อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

วิภาษคำฟัตวาของท่านเช็คอิบนุอุษัยมีน เรื่องออกอีดอัฎฮา


.มะห์มูด (ปราโมทย์ศรีอุทัย 

วิภาษคำฟัตวาของท่านเช็คอิบนุอุษัยมีน   
คำว่า ฟัตวา (فَتْوَىเป็นภาษาอาหรับ,  มีความหมายเป็นภาษาไทยดังคำอธิบายในหนังสือ  اَلْمِصْبَاحُ الْمُنِيْرُ  เล่มที่ 2  หน้า 115 ว่าหมายถึง การอธิบาย, การชี้แจงหรือการวินิจฉัยปัญหาศาสนาของผู้รู้หรือนักวิชาการ ...
 เมื่อเป็นเรื่องของศาสนา ผู้ที่จะทำการฟัตวาปัญหาใดๆ ก็จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักฐาน,  ทางออกที่ถูกต้องจากความขัดแย้งของหลักฐาน,  ตลอดจนข้อมูลต่างๆตามหลักวิชาการของเรื่องที่จะฟัตวานั้นอย่างละเอียดลึกซึ้ง ...
 เพราะการฟัตวาปัญหาใดโดยขาดความรอบรู้อย่างแท้จริงในสิ่งเหล่านี้ ย่อมเป็นการเสี่ยงต่อการนำประชาชน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ ตะอัศศุบ หรือคลั่งไคล้จนเกินขอบเขตในตัวผู้ฟัตวา  เข้ารกเข้าพงและเข้าใจศาสนาอย่างผิดๆได้ .. ซึ่งผู้ฟัตวาจะหลีกเลี่ยงจากความรับผิดชอบไม่ได้ ... 
 บรรดาบรรพชนผู้ทรงคุณธรรมยุคแรก (اَلسَّلَفُ الصَّالِحُจึงระมัดระวังในการฟัตวาเป็นอย่างมาก  พวกท่านจะไม่กล้าผลีผลามฟัตวาหรือตอบปัญหาใดๆนอกจากจะแน่ใจว่ามีหลักฐานถูกต้องแล้วเท่านั้น ...
 ท่านอิบนุมัสอูด ร.ฎ. ได้เคยกล่าวไว้ว่า ...
((إِنَّ الَّذِىْ يُفْتِى النَّاسَ فِىْ كُلِّ مَا يُسْتَفْتَى لَمَجْنُوْنٌ))                      
 ผู้ซึ่ง (กล้าฟัตวาต่อประชาชนในทุกๆสิ่งที่ถูกขอให้ฟัตวา (ชี้แจง.. ขอยืนยันว่า เขาเป็นคนบ้าแน่ๆ!”  
              (จาก سُنَنُ الدَّارِمِىِّ ..  มุก็อดดิมะฮ์ที่ 21,  หะดีษที่ 171)
ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวเอาไว้ว่า ... 
              ((مَنْ أُفْتِىَ بِفُتْيَا مِنْ غَيْرِ ثَبَتٍ (عِلْمٍفَإِنَّمَا إِثْمُهُ عَلَى مَنْ أَفْتَاهُ))               
 ผู้ใดได้รับคำฟัตวาในปัญหาใดๆโดยปราศจากหลักฐานที่แน่นอน (ปราศจากความรู้)  มันมิใช่อื่นใดนอกจากบาปของมัน จะตกอยู่กับผู้ให้คำฟัตวาแก่เขา
 (บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 3657,   ท่านอะห์มัด เล่มที่ 2  หน้า 321, 365,   ท่านอัด-ดาริมีย์ หะดีษที่ 159,   ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 53,   และท่านอัล-หากิม เล่มที่ 1  หน้า 183  โดยรายงานมาจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ร.ฎ. ด้วยสายรายงานที่สวยงาม...
