
ซูเราะฮฺ อัล-มุลก์ อายะฮฺที่ 6 – 8
...........................................................
ความหมาย อายะฮฺ ที่ 6
“ สำหรับบรรดาผู้ปฏิเสธพระผู้อภิบาลของพวกเขานั้น (1) คือ การลงโทษแห่งนรก และมันที่พำนักอันชั่วร้าย”
ความหมาย อายะฮฺ ที่ 7
“ เมื่อพวกเขาถูกโยนเข้าไปในนั้น พวกเขาจะได้ยินเสียงคำราของมัน (2) ขณะที่มันกำลังเดือด”
ความหมาย อายะฮฺ ที่ 8
“เหมือนกับการระเบิดด้วยความโกรธ ทุกครั้งที่คนพวกหนึ่งถูกโยนลงไปในนั้น ผู้เฝ้ามันจะถามว่า “ไม่มีผู้ตักเตือนมายังสูเจ้ากระนั้นหรือ ? ” (3)
.........................................
(1) นั่นคือ ชะตากรรมของทั้งมนุษย์หรือชัยฏอนที่ปฏิเสธพระเจ้าของตน (คำว่า “กุฟรฺ” ในภาษาอาหรับโดยความหมายทางภาษาแล้วแปลว่า “ซ่อนเร้น” หรือ “ปิดบัง” เดิมทีมันได้ถูกใช้สำหรับการซ่อนเร้นสัจธรรม และหลังจากนั้นก็ถูกใช้สำหรับการปฏิเสธซึ่งเป็นคำที่มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า “อีมาน” คำว่า “อีมาน” มีความหมายว่า การเชื่อ การยอมรับและการยอมจำนน และ “กุฟรฺ” ก็คือการไม่เชื่อ การปฏิเสธและคัดค้าน ตามกุรอาน คนจะมีความผิดในฐษนกุฟรฺเมื่ออยู่ในกรณี ดังนี้ :
.....1) ถ้าหากเขาไม่เชื่อในอัลลอฮฺ หรือปฏิเสธที่จะยอมรับพระองค์ว่าเป็นผู้ทรงมีอำนาจสูงสุดหรือเป็นนายของเขาและของจักรวาล หรือเป็นพระเจ้าองค์เดียวที่เขาจะต้องเคารพภักดี
......2) ถ้าหากเขาประกาศยอมรับอัลลอฮฺ แต่ปฏิเสธที่จะยอมรับคำบัญชาและทางนำของพระองค์ว่า เป็นแหล่งแห่งความรู้เกี่ยวกับสัจธรรมและกฎหมายเพียงแหล่งเดียว หรือ
......3) ถ้าหากเขายอมรับทางนำของอัลลอฮฺ แต่ปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจหน้าที่ของบรรดารอซูลที่อัลลอฮิส่งมาพร้อมกับคำบัญชาและทางนำของพระองค์ หรือ
......4) ถ้าหากเขายอมรับรอซูลคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือยอมรับเพียงบางคนและปฏิเสธรอซูลคนอื่น ๆ ตามอำเภอใจหรือเพราะความอคติของเขาเอง หรือ
......5) ถ้าหากเขาละทิ้งความเชื่อของอิสลามทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใด หรือละทิ้งแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตหรือคำสอนของรอซูลุลลอฮฺ หรือ
.....6) ถ้าหากยอมรับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดในทางทฤษฎี แต่เจตนาละทิ้งคำบัญชาของอัลลอฮฺในทางปฏิบัติและยังคงดึงดันปฏิบัติมันต่อไปโดยดำเนินชีวิตฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์แทนที่จะยอมจำนนต่อพระองค์หรือความคิดและการปฏิบัติดังกล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น คือการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺและเป็นการ “กุฟรฺ” ตามคัมภีร์กุรอาน นอกจากนี้แล้ว บางครั้งกุรอานยังใช้คำว่า “กุฟรฺ” สำหรับการเนรคุณด้วยเพราะการใช้สิ่งต่าง ๆ และความสามารถที่อัลลอฮฺประทานให้ไปในหนทางที่ฝ่าฝืนต่อเจตนารมณ์ของพระองค์ และมีมทัศนคติดื้ดด้านต่อผู้ที่มีพระคุณต่อตัวเองนั้น มิใช่เพราะนอกไปจากการเนรคุณ
