สำหรับบทความนี้จะขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาในส่วนของศาสนา ซึ่งจริงๆแล้วเรียนว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้นำเสนอเนื้อหาที่ผิดแผกไปจากหลักสูตรตามตำราเรียนของกระทรวงศึกษาแต่อย่างใด เพียงแต่เราจะขอนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาในอีกมุมเพียงเท่านั้น
เผื่อว่าต่อไปทางกระทรวงศึกษาจะได้พิจารณาปรับปรุง
หนังสือ “Social Studies สรุปสังคม มัธยมปลาย”
หนังสือเตรียมสอบในห้องเรียน และเตรียมสอบ O-NET ของ สถาบันกวดวิชา ‘ติวเตอร์พอยท์’
ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องศาสนาไว้ดังต่อไปนี้
Social Studies หน้า 7 :
3.) บ่อเกิดของศาสนา
1. ความไม่รู้ : ความไม่รู้จักปรากฏการณ์ธรรมชาติ จึงคิดว่ามีสิ่งเหนือธรรมชาติ
2. ความกลัว : สืบเนื่องจากความไม่รู้ จึงทำให้เกิดความกลัว จนมีการบนบานขอความเมตตาปรานี
3. ความภักดี : เชื่อว่าสิ่งที่ตนเลื่อมใสจะอำนวยประโยชน์ให้ ทำให้เกิดศาสนาประเภทอเทวนิยม
4. ปัญญา : เน้นศึกษาหาความเป็นจริงเป็นสำคัญไม่เชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ ทำให้เกิดศาสนาประเภทอเทวนิยม
4.) ประเภทของศาสนา
1. เทวนิยม ........
2. อเทวนิยม (Atheism) คือศาสนาที่ไม่นับถือพระเจ้า ไม่มีพระเจ้า ไม่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งขึ้น เช่น ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน
Social Studies หน้า 44 :
สถาบัน > ศาสนา
ความสำคัญ/หน้าที่ >
-เป็นสถาบันที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ และความกลัว
-เป็นสถาบันที่ส่งเสริมทางด้านจิตใจ
.....
-มีหน้าที่ควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคม
>>>>>>>>>>>>>>>>
ชี้แจง :
สรุปได้ว่า ตำราเรียนกำลังสื่อว่า ศาสนานั้นเกิดมาจากความรู้ในธรรมชาติ (กล่าวคือมนุษย์ยุคก่อนไม่รู้ในวิทยาศาสตร์) มีความกลัวจึงหาที่พึ่งทางใจ โดยอุปโลกน์สิ่งที่ตนเองจะเคารพบูชาขึ้นมาเพื่อวิงวอนขอความช่วยเหลือ แล้วก็มีความหวังในการที่จะมีรางวัลตอบแทนหลังความตาย อีกทั้งผู้ปกครองยังใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครองสังคมให้มีระเบียบ (คือกลัวผลกรรมก็เลยต้องรักษากติกาที่ศาสนาร่างไว้)
ความเข้าใจดังกล่าวเป็นความคิดซึ่งดูถูกศาสนิกจากฝ่ายอศาสนิกซึ่งเติบโตมาในช่วงยุคที่พวกเขาให้ชื่อว่าเหตุผลนิยม หรือยุคแสงสว่างแห่งปัญญา ผู้คนในยุโรปเริ่มหันหลังให้คริสตจักรที่ตามวิทยาศาสตร์ไม่ทันและไม่เปิดรับในช่วงนั้น จึงทำให้เหมารวมว่าความเชื่อในศาสนาทั้งหมดรวมถึงศาสนาอื่นๆเป็นเรื่องที่ถูกปั้นแต่งขึ้น จึงทำให้เกิดลัทธิวัตถุนิยมและตามมาด้วยกลุ่มดาร์วินซึ่งหาทางออกเรื่องการกำเนิดมนุษย์ในมิติใหม่
ความจริงโดยรวมแล้วศาสนาไม่ได้เกิดมาจากความไม่รู้ในธรรมชาติ แต่เกิดมาจากการมีภูมิปัญญาในธรรมชาติเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีนักวิชาการและกลุ่มภราดรภาพทางความเชื่อในตะวันตกจำนวนมากที่สนใจและยกย่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาความรู้ของคนยุคโบราณ ซึ่งสามารถมีความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ การใช้ปฏิทิน (ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ก็มาจากการใช้ความรู้ทางดาราศาสตร์มาประยุกต์) ชาวอียิปต์สามารถสร้างพีระมิดเพื่อแสดงสัญลักษณ์การไปสู่เทพเจ้าได้อย่างน่าอัศจรรย์