 ความหมายของหะดีษบทนี้ก็คือ ผู้ใดได้รับคำฟัตวาผิดๆมาจากผู้ซึ่งให้คำฟัตวาแก่เขาโดยปราศจากความรู้หรือปราศจากหลักฐานที่ถูกต้อง  แล้วเขาก็นำคำฟัตวาที่ผิดๆนั้นไปปฏิบัติ .. บาปก็จะต้องตกอยู่แก่ผู้ให้คำฟัตวาที่ผิดแก่เขา,  หาใช่ตกอยู่ที่เขาไม่  
คำฟัตวาของผู้รู้  ไม่ว่าระดับใด  จึงเสี่ยงต่อคำว่า ”ถูกหรือผิด ได้ตลอดเวลา ...
 จริงอยู่ที่ว่า ผู้ที่ให้คำฟัตวาปัญหาใดแก่ประชาชน อาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง, มีความอิคลาศ,  และมั่นใจในคำฟัตวาของตน ...
 แต่การศึกษาสูง,  ความอิคลาศ,  และความมั่นใจ  เป็นคนละเรื่องกับความถูกต้อง 
การศึกษาสูง, ความอิคลาศ, ความมั่นใจ จึงไม่ใช่เป็นหลักประกันว่า  การฟัตวานั้นจะถูกต้องเสมอไป ...
 ความถูกต้อง  ของคำฟัตวาใด จึงอยู่ที่คำฟัตวานั้น  จะต้องสอดคล้องกับหลักฐานจากอัล-กุรฺอ่าน,   อัล-หะดีษ,  มติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ หรือการอนุมานเปรียบเทียบ (قِيَاسٌที่ไม่ขัดแย้งต่อหลักวิชาการ ...
 ผู้ที่ต้องการ ความถูกต้อง จะต้องไม่แสวงหาเฉพาะคำฟัตวาที่สอดคล้องกับความเชื่อของตน, หรือคำฟัตวาของผู้ซึ่งตนเชื่อมั่นและคลั่งไคล้ (تَعَصُّبٌเพียงประการเดียวโดยไม่คำนึงว่า คำฟัตวานั้น จะมีหลักฐาน, หรือสอดคล้องกับหลักฐานหรือไม่ ...
 เพราะการแสวงหาเฉพาะสิ่งที่ตนต้องการก็ดี,  การตะอัศศุบตัวบุคคลโดยไม่สนใจหลักฐานก็ดี .. เหล่านี้ ย่อมเป็นอุปสรรคและเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุสู่ ความถูกต้อง ตามที่ต้องการได้ ... 
สำหรับคำฟัตวาของท่านเช็คอิบนุอุษัยมีน กรรมการสภาอุละมาอ์อาวุโสแห่งราชอาณาจักรสะอุดีอารเบียที่อนุญาตให้แต่ละประเทศ ถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์ใน วันที่ 9  เดือนซุลหิจญะฮ์ ตามการดูเดือนของประเทศเองได้ --โดยไม่จำเป็นต้องไปคำนึงว่าจะตรงกับ วันวุกูฟที่อะรอฟะฮ์ ซึ่งถูกกำหนดโดยทางการประเทศสะอุดีอาระเบียหรือไม่ -- นั้น  เป็นรวมคำฟัตวาที่ 19 .. ซึ่งทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้เผยแพร่คำฟัตวานี้ในหนังสือ  ประกาศสำนักจุฬาราชมนตรีเรื่องดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมะฎอน ปีฮิจเราะฮ์ศักราช 1428 ... 
และคำประกาศฉบับนี้  ก็ออกมาตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550 .. คือก่อนการถือศีลอดเดือนรอมะฎอนปีนี้ 13 วัน ...
แต่ผมเพิ่งจะได้รับประกาศฉบับนี้มาเมื่อวันที่  25  พฤศจิกายน 2550 นี้เอง ...
