อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของหนังสือบัรซันญียฺ





          บัรซันญียฺ (بَرْزَنْجِى ) เป็นชื่อของหนังสือบทกวีร้อยแก้ว (نَثْرٌ ) และร้อยกรอง (نظم )  เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อการสรรเสริญ ท่านนบีมูหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม หนังสือเล่มนี้ มีชื่อว่า “มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม” ประกอบไปด้วยบทต่าง ๆ ดังนี้

1. เมาลูด อัลบัรซันญียฺ นัษรฺ (ร้อยแก้ว)
2. เมาลูด อัลบัรซันญียฺ นัซมฺ (ร้อยกรอง)
3. เกาะศีดะฮฺ อัลบุรดะฮฺ อัลมุบาร่อกะฮฺ (กาพย์-โคลง)
4. อัดอิยะฮฺ คอตฺมิลเมาลูด (รวมบทดุอาอฺ)
5. อะกีดะตุลเอาวามฺ (หลักศรัทธา)
6. รอติบ สัยยิดินา อัลฮัดดาดฺ
7. ตัลกีน อัลมัยยิตฺ
8. ดุอาอฺ นิซฟิชะอฺบานฺ
9. เมาลูด ดีบะอฺ

รวม 9 บท และเนื่องจากหนังสือเล่มนี้ รวมบทประพันธ์ของ อัลบัรซันญียฺ ไว้ถึง 2 บทจึงเรียกชื่อหนังสือเล่มนี้รวม ๆ ว่า อัลบัรซันญียฺ

ผู้แต่ง

อัลบัรซันญียฺ (อัลบัรซันญียฺ, เมาลดุลบัรซันญียฺ, ม.ป.ท., ม.ป.ป., หน้าที่ : 53) เป็นนามชื่อของท่านอัลลามะฮฺ มุหัดดิษ สัยยิด ญะอฺฟัร บิน หะสัน บิน อับดิลการีม บินมูหัมมัด บิน เราะสู้ล บิน อับดิสสัยยิด บิน กอลนะดัร บิน อับดิสสัยยิด บินอีสาอัลอะหฺดับ บิน หุสัยนฺ บิน ยะซีด บิน อับดิลการีม บิน อีสา อัลบัรซันญียฺ บิน อาลี บิน ยูสุฟ บิน มูหัมมัดมันศูร บิน อับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮฺ บิน อิสมาอีล อัลมุหัดดิส บิน มูสา บิน อิสมาอีล บิน มูสา อัลกาซิม บิน ญะอฺฟัร อัศศอดิก บิม มูหัมมัด อัลบากิร บิน อาลี ซัยนุ้ลอาบีดีน บินหุสัยนฺ บิน อะลีวะฟาฎิมะฮฺอัซซะฮฺรออฺ สืบเชื้ยสายมาจากลูก หลานของชาวชีอะฮฺ (อัลบัรซันญียฺ  2000. จากอินเตอร์เน็ต.) ท่านเสียชีวิตในปี  ฮ.ศ.1177 บางรายงานกล่าวว่า อัลบัรซันญียฺเสียชีวิตในปี ฮ.ศ.1184 (อัลบัรซันญียฺ, แหล่งเดิม, หน้าที่ : 53)

อัลบัรซันญียฺ เป็นเจ้าของหนังสือเมาลิดที่รู้จักกันดีว่า “เมาลิด อัลบัรซันญียฺ” ซึ่งมีอีกชื่อ ก็คือ “อักดุลเญาฮัรฺ ฟี เมาลิดินนบี อัลอัซฮัร” นับเป็น หนังสือเมาลิดที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดและแพร่หลายมากที่สุดที่ทั้งชาวอาหรับและมิใช่ชาวอาหรับ นิยมอ่านในโอกาสต่าง ๆ มีเนื้อหาสรุปถึงอัตชีว ประวัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นับแต่เกิดจนกระทั่งสิ้นชีวิต โดยเริ่มต้นด้วย ประโยคที่ว่า :

أَبْتَدِئُ الإِمْلاَءَ باِسْمِ الذَّاتِ الْعَلِيَّةِ

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม, ม.ป.ท., ม.ป.ป., หน้าที่ : 72)

