อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กลุ่มอัซ-ซัยดียะฮฺ



นิยาม

อัซ-ซัยดียะฮฺ ( الزيدية ,  l-zaidiyah) คือชีอะฮฺกลุ่มหนึ่ง ที่พาดพิงถึงผู้ก่อตั้งแนวคิดนี้ คือ ซัยดฺ บิน อะลีย์ ซัยนุลอาบิดีน ผู้ซึ่งกำหนดทฤษฎีของชีอะฮฺในด้านการเมืองและการปกครอง เขาได้เสียสละและต่อสู้เพื่อหนทางนี้ เขามีทัศนะว่าการเป็นเคาะลีฟะฮฺ ของอบูบักรฺ อุมัรฺ และอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เป็นสิ่งที่ชอบธรรม ไม่มีผู้ใดเลยจากกลุ่มนี้ ตัดสินว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา และหนึ่งในทัศนะของกลุ่มนี้คือ อนุญาตให้ผู้ที่มีความประเสริฐน้อยกว่าเป็นผู้นำชนที่ที่มีความประเสริฐมากกว่า

การก่อตั้งและบุคคลที่สำคัญของกลุ่ม

กลุ่มอัซ-ซัยดียะฮฺ นั้นพาดพิงถึงผู้ก่อตั้งคือ ซัยดฺ บิน อะลีย์ ซัยนุลอาบิดีน บิน อัล-หุสัยนฺ บิน อะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา (มีชีวิตระหว่าง ฮ.ศ.80-122) ท่านซัยดฺ ได้นำการปฏิวัติของชีอะฮฺ นประเทศอิรักเผชิญหน้ากับอำนาจของอาณาจักรอุมะวียะฮฺ สมัยการปกครองของ ฮิชาม บิน อับดุลมะลิก  ชาวเมืองกูฟะฮฺเป็นผู้ที่ยุยงให้ซัยดฺออกมาก่อการในครั้งนี้ แต่ในเวลาต่อมาชาวเมืองกูฟะฮฺได้โดดเดี่ยวการต่อสู้ของท่านซัยดฺและได้หักหลังท่านเมื่อรู้ว่าท่านซัยดฺนั้นไม่ประณามหรือสาปแช่งต่อท่านอบูบักรฺ และอุมัรฺ นอกจากนั้น แล้วท่านซัยดฺยังกล่าวคำอัต-ตะร็อฎฎีย์ (กล่าวว่า เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ-ขออัลลอฮฺทรงโปรดปราน)ต่อท่านทั้งสองคนด้วย ดังนั้น ท่านซัยดฺจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังของอาณาจักรอัล-อุมะวียะฮฺ โดยมีกองกำลังที่ร่วมรบกับท่านเพียง 500 นาย จากการต่อสู้ท่านซัยดฺถูกยิงด้วยลูกธนูที่หน้าผากและเสียชีวิตลงในปี ฮ.ศ. 122

ท่านซัยดฺ ได้เดินทางรอนแรมในแถบประเทศชามและอิรักเพื่อแสวงหาความรู้และสิทธิอันชอบธรรมของอะฮฺลุลบัยตฺ (วงศ์วานท่านนบี) ในการหวนกลับมาเป็นผู้ปกครองอีกครั้งหนึ่ง ท่านเป็นผู้ที่ยำเกรง ผู้ที่เคร่งครัดในศาสนา มีความบริสุทธิ์ใจ มีความกล้าหาญ และเป็นที่ยำเกรง มีความรอบรู้ในคัมภีร์
อัลกุรอานและจริยวัตรของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

ท่านได้ศึกษาความรู้และรับการรายงานหะดีษจากพี่ชายคนโตของท่าน คือ มุหัมหมัด อัล-บากิรฺ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบสองอิหม่ามที่ชาวชีอะฮฺเทิดทูน

