อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อิซีกุโบร์ไม่ใช่แบบฉบับของท่านนบี




การอ่านอัลกุรฺอาน, การซิกรุลลอฮฺ และการขอดุอาอ์ เรียกว่าเป็นอิบาดะฮฺที่ไม่มีรูปแบบ กล่าวคือ วันหนึ่งมุสลิมจะอ่านอัลกุรฺอานกี่อายะฮฺ กี่สูเราะฮฺก็ได้ อ่านมาก ก็ได้ผลบุญมาก

ท่านบูมูซา อัลอัชอะรีย์  กล่าวว่า ท่านรอซูล  ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม  กล่าวไว้ว่า
"อุปมาผู้ศรัทธาที่อ่านอัลกุรอาน ดั่งอุปไมยผล อุตรุจญะฮ์ กลิ่นหอมของมันและรสชาดของมันอร่อย อุปมาผู้ศรัทธาที่ไม่อ่านอัลกุรอาน อั่งอุปไมยผลอินทผลัม มันไม่มีกลิ่น และรสชาดของมันหวาน อุปมาผู้กลับกลอกที่อ่านอัลกุรอาน ดั่งอุปไมยพืชกระเพรา กลิ่นของมันหอม และรสชาดของมันขม และอุปมาผู้กลับกลอกที่ไม่อ่านอัลกุรอาน ดั่งอุปไมยผลเขียวไข่กา มันไม่มีกลิ่นและรสชาดของมันขม"
(บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

ท่านอบูอุมามะฮ์  กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวไว้ว่า
" ท่านทั้งหลาย จงอ่านอัลกุรอาน เพราะว่ามันจะมาในวันสิ้นโลก(กิยามาะฮ์) ในฐานะผู้ปลดโทษให้แก่บรรดาผู้อ่านอัลกุรอาน "
(บันทึกโดย มุสลิม)

พระองค์อัลลอฮ์ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اذْكُرُوا اللَّهَ ذِكْرًا كَثِيرًا، وَسَبِّحُوهُ بُكْرَةً وَأَصِيلاً

ความว่า "โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงรำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากมายเถิด และจงกล่าวตัสบีห์(สดุดีความบริสุทธิ์)ต่อพระองค์ในยามเช้าและเย็น" (อัล-อะห์ซาบ : 41-42)

وَاذْكُرِ اسْمَ رَبِّكَ بُكْرَةً وَأَصِيلاً

ความว่า "และจงกล่าวถึงพระนามของผู้อภิบาลแห่งเจ้าในยามเช้าและเย็น" (อัล-อินซาน : 25)

وَإِذَا سَأَلَكَ عِبَادِي عَنِّي فَإِنِّي قَرِيبٌ أُجِيبُ دَعْوَةَ الدَّاعِ إِذَا دَعَانِ فَلْيَسْتَجِيبُوا لِي وَلْيُؤْمِنُوا بِي لَعَلَّهُمْ يَرْشُدُونَ ( 186 )

"และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้าแล้วก็ (จงตอบเถิดว่า) แท้จริงนั้นอยู่ใกล้ ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอน เมื่อเขาวิงวอนต่อข้าดังนั้น พวกเขาจงตอบรับข้าเถิด และศรัทธาต่อข้า เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง"(อัลบาเกาะเราะ :186)


ส่วนที่มีมุสลิมบางกลุ่มนำอัลกุรฺอานมาบางส่วน โดยเจาะจงว่าต้องอ่านสูเราะฮฺนั้น อายะฮฺนั้น นำการซิกรุลลอฮฺบทนั้นบทนี้ หรือเฉพาะดุอาอ์บทนั้น บทนี้มาอ่าน นั่นแสดงว่า เขาได้นำอิบาดะฮฺซึ่งไม่มีรูปแบบ กลับมาทำเป็นอิบาดะฮฺที่มีรูปแบบ นี่คือความผิดอันมหันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ทำนั้นกลับไม่มีรูปแบบจากท่านนบี หรือชาวสลัฟเลยแม้แต่น้อย

