อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อีหม่านอ่อน ต้องบำบัด



...... วิธีบำบัด ..........

มีรายงานจากท่านฮากิม ในหนังสืออัล-มุสตัดร็อก และจากอัฎ-เฏาะบะรอนียฺ ในมุอฺญัม ว่าท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

“แท้จริงอีหม่านในหัวใจของพวกท่านคนหนึ่งคนใดจะทรุดโทรมเช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่สวมใส่จนเสื่อมสภาพ ดังนั้น พวกท่านจงขอต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) เพื่อให้พระองค์ทำให้อีหม่านมีสภาพใหม่อยู่ในหัวใจของพวกท่าน” รายงานโดย อัล-ฮากิม ในอัล-มุสตัดร็อก ¼ และในอัช ชิลชิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะฮฺ 1585, อัล-ฮัยษะมียฺได้กล่าวไว้ในมัจญมะฮฺ อัช-ซาวาอีด 1/53, รายงานโดย อัฎ-เฏาะบะรอนียฺ ในอัล-กะบีรฺ ด้วยสายรายงานที่ดี

ความหมายก็คือว่า อีหม่านนั้นดำรงอยู่ในหัวใจ เสมือนหนึ่งเสื้อผ้าที่สวมใส่ เมื่อมันเสื่อมสภาพลง มันก็กลายเป็นของเก่า ในบางครั้งหัวใจของผู้ศรัทธาก็ถูกบดบังด้วยเมฆหมอกแห่งบาป มันจึงกลายเป็นความดำมืด ภาพที่ว่านี้ได้รับการวาดให้เห็นด้วยฮะดีษเศาะฮีฮฺของท่านเราะซูล (ซ.ล.) ที่ว่า

“ไม่มีหัวใจดวงใด เว้นเสียแต่จะมีเมฆ (ที่จะมาบดบังมัน) เช่นเดียวกับเมฆ (ที่บดบัง) ดวงจันทร์ ขณะที่มันส่องแสงนั้น เมื่อมีเมฆบดบังมัน มันก็จะมืดมิด เมื่อเมฆจากไป มันก็จะส่องสว่างอีกครา” รายงานโดยอบูนะอีม ในอัล-ฮิลยะฮฺ 2/196 ในอัช-ชิลชิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะฮฺ 2268

บางครั้งเมื่อเมฆเข้ามา มันก็บดบังแสงของดวงจันทร์ หลังจากผ่านไปสักระยะหนึ่งเมฆก็จากไป แสงของดวงจันทร์ส่องสว่างบนฟากฟ้าอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับหัวใจของผู้ศรัทธาที่บางครั้งก็อาจมีเมฆแห่งบาปอันมืดมิดเข้ามาบดบังรัศมีของมัน ทำให้ผู้นั้นตกอยู่ในความมืดและโดดเดี่ยว แต่เมื่อเขาได้ทุ่มเทในการเพิ่มอีหม่าน และด้วยการช่วยเหลือของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เมฆก้อนนี้ก็สลายไป รัศมีก็กลับมาส่องสว่างดังที่มันเคยเป็นมาก่อน

หนึ่งในหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับอีหม่านอ่อนและกรอบความคิดในการบำบัดมันคือต้องรู้ว่าอีหม่าน (ความศรัทธา) ในทัศนะของอิสลามนั้นสามารถ “เพิ่ม” หรือ “ลด” ได้ สิ่งนี้เป็นหลักการมูลฐานในหลักยึดมั่นของ “อะฮฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ” (อันเป็นกระแสหลักของประชาชาติอิสลามส่วนใหญ่ที่ยอมรับกัน – ผู้แปล)

อะฮฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ นั้นถือว่าอีหม่านคือสิ่งที่กล่าวออกมาด้วยวาจา ยึดมั่นด้วยหัวใจ และมีการกระทำผ่านหลักปฏิบัติอิสลามต่าง ๆ อีหม่านสามารถ “เพิ่ม” ได้ด้วยการฏออะฮฺ (เชื่อฟังปฏิบัติตามหลักการอิสลาม) และ “ลด” ลงได้จากการฝ่าฝืน (หลักการอิสลาม) ดังมีหลักฐานที่แสดงไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในอัล-กุรอาน และอัซ – ซุนนะฮฺ ดังเช่นปรากฏในอัล-กุรอาน ว่า

“เพื่อพวกเขาจะได้เพิ่มพูนการศรัทธา ให้กับการศรัทธาของพวกเขา” (อัล-กุรอาน 48 : 4)

“มีใครบ้างในพวกท่านที่บท (ซูเราะฮฺ) นี้ทำให้ท่านศรัทธาเพิ่มขึ้น ?..” (อัล-กุรอาน 9 : 124)

