อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อิสลามกับจุดยืนต่อซูฟีย์



อะลุสสุฟฟะฮฺ ไม่เกี่ยวข้องกับชื่อซูฟีแต่อย่างใด 
และไม่ได้เป็นจุดกำเนิดของซูฟีดังที่มีกลุ่มฎอรีกัตกล่าวอ้าง 
จุดกำเนิดของซูฟีที่หลงผิดคือพวกนักบวชที่ไปนุ่งชุดขสัตว์
ส่วนซูฟีในส่วนที่กลุ่มฟื้นฟูสุนนะฮฺนำมานี้หมายถึงเฉพาะด้านการใช้จิตวิญญาณในการทำอิบาดะฮฺ 
ตัวอย่างอิมามคนสำคัญที่มีจิตวิญญาณซูฟี(ในส่วนที่ถูก)ในตัวได้แก่ อิมามฆอซาลีย์ และอิมามอิบนุ ตับมียะฮฺ เป็นต้น 




ทำสะละฟียฺให้เป็นซูฟี และทำซูฟีให้เป็นสะละฟียฺ 

(ตัศวีฟุส สะลาฟียะฮฺ วะ ตัสลีฟุล มุตะเศาวีฟะฮฺ) 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งดีงามที่เราจะตกแต่งแต่ละกลุ่มด้วยความดีเด่นของอีกกลุ่มหนึ่ง และนี่คือสิ่งที่อัลมุฟักกิร (นักคิดมุสลิม) อัลอุสตาซ มุฮัมมัด อัลมุบารอก (เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) ได้กล่าวว่า เราทำซูฟีให้เป็นแบบสะละฟียฺ และเราทำสะละฟียฺให้เป็นแบบซูฟี ! 

และด้วยการตกแต่งนี้จะก่อให้เกิดกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมเอาลักษณะที่โดดเด่นของทั้งสองกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน และเป็นกลุ่มที่ปลอดจากข้อตำหนิของทั้งสองกลุ่มอีกด้วย 

ข้าพเจ้าคิดว่านี่เป็นสิ่งที่อัลอิมาม อัลหะซัน อัลบันนาได้พยายามกระทำมัน ซึ่ง(ตามความคิดของข้าพเจ้า)ท่านได้พยายามรวมเอาปัญญาแบบสะละฟียฺ เข้ากับจิตวิญญาณแบบซูฟี


ซูฟี ในมุมมองอิสลาม 


ชัยคฺ ดร. ยูซุฟ อัล ก็อรฎอวียฺ 


อบู ริญาล แปลและเรียบเรียง 


คำถาม 

อิสลามมีจุดยืนต่อซูฟีอย่างไร ? 


คำตอบ 

แนวคิดซูฟี คือ รูปแบบหนึ่งของการใช้ชีวิตในการบำเพ็ญเพียร(เพื่อให้บรรลุถึงระดับขั้นบางอย่าง) การทำความเคารพภักดีเช่นนี้ได้รับการยอมรับโดยทุกศาสนา แม้ว่าแนวทางการปฏิบัติของศาสนาต่างๆจะแตกต่างกัน 


ดังเช่นในอินเดีย ชนชั้นที่ต่ำกว่าชองชาวฮินดูมีแนวโน้มที่จะสุดโต่ง โดยพวกเขาการสร้างความเจ็บปวดให้กับตัวเองเพียงเพื่อการบรรลุเป้าหมายอันสูงส่งของจิตวิญญาณ ลักษณะเดียวกันนี้ถูกนำไปใช้ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะการรักษาพรหมจรรย์ 


เช่นเดียวกัน ในเปอร์เซียมีลัทธิหนึ่งที่เรียกว่า มนี ขณะที่ในกรีซมีอีกกลุ่มเป็นที่รู้จักว่า อัร รูวากิยีน )คนผู้ปฏิเสธชีวิตที่สะดวกสบาย( อันที่จริงจริงในประเทศอื่นอีกจำนวนมาก มีกลุ่มที่คล้ายคลึงกันซึ่งเป็นพวกสุดโต่งในความเชื่อของพวกเขา 


อิสลามแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับความเชื่อทั้งหมดนี้ อิสลามนำแนวทางสายกลางมาสู่ชีวิตและวิธีการระลึกถึงพระเจ้าของเขา อิสลามมองมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกนึกคิด จิตวิญาณ และร่างกาย และอิสลามทำให้ประจักษ์ว่าองค์ประกอบเหล่านี้ทั้งหมดต้องการได้รับเอาใจใส่เป็นพิเศษ 