ท่านอัลลามะฮฺ ฟะกีฮฺ ชัยคฺ อบู อับดิลลาฮฺ มุหัมมัด อิบนุ อะหฺมัด อิลลิชฺ เสียชีวิต ฮ.ศ.1299 ได้อรรถาธิบายบทประพันธ์ร้อยแก้วนี้เอาไว้โดยให้ชื่อ ว่า “อัลเกาลุลมุนญี อะลา เมาลิดิลบัรซันญียฺ” และหลานชายของท่านอัลบัรซันญียฺ คือ อัลลามะฮฺ ซัยยิด ซัยนุ้ล อาบิดีน บิน มุหัมมัด อัลฮาดี บินซัยนุ้ลอาบีดีน บิน หะสัน บิน อับดิลการีม บิน มูหัมมัด บิน เราะสู้ล อัลบัณซันญียฺ อัลหุสนียฺ (อุมัรริฎอกะฮาละหฺ มุอฺญะมุลมุอัลลิฟีน, มุอัสสะสะฮฺอัรริสาละฮฺ, ม.ป.ป., เล่ม1, หน้าที่ : 488, เลขที่ :  3666) ซึ่งเชื้อสายจะมาบรรจบที่ สัยยิดอิสมาอีล บิน มูสา อัลกาซิม บิน ญะอฺฟัร อัศศอดิก บิน มูหัมมัด อัลบากิร บินอาลี ซัยนุ้ลอาบีดีน บิน หุสัยนฺ สืบเชื้อสายมาจากลูกหลานของชาวชีอะฮฺเช่นเดียวกันกับปู่ของเขา (อัลบัรซันญียฺ 2005.  จากอินเตอร์เน็ต.) ซึ่งได้ประพันธ์เป็นร้อยกรอง รวม 198 บทกวี โดยเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า :

بَدَ أتُ بِاسْمِ الذَّ اتِ عَالِيَة الشَّانِ

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม, ม.ป.ท., ม.ป.ป.,  หน้าที่ : 110)

บทกวีร้อยกรองนี้มีชื่อว่า “อัลเกากับ อัลอันวัรฺ อะลา อักดิ อัลเญาฮัร ฟี เมาลิดินนบียฺ อัลอัซฮัรฺ” ท่านชัยคฺ มุหัมมัด นะวาวียฺ อิบนุ อุมัร อิบนิ อะเราะบียฺ อิบนิ อะลี อัลญาวียฺ ได้อรรถาธิบายบทกวีร้อยกรองนี้ในหนังสือ ตัรฆีบุลมุชตากีน