ส่วนสำหรับศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว หรือที่มาของศาสนาอิสลามนั้นถือได้ว่าเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุด (หากไม่นับเรื่องที่ชาวลัทธิดาร์วินไม่เชื่อก็คือมนุษย์มาจากอาดัมแล้ว) สามารถกลับไปดูเรื่องราวของศาสดาโนอาห์หรือนบีนูห์ ซึ่งเป็นประวัติของการนับถือพระเจ้าองค์เดียว มาจนถึงอับราฮามหรือนบีอิบรอฮีม ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเซมิติค ซึ่งแน่นอนว่าศาสดาเหล่านั้นรับสารมาจากพระเจ้า ส่วนการศรัทธาของผู้คนไม่ได้เกิดจากความไร้ปัญญา แต่เกิดจากการใช้ปัญญา ใคร่ครวญพิจารณาในธรรมชาติ คิดถึงเหตุผลในความน่าจะเป็นว่าธรรมชาติถูกออกแบบและสรรสร้างมา หรือถือกำเนิดมาด้วยความไม่ตั้งใจ กรณีไหนกินกับปัญญาและสมเหตุสมผลกว่ากัน หรือการเลือกระหว่างการศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว กับพระเจ้าที่ผู้คนอุปโลกน์ จินตนาการและปั้นรูปเคารพขึ้นมานั้น กรณีไหนควรจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ
ส่วนที่กล่าวถึงศาสนาอเทวนิยม (เช่นพุทธ และเชน) ว่าเป็นศาสนาที่กำเนิดมาจากปัญญา การใช้เหตุผล ตรงนี้ขอให้พี่น้องชาวไทยตั้งสติซักนิดว่าแฟร์ไหม กับการกล่าวถึงศาสนาเทวนิยมแบบหนึ่ง แล้วก็กล่าวถึงอเทวนิยมอีกแบบหนึ่ง? แต่ทั้งนี้ทังนั้นเนื้อหาในส่วนนี้มันเกิดมาจากการร่างเนื้อหาโดยคนไทยเองซึ่งนับถือศาสนาพุทธ
ก็เนื่องจากหลักสูตรตะวันตก นิยามคำว่า “ศาสนา” นั้นคือ ‘การเชื่อในพระเจ้า’ ซึ่งสำหรับศาสนาพุทธเขามีข้อเห็นต่างว่าเป็นศาสนาหรือไม่ หรือเป็นแค่ลัทธิ เพราะมีบางกระแสอ้างว่าไม่เชื่อในพระเจ้า แต่สำหรับชาวตะวันตกส่วนหนึ่งถือว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการสักการบูชาเทพเจ้า เพราะนิยามของพระเจ้าหรือเทพเจ้าสำหรับชาวตะวันตกนั้นสามารถเป็นมนุษย์ได้ คือกึ่งมนุษย์กึ่งเทพ เช่น พระเยซู ก็เป็นมนุษย์ แต่ถูกบูชาในสถานะพระเจ้า ฉะนั้นพระเยซูก็ถือเป็นพระเจ้าสำหรับศาสนาคริสต์ ขณะเดียวกันศาสนาพุทธ ก็มีการบูชาพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นมนุษย์ แต่มีสถานะยกย่องประหนึ่งเป็นเทพ
(โปรดจับใจความให้ดีว่า เราไม่ได้ตำหนิติเตียนศาสนาพุทธ เพราะเราไม่ได้ยกย่องวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเครื่องพิสูจน์สัจธรรม)
จริงๆแล้ว เนื้อหาในตำราเรียนมันเป็นการประยุกต์ศาสนาพุทธให้เป็นไปตามยุคสมัยของลัทธิดาร์วิน และวัตถุนิยม (ไม่เชื่อในสิ่งเร้นลับ) ทั้งที่จริงๆแล้วศาสนาพุทธขัดแย้งกับลัทธิดาร์วินโดยสิ้นเชิง และเป็นศาสนาที่เชื่อในสิ่งเร้นลับ เช่นสภาวะนิพพาน หรือเรื่องของผลกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์หรือทฤษฎีใดๆทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดถูกระบุว่าเป็นบิดาแห่งการค้นพบเรื่องนิพพาน ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดถูกระบุว่าค้นพบเรื่องกรรม (มีแต่ระบุว่าใครค้นพบเรื่องแรงโน้มถ่วง ใครค้นพบเรื่องสัมพันธภาพ เป็นต้น) ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ถือเป็นความเชื่อที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ (ส่วนประเด็นว่าศาสนิกในทุกๆศาสนามักอ้างว่าศาสนาตนมีความเป็นวิทยาศาสตร์ อันนี้อีกกรณีหนึ่ง)
เรามาดูตัวอย่างในหนังสือ Social Studies เอง ได้กล่าวไว้ ดังต่อไปนี้
หน้า 23 :
7) นิกายของศาสนาพุทธ
.....
