อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

เรื่องการฏออัตผู้นำ..จากหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์


.มะห์มูด (ปราโมทย์ศรีอุทัย 
ในเรื่องของการฏออัตหรือปฏิบัติตามผู้นำ,  โดยเฉพาะ ในประเด็นที่เป็นคำสั่งที่ถูกต้องของผู้นำ .. โดยเฉพาะ หากเป็นผู้นำระดับสูง .. นั้น  มีหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์จำนวนมากที่เป็นหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ ...
แม้ว่า คุณสมบัติบางอย่างในตัวผู้นำจะไม่เป็นที่พึงใจ.. หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นที่รังเกียจของเราสักเพียงใดก็ตาม ...
ในที่นี้ ผมจะขอนำเอา  บางส่วน  ของหลักฐานเหล่านั้น มาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบพร้อมด้วยคำอธิบายพอเป็นสังเขปดังนี้ ...
(1).  ท่านอนัส อิบนุมาลิก ร.ฎ.  ได้รายงานมาจากท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัมว่า ... 
     ((إِسْمَعُوْا وَأَطِيْعُوْا!  وَإِنِ اسْتُعْمِلَ عَلَيْكُمْ عَبْدٌ حَبَشِىٌّ كَأَنَّ رَأْسَهُ زَبِيْبَةٌ))     
พวกท่านจงเชื่อฟังและจงปฏิบัติตาม (ผู้นำ)!  แม้ว่าเขาจะถูกแต่งตั้งมาจากทาสชาวเอธิโอเปียที่มีศีรษะ(เล็ก,  หรือผมดำหยิกติดหนังศีรษะเหมือนผลองุ่นแห้งก็ตาม
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์  หะดีษที่ 7142)
หะดีษบทนี้เป็นหลักฐานว่า  มุสลิมทุกคน จำเป็น (วาญิบจะต้องเคารพ, เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ที่ ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำ .. แม้เขาจะมาจากตระกูลที่ต่ำต้อย,  มีบุคลิกภาพหรือรูปลักษณ์ขี้ริ้วขี้เหร่สักปานใดก็ตาม ...
(2).  ท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า ...
         ((مَنْ أَطَاعَنِىْ فَقَدْ أَطَاعَ اللهَ،  وَمَنْ يَعْصِنِىْ فَقَدْ عَصَى اللهَ،  وَمَنْ يُطِعِ اْلأَمِيْرَ فَقَدْ أَطَاعَنِىْ،  وَمَنْ يَعْصِ اْلأَمِيْرَ فَقَدْ عَصَانِىْ))                                           
 ผู้ใดที่ปฏิบัติตามฉัน แน่นอน เขาปฏิบัติตามอัลลอฮ์ด้วย,  และผู้ใดที่ฝ่าฝืนฉัน แน่นอน เขาฝ่าฝืนต่ออัลลอฮ์ด้วย,  ผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติตามผู้นำ แน่นอน เขาปฏิบัติตามฉันด้วย,  และผู้ใดที่ฝ่าฝืนผู้นำ แน่นอน เขาก็ฝ่าฝืนฉันด้วย
       (บันทึกโดย ท่านมุสลิม,  หะดีษที่  32/1835)
ท่านอัล-ค็อฏฏอบีย์ ได้อธิบายว่า  สาเหตุที่ท่านศาสดาได้ให้ความสำคัญกับผู้นำระดับสูงจนนำเอาการปฏิบัติตามผู้นำมา  เท่าเทียม กับการปฏิบัติตามตัวท่านเองว่า  เป็นเพราะพวกอาหรับยุคก่อนไม่เคยมีผู้นำที่มาจากการแต่งตั้ง  และจะไม่ยอมรับและเชื่อฟังใครนอกจาก ผู้นำเผ่า ของตนเอง (ซึ่งก็คงคล้ายกับผู้นำชมรมของเราเท่านั้น ...  
ดังนั้น เมื่ออิสลามมาและมีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้นำของพวกเขา  พวกเขา (หมายถึงพวกอาหรับที่แม้ตอนหลังจะยอมรับอิสลามแล้วก็จะยึดติดค่านิยมเดิมๆ ด้วยการแอนตี้และปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามผู้นำที่ถูกแต่งตั้งนั้น ...
ท่านศาสดาจึงแจ้งให้พวกเขาทราบว่า การปฏิบัติตามผู้นำที่ถูกแต่งตั้งมานั้น ผูกพันแนบแน่นอยู่กับการปฏิบัติตามท่าน,   และการฝ่าฝืนต่อผู้นำที่ถูกแต่งตั้ง ก็คือการฝ่าฝืนต่อตัวท่านนั่นเอง ...
(จากฟุตโน้ตของท่านมุหัมมัดฟุอ้าด อับดุลบากีย์,  หนังสือเศาะเหี๊ยะฮ์มุสลิม  เล่มที่ 3  หน้า 1466...
จึงอยากให้ผู้ที่ ปฏิเสธ ด้วยการไม่ยอมถือศีลอดและออกอีดตามผู้นำในประเทศของตนเอง จงพิจารณาด้วยจิตใจที่อิคลาศและเที่ยงธรรมเถิดว่า  ในเรื่องดังกล่าวนี้ พวกท่านกำลังปฏิบัติตามท่านนบีย์ หรือกำลังฝ่าฝืนท่านนบีย์กันแน่ ? ...
(3).  ท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ...
