อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อาการอีหม่านอ่อนของมุสลิม


...... อาการ ..........

โรคที่ก่อให้เกิดอีหม่านอ่อนนั้นมีหลายโรคและปรากฏอาการที่หลากหลาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

18. กลัวทุกข์ภัยและปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องประสบ

อาการหนึ่งของอีหม่านอ่อน คือ อาการกลัวและตื่นตระหนกต่อทุกข์ภัยและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นท่านจะพบว่าบุคคลเช่นนี้จะมีอาการตัวสั่น สูญเสียความสมดุล (ลนลาน) ขวัญหนีดีฝ่อ ตาเหลือก ทำอะไรไม่ถูกเมื่อต้องประสบกับทุกข์ภัยและการทดสอบ ดังนั้นดวงตาของเขาจึงมองไม่เห็นทางออกและถูกครอบงำด้วยความหวาดวิตก เขาไม่สามารถเผชิญหน้ากับความเป็นจริงด้วยจิตใจที่หนักแน่น ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง สภาพทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากอีหม่านที่อ่อนแอของเขา หากอีหม่านของเขาเข้มแข็ง แน่นอนว่าเขาจะต้องเป็นคนหนักแน่น จึงสามารถเผชิญหน้ากับทุกข์ภัยที่ร้ายกาจและการทดสอบที่หนักหนาด้วยความหนักแน่นและแข็งแกร่ง

19. ชอบทะเลาะถกเถียงกัน

อาการหนึ่งของอีหม่านอ่อน คือ ชอบทะเลาะถกเถียงกัน ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

“ไม่มีกลุ่มชนใดที่หลงทางหลังจากได้รับทางนำแล้ว เว้นแต่พวกเขาได้มาสู่การถกเถียงกัน” รายงานโดย อะหมัด ในอัล-มุสนัด 5/252 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ 5633

การถกเถียงดังกล่าวคือ การถกเถียงที่ปราศจากหลักฐาน และไม่มีวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องซึ่งจะนำไปสู่ความห่างไกลจากแนวทางที่เที่ยงตรง การถกเถียงส่วนมากที่เกิดขึ้นท่ามกลางผู้คนทุกวันนี้นั้น เป็นเรื่องหาประโยชน์อะไรมิได้เลย พวกเขาพากันถกเถียงกันโดยปราศจากความรู้ ทางนำจากผู้เป็นเจ้า และคัมภีร์อันเจิดจรัส (อัล-กุรอาน) จึงมีแรงจูงใจที่เพียงพอแล้วที่จะละทิ้งลักษณะอันน่ารังเกียจนี้เสีย ด้วยคำกล่าวจากท่านนบี (ซ.ล.) ที่ว่า

“ฉันขอประกันปราสาทชั้นนอกของสวนสวรรค์ให้แก่ผู้ที่ละทิ้งการถกเถียงกัน แม้ว่าเขาผู้นั้นจะมีความชอบธรรม (ที่จะเถียง) ก็ตาม รายงานโดย อบูดาวูด 5/150 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ 1465


20. หมกมุ่นกับโลกนี้และสุขสันต์ไปกับมัน

อาการหนึ่งของอีหม่านอ่อน คือ ผูกพันอยู่กับโลกนี้ มีความลุ่มหลงและสุขสันต์ไปกับมัน ความลุ่มหลงที่หัวใจของเขามีต่อโลกนี้ถึงขั้นที่ว่าเขารู้สึกปวดร้าว เมื่อเขาต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป อันได้แก่ปัจจัยแห่งความสุขต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ สถานภาพ และที่พักอาศัย และเขาเชื่อว่าตัวเขาเองคือผู้สูญเสียที่โชคร้าย เนื่องจากเขาไม่ได้รับในสิ่งที่คนอื่น ๆ เขาได้รับ

เขายังรู้สึกปวดร้าวและเจ็บช้ำใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเขาเห็นพี่น้องมุสลิมของเขาได้รับบางอย่างจากปัจจัยความสุขของโลกนี้ในสิ่งที่เขาไม่มี เขาบังเกิดความริษยาและอยากให้ความโปรดปรานอันนั้นสูญสลายไปจากพี่น้องมุสลิมคนนั้น สภาพเช่นนี้เป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้กับอีหม่าน ดังทีท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ว่า

“อีหม่านและความอิจฉานั้นจะไม่รวมอยู่ในหัวใจของบ่าวคนหนึ่ง” รายงานโดย อบู ดาวูด 5/150 และในเศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ 1464

21. ยึดเหตุผลมนุษย์เป็นใหญ่

อาการหนึ่งของอีหม่านอ่อน คือ การยึดเอาคำพูดของมนุษย์ และวิธีการของเขาที่เป็นเหตุผลล้วน ๆ โดยปราศจากลักษณะที่มีอีหม่าน จนกระทั่งท่านเกือบจะไม่พบว่า ในคำพูดของบุคคลผู้นี้จะสามารถสืบสาวหลักการได้จากตัวบทที่มาจากอัล-กุรอาน อัซ-ซุนนะฮฺ หรือทัศนะของชาวสลัฟ (ชนรุ่นแรก)

22. ใช้ชีวิตอย่างสำราญ

อาการหนึ่งของอีหม่านอ่อน คือ การทุ่มเทความสนใจอย่างเลยเถิดกับชีวิตส่วนตัว เช่น ต่ออาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า อาหาร ท่านจะพบว่าเขาให้ความสนใจต่อความหรูหราอย่างที่สุด ดังนั้น เขาจะประดับประดาชีวิตของเขาอย่างพิถีพิถัน พยายามหาซื้อเสื้อผ้าที่เลิศหรู ตกแต่งที่พักอาศัย ยอมจ่ายเงินทองและเสียเวลาไปกับการสร้างความสวยหรูดังกล่าวทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความจำเป็นหรือขาดเสียไม่ได้สำหรับเขา ขณะเดียวกันพี่น้องมุสลิมกลับมีความจำเป็นต้องใช้เงินทองดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เขายังคงดำเนินชีวิตทั้งหมดไปเช่นนี้ จนจมปลักอยู่กับความสำเริงสำราญที่เข้าข่ายเป็นสิ่งต้องห้าม

มีฮะดีษรายงานจากท่านมุอาซ บินญะบัล (ร.ฎ.) ขณะที่ท่านนบี (ซ.ล.) ได้ส่งเขาไปยังประเทศเยเมน ท่านได้สั่งเสียว่า

“ท่านพึงระวังการใช้ชีวิตอย่างสำราญ สำหรับบ่าวของอัลลอฮฺจะต้องไม่ใช่คนที่มีชีวิตอยู่กับความสำราญ” รายงานโดย อบู นะอีม ใน อัล-ฮิลละฮฺ 5/155 และในอัซ-ซิลซิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะฮฺ 353 และในรายงานของอะหมัด ด้วยสำนวน อิยายะ ในอัล-มุสนัต 5/243

........................................
(จากหนังสือ : อีหม่านอ่อน)
เชค มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล – มุนัจญิด : เขียน
อับดุลมะญีด อับดุรรออูฟ : แปลและเรียบเรียง
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น