อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การละหมาดโดยมีอิมาม

(أحكام الإمامة )


ความประเสริฐของการละหมาดโดยมีอิมาม

การเป็นอิมามนำละหมาดนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐอย่างใหญ่หลวง ด้วยเหตุนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้เป็นอิมามนำละหมาดด้วยตัวท่านเอง และเคาะลีฟะฮฺทั้งหลายหลังจากท่านนบีก็ได้เป็นอิมามนำละหมาดด้วยตัวของพวกเขาเองเช่นกัน

ดังนั้นอิมามจึงต้องมีความรับผิดชอบที่ใหญ่เช่นกัน เขาคือผู้ที่ต้องรับประกันคุณภาพของการละหมาด เขาจะได้ผลบุญอย่างมากมายหากเขานำการละหมาดได้ดี และเขายังจะได้ผลบุญเพิ่มเติมเหมือนกับผลบุญของผู้ตามที่ละหมาดพร้อมๆ กับเขา

หุก่มการตามอิมาม
เป็นสิ่งวาญิบที่มะอ์มูม(ผู้ละหมาดตามอิมาม)จะต้องตามอิมามในการละหมาดของทุกขั้นตอน ทั้งนี้เนื่องจากตำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า

«إنَّمَا جُعِلَ الإمَامُ لِيُؤْتَـمَّ بِـهِ، فَإذَا كَبَّرَ فَكَبِّرُوْا، وإذَا رَكَعَ فَارْكَعُوا، وَإذَا قَالَ: سَمِعَ الله لِـمَنْ حَـمِدَهُ، فَقُولُوا: اللَّهُـمَّ رَبَّنَا لَكَ الحَـمْدُ، وَإذَا صَلَّى قَائِماً فَصَلُّوا قِيَاماً، وَإذَا صَلَّى قَاعِداً فَصَلُّوا قُعُوداً أَجْـمَعُونَ»

ความว่า “แท้จริงการตั้งให้มีอิมามนำละหมาดนั้น เพื่อให้เขาถูกตาม ดังนั้นเมื่ออิมามรุกูอฺ พวกท่านก็จงรุกูอฺตาม เมื่ออิมามเงยขึ้นพวกท่านก็จงเงยขึ้นตาม และเมื่ออิมามกล่าว สะมิอัลลอฮุลิมันหะมิดะฮฺ พวกท่านจงกล่าวว่า ร็อบบะนาวะละกัลหัมดฺ เมื่ออิมามละหมาดในท่านั่ง พวกท่านทั้งหมดก็จงนั่งละหมาดด้วย” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 722 และมุสลิม เลขที่: 417 ซึ่งสำนวนนี้เป็นของมุสลิม)

ผู้ที่คู่ควรที่สุดในการเป็นอิมาม
ผู้ที่ทรงสิทธิหรือคู่ควรที่สุดในการเป็นอิมามนำละหมาด คือผู้ที่อ่านกุรอานได้ดีที่สุด หมายถึงผู้ที่จำกุรอานมากที่สุด รองลงมาคือผู้ที่เข้าใจหุก่มในการละหมาดมากที่สุด รองลงมาอีกคือผู้ที่มีความรู้ในสุนนะฮฺมากที่สุด รองลงมาคือผู้ที่ฮิจญ์เราะฮฺก่อน รองลงมาคือผู้ที่เข้ารับอิสลามก่อน รองลงมาคือผู้ที่มีอายุมากกว่า หากทุกคนเหมือนกันให้ตัดสินด้วยการหยิบฉลาก ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวนั้นในกรณีที่กลุ่มหนึ่งจะละหมาดโดยต้องให้คนหนึ่งคนใดในกลุ่มขึ้นเป็นอิมาม แต่หากในกรณีที่มัสญิดมีอิมามประจำอยู่แล้วนั้นจะต้องยกให้อิมามตามตำแหน่งเป็นผู้นำในการละหมาด

มีรายงานจากอบู มัสอูด อัล-อันศอรีย์ ได้กล่าวว่า ท่านเราะสูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«يَؤُمُّ القَوْمَ أَقْرَؤُهُـمْ لِكِتَابِ الله، فَإنْ كَانُوا فِي القِرَاءَةِ سَوَاءً فَأَعْلَـمُهُـمْ بِالسُّنَّةِ، فَإنْ كَانُوا فِي السُّنَّةِ سَوَاءً فَأَقْدَمُهُـمْ هِجْرَةً، فَإنْ كَانُوا فِي الهِجْرَةِ سَوَاءً فَأَقْدَمُهُـمْ سِلْـماً»

ความว่า “ผู้ที่เหมาะที่จะนำการละหมาดที่สุดในกลุ่มคือผู้ที่อ่านอัลกุรอานได้ดีที่สุด หากในเรื่องอ่านอัลกุรอานเท่าเทียมกัน รองลงมาคือผู้ที่มีความรู้ในสุนนะฮฺมากที่สุด หากในเรื่องความรู้ในสุนนะฮฺเท่าเทียมกัน รองลงมาคือผู้ที่ฮิจญ์เราะฮฺก่อน หากในเรื่องฮิจญ์เราะฮฺก่อนหลังเท่าเทียมกัน รองลงมาคือผู้ที่เข้ารับอิสลามก่อน” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 673)