   ((عَلَيْكَ السَّمْعُ وَالطَّاعَةُ فِىْ عُسْرِكَ وَيُسْرِكَ، وَمَنْشَطِكَ وَمَكْرَهِكَ وَأَثَرَةٍ عَلَيْكَ))      
 หน้าที่ของท่านคือการเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำ,  ทั้งในยามท่านลำบากและยามท่านสบาย,  ทั้งในยามท่านสะดวกใจหรือคับแค้นใจ (ต่อพฤติการณ์ของผู้นำ), .. และต่อให้ผู้นำเน้นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าจะคำนึงถึงสิทธิของท่านก็ตาม
  (บันทึกโดย ท่านมุสลิม,  หะดีษที่ 35/1836)
จะต้องให้อธิบายเพิ่มเติมอีกไหมครับ สำหรับความหมายของหะดีษบทนี้ ? ...       (4).  ท่านอิบนุอุมัรฺ ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ... 
   اَلسَّمْعُ وَالطَّاعَةُ عَلَى الْمَرْءِ الْمُسْلِمِ فِيْمَا أَحَبَّ وَكَرِهَ،  مَالَمْ يُؤْمَرْ بِمَعْصِيَةٍ(فَإِنْ أُمِرَ بِمَعْصِيَةٍ فَلاَ سَمْعَ وَلاَ طَاعَةَ)                                                            
การเชื่อฟังและการปฏิบัติตามผู้นำ เป็นหน้าที่ของผู้เป็นมุสลิม! ..ทั้งในสิ่งที่เขาชอบและในสิ่งที่เขารังเกียจ  ตราบใดที่เขามิได้ถูกสั่งให้ทำชั่ว!  (เพราะถ้าหากถูกสั่งให้ทำความชั่ว  เขาก็ไม่จำเป็นจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม)  
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์  หะดีษที่ 7144   ท่านมุสลิม  หะดีษที่ 38/1839,  และท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 4217,   ข้อความในวงเล็บเป็นข้อความจากการบันทึกของท่านมุสลิมและท่านอัน-นะซาอีย์) ...
หะดีษบทที่ 3 และบทที่ 4 นี้  นอกจากท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม จะได้แจ้งให้ทราบว่า มุสลิมทุกคนมีหน้าที่จะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำอย่างเคร่งครัดในทุกๆสภาวการณ์แล้ว  ท่านยังแจ้งให้ทราบด้วยว่า ...
การเชื่อฟังและการปฏิบัติตามดังกล่าว หมายถึงในกรณีที่คำสั่งของผู้นำนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง และไม่ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนา ...
เพราะเมื่อใดก็ตามที่คำสั่งของผู้นำขัดต่อบทบัญญัติ เช่น สั่งให้เรากระทำในสิ่งที่เป็นเรื่องบิดอะฮ์หรือความชั่ว  ก็ไม่วาญิบให้เราเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ...
หะดีษบทที่ 4 นี้ จึงเป็นการให้  ทางสว่าง” แก่ผู้ที่ตกเป็นทาสอารมณ์ และ/หรือ  นักประชด ทั้งหลายที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ที่ชอบพูดแดกดันว่า  ถ้าจะให้ตามผู้นำกันจริงๆ  เราก็จะต้องตามผู้นำในเรื่อง การทำเมาลิดด้วยไหม ? ฯลฯ ...
(5).  ท่านเอาฟ์ บินมาลิก ร.ฎ. ได้รายงานมาจากท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ...
  ((وَإِذَارَأَيْتُمْ مِنْ وُلاَتِكُمْ شَيْأً تَكْرَهُوْنَهُ فَاكْرَهُوْا عَمَلَهُ!  وَلاَ تَنْزِعُوْا يَدًا مِنْ طَاعَةٍ))        
เมื่อพวกท่านเห็นสิ่งใดที่พวกท่านรังเกียจจากบรรดาผู้นำของพวกท่าน ก็จงรังเกียจเฉพาะพฤติการณ์ของเขา (เพียงอย่างเดียว)  แต่อย่าแยกตัวออกจากการปฏิบัติตาม (ในสิ่งถูกต้องเป็นอันขาด 
  (บันทึกโดย ท่านมุสลิม,  หะดีษที่ 65/1588)
หะดีษบทนี้  ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้อธิบายและแนะนำให้พวกเรา  แยกแยะ  ให้ออก  ระหว่างการกระทำในด้าน  ส่วนตัว ที่ไม่ถูกต้องของผู้นำ  และในด้านคำสั่งที่ถูกต้องตาม หน้าที่ ของผู้นำว่า  เป็นคนละเรื่องกัน! ... 
จึงอย่านำมาปะปนกันจนแยกแยะไม่ได้ว่า  คำสั่งใดของผู้นำที่วาญิบต้องปฏิบัติตาม,  และคำสั่งใดของผู้นำที่ห้ามปฏิบัติตาม ... 
(6).  ท่านหุซัยฟะฮ์ บินอัล-ยะมาน ร.ฎ. ได้กล่าวถามท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ถึงสิ่งดีและสิ่งไม่ดีที่จะมีติดตามกันและสลับกันตลอดเวลา ... 
และในตอนหนึ่ง ท่านหุซัยฟะฮ์ ร.ฎ. ได้กล่าวถามว่า แล้วความชั่วที่จะมาหลังความดีนั้น คืออย่างไร ? .. ซึ่งท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ก็ตอบว่า ...