สาเหตุของการแต่งหนังสือบัรซันยีญ

ในปี ฮ.ศ. 586 กษัตริ์ราชวงค์อัยยูบียฺที่มีนามว่า มุซอฟฟะรุดดีน ผู้ปกครองเมือง อิรบิล ได้รื้อฟื้นงานเมาลิดนบีมูหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะ สัลลัม ขึ้นมาจัดอีก (การจัดงานเมาลิดนบีเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอียิปต์ เมื่อปี ฮ.ศ. 362 ซึ่งขณะนั้นราชวงค์ฟาฏิมียะฮฺนับถือชีอะฮฺ อิสมาอีลียะฮฺ (คนละนิกายกับชีอะฮฺอิษนัยอะชะรียะฮฺ 12อีหม่าม) เป็นผู้ปกครองอียิปต์ ) เป็นการจัดงานเมาลิดระดับรัฐบาล ได้มีหนังสือเรียนเชิญประชาชน ใกล้เคียง เช่น ชาวบัฆดาด เมาซุล ญะซีเราะฮฺ อีหร่าน มาร่วมงาน พวกที่ถูกเชิญจะทยอยออกเดินทางจากเมืองของตนตั้งแต่เดือนมุหัรรอม และมารวมตัวกันในตอนต้นของเดือนรอบีอุ้ลเอาว้าลพอดี งานในยุคนี้จึงใหญ่โตมากมีทั้งมโหสพบันเทิงตลอดงาน ก่อนงานวันจริงสองวัน พวกข้าราชการจะได้แห่แหนสัตว์ที่จะนำไปปเชือดเพื่อทำอาหารเลี้ยงแขก มีวัว อูฐ แพะ แกะเป็นฟูงๆ จึงนับได้ว่า เป็นพิธีที่ใหญ่โตมากเป็น ประวัติการณ์ (มูนีร (สมศักดิ์) มูหะหมัด, วันและเดือนที่สำคัณในอิสลาม, สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ, กรุงเทพฯ, 2540, หน้าที่ : 34)
ได้มีผู้เขียนชมเชย การจัดงานเมาลิด บุคคลแรกได้แก่ อบู ค็อฏฏ็อบ อิบนุ อัลฮียะฮฺ โดยได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “อัตตันวีร ฟีเมาลิดิลบะชีร” โดยที่ท่านกษัตริ์อัลมุซอฟฟัรได้ให้รางวัลเป็นเงิน 1,000 ดีนาร (อับดุลลอฮฺ ศอลิหฺ, “อัลอิบติฮาลาตวัลมะดาอิหฺฟีหะฎอรอเมาตฺ”  2010 จากอินเตอร์เน็ต.) ในหนังสือ “มิรอาตุซซะมาน” กล่าวว่ากษัตริย์อัลมุซอฟฟัร เป็นผู้ประดิษฐ์อุตริกรรมเมาลิด พระองค์ได้ทรงให้จัดเตรียมอาหาร เลี้ยงขึ้นโดยเป็น แกะย่าง 5,000 ตัว ไก่ 10,000 ตัว ม้า 100 ตัว เนยแข็ง 100,000 ชิ้น ขนมหวาน 30,000 จาน และสิ้นค่าใช้จ่ายในการจัดงานมาก กว่า 300,000 ดิรฮัม พระองค์ได้สดับฟัง การอ่านขับร้องบทสรรเสริญท่านนบีมูหัมมัด  ตั้งแต่เวลา ซุฮรฺ จนกระทั่งถึงเวลารุ่งอรุณของวันใหม่ บางครั้งพระองค์ ก็ทรงลงไปเต้นกับพวกนักเต้นทั้งหลายด้วย (มูนีร (สมศักดิ์) มูหะหมัด, แหล่งเดิม, หน้าที่ : 34)

ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเมาลิดนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่เป็นที่รู้จัก ไม่ได้มีแค่ อบู ค็อฏฏ็อบ อิบนุ อัลฮียะฮฺ แต่ยังมี ท่านอับดุรเราะหฺมาน บิน อาลี อัดดีบะอี ท่านญะอฺฟัร บิน หะสัน อัลบัรซันญียฺ  ท่าน อัลลามะฮฺ มูหัมมัด อัมรฺ ท่าน  บินอับดุลลอฮฺ อัลอีดะรูส (อับดุลลอฮฺ ศอลิหฺ, อัลอิบติฮาลาตวัลมะดาอิหฺฟีหะฎอรอเมาตฺ, แหล่งเดิม, จากอินเตอร์เน็ต.) ฯล


อัลบุรดะฮฺ หรือ อัลบะรีอะฮฺ

บทกวี กาพย์ โคลง (เกาะศีดะตุ้ลบะรีอะฮฺ) ที่มีชื่อว่าอัลบุรดะฮฺหรือคนในประเทศไทยส่วนใหญ่มักรู้จักคุ้นหูกันในชื่อที่ว่า “บารอเดาะฮฺ” นั้น เป็นบทกวีสดุดีท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งถูกนำมาบันทึกไว้ในหนังสือบัรซันญียฺและ เป็นหนังสือที่อธิบายสรรพคุณของบทกวีกาพย์ โคลงกลอนต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือบัรซันญียฺ
ผู้แต่ง

                แต่งโดย อิหม่ามอัลบูศีรียฺ เกิดเมื่อปี ฮ.ศ.608ซึ่งมีชื่อเต็มว่า (อัลบูศีรียฺ อัลบุรดะหฺ, ม.ป.ท., ม.ป.ป., หน้าที่ : 7)  ชะเราะฟุดดีน มุหัมมัด อิบนุ สะอีด อิบนิ ฮะมาดฺ อัศศอนฮาญียฺ อัลบูศีรียฺ อัลมัศรียฺ บางคนเรียกฉายาท่านว่า อัดดะลาสีรียฺ เพราะบิดามารดาของท่านนั้น คนหนึ่งมาจากเมืองดะลาศฺ อีกคนหนึ่งมาจากเมืองบูศีรฺ  เคยทำหน้าที่อยู่ในกองอาลักษ์ ดีวานอัลอินชาอฺ และมีตำแหน่งทางราชการในอียิปต์หลายตำแหน่งด้วยกัน ในสมัยราชวงศ์มัมลูกียะฮฺ และเป็นนักกวีเอกคนหนึ่งในสมัยนั้น อัลบูศีรียฺนั้นได้เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 696 (แหล่งเดิม, หน้าที่ : 7)                
สาเหตุของการแต่งหนังสืออัลบุรดะฮฺ

