หนังสือพจนานุกรมภาษาไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 หน้า 148 ได้อธิบายความหมายจุฬาราชมนตรีไว้ว่า ...
จุฬาราชมนตรี น, ตำแหน่งประธานมุสลิมที่ทางราชการแต่งตั้ง มีหน้าที่เป็นผุ้แทนระหว่างรัฐกับมุสลิมในประเทศไทย,
นี่คือ ความหมาย “จุฬาราชมนตรี” ในด้านภาษาตามพจนานุกรม ...
ส่วนในด้านที่มาหรือการกำเนิดตำแหน่งจุฬาราชมนตรีของประเทศไทยนั้น ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้ดังนี้ ...
ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในประเทศไทย เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2163 – 2171) ...
ผู้ที่ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทยก็คือ “เช็คอะห์มัด” (คนไทยเรียกว่า เฉกอะหมัด) เป็นมุสลิมนิกายชีอะฮ์ชาวเปอร์เชีย (อิหร่าน) ซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขายในประเทศไทยพร้อมกับน้องชายชื่อเช็คสะอีด (คนไทยเรียกว่า เฉกสะอิ๊ด) และบริวาร ตั้งแต่ตอนปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133 - 2148) ...
ทั้งเช็คอะห์มัดและเช็คสะอีดได้เข้ามาตั้งรกรากทำมาค้าขายอยู่แถวท่าภาษี โดยซื้อสินค้าพื้นเมืองจากประเทศไทยไปขายต่างประเทศ แล้วซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขาย ณ กรุงศรีอยุธยาจนมีฐานะร่ำรวยระดับเศรษฐีของกรุงศรีอยุธยาทีเดียว ...
ท่านเช็คสะอีดมาอยู่เมืองไทยได้ไม่นาน ก็เดินทางกลับไปประเทศเปอร์เชีย และไม่หวนกลับมาอีกเลย ...
ส่วนท่านเช็คอะห์มัด ได้เข้ารับราชการมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเอกาทศรถจนถึงรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม และอันเนื่องมาจากความจัดเจนในด้านการค้าขายกับต่างประเทศของท่าน จึงทำให้ชีวิตราชการก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ...
ในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม ท่านได้รับตำแหน่งเป็น “พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี” เจ้ากรมท่าขวา แล้วต่อมาก็ได้ควบตำแหน่งเจ้ากรมท่ากลาง (เป็นตำแหน่งว่าที่เสนาบดีการต่างประเทศและการพาณิชย์ในสมัยนั้น) .. รวมทั้งได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี อันถือเป็นผู้ควบคุมดูแลชาวไทยมุสลิมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ...
หลังจากนั้น ก็ทรงโปรดเกล้าให้เลื่อนตำแหน่งท่านเป็น “เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี” อันเป็นตำแหน่งว่าที่สมุหนายกอัครเสนาบดีฝ่ายเหนือ ...
และตำแหน่งครั้งสุดท้ายในชีวิตราชการของท่านเช็คอะห์มัด จุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทยก็คือ ได้เป็น “เจ้าพระยาบวรราชนายก” อันเป็นตำแหน่งจางวางมหาดไทย เป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป ...
ท่านเช็คอะห์มัด ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุได้ 88 ปี, มัยยิตของท่านถูกฝังไว้ที่สุสานแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคู (ปัจจุบันอยู่ในวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา) ...
หลังจากท่านเช็คอะห์มัด อันเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ลูกหลานของท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีสืบต่อเนื่องกันมา รวมทั้งสิ้น 11 ท่านด้วยกัน ...
เป็นในสมัยกรุงศรีอยุธยารวมทั้งหมด 4 ท่านดังนี้ ...
1. จุฬาราชมนตรีเช็คอะห์มัด (เฉกอะหมัด)
2. จุฬาราชมนตรีแก้ว
3. จุฬาราชมนตรีสน
4. จุฬาราชมนตรีเชน
และเป็นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีก 7 ท่านดือ ...
5. จุฬาราชมนตรีก้อนแก้ว (มีชื่อจริงว่า “มุฮัมมัดมะอฺซูม”)
6. จุฬาราชมนตรีเถื่อน (มีชื่อจริงว่า “อะมิรฺชา มุฮัมมัดการีม”)
7. จุฬาราชมนตรีนาม (มีชื่อจริงว่า “มิรฺซา มุฮัมมัดตะกี”)
8. จุฬาราชมนตรีสิน (มีชื่อจริงว่า “มิรฺซา คุลามฮุเซ็น”)
9. จุฬาราชมนตรีสัน อะหมัดจุฬา (มีชื่อจริงว่า “มิรฺซา อะลีระชา”)
10. จุฬาราชมนตรีเกษม อะหมัดจุฬา (มีชื่อจริงว่า “มุฮัมมัด ระชา”)
11. จุฬาราชมนตรีสอน อะหมัดจุฬา
จุฬาราชมนตรีทั้งหมดที่กล่าวนามมานั้น ล้วนถูก “แต่งตั้ง” มาจากข้าราชการ,ยึดถือลัทธิชีอะฮ์, .. และสืบตระกูลมาจากท่านเช็คอะห์มัดทั้งสิ้น ...