นี่คือสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำให้กระจ่างชัดกับศอฮาบะฮฺของท่าน อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อัมรฺ อิบนฺ อัลอาศ ผู้ทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺอย่างเกินเลย เขาจะลดการกินการดื่ม การนอน และการให้สิทธิต่อภรรยาของเขาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ตักเตือนเขาในเรื่องนี้ว่า “ ตาของท่านมีสิทธิเหนือตัวของท่าน และร่างกายของท่านมีสิทธิเหนือตัวของท่าน และครอบครัว(ภรรยา)ของท่านก็มีสิทธิเหนือตัวของท่าน จงให้สิทธิของแต่ละคนตามที่เขามี ” 


เช่นเดียวกันศอฮาบะฮฺบางคนมาที่บ้านของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อถามภรรยาของท่านว่าท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำอิบาดะฮฺอย่างไร หลังจากที่ได้รับทราบรายละเอียดของการทำอิบาดะฮฺของท่าน พวกเขาพบว่าพวกเขาตามหลัง(ในการทำอิบาดะฮฺของ)ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม 


พวกเขาคิดว่าพวกเขายังทำไม่ได้ตามมาตรฐานที่ผู้ศรัทธาที่แท้จริงต้องทำ นอกจากนี้พวกเขามองไม่เห็นเหตุผลว่า ทำไมพวกควรทำอิบาดะฮฺน้อยกว่าหรือไม่เท่ากับที่ท่านบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ทำ ในเมื่อท่านได้รับการอภัยโทษจากบาปทั่งหมดของท่านอย่างแน่นอนแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงสาบานว่าจะเริ่มทำกระทำอิบาดะฮฺที่อย่างจริงจังมากขึ้น 


คนหนึ่งจากพวกเขาสาบานว่า เขาจะรักษาการถือศีลอดโดยไม่หยุด (ไม่ละศีลอดเลย) อีกคนสาบานว่าเขาจะไม่ยุ่งกับผู้หญิงจะไม่แต่งงาน ขณะที่คนที่สาม กล่าวว่าเขาจะรักษาการละหมาดในเวลากลางคืนโดยไม่หลับนอน เมื่อเรื่องนี้รู้ถึง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านก็เรียกพวกเขามารวมกันและได้กล่าวตักเตือนพวกเขาว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฮฺ ฉันเป็นผู้ที่เกรงกลัวอัลลอฮฺที่สุดในหมู่พวกท่าน แต่ฉันก็ถือศีลอดและละศีลอด ฉันละหมาดและฉันก็นอน และฉันก็แต่งงานกับผู้หญิง ใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติตามแบบฉบับของฉัน ก็ไม่ใช่พวกฉัน” นี่แสดงให้เห็นว่าอิสลามรักษาความเป็นสายกลางในทุกเรื่อง 


อย่างไรก็ตาม ผู้คนมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติแนวคิดซูฟีย์เพื่อเป็นวิธีการช่วยเหลือพวกเขาจากความวุ่นวายของลัทธิวัตถุนิยม ที่สร้างความเสียหายต่อพวกเขา อันเป็นผลมาจากการที่พวกเขามุ่งสร้างความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับตัวพวกเขา 


ทั้งหมดนี้นอกจากที่จะทำให้พวกเขาตกเป็นทาสของชีวิตที่ฟุ่มเฟือยแล้ว พวกเขายังถูกควบคุมโดยแนวความคิดที่เลื่อนลอยอีกด้วย เป็นผลให้ความศรัทธาในศาสนา(อะกีดะฮฺ)ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของปรัชญาและเทววิทยา( ซึ่งนำเข้ามาจากภายนอก โดยเฉพาะกรีก - ผู้แปล) และเรื่องนี้ได้นำไปสูข้อโต้แย้งที่บ้าคลั่ง ซึ่งทำผู้คนละเลยในด้านจิตวิญญาณของชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ 


