อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อัลอิควานและการเป็นซูฟีย์ของอิมามหะซันอัลบันนา



อิควานุลมุสลิมีน ( الإخوان المسلمين‎; :Muslim Brotherhood)  “ขบวนการภราดรภาพมุสลิม” เป็นขบวนการอิสลามที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสู่รูปแบบและแก่นแท้ของอัลกุรอานและซุนนะฮ์ ซึ่งก่อตั้งโดยท่านอิมามอัชชะฮีด หะซัน อัลบันนา (ค.ศ. 1906-1949) ผู้เขียนได้ตั้งคำถามกับตนเองว่า เหตุใดขบวนการอิควานุลมุสลิมีนในอดีตจึงมีพลังที่เข้มแข็งมากเมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน? หลังจากที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าชีวประวัติและตำราของท่านอิมามหะซัน อัลบันนา มาระยะหนึ่ง ผู้เขียนได้พบว่า ท่านอิมามหะซัน อัลบันนาและแนวทางของท่านนั้น มีความผูกพันกับวิถีซูฟีย์อย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงต้องการนำเสนอ ความเป็นซูฟีย์ของท่าน ซึ่งเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่กลับไม่ถูกกล่าวถึงเท่าใดนัก ผู้เขียนหวังว่าการค้นคว้าในเรื่องนี้จะทำให้เห็นภาพแก่นแท้ (ฮะกีกัต) ของอัลกุรอานและซุนนะฮ์ที่ขบวนการอิควานุลมุสลิมีนดั้งเดิมได้เรียกร้องไว้ อินชาอัลลอฮุ ตะอาลา

ซูฟีย์กับการกำเนิดขบวนการอิควาน

พลังอันยิ่งใหญ่ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนขบวนการอิควานุลมุสลิมีนนั้น คือพลังทางจิตวิญญาณที่มีความผูกพันอยู่กับอัลเลาะฮ์ตะอาลาตามแนวทางของซูฟีย์ ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา ได้กล่าวถึงระยะหนึ่งของการดะอ์วะฮ์ของท่านว่า “รูปแบบการดะวะฮ์ในระยะนี้ คือเป็นซูฟีย์ทางด้านจิตวิญญาณ และรูปแบทหารในเชิงปฏิบัติการ” (หะซัน อัลบันนา, มั๊จญฺมูอะฮ์ร่อซาอิล อัลอิมาม อัชชะฮีด หะซัน อัลบันนา (ม.ป.ท.: ดารุลหะฎอเราะฮ์ อัลอิสลามียะฮ์. ม.ป.ป.) หน้า 362.)

ท่านสะอีด เฮาวา กล่าวไว้ในหนังสือ ตัรบียะตุนา อัรรูฮียะฮ์เช่นกันว่า “ฉันปรารถนาที่จะทำการวางเท้าของมุสลิมให้อยู่บนทางเดินสู่อัลเลาะฮ์เพื่อเขาจะได้ลิ้มรสของแก่นแท้อีหม่าน และในขณะเดียวกันนี้ ฉันปรารถนาให้มุสลิมรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของซูฟีย์ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของการเรียกร้องของท่านอาจารย์หะซัน อัลบันนา ร่อฮิมะฮุลลอฮ์...” (สะอีด เฮาวา, ตัรบียะตุนา อัรรูฮียะฮ์, (ไคโร: ดารุสลาม, พิมพ์ครั้งที่ 6, ค.ศ. 1999/ฮ.ศ. 1419) หน้า 14.)

แนวทางซูฟีย์ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำความเข้าใจหลักอิห์ซาน หรือหลักที่ว่าด้วยเรื่องจิตวิญญาณที่สร้างความผูกพันอยู่กับอัลเลาะฮ์ตะอาลา เพื่อเป็นการเติมเต็มศาสนาให้มีความสมบูรณ์อย่างเต็มรูปแบบ เพราะแนวทางที่เน้นหลักอิห์ซานเป็นพิเศษก็คือแนวทางของซูฟีย์นั่นเอง ท่านอิมามหะซัน อัลบันนาเอง ก็ตระหนักดีว่า การมีแต่หลักอิสลามและหลักอีหม่านนั้น ยังไม่ทำให้ “อัดดีน” หรือ ศาสนาที่ท่านญิบรีลนำมาสอนบรรดาศ่อฮาบะฮ์และประชาชาติของท่านนะบีย์มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้นมีความสมบูรณ์ เพราะศาสนามีองค์ประกอบหลักๆ อยู่สามประการด้วยกันคือ (1) หลักอิสลาม (2) หลักอีหม่าน และ (3) หลักอิห์ซาน หากต้องการรู้หลักอิสลาม ก็ต้องกลับไปศึกษาอัลกุรอานและซุนนะฮ์ตามความเข้าใจของปราชญ์ฟิกฮ์ ถ้าหากต้องการรู้หลักอีหม่านหรือหลักอะกีดะฮ์ก็ต้องกลับไปศึกษาอัลกุรอานและซุนนะฮ์ตามความเข้าใจของปราชญ์อะกีดะฮ์ และหากต้องการรู้หลักอิห์ซาน ก็จำต้องศึกษาอัลกุรอานและซุนนะฮ์ตามความเข้าใจของปราชญ์ซูฟีย์

เฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์อัชชาซุลลียะฮ์

ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา เล่าถึงความทรงจำของท่านว่า

“ในมัสยิดเล็กๆ แห่งหนึ่ง ฉันเห็นพี่น้องเฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์อัชชาซุลลียะฮทำการซิกรุลลอฮ์หลังจากละหมาดอีชาอฺในทุกคืน และฉันก็ไปศึกษากับชัยค์ซะฮ์รอนในช่วงเวลาระหว่างมัฆริบกับอีชาอฺเป็นประจำ...ดังนั้นวงซิกรุลลอฮ์ได้ดึงดูดฉันด้วยเสียงของการซิกรุลลอฮ์ที่มีระเบียบพร้อมเพรียง มีการอ่านบทกวีที่ไพเราะ และจิตวิญญาณที่เอ่อล้น บรรดาผู้ซิกรุลลอฮ์ที่มีเกียรติเหล่านั้นเป็นระดับชัยค์และเป็นคนหนุ่มที่มีคุณธรรม พวกเขาเหล่านั้นมีความนอบน้อมถ่อมตนกับพวกเด็กๆ ที่กระโจนเข้ามานั่งร่วมกับพวกเขาเพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการซิกรุลลอฮ์และฉันก็หมั่นมานั่งวงซิกรุลลอฮ์ในครั้งอื่นๆ อีก

ดังนั้นฉันต้องการเชื่อมสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นระหว่างฉันกับคนหนุ่มจากพี่น้องเฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์ ซึ่งในหมู่พวกเขามี 3 แกนนำผู้อาวุโส คือ อัชชัยค์ชะละบีย์ อัรริญาล, อัชชัยค์มุฮัมมัด อะบู ชูชะฮ์, และอัชชัยค์ซัยยิดอุษมาน และบรรดาคนหนุ่มผู้มีคุณธรรมที่มีอายุใกล้เคียงกับเรานั้น ก็มี มุฮัมมัด อะฟันดีย์ อัดดิมยาฏีย์, ศอวีย์ อะฟันดีย์ อัศศอวีย์, อับดุลมุตะอาล อะฟันดีย์ ซังกัล, และพี่น้องคนอื่นๆ

ในการรวมกลุ่มที่จำเริญนี้ ฉันได้พบกับอาจารย์อะห์มัด อัซซุกรีย์ เป็นครั้งแรก และการพบกันครั้งนี้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในการดำเนินชีวิตของพวกเราทุกคน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาท่านได้ทำให้ชื่อของท่านอัชชัยค์ หัสนัยน์ อัศศ่อหาฟีย์ วนเวียนอยู่ในหูของฉันตลอดเวลา ชื่อของอัชชัยค์อัศศ่อหาฟีย์มีความงดงามที่อยู่ในเบื้องลึกของหัวใจ มีการนึกถึง และคะนึงหาอยากที่จะเห็นท่าน นั่งร่วมกับท่าน และเอาความรู้จากท่านเพื่อฟื้นฟูจิตใจครั้งแล้วครั้งเล่า” (หะซัน อัลบันนา, มุซักกิร็อต อัดดะอฺวะฮ์ วัดดาอียะฮ์ (มิศร์: ดารุลกิตาบ อัลอะร่อบีย์, ม.ป.ป.) , หน้า 10-11)

สาเหตุที่ท่านเลือกซูฟีย์สายอัศศ่อหาฟียะฮ์อัชชาซุลียะฮ์

ก่อนที่ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา จะเข้ามาอยู่ในแนวทางของซูฟีย์นั้น ท่านจะทำการอ่านวิริดของท่านอิมามซัรรูก (ปราชญ์ตะเซาวุฟท่านหนึ่งของสายอัชชาซุลลีย์) ทั้งเช้าเย็น ซึ่งเป็นวิริดที่ส่วนมากแล้วจะมีบรรดาอายะฮ์อัลกุรอานและฮะดีษต่างๆ ที่เป็นดุอาให้อ่านเช้าและเย็น (ดู มุซักกิร็อต, หน้า 11)

ในระหว่างนั้นท่านอิมามหะซัน อัลบันนา ได้รับหนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อ “อัลมันฮัล อัศศอฟีย์ ฟี มะนากิบ หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์” (แหล่งน้ำที่บริสุทธิ์ในบรรดาคุณความดีของท่านหัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์) ซึ่งท่านชัยค์ หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์นั้น เป็นครูคนแรกและเป็นบิดาของท่าน อัซซัยยิด อับดุลวะฮ์ฮาบ อัศเศาะห์หาฟีย์ ซึ่งท่านชัยค์ หัสนัยน์ อัศเศาะหาฟีย์นั้นท่านหะซัน อัลบันนาไม่เคยเห็น เพราะท่านเสียชีวิตในวันพฤหัสบดี ที่ 17 เดือนญะมาดิลอาคิร ฮ.ศ. 1328 ขณะที่ท่านหะซัน อัลบันนา อายุได้ 14 ปีเท่านั้นเอง