ท่านได้มีการติดต่อกับ วาศิล บิน อะฏออฺ ผู้นำกลุ่มอัล-มุอฺตะซิละฮฺ และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเขา จนเขาได้ซึมซับอิทธิพลทางความคิดของอัล-มุอฺตะซิละฮฺเข้าไปในความคิดของอัซ-ซัยดียะฮฺไปด้วย แม้ว่าจะมีผู้ปฏิเสธการเป็นศิษย์และครูระหว่างทั้งสองท่านก็ตาม บางคนก็ยืนยันว่าทั้งสองท่านมีการติดต่อสื่อสารกันจริงแต่มิได้มีการรับอิทธิพลทางความคิดไปด้วย

มีการอ้างว่า ท่านซัยดฺเป็นผู้แต่งตำรา อัล-มัจญ์มูอฺ ฟี อัล-หะดีษ และตำรา อัล-มัจญ์มูอฺ ฟี อัล-ฟิกฮฺ ทั้งสองเล่มเป็นตำราเล่มเดียวกันมีชื่อว่า อัล-มัจญ์มูอฺ อัล-กะบีรฺ ซึ่งเป็นตำราที่ศิษย์เอกของท่านที่ชื่อ อบู คอลิด อัมรฺ บิน คอลิด อัล-วาสิฏีย์  อัล-ฮาชิมีย์ นำมาถ่ายทอด ซึ่งเขาได้เสียชีวิตช่วงปีที่ 50-75 ของฮิจญ์เราะฮฺศตวรรษที่ 2

ส่วนลูกชายของท่านที่ชื่อ ยะหฺยา บิน ซัยดฺ ได้ร่วมรบกับบิดาในสมรภูมิ แต่ทว่าเขาสามารถหลบหนีไปยังเมืองคุเราะสานได้ แต่ในสุดท้ายกองกำลังของอุมะวียะฮฺสามารถติดตามตัวเขาและสังหารเขาในปี ฮ.ศ.125 หลังจากการเสียชีวิตของยะหฺยา บิน ซัยดฺ ตำแหน่งผู้นำกลุ่มจึงตกเป็นของมุหัมหมัด และอิบรอฮีม

มุหัมหมัด บิน อับดุลลอฮฺ อัล-หะสัน บิน อะลีย์ (ซึ่งรู้จักกันในนาม อัน-นัฟสฺ อัซ-ซะกียะฮฺ) ได้เดินทางสู่เมืองมะดีนะฮฺ เจ้าเมืองในขณะนั้นคือ อีซา บิน มาฮาน ได้ลงมือสังหารเขา ต่อมา หลังจากมุหัมหัด เสียชีวิต น้องชายของเขาที่ชื่อ อิบรอฮีม ได้เดินทางสู่เมืองบัศเราะฮฺ แต่เขาได้ถูกสังหารตามบัญชาของอัล-มันศูรฺ

อะหฺมัด บิน อีซา บิน ซัยดฺ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้ ได้พำนักที่ประเทศอิรัก และได้ศึกษาหาความรู้จากสานุศิษย์ของอิหม่ามอบู หะนีฟะฮฺ และเขาเป็นผู้หนึ่งที่ซึมซับกับสำนักคิดนี้และได้สร้างความเจริญแก่สำนักคิดอัล-หะนะฟีย์

ปราชญ์ของอัซ-ซัยดียะฮฺอีกท่านหนึ่งคือ อัล-กอสิม บิน อิบรอฮีม อัร-ร็อสสีย์ บิน อับดุลลอฮฺ บิน อัล-หุซัยนฺ บิน อะลีย์ บิน อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา (มีชีวิตระหว่าง ฮ.ศ.170 - 242) เขาได้ตั้งกลุ่มย่อยจากอัซ-ซัยดียะฮฺ ซึ่งรู้จักกันในนามกลุ่ม อัล-กอสิมียะฮฺ