ผู้เป็นสมาชิกของบ้านใดบ้านหนึ่งและผู้เป็นอิมามของมัสญิดใดมัสญิดหนึ่งคือผู้ที่ทรงสิทธิที่สุดที่จะเป็นอิมามในการละหมาดในสถานที่ของเขา เว้นแต่จะมีผู้ปกครองที่มีอำนาจอยู่ด้วย

หุก่มการละหมาดตามหลังผู้เป็นฟาสิก
วาญิบต้องมอบให้ผู้ที่ประเสริฐที่สุดเป็นอิมามในการละหมาด แต่หากไม่มีคนที่เหมาะเป็นอิมามนอกจากผู้เป็นฟาสิก เช่น ผู้ที่โกนเคราหรือผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นต้น ก็ถือว่าการละหมาดตามอิมามดังกล่าวใช้ได้แต่มักรูฮฺ ซึ่งความหมายของผู้เป็นฟาสิกนั้น คือ ผู้ที่ฝ่าผืนคำสั่งของอัลลอฮฺด้วยการกระทำบาปใหญ่

และจะถือว่าการละหมาดนั้นใช้ไม่ได้ หากการละหมาดนั้นตามอิมามซึ่งการละหมาดของเขาบกพร่องเสียหายด้วยการมีหะดัษหรืออื่นๆ นอกจากว่าผู้ตามไม่รู้ ซึ่งในกรณีนี้สำหรับการละหมาดของมะอ์มูมที่เป็นผู้ตามนั้นใช้ได้ แต่สำหรับอิมามจะต้องละหมาดใหม่

หุก่มการแซงหน้าอิมามของมะอ์มูม 
หะรอมการ(มุสาบะเกาะฮฺ)แซงหน้าอิมามในการละหมาด (คือการปฏิบัติอิริยาบทต่างๆ ในละหมาดก่อนที่อิมามจะทำ) สำหรับผู้ที่แซงหน้าอิมามโดยรู้และเจตนา การละหมาดของเขาจะใช้ไม่ได้

ส่วนการ(ตะค็อลลุฟ)ตามอิมามไม่ทันนั้น หากตามไม่ทันเนื่องด้วยเหตุสุดวิสัย เช่น เนื่องจากการลืม เผลอหรือไม่ได้ยินอิมามจนกระทั่งอิมามได้ทิ้งห่างไป เขาจะต้องรีบปฏิบัติตามในสิ่งที่ไม่ทันอิมามนั้นในทันที จนกระทั่งตามทันและตามต่อไปจนจบ โดยไม่เป็นความผิดแต่อย่างใดสำหรับเขา

สภาพของมะอ์มูมกับอิมาม
สำหรับสภาพมะอ์มูมกับอิมามนั้นมี 4 กรณีด้วยกัน คือ
1- กรณี(มุสาบะเกาะฮฺ)การแซงหน้า คือการที่มะอ์มูมนำหน้าอิมามในการตักบีรฺ รุกูอฺ สุญูด สะลามหรืออื่นๆ ซึ่งในกรณีนี้ไม่เป็นที่อนุญาต ผู้ใดที่กระทำเช่นนี้ เขาจะต้องย้อนกลับไปตามอิมามใหม่ หากมิฉะนั้นการละหมาดของเขาจะใช้ไม่ได้
2- กรณี(มุวาฟะเกาะฮฺ)การพร้อมเพรียงกัน คือความพร้อมเพรียงในการเคลื่อนไหวของอิมามและมะอ์มูม ในส่วนที่เป็นองค์ประกอบหลัก เช่น การตักบีรฺ หรือรุกูอฺ เป็นต้น ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นมักรูฮฺ ยกเว้นหากกล่าวตักบีเราะตุลอิหฺรอมพร้อมกันกับอิมามก็จะถือว่าการละหมาดของมะอ์มูมนั้นใช้ไม่ได้
3- กรณี(มุตาบะอะฮฺ)การตามติด คือการกระทำของมะอ์มูมจะเกิดขึ้นหลังจากอิมามได้กระทำไปแล้วติดๆ นี่คือการกระทำที่จำเป็นสำหรับมะอ์มูม ซึ่งอันนี้แหละที่ถือว่าเป็นการตามอิมามที่ถูกต้องตามหลักชะรีอะฮฺ
4- กรณี(มุคอละฟะฮฺ)การทิ้งห่าง คือการที่มะอ์มูมตามอิมามช้าเกินไปจนอิมามทิ้งห่างไปกระทำองค์ประกอบหลักองค์ประกอบอื่นไปแล้ว การกระทำอย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งไม่อนุญาต เพราะไม่ถือว่าเป็นการตาม

ผู้ใดที่เข้าไปในมัสญิดหนึ่ง ปรากฏว่าตัวเองไม่ทันละหมาดพร้อมอิมามในญะมาอะฮฺชุดแรก ก็วาญิบที่เขาและผู้ที่มาสายเหมือนกับเขาต้องร่วมกันละหมาดญะมาอะฮฺชุดที่สอง แต่ความประเสริฐของญะมาอะฮฺครั้งที่สองนี้ก็จะไม่เท่าความประเสริฐของญะมาอะฮฺครั้งแรก