อัลบูศีรียฺป่วยเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่มีหมอคนใดรักษาได้ อยู่มาคืนหนึ่งเขานอนหลับแล้วฝันเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มาเยี่ยม เอามือลูบที่ส่วนต่างๆจากร่างกายของเขาจนทั่ว บ้างก็ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เอาเสื้อคลุมสีเขียวมาคลุมจนทั่วร่างกาย แล้ว ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวกับเขาว่า ท่านจะหายป่วยจากการเป็นอัมพาตนี้ แล้วเขาก็ได้หายจากการป่วยเป็นอัมพาต สามารถเดินเหินเหมือนคนปกติ (เล่มเดียวกัน, หน้าที่ : 3) จากสาเหตุนี้เองเขาจึงได้ประพันธ์บทกวีเพื่อสรรเสริญสดุดีท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะสัลลัม เพื่อเป็นสื่อ (การตะวัสสุ้ล) ด้วยบทกวีนั้นให้ตนหายจากอาการป่วย บทกวีนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัลบุรอะฮฺ หรือ     อัลบะรีอะฮฺ แปลว่า หายป่วย หรือ อัลบุรดะฮฺ แปลว่า เสื้อคลุม แต่เขาเรียกชื่อมันว่า  อัลกะวากิบ อัดดุรรี่ยะฮฺ ฟี มัดหิ คอยริลบะรียะฮฺ โดยเริ่มบทกวีแรกว่า :        

أَمِنْ تَذَكُّرِجِيْرَانٍ بِذِىْ سَلَمِ

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม, ม.ป.ท., ม.ป.ป.,  หน้าที่ :  128)

กลอนเดิมมีอยู่ 160 บท แต่ต่อมาได้มีผู้แต่งต่อเติมขึ้นมาอีก 7 บท บ้างก็ว่ากันว่ามีทั้งหมด 162 บท แบ่งเป็น 12 บทเป็นคำนำบทของกาพย์-โคลง  16 บทกล่าวถึงเรื่องของสภาพจิตใจและอารมณ์ความคิดถึง  30 บทกล่าวสรรเสริญสดุดีท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  19 บท กล่าวถึงการ ประสูติของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  10 บท เป็นบทขอพรการตะวัสสุ้ลผ่านท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม 17 บท สรรเสริญ สดุดีอัลกุรอ่าน  13 บท ว่าด้วยเรื่องการอิสรออฺ    มิอฺรอจญฺ  22 บท ว่าด้วยการญิฮาดทำสงคราม  14 บท ว่าด้วยเรื่องการอิสติฆฟารขออภัยโทษ และอีก 9 บท ว่าด้วยเรื่องอัลมุนาญาตฺดุอาอฺปิดท้าย ซึ่งเอกลักษณ์ของบุรดะฮฺนั้น ประพันธ์เกี่ยวกับความรักและการรำพันถึงคนรัก บรรยายความ เศร้าและความคิดถึงเมื่อต้องจากกันไกล ในวิชาวรรณคดีเรียกว่า "الغزل" เดิมที่ขึ้นต้นด้วย :

أمن تذكّر جيران بذىْ سلم   مزجت دكعا حير من مقلة بدم

ต่อมามีนักกวีแต่งบทนำขึ้นมาแทนใหม่ เพราะไม่ได้เริ่มต้นด้วยพระนามและการสรรเสริญต่ออัลลอฮฺสุบหานะฮูวะตะอาลา โดยเริ่มต้นด้วยประโยค ที่ว่า :

الحمدلله منشئ الخلق من عدم   ثم الصلاة على المختار من قدم

มีหนังสืออธิบายบทกลอนชื่อว่า حاشية الباجوري على البردة" " มีผู้อธิบายบทกลอนมากถึง 20 กว่าคน แต่ที่แพร่หลายมีตำราวางจำหน่าย คือ อิบรอฮีม อัลบาญูรียฺ เกิดเมื่อปี ฮ.ศ. 1198 ที่หมู่บ้านอัลบาญูรในประเทศอียิปต์ ศึกษาและสอนที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร เคยดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร และเสียชีวิตปี ฮ.ศ. 1276 (อัลบูศีรียฺ, อัลบุรดะหฺ, ม.ป.ท., ม.ป.ป., หน้าที่ : 2.)