ต่อมาหลานของเขาที่มีนามว่า อัล-ฮาดีย์ อิลา อัล-หักก์ ยะหฺยา บิน อัล-หุซัยนฺ บิน อัล-กอสิม  (มีชีวิตระหว่าง ฮ.ศ.245 - 298) ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำกลุ่มอัซ-ซัยดียะฮฺในประเทศเยเมน เขาได้สู้รบกับกลุ่มอัล-เกาะรอมิเฏาะฮฺที่อาศัยอยู่ในประเทศเยเมนในช่วงนั้น และเช่นเดียวกันเขาได้ตั้งกลุ่มย่อยจากอัซ-ซัยดียะฮฺ ซึ่งรู้จักกันในนามกลุ่ม อัล-ฮาดะวียะฮฺ ซึ่งแพร่หลายในประเทศเยเมน แคว้นหิญาซ (ฏออิฟ มักกะฮฺ มะดีนะฮฺ) และพื้นที่ใกล้เคียง

กลุ่มอัซ-ซัยดียะฮฺได้แพร่กระจายเข้าสู่เมืองอัล-ดัยลัม หรือญัยลาน(ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศอิหร่าน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลแคสเปียน) ด้วยการนำของอิหม่าม หุซัยนีย์ ซึ่งมีนามเต็มว่า อบูมุหัมหัด อัล-หะสัน บิน อะลีย์ บิน อัล-หะสัน บิน ซัยดฺ บิน อุมัรฺ บิน อัล-หุสัยนฺ บิน อะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เขามีฉายานามว่า อัน-นาศิร อัล-กะบีรฺ (มีชีวิตระหว่าง ฮ.ศ. 230 - 304) ผู้คนรู้จักเขาในนาม “อัล-อุฏรูช” เขาผู้นี้ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐาน ณ ประเทศเหล่านั้นเพื่อเผยแพร่อิสลามตามแนวคิดของอัซ-ซัยดียะฮฺ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้คนเข้ารับอิสลามและกลายเป็นพวกอัซ-ซัยดียะฮฺเป็นจำนวนมากในช่วงแรก

ยังมีนักดาอีย์ของกลุ่มอัซ-ซัยดียะฮฺอีกท่านหนึ่งมีชื่อว่า อัล-หะสัน บิน ซัยดฺ บิน มุหัมหมัด บิน อิสมาอีล บิน ซัยดฺ บิน อัล-หะสัน บิน อะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เขาผู้นี้ได้สถาปนารัฐอัซ-ซัยดียะฮฺทางตอนใต้ของทะเลแคสเปียน (อัล-เคาะซัรฺ) เมื่อปี ฮ.ศ. 250


นอกจากนี้ ในบรรดาผู้นำของอัซ-ซัยดียะฮฺ ยังมีบุคคลดังต่อไปนี้

- มุหัมหมัด บิน อิบรอฮีม บิน เฏาะบาเฏาะบา ซึ่งได้ส่งนักดาอีย์ของเขาไปยังแคว้นหิญาซ อียิปต์ เยเมน และ บัศเราะฮฺ
- มุกอติล บิน สุลัยมาน
- มุหัมหมัด บิน นัศรฺ
- อบู ฟัฎลฺ บิน อัล-อะมีด
- อัศ-ศอหิบ บิน อับบาด
- และผู้ปกครองจากราชวงศ์ บนี บะวัยฮฺ
พวกอัซ-ซัยดียะฮฺ ในประเทศเยเมนสามารถกู้อำนาจกลับคืนมาจากพวกเติร์ก (อาณาจักรอุษมานียะฮฺ) ได้ เนื่องจากอิหม่ามยะหฺยา บิน มันศูรฺ บิน หะมีดุดดีน ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากชาวเติร์กได้ในปี ฮ.ศ. 1322 และได้สถาปนารัฐอัซ-ซัยดียะฮฺ ซึ่งปกครองประเทศเยเมนเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.1962 ราชวงศ์อัซ-ซัยดียะฮฺถูกโค่นอำนาจจากการปฏิวัติของประชาชนเยเมนเองทำให้อำนาจของราชวงศ์อัซ-ซัยดียะฮฺเสื่อมสลายไป แต่ทว่าประเทศเยเมนยังเป็นฐานที่มั่นหลักของกลุ่มอัซ-ซัยดียะฮฺจวบจนปัจจุบัน
ได้มีกลุ่มที่แตกจากอัซ-ซัยดียะฮฺจำนวน 3 กลุ่มซึ่งพวกเขาเหล่านี้บางส่วนได้ใส่ไคล้ในตัวท่านอบูบักรฺ และอุมัรฺ คือ
- กลุ่ม อัล-ญารูดียะฮฺ คือ พวกที่ทำตามอัล-ญารูด บิน ซิยาด บิน อบี ซิยาด
- กลุ่ม อัศ-เศาะลิฮียะฮฺ คือ พวกที่ทำตาม อัล-หะสัน บิน ศอลิหฺ บิน หัยยฺ
- กลุ่ม อัล-บะตะรียะฮฺ คือ พวกที่ทำตามกะษีรฺ อัน-นะวา อัล-อับตัรฺ
ซึ่งสองกลุ่มหลังจะมีแนวคิดและจุดยืนที่เหมือนกัน

