อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เกี่ยวกับหนังสือบัรซันญี โดย อ.อาลี เสือสมิง



หนังสือ บัรซันญี เป็นหนังสือที่ผู้แต่งประพันธ์เป็นบทกวีทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง และโคลงเกาะศีดะฮฺ มิใช่เป็นหนังสืออ้างอิงหลักเกี่ยวกับประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงเป็นเรื่องปกติที่ข้อมูลในหนังสือเล่มนี้จะมีบางส่วนที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อและเรื่องเล่าที่ไม่มีสายรายงาน


แม้หนังสือหรือตำราที่เขียนถึงประวัติของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยตรงบางเล่มก็มีข้อมูลที่ขาดคุณสมบัติในการเป็นหลักฐานเช่นกัน ขึ้นอยู่กับผู้เขียนว่าให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบสายรายงานนั้นหรือไม่ เหตุนี้จึงมีเรื่องราวในทำนองอิสรออิลิยาตฺ หรือเรื่องราวที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นปะปนอยู่เป็นธรรมดา


หากเราพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมาเราก็จะไม่สับสนและแปลกใจต่อคำวิจารณ์ที่มีต่อข้อมูลบางส่วนในหนังสือบัรซันญี นักวิชาการแต่ละคนก็มีมุมมองแตกต่างกันในความเป็นหนังสือบัรซัรญี บางคนอาจจะมองอย่างชื่นชมในฐานะบทกวีที่สำคัญในด้านวรรณกรรม ในขณะที่บางคนอาจจะมองถึงอิทธิพลของหนังสือบัรซันญีต่อทัศนคติและความเชื่อที่แพร่หลายในเชิงสังคมศาสตร์และจารีตประเพณี


และนักวิชาการบางส่วนก็อาจจะให้ความสำคัญต่อหนังสือเล่มนี้ในเชิงอรรถาธิบายถึงความหมายของถ้อยคำที่ปรากฏในบทกวี การวิเคราะห์ฉันทลักษณ์และมาตรฐานทางภาษาศาสตร์


ในขณะที่บางส่วนมุ่งเน้นในการตรวจสอบข้อมูลเชิงวิชาการโดยใช้หลักวิธีพิจารณาในวิชามุศเฏาะละหฺ อัล-หะดีษ และข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ เป็นต้น


ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นว่า อย่างน้อยหนังสือบัรซันญีก็เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีนักวิชาการเป็นจำนวนมากให้ความสนใจและกล่าวถึง แม้ว่าจะมีมุมมองและทัศนคติที่แตกต่างกันทั้งในเชิงบวกและเชิงลบก็ตาม


ส่วนที่ถามว่า จะอ่านได้ไหม? คำตอบก็ขึ้นอยู่กับกรณีที่ว่ามีเจตนาอย่างไร? ในการอ่าน ถ้ามีเจตนาอ่านเพราะเป็นบทกวีที่ไพเราะและงดงามในด้านวรรณกรรมก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมุ่งหมายเอาอรรถรสของบทประพันธ์เท่านั้น แต่ถ้ามีเจตนา


อ่านเพราะได้บุญเนื่องจากการอ่านถ้อยคำเหล่านั้น กรณีนี้ก็ต้องตอบตรงๆ ว่า แม้ถ้อยคำที่เป็น ซิกรุลลอฮฺก็มีเงื่อนไขว่าต้องรู้ความหมายโดยสรุปถึงจะได้บุญ แล้วถ้อยคำที่เป็นบทกวีที่มนุษย์แต่งขึ้น และผู้อ่านไม่รู้ความหมายจะได้บุญอย่างไร?


การอ่านที่ได้บุญแน่นอนทั้งๆ ที่ไม่รู้ความหมายก็คือ อ่านคัมภีร์อัล-กุรอาน กรณีนี้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) รับประกันเอาไว้ในอัล- หะดีษที่ถูกต้อง ดังนั้นหากเกิดความสับสนว่าจะอ่านบัรซันญีได้หรือไม่ ก็จงกระทำสิ่งที่ไม่มีความสับสนและข้อสงสัย คือ อ่านอัล-กุรอานนั่นแหละดีที่สุดครับ


 والله أعلم بالصواب

(อาจารย์อาลี  เสือสมิง)






✿ ▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬▬ ✿

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น