เมื่อท่านหะซัน อัลบันนา อ่านหนังสือดังกล่าว ท่านพบว่าท่านชัยค์ หัสนัยน์ อัศ-เศาะห์หาฟีย์ เป็นอุลามาอฺอัซฮัร ชำนาญในฟิกห์มัซฮับชาฟิอีย์ และทำการศึกษาวิชาการแขนงต่างๆ อย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นท่านได้ศึกษากับบรรดาอุลามาอฺหลายท่านในยุคนั้น ท่านมีความหมั่นเพียรและเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮ์ ซิกรุลลอฮ์ และหมั่นทำการฎออัตอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งท่านทำฮัจญ์และอุมเราะฮ์หลายครั้ง บรรดามิตรสหายและสานุศิษย์ของท่านเคยกล่าวว่า พวกเราไม่เคยเห็นผู้ใดที่มีความเข้มแข็งในการฎออัตต่ออัลเลาะฮ์ ปฏิบัติอิบาดะฮ์ที่เป็นฟัรดูและสุนัตต่างๆ ยิ่งกว่าไปท่านชัยค์หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์ แม้กระทั่งในช่วงท้ายชีวิตของท่านก็ตาม

ท่านชัยค์หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์ได้เคยเรียกร้องไปสู่อัลเลาะฮ์ด้วยวิธีการของปราชญ์ซูฟีย์ ที่ทำให้เกิดความเจริดจรัสและมีรัศมี ท่านเรียกร้องไปสู่อัลเลาะฮ์ด้วยหลักการที่ปลอดภัยและเที่ยงตรง และการเรียกร้องของท่านนั้นอยู่บนพื้นฐานของความรู้ มีการเรียนการสอน สอนวิชาฟิกฮ์ เน้นอิบาดะฮ์ ซิกรุลลอฮ์ กำชับให้กระทำความดีและยับยั้งความชั่ว ต่อสู้กับบิดอะฮ์ และความเหลวไหลต่างๆ ที่มีอยู่ในชาวเฏาะรีเกาะฮ์ที่ท่านเชื่อว่าขัดกับอัลกุรอานและซุนนะฮ์. (ดู มุซั๊กกิร็อต, หน้า 11-12) .

ด้วยเหตุนี้ ท่านหะซัน อัลบันนาจึงประทับใจการทำงานศาสนาของท่านชัยค์หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์ แต่ต้นไม้ที่เจริญเติบโตเองโดยไม่มีผู้คอยดูแลและรดน้ำพรวนดินนั้น มันจะแตกหน่อแตกใบแต่อาจจะไม่ออกผล


การรับบัยอะฮ์คือการให้สัตยาบันระหว่างศิษย์กับชัยค์ผู้ชี้นำว่าจะปฏิบัติตามกิตา 

บุลลอฮ์และซุนนะฮ์ของท่านนะบีย์มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีซิกรุลลอฮ์หรือวิริดและหมั่นเพียรในการปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮ์เพื่อให้ผู้รับบัยอะฮ์นั้นเปลี่ยนแปลงจากชีวิตที่ลืมอัลเลาะฮ์ไปสู่การเตาบะฮ์ ตรวจสอบตนเอง และมุ่งหน้าเข้าหาอัลเลาะฮ์ตะอาลา นอกเหนือจากนั้นยังมีการสอนกะลิมะฮ์เตาฮีด “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์” เพื่อเป็นการตอกย้ำโดยมีสะนัดหรือซัลซิละฮ์ (สายสืบ) ถึงท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้นการบัยอะฮ์จึงเป็นการเชื่อมกับท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมทางด้านจิตวิญญาณโดยผ่านทางสะนัดหรือซัลซิละฮ์ (สายสืบ) นั่นเอง

ท่านชัยค์ สะอีด เฮาวา ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เราเห็นว่าการรับบัยอะฮ์จากนักดาอีย์ที่มีความสมบูรณ์นั้นย่อมเป็นบะร่อกะฮ์แก่ผู้ที่ให้และผู้ที่รับ เพราะการรับบัยอะฮ์นั้นเป็นการฟื้นฟูปณิธานความมุ่งมั่น (ในการเข้าหาอัลเลาะฮ์) และเชื่อมทางด้านจิตวิญญาณ...” (สะอีด เฮาวา, ฆ่อซาอฺ อัลอุบูดียะฮ์, อัชชะบะกะฮ์ อัดดะอ์วียะฮ์ [www.daawa-info.net] หน้า 7)