ซึ่งท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม อ่านอัลกุรฺอาน, ท่านนบีซิกรุลลอฮฺ และท่านนบีขอดุอาอ์ แต่ทว่า ท่านนบีไม่อ่านอัลกุรฺอาน, ท่านนบีไม่ได้ซิกรุลลอฮฺ และท่านนบีไม่ได้ขอดุอาอ์ให้แก่คนตายในกุบูรฺ เฉกเช่นมุสลิมบางกลุ่มในเมืองไทยทำ ซึ่งเรียกว่า "อีซีกุโบร์"

อิซี เป็นภาษามาลายู แปลว่า เนื้อ   อิซีกุโบร์ หรือ รอเต็บ (ฆะเตะอฺ) หรือการตะฮฺลีล หรือ อารวาฮฺ (อะร่อเวาะฮฺ) ทั้งหมดคือพิธีกรรมที่ประกอบด้วยการกล่าวคำซิกรุลลอฮฺเฉพาะ , การอ่านอัลกุรอ่านในซูเราะฮฺเฉพาะ , การซอละหวาต และ การดุอาอฺเพื่อนำส่งผลบุญที่ได้รับแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  ซึ่งอิซีกุโบร์นั้นมีเฉพาะในแถบมาลายู และในประเทศไทยที่ได้รับมาจากมาลายู ไม่มีปรากฏหลักฐานจากท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จากบรรดาเศาะหะบะฮฺ ตาบิอีน ตาบิอิตตาบิอีน หรือจากอิมามทั้งสี่แต่อย่างใด ทั้งไม่มีอยู่ในระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยอิสลามแต่อย่างใด พิธีกรรมดังกล่าวมีทั้งรูปแบบที่กระทำกันเป็นมาตรฐานอย่างที่รู้กันและรูปแบบที่ยาวมากๆ โดยเฉพาะการกระทำของกลุ่มที่สังกัดฏ่อรีเกาะฮฺซูฟีย์บางกลุ่มในบ้านเรา และยังนิยมกระทำกันในโอกาสต่างๆ เช่น งานบุญต่างๆ ตั้งแต่ยกเสาเอก , ขึ้นบ้านใหม่ , งานสมรส และหลังละหมาดญะนาซะฮฺ  รวมไปถึงค่ำคืนของวันที่มีการกำหนดเอาไว้หลังการเสียชีวิตของผู้ล่วงลับ เป็นต้น โดยมากจะประกอบพิธีโดยผู้ชำนาญการที่เรียกกันว่า โต๊ะละบัย (ละแบ)


หากถือตามฝ่ายนักวิชาการส่วนใหญ่ที่มีความเห็นว่า การอ่านอัลกุรอ่าน และการซิกรุลลอฮฺ ตลอดจนการกระทำความดีในรูปต่างๆ ของคนที่มีชีวิตอยู่ย่อมมีผลบุญถึงผู้ล่วงลับไปแล้วนั้นมีรูปแบบเฉพาะหรือไม่ อย่างรูปแบบของการทำอิซีกุโบร การตะฮฺลีล หรือการทำอัรวาฮฺ ซึ่งมีรูปแบบเฉพาะไม่ว่าจะตัดบางส่วนออกไปหรือไม่ก็ตามเป็นต้น หรือจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในกรณีการซิกรุลลอฮฺแบบมุกอยยัด (คือมีรูปแบบเฉพาะ) ในเรื่องนี้มีข้อชี้ขาดอย่างไร?