   ((يَكُوْنُ بَعْدِىْ أَئِمَّةٌ لاَ يَهْتَدُوْنَ بِهُدَاىَ، وَلاَ يَتَسَنُّوْنَ بِسُنَّتِىْ،  وَسَيَقُوْمُ فِيْهِمْ رِجَالٌ قُلُوْبُهُمْ قُلُوْبُ الشَّيَاطِيْنِ فِىْ جُثْمَانِ اِنْسٍ،  قَالَ : قُلْتُ : كَيْفَ أَصْنَعُ يَا رَسُوْلَ اللهِ إِذَا أَدْرَكْتُ ذَلِكَ؟  قَالَ : تَسْمَعُ وَتُطِيْعُ لِلأَمِيْرِ!  وَإِنْ ضُرِبَ ظَهْرُكَ وَأُخِذَ مَالُكَ،  فَاسْمَعْ وَأَطِعْ!ً))                                                                                   
 คือ จะมีภายหลังจากฉัน บรรดาผู้นำซึ่งไม่ได้อยู่ในทางนำของฉัน  และไม่ได้ปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของฉัน,  และต่อมาก็จะมีชนกลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเขาลุกขึ้น(ต่อต้านผู้นำ) ซึ่งจิตใจของพวกนี้ก็คือจิตใจของชัยฏอนในเรือนร่างของมนุษย์.. ฉัน (หุซัยฟะฮ์จึงถามว่า .. แล้วจะให้ฉันทำอย่างไรดีถ้าฉันประสบกับเหตุการณ์อย่างนี้ โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์? ..  ท่านตอบว่า : ท่านต้องเชื่อฟังและต้องปฏิบัติตามผู้นำ  แม้ว่าท่านจะถูกโบยหลังและถูกริบทรัพย์สมบัติก็ตาม  ก็จงเชื่อฟังและจงปฏิบัติตามผู้นำ         
  (บันทึกโดย ท่านมุสลิม,  หะดีษที่  52/1847)
ในหะดีษบทนี้ ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้วว่า  ต่อไปในอนาคตหลังจากท่านตาย จะมีผู้นำมากมาย ซึ่ง ไม่ได้อยู่บนทางนำของท่าน,  และไม่ได้ปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของท่าน ...
 แล้วท่านศาสดาได้กล่าวประณามผู้นำเหล่านั้นในการทำหน้าที่ผู้นำของเขาไหม?
 ไม่เลย!  ตรงกันข้าม  ท่านศาสดากลับประณามผู้ที่ลุกขึ้นต่อต้าน -- ในคำสั่งที่ถูกต้องของผู้นำเหล่านั้น  ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงดังที่เห็น,  และท่านยังได้สั่งกำชับให้ท่านหุซัยฟะฮ์ ร.ฎ. เชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำ (ที่ไม่ได้อยู่บนทางนำของท่าน และไม่ได้ปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของท่าน..ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองก็ตาม ...
 (7).  ท่าน อิบนุอับบาส ร.ฎ. ได้รายงานคำพูดของท่านศาสดามาว่า ...

((مَنْ رَآى مِنْ أَمِيْرِهِ شَيْأً يَكْرَهُهُ فَلْيَصْبِرْ!  فَإِنَّهُ لَيْسَ أَحَدٌ يُفَارِقُ الْجَمَاعَةَ شِبْرًا إلاَّ مَاتَ مِيْتَةً جَاهِلِيَّةً))                                                                                 
 ผู้ใดจากพวกท่านได้พบเห็นสิ่งใดที่เขารังเกียจจากผู้นำของเขา ก็จงอดทน!  เพราะผู้ใดก็ตามที่ แยกตนเองออกจากญะมาอะฮ์ (กลุ่มชนส่วนใหญ่แม้เพียงคืบเดียว แล้วเกิดตายลงไป เขาก็ตายในสภาพของพวกญาฮิลียะฮ์
 (บันทึกโดยท่านบุคอรีย์  หะดีษที่ 7143,  และท่านมุสลิม  หะดีษที่ 55/1849 
โปรดสังเกตด้วยว่า  ในหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์บทนี้  นอกจากท่านศาสดาจะสั่งกำชับให้พวกเรา  อดทน ต่อพฤติการณ์บางอย่างที่น่ารังเกียจของผู้นำแล้ว  ท่านไม่ได้กล่าวประณามผู้ซึ่ง  แยกตัวออกจากผู้นำ  โดยตรง ... 
แต่ท่านกลับประณามผู้ซึ่ง  แยกตัวออกจากญะมาอะฮ์หรือประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งปฏิบัติตามผู้นำ (ในสิ่งที่ถูกต้อง) ว่า จะตายในสภาพของพวกญาฮิลียะฮ์! ...
 (8).  ท่านอัรฺฟะญะฮ์ ร.ฎ.  ได้รายงานคำสั่งท่านศาสดามาว่า ... 
   
((مَنْ أَتَاكُمْ وَأَمْرُكُمْ جَمِيْعٌ عَلَى رَجُلٍ وَاحِدٍ،  يُرِيْدُ أَنْ يَشُقَّ عَصَاكُمْ أَوْ يُفَرِّقَ جَمَاعَتَكُمْ فَاقْتُلُوْهُ))                                                                           

ผู้ใดมาหาพวกท่าน ในขณะที่พวกท่านอยู่ในสภาพรวมตัวพร้อมเพรียงกันภายใต้ผู้นำคนเดียวกัน โดยเขาประสงค์จะหักไม้เท้า (คือทำลายความเป็นเอกภาพของพวกท่าน และประสงค์จะให้พวกท่านแตกความสามัคคีกัน  ก็จงสังหารเขาเสีย  
  (บันทึกโดย ท่านมุสลิม,  หะดีษที่  60/1582)
หะดีษบทนี้ ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆอีก  เพราะมีความหมายชัดเจนในตัวของมันเองแล้ว ...
