อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

ความหมายคำว่า “ศีลอดวันอะรอฟะฮ์”

.มะห์มูด (ปราโมทย์ศรีอุทัย 


ความหมายคำว่า ศีลอดวันอะรอฟะฮ์ 
เรื่องวันถือศีลอดเดือนรอมะฎอนและวันออกอีดิ้ลฟิฏรี่ก็ดี,  เรื่องวันถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์และวันออกอีดิ้ลอัฎหาอ์ในเดือนซุลหิจญะฮ์ก็ดี ...
 ทั้ง 2 กรณีนี้ เป็นปัญหาขัดแย้งที่เรื้อรังมานาน ทั้งในประเทศไทยและในบางประเทศมุสลิม ...
 หากจะถามว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ไม่มีทางเยียวยาแก้ไข,.. ไม่มีทางสลายความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่เอกภาพในเชิงปฏิบัติได้เลยหรือ ? ...
 คำตอบก็คือ  ทางแก้ไขและสลายความขัดแย้งดังกล่าว มีอยู่แน่นอน! ...
 เพียงแต่ขอให้พวกเรามีความจริงใจ,  กล้ายอมรับความจริงที่อาจจะขัดแย้งกับความเชื่อหรือการปฏิบัติเก่าๆที่ผ่านมาของเราเท่านั้น ...
 และที่สำคัญ ให้พวกเรามี อิคลาศ อย่างแท้จริงเพื่ออัลลอฮ์ .. และให้มีความเกรงกลัวพระองค์อัลลอฮ์ให้มากกว่ากลัวการเสียหน้า-เสียฟอร์มความเป็นนักวิชาการดังของเรา,  หรือตำแหน่งใหญ่โตคับฟ้าของเรา ...
แต่เท่าที่ผ่านมาในอดีต  ไม่เคยปรากฏว่าจะมีผู้ใดคิดแก้ไขหรือให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังเท่าที่ควร ...
อาจจะเป็นเพราะทิษฐิ,  อาจจะเป็นเพราะความอคติ,  อาจจะเป็นเพราะขาดความอิคลาศ,  อาจจะเป็นเพราะกลัวการเสียหน้า,  หรืออาจจะเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ...
แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม  ยกเว้นข้อสุดท้าย  เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า มันหาใช่วิถีที่มุสลิมซึ่งมีอีหม่านอย่างแท้จริงจะพึงปฏิบัติไม่ ...
สำหรับในประเด็นแรก  คือเรื่องวันถือศีลอดเดือนรอมะฎอนและวันออกอีดิ้ลฟิฏรี่นั้น  ผมได้เคยเขียนเสนอแนะด้วยหลักฐานและข้อมูลตามหลักวิชาการมาหลายครั้งแล้ว  จึงไม่ขอกล่าวถึง ณ ที่นี้อีก ...
ส่วนในประเด็นที่สอง คือเรื่องการถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์ และการนมาซวันอีดิ้ลอัฎหาอ์ ...  
ในประเด็นนี้  ข้อเท็จจริงก็คือ การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์ เป็นคนละเรื่องและต่างบรรทัดฐานกับการถือศีลอดเดือนรอมะฎอน .. จึงนำมาเปรียบเทียบหรือปรับใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ได้ .. ดังจะได้กล่าวต่อไป ...
ก่อนอื่น เรามารับทราบกันเสียก่อนว่า การนมาซวันอีดิ้ลฟิฏรี่และวันอีดิ้ลอัฎหาอ์ ถูกบัญญัติมาตั้งแต่เมื่อไร ? .. และการถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์ ถูกบัญญัติมาตั้งแต่เมื่อใดและมีความหมายว่าอย่างไร ? ...
เรื่องการนมาซวันอีด, ไม่ว่าวันอีดิ้ลฟิฏรี่  หรือวันอีดิ้ลอัฎหาอ์ ไม่ปรากฏมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า นมาซทั้งสองนั้นได้ถูกบัญญัติขึ้นมาจริงๆตั้งแต่เมื่อใด ...
ท่านเช็คซัยยิดซาบิก  ได้กล่าวในหนังสือ فِقْهُ السُّنَّةِ เล่มที่ 1  หน้า 267 ว่า การนมาซในวันอีดทั้งสอง ถูกบัญญัติขึ้นในปีแรกแห่งการอพยพสู่นครมะดีนะฮ์ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ... 
คำกล่าวข้างต้นนี้ ไม่มีหลักฐานโดยตรงจากหะดีษ!  แต่น่าจะเกิดจากการวิเคราะห์หะดีษบทหนึ่งซึ่งบันทึกโดยท่านอบูดาวูด  หะดีษที่ 1134 .. โดยรายงานมาจากท่านอนัส บินมาลิก ร.ฎ. มีข้อความว่า ...