ดังนั้นท่านอิมามหะซันอัลบันนาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของด้านจิตวิญญาณนี้ ท่านเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการรับบัยอะฮ์ซูฟีย์ของท่านว่า

“จิตใจของฉันยังคงผูกพันอยู่กับท่านชัยค์หัสนัยน์ อัศศ่อหาฟีย์ ร่อหิมะฮุลลอฮ์ จนกระทั่งฉันได้ไปที่สถาบันอัลมุอัลลิมีน อัลเอาวะลียะฮ์ ที่จังหวัดดะมันฮูร ซึ่ง (ปัจจุบัน) เป็นที่ฝังศพของท่านชัยค์หัสนัยน์ อัศศ่อหาฟีย์ และที่นั่นมีโครงเสาของมัสยิดที่ยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งต่อมาได้สร้างจนเสร็จมีชื่อว่า มัสยิด อัตเตาบะฮ์ ฉันได้เข้าไปนั่งล้อมวงซิกรุลลอฮ์ในมัสยิดแห่งนี้เป็นประจำทุกคืน และฉันก็ได้ถามถึงแกนนำของหมู่พี่น้องในมัสยิดนั้น ฉันจึงรู้ว่าเขาคือบุรุษผู้มีคุณธรรมมีนามว่า ชัยค์ บัสยูนีย์ ซึ่งเป็นพ่อค้า ดังนั้นฉันจึงมีความปรารถนาที่จะรับบัยอะฮ์กับเขา แล้วเขาก็อนุญาตและสัญญากับฉันว่า จะแนะนำฉันให้รู้จักกับ อัซซัยิด อับดุลวะฮ์ฮาบ (บุตรของท่านชัยค์ หัสนัยน์ อัศเศาะห์หาฟีย์) ในตอนที่เขามาถึง ซึ่งในช่วงเวลานี้ฉันยังไม่เคยรับบัยอะฮ์เฏาะรีเกาะฮ์ซูฟีย์อย่างเป็นทางการกับผู้ใดเลยแต่ฉันมีความชื่นชอบ

และเมื่อท่านอัซซัยยิด อับดุลวะฮ์ฮาบ – ขออัลเลาะฮ์ทรงให้ได้รับคุณประโยชน์จากเขาด้วยเถิด- มาถึงที่จังหวัดดะมันฮูร บรรดาพี่น้องก็บอกให้ฉันทราบ ฉันรู้สึกดีใจอย่างยิ่งสำหรับข่าวนี้ ดังนั้นฉันจึงไปหาท่านอัชชัยค์ บัสยูนีย์ โดยมีความหวังว่าจะให้เขานำฉันไปพบท่านอัซซัยิด อับดุลวะฮ์ฮาบ แล้วอัชชัยค์บัสยูนีย์ก็ทำตามที่ฉันหวังไว้ และในช่วงเวลาดังกล่าวคือหลังละหมาดอัสริ ของวันที่ 4 เดือนร่อมะฎอน ปีฮิจญฺเราะฮ์ที่ 1342 หากฉันจำไม่ผิด ก็ตรงกับวันอาทิตย์ ฉันได้รับบัยอะฮ์เฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์ อัชชาซุลลียะฮ์ กับท่านอัซซัยยิด อับดุลวะฮ์ฮาบ และเขาได้มอบบรรดาวิริดต่างๆ ของเฏาะรีเกาะฮ์ อัศ-ศ่อหาฟียะฮ์ อัชชาซุลลียะฮ์ ให้แก่ฉันและสิ่งที่ต้องอ่านประจำวัน” (มุซักกิร็อต, หน้า 14-15) .
การที่ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา ได้เข้ามาอยู่ในแนวทางของซูฟีย์บริสุทธิ์นั้น เป็นการเติมเต็มในภารกิจการทำงานศาสนาของอัลเลาะฮ์ จิตวิญญาณที่มีความเข้มเข็งและผูกพันอยู่กับพระองค์นั้น ย่อมเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ทรงหยิบยื่นให้สำหรับภารกิจสำคัญเพื่อเรียกร้องหัวใจของผู้คนทั้งหลายให้กลับไปสู่พระองค์

แนวทางซูฟีย์กับการขับเคลื่อนขบวนการอิควานฯ

การทำงานศาสนาตามหลักการอิสลามนั้นมิใช่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้คนมากมายยอมรับและเข้ามาอยู่ร่วมอุดมการณ์ แต่การทำงานศาสนาในอิสลามคือมีเป้าหมายให้อัลเลาะฮ์ตาอาลาทรงตอบรับ แม้ว่าจะมีผู้คนยอมรับน้อยก็ตาม เนื่องจากการทำงานศาสนาที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาทรงยอมรับ ก็คือการทำงานที่ไม่มีจิตหรืออารมณ์ใฝ่ต่ำเข้ามามีส่วนร่วมนั่นเอง