แนวคิดและความเชื่อของอัซ-ซัยดียะฮฺ 

พวกเขามีทัศนะว่า บุตรหลานของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ทุกคนมีสิทธิ์เป็นอิหม่าม (ผู้นำสูงสุด)ได้ ไม่ว่าเขาจะมาจากเป็นทางเชื้อสายของอิหม่ามอัล-หะสัน หรืออิหม่ามอัล-หุสัยนฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา

การแต่งตั้งผู้นำสูงสุดไม่มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษร คือไม่กำหนดเงื่อนไขว่าอิหม่ามคนก่อนจำเป็นต้องสั่งเสียตำแหน่งอิหม่ามให้แก่บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นอิหม่ามคนใหม่ นั่นหมายถึง การแต่งตั้งอิหม่ามในทัศนะของพวกเขาคือการให้สัตยาบัน มิใช่ด้วยการสืบสันติวงศ์ ซึ่งผู้ใดที่มีศักดิ์เป็นลูกหลานของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺและมีคุณสมบัติที่ครบสมบูรณ์เขาผู้นั้นก็มีสิทธิ์เป็นผู้นำสูงสุดได้

พวกเขาอนุญาตให้มีผู้นำมากกว่าหนึ่งคนได้ในห้วงเวลาเดียวกัน แต่จะต้องอยู่คนละเมืองกัน

พวกเขามีทัศนะว่า ผู้ที่มีความประเสริฐน้อยกว่าสามารถดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสูงสุดได้แม้ว่าในเวลานั้นจะมีผู้ที่ประเสริฐกว่าอยู่ด้วยก็ตาม เนื่องจากพวกเขามิได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่จะเป็นผู้นำสูงสุดจะต้องเป็นผู้ที่ประเสริฐที่สุดเท่านั้น แต่ทว่าเป็นไปได้ที่มุสลิมอาจจะมีผู้นำสูงสุดในขณะที่ยังมีบุคคลที่ประเสริฐกว่าผู้นำอยู่ โดยผู้ที่ประเสริฐกว่านั้นอาจจะเป็นที่ปรึกษา หรือที่อ้างอิงสำหรับมุสลิมยามมีปัญหาสามารถให้เขาผู้นั้นวินิจฉัยและตัดสินปัญหาด้วยทัศนะของเขาเอง

พวกอัซ-ซัยดียะฮฺในปัจจุบันส่วนใหญ่จะยอมรับในการเป็นเคาะลีฟะฮฺของท่านอบูบักรฺ และท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา พวกเขาไม่สาปแช่งเคาะลีฟะฮฺทั้งสองดังที่พวกชีอะฮฺกลุ่มอื่นกระทำกัน มิหนำซ้ำพวกเขายังกล่าวคำว่า เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เมื่อกล่าวถึงทั้งสอง แต่ปัจจุบันพวกเราะฟีเฎาะฮฺภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอิหร่านพยามยามอย่างยิ่งที่จะให้พวกอัซ-ซัยดียะฮฺกลายเป็นพวกที่มีแนวคิดสุดโต่งเฉกเช่นพวกเขา

