
การเจ็บป่วยแบ่งออกเป็นกี่ชนิด อะไรบ้าง ?
.... ความเจ็บป่วยนั้นแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ
1. ความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ
2. ความเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย
......ความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ
ความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ
1. ความเจ็บป่วยอันเกิดจากความสงสัย ความคลุมเครือ
2. ความเจ็บป่วยจากอารมณ์กิเลสต่าง ๆ
ดังที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตรัสในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 10 ว่า
“ในหัวใจของพวกเรานั้นมีโรค ดังนั้น อัลลอฮฺจึงได้เพิ่มโรคให้มากขึ้น”
และอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตรัสในซูเราะฮฺอัลมุดดัษษิรฺ อายะฮฺที่ 31 ว่า
“และเพื่อบรรดาผู้ในหัวใจของพวกเขามีโรค อีกทั้งบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจะกล่าวว่าอัลลอฮฺทรงประสงค์อะไรด้วยอุปมานี้”
และอัลลอฮฺทรงกล่าวไว้เกี่ยวกับผู้ที่ปฏิเสธ และต่อต้านการใช้กุรอานและแนวทางปฏิบัติของท่านนบี (ซ.ล.) เป็นแนวทางในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ ดังที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตรัสในซูเราะฮฺ อันนูรฺ อายะฮฺที่ 48 – 50 ว่า
“และเมื่อพวกเขาถูกเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ เพื่อให้ตัดสินระหว่างพวกเขา เมื่อนั้นฝ่ายหนึ่งจากพวกเขาพากันผินหลังให้ และหากว่าความจริงอยู่ข้างพวกเขาแล้ว พวกเขาจะรับมาหาเขา (มุฮัมมัด) อย่างนอบน้อม ในหัวใจของพวกเขามีโรคกระนั้นหรือ ? หรือว่าพวกเขาสงสัย หรือว่าพวกเขากลัวว่าอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์จะลำเอียงออกจากพวกเขา หามิได้พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้อธรรมต่างหาก”
สิ่งเหล่านี้ คือโรคแห่งความสงสัยและความคลุมเครือ
ส่วนโรคแห่งความใคร่และกิเลสนั้น
อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตรัสในซูเราะฮฺ อัลอะฮฺซาบ อายะฮฺที่ 32 ว่า
“โอ้ บรรดาภริยาของนบีเอ๋ย ! พวกเธอไม่เหมือนกับสตรีใด ๆ ในเหล่าสตรีอื่น หากพวกเธอยำเกรง (อัลลอฮฺ) ไม่ควรพูดจาเพราะพริ้งนัก เพราะจะทำให้ผู้ที่ในหัวใจของเขามีโรคเกิดความโลภ”
โรคในที่นี้ คือ โรคทางอารมณ์ใคร่ที่จะนำไปสู่การผิดประเวณี วัลลอฮุอะลัม
......ความเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย
ดังที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตรัสใจซูเราะฮฺ อันนูรฺ อายะฮฺที่ 16 ว่า
“ไม่เป็นการลำบากใจอันใดแก่คนตาบอด และไม่เป็นลำบากใจอันใดแก่คนพิการ และไม่เป็นการลำบากใจอันใดแก่คนป่วย”
อายะฮฺนี้กล่าวถึงโรคทางด้านร่างกายที่เป็นอุปสรรคในการทำฮัจญ์ การถือศีลอด และการอาบน้ำละหมาด ซึ่งมีสิ่งมหัศจรรย์แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอัลกุรอาน สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจ ผู้มีสติปัญญา เมื่อพิจารณาดูและใคร่ครวญแล้ว จะพบหลักการสำคัญประการหนึ่งในการแพทย์ทางด้านร่างกาย จากทั้งสามหลักการทางการแพทย์ คือ
**การรักษาสุขภาพ
**การป้องกันสิ่งที่จะทำให้เกิดอันตราย
**และการขจัดของเสียออกจากร่างกาย
อัลลอฮฺกล่าวถึงหลักทั้งสามประการนี้ไว้ในวาระต่างกัน
อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตรัสในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 184 เกี่ยวกับเรื่องการถือศีลอดว่า
“ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าที่เจ็บป่วย หรืออยู่ในระหว่างเดินทาง ดังนั้นเขาก็จงนับวันเลื่อนไปถือวันอื่นแทน”
อายะฮฺนี้เป็นการอนุญาตให้ผู้ป่วยละศีลอดได้ เป็นการยกเว้นเนื่องจากความเจ็บป่วยของเขา ส่วนผู้เดินทางให้ละศีลอดได้เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อการรักษาสุขภาพที่ดีเอาไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องถือศีลอดทั้ง ๆ ที่ยังต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลา การเดินทางเป็นสิ่งที่ต้องใช้พลังงานมาก การอดอาหารทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างพลังงานมาทดแทนสิ่งที่เสียไปได้ ทำให้พลังงานลดลงและอ่อนแรงลง ด้วยเหตุผลดังกล่าว อัลลอฮฺจึงอนุญาตให้ผู้เดินทางละศีลอดได้ เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพของเขาให้แข็งแรงนั่นเอง
อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตรัสในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 196 เกี่ยวกับการทำฮัจญ์
“ผู้ใดเจ็บป่วยหรือมีโรคที่ศีรษะของเขา ก็ให้ถือศีลอดหรือบริจาคทาน หรือเชือดสัตว์พลีเป็นการทดแทน”
อายะฮฺนี้เป็นการอนุญาตผู้ที่ป่วย หรือมีบาดแผลที่ศีรษะจากหิด รังแค คันศีรษะ หรือโรคอื่น ๆ ให้โกนศีรษะได้ในขณะทำการอิฮฺรอม เพื่อทำให้สารพิษต่าง ๆ ที่หมักหมมอยู่บนศีรษะ อันเป็นต้นเหตุของโรคหลุดออกไปให้หมดและการโกนศีรษะยังเป็นการเปิดรูขุมขนให้สิ่งหมักหมมทั้งหลายออกมาอย่างง่ายดายยิ่งขึ้น การขจัดสารพิษออกจากร่างกายแบบนี้เทียบได้กับการขจัดสารพิษแบบอื่น ๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สารพิษที่ค้างอยู่ในร่างกายหมดไป
............................................
(จากหนังสือ : ศาสตร์การแพทย์ ของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.)
ศอลาฮฺ ซัยฟุดดีน อับดุลฮักกฺ : เขียน
มุสตอฟา มานะ : แปลและเรียบเรียง
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น