ดังนั้นการลุกขึ้นมาทำภารกิจในด้านศาสนานั้น จำเป็นต้องมีการบ่มเพาะจิตใจในระยะแรกก่อนที่จะลงภาคสนามและเป็นที่รู้จักในสังคม เพราะฉะนั้นการทุ่มเทความพยายามในการฝังบ่มเพาะและขัดเกลาจิตใจให้มีความผูกพันกับอัลเลาะฮ์และบริสุทธิ์จากความมัวหมองของดุนยานั้น ก็เพื่อให้ปณิธานความมุ่งมั่นในการทำงานศาสนามีความสูงส่งและอยู่บนแนวทางที่ดีงามตามทัศนะของอัลเลาะฮ์ตะอาลา

การขัดเกลาอบรมบ่มจิตใจในตัวของมนุษย์นั้นเปรียบเสมือนกับการปลูกต้นไม้ หากเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการเพาะปลูกนั้นได้ถูกโยนลงบนผืนดินโดยไม่ได้ฝัง ถูกปล่อยทิ้งไว้กลางแจ้งท่ามกลางดินและกรวดทราย แสงอาทิตย์อันร้อนระอุได้สาดส่องลงมาและหมู่เมฆฝนได้แวะเวียนผ่านมายังมันวันแล้ววันเล่า เมล็ดพันธุ์นั้นย่อมตายไปในที่สุด หนทางที่จะให้เมล็ดพืชเจริญงอกงามนั้น ก็คือการนำไปฝังในดินที่ชื้นและปล่อยทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง มันก็จะเกิดปฏิกิริยาและเจริญงอกงาม หลังจากนั้นอัลเลาะห์ตะอะลาก็ให้มันผลิหน่อแตกใบ มีลำต้นขึ้นชูตระหง่านสู่ภาคพื้นดินและออกผลให้ประโยชน์แก่มวลมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย

การทำงานขบวนการอิควานุลมุสลิมีนในยุคแรก ก็อยู่ในวิถีทางนี้ ดังที่ท่านหะซัน อัลบันนา ได้กล่าวว่า “และท่านสามารถที่จะกล่าวโดยไม่เป็นความผิดแต่ประการใดว่า แท้จริงอิควานุลมิสลิมีนนั้น เรียกร้องสู่แนวทางสะลัฟ... ตามแนวทางซุนนะฮ์... และฮะกีกัตซูฟีย์ เพราะอิควานุลมุสลิมีนรู้ว่า รากฐานของความดีงามนั้น คือจิตใจมีความสะอาดและหัวใจมีความบริสุทธิ์ หมั่นปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮ์ (จิตใจ) หลีกห่างจากมัคโลค มีความรักในอัลเลาะฮ์ และผูกพันกับความดีงาม...” (ดู มั๊จญฺมูอะฮ์ร่อซาอิล หะซัน อัลบันนา, หน้า 122) .


ความสำคัญของแนวทางซูฟีย์ตามทัศนะของท่านอิมามหะซัน อัลบันนา

ท่านหะซัน อัลบันนา กล่าวว่า

“ในขณะที่อาณาจักรอิสลามได้เจริญรุ่งเรืองในศตวรรษแรก  บรรดาเมืองต่างๆ ถูกเปิด  ดุนยาได้หันหน้าเข้าหาบรรดามุสลิมีนในทุกย่อมหญ้า... หลังจากนั้นค่อลีฟะฮ์ของพวกเขาได้กล่าวกับเมฆในท้องฟ้าว่า  เจ้าจงไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกซิ  แล้วสถานที่ใดที่หยดน้ำฝนของเจ้าตก  ก็จงเก็บภาษีมาให้ฉันด้วย  โดยธรรมชาติแล้วพวกเขาจะหันหน้าให้กับดุนยาแห่งนี้  เพื่อหาความสุข  ลิ้มรสความหวานชื่นและความสุขสบายของดุนยา  ซึ่งบางเวลาก็อยู่ในความพอดีแต่บางเวลาอยู่ในความสุลุ่ยสุร่าย  ดังนั้นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากการดำเนินชีวิตที่เคยยากลำบากในสมัยของท่านนะบีย์อันเจริดจรัสไปสู่ชีวิตที่มีความสุขสบายในภายหลัง  ก็มีบรรดาปราชญ์ผู้ทรงคุณธรรมได้เรียกร้องมนุษย์ทั้งหลายให้มีความสมถะในความสุขของดุนยาที่ไม่จีรังนี้  และพวกเขาก็พยายามเตือนให้ผู้คนทั้งหลายระลึกถึงสิ่งที่พวกเขาจะได้รับในโลกอาคิเราะฮ์ที่จีรัง “และแท้จริงที่พำนักวันอาคิเราะฮ์นั้น คือชีวิต(ที่แท้จริง)หากพวกเขารู้” [อัลอังกะบูต: 64]  และปราชญ์ที่เป็นที่รู้จักในระดับต้นๆ ที่ได้ทำการเรียกร้องนี้  คือท่านอิมาม อัลหะซัน อัลบัศรีย์และบรรดาปราชญ์ผู้มีคุณธรรมที่เจริญรอยตามท่านอัลหะซัน อัลบัสรีย์ในการเรียกร้องบนวิถีดังกล่าว  ดังนั้นปราชญ์กลุ่มนี้จึงเป็นที่รู้จักในด้านการเรียกร้องสู่การซิกรุลลอฮ์  ระลึกถึงวันอาคิเราะฮ์  มีความสมถะต่อโลกดุนยา  ขัดเกลาจิตใจให้มีการภักดีต่ออัลเลาะฮ์และมีความตักวาต่อพระองค์