หนังสือที่ชื่อ อิฟาดะตุตตุลล๊าบ บิอะห์กามิลกิรออะฮฺ อะลัล เมาตา ว่า วุซูลลิซซะวาบ ของอัลลามะฮฺ อัซซัยยิด มูฮัมมัด อิบนุ อะฮฺหมัด อิบนิ อับดิลบารี อัลอะฮฺดัล  ร่อฮิมาฮุลลอฮฺ พิมพ์ครั้งที่ 3 ฮ.ศ. 1402 นครมักกะฮฺ ระบุเอาไว้ดังนี้
 
   “อีหม่าม ชัยคฺ อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อาลี อัดดะบีอฺ ร่อฮิมาฮุลลอฮฺ ได้ถูกถามว่า : ประเพณีที่ผู้คนในยุคนี้ กระทำกันโดยพวกเขาจะตะฮฺลีล 7 หมื่นครั้งแก่ผู้ล่วงลับและฮาดียะฮฺผลบุญการตะฮฺลีลหลังจากเสร็จแก่วิญญาณของผู้ล่วงลับและพวกเขาเชื่อว่านั่นเป็นซุนนะฮฺ  ถามว่า มีรายงานที่ถูกต้องด้วยสายรายงานซอฮีฮฺ มุตะวาติร ระบุมาในเรื่องนั้นหรือไม่ หรือมีร่องรอยจากเหล่าซอฮาบะฮฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ  หรือไม่ ขอให้ตอบแก่เราโดยขอพระองค์อัลลอฮฺ ทรงตอบแทนแก่พวกท่านด้วย ท่านชัยคฺตอบว่า : อัลฮัมดุลิลลาฮฺ อัลฮาดี อิลา อัซซอว๊าบ สิ่งดังกล่าวไม่ใช่ซุนนะฮฺ และไม่มีฮะดีษรายงานมาจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ตลอดจนไม่มีร่องรอยจากเหล่าซอฮาบะฮฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ  และผู้อื่นจากเหล่านักปราชญ์ที่เลื่องลือ นอกจากสิ่งที่ ชัยคฺ ซอลิฮฺ อะซีรุดดีน อับดุลเลาะฮฺ อิบนุ อัสอัด อัลยาฟิอีได้ระบุไว้ในหนังสือ อัลอิรชาด ของเขา” (หน้า 31 )
 
   หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ การอ่านอัลกุรอาน การซิกรุลลอฮฺ นั้นมีที่มาในซุนนะฮฺ กล่าวคือ มีความประเสริฐแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺ การอ่านซูเราะฮฺยาซีน การอ่านกุลฯ 3 กุลฯ  การกล่าวตัสเบี๊ยะฮฺ การกล่าวตะฮฺลีล ล้วนแต่มีซุนนะฮฺระบุมาว่า มีความประเสริฐ และผลบุญจากการอ่านสิ่งดังกล่าวก็ถึงผู้ตาย ตามทัศนะของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่รูปแบบและวิธีการที่ถูกกำหนดเอาไว้เข้าข่ายเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ซึ่งนักวิชาการเรียกว่า “วิธีการ” (كَيْفِيَّةٌ) อย่างที่กล่าวซอละหวาตโดยใช้เสียงดังและมีทำนองของมุอัซซินหลังการอะซานนั้น หลักเดิมในเรื่องการซอละหวาตมีที่มาในซุนนะฮฺให้กระทำ แต่วิธีการของมุอัซซินนั้นเป็นบิดอะฮฺ  นักวิชาการเช่นท่าน อิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ ร่อฮิมาฮุลลอฮฺ  ใช้สำนวนว่า (اَلْأَصْلُ فِيْ هٰدِهِ الْمَسْأَلَةِ سُنَّةٌ وَأَمَّاالْكَيْفِيَّةُ فَبِدْعَةٌ) “หลักเดิมในปัญหาข้อนี้ (การซอละหวาตหลังอะซาน) เป็นซุนนะฮฺ ส่วนวิธีการนั้นเป็นอุตริกรรม” เป็นต้น