   ((قَدِمَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ الْمَدِيْنَةَ،  وَلَهُمْ يَوْمَانِ يَلْعَبُوْنَ فِيْهِمَا، فَقَالَ : مَاهَذَانِ الْيَوْمَانِ؟ قَالُوْا : كُنَّا نَلْعَبُ فِيْهِمَا فِى الْجَاهِلِيَّةِ، فَقَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : إِنَّ اللهَ قَدْ أَبْدَلَكُمْ بِهِمَا خَيْرًا مِنْهُمَا : يَوْمَ اْلأَضْحَى وَيَوْمَ الْفِطْرِ))                          
 ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้มาถึงนครมะดีนะฮ์ ขณะนั้นพวกเขา (ชาวมะดีนะฮ์มีวันรื่นเริงของพวกเขาอยู่แล้ว 2 วัน (คือวันนัยรูซและวันมิฮ์รอญาน),  ท่านจึงถามว่า : ทั้งสองวันนี้คืออะไร ?  พวกเขาตอบว่า : พวกเราเคยรื่นเริงในวันทั้ง 2 นี้มาตั้งแต่ยุคญาฮิลียะฮ์แล้ว,  ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมจึงกล่าวว่า : แท้จริงพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงทดแทนให้แก่พวกท่านแล้วซึ่งสองวันที่ประเสริฐกว่าวันทั้งสองนี้ .. คือวันอีดิ้ลอัฏหาอ์กับวันอีดิ้ลฟิฏรี่
 คำพูดของท่านอนัส บินมาลิก ร.ฎ. ที่ว่า .. ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้มาถึงนครมะดีนะฮ์ .. หมายถึงการที่ท่านเดินทางและเหยียบย่างถึงนครมะดีนะฮ์ในตอนอพยพมาจากนครมักกะฮ์ อันถือเป็นการเริ่มต้นปีที่ 1 แห่งฮิจญเราะฮ์ศักราช
และคำพูดของท่านศาสดาที่ว่า .. แท้จริงพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ได้ทรงทดแทนให้แก่พวกท่านแล้วซึ่ง 2 วันที่ประเสริฐกว่าวันทั้งสองนี้” .. แสดงว่าการบัญญัติให้มีวันอีดิ้ลอัฎหาอ์และวันอีดิ้ลฟิฏรี่ ทดแทนวันรื่นเริงทั้ง 2 ของพวกญาฮิลียะฮ์นั้น ได้เกิดขึ้นแล้วในช่วงแรกตั้งแต่ท่านศาสดาเหยียบย่างถึงนครมะดีนะฮ์ ...
นั่นคือ ในปีที่ 1 ของฮิจญเราะฮ์ศักราช ดังคำกล่าวของท่านเช็คซัยยิดซาบิก ... 
แต่ .. ในฟุตโน้ตของหนังสือ فَتْحُ الْعَزِيْزِ شَرْحُ الْوَجِيْزِ ซึ่งถูกตีพิมพ์ร่วมกับหนังสือ اَلْمَجْمُوْعُ ของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ เล่มที่ 5 หน้า 3 มีกล่าวว่า ...
((لَكِنْ أُشْْتُهِرَفِى السِّيَرِ أَنَّ أَوَّلَ عِيْدٍ شُرِعَ عِيْدُالْفِطْرِ، وَأَنَّهُ فِى السَّنَةِ الثَّانِيَةِ مِنَ الْهِجْرَةِ))     
แต่ที่รู้กันอย่างแพร่หลายใน (ตำราประวัติศาสตร์ต่างๆก็คือ  อีดแรกที่ถูกบัญญัติได้แก่อีดิ้ลฟิฏรี่,  และมันถูกบัญญัติในปีที่ 2 แห่งฮิจญเราะฮ์ศักราช 
 ส่วนในเรื่อง การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์ ซึ่งถูกส่งเสริมให้กระทำก่อนหน้าวันนมาซอีดิ้ลอัฎหาอ์ 1 วัน .. ดังที่ผมกำลังวิเคราะห์อยู่นี้ ก็เหมือนกับการนมาซวันอีดิ้ลฟิฏรี่และวันอิดิ้ลอัฎหาอ์ ...
คือไม่ปรากฏมีหลักฐานว่า  การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์ ถูกบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด... 