และข้อเท็จจริงอันนี้ก็คือสิ่งที่ได้เคยเกิดขึ้นพร้อมกับข้อเท็จจริงในวิชาแขนงอื่นๆ ของอิสลาม ดังนั้นข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เกิดรูปแบบทางวิชาการที่วางระบบพฤติกรรมของมนุษย์และวางแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่พวกเขาเป็นการเฉพาะ  คือช่วงระยะการหมั่นซิกรุลลอฮ์  การทำอิบาดะฮ์  การรู้จักอัลเลาะฮ์  และสุดท้ายก็คือการไปสู่สวรรค์และความพึงพอพระทัยของอัลเลาะฮ์ตะอาลา

และวิชาตะเซาวุฟนี้  มีชื่อเรียกอีกว่า วิชา “อัตตัรบียะฮ์วัสสุลู๊ก” ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า วิชาตะเซาวุฟนั้นเป็นแก่นของอิสลาม และไม่สงสัยเลยว่าชาวซูฟีย์นั้นพวกเขาได้บรรลุถึงขั้นระดับของการรักษาและเยียวยาจิตใจแล้ว ซึ่งผู้อื่นจากพวกเขาไม่สามารถไปถึงได้...” (ดู มุซักกิร็อต, หน้า 16-17)
ดังนั้นการทำงานศาสนา โดยแสวงหาประโยชน์ทางดุนยาและลืมอัลเลาะฮ์ตะอาลานั้น ย่อมไม่บังควรอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ลืมเป้าหมายที่แท้จริง ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา กล่าวว่า “ท่านจงมุรอเกาะบะฮ์อยู่กับอัลเลาะฮ์(คือมีความรู้สึกว่าอัลเลาะฮ์ตะอาลากำลังมองและเห็นท่าน)อย่างสม่ำเสมอ และให้ท่านระลึกถึงอาคิเราะฮ์และจงเตรียมพร้อม และจงฟันฝ่าช่วงระยะการเดินทางไปสู่ความพึงพอพระทัยของอัลเลาะฮ์ตะอาลา ด้วยปณิธานอันมุ่งมั่น และท่านจงสร้างความใกล้ชิดต่ออัลเลาะฮ์ด้วยการปฏิบัติอิบาดะฮ์ที่เป็นสุนัตให้มากๆ เช่น การละหมาดยามค่ำคืน การถือศีลอด 3 วันข้างขึ้นของทุกเดือนเป็นอย่างน้อย ทำการซิกรุลลอฮ์ด้วยหัวใจและลิ้นให้มากๆ และพยายามขอดุอาในขณะปฏิบัติอะมัลดังกล่าวในทุกๆ สภาวการณ์” (มั๊จญฺมูอะฮ์ร่อซาอิล หะซัน อัลบันนา, หน้า 367-368)

ดังนั้นการทำภารกิจใดก็ตาม  หากมีเป้าหมายคืออัลเลาะฮ์  ย่อมเป็นการงานที่ถูกตอบรับและได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์  ดังที่ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา กล่าวว่า

“เราอิควานุลมุสลิมีน ได้เรียกร้องจากทุกหัวใจของเราทุกคนว่า “อัลเลาะฮ์คือเป้าหมายของเรา” ดังนั้นเป้าหมายแรกของการเรียกร้องนี้  คือให้มนุษย์รำลึกถึงการเชื่อมสัมพันธ์อันใหม่นี้ที่จะทำให้พวกเขามีความผูกพันกับอัลเลาะฮ์  และหากพวกเขาลืมการเชื่อมสัมพันธ์(ที่ทำให้พวกเขาผูกพันกับอัลเลาะฮ์)นี้  อัลเลาะฮ์ตะอาลาก็จะให้พวกเขาลืม(เป้าหมาย)ของพวกเขาเอง พระองค์ทรงตรัสว่า

“โอ้บรรดามนุษย์ทั้งหลาย  พวกเจ้าสักการะพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด  ผู้ทรงสร้างพวกเจ้าและบรรดาผู้อยู่ก่อนหน้าพวกเจ้า  เพื่อพวกเจ้านั้นจะมีความยำเกรง” [อัลบะเกาะเราะฮ์: 21]  และเป้าหมายแรกนี้  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว  ก็คือกุญแจดอกแรกสำหรับปลดล็อกปัญหาต่างๆ ของมนุษย์...” (มั๊จญฺมูอะฮ์ร่อซาอิล หะซัน อัลบันนา, หน้า 226)
การซิกรุลลอฮ์เป็นญะมาอะฮ์  เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างพลังในการทำงานอิสลาม  ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา  กล่าวว่า