 (9).  ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ...
    ((أَفْضَلُ الْجِهَادِ كَلِمَةُ عَدْلٍ (كَلِمَةُ حَقٍّعِنْدَ سُلْطَانٍ جَائِرٍ أَوْ أَمِيْرٍ جَائِرٍ))             
การญิฮาด (การเสียสละที่ประเสริฐที่สุด ก็คือคำพูดแห่งความเที่ยงธรรม (หมายถึงการพูดความจริงต่อหน้าผู้นำที่อธรรม 
(หะดีษบทนี้ในภาพรวม ถือเป็นหะดีษที่เศาะเหี๊ยะฮ์ .. ดังคำกล่าวของท่านอัล-อัลบานีย์ในหนังสือ  เศาะเหี๊ยะฮ์อบีย์ดาวูด เล่มที่ 3 หน้า 820  เพราะมีการรายงานในลักษณะ ชาฮิด (ยืนยันซึ่งกันและกันมาจากเศาะหาบะฮ์หลายท่านคือ ...
 . ท่านอบูสะอีด อัล-คุดรีย์ ร.ฎ.  จากการบันทึกของท่านอบูดาวูด  หะดีษที่ 4344,   ท่านอัต-ติรฺมีซีย์  หะดีษที่ 2174,  และท่านอิบนุมาญะฮ์  หะดีษที่ 4011 ...
 . ท่านอบูอุมามะฮ์ ร.ฎ.  จากการบันทึกของท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 4012  และท่านอะห์มัด  เล่มที่ 5  หน้า 251,  256 ...
3. ท่านฏอริก บินชิฮาบ ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์  หะดีษที่ 4220  และท่านอะห์มัด  เล่มที่ 4  หน้า 314,  315...
ข้อความของหะดีษบทนี้  ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้แนะนำวิธีการ  ตอบโต้  ผู้นำที่อธรรมและมีพฤติการณ์ส่วนตัวที่ไม่ถูกต้องว่า  ไม่ให้ใช้วิธีการแยกตัวออกห่าง, หรือใช้วิธีการพูดโจมตีลับหลัง ... 
แต่ท่านศาสดาสั่งใช้ให้  กล้าพูดความจริง  ต่อหน้าผู้นำคนนั้น ...
การที่ท่านศาสดากล่าวว่า การกล้าพูดความจริงต่อหน้าผู้นำที่อธรรม เป็นการเสียสละหรือ การญิฮาด ที่ประเสริฐสุด  ก็เพราะการญิฮาดในสงครามโดยทั่วๆไป  ผู้เข้าสู่สมรภูมิมีโอกาสเสี่ยงตายเพียง 50-50 ..  คือ ไม่เขาตายก็เราตาย ...
แต่การกล้าพูดความจริงต่อหน้าผู้นำ,..โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นผู้นำที่อธรรมและโหดร้ายเข้าด้วยแล้ว  ในสมัยก่อนโอกาสเป็นผีหัวขาด (ฝ่ายเดียวย่อมมีมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปแน่นอน ...
ถึงเป็นสมัยนี้ก็เถอะ  หากเป็นบางประเทศที่ยังใช้วิธีการปกครองระบอบเผด็จการ  ไม่ว่าเผด็จการทหารหรือเผด็จการรัฐสภา -- อยู่ละก็ ...
ใครขืนวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำตรงๆอย่างเผ็ดร้อน แม้จะลับหลังก็ตาม ..โอกาสที่จะโดนสั่ง เก็บ” หรือโดน อุ้มฆ่า ชนิดหาศพไม่เจอ ก็ยังมีสูงอยู่ดีอีกนั่นแหละ ... 
แต่ในประเทศไทยเรา  ก็คงไม่ถึงกับ  หัวขาด  เหมือนเมื่อก่อน  เพียงแต่อาจจะต้องขึ้นศาลด้วยข้อหา  หมิ่นประมาท  ผู้นำเท่านั้น (หากผู้นำจะเอาเรื่องกันจริงๆ... 
สรุปแล้ว บรรดาหะดีษต่างๆเกี่ยวกับการ วาญิบ ต้องปฏิบัติตามผู้นำใน สิ่งที่ถูกต้อง ..  ดังที่ได้นำเสนอมาข้างต้นนั้น ...
มีใครบ้างไหมที่จะกล้าปฏิเสธว่า  หะดีษเหล่านี้ ไม่ใช่หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์?? .. 
มีใครบ้างไหมที่กล่าวหาว่า บรรดาหะดีษเหล่านี้ผม  กุ  ขึ้นมาเอง, มิใช่เป็นคำพูดของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมแต่อย่างใด ? ...
เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากจะถามว่า  ที่ผ่านมานั้น เรา  ผู้ที่ถือศีลอดและออกอีดิ้ลฟิฏรี่ตามต่างประเทศโดยอิสระ -- เอา หลักการ” ที่ถูกต้องของศาสนาข้อใดมาอ้างในการไม่ยอมถือศีลอดและออกอีดตามการประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี ? ...