นิกาย
เถรวาท (หรือ หินยาน)
.....
-จุดมุ่งหมาย คือ การบรรลุนิพพาน
.....
อาจาริยาวาท (หรือ มหายาน)
......
-จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การบรรลุเป็นพระโพธิสัตว์
>>>>>>>>>>>>>>>
ชี้แจง :
จะเห็นได้ว่า ทั้งสองนิกายก็ถือว่าเป็นอเทวนิยม (ซึ่งทางหนังสือบอกว่าเกิดจากปัญญาและเหตุผล) ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นความเชื่อนอกเหนือวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องของนิพพาน และการบรรลุเป็นพระโพธิสัตว์
นอกจากนั้นแล้วในส่วนของพิธีกรรมทางศาสนา ในหนังสือ Social Studies ได้ระบุไว้ดังนี้
หน้า 37 :
พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
1) พิธีกรรมของพุทธศาสนานิกายเถรวาท
.........
4. หมวดปกิณกพิธี เป็นพิธีเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่างๆ เช่น วิธีกรวดน้ำ วิธีอาราธนาพระปริตร เป็นต้น
2) พิธีกรรมของพุทธศาสนานิกายมหายาน
.........
3. พิธีกงเต็ก เป็นพิธีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นประเพณีอันเก่าแก่สืบทอดมาแต่โบราณของชาวจีน จะมีการสวดและเผากระดาษที่ทำเป็นรูปร่างต่างๆ
>>>>>>>>>>>>>>>
ชี้แจง :
จะเห็นได้ว่า พิธีกรรมต่างๆในศาสนาพุทธนั้นสื่อถึงการมีความเชื่อซึ่งวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ไม่ว่าจะการกรวดน้ำ และการเผากงเต็ก เป็นต้น
สำหรับความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ก็มีระบุทั้งในคัมภีร์ และมีทั้งส่วนของชีวประวัติบุคคลตัวอย่าง ดังที่ระบุในหนังสือ Social Studies ดังนี้
(พุทธสาวก พุทธสาวิกา และชาวพุทธตัวอย่าง)
หน้า 39 :
พระนางมัลลิกา
.....
ตกนรกเพียง 7 วัน ก็ได้ไปสวรรค์ชั้นดุสิต ปฏิบัติธรรมจนบรรลุชั้นโสดาปัตติผล
>>>>>>>>>>>>>>>>
ชี้แจง :
เรื่องราวการตกนรก 7 วัน และเรื่องราวของสวรรค์ชั้นดุสิต ไม่พบว่ามีนักวิทยาศาสตร์หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใดๆค้นพบ
ส่วนสำหรับสถานะมนุษย์กึ่งเทพ หรือการบูชามนุษย์ในสถานะเทพเจ้าก็มีในศาสนาพุทธดังที่หนังสือ Social Studies ระบุไว้ดังนี้
หน้า 40 :
คำแปลบทสวดมนต์
1) บทสวดนมัสการพระพุทธเจ้า
นโมตัสสะ ภะคะวะโต ....
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น....
2) บทสวดพระพุทธคุณ
อิติปิโส ภะคะวา
เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
................
สัตถา เทวะมะนุสสานัง
เป็นครูผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
............
4)บทสวดพระสังฆคุณ
...........