ขณะที่บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนิติศาสตร์อิสลาม(ฟิกฮฺ)กลับล้มเหลวที่จะไปให้ลึกกว่านี้ แทนที่จะพยายามในการทำความเข้าใจในด้านจิตวิญญาณของการทำอิบาดะฮฺ(ซึ่งเป็นด้านที่ลึกซึ้ง – ผู้แปล) พวกเขากลับเพียงยึดอยู่กับรูปแบบภายนอกของมัน เรื่องนี้ได้ทำให้กำเนิดกลุ่มศาสนาที่เป็นที่รู้จักกันว่า ซูฟี ซึ่งได้เข้ามาเติมช่องว่างที่ถูกละเลยโดยนักเทววิทยา(นักวิชาการด้านอะกีดะฮฺ)และนักนิติศาสตร์(นักวิชาการด้านฟิกฮฺ) ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้วว่า ในระยะหลังพวกเขาล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงผู้คนในด้านจิตวิญญาณ 



ซูฟีให้ความสำคัญอย่างมากในการตรวจสอบมนุษย์ ในแง่ของความรู้สึกภายในของเขา มิใช่สิ่งที่เขาได้ปฏิบัติจริง พวกเขามุ่งสนใจในเรื่องของจิตใจภายในมากกว่าภายนอก จุดมุ่งหมายหลักของพวกเขาคือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ใหม่ เพื่อที่จะช่วยให้พวกเขาบรรลุถึงความงดงามในด้านจิตวิญญาณ ซูฟีคนหนึ่งได้กล่าวว่า “มารยาทที่ดีงาม คือสิ่งที่ทำให้เป็นซูฟีที่ดี” 


แท้จริง ซูฟีในยุคแรกได้เป็นตัวอย่างที่ดีโดยยึดมั่นคำสอนอิสลาม ที่ได้นำมา จากอัลกุรอานอันรุ่งโรจน์และแบบอย่างของท่านศาสดา นอกจากนี้ พวกเขาทำการเผยแผ่อิสลามอย่างดีเลิศ แท้จริงแล้วผู้คนจำนวนมากเข้ารับอิสลามโดยบรรดาซูฟีผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ ผู้ที่พยายามอย่างสุดความสามารถในการเข้าร่วมสงครามต่อสู้กับความเชื่อนอกรีต ผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า และผู้ตั้งภาคี 


ในทางตรงกันข้าม ประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกตัวอย่างอันเลวร้ายที่เริ่มจากซูฟีบางคน ซึ่งได้คิดค้นแนวคิดที่ไม่มีรากฐานในอิสลาม ส่วนหนึ่งของแนวความคิดเหล่านี้ คือการสร้างความแตกต่างระหว่างความแท้จริง(ฮะกีกัต)กับการการรับรู้ภายนอก(อย่างผิดๆ) ในความหมายที่ว่ามนุษย์ไม่ควรถูกตัดสินโดยการกระทำที่เปิดเผยภายนอก(สิ่งที่เราสามารถรับรู้ได้) แต่เขาควรจะถูกตัดสินโดยสภาวะของจิตใจของเขา(สิ่งภายในที่เขารู้สึกอย่างแท้จริง) ด้วยการใช้แนวคิดนี้ ทำให้คนหนึ่งอาจจะพบข้อแก้ตัวบางอย่างสำหรับความผิดของเขา พวกเขายังกล่าวอีกว่า ความรู้สึกภายในของซูฟีคือบ่อกำเนิดแห่งทางนำ และด้วยความรู้สึกนี้เองทำให้เขาว่าสิ่งใดเป็นสิ่งฮะลาล(อนุมัติ)และสิ่งใดเป็นสิ่งฮะรอม(ต้องห้าม) 


นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาชี้ถึงความบกพร่องของนักฮะดีษเสมอ คือนักฮะดีษนั้นต้องรายงานตัวบทว่า “คนนั้นรายงานจากคนนี้ คนนั้นได้กล่าวว่าดังนี้”(ซึ่งเป็นวิธีการทางวิชาการฮะดีษ) พวกเขาตัดสินว่าการรายงานเช่นนี้เชื่อถือไม่ได้ ตรงกันข้ามคำกล่าวที่เป็นจริงต้องถูกรับรองโดย ซูฟี โดยควรจะเริ่มกล่าวว่า “ฉันได้รับแรงบันดาลใจจากพระเจ้าของฉัน” พวกเขายังเคยกล่าวเยาะเย้ยนักฮะดีษว่า “ ท่านชื่นชอบการรายงานคำกล่าวจากมนุษย์ที่ต้องตาย แต่พวกเรา – ซูฟี - คำกล่าวของพวกเรามาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุ วะตะอาลา ผู้มีชีวิตนิรันดร์ ” ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงอ้างว่าพวกเขาได้ติดต่อกับสวรรค์ได้โดยตรง 