การนำหนังสือบัรซันญียฺมาปฏิบัติ

 หนังสือบัรซันญียฺนั้น นิยมนำมาอ่านกันมากมายในเทศกาล หรือ โอกาสต่างๆ เช่น งานเมาลิด (วันเกิด) ของท่านนบีมูหัมมัด ศ็อลลัล ลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขึ้นบ้านใหม่ รับขวัญ แก้บนจากการพ้นภัยพิบัติ ส่งรูหฺ (วิญญาณ) หลังจากเสียชีวิต และนำไปอ่านในกุบูรรฺ (สุสาน) บางแห่งมี การอ่านกันทุกๆวันศุกร์ เชิญละแบ (กลุ่มคน) มาอ่านกันเป็นกลุ่มๆ หลังจากอ่านเสร็จก็รับประทานอาหาร รับประทานอาหารเสร็จก็ทำการแจกเงิน บางแห่งเข้าใจกันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นของขลังและจำเป็นจะต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี ผู้คนทั่วไปนิยมนำมาอ่านกันมากในการทำเมาลิด (รำลึกวัน คล้ายวันประสูติของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)ยกย่องเชิดชูให้เกีรติท่านนบีมูหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จนบางครั้งอาจเลย เถิดในการเป็นนบีที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ประทานให้ท่านหากเราพิจราณาในความหมายที่ถูกอ่านออกมาบางครั้งผู้วิจัยคิดเอาเองว่า บรรดาผู้คนที่นิยมอ่านหนังสือบัรซันญียฺนั้น ให้ความสำคัญกับกับหนังสือเล่มนี้จนบางครั้งอาจมากกว่าอัลกุรอ่านที่เป็นดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยซ้ำ
หนังสือบัรซันญียฺ กับ ลัทธิชีอะฮฺ

หนังสือบัรซันญียฺนั้น ผู้แต่ง คือ สัยยิด ญะอฺฟัร บิน หะสัน บิน อับดิลการีม บัรซันญียฺ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวชีอะฮฺ บทกวีร้อยแก้ว บัรซันญียฺ (ปู่) เป็นผู้แต่งในยุคสมัยของการจัดงานเมาลิดเมาลิดนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นเฟื่องฟูสืบเนื้องมาจากการจัดงานเมาลิดนบี ศ็อลลัลลอ ฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอียิปต์ เมื่อปี ฮ.ศ. 362 ซึ่งขณะนั้นราชวงค์ฟาฏิมียะฮฺนับถือชีอะฮฺ อิสมาอีลียะฮฺ (คนละนิกายกับชีอะฮฺ อิษนัยอะชะรียะฮฺ 12 อีหม่าม.) เป็นผู้ปกครองอียิปต์  และยังมีอีกหลายบุคคลที่แต่งหนังสือเกี่ยวกับการจัดงานเมาลิดนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิ วะสัลลัม ส่วนบทกวีร้อยกรอง ซัยยิด ซัยนุ้ล อาบิดีน บิน มุหัมมัด อัลฮาดี บินซัยนุ้ลอาบีดีน บัรซันญียฺ (หลาน) ซึ่ง สืบเชื้อสายมาจากชาวชีอะฮฺ เช่นเดียวกับปู่ของเขา เป็นผู้ประพันธ์เพิ่มเติมจากเดิมที่ปู่ของเขาได้ประพันธ์ไว้จากเดิม และบทกวี กาพย์ -โคลงอัลบุรดะฮฺที่ถูกนำมาบันทึกไว้ใน หนังสือบัรซันญียฺนั้น อิหม่ามชะเราะฟุดดีน มุหัมมัด อิบนุ สะอีด อิบนิ ฮะมาดฺ อัศศอนฮาญียฺ อัลบูศีรียฺ อัลมัศรียฺ อัลบูซีรียฺ เป็นผู้ประพันธ์เพื่อเป็น สื่อ (ตะวัสสุ้ล) ด้วยบทกวีนั้นให้ตนหายจากอาการป่วยเป็นโรคอัมพาต บทกวีนี้จึงมีชื่อเรียกว่า อัลบุรอะฮฺ หรือ อัลบะรีอะฮฺ แปลว่า หายป่วย หรือ อัลบุรดะฮฺ แปลว่า เสื้อคลุม แต่เขาเรียกชื่อมันว่า  อัลกะวากิบ อัดดุรรี่ยะฮฺ ฟี มัดหิ คอยริลบะรี่ยะฮฺ