ย้อนกลับไปอ่านหะดีษเหล่านั้น (อย่าอ่านเพียงผ่านๆ,  แต่ให้อ่านด้วยความใคร่ครวญซ้ำให้หลายๆเที่ยว แล้วบางที, .. ท่านอาจจะเกิดจิตสำนึกและรู้จักผิดชอบชั่วดียิ่งขึ้นกว่าเดิมก็ได้ อินชาอัลลอฮ์ ...
สรุป
1.  ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คือตำแหน่งผู้นำที่ถูกต้องของชาวไทยมุสลิมทั้งประเทศ ..  ทั้งตามบทบัญญัติศาสนา และตามพระราชบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ...
2.  มุสลิมในประเทศไทยทุกคน วาญิบจะต้องปฏิบัติตามท่านจุฬาราชมนตรีใน   คำสั่งที่ถูกต้องต่อบทบัญญัติ  ของท่านโดยเคร่งครัด ไม่ว่าคำสั่งนั้น เราจะชอบหรือไม่ชอบ,  เต็มใจหรืออึดอัดใจที่จะปฏิบัติตาม ... 
3.  ไม่วาญิบให้ปฏิบัติตามผู้นำในคำสั่งที่ ฝ่าฝืน ต่อบทบัญญัติศาสนา ...
4. ไม่อนุญาตให้มุสลิมคนใด  แยกตัว  ออกจากการปฏิบัติตามผู้นำและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ปฏิบัติตามผู้นำในสิ่งที่ถูกต้อง,  มิฉะนั้น เขาก็จะตายในสภาพของพวก  ญาฮิลียะฮ์  ดังคำกล่าวของท่านศาสดามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ...
5.  พฤติการณ์ส่วนตัวใดๆของผู้นำที่ ผิด ต่อบทบัญญัติจนเรายอมรับไม่ได้  เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะแยกตัวออกจากการฏออัตในเรื่องที่ ถูกต้อง ของผู้นำคนนั้น  ทว่า ท่านศาสดาได้แนะนำว่า เรามี  ทางเลือก ในการปฏิบัติอยู่เพียง 2 ทาง (ไม่มีทางเลือกที่ 3 อีกคือ ...
5.1.  ให้เราอดทนต่อพฤติการณ์อันไม่ถูกต้องของผู้นำคนนั้น หรือ ...
5.2.  อย่าพูดโจมตีลับหลัง!  แต่ให้กล้าพูดตักเตือน,  ชี้แจงความผิดพลาดและพูดความจริง ต่อหน้า ผู้นำคนนั้น ... 
  
   *******
ก็ยังมีเหลืออีกเรื่องหนึ่งซึ่งคนยุคใหม่บางคน  แกว่งเท้าหาเสี้ยน ด้วยการเปิดประเด็นใหม่อันเป็นประเด็นที่ไม่มีนักวิชาการคนใดในอดีตเคยกล้ากล่าวมาก่อน ... 
นั่นคือการกล่าวหาว่า  ถ้าวาญิบให้ตามผู้นำในเรื่องการถือบวชออกบวชจริง ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เองก็ฝ่าฝืนและมิได้ตามผู้นำ .. คือท่านมุอาวิยะฮ์ .. ในกรณีนี้ ...
พูดแบบนี้กระมัง  สุภาษิตจีนถึงได้กล่าวว่า  ลูกวัวเพิ่งเกิดจะไม่กลัวเสือ ...
เพราะ .. เศาะหาบะฮ์ทุกท่าน พวกเราชาวซุนนะฮ์ยอมรับกันแล้วว่า เป็นคน อาดิล  คือเป็นผู้มีคุณธรรม,  ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ...
และการปฏิบัติตามผู้นำสำคัญอย่างไร ?  หะดีษที่ผ่านมาคือสิ่งยืนยัน .. ซึ่งท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เองในฐานะเป็นเศาะหาบะฮ์ท่านหนึ่งก็ซาบซึ้งดีที่สุดในเรื่องนี้ ...
อย่าลืมว่า ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.  คือผู้ซึ่งรายงานหะดีษที่ว่า ..  ผู้ใดที่แยกตนเองออกจากกลุ่มชนส่วนใหญ่ (ที่ปฏิบัติตามผู้นำในเรื่องที่ถูกต้องแม้เพียงคืบเดียว  เขาผู้นั้นก็ต้องตายในสภาพของพวกญาฮิลียะฮ์ ...
แล้วอย่างนี้จะให้เราเข้าใจว่า  ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. พร้อมที่จะตายในสภาพของพวกญาฮิลียะฮ์ .. ด้วยการปฏิเสธและไม่ยอมปฏิบัติตามผู้นำ .. คือท่านมุอาวิยะฮ์ กระนั้นหรือ ? ... 
หรือจะให้เข้าใจว่า  ผู้ที่กล่าวหาท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เองนั้นแหละคือผู้ อวิชา  คือ ไม่รู้และไม่เข้าใจอะไรเลย ? ...   
เพราะฉะนั้น การกล่าวหาเศาะหาบะฮ์ -- ไม่ว่าท่านใด  ว่า ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้นำ  จึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก,  มิใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยดัง ลูกวัวเพิ่งเกิด กล่าวหาพล่อยๆ ...  
