน อย่างต่อเนื่องได้ จนถึงขนาดที่ว่า เมื่อเปิดอัล-กุรอานเมื่อใดเขาก็แทบจะปิดมันลงเมื่อนั้น

7. อยู่ในสภาพเพิกเฉย ขณะรำลึกถึงอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

การซิกรฺ (การรำลึกถึงอัลลอฮฺ) เป็นสิ่งที่หนักหน่วงสำหรับเขา เมื่อใดที่เขายกมือขึ้นดุอาอ์ เขาจะรับเอามือลงในทันที อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไดตรัสถึงลักษณะพวกมุนาฟิกีน (ผู้กลับกลอก) ไว้ว่า

“และพวกเขาจะไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ นอกจากเล็กน้อยเท่านั้น” (อัล-กุรอาน 4 : 142)


8. ไม่รู้สึกโกรธเมื่อมีการละเมิดในสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ห้าม

ความเย็นชานี้เกิดขึ้นเพราว่าไฟแห่งความกระตือรือร้นที่เคยลุกโชติช่วงในหัวใจของเขาได้มอดไหม้ไปสิ้นแล้ว เขาจึงไม่สนใจที่จะหยุดยั้งความเลวร้ายชนิดต่าง ๆ หรือไม่ให้ผู้กระทำผิดหันมากระทำการดี หรือละทิ้งความเลวเสีย เขาไม่รู้สึกโกรธเพื่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.)

ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้อธิบายลักษณะที่หัวใจประสบกับความอ่อนแอเช่นนี้ในฮะดีษศาะฮี้ฮฺว่า

“ฟิตนะฮ (การทดสอบและการล่อลวง) ปรากฏขึ้นบนหัวใจ ประดุจดังเสื่อที่ถูกสานเส้นแล้วเส้นเล่า (คือมันจะเข้าสู่หัวใจอย่างเต็มที่) แล้วหากหัวใจดวงใดได้ดูดซับมันไว้ มันก็จะบังเกิดจุดสีดำขึ้น”

ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ในฮะดีษอีกว่า

“เป็นสีดำสนิท (ไม่เจือปนสีขาวเลย) เสมือนกับหม้อดำสนิทคว่ำอยู่มันจะไม่สามารถรับรู้ความดีใด ๆ หรือปฏิเสธความชั่วใด ๆ ได้ เว้นแต่สิ่งที่อารมณ์ฝ่ายต่ำของมันดูดซับเอาไว้” รายงานโดยมุสลิม หมายเลข 144

ดังนั้น เมื่อความรักในความดีและความเกลียดชังในความชั่วได้สูญหายไปจากหัวใจของเขา ก็ทำให้ทุกสิ่งในทัศนะของเขานั้นเท่าเทียมเสมอกันแล้วจะมีสิ่งใดเล่าเป็นตัวกระตุ้นเขาไปสู่การกำชับกันในเรื่องการดีและห้ามปรามในความชั่ว

ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งเมื่อเขาได้ยินความชั่วที่ถูกกระทำบนหน้าแผ่นดิน เขากลับยอมรับมันได้ กลายเป็นว่าเขาต้องรับเอาบาปนั้นเช่นเดียวกับผู้พบเห็นและพึงพอใจกับบาปนั้น ดังเช่นที่ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

“เมื่อบาปใดถูกก่อขึ้นบนแผ่นดิน ใครพบเห็นและเกลียดมัน (ท่านได้กล่าวครั้งหนึ่งว่า “เขาปฏิเสธมัน”) ก็เหมือนกับคนที่ไม่เคยพบเห็นมัน และใครที่ไม่เคยพบเห็นมัน แต่พึงพอใจกับมันก็เหมือนกับคนที่ได้พบเห็นมัน” รายงานโดย อบู ดาวูด หมายเลข 4345 และเศาะฮิหฺ อัล-ญามิอฺ 689

คำว่า “พึงพอใจ” หมายถึง การกระทำที่เกิดขึ้นในหัวใจ นั่นคือ มันได้ดทำให้เขาอยู่ในสถานะเดียวกับผู้พบเห็นบาปนั้น

9. รักในชื่อเสียงและความโด่งดัง

อาการอีหม่านอ่อนข้อนี้คือ ความรักในชื่อเสียงและความอยากเด่นอยากดัง ซึ่งมีรูปแบบหลายชนิดเช่น

9.1 กระหายตำแหน่งผู้นำ

เขาอยากเป็นผู้นำโดยขาดความตระหนักถึงความรับผิดชอบ และความหนักหน่วงทีเกิดจากตำแหน่ง ได้มีคำเตือนต่อเรื่องนี้จากท่านเราะซูล (ซ.ล.) ไว้ว่า

