อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สุนนะฮฺต่างๆ ในการละหมาด



سنن الصلاة 
ทุกๆ การกระทำที่นอกเหนือจากรุก่นและวาญิบต่างๆ ดังกล่าวมาในการละหมาดนั้นคือสิ่งสุนัต(سنن الصلاة ) ผู้กระทำจะได้บุญเพิ่มและผู้ที่ละเลยก็ไม่โทษใดๆ ซึ่งมันก็คือ คำกล่าวและการกระทำต่างๆ ที่ส่งเสริมให้ปฏิบัตินั่นเอง

สำหรับคำกล่าวต่างๆ นั้น เช่น การดุอาอ์อิสติฟตาหฺ การกล่าวตะเอาวุซ(ขอความคุ้มครองให้พ้นจากชัยฏอน) การกล่าวบัสมะละฮฺ(กล่าวพระนามของอัลลอฮฺ) การกล่าวว่าอามีน การอ่านสูเราะฮฺหลังจากอ่านฟาติหะฮฺ เป็นต้น

และสำหรับการกระทำต่างๆ นั้น เช่นการยกมือในขณะที่กล่าวตักบีรฺในบางกรณีที่ให้ยกมือ การวางมือขวาทับบนมือซ้ายในขณะที่ยืน การนั่งแบบอิฟติรอช และการนั่งแบบตะวัรรุก เป็นต้น

สิ่งที่ทำให้การละหมาดเสีย

การละหมาดจะเสียด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้

1. เมื่อละเลยรุก่นหรือเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งโดยเจตนาหรือหลงลืม หรือว่าละเลยวาญิบใดวาญิบหนึ่งโดยเจตนา
2. การเคลื่อนไหวโยกย้ายโดยไม่มีความจำเป็นใดๆ
3. การเปิดเผยส่วนที่เป็นเอาเราะฮฺโดยเจตนา
4. การพูด การหัวเราะ การกิน การดื่มโดยเจตนา

หุก่มการอิสติฆฺฟารฺหลังจากละหมาดฟัรฺฎฺ

การอิสติฆฺฟารฺหลังจากละหมาดฟัรฺฎูนั้นเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายอิสลาม ทั้งนี้มีหะดีษรายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กระทำในสิ่งดังกล่าว และเนื่องจากมีผู้ละหมาดหลายคนบกพร่องหรือต่อเติมในการละหมาด ไม่ว่าจะเป็นการบกพร่องจากการกระทำที่เป็นรูปธรรมเช่น การอ่าน การรุกูอฺ และการสุญูด เป็นต้น หรือบกพร่องจากการกระทำที่เป็นนามธรรม เช่นบกพร่องจากการคุชูอฺ ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เป็นต้น จึงจำเป็นต้องขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺในความบกพร่องดังกล่าว

ลักษณะการซิกิรฺ

1. อนุญาตให้ซิกิรฺ ทั้งในใจ และด้วยลิ้นสำหรับผู้ที่มีหะดัษ มีญุนุบ ผู้ที่มีประจำเดือน และผู้ที่อยู่ในหว่างการคัดน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตร อาทิเช่น การตัสบีหฺ การตะฮ์ลีลฺ การตะหฺมีด การตักบีรฺ การดุอาอ์ และการเศาะละวาตต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

2. การใช้เสียงค่อยในการซิกิรฺและดุอาอ์นั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่า นอกจากในบางกรณีที่มีรายงานว่าเป็นอื่น เช่นหลังละหมาดห้าเวลา การตัลบิยะฮฺ  หรือเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วมรวม เช่นเพื่อให้คนที่ยังไม่รู้ได้ฟัง กรณีดังกล่าวเช่นนั้นการใช้เสียงดังดีกว่า

หุก่มสำหรับผู้ที่ลุกขึ้นยืนโดยลืมนั่งตะชะฮฺฮุด

เมื่ออิมามลุกขึ้นยืนหลังจากสองร็อกอะฮฺแรกโดยไม่ได้นั่งตะชะฮฺฮุดหากเขานึกขึ้นได้ก่อนที่เขาจะยืนตัวตรงให้เขาย้อนกลับไปนั่งได้ แต่หากยืนตัวตรงแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปนั่งอีก แต่เขาต้องสุญูดสะฮฺวีสองครั้งก่อนให้สลาม

หุก่มสำหรับผู้ที่ออกไปละหมาดญะมาอะฮฺ แต่พบว่าผู้คนต่างละหมาดเสร็จแล้ว

สำหรับผู้ที่ออกไปเพื่อจะละหมาดญะมาอะฮฺ แต่พบว่าผู้คนต่างละหมาดเสร็จแล้ว เขาจะได้ผลบุญเหมือนกับบรรดาผู้ที่ทันละหมาดญะมาอะฮฺในครั้งนั้นทุกประการ ทั้งนี้มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ تَوَضَّأ فَأَحْسَنَ وُضُوءَهُ، ثُمَّ رَاحَ فَوَجَدَ النَّاسَ قَدْ صَلَّوا أَعْطَاهُ الله جَلَّ وَعَزَّ مِثْلَ أَجْرِ مَنْ صَلاهَا وَحَضَرَهَا، لا يَنْقُصُ ذَلِكَ مِنْ أَجْرِهِـمْ شَيْئاً»

ความว่า “สำหรับผู้ที่อาบน้ำละหมาดอย่างพิธีพิถัน แล้วออกไปเพื่อละหมาดญะมาอะฮฺแต่พบว่าผู้คนต่างละหมาดเสร็จแล้ว อัลลอฮฺจะให้ผลบุญแก่เขาเหมือนกับบรรดาผู้ที่ทันละหมาดญะมาอะฮฺในครั้งนั้นทุกประการ โดยไม่มีการลดหย่อนจำนวนผลบุญของเขาจากจำนวนผลบุญของผู้อื่นที่ทันละหมาดญะมาอะฮฺในครั้งนั้นแต่อย่างใด” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 564 สำนวนนี้เป็นสำนวนของท่าน และอัน-นะสาอีย์ 855)

หุก่มการกล่าวคำว่า “อามีน”ทั้งในละหมาดและนอกละหมาด

สุนัตให้กล่าวกล่าวคำว่า “อามีน”ในสองกรณี

1. ในละหมาด หลังจากที่อิมาม มะอ์มูม หรือผู้ที่ละหมาดคนเดียวอ่านฟาติหะฮฺเสร็จ โดยให้กล่าวเสียงดังไม่ว่าจะเป็นอิมามหรือมะอ์มูม และให้มะอ์มูมกล่าวพร้อมๆ กับอิมาม ไม่ใช่ก่อนหรือหลังอิมาม และมีบัญญัติให้กล่าว “อามีน” เช่นกันในดุอาอ์กุนูตวิติรฺ หรือกุนูตนาซิละฮฺ เป็นต้น

2. นอกละหมาด หลังจากที่ฟังหรือได้ยินคนอ่านฟาติหะฮฺเสร็จ และหลังจากได้ยินบทดุอาอ์ทั่วไป หรือบทดุอาอ์เฉพาะกาล เช่นดุอาอ์ของเคาะฏีบญุมอะฮฺ(ผู้เทศนาในวันศุกร์) ดุอาอ์ขอฝน หรือดุอาอ์สุริยุปราคา เป็นต้น


والله أعلم بالصواب



มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
แปลโดย : ดานียา เจะสนิ
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์


✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น