สภาพของผู้ที่(มัสบูก)มาสายและเข้ามาละหมาดตามอิมามโดยที่อิมามละหมาดไปก่อนหน้านั้นแล้ว
1- ผู้ใดที่ทันร็อกอะฮฺแรกพร้อมอิมามถือว่าเขามาทันญะมาอะฮฺนั้นอย่างสมบูรณ์ และผู้ใดทันรุกูอฺพร้อมอิมามก็ถือว่าเขามาทันร็อกอะฮฺนั้นอย่างสมบูรณ์ โดยให้เขากล่าวตักบีเราะตุลอิหฺรอมในสภาพยืนตรงแล้วจึงกล่าวตักบีรฺเพื่อรุกูอฺหากมีเวลาทำอย่างนั้น แต่ถ้าไม่มีเวลาให้ตั้งเจตนาทำสองตักบีรฺรวมกันครั้งเดียว
2- ผู้ใดเข้ามาละหมาดแล้วพบว่าอิมามอยู่ในสภาพยืน รุกูอฺ สุญูด หรือนั่ง ให้เขาเข้าละหมาดกับอิมามตามสภาพเหล่านั้นเลย เขาจะได้ผลบุญการญะมาอะฮฺตามสภาพที่ได้กระทำไป แต่ร็อกอะฮฺนั้นจะนับว่าได้หนึ่งร็อกอะฮฺก็ต่อเมื่อเขาทันรุกูอฺพร้อมอิมาม ส่วนกรณีที่จะถือว่าทันตักบีเราะตุลอิหฺรอมพร้อมอิมามนั้น ก็คือตราบใดที่อิมามยังไม่ทันได้อ่านฟาติหะฮฺเท่านั้น

หุก่มการใช้เวลาสั้นๆ ในการละหมาด
สุนัตให้ผู้เป็นอิมามใช้เวลาละหมาดสั้นๆ แต่ให้สมบูรณ์ เพราะอาจมีมะอ์มูมบางคนอ่อนแอ ป่วย เป็นคนแก่ มีธุระและอื่นๆ แต่ถ้าเขาละหมาดคนเดียวให้เขาทำให้ยาวนานแค่ไหนก็ได้ตามต้องการ

ลักษณะการใช้เวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งสุนัตในการละหมาด
การใช้เวลาสั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งสุนัตในการละหมาดนั้นคือการกระทำที่จะต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์ของการละหมาดด้วยการกระทำสิ่งเป็นรุก่น สิ่งที่เป็นวาญิบ สิ่งที่เป็นสุนัต ให้ครบถ้วนเหมือนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยทำและทำเป็นประจำ รวมทั้งสิ่งที่ท่านใช้ให้ทำด้วย ไม่ใช่ไปคำนึงถึงอารมณ์ใฝ่ต่ำตามความต้องการของบรรดามะอ์มูม และไม่ถือว่าเป็นการละหมาดที่ใช้ได้สำหรับผู้ที่รุกูอฺและสุญูดไม่สมบูรณ์ และไม่ถือเป็นการละหมาดเช่นกันสำหรับผู้ที่รุกูอฺหรือสุญูดเหมือนไก่จิกอาหาร

บรรดามะอ์มูมจะยืนที่จุดไหน?
1- สุนัตให้บรรดามะอ์มูมอยู่ด้านหลังอิมาม หากมะอ์มูมคนเดียวให้อยู่ข้างขวาของอิมาม ส่วนการเป็นอิมามของผู้หญิงนั้นจะอยู่ตรงกลางแถวของพวกเธอ และบรรดามะอ์มูมหญิงจะต้องอยู่ด้านหลังของบรรดามะอ์มูมชาย
2- อนุญาตให้บรรดามมะอ์มูมชายยืนข้างขวาของอิมามได้หรือจะอยู่ทั้งสองข้างของอิมามก็ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ล้ำหน้าอิมามและอยู่ข้างซ้าย นอกจากในกรณีจำเป็นเท่านั้น

ลักษณะการจัดแถวของชายและหญิงด้านหลังอิมาม
1- ถัดจากอิมามให้เป็นแถวของผู้ชาย โดยจัดแถวเริ่มด้วยบรรดาผู้ใหญ่แล้วถัดไปก็เป็นเด็กตามลำดับ แล้วถัดจากนั้นจึงจัดแถวของบรรดาผู้หญิงทั้งหมดให้อยู่หลังบรรดาผู้ชาย ข้อกำหนดของแถวผู้หญิงก็เหมือนกับข้อกำหนดของแถวผู้ชายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้เต็มสมบูรณ์แถวแรกก่อน แล้วจึงจัดแถวต่อๆ ไป รวมถึงการชิดแถว การตรงของแถว เป็นต้น