หลักการเชื่อมั่นของพวกอัซ-ซัยดียะฮฺมีความโน้มเอียงไปทางแนวคิดอัล-มุอฺตะซิละฮฺ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องซาต (อาตมัน) ของอัลลอฮฺ บ่าวมีสิทธิ์ในการเลือกที่จะกระทำ และผู้ที่กระทำบาปใหญ่เขาผู้นั้นมีสภาพอยู่บนสองสถานะ(อยู่ระหว่างความเป็นมุสลิมกับความเป็นกุฟรฺ)ตามทัศนะของพวกอัล-มุอฺตะซิละฮฺ

พวกเขาปฏิเสธแนวคิดของศูฟีย์อย่างสิ้นเชิง

พวกเขาปฏิเสธและห้ามการแต่งงานแบบมุตอะฮฺ ซึ่งตรงกันข้ามกับพวกชีอะฮฺ

พวกเขาเห็นพ้องกับพวกชีอะฮฺในการจัดเก็บอัล-คุมสฺ (ทรัพย์เศษหนึ่งส่วนห้าเพื่อให้แก่อิหม่ามหรือลูกหลานท่านนบี) และอนุญาตให้ทำการตะกียะฮฺ (เสแสร้งหรืออำพรางในคำพูดหรือการกระทำ) ในบางสถานการณ์ที่จำเป็น

ในเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจของพวกเขา ส่วนใหญ่แล้วจะเหมือนกับชาวซุนนะฮฺ นอกจากเล็กน้อยเท่านั้นที่มีความแตกต่างอยู่บ้าง เช่นดังต่อไปนี้

-พวกเขาเพิ่มคำว่า «حيّ على خير العمل» (จงมาสู่การงานที่ดีที่สุดเถิด) ในการอะซานซึ่งเหมือนกับที่ชาวชีอะฮฺปฏิบัติ

-การละหมาดญะนาซะฮฺของพวกเขามีจำนวน 5 ตักบีรฺ

-พวกเขาปล่อยมือ (ไม่วางมือทั้งสองบนอก)ในขณะยืนละหมาด

-พวกเขาถือว่าการละหมาดอีดสามารถกระทำได้แบบญะมาอะฮฺหรือละหมาดคนเดียวก็ได้
-พวกเขาถือว่าการละหมาดตะรอวีหฺแบบญะมาอะฮฺเป็นอุตริกรรม
-พวกเขาปฏิเสธเป็นมะอ์มูม(ผู้ตาม)ละหมาดหลังคนที่ประพฤติชั่ว
-พวกเขาถือว่าสิ่งที่เป็นฟัรฎูในการอาบน้ำละหมาดมีสิบประการ ในขณะที่ชาวซุนนะฮฺถือว่าฟัรฎูในการอาบน้ำละหมาดมีเพียงสี่ประการเท่านั้น
-พวกเขามีทัศนะว่า ประตูแห่งการอิจญ์ติฮาด (วินิจฉัยปัญหาศาสนา) นั้นเปิดกว้างเสมอสำหรับผู้ที่ประสงค์จะทำการอิจญ์ติฮาด ส่วนผู้ที่ไม่มีความสามารถในเรื่องดังกล่าวเขาผู้นั้นจำเป็นต้องตักลีด (ทำตาม) กับทัศนะของผู้อื่น และการตักลีดอะฮฺลุลบัยตฺ (วงศ์วานท่านนบี) ดีกว่าไปตักลีดผู้อื่น
พวกเขาถือว่าจำเป็นต้องกบฏต่อผู้นำที่อธรรมและประพฤติชั่ว โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อฟังเขาอีกต่อไป
-พวกเขาไม่ถือว่าบรรดาผู้นำของพวกเขาเป็นมะอฺศูม (ผู้ปลอดจากบาปทั้งปวง) และพวกเขาไม่เทิดทูนบรรดาผู้นำอย่างเกินเลยดังที่พวกชีอะฮฺกลุ่มอื่นกระทำกัน
-พวกอัซ-ซัยดียะฮฺบางกลุ่มเชื่อว่าผู้ที่เป็นมะอฺศูม นั้นมีเพียงสี่ท่านจากอะฮฺลุลบัยตฺ คือ ท่านอะลีย์ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัล-หะสัน และอัล-หุสัยนฺ
-พวกเขาไม่เชื่อว่ามีอิหม่ามมะฮฺดีย์ มุนตะซ็อรฺ (ผู้ที่ชีอะฮฺรอคอย)
-พวกเขาปฏิเสธแนวคิดอัล-บะดาอ์ ตามทัศนะที่อัล-มุคตารฺ อัษ-ษะเกาะฟีย์ กุขึ้นมา พวกเขาเชื่อว่าความรู้ของอัลลอฮฺนั้นทรงมีมาแต่ดั้งเดิม ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง และทุกสิ่งถูกบันทึกไว้ในอัล-เลาหฺ อัล-มะหฺฟูซ
-พวกเขาศรัทธาในอัล-เกาะฎออ์ และอัล-เกาะดัรฺ (กฎกำหนดสภาวการณ์) พร้อมกับยอมรับว่ามนุษย์นั้นมีสิทธิ์เสรีในการที่จะเลือกภักดีต่ออัลลอฮฺหรือเนรคุณต่อพระองค์ ดังนั้น พวกเขานำหลักการนี้มาแยกระหว่างพระประสงค์กับความรัก หรือความโปรดปรานของอัลลฮฺ ซึ่งทัศนะนี้เป็นทัศนะของอิหม่ามจากอะฮฺลุลบัยตฺฃ