หรือจากคำกล่าวของท่านเราะซูล (ซ.ล.) ที่ว่า

“ใครคนใดจากพวกท่านเห็นความชั่ว ขอให้เขาเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเขา หากเขาไม่สามารถก็ด้วยลิ้น (คำพูด) ของเขา หากไม่สามารถก็ด้วยหัวใจ และนั่นคืออีหม่านที่อ่อนแอที่สุด” รายงานโดยมุสลิม

ผลที่ได้รับจากการฏออะฮฺและการฝ่าฝืนที่มีต่ออีหม่านคือ การเพิ่มและการลดตามลำดับ ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันดีสำหรับผู้ที่สังเกตเห็นหรือผู้ที่มีประสบการณ์ หากบุคคลหนึ่งได้ออกไปเดินในตลาด แล้วมองไปยังการแต่งกายประชันโฉม ได้ยินเสียงตะโกนและการพูดจาไร้สาระของคนในตลาด จากนั้นเขาออกไปยังสุสาน แล้วเข้าไปครุ่นคิดในนั้น หัวใจของเขาก็ย่อมอ่อนละมุน เขาได้พบความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสภาพของสถานที่ทั้งสองแห่งและหัวใจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

มีข้อคิดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้จากคำกล่าวของชาวสลัฟบางคนที่ว่า “ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง (ก็คือ) การรู้ถึงการล่อลวงของชัยฏอนเมื่อมันมายังเขา” อ้างจาก ชัรหฺ เนานียะฮฺ อิบนุ กอยยิม โดยอิบนุ อีซา 2/140

ดังนั้น เขาต้องรู้ว่า ถ้าอีหม่านลดจนถึงระดับที่จะนำไปสู่การละทิ้งเรื่องวาญิบ (ภาระบังคับทางศาสนา) หรือไปสู่การกระทำในเรนื่องที่ต้องห้าม นี่คือ ความเฉื่อยชาที่เป็นอันตรายและน่าตำหนิ เขาต้องเตาบะฮฺ (กลับเนื้อกลับตัว) ต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) และต้องเริ่มต้นการบำบัดตัวเขาเอง

ส่วนบุคคลที่ความเฉื่อยชาที่ว่านี้ ยังไม่ถึงขั้นที่ทำให้เขาต้องทิ้งการปฏิบัติสิ่งวาญิบ เพื่อกระทำสิ่งฮะรอม เขาก็ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉย แต่ต้องหันไปสู่การปฏิบัติเรื่องมุสตะฮับ (สิ่งที่ศาสนาส่งเสริมแต่ไม่บังคับ) ให้มาก ฉะนั้นบุคคลผู้นี้จำเป็นต้องรู้จักควบคุมตัวเอง จัดตัวเองให้อยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง และยึดทางสายกลาง จนกว่าเขาได้กลับสู่สภาพที่เปี่ยมไปด้วยพลัง และความกระตือรือร้นในการทำอิบาดะฮฺ นี่คือประโยชน์ที่ได้รับจากคำกล่าวของท่านเราะซูล (ซ.ล.) ที่ว่า

“ทุก ๆ การกระทำมีกำลังวังชา และทุก ๆ กำลังวังชามีช่วงเวลา ใครที่ (นำ) กำลังวังชาของเขาไปสู่แบบอย่างของฉัน เขาอยู่ในทางนำ สำหรับผู้ที่ (นำ) กำลังวังชาของเขาไปสู่สิ่งอื่น เขาได้พินาศแล้ว” รายงานโดยอะหมัด 2/210 และในเศาะฮีฮฺ อัต ตัรฆีบ หมายเลข 56

ก่อนที่จะเริ่มต้นอภิปรายเกี่ยวกับวิธีบำบัดอีหม่านอ่อน มีข้อสังเกตไว้ดังนี้ คนจำนวนมากที่รู้สึกว่าหัวใจของเขาแข็งกระด้าง กำลังค้นหาวิธีการเยียวยาจากภายนอก พวกเขาหันไปพึ่งพาคนอื่น ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็สามารถเยียวยาตัวเองได้ (หากพวกเขาต้องการจะทำ) นี่คือหลักพื้นฐานในการบำบัด (คือการยืนหยัดด้วยตนเอง) เพราะว่าอีหม่านนั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างบ่าวกับผู้เป็นเจ้าของเขา

ต่อไปนี้เป็นวิธีการทางชะรีอะฮฺที่มุสลิมคนหนึ่งสามารถบำบัดอีหม่านอ่อนและหัวใจแข็งกระด้างในตัวของเขา หลังจากได้มอบหมายต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) และนำตัวเขาเข้าสู่การต่อสู้ดิ้นรน




........................................
เชค มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล – มุนัจญิด : เขียน
อับดุลมะญีด อับดุรรออูฟ : แปลและเรียบเรียง
(จากหนังสือ : อีหม่านอ่อน)
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น