2- หากบรรรดาผู้หญิงมีการละหมาดญะมาอะฮฺแยกต่างหากเฉพาะพวกผู้หญิง จะถือว่าแถวที่ดีสำหรับพวกเธอคือแถวแรก และแถวที่ไม่ดีคือแถวสุดท้ายเหมือนข้อกำหนดของแถวบรรดาผู้ชาย
ไม่อนุญาตจัดแถวบรรดาผู้หญิงให้อยู่หน้าแถวบรรดาผู้ชายหรือแถวบรรดาผู้ชายอยู่หลังแถวบรรดาผู้หญิง นอกจากมีความจำเป็น เช่น คนเบียดกันเพราะมากเกินไป เป็นต้น

ถ้าหากมีผู้หญิงไปยืนอยู่ในแถวผู้ชายเพราะความจำเป็น เช่น คนแน่นหรืออื่นๆ แล้วละหมาดในสภาพนั้น การละหมาดของเธอไม่เป็นโมฆะและยังใช้ได้ และการละหมาดของคนด้านหลังเธอก็ใช้ได้เช่นกัน
มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านเราะสูลุลอฮฺได้กล่าวว่า

«خَيْرُ صُفُوفِ الرِّجَالِ أَوَّلُـهَا، وَشَرُّهاَ آخِرُهَا، وَخَيْرُ صُفُوفِ النِّسَاءِ آخِرُهَا، وَشَرُّهَا أَوَّلُـهَا»

ความว่า “แถวที่ดีที่สุดของบรรดาผู้ชายคือแถวแรก และแถวที่ไม่ดีคือแถวสุดท้าย และที่ดีที่สุดสำหรับแถวของบรรดาผู้หญิงคือแถวสุดท้าย และแถวที่ไม่ดีคือแถวแรก” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 440)

วิธีการจัดแถวให้ตรง
1- สุนัตให้อิมามหันหน้าไปหามะอ์มูมแล้วกล่าวว่า

«أَقِيْـمُوا صُفُوْفَكُمْ، وَتَرَاصُّوا»

ความว่า “ท่านทั้งหลายจงจัดแถวของท่านให้ตรงและให้ชิด” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 719)

2- หรือกล่าวว่า

«سَوُّوا صُفُوفَكُمْ، فَإنّ تَسْوِيَةَ الصُّفُوفِ مِنْ إقَامَةِ الصَّلاةِ»

ความว่า “ท่านทั้งหลายจงจัดแถวของท่านให้ตรง เพราะแถวที่ตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงการละหมาด” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 723 สำนวนนี้เป็นของอัล-บุคอรีย์และมุสลิม เลขที่: 433)

3- หรือกล่าวว่า

«أَقِيمُوا الصُّفُوفَ، وَحَاذُوا بَيْنَ المَنَاكِبِ، وَسُدُّوا الخَلَلَ، وَلِيْنُوا بِأَيْدِي إخْوَانِكُمْ، وَلا تَذَرُوا فُرُجَاتٍ لِلشَّيْطَانِ، وَمَنْ وَصَلَ صَفّاً وَصَلَـهُ الله، وَمَنْ قَطَعَ صَفّاً قَطَعَهُ الله»

ความว่า “ท่านทั้งหลายจงจัดแถวของท่านให้ตรง จงจัดบ่าให้เสมอ จงอุดช่องว่าง จงอ่อนไม้อ่อนมือกับพี่น้องของท่าน จงอย่าเปิดช่องว่างให้ชัยฏอน และผู้ใดที่ชอบทำแถวให้ต่อกันอย่างสมบูรณ์อัลลอฮฺก็จะต่อผลบุญของเขาให้สมบูรณ์ และผู้ที่ชอบทำแถวให้บกพร่องอัลลอฮฺก็จะทำให้ผลบุญของเขาบกพร่องเช่นกัน” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด สำนวนนี้เป็นของอบู ดาวูดหมายเลข 666 และบันทึกโดยอัน-นะสาอีย์ หมายเลข 819)

4- หรือกล่าวว่า

«اسْتَوُوا، اسْتَوُوا، اسْتَوُوا»

ความว่า “ท่านทั้งหลายจงจัดแถวซึ่งกันและกันให้ตรง จงจัดแถวแถวซึ่งกันและกันให้ตรง จงจัดแถวแถวซึ่งกันและกันให้ตรง” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่โดยอัน-นะสาอีย์ หมายเลข 813)

หุก่มการจัดแถวให้ตรง
วาญิบให้มีการจัดแถวในละหมาดให้ตรงทั้งส้นเท้าและตาตุ่ม อุดช่องว่าง เสริมแถวให้สมบูรณ์ทีละแถว

«مَنْ سَدَّ فُرجَةً بَنَى الله لَـهُ بَيْتاً فِي الجَنَّةِ، وَرَفَعَهُ بِـهَا دَرَجَةً»

ความว่า “ผู้ใดชอบอุดช่องว่างระหว่างแถว อัลลอฮฺจะสร้างบ้านให้เขาหนึ่งหลังและจะยกฐานะของเขาขึ้นหนึ่งขั้นในสวรรค์” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยมุหามิลียฺ หมายเลข(2/36))และบันทึกโดยฏ็อบรอนียฺ หมายเลข (5797)