แนวความคิดที่ไม่มีเหตุผลนำซูฟีไปสู่การทำให้สาวกของพวกเขากลายเป็นคนไร้คุณค่า พวกเขากล่าวว่า “ต่อหน้าอาจารย์ซูฟีสาวกจะเปรียบเสมือนกับซากศพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ซึ่งถูกควบคุมโดยผู้ที่อาบน้ำศพ ” ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขาได้ทำแม้กระทั่งยึด สิทธิของสาวกในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากอาจารย์ ซึ่งพวกเขาคิดว่าการกระทำเช่นนี้เป็นจุดเริ่มของความล้มเหลว 


แท้จริงกล่าว ความเข้าใจที่ผิดๆของซูฟีกลุ่มนี้ดังกล่าว ทำความเสียหายให้กับคนหนุ่มสาวในทุกวันนี้ ผู้ซึ่งถูกควบคุมโดยความไม่รู้โดยการนำเอาทุกสิ่งที่พวกเขาได้ยินมาปฏิบัติ ผลของบุคลิกภาพที่เปราะบางอย่างเลยเถิดของพวกซูฟี ที่อยู่ภายใต้อำนาจของชัยคฺพวกเขาเช่นนี้ ทำให้พวกซูฟีแทบจะช่วยตัวเองไม่ได้เสมือนกับ คนตายที่อยู่ในมือของสัปเหร่อ หรือ ผู้ที่อาบน้ำศพ ดังนั้นพวกเขาจึงพัฒนาทัศนะคติทั้งที่เป็นลบและเมินเฉยต่อการกดขี่และความอธรรม เนื่องจากสิ่งที่อาจารย์ซูฟีของพวกเขากล่าวแก่พวกเขาว่า “จงมอบส่วนของซีซาร์ให้กับซีซาร์ และให้พระเจ้าเป็นผู้ดูแลมนุษย์” 


อย่างไรก็ตาม ดังเช่นแสงสว่างในถ้ำมืด อุลามาอฺ อะหฺลุซซุนนะฮฺ บางท่านรวมทั้ง คนยุคแรก(สลัฟ)ได้พยายามอย่างที่สุดในการปฏิรูปแนวคิดซูฟีจำนวนมากด้วยกับคำสอนของอัลกุรอานและแบบอย่างของท่านศาสดา 


หนึ่งในอุลามาอฺผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธความพยายามของท่านในงานนี้(คือการปฏิรูปแนวคิดซูฟี) คืออัลลามะฮฺ อิบนฺ กอยยิม ผู้ที่เขียนหนังสือชื่อ มะดาริจ อัซ-ซาลิกีน อิลา มะนาซิล อัซซาอิริน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนเพื่ออธิบายหนังสือที่เขียนโดย ชัยคฺ อิสมาอีล อัลฮัรวียฺ อัลฮัมบาลี ที่ชื่อ มะนาซิล อัซซาอิริน อิลา มะกอมัต อิยากานะอฺบุดู วะ อิยากานัสตะอีน หนังสือนี้มีสามชุด ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการประสานระหว่างแนวความคิดซูฟีและคำสอนของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ 


เราควรใช้แนวความคิดซูฟีในสิ่งที่สอดคล้องกับคำสอนของอิสลาม ดังเช่นการเรียกร้องไปสู่คุณค่าอันสูงส่งของความรักซึ่งกันและกัน รวมทั้งสอนอีกคนหนึ่งในการขจัดความเจ็บป่วยของจิตใจและการบรรลุถึงความงดงามทางจิตวิญญาณ 


แท้จริง มีตัวอย่างซูฟีที่ดีๆอยู่ โดยอาจมีข้อยกเว้นเล็กๆน้อยๆบางประการ ซึ่งพวกเขาทำให้เราเข้าใจถึงรูปแบบการเคารพภักดีได้ดีขึ้น ท่านอิมาม ฆอซาลี คือหนึ่งในลักษณะซูฟีสายกลางเช่นนี้ โดยแนวคิดของท่านไปในแนวทางเดียวกับคำสอนของอิสลาม