เมื่อเป็นดังนี้ จากความหมายของคำว่า “กุฟรฺ” ดังกล่าวมา ก็เป็นอันชัดเจนว่าในคำนี้ไม่มีอะไรที่ถูกนำไปใช้อย่างผิด ๆ หรือสร้างความเสียหายให้แก่ใครดังที่มีการเข้าใจผิดกันโดยทั่วไป เมื่อมุสลิมเรียกผู้ไม่ศรัทธาว่า “กาฟิรฺ” นั้น พวกเขาก็เพียงแต่ระบุถึงความจริงของคนผู้นั้นเท่านั้น
(2) คำว่า شَهِيقًا (ชะฮีก) ได้ถูกใช้เพื่อหมายถึงการทำเสียงร้องเหมือนกับเสียงร้องของลา ประโยคนี้อาจหมายความว่ามันอาจเป็นเสียงของนรกเองและอาจเป็นเสียงร้องครวญครางของผู้คนที่อยู่ในนรก ความหมายที่สองนี้ได้รับการสนับสนุนจากซูเราะฮฺ ฮูด : 106 ซึ่งได้กล่าวว่า “ในนั้นพวกเขาจะหอบและถอนหายใจ (เพราะความกระหาย)” ส่วนความหมายแรกได้รับการยืนยันจากซูเราะฮฺ อัล-ฟุรฺกอน : 12 ที่กล่าวว่า “เมื่อนรกเห็นพวกเขาจากที่ไกล พวกเขาจะได้ยินเสียงคุไหม้และเสียงคำรามของมัน” จากเหตุผลดังกล่าวนี้ ความหมายที่ถูกต้องก็คือมันเป็นทั้งเสียงคำรามของนรกเองและเสียงร้องของคนที่อยู่ในนรกด้วย
(3) ลักษณะที่แท้จริงของคำถามนี้ไม่ใช่คำถามที่ผู้เฝ้านรกจะถามพวกเขาว่ามีผู้ตักเตือนจากอัลลอฮฺมายังพวกเขาหรือไม่ แต่วัตถุประสงค์ก็เพื่อที่จะทำให้พวกเขาตระหนักว่าการที่พวกเขาถูกโยนลงไปในนรกนั้นมิใช่เรื่องอธรรมแต่ประการใด ผู้เฝ้านรกจะพยายามทำให้พวกเขายอมรับว่าอัลลอฮฺมิได้ปล่อยพวกเขาไว้โดยมิได้บอกให้รู้ พระองค์ได้ส่งบรรดานบีมายังพวกเขา พระองค์ได้ทรงบอกความจริงและหนทางที่ถูกต้องแก่พวกเขา พระองค์ได้ทรงเตือนพวกเขาว่าถ้าพวกเขาปฏิบัติตามหนทางอื่นนอกไปจากหนทางที่ถูกต้อง มันก็จะนำเขาไปสู่นรก แต่พวกเขาไม่ฟังบรรดานบี ดังนั้น พวกเขาจึงสมควรได้รับการลงโทษที่ถูกเตรียมไว้
นี่เป็นสิ่งที่ได้มีการชี้ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าในกุรอานว่าการทดสอบที่อัลลอฮฺได้ส่งมนุษย์มายังโลกนี้มิได้ทำโดยที่พระองค์ไม่ได้บอกให้มนุษย์ได้รู้ พระองค์ได้ทรงบอกมนุษย์ไว้แล้วว่าพระองค์ไม่เพียงแต่ต้องการจะดูว่ามนุษย์พบหนทางที่ถูกต้องด้วยตัวเองหรือไม่ แต่พระองค์ยังได้จัดเตรียมสิ่งที่เหมาะสมที่จะนำเขาไปสู่แนวทางที่ถูกต้องนั้นด้วย นั่นคือพระองค์ได้ทรงให้มีนบีเกิดขึ้นและได้ประทานคัมภีร์ลงมาตอนนี้ การทดสอบของมนุษย์อยู่ที่ว่าเขาจะยอมรับนบีและคัมภีร์ที่นบีนำมาหรือไม่และจะดำเนินชีวิตหรือหันหลังให้นบีไปทำตามความต้องการของตัวเอง ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้ว การมีนบีก็คือข้อโต้แย้งที่อัลลอฮฺได้ทรงนำมายืนยันต่อมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ การยอมรับหรือการปฏิเสธนบีและคัมภีร์จึงเป็นตัวกำหนดชีวิตในอนาคตของเขาทั้งหมด หลังจากที่ให้มีนบีในหมู่มนุษย์แล้ว จึงไม่มีใครที่จะมาแก้ตัวได้ว่าเขาไม่รู้เรื่องสัจธรรมหรือเขาถูกลงโทษในขณะที่เขาเป็นผู้บริสุทธิ์
..........................................................
จากหนังสือ : ตัฟฮีมุลกุรอาน ความหมาย คัมภีร์ อัล-กุรอาน เล่ม 8 //อรรถาธิบายโดย : เมาลานา ซัยยิด อบุล อะลา เมาดูดี // แปลโดย : บรรจง บินกาซัน
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น