การอะซานและการเป็นอิมามของเด็กที่รู้เดียงสาแล้วถือว่าใช้ได้ทั้งในละหมาดฟัรฎูและสุนัต แต่ถ้ามีว่าจะบุคคลที่ดีกว่าเขา วาญิบต้องให้บุคคลนั้นเป็นอิมาม

ผู้ใดที่ละหมาดของเขาใช้ได้ การเป็นอิมามของเขาก็ใช้ได้ ถึงแม้ว่าเขาไม่สามารถที่จะยืนหรือรุกูอฺ เป็นต้น ยกเว้นผู้หญิง เพราะไม่สามารถเป็นอิมามของบรรดาผู้ชายได้ แต่เธอจะอิมามระหว่างพวกเธอด้วยกันเองได้
การที่ผู้ที่ละหมาดฟัรฎูจะยึดเอาผู้ที่ละหมาดสุนัตเป็นอิมามถือว่าทำได้ รวมถึงการที่ผู้ที่ละหมาดซุฮฺริจะยึดเอาผู้ที่ละหมาดอัศริเป็นอิมามก็ได้เช่นกัน หรือผู้ที่ละหมาดอิชาอ์หรือมัฆริบจะยึดเอาผู้ที่ละหมาดตะรอวีหฺเป็นอิมามก็สามารถทำได้ โดยเมื่ออิมามให้สะลามแล้วให้มะอ์มูมละหมาดต่อให้สมบูรณ์

หุก่มความต่างกันในการตั้งเจตนา
อนุญาตให้มีความต่างกันได้สำหรับการตั้งเจตนาในการละหมาดระหว่างผู้ที่เป็นอิมามและผู้ที่เป็นมะอ์มูม  และไม่อนุญาตให้มีความต่างกันระหว่างทั้งสองในเรื่องกริยาปฏิบัติเว้นแต่สิ่งเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นอนุญาตให้ผู้ละหมาดอิชาอ์ตามหลังผู้ละหมาดมัฆริบได้ เมื่อผู้เป็นอิมามให้สะลามแล้ว ผู้เป็นมะอ์มูมก็ลุกขึ้นทำต่ออีกหนึ่งร็อกอะฮฺ แล้วนั่งตะชะฮฺฮุด แล้วให้สะลาม และหากผู้ละหมาดมัฆริบตามหลังผู้ละหมาดอิชาอ์นั้น เมื่ออิมามลุกขึ้นทำในร็อกอะฮฺที่สี่ หากมะอ์มูมจะนั่งตะชะฮฺฮุดเลยแล้วให้สะลามหรือจะนั่งเฉยๆ เพื่อคอยให้สะลามพร้อมอิมามก็ได้ ซึ่งแบบหลังจะดีกว่า

แต่หากกริยาปฏิบัติระหว่างอิมามและมะอ์มูมต่างกันมากก็ไม่อนุญาตให้กระทำได้ เช่นผู้ที่ละหมาดศุบห์ตามหลังผู้ที่ละหมาดกุสูฟ(จันทรคราส) เป็นต้น

ลักษณะการเป็นอิมามนำหน้าบรรดาเด็กๆ และบรรดาผู้หญิง
หากอิมามคนหนึ่งได้นำละหมาดเด็กซึ่งมีอายุเจ็ดปีขึ้นไปแล้ว ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ให้พวกเขายืนด้านหลังอิมาม ถ้าคนเดียวให้อยู่ด้านขวาของอิมาม และให้บรรดาผู้หญิงอยู่ด้านหลังของเด็กๆ

สำหรับมะอ์มูมนั้นหากเขาไม่ได้ยินเสียงอ่านฟาติหะฮฺและอื่นๆ ของอิมามในละหมาด(ญะฮฺริยะฮฺ)ให้เขาอ่านฟาติหะฮฺและอื่นๆ อย่าอยู่เฉย

หุก่มเมื่อผู้เป็นอิมามเกิดมีหะดัษระหว่างละหมาดอยู่
เมื่อผู้เป็นอิมามเกิดมีหะดัษในระหว่างละหมาดอยู่ให้เขายกเลิกการละหมาดของเขา และให้คนอื่นขึ้นมาแทนที่เขาในการนำละหมาดบรรดามะอ์มูมให้เสร็จ ทั้งนี้หากมีคนหนึ่งในในบรรดามะอ์มูมขึ้นไปแทนที่หรือบรรดามะอ์มูมต่างยกให้คนหนึ่งเป็นอิมามแล้ว ผู้ที่มาแทนจะต้องนำละหมาดจนเสร็จ หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็ให้ต่างคนต่างละหมาดจนเสร็จตามลำพัง การละหมาดของพวกเขาก็ถือว่าใช้ได้ อินชาอัลลอฮฺ

ลักษณะการชดของมะอ์มูมในร็อกอะฮฺที่ขาดไป
1- ผู้ใดที่ทันละหมาดพร้อมอิมามได้หนึ่งร็อกอะฮฺจากการละหมาดซุฮฺริ อัศริ หรืออิชาอ์ หลังจากอิมามให้สะลามแล้ววาญิบให้เขาชดสามร็อกอะฮฺด้วยกันโดยลุกขึ้นเพิ่มร็อกอะฮฺแรกด้วยการอ่านฟาติหะฮฺและสูเราะฮฺอื่นๆ แล้วนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรก แล้วต่อจากนั้น เพิ่มอีกสองร็อกอะฮฺด้วยการอ่านเฉพาะฟาติหะฮฺเท่านั้น แล้วนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้าย แล้วให้สะลาม ฉะนั้นในทุกๆ ขั้นตอนที่มะอ์มูม(ที่มัสบูก)ได้ทันละหมาดพร้อมๆ อิมามจะถือว่าเป็นขั้นตอนแรกสำหรับการละหมาดของเขา