ชะรอย ลูกวัวเพิ่งเกิด พวกนี้คงจะเคยชินกับสิ่งที่มีบางคนในสมัยนี้  ป้อน ความเข้าใจผิดๆ ให้ว่า การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามผู้นำเป็นเรื่องธรรมดา,  ไม่ใช่เป็นความผิดร้ายแรงอะไร ...
แสดงว่าทั้ง  ผู้ป้อน  และ  ผู้ถูกป้อน  ไม่รู้เรื่องอะไรพอๆกัน .. (คำว่า  ไม่รู้ นี่ ภาษาอาหรับเรียกว่าอะไรผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน... 
ดูแต่เมื่อครั้งที่ท่านคอลีฟะฮ์อุมัรฺ อิบนุลค็อฏฏอบ ร.ฎ. สั่งปลดท่านคอลิด บิน อัล-วะลิด ร.ฎ. ออกจากการเป็นแม่ทัพในปี ฮ.ศ. 17  แล้วแต่งตั้งให้ท่านอบูอุบัยดะฮ์ บินอัล-ญัรฺเราะฮ์ ร.ฎ. เป็นแม่ทัพแทน .. นัยว่า เพื่อความเหมาะสม ...
แม้จะมองว่า ตนเองไม่ได้ทำผิดอะไร  แต่ท่านคอลิด บินอัล-วะลีด ร.ฎ. ก็ยอมรับคำสั่งปลดกลางอากาศนั้นโดยดุษฎี  เพราะท่านเข้าใจความสำคัญของการ ฏออัต ผู้นำดีว่ามีความสำคัญเพียงไร ...   
ถ้าเป็นในสมัยนี้ก็คงมีการปฏิวัติกันไปแล้ว  เพราะท่านคอลิด บินอัล-วะลีด เป็นนักรบที่มีฝีมือเข้มแข็งมาก และยังมีอิทธิพลในกลุ่มทหารใต้บังคับบัญชามิใช่น้อย ...
อย่าลืมว่า ในเรื่องของการถือศีลอดและการออกอีด ที่บางท่านกล่าวหา ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ว่า ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามผู้นำ คือท่านมุอาวิยะฮ์ ร.ฎ.นั้น ... 
ข้อเท็จจริงก็คือ ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. เอง  ขณะนั้นพำนักอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์,  ส่วนท่านคอลีฟะฮ์มุอาวิยะฮ์ ร.ฎ. พำนักอยู่ที่เมืองชาม ซึ่งเป็นคนละเมือง (ซึ่งถ้าเป็นในสมัยนี้ก็คนละประเทศ)กัน ...
ที่เมืองชาม มีท่านคอลีฟะฮ์มุอาวิยะฮ์เป็นผู้นำ,  แต่ที่นครมะดีนะฮ์ มีท่านมัรฺวาน บิน อัล-หะกัม (หรือท่านสะอีด บิน อัล-อาศ ..  คนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำ ...
ผู้นำเมืองชามและผู้นำนครมะดีนะฮ์ในขณะนั้น จึงเป็นคนละคนกัน ... 
ก่อนอื่น ผมจะขออธิบายเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ในสมัยนั้นสักเล็กน้อย เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจข้อเท็จจริงได้แจ่มแจ้งขึ้น ...
ท่านมุอาวิยะฮ์ บินอบีย์ซุฟยาน ร.ฎ. ปฐมแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ได้รับตำแหน่งเป็น คอลีฟะฮ์ หรือ  ผู้นำโลกมุสลิม โดยสมบูรณ์ ในเดือนรอบีอุลอาคิรฺ ปี ฮ.ศ.41  หลังจากที่ท่านอัล-หะซัน บิน อะลีย์ บินอบีย์ฏอลิบ ร.ฎ. ได้สละตำแหน่งให้แก่ท่าน ...  
(จากหนังสือ  ตารีค อัฏ-ฏ็อบรีย์  เล่มที่ 3  หน้า 168... 
ศูนย์กลางของโลกอิสลามในสมัยของท่านมุอาวิยะฮ์ ร.ฎ.ก็คือ  แคว้นชาม  หรือซีเรียในปัจจุบัน และท่านมุอาวิยะฮ์ ร.ฎ. ก็พำนักอยู่ที่นั่นตลอดมา ...
ส่วนท่านอัล-หะซัน บินอะลีย์ บิน อบีย์ฏอลิบ ร.ฎ. พำนักอยู่ที่เมืองกูฟะฮ์ซึ่งเป็นเมืองหรือจังหวัดหนึ่งในประเทศอิรักปัจจุบัน ...
หลังจากสละตำแหน่งให้ท่านมุอาวิยะฮ์แล้ว  ท่านอัล-หะซันก็เดินทางออกจากเมืองกูฟะฮ์ไปยังเมืองมะดีนะฮ์ และสิ้นชีวิตที่นั่นในวันที่ 7  เดือนศอฟัรฺ ปี ฮ.ศ. 50 ...
ท่านมุอาวิยะฮ์ได้แต่งตั้งให้บุคคลต่างๆเข้าดำรงตำแหน่ง  ผู้นำ (اَلْوَالِىْในเมืองที่สำคัญๆ ดังนี้ ...