อาหุเนยโย
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
>>>>>>>>>>>>>>>
ชี้แจง :
พระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธนั้นถูกยกสถานะเป็นผู้มีพระภาคเจ้า คู่ควรแก่การสักการบูชา และมีสถานะเป็นถึงผู้สอนเทวดา ซึ่งก็ไม่พบว่าความเชื่อนี้ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์
เราจะเห็นได้ชัดว่าศาสนาพุทธเองก็สอนในเรื่องสิ่งที่จะได้รับจากการปฏิบัติ นั่นก็คือหวังว่าจะได้รับผลกรรมที่ดี และกลัวต่อผลกรรมที่ไม่ดี ซึ่งมีผลรวมไปถึงชีวิตหลังความตายด้วย มีเรื่องราวของอุทิศผลบุญ มีเรื่องราวของนรกสวรรค์
ฉะนั้นข้อสรุปคือ ทุกๆศาสนาไม่ว่าจะศาสนาใดๆก็ตาม (เมื่อมีองค์ประกอบครบเป็นศาสนาแล้ว) เป็นเรื่องของความเชื่อ เป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้โดยวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราเองก็ขอทำความเข้าใจ ณ ที่นี้ว่า วิทยาศาสตร์เป็นเพียงกระบวนการศึกษาธรรมชาติตามขีดความสามารถของมนุษย์ จากการสังเกต ตั้งสมมุติฐาน ทำการพิสูจน์และหาข้อสรุป ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่ามันจะให้คำตอบทุกเรื่องที่มีอยู่จริง เพราะเรื่องที่อยู่นอกเหนือความสามารถของมนุษย์ที่จะพิสูจน์ย่อมมีอยู่แน่นอน (แต่อาจมีสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์มีความสามารถหยั่งรู้ได้ เท่านี้ก็ถือว่านอกนิยามคำว่าวิทยาศาสตร์แล้ว)
และการนำเสนอเรื่องของการกำเนิดและวิวิฒนาการของศาสนา ก็เป็นเพียงการสันนิษฐานคาดเดา ไม่ได้มีหลักฐานใดๆยืนยันได้ ฉะนั้นน่าจะนำเสนอบนความหลากหลายทางทัศนะและความเชื่อ ว่าคนกลุ่มใดเชื่อในการกำเนิดศาสนาอย่างไร
อีกประเด็นทิ้งท้าย ในหนังสือ Social Studies ได้กล่าวในส่วนของศาสนาคริสต์ไว้ดังนี้
หน้า 12 :
ศาสนาคริสต์
บรรทัดที่ 3
มีวิวัฒนาการมาจากศาสนายูดาย
>>>>>>>>>>>>>>
ชี้แจง :
ที่จริงแล้ว การจะนำเสนอเนื้อหาของศาสนาใด ก็ควรให้เป็นไปตามความเชื่อของศาสนานั้นๆอย่างตรงไปตรงมา ศาสนิกในศาสนานั้นเขาเชื่ออย่างไรก็ให้ระบุไปตามสิ่งที่เขาเชื่อ การกล่าวถึงศาสนาคริสต์ตามมุมของนักบูรพาคดี หรือมุมของชาวพุทธ ก็ถือว่าไม่แฟร์ที่ว่าศาสนาคริสต์วิวัฒนาการมาจากศาสนายูดาย เพราะชาวคริสต์เขาไม่ได้เชื่อแบบนั้น แต่เขาเชื่อว่าโมเสสถือเป็นผู้เผยวัจนะในฉบับคัมภีร์เก่า (Old testament)
เมื่อกล่าวถึงศาสนาพุทธ กลับกล่าวตามมุมความเชื่อของชาวไทยพุทธ ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงศาสนาอื่นก็ควรให้เป็นไปตามมุมความเชื่อของศาสนิกนั้นๆ เพราะตำราเรียนก็มีไว้เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้รู้และเข้าใจเพื่อนสมาชิกในสังคมที่ประกอบไปด้วยคนที่หลากหลายทางความเชื่อ
....................................
<ลิงค์เกี่ยวข้อง>
ชี้แจงข้อคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับนิกายในอิสลาม
https://www.facebook.com/assabikoonthailand/photos/a.589552777733187.1073741825.465123040176162/831832146838581/?type=1&relevant_count=1
โดยอัซซาบิกูน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น