อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

วิภาษคำฟัตวาของดร.ฮานีย์ บินอับดุลลอฮ์ อัล-ญุบัยรฺ ปัญหาวันออกอีด

.มะห์มูด (ปราโมทย์ศรีอุทัย 


วิภาษคำฟัตวาของดร.ฮานีย์ บินอับดุลลอฮ์ อัล-ญุบัยรฺ ..   
ดร.ฮานีย์ บินอับดุลลอฮ์ อัล-ญุบัยรฺ เป็นกอฎีย์หรือผู้พิพากษาศาลนครมักกะฮ์  ได้ตอบปัญหาที่มีผู้ถามท่านเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างของขึ้น-การตกเดือนเสี้ยว เมื่อวันที่ 22  เดือนญะมาดุลอาคิรฺ ฮ.ศ. 1424  ซึ่งในที่นี้ผมจะนำคำถามเฉพาะที่แปลเป็นภาษาไทยโดยท่าน อ.ชารีฟ ศรีเจริญ มาให้อ่านกันดังต่อไปนี้ ...
ถามถึงเรื่องความแตกต่างกันของมัตละอฺ (เวลาขึ้นและตกของดวงจันทร์ที่แตกต่างกันในประเทศต่างๆในเดือนซุลหิจญะฮ์ว่า จะอนุญาต  ในความหมายที่ว่า --หลายประเทศส่วนใหญ่เป็นวันอีด และยังมีอีกหลายประเทศที่พวกเขากำลังถือศีลอดในวันอะรอฟะฮ์ ดังที่เกิดขึ้นในปากีสถานและมอริตาเนีย  และวันอะรอฟะฮ์จะไม่ผูกพันกับสถานที่ ที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ไปวุกูฟ (ร่วมชุมนุมอยู่ที่ทุ่งกว้างอะรอฟะฮ์ใช่ไหม?   และมุสลิมในประเทศเหล่านี้ จะได้รับผลบุญการถือศีลอดในวันอะรอฟะฮ์หรือไม่?   และถ้าหากการถือศีลอดของพวกเขาไปตรงกับวันอีดในซาอุดีอาระเบีย จะว่าอย่างไร?  จงตอบพวกเราด้วย ขออัลลอฮ์ตอบแทนผลบุญให้แก่พวกท่าน
ในที่นี้จะเห็นได้ว่า คำถามมีอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน!  แต่ผมไม่เห็นคำตอบของท่านดร.ฮานีย์ บินอับดุลลอฮ์ใน 3 ประเด็นเหล่านี้เลย ซึ่งไม่ทราบว่า ทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้ตัดคำตอบเกี่ยวกับคำถามทั้ง 3 ประเด็นนี้ออกหรือไม่ ...
ส่วนคำตอบของท่านซึ่งดูไม่ค่อยจะตรงกับคำถามนัก  ผมก็จะนำมาเสนอพร้อมด้วยการวิภาษในตอนหลัง ...
สำหรับคำถามทั้งหมดนั้น ถ้าจะให้ผมเป็นผู้ตอบก็จะขอให้คำตอบดังต่อไปนี้ ...
ประเด็นที่ 1  คำถามที่ว่า .. วันอะรอฟะฮ์จะไม่ผูกพันกับสถานที่ ที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ไปวุกูฟ (ร่วมชุมนุมอยู่ที่ทุ่งกว้างอะรอฟะฮ์ใช่ไหม...
คำตอบก็คือ ถ้าวันอะรอฟะฮ์ไม่ผูกพันกับสถานที่ คือท้องทุ่งอะรอฟะฮ์แล้ว จะเรียกว่า วันอะรอฟะฮ์ ได้อย่างไร ? ...
ข้อเท็จจริง ก็ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วคือ ไม่ใช่ว่า วันทุกวัน .. แม้กระทั่งที่อะรอฟะฮ์เองก็ตาม .. จะเรียกได้ว่า เป็นวันอะรอฟะฮ์! ...
และก็ใช่ว่า วันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ของทุกประเทศจะเรียกได้ว่า วันอะรอฟะฮ์ ...