2- ผู้ใดที่ทันละหมาดพร้อมอิมามหนึ่งร็อกอะฮฺจากการละหมาดมัฆฺริบ หลังจากอิมามให้สะลามแล้วให้เขาลุกขึ้นเพิ่มร็อกอะฮฺแรกด้วยการอ่านฟาติหะฮฺและสูเราะฮฺอื่น แล้วนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรก แล้วต่อจากนั้น เพิ่มอีกหนึ่งร็อกอะฮฺด้วยการอ่านเฉพาะฟาติหะฮฺเท่านั้น แล้วนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้าย แล้วให้สะลามเหมือนในกรณีที่แล้ว

3- ผู้ใดที่ทันละหมาดพร้อมอิมามหนึ่งร็อกอะฮฺจากการละหมาดศุบห์หรือญุมุอะฮฺ หลังจากอิมามให้สะลามแล้วให้เขาลุกขึ้นเพิ่มหนึ่งร็อกอะฮฺ ด้วยการอ่านฟาติหะฮฺและสูเราะฮฺอื่น  แล้วนั่งตะชะฮฺฮุด แล้วให้สะลามเหมือนในกรณีที่แล้ว

4- หากผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามาในขณะที่อิมามกำลังนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้าย ตามสุนนะฮฺแล้วให้เขาเข้าละหมาดพร้อมอิมามเลย หลังจากอิมามให้สะลามแล้ว ให้ลุกขึ้นทำการละหมาดของเขาให้เสร็จสมบูรณ์

หุก่มการละหมาดด้านหลังแถวคนเดียว
ไม่อนุญาตให้คนใดคนหนึ่งละหมาดด้านหลังแถวคนเดียว เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น เช่นผู้ที่ไม่สามารถแทรกตัวเข้าไปในแถวจริงๆ เขาก็สามารถหลังแถวคนเดียวได้ และเขาไม่จำเป็นต้องดึงคนที่อยู่ในแถวลงมาเพื่ออยู่แถวเดียวกับเขา ส่วนการละหมาดของผู้หญิงคนเดียวหลังแถวนั้นถือว่าถูกต้องใช้ได้ในกรณีที่เธอละหมาดพร้อมญะมาอะฮฺผู้ชาย แต่หากเธอละหมาดญะมาอะฮฺพร้อมญะมาอะฮฺฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ก็จะมีหุก่มเหมือนผู้ชาย ดังในกรณีที่ผ่านมา

หุก่มการละหมาดสุนัตเป็นญะมาอะฮฺ
อนุญาตให้ละหมาดสุนัตเป็นญะมาอะฮฺในบางครั้งไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่อื่น

- สุนัตสำหรับผู้ที่พบเห็นผู้ละหมาดวาญิบคนเดียวให้เขาเข้าไปละหมาดพร้อมคนผู้นั้นเพือกลายเป็นญะมาอะฮฺ

มีรายงานจากอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เห็นชายคนหนึ่งละหมาดคนเดียว แล้วท่านจึงกล่าวว่า

«أَلَا رَجُلٌ يَتَصَدَّقُ عَلَى هَذَا فَيُصَلِّيَ مَعَهُ»

ความว่า “ไม่มีหรือคนที่คิดจะเศาะดะเกาะฮฺให้ชายผู้นี้ด้วยการละหมาดพร้อมกับเขา” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 574 ซึ่งสำนวนนี้เป็นสำนวนของอบู ดาวูดและอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 220)

- สุนัตสำหรับมะอ์มูมไม่ให้เขาลุกขึ้นออกไปจากแถว จนกว่าอิมามจะลุกเดินออกจากบรรดามะอ์มูมแล้ว

ลักษณะการตามอิมามของมะอ์มูม
การตามอิมามของมะอ์มูมที่อยู่ในมัสญิดนั้นถือว่าใช้ได้ หากได้ยินเสียงตักบีรฺ ถึงแม้ว่ามะอ์มูมจะไม่เห็นอิมามหรือไม่เห็นผู้ที่อยู่ถัดจากอิมามก็ตาม และใช้ได้เช่นเดียวกันถ้ามะอ์มูมอยู่นอกมัสญิด หากยังคงได้ยินเสียงตักบีรฺและยังคงต่อแถวอยู่

ลักษณะการหันตัวของอิมามสู่บรรดามะอ์มูม
มีสุนนะฮฺให้อิมามหันตัวไปสู่บรรดามะอ์มูมทันทีที่ให้สะลามเสร็จ แต่ถ้าหากมีมะอ์มูมผู้หญิงอยู่ด้วยให้หยุดชั่วครู่หนึ่งเพื่อให้พวกผู้หญิงแยกย้ายออกไปก่อน