“พวกท่านที่ใคร่อยากได้การเป็นผู้นำ พวกท่านจะได้รับความเศร้าสลดในวันกิยามะฮฺ การให้นมนั้นดียิ่ง (คือมันดูง่ายในตอนแรก) แต่การหย่านมนั้นทุกข์ยากนัก (คือจะยากลำบากในภายหลัง)” รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6709

“การให้นมนั้นดียิ่ง” หมายถึง ในตอนแรกจะดียิ่งเพราะการเป็นผู้นำจะได้มาซึ่งความมั่นคั่ง อำนาจ เกียรติยศและความสุข “แต่การหย่านมนั้นทุกข์ยากนัก” หมายถึง ในตอนท้ายจะประสบความทุกข์ยาก เนื่องจากความเสี่ยงที่จะถูกลอบสังหาร การถูกโค่นล้ม และท้ายที่สุดเขาจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้อีกว่า

“ถ้าพวกท่านต้องการ ฉันจะแจ้งให้พวกท่านทราบเกี่ยวกับการเป็นผู้นำว่ามันคืออะไร อันดับแรกคือการถูกตำหนิ อันดับที่สองคือความเศร้า อันดับที่สามคือการลงโทษในวันกิยามะฮฺ เว้นแต่ผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม” รายงานโดย อัฎ-เฏาะบะรอนีย์ ใน อัล-กะบีรฺ 72/18 และในเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 1420

แต่ในกรณีของคนที่ต้องการจะแบกรับภารกิจและความรับผิดชอบนี้ ซึ่งไม่มีคนอื่นที่จะทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าเขา พร้อม ๆ กันนี้เขามีความตั้งใจที่จะพยายามทำงานนี้ให้ดีที่สุด มีความบริสุทธิ์ใจ และยุติธรรมดังเช่นกรณีของท่านนบียูซุฟ (อ.ล.) ถ้าเช่นนั้นเขาก็สามารถเสนอตัวได้

อย่างไรก็ตาม กรณีมากมายที่เกิดขึ้นก็คือ ความกระหายอย่างแรงกล้าที่จะได้ตำแหน่งผู้นำ และได้เสนอตัวเอง แม้ว่าจะมีบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติดีเลิศกว่าเขาก็ตาม เท่ากับเป็นการตัดโอกาสการเป็นผู้นำของผู้ที่มีสิทธิอันสมควรได้รับ เพียงแค่ว่าเขาต้องการจะเป็นผู้ครอบครองอำนาจศูนย์กลางที่สามารถออกคำสั่งใช้และระงับสิ่งต่าง ๆ ได้

9.2 เผด็จการในวงสนทนา

ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการพบปะพูดคุยกัน เขาชอบนั่งเป็นประธาน แสดงความคิดเห็นเพียงคนเดียว โดยให้คนอื่น ๆ ฟังสิ่งที่เขาพูด และต้องการอำนาจบงการเรื่องต่าง ๆ ได้ การทำตัวเป็นผู้นำเผด็จการในวงสนทนาเรียกว่า อัล-มะฮารีบ (โรงเชือด) ซึ่งท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้เตือนเราไว้ว่า

“พวกท่านจงระวัง อัล-มะซาบีหฺ คือ อัล-มะฮารีบ (โรงเชือด หมายถึง ผู้นำเผด็จการในวงสนทนา)” รายงานโดย อัล-บัยฮะกี 439/2 และในเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 120

9.3 ชอบให้ผู้คนยืนให้เกียรติ

เขาชอบให้คนอื่น ๆ ลุกขึ้นยืนเมื่อเขาเข้าไปหาเพื่อสนองต่อความหลงตัวเองว่าเป็นคนสำคัญ อันเกิดจากโรค (ของหัวใจ) ในตัวของเขา

ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ว่า

“ใครก็ตามที่รู้สึกพึงพอใจที่จะให้บ่าวของอัลลอฮฺ (ซ.ล.) ลุกขึ้นยืนเพื่อตัวเขา ดังนั้น เขาจงเตรียมพำนักในบ้านหลังหนี่งในนรก” รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ ในอัล-อะดับ อัล-มุฟร็อต 977 ดูอัล-ซิลชิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะฮฺ 357

มีรายงานว่าครั้งหนึ่งท่านมุอาวียะฮฺ ได้ออกมาพบกับท่าน อิบนุ ซุบัยรฺ และท่านอิบนุ อามมิรฺ แล้วท่านอิบนุ อามิรฺ ได้ลุกขึ้นยืนแต่ท่าน อิบนุ ซุบัยรฺ นั่ง (ในบางรายงานบอกว่า เขา (อิบนุ ซุบัยรฺ) นั้นมีบุคลิกที่มั่นคงและสุขุมกว่า) ท่านมุอาวียะฮฺ ได้กล่าวต่อท่าน อิบนุ อามิรฺ ว่าขอให้ท่านนั่งลงเถิด แท้จริงฉันได้ยินท่านเราะซูล (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ใครก็ตามที่ชอบให้ผู้คนลุกขึ้นยืน (ให้เกียรติ) ต่อเขา ดังนั้นเขาจงเตรียมที่นั่งให้แก่ตัวเขาเองในนรก” รายงานโดย อบู ดาวูด หมายเลข 5229 และ อัล-บุคอรีย์ ในอัล – อะดับ อัล-มุฟร็อต 977 และใน อัช-ชิลชิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะฮฺ 357