ทั้ง 3 บทกวีนี้เป็นการกล่าวถึงอัตชีวประวัติของท่าน นบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมโดยรวม หนังสือบัรซันญียฺนั้น นิยมอ่านกันมากมายใน เทศกาล หรือ โอกาสต่างๆ จนบางครั้งอาจให้ความสำคัญกับกับหนังสือเล่มนี้มากกว่าอัลกุรอ่านที่เป็นดำรัสของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา และ หะดีษของท่านนบีมูหัมมัดศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยซ้ำ และที่สำคัญเป็นหนังสือที่มาจากลัทธิชีอะฮฺ แต่จะมีสักกี่คนที่นำหนังสือ บัรซันญียฺมายึดถือปฏิบัติแล้วเขาจะรู้ว่าหนังสือเล่มนี้มาจากลัทธิชีอะฮฺ ซึ่ง เป็นลัทธิที่ไม่สอดคล้องกับอิสลาม ส่วนสาระสำคัญตลอดจนข้อมูล และเนื้อหาในหนังสือบัรซันญียฺนั้นจะกล่าวในบทต่อไป


บิดอะฮฺทางหลักความเชื่อตามที่ปรากฏในหนังสือบัรซันญียฺ


บิดอะฮฺทางหลักความเชื่อต่อการตะวัสสุ้ลในหนังสือบัรซันญียฺ

1 ใครอยากโชคดีฝันเห็นท่านนบีและคุยกับท่านนบี ให้อ่านบาทที่ 8 มากๆหลังจากละหมาดอีชาอฺ อ่านจนง่วง (อัลบูศีรียฺ อัลบุรดะหฺ, ม.ป.ท., ม.ป.ป., หน้าที่ : 18)

نَعَمْ سَرَى طَيْفَ مَنْ أهَوى فأرَقنى* والحبُّ يَعْتَرِضُ اللذاتِ بِالألَمِ*

“ถูกแล้วเงาของคนรักมาหลอกหลอนทำให้นอนไม่หลับ อันความรักย่อมมีหวานขมคละเคล้ากันไป”

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม, ม.ป.ท., ม.ป.ป., หน้าที่ : 150)

2 ใครอยากกำจัดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ให้เขียนบาทที่ 9 และ 10 ลงในกระดาษ ตัดเป็นวงกลมแล้วแปะไว้ที่ หน้า ผาก หรือใครอยากเป็นคนขยันทำอิบาดะฮฺก็ให้อ่าน 2 บาทนี้บ่อยๆทุกครั้งหลังจากละหมาดเสร็จ (อัลบูศีรียฺ, อัลบุรดะหฺ, แหล่งเดิม, หน้าที่ :19)

يَا لَائِمِى في الهَوَى العُذرِيِّ مَعذِرَةً * مِنِّى إليكَ ولو أَنصَفتَ لَم تَلُمِ* عَدَتكَ حالِيَ لا سِرِّي بِمُستَتِرٍ* عَنِ الوُشَاةِ ولا دائِي بِمُنحَسِمِ*

“โอ้ผู้ตำหนิฉันว่าหลงรักคนจากบนีอัซเราะฮฺ   โปรดเห็นใจฉันเถอะถ้าท่านมีใจเป็นธรรมคงไม่ตำหนิ ดอก ท่านรู้สภาพของฉันดี ความลับของฉัน ปิดใครไม่มิดแล้ว     และโรคของฉันไม่มีใครรักษาหายได้”

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม,  แหล่งเดิม, หน้าที่ : 150)