เป็นที่มักรูฮฺหากอิมามจะละหมาดสุนัตหลังจากละหมาดฟัรฎูในจุดที่ละหมาดฟัรฎูแล้วทันที
เป็นที่อนุญาตให้กระทำได้หากสถานที่ละหมาดแคบ ซึ่งอิมามจะนำละหมาดโดยที่มะอ์มูมจะยืนพร้อมเขา ด้านหลังเขา ด้านบนเขา หรือด้านล่างเขาก็ตาม

การจับมือสะลาม การกล่าวดุอาอ์ประสานเสียงด้วยเสียงดังหลังจากละหมาดฟัรฎูนั้นเป็นบิดอะฮฺทั้งสิ้นแท้จริงที่มีบัญญัติไว้ก็คือที่ได้การกล่าวบทซิกิรฺตามที่มีรายงานด้วยสำนวนและจำนวนที่ได้เคยกล่าวมาแล้วเท่านั้น

เมื่อใดที่อนุญาตให้สำหรับมะอ์มูมแยกตัวเป็นเอกเทศจากการนำของอิมาม
อนุญาตให้มะอ์มูมแยกตัวเองออกจากการนำของอิมาม เมื่ออิมามละหมาดยาวนานเกินขอบเขตของสุนนะฮฺหรือละหมาดเร็วเกินไป หรืออาจเป็นเพราะมะอ์มูมมีความจำเป็นเช่นต้องกลั้นปัสสาวะหรือกลั้นผายลม เป็นต้น ก็อนุญาตให้เขายกเลิกละหมาดของเขาพร้อมอิมาม และเริ่มละหมาดโดยลำพังคนเดียว

กรณีต่างๆ ในการละหมาดที่อิมามต้องกล่าวเสียงดัง
อิมามต้องกล่าวเสียงดังเมื่อกล่าวตักบีรฺ อ่านอัลกุรอานในละหมาดที่ต้องอ่านเสียงดัง การกล่าวอามีน การกล่าวสะมิอัลลอฮุลิมันหะมิดะฮฺ การกล่าวสะลาม และให้หลีกเลี่ยงการลากเสียงในกรณีดังกล่าว

หุก่มการละหมาดตามหลังผู้ที่ดุอาอ์ขอความช่วยจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ
ผู้ที่ดุอาอ์ขอความช่วยจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺหรือเชือดสัตว์พลีให้สิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ ณ ที่กุบูรฺหรือที่อื่น หรือขอดุอาอ์ต่อเจ้าของกุบูรฺนั้น ไม่อนุญาตให้เราละหมาดตามหลังเขา เพราะเขาตกเป็นกาฟิรฺและการละหมาดก็ใช้ไม่ได้

ข้อผ่อนผันที่สามารถขาดละหมาดญุมุอะฮฺและญะมาอะฮฺได้
ถือว่าเป็นข้อผ่อนผันให้ขาดละหมาดญุมุอะฮฺและญะมาอะฮฺได้สำหรับ
- คนป่วยที่จะไปละหมาดญะมาอะฮฺลำบาก
- ผู้ที่พยายามกลั้นถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ
- ผู้ที่กลัวว่าจะพลาดกลุ่มคณะในขบวนเดินทาง
- ผู้ที่กลัวว่าจะอันตรายขึ้นกับตัวเขา ทรัพย์สิน หรือสมาชิกครอบครัวของเขา
- ผู้ที่ได้รับความไม่สะดวกเนื่องด้วยฝน ลม พายุที่รุนแรง
- ผู้ที่มีสำรับอาหารเตรียมอยู่ตรงหน้าและเขามีความต้องการที่จะกินอาหาร และสามารถกินอาหารได้นั้นสามารถผ่อนผันการละหมาดญุมุอะฮฺและญะมาอะฮฺได้ แต่ต้องไม่ทำเป็นประจำจนกลายเป็นสันดาน
- เช่นเดียวกับหมอ ยาม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานดับเพลิง หรือคนอื่นๆ ที่หน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่จำเป็น ซึ่งหากถึงเวลาละหมาดแล้วเขาจำต้องอยู่ในหน้าที่ต่อไป เขาสามารถละหมาดในจุดที่เขาอยู่ได้  และเขาสามารถละหมาดซุฮฺริแทนญุมุอะฮฺได้หากเขาประสงค์

ทุกสิ่งทุกอย่างที่นำพาไปสู่การเผลอลืมการละหมาด หรือเป็นสิ่งที่ทำให้เสียเวลา หรือทำให้เกิดโทษต่อร่างกายหรือระบบประสาท ถือสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่หะรอมทั้งสิ้น เช่นการเล่นไพ่ การสูบบุหรี่ เสพกัญชา สิ่งมึนเมา สิ่งเสพติดและสิ่งอื่นๆ เช่น นั่งเฝ้าหน้าจอทีวี เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่มีสิ่งที่นำไปสู่ความเป็นกุฟรฺ ความเสื่อมเสียและความตกต่ำ