1.  เมืองกูฟะฮ์ .. ในช่วงแรก ท่านมุอาวิยะฮ์ได้แต่งตั้งให้ท่านอับดุลลอฮ์ บินอัมรฺ บินอัล-อาศ เป็นเจ้าเมืองกูฟะฮ์แทนท่านอัล-หะซัน บินอะลีย์ ร.ฎ.,  ต่อมาก็ได้ถอดท่านอับดุลลอฮ์ออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งท่านอัล-มุฆีเราะฮ์ บินชุอฺบะฮ์ เป็นเจ้าเมืองแทน 
2.  เมืองบัศเราะฮ์ .. ในช่วงแรก ได้แต่งตั้งให้ท่านบุชรฺ บิน อบีย์อัรฺฏออ์ เป็นเจ้าเมือง,  ต่อมาก็ได้ถอดท่านบุชรฺออกและแต่งตั้งผู้นำคนใหม่คือท่านซะมุเราะฮ์ บินญุนดุบ  และท่านอับดุลลอฮ์ บินอัมรฺ บินฆ็อยลานเป็นเจ้าเมืองต่อมาตามลำดับ ...
3.  เมืองมะดีนะฮ์ .. ในปี ฮ.ศ. 42 ได้แต่งตั้งให้ท่านมัรฺวาน บิน อัล-หะกัมเป็นผู้ปกครองเมืองมะดีนะฮ์ จนถึงปี ฮ.ศ. 49  ก็ถอดท่านมัรฺวานออก แล้วแต่งตั้งให้ท่านสะอีด บินอัล-อาศ เป็นเจ้าเมืองมะดีนะฮ์ต่อไป ...
4.  เมืองมักกะฮ์ ..  ในปี ฮ.ศ. 42  ได้ถอดท่านคอลิด บินอัล-อาศ บินฮิชาม ซึ่งเป็นเจ้าเมืองคนเก่าออก แล้วแต่งตั้งให้ท่านอับดุลลอฮ์ บินอัล-หาริษ บินเนาฟัล เป็นผู้ครองเมืองมักกะฮ์ต่อไป ...
5.  เมืองมิศรฺ หรือประเทศอียิปต์ในปัจจุบัน  ได้แต่งตั้งให้ท่านอัมรฺ บินอัล-อาศ ร.ฎ.เป็นเจ้าเมือง  จนเมื่อท่านอัมรฺ สิ้นชีวิต ก็ได้แต่งตั้งให้ท่านอับดุลลอฮ์ บุตรของท่านอัมรฺ เป็นเจ้าเมืองมิศรฺแทนบิดา ...
จะเห็นได้ว่า แม้ ศูนย์กลาง ของอิสลามในขณะนั้นคือแคว้นชาม, .. และท่านมุอาวิยะฮ์ซึ่งเป็น คอลีฟะฮ์ หรือผู้นำสูงสุดของโลกอิสลามจะพำนักอยู่ที่นั่นก็จริง ...   
แต่ท่านมุอาวิยะฮ์ก็ได้แต่งตั้งและมอบหมายให้บุคคลอื่นๆ ทำหน้าที่เป็นเจ้าเมืองในเมืองสำคัญทั้งหลายที่เป็นเมืองขึ้นของแคว้นชามแทนตัวท่าน  ดังกล่าวมาแล้ว ...
และเมืองต่างๆเหล่านั้น ตามแผนที่โลกในปัจจุบัน ก็ล้วนกลายเป็นประเทศไปแล้ว .. หรือไม่ก็เป็นจังหวัดสำคัญที่รวมอยู่ใน ประเทศอื่น ทั้งสิ้น ...
แคว้นชาม ก็คือประเทศซีเรีย,  จอร์แดน,  เลบานอน และปาเลสตินในปัจจุบัน .. 
เมืองกูฟะฮ์และเมืองบัศเราะฮ์ ก็เป็นเมืองสำคัญของประเทศอิรักในปัจจุบัน ...
เมืองมะดีนะฮ์และมักกะฮ์ ขณะนั้นก็ตั้งอยู่ในแคว้นหิญาซ ซึ่งอยู่ห่างจากแคว้นชามมาก,  และประเทศสะอุดีอาระเบียในปัจจุบันก็คือส่วนหนึ่งของแคว้นหิญาซ ...   
เมืองมิศรฺ ก็คือประเทศอียิปต์ในปัจจุบัน ...
สรุปแล้ว เมืองต่างๆในอดีต จึงมี ผู้นำ เป็นของตนเองอยู่แล้วทั้งสิ้น ...
ทีนี้ เรามาว่ากันถึงเรื่องของการดูเดือนเพื่อกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีด ว่า ถ้าจะว่ากันตามหลักฐานแล้ว จะเป็นอำนาจหน้าที่ของใคร ? ...
เป็น อำนาจหน้าที่ ของคอลีฟะฮ์ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของโลกอิสลาม, .. หรือเป็น     สิทธิ ของผู้นำในแต่ละเมือง (ในขณะนั้นหรือแต่ละประเทศ (ในขณะนี้) ? ...
จากเนื้อหาของหะดีษกุร็อยบ์ และจากคำพูดของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ที่อ้างเหตุผล ในการปฏิเสธที่จะตามการเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม -- ว่า ... 
เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม! ... 
ข้ออ้างดังกล่าวนี้ จึงน่าจะเป็นหลักฐานชี้ชัดว่า การดูเดือนเพื่อกำหนดวันถือศีลอดและออกอีด -- ตามคำสั่งของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลับฮิวะซัลลัม -- นั้น ...