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. 2475 ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีก็เปลี่ยนจากฝ่ายชีอะฮ์มาเป็นฝ่ายซุนหนี่จนถึงปัจจุบัน ...
และจุฬาราชมนตรีที่เป็น “ฝ่ายซุนหนี่” คนแรกของประเทศไทยก็คือ ท่านจุฬาราชในตรีแช่ม พรหมยงค์ ...
ทั้งนี้ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2488 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายศาสนาอิสลาม และได้กำหนดให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เป็นตำแหน่งที่ปรึกษาราชการด้านกิจการศาสนาอิสลามขององค์พระมหากษัตริย์ ...
และรัฐบาลก็ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “นายแช่ม พรหมยงค์” ซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สังกัดกรมโฆษณาการ ให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 12 แห่งประเทศไทย ...
นายแช่ม พรหมยงค์ ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีได้ประมาณ 2 ปี ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งและเดินทางไปพำนักอยู่ต่างประเทศด้วยเหตุผลทางการเมือง ...
ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2490 ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ก็ได้เชิญประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดมาร่วมประชุม เพื่อสรรหาตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแทนนายแช่ม พรหมยงค์ที่ลาออกไป ...
ผลการประชุมปรากฏว่า “นายต่วน สุวรรณศาสน์” (ชื่อจริงคือ ฮัจญีอิสมาแอล ยะห์ยาวี) ซึ่งเป็นอาจารย์สอนศาสนาอยู่ที่โรงเรียนอันยุมันอิสลาม ได้รับการคัดเลือกให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนต่อไป รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท่านเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 13 แห่งประเทศไทย, เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ .. และเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 2 จากฝ่ายซุนหนี่ ...
เมื่อท่านจุฬาราชมนตรีต่วน สุวรรณศาสน์ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2525 ทางราชการก็ได้เชิญบรรดาประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ มาประชุมพร้อมกันที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อคัดเลือกตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีต่อจากนายต่วน สุวรรณศาสน์ ...
ผลการประชุมปรากฏว่า นายประเสริฐ มะหะหมัด ซึ่งเป็นอาจารย์สอนศาสนาและเป็นกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้รับการคัดเลือก และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 14 แห่งประเทศไทย ...
จากข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านมาเกี่ยวกับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ตั้งแต่ท่านแรกคือเช็คอะห์มัด จนถึงท่านที่ 14 คือนายประเสริฐ มะหะหมัด ก็พอจะสรุปได้ดังนี้ ...
1. ที่มา : จุฬาราชมนตรี 11 คนแรก เป็นข้าราชการ, เป็นผู้ที่ถือลัทธิชีอะฮ์, ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากองค์พระมหากษัตริย์ในยุคการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงแรก ...
จุฬาราชมนตรีคนที่ 12 คือนายแช่ม พรหมยงค์ เป็นข้าราชการ, เป็นมุสลิมนิกายซุนหนี่, นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำชื่อขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยยุคแรก ...
จุฬาราชมนตรีคนที่ 13 คือนายต่วน สุวรรณศาสน์ และคนที่ 14 คือนายประเสริฐ มะหะหมัด เป็นอาจารย์สอนศาสนา, เป็นมุสลิมนิกายซุนหนี่, ได้รับเลือกตั้งจากประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้งประเทศก่อน แล้วนายกรัฐมนตรีก็นำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี ในสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตยยุคหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ...
2. สถานภาพ : จุฬาราชมนตรี 11 คนแรกมีสถานภาพตามกฎหมายเป็นประธานคอยควบคุมดูแลชาวไทยมุสลิม, และทำหน้าที่เป็นผู้แทนระหว่างรัฐกับชาวมุสลิมในประเทศไทย ...
ส่วนจุฬาราชมนตรีตั้งแต่คนที่ 12 – 14 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการอุปถัมภ์ศาสนาอิสลามในประเทศไทย พ.ศ. 2488 ให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาขององค์พระมหากษัตริย์ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามในประเทศไทย ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น