แต่วันอะรอฟะฮ์ เป็นเพียงวันเดียวในรอบปี,  และผูกพันกับทุ่งอะรอฟะฮ์ด้วย ...
นั่นคือ เป็น  วันซึ่งผู้ประกอบพิธีหัจญ์ เดินทางไปวุกูฟหรือชุมนุมกันที่ทุ่งอะรอฟะฮ์ เท่านั้น!.. ซึ่งตามปกติวันอะรอฟะฮ์จะเป็นวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ของประเทศสะอุดีอาระเบียดังกล่าวมาแล้ว ... 
เพราะฉะนั้น วันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ของประเทศใด  หากตรงกันกับวันวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะฮ์ของผู้ทำหัจญ์  เราก็เรียกวันที่ 9 ของประเทศนั้นว่า วันอะรอฟะฮ์ ด้วย ...
หากไม่ตรงกัน เราก็จะเรียกได้เพียงว่า เป็น วันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ ของประเทศนั้นๆ ... 
แต่จะไม่เรียกมันว่า วันอะรอฟะฮ์ ...
และเมื่อไม่ใช่วันอะรอฟะฮ์ ก็ไม่มีบทบัญญัติให้ถือศีลอดวันนั้นในนามของ ศีลอดวันอะรอฟะฮ์ .. ตามคำสั่งของท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม! ...
ประเด็นที่ 2  คำถามที่ว่า .. และมุสลิมในประเทศเหล่านี้ จะได้รับผลบุญของการถือศีลอดในวันอะรอฟะฮ์หรือไม่...
คำตอบก็คือ หากการถือศีลอดดังกล่าวเป็นวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ในประเทศเขาเอง แต่ไม่ตรงกับวันอะรอฟะฮ์! .. อย่างเช่น เขาถือศีลอดตรงกับวันที่ 8 หรือวันที่ 10 ของประเทศสะอุดีอาระเบีย ...
ก็ไม่ปรากฏมีหลักฐานว่า เขาจะได้รับผลบุญของการถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์! ...
ประเด็นที่ 3  คำถามที่ว่า .. และถ้าหากการถือศีลอดของพวกเขา ไปตรงกับวันอีดในซาอุดีอาระเบีย จะว่าอย่างไร...
คำถามข้อนี้ในทัศนะของผม เป็นการยากที่จะให้คำตอบ,  หรือหากจะตอบก็คงจะต้องอธิบายกันยืดยาว ... 
แต่.. สมมุติถ้าเป็นการถามในลักษณะกลับกัน ก็น่าจะตอบได้ง่ายขึ้น ...
นั่นคือหากมีคำถามว่า .. หากวันนมาซอีดิ้ลอัฎหาอ์ของพวกเรา ตรงกับวันอะรอฟะฮ์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย จะว่าอย่างไร...
คำตอบของผมในประเด็นนี้ก็คือ .. ให้พวกเราเลือกเอา! ว่า ...
1.  จะปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีย์ฯ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ด้วยการ ถือศีลอดอะรอฟะฮ์ ในวันนั้น ..  (แล้วค่อยนมาซอีดในวันรุ่งขึ้น!หรือ ...
2.  ปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งท่านนบีย์ฯ!  แต่เลือกปฏิบัติตามคำสั่งมนุษย์แทน  ด้วยการ นมาซอีดและออกอีด ในวันนั้น ...
และหากเรายอมรับว่าวันนั้นเป็นวันอีด  ก็ห้ามเราถือศีลอดอะรอฟะฮ์... 
เพราะท่านนบีย์ห้ามถือศีลอด,  ไม่ว่าศีลอดอะไรก็ตาม ในวันอีด ...
ผมไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะเลือกปฏิบัติตามใคร  แต่สำหรับผม ขอเลือกปฏิบัติตามท่านนบีย์ ด้วยการถือศีลอดอะรอฟะฮ์ในวันนั้น ...
หากจะมีคำถามว่า  แล้วการไม่ออกอีดตามผู้นำในกรณีของสมมุติฐานข้างต้น ไม่ถือว่าเป็นความผิดหรือ...