3 ใครอยากให้มีคนรักคนชอบ ไม่ทรยศหักหลัง ไม่ปิดบังและมีความลับด้วย ให้เขียนบาทที่ 11 และ 12 ลงบน แผ่นทองแดงตอนดาวลูกไก่ขึ้น แล้วเอาไปละลายกับน้ำฝนดื่ม (อัลบูศีรียฺ, อัลบุรดะหฺ, แหล่งเดิม, หน้าที่ : 22)

مَحَضتَنِي النُصحَ لكن لَستُ أَسمَعُهُ* إن المُحِبَّ عن العُذَّالِ في صَمَمِ* إني أتَهَمْتُ نَصِيحَ الشَّيبِ فى عَذلي* والشيبُ أبعَدُ فى نُصحٍ عن التُّهَمِ*

“ท่านเตือนฉันอย่างบริสุทธิ์ใจแต่ฉันไม่เชื่อฟังเพราะความรักทำให้หูหนวกฉันกล่าวหาว่าสังขารมัน อิจฉาทั้ง ๆ ที่ข้อเตือนจากสังขาร ไม่เหลวไหลเลย”

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม, แหล่งเดิม, หน้าที่ : 150)

4 ให้เขียนข้อความบาทที่ 13 14 และ 15 หลังละหมาดวันศุกร์ แล้วละลายด้วยน้ำดอกไม้แล้วดื่ม จากนั้นให้นั่งอยู่ กับที่จนกระทั่งละหมาดอัศรี่ ละหมาดมัฆริบ จะทำให้ใจโปรงใส กลับเนื้อกลับตัวได้ง่าย (อัลบูศีรียฺ, อัลบุรดะหฺ, แหล่งเดิม, หน้าที่ : 23)

فإن اَمَّارَتِي با السُوءِ ما اتَّعَظَت* من جَهلِها بنذير الشَيبِ والهَرَمِ* ولا اَعَدَّت من الفِعلِ الجميلِ قِرى* ضَيفٍ اَلَمَّ بِراسِي غير محُتَشِمِ* لوكنتُ اَعلَمُ اَنِّي ما أُوَقّرُهُ* كَتَمتُ سِرَّا بَدالِى منه بالكَتَمِ*

“จิตรใจอันทรามของฉันไม่ยอมรับฟังเพราะมันโง่เขลาต่อคำเตือนของผู้แก่เฒ่ามันไม่เคยเตรียม ความดี ไว้รับรองแขกที่มาปรากฏ อยู่บนศรีษะแล้ว (หมายถึงแก่ตัวแล้วแต่ยังไม่คิด) อย่างไม่ละอาย หากฉันรู้ล้วง หน้าว่าฉันไม่ให้เกียรติผู้เฒ่าแล้วไซร้    ฉันจะต้องซ่อน ความลับไว้ไม่ให้ใครรู้”

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม, แหล่งเดิม, หน้าที่ : 150.)

5 ใครอยากให้ผู้อื่นเกรงกลัวไม่กล้าสบตาหรือต่อกรด้วย ให้กลั้นใจอ่านบาทที่ 16 17 และ 18 จำนวน 10 ครั้ง (อัลบูศีรียฺ, อัลบุรดะหฺ, แหล่งเดิม, หน้าที่ : 25)

مَن لِّي بِرَدِّ جِماحٍ مِّن غَوايَتِها* كما يُرَدُّ جِماحُ الخَيلِ باللُّجُمِ* فلا تَرُم بالمعاصي كسرَ شهوتِها* إنَّ الطعامَ يُقَوِّي شهوةَ النّهِمِ* والنَّفسُ كالطِّفلِ إن تُهمِلهُ شَبَّ على* حُبِّ الرِّضاعِ وإن تَفطِمهُ يَنفَطِمِ*

“ใครเล่าจะช่วยฉันดับพยศของจิตรใจ  ดั่งที่เขาใช้บังเหียนดับความพยศของม้าท่านอย่ามุ่งทำชั่วเพื่อ ขจัดกิเลส   เพราะแท้จริง อาหารนั้นแหละ เพิ่มความตะกละแก่คนเราจิตรใจเปรียบเสมือนทารกน้อย หากท่านละเลย   เขาย่อมชอบดูดนมมาจนโตใหญ่แต่ถ้าอย่านมมาแต่เล็กก็อย่าได้”

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม, แหล่งเดิม, หน้าที่ :150)