“ได้มีฮะดีษต่างๆ บอกให้รู้ว่าศาสนาส่งเสริมให้ทำการรวมกลุ่มกันซิกรุลลอฮ์  มีฮะดีษที่รายงานโดยมุสลิม  ได้ระบุว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ไม่มีชนกลุ่มหนึ่งได้ทำการนั่งซิกรุลลอฮ์  เว้นแต่บรรดามะลาอิกะฮ์จะห้อมล้อมพวกเขา  ความเมตตา(จากอัลเลาะฮ์)แผ่คลุมพวกเขา  และความสงบมั่น(อยู่กับอัลเลาะฮ์)ได้ลงมาที่(หัวใจ)ของพวกเขา  และอัลเลาะฮ์ได้เอ่ยนามพวกเขาใน(มะลาอิกะฮ์)ผู้อยู่ ณ ที่พระองค์”

และมีบรรดาฮะดีษอีกมากมายที่ท่านจะเห็นได้ว่า  ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมนั้นได้ออกไปหาซอฮาบะฮ์กลุ่มหนึ่งที่พวกเขากำลังซิกรุลลอฮ์ในมัสยิด  แล้วท่านนะบีย์ก็แจ้งข่าวดีแก่พวกเขาและไม่ทำการตำหนิแต่อย่างใด  ดังนั้นการรวมกลุ่มในการทำความดีจึงเป็นสิ่งที่ได้รับการส่งเสริมในตัวของมันเองอยู่แล้ว  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อมีประโยชน์มากมายติดตามมา  เช่น  ทำให้เกิดการประสานระหว่างบรรดาหัวใจ  ทำให้มีความผูกสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น  ใช้ช่วงเวลาต่างๆ ในสิ่งที่มีประโยชน์  ได้สอนคนที่ร่ำเรียนน้อยได้เข้าใจ  และเชิดชูเอกลักษณ์ศาสนาของอัลเลาะฮ์ตะอาลา” (หะซัน อัลบันนา, มั๊จญฺมูอะฮ์ร่อซาอิล หะซัน อัล-บันนา (ม.ป.ท. ดารุชชิฮาบ, ม.ป.ป.), หน้า 340)
ท่านอัลลามะฮ์  สะอีด เฮาวา  ได้กล่าวถึงแนวทางซูฟีย์ที่เป็นปัจจัยสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามว่า “แท้จริง 90 เปอร์เซ็น ในหลายศตวรรษที่ผ่านมาของประชาชาติอิสลามนั้น  ล้วนมีความเกี่ยวพันกับตะเซาวุฟและปราชญ์ตะเซาวุฟ  ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดก็ตาม  เช่น  อยู่ในรูปแบบของการให้ความสำคัญกับตะเซาวุฟ  หรือเป็นลูกศิษย์กับปราชญ์ตะเซาวุฟ  หรือมีการเชื่อมสัมพันธ์กับพวกเขา  หรือเข้าสังกัดอยู่ในแนวทางของพวกเขา  ดังนั้นวิชาตะเซาวุฟและปราชญ์ตะเซาวุฟจึงยังคงอยู่จวบถึงปัจจุบัน  ซึ่งพวกเขาสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ที่ผู้อื่นไม่สามารถเข้าถึงได้...เพราะฉะนั้นขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามในยุคใหม่   ต้องถูกกำหนดให้เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงฟื้นฟูที่มีความจำเป็น  - ซึ่งหนึ่งในคุณลักษณะพิเศษของการเคลื่อนไหวดั้งเดิมนั้น  คือมีแก่นแท้ของซูฟีย์ เหมือนกับที่ ท่านอาจารย์ หะซัน อัลบันนา นักเคลื่อนไหวอิสลามผู้อาวุโสที่สุดได้กล่าวเอาไว้ –  จากการที่ต้องเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้  แล้วทำการฟื้นฟูเพื่อหวนกลับไปสู่บรรดารากฐานที่ถูกต้องและบริสุทธิ์” (ตัรบียะตุนา อัรรูฮียะฮ์, หน้า 8, 14)