แหล่งที่มาของหลักฐานทางศาสนาของพวกอัซ-ซัยดียะฮฺ คือ อัลกุรอาน จากนั้น อัซ-ซุนนะฮฺ จากนั้น อัล-กิยาส (การเทียบเคียง) จากนั้น อัล-อิสติหฺสาน จากนั้น อัล-มะศอลิหฺ อัลมุรฺสะละฮฺ จากนั้น อัล-อักลฺ (ปัญญา) คือสิ่งใดที่ปัญญาเห็นว่าถูกต้องหรือสวยงามสิ่งนั้นคือสิ่งที่ต้องกระทำ ส่วนสิ่งไหนที่ปัญญาเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสิ่งนั้นคือสิ่งต้องห้าม

ยังปรากฎว่ามีนักปราชญ์มุสลิมที่โดงดังจากพวกอัซ-ซัยดียะฮฺ แต่ต่อมากลายเป็นชาวซุนนะฮฺ ทั้งแนวคิดและหลักการเชื่อมั่น เช่น อิบนุ อัล-วะซีรฺ และอิบนุ อัล-อะมีรฺ อัช-เชากานีย์

รากเหง้าแนวคิดและหลักความเชื่อของกลุ่มอัซ-ซัยดียะฮฺ

มีประเด็นปัญหาทางศาสนาหลายประการด้วยการที่พวกอัซ-ซัยดียะฮฺ ได้ยึดถือหลักเฉกเช่นเดียวกับชาวชีอะฮฺกลุ่มอื่นๆ ยึดถือ เช่น การเรียกร้องสิทธิการเป็นคิลาฟะฮฺของอะฮฺลุลบัยตฺ ให้น้ำหนักกับบรรดาหะดีษที่รายงานถึงความประเสริฐของพวกเขาเป็นหลัก การตักลีดอะฮฺลุลบัยตฺ และการจัดเก็บซะกาตอัล-คุมสฺ (เศษหนึ่งส่วนห้า) ดังนั้นสัญลักษญ์ของความเป็นชีอะฮฺปรากฎชัดในหมู่พวกเขา ถึงแม้ว่าพวกเขานั้นมีจุดยืนที่เป็นสายกลางมากกว่าชาวชีอะฮฺกลุ่มอื่นๆ ก็ตาม

