อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปีนี้จะรายอวันไหน


ปีนี้เป็นอีกปีที่เอกองค์อัลลอฮฺได้ทดสอบเรา บรรดามุสลิมทั้งหลาย ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ด้วยความแตกต่างทางความเห็นและการกำหนดวันอีดอัฎหา ซึ่งมีผลต่อสังคมมุสลิมโดยรวม
สิ่งที่นักวิชาการอิสลามเห็นพ้องต้องกัน คือ การกำหนดวันแรกของรอมฏอนและการกำหนดวันอีดอัฎหาและเชือดกุรบานนั้น จะกำหนดด้วยการดูเดือน อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
يَسْأَلُونَكَ عَنِ الأهِلَّةِ قُلْ هِيَ مَوَاقِيتُ لِلنَّاسِ وَالْحَجِّ (البقرة: 189).
ความว่า ขาเหล่านั้นจะถามเจ้า เกี่ยวกับเดือนแรกขึ้น จงกล่าวเถิด มันคือกำหนดเวลาต่างๆ สำหรับมนุษย์ และสำหรับประกอบพิธี
นะบีก็ได้กล่าวเช่นเดี่ยวกันว่า
عن الحارث بن الحاطب قال: عهد إلينا رسول الله صلى الله عليه وآله وسلم أن ننسك للرؤية فإن لم نره وشهد شاهدا عدل نسكنا بشهادتهما (رواه أبو داود، وصححه جماعة من العلماء منهم الشيخ الألباني)
ความว่า จากอัลหาริษ บิน อัลหาติบ กล่าวว่า ท่านนะบีได้ให้คำมั่นสัญญากับพวกเราให้เราทำการกุรบาน (คือทำการอีด) เนื่องจากการมองเห็นเดือน หากเราไม่เห็นมัน และมีพยานสองคนที่ยุติธรรมให้การว่าเห็น ก็ให้เรานั้นทำการอีดด้วยการเป็นพยานของทั้งสอง
จากหลักฐานเหล่านี้ จึงเป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อเห็นเดือน ก็จะต้องกำหนดวันแรกของเดือน และวันที่ ๑๐ ของเดือนซุลหิจจะห์ ก็เป็นวันอีด
แต่ปัญหา คือ เมื่อการมองเห็นเดือนนั้นเกิดขึ้นในบางประเทศ แต่อีกประเทศหนึ่งไม่มองเห็น จำเป็นหรือไม่ที่ประเทศที่ไม่เห็นเดือนต้องตามประเทศที่เห็นเดือน
นักวิชาการอิสลามมี ๒ ทัศนะ ๑. ทัศนะของอุลามาอฺเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า จำเป็นสำหรับประเทศที่ได้รับข่าวการมองเห็นต้องตามประเทศที่เห็น ๒. ทัศนะที่มัชฮูรและใช้กันในมัซหับอิหม่ามชาฟีอีย์เห็นว่า แต่ละประเทศต้องปฎิบัติตามการมองเห็นของแต่ละประเทศ
ถามว่า สองทัศนะนี้ ทัศนะไหนที่ดีกว่า แน่นอน สำหรับผมแล้ว ทัศนะที่ดีกว่านั้น เป็นทัศนะเสียงส่วนใหญ่ของนักวิชาการอิสลาม ซึ่งปีนี้ ทางประเทศสาอุก็ได้ประกาศวันอีดตรงกับวันเสาว์ ที่ ๔ ต.ล. ๒๕๕๗ บนพื้นฐานการมองเห็นเดือน แต่ประเทศไทยที่มีจุฬาเป็นที่อ้างอิงสูงสุดสำหรับมุสลิมในประเทศไทยกลับประกาศวันอีดเป็นวันอาทิตย์ ที่ ๕ หลังจากสาอุหนึ่งวัน
จึงเกิดประเด็นคำถามว่า เราจะรายอวันไหน วันเสาว์ตามสาอุ หรือว่า วันอาทิตย์ตามประกาศจุฬา เพราะวันอะร่อฟะห์มีเพียงวันเดี่ยว คือ วันที่บรรดาผู้ทำฮัจย์ทำการวุกุฟที่ทุ่งอะร่อฟะห์