6 ใครอยากยึดมั่นอยู่กับอัลกุรอ่านและสุนนะหฺ ห่างไกลจากบิดอะหฺ ให้อ่านบาทที่ 19 20 และ 21 หลังจากละหมาด 5 เวลาทุกวัน แต่ละเวลาอ่าน ทวน 20 ครั้ง (อัลบูศีรียฺ, อัลบุรดะหฺ, แหล่งเดิม, หน้าที่ : 2 9)

فاصرِف هواها وحاذِر إن تُوَ لِّيَهُ* إنّ الهوى ماتَولّى يُصمِ أو يَصِمِ* وراعِها وَهيَ في الأعمال سائِمَة* وإن هي استَحلَتِ المرعى فلا تُسِمِ* كم حَسَّنَت لَذَّةً للمَرءِ قاتلةً* من حيث لم يَدرِ أن السَّمَّ في الدَسَمِ*

“จงตัดกิเลสเสียและพึงระวังอย่าคล้อยตาม  หากปล่อยให้กิเลสเป็นใหญ่แล้วมันต้องเข่นฆ่า หรือสร้าง ความเสื่อมเสียให้พึงระวังจิตใจ อย่าปล่อยให้ติดสิ่งใดจนเหลิงมิฉะนั้นจะถอนใจไม่ออก คนเราตายมา มากต่อมากแล้วเพราะหลงในรสอร่อยโดยหารู้ไม่ว่า มียาพิษซ่อนไว้ในของนั้น”

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม, แหล่งเดิม, หน้าที่ :151)

7 ให้อ่านบาทที่ 22 และ 23 เวลากลางดึกของคืนวันศุกร์ ผู้ที่ใจแข็งกระด้าง จะกลับใจเป็นคนใจอ่อนโยนและขยัน ทำอิบาดะฮฺ (อัลบูศีรียฺ, อัลบุรดะหฺ, แหล่งเดิม, หน้าที่ : 30)

واخشَ الدَّسَائِسَ من جُوعٍ ومن الشَبَعٍ* فرُبَّ مَخمَصةٍ شرّ مِّنَ التُخَِم* واستفرِغِ الدَمعَ من عينٍ قدِ امتَلَأَت* من المَحارِمِ و الزَم حميَةَ النَّدَمِ*

“พึงกลัวความผันแปรของใจในขณะที่หิวโหยหรืออิ่มแปล้ บางทีท้องแห้งร้ายกาจกว่าท้องกาง จงหลั่ง น้ำตาออกมาจากดวงตาที่ล้น ด้วยความชั้ว และจงป้องกันเหตุแห่งความเสียใจเถิด”

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม, แหล่งเดิม, หน้าที่ :152)

8 ใครอยากเป็นคนจิตรใจอ่อนโยน ไม่หยาบคาย อวดโตโอหัง ให้เขียนข้อความบาทที่ 26 27 และ 28 ลงบนผ้าซ้ำ กัน 71 ครั้ง แล้วนำมาผูกไว้ ที่แขนซ้าย (อัลบูศีรียฺ, อัลบุรดะหฺ, แหล่งเดิม, หน้าที่ : 36)

أستغفر اللهَ من قولٍ بلا عملٍ* لقد نسَبتُ به نَسلاً لِّذِي عُقُمِ* أَمَرتُكَ الخير لكن ماائتَمَرتُ بهِ* وما استَقَمتُ فماقولي لك استَقِمِ* ولا تزَوَّدتُّ قبل الموتِ نافلةً* ولم أُصلِّ سِوى فرضٍ ولم أَصُمِ*

“ฉันขออภัยจากอัลลอฮฺที่พูดแล้วไม่ทำ แท้จริงฉันอยู่ในตระกูลของ คนหมันเสียแล้วฉันใช้ให้ท่านทำ ความดีแต่ฉันเองไม่ทำ ดังนั้นคำว่า จงทำดีของฉันจึงไม่มีคุณค่าก่อนตายฉันไม่เคยสะสมเรื่องสุนนะฮฺ และฉันไม่ละหมาดและถือศีลอดนอกจากสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น”

(มัจฺญมูอะฮฺ เมาลูด ชะเราะฟิลอะนาม, แหล่งเดิม, หน้าที่ :152)







   والله أعلم بالصواب



โดย อ.อับดุลฮากีม มังเดชะ
http://www.warasatussunnah.net
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น