มีตัวอย่างคนบางจำพวกที่รู้สึกโกรธ เมื่อมีการนำซุนนะฮฺที่ให้เริ่มจากขวามือก่อน (โดยไม่ได้เริ่มที่เขาก่อน เช่น การเสริฟเครื่องดื่ม) และเมื่อเขาเข้ามายังสถานที่พบปะพูดคุยกัน เขาจะไม่พอใจหากว่าไม่มีใครลุกขึ้นให้ที่นั่งกับเขา แม้ว่าท่านเราะซูล (ซ.ล.) จะห้ามเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“คนหนึ่งไม่ต้องลุกขึ้นให้ที่นั่งกับคนหนึ่ง เพื่อให้เขาได้นั่ง” รายงานโดย บุคอรีย์ อัล-ฟัตหฺ 62/11

10. ตระหนี่ถี่เหนียวพร้อม ๆ กับความโลภ

อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ยกย่องชาวอันศอรฺไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า

“...และให้สิทธิผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเองถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตาม..” (อัล-กุรอาน 59 : 9)

ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้อธิบายถึงผู้ที่ประสบความสำเร็จว่าคือ ผู้ที่ปกป้องตนเองให้พ้นจากความตระหนี่ถี่เหนียว จึงไม่ต้องสงสัยว่า อาการอย่างหนี่งของอีหม่านอ่อนนั้นเกิดมาจากความตระหนี่ถี่เหนียว โดยท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

“ความตระหนี่ (กินความถึงความละโมบด้วย – ผู้แปล) กับอีหม่านน้นจะไม่รวมกันอยู่ในตัวของบ่าวคนใดคนหนึ่งตลอดไป” รายงานโดย อัน-นะซะอียฺ อัล-มุจญตะบา 6/13 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ 2678

อันตรายของความตระหนี่ที่ผสมกับความโลภมีอิทธิพลในตัวคน ๆ หนึ่งนั้น ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้อธิบายไว้ว่า

“พวกท่านจงระวังความตระหนี่ (ที่อยู่พร้อม ๆ กับความโลภ) กลุ่มชนก่อนพวกท่านไดพินาศไปแล้ว เนื่องจากมัน (เพราะ) มันสั่งพวกเขาให้มีใจคับแคบ เห็นแก่ตัว พวกเขาจึงไม่ยอมจ่ายออกไป มันสั่งให้พวกเขาตัดสัมพันธ์เครือญาติ พวกเขาจึงตัดสัมพันธ์เครือญาติ มันสั่งให้พวกเขาทำชั่ว พวกเขาจึงทำชั่ว” รายงานโดย อบู ดาวูด 324/2 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ หมายเลข 2678

ความตระหนี่ถี่เหนียวและอีหม่านอ่อนจึงอยู่ด้วยกัน มันทำให้เขาแทบจะไม่จ่ายสิ่งใดออกไปเพื่ออัลลอฮฺ (ซ.ล.) แม้ผู้มาขอจะขอด้วยความจริงใจ (มิใช่การหลอกลวง) หรือปรากฏความอดอยากเกิดขึ้นต่อพี่น้องมุสลิมของเขา หรือได้เกิดทุกข์ภัยขึ้นกับพวกเขาก็ตาม ไม่มีคำกล่าวใดที่จะกินใจยิ่งกว่าพระดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.ล.) ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“พึงรู้เถิดว่าพวกเจ้านี้แหละ คือ หมู่ชนที่ถูกเรียกร้องให้บริจาคในทางของอัลลอฮฺ แต่มีมบางคนในหมู่พวกเจ้าเป็นผู้ตระหนี่ ดังนั้น ผู้ใดตระหนี่เขาก็ตระหนี่แก่ตัวของเขาเอง เพราะอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงมั่งมี แต่พวกเจ้าเป็นผู้ขัดสน และถ้าพวกเจ้าผินหลังออก พระองค์ก็จะทรงเปลี่ยนหมู่ชนอื่นแทนพวกเจ้า แล้วพวกเขาเหล่านั้นจะไม่เป็นเช่นพวกเจ้า” (อัล-กุรอาน 47 : 38)


........................................
(จากหนังสือ : อีหม่านอ่อน)
เชค มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล – มุนัจญิด : เขียน
อับดุลมะญีด อับดุรรออูฟ : แปลและเรียบเรียง
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น