ต่อไปนี้เป็นคำกล่าวในพิธีอิซีกุโบร์และอารวะฮ์
arawah1.png - 32.71 Kb
arawah2.png - 32.75 Kb


arawah4.png - 31.55 Kb
arawah5.png - 32.03 Kb
arawah7.png - 36.39 Kb

สำหรับเรื่องของน้ำดุอาอฺ ที่อาจจะมีการหยอดเทียนหรืออะไรในทำนองนี้ ไม่พบว่ามีซุนนะฮฺระบุให้กระทำ ผู้ใดเข้าใจว่าเป็นรูปแบบตามซุนนะฮฺ และกระทำไปตามความเชื่อความเข้าใจเช่นนั้น ก็เข้าข่ายว่าเป็นการอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ส่วนที่ถามว่า ถึงขั้นชิริกหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าผู้กระทำมีอิอฺติกอดอย่างไร? ถ้าเชื่อว่าน้ำนั้นมีผลให้คุณให้โทษด้วยตัวของมันเองก็ถือว่าเข้าข่ายชิริกและอาจจะถึงขั้นตกมุรตัดได้ ผู้ตอบเข้าใจว่าผู้ที่กระทำน้ำดุอาอฺมีอิอฺติกอดในเรื่องการตะบัรรุกกับการอ่านอัลกุรอ่าน การซิกรุลลอฮฺ และการขอดุอาอฺเสียมากกว่า ในเบื้องต้นจึงมิใช่เรื่องว่าชิริกหรือไม่? แต่เป็นการกระทำที่มีรูปแบบจากท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  หรือไม่?  ต่างหาก
 

   และสำหรับเรื่องตัลกีน นี่ก็เป็นปัญหายอดฮิตเหมือนข้อแรกที่ยังถามและเถียงกันอย่างไม่รู้จักจบ ตัลกีนมี 2 ชนิด ชนิดแรก คือ ตัลกีน ซึ่งแปลว่าสอนให้อ่านหรือพูดอันได้แก่การสอนถ้อยคำ لَاإِلٰهَ إِلَّا الله  แก่ผู้ที่ใกล้จะสิ้นใจ ตัลกีนชนิดนี้ไม่มีข้อขัดแย้งว่าเป็นซุนนะฮฺให้กระทำ  ส่วนตัลกีนชนิดที่ 2 คือตัลกีนหลังเสร็จสิ้นจากการฝังศพแล้ว ชนิดนี้แหล่ะที่นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน
 
   ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ  ร่อฮิมาฮุลลอฮฺ ได้ตอบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องตัลกีนชนิดนี้เอาไว้ว่า : “การตัลกีนผู้ที่เสียชีวิตหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว ไม่ใช่วาญิบโดยอิจญมาอฺ และไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำของชาวมุสลิมที่เป็นที่รู้กันในระหว่างพวกเขาในสมัยของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และบรรดาค่อลีฟะฮฺของท่าน  แต่สิ่งดังกล่าวมีร่องรอยรายงานมาจากซอฮาบะฮฺกลุ่มหนึ่ง เช่น อบีอุมามะฮฺ , ท่านวาซิละฮฺ อิบนุ อัลอัสกออฺ
 
   ดังนั้น ส่วนหนึ่งจากบรรดาอะอิมมะฮฺ คือ ผู้ที่อนุโลมในเรื่องนี้ เช่น อิหม่ามอะฮฺหมัด  ร่อฮิมาฮุลลอฮฺ และกลุ่มหนึ่งจากสานุศิษย์ของท่านถือว่าเป็นสิ่งชอบให้กระทำ (มุสตะฮับ) ตลอดจนสานุศิษย์ของอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ และส่วนหนึ่งจากบรรดาอุลามะอฺก็คือผู้ที่ถือว่าการตัลกีนนี้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการกระทำอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ในเรื่องตัลกีนจึงมี 3 คำพูดด้วยกัน คือ ถือเป็นเรื่องดี (มุสตะฮับ) , เป็นสิ่งน่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) และ อนุญาตให้ทำได้ (มุบาฮฺ) ข้อ (หลัง) นี้เป็นคำพูดที่เป็นกลางที่สุด.....”  (มัจญมูอะฮฺ อัลฟะตาวา ; เล่มที่ 24 หน้า 166 และเรื่องเดียวกันในหน้า 165)
 
 
   والله أعلم بالصواب


บทความส่วนหนึ่งจาก อาจารย์อาลี เสือสมิง อัสสิยามีย์ :
   
✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น