ทำสะละฟียฺให้เป็นซูฟี  และทำซูฟีให้เป็นสะละฟียฺ 



ชัยคฺ ดร. ยูซุฟ อัล ก็อรฎอวียฺ 

อะห์หมัด รุชด์ แปลและเรียบเรียง 



ข้าพเจ้าใคร่ขอย้ำในที่นี้ว่า พี่น้องสะละฟียฺบางท่านนั้นแข็งกร้าวในเรื่องจุดยืนต่อตะเซาวุฟ(เนื้อหาในการขัดเกลาจิตใจของแนวคิดซูฟี)เกินไป โดยถือว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอมต่ออิสลาม และยังได้กล่าวหาผู้ที่ยึดแนวตะเซาวุฟทั้งหมดว่าเป็นพวกบิดอะฮฺและพวกนอกคอก 

ดังที่เรื่องนี้ได้ปรากฏชัดในการอธิบายเพิ่มเติมหนังสือของอิบนุกอยยิมที่ชื่อ “มะอาริจญฺ อัซซาลิกีน” โดยอัลลามะฮฺ อัชชัยคฺ มุฮัมมัด ฮามิด (เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) และยังมีท่านอื่นๆอีกมากในกลุ่มผู้ยึดแนวคิดแบบสะละฟียฺที่มีจุดยืนเช่นนี้ ซึ่งพวกเขาได้วิพากษ์วิจารณ์(ในด้านลบ)ตะเซาวุฟทั้งหมดรวมทั้งผู้ที่ตามแนวทางนี้ทั้งสิ้น ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ความแข็งกร้าวเช่นนี้เป็นการไม่ถูกต้อง ไม่ถูกยอมรับ และไม่ก่อประโยชน์(ดูบทความซูฟีในมุมมองอิสลาม) 

อิบนุ ตัยมียะฮฺ และอิบนุล กอยยิม 

พวกเขาคือ ร็อบบานียะฮฺ(ผู้เรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติอิสลามอย่างแท้จริง) 

เป็นเรื่องแปลกที่คนเหล่านี้อ้างว่าสังกัดแนวคิดของชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ และศิษย์ของท่านคือ อัลอิมาม อิบนุล กอยยิม ซึ่งทั้งสองท่านนี้เป็นร็อบบานียะฮฺ ที่แท้จริง ทั้งทางทฤษฎี และทางปฏิบัติ 

ในทางทฤษฎี ก็ดังที่ได้ปรากฏเป็นหลักฐานโดยหนังสือของท่านทั้งสอง สำหรับอิบนุ ตัยมียะฮฺนั้นท่านมี ข้อเขียนในเรื่องตะเซาวุฟและเรื่องของสุลูก(เรื่องการขัดเกลาภายในที่จะสะท้อนเป็นบุคลิกภายนอก) เป็นจำนวนหลายเล่มในมัจญฺมูอฺ ฟะตะวา แล้วยังรวมถึงหนังสือของท่านที่ชื่อ “ อัลอิสติกอมะฮฺ” 

ส่วนอิบนุล กอยยิม ท่านมีงานประพันธ์เป็นจำนวนหลายเล่ม เช่น ญะวาบ กาฟียฺ , เฏาะรีกุล ฮิจญฺเราะตัยนี , อุดดะตุศ ศอบิรีน , เราะเฎาะตุล มุฮิบบีน และที่มีความยิ่งใหญ่และครอบคลุมขอบเขตมากที่สุดโดยไม่ต้องสงสัยนั่นคือหนังสือ มะดาริจญฺ อัซซาลิกีน 

ในทางปฏิบัตินั้น หลักฐานก็จากชีวประวัติของท่านทั้งสอง ในด้านความเข้มแข็งในเรื่องสัจธรรม ความอดทนต่อความทุกข์ยาก การญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ ความรักในอัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ การมุ่งสู่อัลลอฮฺ ด้วยการมุ่งสู่พระองค์ชนิดที่ได้รับการเป็นพยานจากคนที่รู้จักและใกล้ชิดท่านทั้งสอง ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยเขาทั้งสองด้วยเถิด 

เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับท่านในการรู้จักอิบนุ ตัยมียะฮฺ ในเรื่องที่ท่านได้เผชิญกับความลำเค็ญ และการถูกจับเข้าคุกเนื่องจากการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ด้วยวิญญาณที่ปรีดา และด้วยหัวใจที่สงบนิ่ง โดยท่านได้กล่าวว่า 

แท้จริงสวรรค์ของฉันอยู่ในทรวงอกของฉัน ไม่ว่าฉันจะไปที่ใดมันก็จะอยู่กับฉัน 

เหล่าศัตรูของฉันจะทำอันใดกับฉันได้ ? หากพวกเขาจับฉันขังคุก 

การติดคุกของฉันก็คือการปลีกตัวเพื่อทำอิบาดะฮฺ 

หากพวกเขาเนรเทศฉัน การถูกเนรเทศของฉันก็คือการฮิจญราะฮฺ 

และหากพวกเขาฆ่าฉัน การถูกฆ่าของฉันก็คือการได้ตายชะฮีด 

และเมื่อตอนที่ท่านถูกจับในป้อม และท่านได้มองกำแพงของมัน ท่านก็ได้รำลึกถึงดำรัสของอัลลอฮฺ ที่ว่า 

"ขณะนั้นก็จะมีกำแพงที่มีประตูบานหนึ่งมาขวางกั้น 

ระหว่างพวกเขา(คือระหว่างมุอฺมินและมุนาฟิก) 


ด้านในของมัน(สำหรับมุอฺมิน)นั้นมีความเมตตา 


และด้านนอกของมัน(สำหรับมุนาฟิก)มีการลงโทษ" 


(อัล กุรอาน สูเราะฮฺอัล-หะดีด 57: 13)

นี่คือ ร็อบบานียะฮฺ ผู้ซึ่งสุขใจในการถูกลงทัณฑ์ในหนทางของอัลลอฮฺ และเขามีชีวิตในสวรรค์แห่งความพึงพอใจ แม้ว่าเขาได้รับทุกข์ภัยเพื่ออัลลอฮฺ 

หนึ่งในความยุติธรรมของอิบนุ ตัยมียะฮฺ นั่นคือการที่ท่านยกย่องบรรดาชัยคฺหลายท่านของกลุ่มซูฟี ได้แก่ ชัยคฺ อับดุลกอเดร อัลญีลานียฺ 

และนี่คือสิ่งที่บกพร่องของเหล่าคนที่อ้างว่าสังกัดแนวคิดอิบนุ ตัยมียะฮฺ แต่กลับเป็นว่าท่านจะไม่พบคนใดของพวกเขาที่มีดวงตาเอ่อล้นด้วยน้ำตา หรือมีหัวใจที่คุชูอฺ หรือมีร่างกายสั่นเทาด้วยความเกรงกลัวอัลลอฮฺ และท่านจะไม่รู้สึกถึงความสงสาร ความเอื้อเฟื้อที่หลั่งไหลออกมาจากพวกเขา เนื่องจากความรักในอัลลอฮฺ และเราะซูลของพระองค์ 

ทว่าพวกเขาเป็นผู้ตามแนวทางที่เฉื่อยชา แห้งแล้ง และแข็งกร้าว ราวกับว่าเป็นฟันเฟืองหนึ่งในเครื่องจักร ซึ่งจะหันเมื่อถูกจับหัน ไม่มีวิญญาณ ไม่มีชีวิตในตัวของมัน 

และในการเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งดื่มด่ำกับความรู้สึกอันอบอุ่น กับสำนึกต่อสัจธรรม กับวิญญาณอันเปี่ยมล้นไปด้วยความรักและความเกรงกลัว แต่ทว่าขาดการผูกเข้ากับหลักของชะรีอะฮฺ 

กลุ่มนี้ตัดสินชี้ขาดสิ่งใดตามรสนิยมและสามัญสำนึกของพวกเขา หรือตามรสนิยมและสามัญสำนึกของบรรดาชัยคฺของพวกเขา 

ทั้งสองกลุ่มทำสิ่งเกินเลยในเรื่องหนึ่งและหย่อนยานในอีกเรื่องหนึ่ง ที่ดีที่สุดก็คือ ความดีทุกอย่างในทางสายกลางซึ่งได้รับการจำแนกจากปลายสองด้านที่สุดโต่งและหย่อนยาน 




والله أعلم بالصواب

✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿



 http://www.fityah.com/  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น