หุก่มการละหมาดของอิมามในขณะที่นะญิสติดตัว
เมื่ออิมามนำละหมาดญะมาอะฮฺมีนะญิสติดตัวโดยที่เขาไม่รู้ตัว แล้วละหมาดจนเสร็จ การละหมาดของพวกเขาทั้งหมด(ทั้งอิมามและมะอ์มูม)ถือว่าถูกต้องใช้ได้
แต่หากเขารู้ตัวในขณะที่กำลังละหมาดอยู่ ถ้าเขาสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นนะญิสหรือสามารถขจัดมันออกไปก็ให้เขาทำแล้วละหมาดต่อไปจนเสร็จ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ให้เขาออกจากการละหมาดและตั้งให้คนอื่นเป็นอิมามแทนเพื่อนำบรรดามะอ์มูมละหมาดจนเสร็จ

ผู้ใดที่เป็นแขกที่ไปเยี่ยมชนกลุ่มหนึ่งเขาไม่สมควรเป็นอิมามของชนกลุ่มนั้น แต่ให้คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเขาเป็นอิมามเอง นอกจากว่าพวกเขาต่างคนต่างยกให้แขกดังกล่าวเป็นอิมาม

จุดที่ประเสริฐในแถวละหมาด
แถวแรกย่อมประเสริฐกว่าแถวที่สอง ซึ่งอัลลอฮฺและบรรดามะลาอิกะฮฺของพระองค์ต่างยกย่องผู้ที่อยู่ในแถวแรกเสมอ และแท้จริง ท่านท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวดุอาอ์แก่ผู้ที่อยู่ในแถวแรกสามครั้งในขณะที่ท่านได้ขอดุอาอ์ให้แก่ผู้ที่อยู่ในแถวที่สองเพียงครั้งเดียว และด้านขวาของแถวย่อมประเสริฐกว่าด้านซ้าย

คุณสมบัติของผู้ที่สมควรอยู่ในแถวแรก
ผู้ทรงสิทธ์ที่จะอยู่ในแถวแรกและอยู่ใกล้อิมามที่สุดคือบรรดาผู้ที่บรรลุศาสนภาวะ และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นผู้ที่มีความรู้และตักวาเป็นเลิศ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น ฉะนั้นทุกควรที่แข่งขันกันเพื่อที่จะไปอยู่ในจุดดังกล่าวให้ได้

มีรายงานจากอบู มัสอูด กล่าวว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แตะไหล่ของพวกเราตอนที่จะเข้าละหมาดพลางกล่าวว่า

«اسْتَوُوا وَلا تَـخْتَلِفُوا، فَتَـخْتَلِفَ قُلُوبُكُمْ، لِيَلِنِي مِنْكُمْ أولُو الأحْلامِ وَالنُّهَى، ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَـهُـمْ، ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَـهُـمْ»

ความว่า “ท่านทั้งหลายจงจัดแถวให้ตรง อย่าปล่อยให้แตกแถว เพราะการแตกแถวนั้นจะทำให้ใจของพวกท่านแตกแยกไปด้วย และจงให้ผู้จะอยู่ใกล้ๆ ฉันเป็นบรรดาผู้ที่บรรลุศาสนภาวะ และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จากนั้นก็เป็นบรรดาผู้ที่มีคุณสมบัติรองจากพวกเขา จากนั้นก็เป็นบรรดาผู้ที่มีคุณสมบัติรองจากพวกเขาอีกทีหนึ่ง” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 432)

ลักษณะการละหมาดให้ยาวนานและการละหมาดสั้นๆ
สำหรับอิมามที่อ่านยาวๆ สุนัตให้เขาปฏิบัติในส่วนที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆ ให้ยาวนานด้วย และอิมามที่อ่านสั้นๆ สุนัตให้เขาปฏิบัติในองค์ประกอบอื่นๆ ให้สั้นด้วย

มีรายงานจากท่านอัล-บัรรออ์ อิบนุ อาซิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า

رَمَقْتُ الصَّلاةَ مَعَ مُـحَـمَّدٍ صلى الله عليه وسلم، فَوَجَدْتُ قِيَامَهُ فَرَكْعَتَـهُ، فَاعْتِدَالَـهُ بَـعْدَ رُكُوعِهِ، فَسَجْدَتَـهُ، فَجَلْسَتَـهُ بَيْنَ السَّجْدَتَيْنِ، فَسَجْدَتَـهُ، فَجَلْسَتَـهُ مَا بَيْنَ التَّسْلِيمِ والانْصِرافِ، قَرِيباً مِنَ السَّوَاءِ

ความว่า “ฉันเฝ้าดูการละหมาดของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วฉันพบว่าช่วงเวลาการยืนของท่าน การรุกูอฺ การยืนหลังจากรุกูอฺ การสุญูด การนั่งระหว่างสองสุญูด การสุญูด และการนั่งระหว่างหลังให้สะลามกับการหันหน้าไปสู่บรรดามะอ์มูมของท่าน เป็นช่วงเวลาที่เท่าๆ กัน ” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 801 และมุสลิม เลขที่: 471 ซึ่งสำนวนนี้เป็นของมุสลิม)


   والله أعلم بالصواب



มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
แปลโดย : ดานียา เจะสนิ
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์



✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น