ซึ่งนักวิชาการอิสลามเองก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันว่า วันอะร่อฟะห์ของแต่ละประเทศคือวันที่ ๙ ซุลหิจจะห์ของแต่ประเทศ หรือว่า วันที่ ๙ ของเหล่าผู้ทำฮัจย์ที่กำลังวุกูฟที่ทุ่งอะร่อฟะห์ ณ เมืองมักกะห์
ถ้าให้ตอบตรงๆแบบไม่ต้องมองถึงผลกระทบอื่นๆที่จะตามมา ก็จะตอบว่า รายอวันเสาว์เป็นทัศนะที่ดีกว่า และสมเหตุสมผลกับหลักฐานที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงผลกระทบที่จะตามมา คือ ความแตกแยก ความไม่เป็นหนึ่งเดี่ยวกันของมุสลิมในการปฎิบัติสิ่งที่เป็นชีอาร์ของอิสลามแล้ว อุลามาอฺหลายท่าน มากกว่าสามสิบกว่าคนในบรรดานักวิชาการร่วมสมัย ไม่ว่า ผู้ที่เห็นว่าทุกประเทศต้องยึดเดือนเดี่ยวกัน หรือผู้ที่เห็นต่าง เช่น เชคอัลบานี เชคอุษัยมีน เชคอัลเฟาซาน เชคบินบาซ เชคมูหัมมัดอัชชันกีตีย์ เชคยูซูฟ อัลกุรฎอวีย์ เชคมัคลูฟ และท่านอื่นๆ เห็นว่า
ให้แต่ละประเทศทำการถือศิลอด ทำการอีดฟิตร์ และอีดอัฎหา ตามที่ประเทศนั้นๆประกาศ เช่นเดี่ยวกันกับทางอัลลุจนะห์อัดดาอิมะห์ได้ให้การฟัตว่าในแนวทางเดี่ยวกัน เพื่อมิให้ความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมแพร่ขยายกว้าง โดยเฉพาะเชคบินบาซที่ย้ำนักย้ำนาในมัจมุอฺฟะตาวาของท่านให้มุสลิมแต่ละประเทศนั้นยึดประกาศประเทศของตัวเองเป็นหลัก แม้จะมีความแตกต่างในวันอะร่อฟะห์ก็ตาม
จากเหตุผลทั้งหลายนั้น ผมจึงเห็นว่า ควรยึดประกาศของแต่ละประเทศ เพราะนะบีกล่าวว่า
الصَّومُ يومَ تَصومونَ ، والفِطرُ يومَ تُفطِرونَ ، والأضحَى يومَ تُضحُّونَ
ความว่า วันถือศิลอด คือ วันที่พวกเจ้าได้ถือศิลอด วันอีดฟิตร์ คือ วันที่พวกเจ้าละศิลอด (คือเข้าเดือนชะวาล) และวันอัฎหา คือ วันที่พวกเจ้าทำการกุรบาน
เป็นหะดีษที่นักวิชาการหะดีษมีความที่แตกต่างกัน แต่ทัศนะส่วนมากและด้วยหลายๆตัวบท หะดีษนี้เป็นที่ยอมรับว่ารับได้
ความหมายของหะดีษนี้ คือ การถือศิลอด การรายอฟิตรี และการเชือดกุรบานหรือรายออัฏหานั้น ตามที่กลุ่มผู้มีอำนาจหน้าที่และคนส่วนใหญ่ได้กำหนด แม้จะแตกต่างจากประเทศอื่นก็ตาม
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีหน้าที่และมีอำนาจในการประกาศการกำหนดเดือนในแต่ละปี ควรแลเห็นความสำคัญของความเป็นหนึ่งเดี่ยวของมุสลิมในประเทศในการดำเนินอิบาดัตที่เป็นชีอารอิสลาม และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะให้ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมด้วยกัน โดยเฉพาะในการกำหนด วันอีดอัฎหา เพราะทุกคนก็ทราบดีแล้ว ด้วยสื่อต่างๆที่ทันสมัย ว่า บรรดาผู้ทำฮัจย์ เขากำหลังวูกูฟ ณ ทุ่งอะร่อฟะห์วันไหน ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่จะรวบรวมมุสลิมในอีดอัฎหา

วัลลอฮูอะลัมบิศศ่อวาบ

.........................
ผศ.ดร.อิบรอเฮม สือแม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น