กลุ่มอัซ-ซัยดียะฮฺได้รับอิทธิทางความเชื่อจากแนวคิดอัล-มุอฺตะซิละฮฺ ความเป็นมุอฺตะซิละฮฺที่อุตริโดย วาศิล บิน อะฏออฺ ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในหมู่พวกเขา โดยเฉพาะการที่พวกเขายึดเอาหลักปัญญานิยม และให้ความสำคัญกับหลักการนี้ในการอ้างอิงหลักฐานทางศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าใจหลักการเชื่อมั่น เพื่อใช้ในปฏิบัติตามบทบัญญัติของอิสลาม หรือเพื่อการตัดสินว่าสิ่งไหนดีหรือชั่วนั้น เหล่านี้ขึ้นอยู่กับปัญญาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด นอกจากนั้นพวกเขายังยึดหลักการอัล-ญับรฺ(การที่ถูกบีบบังคับให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ) และอัล-อิคติยารฺ (ความมีอิสระเสรีในการเลือกที่จะปฏิบัติหรือปฏิเสธ) ประเด็นของผู้ที่กระทำบาปใหญ่ และการคงอยู่ในนรกอย่างนิรันดร

 อิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺ เคยศึกษาเล่าเรียนจากท่านซัยดฺ และหลานของซัยดฺเอง คือ อะหฺมัด บิน อีซา บิน ซัยดฺ ก็เคยศึกษารับความรู้จากลูกศิษย์ของอิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺในประเทศอิรัก ทั้งสองสำนักคิดนี้คือ อัล-หะนะฟียะฮฺ ชาวซุนนีย์ และ อัซ-ซัยดียะฮฺ ชาวชีอะฮฺ บรรจบพบเจอกันในประเทศอิรัก ต่อมาได้บรรจบพบเจอกันอีกครั้งในประเทศแถบทะเลแคสเปียน ซึ่งทำให้สองสำนักคิดนี้มีอิทธิพลต่อกันและกัน

การแพร่กระจายและสถานที่มีอิทธิพลของกลุ่มนี้

รัฐอัซ-ซัยดียะฮฺได้ถูกสถาปนาขึ้นโดย อัล-หะสัน บิน ซัยดฺ เมื่อปี ฮ.ศ. 250 ณ แผ่นดินอัด-ดัยลัม และฏ็อบริสตาน (ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิหร่าน)

อัล-ฮาดีย์ อิลา อัล-หักก์ ได้สถาปนารัฐอัซ-ซัยดียะฮฺเป็นรัฐที่ 2 ในประเทศเยเมนเมื่อฮิจญ์เราะฮฺศตวรรษที่ 3

แนวอัซ-ซัยดียะฮฺได้แพร่หลายทางตะวันออกในแถบชายฝั่งของประเทศแถบทะเลแคสเปียน เมืองอัด-ดัยลัม ฏ็อบริสตาน และญัยลาน แล้วมีอาณาเขตยาวไปถึงฝั่งตะวันตกแถบแคว้นหิญาซ จนถึงอียิปต์ และมากลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่ม ณ แผ่นดินเยเมน

บทสรุป

อัซ-ซัยดียะฮฺ คือชีอะฮฺกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับแนวคิดอัล-มุอฺตะซิละฮฺ โดยซึมซับรับอิทธิพลทางด้านแนวคิดและหลักการเชื่อมั่นจากอัล-มุอฺตะซิละฮฺ นอกจากในเรื่องของศาสนบัญญัติที่สำนักคิดอัซ-ซัยดียะฮฺมิได้ออกจากกรอบของศาสนบัญัติ (ฟิกฮฺ) ของชาวมุสลิมทั่วไปมากนัก ซึ่งเราจะหาประเด็นขัดแย้งในทางศาสนบัญญัติระหว่างกลุ่มอัซ-ซัยดียะฮฺกับชาวซุนนะฮฺนั้น แทบจะไม่มีกล่าวเลย



   والله أعلم بالصواب


ที่มา  http://www.saaid.net/feraq/mthahb/4.htm
จากหนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะษาฮิบ โดยสภายุวมุสลิมโลก


แปลโดย : อันวา สะอุ
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน




✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น