คำตอบก็คือ การไม่ออกอีดตามผู้นำตามสมมุติฐานในกรณีนี้ ไม่ผิด,...  
แต่ผู้นำเองนั่นแหละ ที่ผิด! ...
ผิดเพราะใช้ให้ประชาชนนมาซอีดในวันอะรอฟะฮ์  ซึ่งเท่ากับมีเจตนาฝ่าฝืนและขัดขวาง ..ไม่ยอมให้ประชาชนถือศีลอดอะรอฟะฮ์ในวันอะรอฟะฮ์ตามคำสั่งท่านนบีย์ฯ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ...
คำสั่งใดๆของผู้นำที่ ค้าน ต่อคำสั่งอัลลอฮ์และท่านนบีย์ฯ โดยเจตนา  ก็ห้ามเราปฏิบัติตาม! ...
สำหรับคำตอบของท่านดร.ฮานีย์ บินอับดุลลอฮ์ อัล-ญุบัยรฺต่อคำถามข้างต้น มีดังต่อไปนี้ ...
     
     ((فَإِذَاكَانَ الْمُسْلِمُ فِىْ بَلَدٍ يَعْمَلُ الرُّؤْيَةَ الشَّرْعِيَّةَ وَيَعْتَمِدُهَا طَرِيْقًا لإِثْبَاتِ التَّارِيْخِ فَإِنَّ الْمُسْلِمَ فِيْهِ  يَعْمَلُ بِمُقْتَضَى مَا أَثْبَتَهُ الْمُخْتَصُّوْنَ عِنْدَهُ،  وَيَصُوْمُ عَرَفَةَ يَوْمَ التَّاسِعِ وَلَوْ كَانَ يُوَافِقُ فِىْ مَكَّةَ الْيَوْمَ الثَّامِنَ أَوِ الْعَاشِرَ،  أَمَّافِى الْمَنَاسِكِ فَإِنَّهُ يُعْمَلُ بِالرُّؤْيَةِ حَسَبَ ثُبُوْتِهِ فِىْ مَكَّةَ .......)                                                                                   
 เมื่อปรากฏว่า มุสลิมพำนักอยู่ในเมือง (หรือประเทศใดซึ่งมีการดูเดือนตามบทบัญญัติ และยึดหลักการเห็นเดือนเป็นแนวทางเพื่อกำหนดปฏิทินของตนเอง ก็ให้มุสลิมในเมือง (หรือประเทศนั้นปฏิบัติตามสิ่งผู้ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะ(ของเมืองหรือประเทศนั้นได้กำหนดไว้ .. (นั่นคือให้เขาถือศีลอดอะรอฟะฮ์ในวันที่ 9 (ของประเทศของเขา)  แม้ว่า มันจะไปตรงกับวันที่ 8 หรือวันที่ 10 ของมักกะฮ์ก็ตาม,  อนึ่ง สำหรับเรื่องของพิธีกรรมหัจญ์ ก็ให้ปฏิบัติตามสิ่งที่ทางมักกะฮ์กำหนด .....
ข้อโต้แย้ง    
คำตอบข้างต้น เป็นการตอบไปตามทัศนะของท่านผู้ตอบ คือท่านดร.ฮานีย์ บินอับดุลลอฮ์ อัล-ญุบัยรฺ .. ซึ่งในทัศนะของผมมองว่า ไม่น่าจะถูกต้อง! ...
แต่อย่างน้อยที่สุด คำตอบนี้ก็เป็นการยอมรับความจริงโดยปริยาย .. ดังที่ผมได้กล่าวมาตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า  วันวุกูฟที่อะรอฟะฮ์ อาจจะไม่ใช่วันที่ 9 ของประเทศอื่น,  และวันที่ 9 ของประเทศอื่น ก็อาจจะไม่ตรงกับวันวุกูฟที่อะรอฟะฮ์เสมอไป ...
เพราะฉะนั้น  เมื่อท่านดร.ฮานีย์ยอมรับแล้วว่า  การกำหนดพิธีกรรมหัจญ์ -- ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพิธีกรรมหัจญ์ก็คือ การกำหนดวันวุกูฟที่อะรอฟะฮ์ -- เป็นหน้าที่ของทางมักกะฮ์โดยเฉพาะ ...
