ผู้มีสิทธิ์รับซะกาต มีบัญญัติไว้ในอัลกุรอาน บทที่ 9 โองการที่ 60 ซึ่งมีจำนวน 8 ประเภท ดังนี้
1. ยากจน หมายถึง คนที่ยากไร้ ไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีค่าใช้จ่ายประจำวันและไม่มีอาชีพทำ ให้จ่ายซะกาตให้เพียงพอที่พวกเขาจะได้นำไปเป็นทุนดำเนินอาชีพต่อไป
2. คนขัดสน หมายถึง บุคคลที่มีอาชีพทำ แต่รายได้ไม่พอเพียงกับรายจ่าย ให้บริจาคซะกาตเพื่อช่วยเพิ่มทุนอาชีพ หรือเสริมในส่วนที่ขาด
3. ผู้เข้ารับอิสลาม หมายถึง บุคคลที่นับถือศาสนาอื่นและเข้ามารับอิสลาม ให้จ่ายซะกาตแก่เขา แม้เขาจะมีฐานะดีก็ตาม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เขา
4. เจ้าหน้าที่จัดการเกี่ยวกับซะกาต หมายถึง เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐ หรือ องค์การที่มีอำนาจจัดตั้งโดยไม่มีค่าตอบแทนในการจัดเก็บ รวบรวมและจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิ์ ให้จ่ายซะกาตเป็นค่าตอบแทนแก่เขา และหากเขามีค่าตอบแทนจากรัฐหรือองค์การแล้ว เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะรับซะกาตเป็นค่าตอบแทนซ้ำซ้อนอีก
5. ทาสที่จะไถ่ตัวเอง หมายถึง ทาสที่ต้องการค่าไถ่ตัวจากนาย เพื่อเป็นเสรีชน โดยนายทาสได้อนุญาตให้หาค่าไถ่ตัว ให้รับซะกาตได้เฉพาะเท่าจำนวนที่จะนำไปไถ่ตัวเท่านั้น
6. ผู้มีหนี้สิน หมายถึง บุคคลที่เป็นหนี้ในทางที่ไม่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนา เช่น เป็นหนี้เพราะความจำเป็นเฉาะหน้า เป็นหนี้เพราะช่วยเหลือผู้อื่น เป็นหนี้เพราะไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมกรณีพิพาท เป็นต้น ให้รับซะกาตตามจำนวนหนี้สินที่เขามีอยู่เท่านั้น
7. ผู้พลัดถิ่น หมายถึง ผู้เดินทางที่ขาดปัจจัยการเดินทาง ให้เขารับซะกาตได้เฉพาะที่จะจ่ายในการเดินทางเท่านั้น
8. ในทางของอัลลอฮฺ หมายถึง บุคคลที่สละชีวิตของตนเองในทางของอัลลอฮฺ เพื่อปกป้องอธิปไตยของศาสนา และเชิดชูศาสนาให้สูงส่ง ให้เขารับซะกาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของเขา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น