แต่ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจว่าแนวทางซูฟีย์ของท่านหะซัน อัลบันนานั้นอยู่ในแนวทางปฏิรูปบนหลักของอัลกุรอานและซุนนะฮ์และสอดคล้องกับทั้งสอง  เน้นปรับปรุงและขัดเกลาจากภายในจิตวิญญาณ  หลังจากนั้นก็ขัดเกลาสังคม  ขัดเกลาเศรษฐกิจ  ขัดเกลาการเมือง    และถ้าหากท่านผู้อ่านทำการศึกษาการทำงานศาสนาของท่านหะซัน อัลบันนา จากตำราต่างๆ ที่ท่านได้เขียนนั้น  ก็จะพบว่าท่านมีรูปแบบการทำงานที่หัวใจมีอัลเลาะฮ์  และมีความเป็นกลางไม่หย่อนยานและตึงจนเกินไป  การทำงานของท่านจะอยู่ในรูปแบบที่มีความเป็นธรรมอย่างสร้างสรรค์มิใช่ทำลาย  และสร้างความเป็นเอกภาพ (วะห์ดะฮ์) ไม่ใช่สร้างฟิตนะฮ์ให้เกิดขึ้นในประชาชาติมุสลิม  เพราะท่านทำงานศาสนาโดยมีเป้าหมายที่อัลเลาะฮ์มิใช่เพื่อแนวทางของตนเอง

ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอัลลามะฮ์ อัซซัยยิด อะบุลหะซัน อันนัดวีย์  จึงกล่าวเกี่ยวกับท่านหะซัน อัลบันนาว่า “บุคลิกของผู้ก่อตั้งและแกนนำคนแรกของอิควานุลมุสลิมีนนั้นมีความเข้มแข็งและน่าหลงใหลซึ่งรวมไว้หลายด้านด้วยกัน  เขาเป็นนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  มีความพยายามอย่างไม่ลดละ  มีปณิธานอันมุ่งมั่นที่ความเบื่อหน่ายไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้  เป็นความหวังที่ไม่ดับแสง  เป็นทหารที่อดหลับอดนอนอยู่ชายแดนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย  และเบื้องหลังของทุกๆ ความพิเศษและความโดดเด่นเหล่านี้  คือปัจจัยอันเข้มแข็งที่จะละเลยเสียไม่ได้  ก็คือการขัดเกลาจิตวิญญาณของท่าน  ที่ดำเนินตามแนวทางตะเซาวุฟ และหมั่นฝึกฝน  ซึ่งในตอนเริ่มภารกิจของท่านหะซันอัลบันนา ตามที่ท่านได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า  ท่านอยู่ในสายเฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์ อัชชาซุลลียะฮ์  โดยท่านทำการมุ่งเน้นซิกรุลลอฮ์ตามแนวทางของเฏาะรีเกาะฮ์อัศศ่อหาฟียะฮ์ อัชชาซุลลียะฮ์  และทำอย่างสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  ซึ่งบรรดาผู้อาวุโสและมิตรสหายใกล้ชิดของท่านหะซันอัลบันนาได้พูดให้ฉันฟังว่า  ท่านหะซัน อัลบันนานั้นยังคงยึดวิริดของเฏาะรีเกาะฮ์ อัศศ่อหาฟียะฮ์ อัชชาซุลลียะฮ์นี้ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิตและแม้ในช่วงที่มีภารกิจติดพัน” (อะบุลหะซัน อันนัดวีย์, อัตตัฟซีร อัสสิยาซีย์ ลิลอิสลาม (ดารุ อาฟ๊าก อัลฆ่อด์, ม.ป.ป.), หน้า 130-131)

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1949 ท่านอิมามหะซัน อัลบันนา ตายชะฮีดโดยถูกลอบสังหารในขณะที่ท่านอยู่ในการญิฮาดเพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา  ภารกิจของท่านหะซัน อัลบันนาเสร็จสิ้นแล้ว  แต่เป้าหมายและอุดุมการณ์ของท่านยังอยู่  ท่านมุห์ซิน มุฮัมมัดได้เขียนไว้ว่า  “มีรายงานจากหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษระบุว่า แท้จริง สาเหตุประการหนึ่งที่กลุ่มอิควานได้ขยายอย่างรวดเร็วคือการหวนกลับไปยังรูปแบบการดำเนินชีวิตที่สมถะและเคร่งครัดของหะซัน อัลบันนา ในฐานะมุสลิม(ธรรมดา)คนหนึ่ง(ที่ไม่ถือยศถือเกียรติแต่อย่างใด)” (ดู มุห์ซิน มุฮัมมัด อัศเศาะห์หาฟีย์, มันก่อต่าล่า หะสัน อัลบันนา [(ใครสังหารหะซันอัลบันา?] (โคโร: ดารุ อัชชุรูก, พิมพ์ครั้งที่ 2, ค.ศ. 1987/ฮ.ศ. 1407), หน้า 9)

และท่านมุห์ซิน มุฮัมมัดได้กล่าวในหน้าเดียวกันว่า “ผู้คนได้พบในรถแท็กซี่ที่นำท่านหะซัน อัลบันนาไปส่งที่โรงพยาบาลก็อสรุลอัยน์ในครั้งสุดท้ายนั้น มีเพียงลูกตัสบีห์ราคาถูก 99 เม็ด!”

โดย... อบูมุฮัมมัด อัลอัซฮะรีย์

 http://www.alkudawah.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น