และท่านก็ยอมรับแล้วว่า วันอะรอฟะฮ์ที่มักกะฮ์กำหนด  อาจไม่ใช่วันที่ 9 ของประเทศอื่น ...
และท่านก็คงไม่ปฏิเสธความจริงว่า  ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งให้ถือศีลดในวันอะรอฟะฮ์,  ไม่ใช่สั่งให้ถือศีลอดในวันที่ 9! ...
ที่ถูกต้อง  ท่านจะต้องยึดถือเอาวันอะรอฟะฮ์เป็นหลักในการถือศีลอดตามคำสั่งท่านนบีย์,  มิใช่ยึดถือเอาวันที่ 9 เป็นหลัก! .. ดังคำตอบของท่าน ...
ดังนั้น หากท่านดร.ฮานีย์ บินอับดุลลอฮ์ อัล-ญุบัยรฺจะเปลี่ยนคำตอบข้างต้นเป็นว่า ... 
((وَيَصُوْمُ عَرَفَةَ فِى الْيَوْمِ الَّذِىْ يَقِفُ فِيْهِ الْحُجَّاجُ بِعَرَفَةَ!  وَلَوْكَانَ يُوَافِقُ الْيَوْمَ الثَّامِنَ أَوِ الْعَاشِرَ فِىْ بِلاَدِهِ ........))                                                                  
และให้เขาถือศีลอดอะรอฟะฮ์ในวันซึ่งผู้ทำหัจญ์ไปวุกูฟกันที่ทุ่งอะรอฟะฮ์!  ถึงแม้ว่า มันจะไปตรงกับวันที่ 8 หรือวันที่ 10 ในประเทศของเขาเองก็ตาม ... 
ผมว่า น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องและสอดคล้องกับซุนนะฮ์มากที่สุด ...
อนึ่ง,  สำหรับคำฟัตวาที่ 2149 ของสภาการวิจัยเชิงวิชาการและฟัตวาของสะอุดีอาระเบียที่อนุญาตให้แต่ละประเทศดูเดือน เพื่อกำหนดวันเดือนปีตามปฏิทินของประเทศตนเองได้,  และทางสำนักจุฬาราชมนตรี ได้นำมาอ้างเป็นหลักฐานประกอบในใบประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีด้วยนั้น ...
เรื่องนี้ เป็นเรื่องการดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดวันเริ่มต้นเดือนแต่ละเดือนภายในประเทศของตนเอง ซึ่งไม่ใช่เป็นปัญหาขัดแย้งแต่อย่างใด..
 ตรงกันข้าม การที่ประเทศใดกำหนดให้มีการดูเดือนเสี้ยวภายในประเทศตนเองด้วยเป้าหมายดังกล่าว  นักวิชาการถือว่า เป็นฟัรฺฎูกิฟายะฮ์ด้วยซ้ำไป ... 
คำฟัตวาข้างต้นนี้  หากจะกล่าวว่าเป็นหลักฐานประกอบเรื่องอนุญาตให้แต่ละประเทศดูเดือน เพื่อกำหนดวันถือศีลอดเดือนรอมะฎอนและวันอีดิ้ลฟิฏรี่ในประเทศของตนเองได้ .. ผมก็ยอมรับว่า เป็นคำฟัตวาที่ถูกต้องในระดับหนึ่ง ...
แต่ในเรื่องการถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์  เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง วัน สำหรับการวุกูฟ และ สถานที่ คือ ทุ่งอะรอฟะฮ์โดยเฉพาะ .. ดังได้อธิบายมาอย่างละเอียดแล้ว  คำฟัตวานี้จึงเป็นคนละประเด็นกับคำฟัตวาของท่านเช็คอิบนุอุษัยมีน และคำฟัตวาของดร. ฮานีย์ บินอับดุลลอฮ์ อัล-ญุบัยรฺ ที่ผมได้วิภาษไปแล้ว ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น