เป็นสิทธิและหน้าที่ของ อะมีรฺ หรือผู้นำของแต่ละเมือง, มิใช่เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จหรืออำนาจรวบยอดของผู้ดำรงตำแหน่ง คอลีฟะฮ์ ที่อยู่ต่างเมือง! ...  
และผู้เป็นคอลีฟะฮ์  ก็ ไม่มีสิทธิ์ ไปบังคับ อะมีรฺ หรือผู้นำในเมืองขึ้นใดๆของตน ให้ถือศีลอดและออกอีดตามการเห็นเดือนในเมืองที่คอลีฟะฮ์พำนักอยู่ได้ ...
ดังนั้น การที่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ซึ่งอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์ ได้ยืนยันที่จะดูเดือนเสี้ยวในเมืองของตนเอง,  เพื่อจะได้กำหนดวันออกอีดของตนเอง,  โดยปฏิเสธที่จะตามการเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม ..  จึงเป็นการกระทำไปตาม สิทธิ อันพึงมีพึงได้ของตน ตามคำสั่งของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ...  
มิใช่ท่านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามผู้นำ, .. อย่างที่ ผู้ไม่รู้ บางคนกล่าวหาท่านพล่อยๆชนิดไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ...
แต่ .. ประเด็นที่น่าสังเกตในกรณีนี้ก็คือ  ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.ในขณะนั้น มิใช่เป็น  อะมีรฺ หรือผู้นำของเมืองมะดีนะฮ์แต่อย่างใด ...
และดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า  การจะยอมรับหรือไม่ยอมรับการเห็นเดือนเพื่อถือศีลอดและออกอีด .. เป็นอำนาจโดยตรงของผู้นำระดับสูงสุดของแต่ละเมืองเท่านั้น ..  
แล้วเหตุใด ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.จึง กล้า ตัดสินใจปฏิเสธที่จะตามการเห็นเดือนของเมืองชามโดยพลการ  ทั้งๆที่ท่านเองก็มิใช่ผู้นำ .. และยังไม่ได้ปรึกษาหารือกับอะมีรฺหรือผู้นำของเมืองมะดีนะฮ์ในเรื่องนี้มาก่อน ? ...
ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. จะแน่ใจได้อย่างไรว่า อะมีรฺของนครมะดีนะฮ์ในขณะนั้น  --ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดจากท่านมัรฺวาน บินอัล-หะกัม หรือท่านสะอีด บินอัล-อาศ -- ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นคนสนิทของท่านมุอาวิยะฮ์ จะมีความเห็นสอดคล้องและไม่ขัดแย้งกับท่านในเรื่องนี้ ? ... 
คำตอบของปัญหานี้ตามทัศนะและการวิเคราะห์ของผมก็คือ  สาเหตุที่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.กล้าตัดสินใจด้วยตัวเองในการปฏิเสธที่จะตามการเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์ที่เมืองชาม โดยไม่รอปรึกษาหารือกับผู้นำของเมืองมะดีนะฮ์ในขณะนั้นก่อน ... 
ก็เพราะท่านทราบดีว่า คำสั่ง ของท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ที่สั่งให้แต่ละเมืองดูเดือนเพื่อกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีดของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องไปตามการเห็นเดือนของเมืองอื่นนั้น ... เป็นสิ่งที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายแล้ว สำหรับชาวเมืองมะดีนะฮ์ขณะนั้นในทุกระดับชั้น ...  
ไม่ว่าจะเป็นระดับชาวบ้านธรรมดาหรือระดับผู้นำของเมืองมะดีนะฮ์ ...
เพราะถ้าไม่ทราบและไม่แน่ใจอย่างนี้ ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ก็คงไม่กล้าเสี่ยงปฏิเสธการออกอีดตามการเห็นเดือนของท่านมุอาวิยะฮ์โดยพลการ .. ในเมื่อท่านเองก็ไม่มีสิทธิ์และไม่มีอำนาจใดๆที่จะตัดสินชี้ขาดในเรื่องนี้ และก็ไม่รู้ด้วยว่าผู้นำจะเอายังไง ..
หรืออย่างน้อยที่สุดในกรณีสมมุติว่าถ้าท่านไม่มีหลักฐานและไม่มั่นใจจริงๆ  ก่อนที่จะตอบปฏิเสธท่านกุร็อยบ์ไป ท่านก็คงจะต้องรอปรึกษาและสอบถามความเห็นผู้นำของเมืองมะดีนะฮ์ก่อนว่า จะตามหรือไม่ตามการเห็นเดือนของเมืองชาม ...  
การตอบปฏิเสธท่านกุร็อยบ์ไปโดยพลการดังที่ท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ.กระทำลงไปแล้วนั้น  ตามรูปการณ์จึงเป็นการล่อแหลมต่อการนำตัวเองไปสู่  การตายอย่างพวกญาฮิลียะฮ์ ดังหะดีษที่ท่านเองเป็นผู้รายงานมาอย่างยิ่ง  หากบังเอิญผู้นำประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ เกิดไปมีความเห็นขัดแย้งกับท่านในเรื่องนี้ ...
การกล้าตัดสินใจของท่านในกรณีนี้จึงไม่มีเหตุผลอื่นใด ยกเว้นเหตุผลเดียวก็คือ ท่านจะต้องมั่นใจในข้อมูลหลักฐานจริงๆ .. ดังที่ผมได้วิเคราะห์ไปเท่านั้น ...             
  วัลลอฮุ อะอฺลัม ...                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น