แต่รายงานจากหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์บทหนึ่งบ่งบอกชัดเจนว่า การวุกูฟ (ร่วมชุมนุมกัน)ที่ทุ่งอะรอฟะฮ์ของผู้ทำหัจญ์ (อันเป็นที่มาของการถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์) ได้รับการ สืบทอด ต่อๆมา ตั้งแต่สมัยท่านนบีย์อิบรอฮีม อะลัยฮิสสลามแล้ว ...
ในหัจญะตุ้ลวะดาอฺ ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ส่งท่านอิบนุมิรฺบาอฺ อัล-อันศอรีย์ ร.ฎ. เป็นตัวแทนไปบอกท่านยะซีด บินชัยบาน ร.ฎ.และเศาะหาบะฮ์กลุ่มหนึ่งซึ่ง  กำลังวุกูฟนอกเขตของทุ่งอะรอฟะฮ์  ว่า ... 
พวกท่านจงวุกูฟในขอบเขตที่ถูกกำหนด (مَشَاعِرُของพวกท่าน .. (หมายถึงให้วุกูฟในเขตของทุ่งอะรอฟะฮ์..  เนื่องจากพวกท่านกำลังสืบทอดมรดกหนึ่ง (คือการทำหัจญ์มาจากบิดาพวกท่าน คือท่านนบีย์อิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม” ...
(บันทึกโดย ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 3014,   ท่านอบูดาวูด หะดีษที่1919,   ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 883,  และท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 3011)
แต่, ..ไม่ว่า การถือศีลอด วันอะรอฟะฮ์จะถูกบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใดก็ตาม  ที่แน่ๆก็คือ  จะต้องมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ วันวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะฮ์ ของผู้ทำหัจญ์ .. ด้วยคำพูดของท่านศาสดาที่ว่า ...  
    
((صِيَامُ يَوْمِ عَرَفَةَ أَحْتَسِبُ عَلَى اللهِ أَنْ يُّكَفِّرَالسَّنَةَ الَّتِىْ قَبْلَهُ وَالسَّنَةَ الَّتِىْ بَعْدَهُ،  وَصِيَامُ عَاشُوْرَى أَحْتَسِبُ عَلَى اللهِ أَنْ يُّكَفِّرَالسَّنَةَ الَّتِىْ قَبْلَهُ))                                        
การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์! .. ฉันคิดว่าพระองค์อัลลอฮ์จะช่วยลบล้าง(บาปเล็กทั้งในปีก่อนหน้ามันและปีหลังจากมันให้,  และการถือศีลอด (วันอาชูรออ์ (วันที่ 10 เดือนมุหัรฺรอมฉันคิดว่า พระองค์อัลลอฮ์จะช่วยลบล้างบาปปีก่อนหน้ามันให้ ...
(บันทึกโดย ท่านอะห์มัด เล่มที่ 5  หน้า 296,   ท่านอัต-ติรฺมีซีย์  หะดีษที่ 749,   และท่านอิบนุมาญะฮ์  หะดีษที่ 1734  โดยรายงานมาจากท่านอบูเกาะตาดะฮ์ ร.ฎ. และท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ. ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง... 
สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจก็คือ วันอะรอฟะฮ์ มีความหมายว่าอย่างไร ??? ...
วัน เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจความหมายดีว่า  ตามปกติจะหมายถึงเวลาตั้งแต่ปรากฏแสงอรุณตอนเช้า จนตะวันลับขอบฟ้าตอนค่ำ ...
อะรอฟะฮ์  เป็นชื่อของทุ่งโล่งกว้างขวางสุดลูกหูลูกตาของประเทศสะอุดีอาระเบียโดยเฉพาะ,  อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นิดๆของนครมักกะฮ์, ...  
แน่นอน ทุ่งอะรอฟะฮ์นี้เคยมีอยู่,  และจะยังคงมีอยู่ตลอดไปจนถึงวันสิ้นโลก ...
เมื่อเอาคำว่า วัน มารวมกับคำว่า อะรอฟะฮ์  ก็จะได้วลีที่ว่า วันอะรอฟะฮ์ 
แต่คำว่า วันอะรอฟะฮ์ ..ไม่ได้หมายถึง วันทุกวันที่ทุ่งอะรอฟะฮ์! ...
และก็ไม่ได้หมายถึง วันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ ของทุกๆประเทศในโลก ...
ทว่า, วันอะรอฟะฮ์ จะหมายถึง วัน เพียงวันเดียวเท่านั้นในรอบปี!.. คือวันที่บรรดา ผู้ทำหัจญ์ ไปทำการวุกูฟ  คือชุมนุมกัน --  ทุ่งอะรอฟะฮ์ .. ซึ่งวันดังกล่าวนี้  ตามปกติจะตรงกับวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์! ...
และวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ที่จะเรียกว่า วันอะรอฟะฮ์ ได้  ก็จะต้องเป็นวันที่ 9ซึ่ง กระทรวงหัจญ์แห่งนครมักกะฮ์ เท่านั้นเป็นผู้กำหนดให้เป็นวันวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะฮ์ 
เพราะการทำหัจญ์และทุ่งอะรอฟะฮ์จะไม่มีที่ประเทศใดในโลก! นอกจากในประเทศสอุดีอาระเบีย ... 
ดังนั้น หากมีผู้ใดพูดว่า  วันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ของทุกๆประเทศทั่วโลก สามารถเรียกว่า วันอะรอฟะฮ์ ได้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข .. กล่าวคือ ไม่ว่าจะตรงกับวันวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะฮ์ของผู้ทำหัจญ์หรือไม่ก็ตาม ... 
ผมก็อยากจะขอถามผู้พูดดังกล่าวว่า คำพูดนี้ท่านเอาหลักฐานมาจากไหน...   
เพราะ ..ข้อเท็จจริงตามทัศนะของผมถือว่า  คำพูดข้างต้นนี้ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน ... 
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นไปได้ว่า วันอะรอฟะฮ์ที่ประเทศสะอุดีอาระเบียกำหนด  อาจจะไม่ใช่วันที่ 9 ของประเทศอื่น,  และวันที่ 9 ของประเทศอื่นก็ใช่ว่า  จะต้องตรงกับวันอะรอฟะฮ์ที่ทางสะอุดีอาระเบียกำหนดเสมอไป .. ดังข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นเกือบทุกปี .. และดังการยอมรับของท่านดร.ฮานีย์ บินอับดุลลอฮ์ อัล-ญุบัยรฺที่จะถึงต่อไป ...
 แม้แต่ วันวุกูฟที่อะรอฟะฮ์ ซึ่งถูกกำหนดโดยประเทศสะอุดีอาระเบียเองก็เถอะ มีอะไรเป็นหลักประกันว่า  มันจะถูกต้องและตรงเผงกับวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ที่แท้จริงเสมอไป ???...
 สมมุติว่า  ประเทศสะอุดีอาระเบียเกิดผิดพลาดในการกำหนดวันอะรอฟะฮ์ขึ้นมาโดยไปกำหนดเอาวันที่ 8 หรือวันที่ 10 เป็นวันวุกูฟที่อะรอฟะฮ์.. โดยเข้าใจว่า เป็นวันที่ 9 
อยากจะถามว่า เราจะเรียกวันวุกูฟดังกล่าวว่า วันอะรอฟะฮ์ ได้หรือไม่ ?
คำตอบก็คือ  เราเรียกวันวุกูฟในวันที่ 8 หรือวันที่ 10 ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดนั้นว่า เป็น วันอะรอฟะฮ์ แน่นอน!   .. แม้ว่า มันจะไม่ใช่วันที่ 9 อย่างที่ควรจะเป็น ..
 วันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์  จึงไม่ใช่  ตัวบ่งชี้ วันอะรอฟะฮ์ .. ให้กับทุกๆประเทศในโลกได้ ...  
ส่วน การถือศีลอด มีความหมายถึงการงดเว้นจากการกิน,  การดื่ม,  การร่วมประเวณี และการกระทำทุกอย่างที่ทำให้เสียศีลอด .. ตั้งแต่เริ่มปรากฏแสงอรุณจนกระทั่งตะวันลับขอบฟ้า ...
และเมื่อมีการนำเอาคำว่า การถือศีลอด มารวมกับคำว่า วันอะรอฟะฮ์ ...
ความหมายของคำนี้จึงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะหมายถึง การถือศีลอด ที่ให้กระทำมันใน วันวุกูฟที่อะรอฟะฮ์ เท่านั้น, ..
ไม่ว่าวันวุกูฟนั้นจะตรงกับวันที่ 8, 9 หรือ 10 ก็ตาม ...  
และ, ..จากคำกล่าวของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมในหะดีษข้างต้นจะเห็นได้ว่า  ท่านมิได้กล่าวว่า  การถือศีลอดวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์!” ...
แต่ท่านกล่าวว่า  การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์! ...
ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังที่ได้อธิบายมานี้  การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์จึงจะกระทำในวันที่ 9 ของประเทศใดๆไม่ได้ทั้งสิ้น  นอกจากจะต้องกระทำในวันที่, หรือตรงกับวันที่ทางประเทศสอุดีอาระเบียกำหนดให้เป็นวันวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะฮ์เท่านั้น ... 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น