เนื้อหาของคำฟัตวาช่วงแรก  ท่านเช็คอิบนุอุษัยมีน ได้อธิบายถึงความขัดแย้งของนักวิชาการเกี่ยวกับการถือศีลอดเดือนรอมะฎอนและการออกอีดิ้ลฟิฏรี่ในประเทศต่างๆซึ่งสรุปว่า ที่มีน้ำหนักแห่งความถูกต้องตามทัศนะของท่านก็คือ หากประเทศที่มีมัฏละอฺเดียวกัน คือ เวลาการขึ้น-การตกของดวงจันทร์พร้อมหรือไล่เลี่ยกัน  (อย่างเช่นประเทศไทยกับมาเลเซีย เป็นต้นก็ให้ถือว่า ทั้ง 2 ประเทศนั้นเปรียบเสมือนเป็นประเทศเดียวกัน
ดังนั้น ถ้าประเทศหนึ่งเห็นเดือน  อีกประเทศหนึ่งก็ต้องปฏิบัติตาม ...
แต่ .. ประเทศที่อยู่ห่างไกลกันมากและมัฏละอฺต่างกัน (อย่างเช่นประเทศไทยและประเทศสอุดีอาระเบีย เป็นต้น)  ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามในการเห็นเดือนของกันและกัน,.. แต่ให้แต่ละประเทศมีสิทธิ์ดูเดือนเพื่อกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีดภายในประเทศตนเองได้ ...
แล้วท่านเช็คอิบนุอุษัยมีน ก็กล่าวต่อไปอีกว่า ...
   ((وَلَكِنْ إِذَاكَانَ الْبُلْدَانُ تَحْتَ حُكْمٍ وَاحِدٍ وَأَمَرَ حَاكمِ ُالْبِلاَدِ بِالصَّوْمِ أَوِ الْفِطْرِ وَجَبَ امْتِثَالُ أَمْرِهِ،  ِلأَنَّ الْمَسْأَلَةَ خِلاَفِيَّةٌوَحُكْمَ الْحَاكِمِ يَرْفَعُ الْخِلاَفَ))                         
 แต่ .. หากปรากฏว่า เมือง (หรือจังหวัดต่างๆ อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำเดียวกัน  และผู้นำได้มีคำสั่งให้ถือศีลอดหรือออกอีด ก็วาญิบ (สำหรับประชาชนในเมืองหรือจังหวัดต่างๆเหล่านั้นจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำ!  ทั้งนี้ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาขัดแย้ง, ..  และการตัดสินของผู้นำ คือสิ่งที่จะยุติหรือสยบความขัดแย้งนั้น” ...
 คำฟัตวาข้อนี้ ผมถือว่าเป็นคำฟัตวาที่ถูกต้อง!  เพราะสอดคล้องกับหลักฐานทั้งจากหะดีษของท่านกุร็อยบ์,.. ทั้งจากหะดีษที่ว่า .. การถือศีลอด คือวันที่พวกท่านส่วนมากถือศีลอดกัน, ..  และสอดคล้องกับทัศนะของญุมฮูรฺหรือนักวิชาการส่วนใหญ่ที่ให้ประชาชนในแต่ละประเทศ ถือศีลอดและออกอีดพร้อมกับผู้นำและประชาชนในประเทศของตนเอง ดังที่ได้อธิบายมาแล้วในหนังสือ ถือศีลอดรอมะฎอน ไม่จำเป็นต้องตามการเห็นเดือนต่างประเทศ ... 
แต่ในคำฟัตวาตอนสุดท้าย  ท่านเช็คอิบนุอุษัยมีน ได้กล่าวว่า ... 
               
((وَكَذَلِكَ يَوْمَ عَرَفَةَ!  إِتَّبِعُواالْبُلْدَانَ الَّذِىْ أَنْتُمْ فِيْهِ .......))                        
 ในทำนองเดียวกัน (การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์!  ให้พวกท่านปฏิบัติตามเมือง(หรือประเทศต่างๆที่พวกท่านพำนักอยู่ .............
 คำว่า  كَذَلِكَในภาษาอาหรับที่แปลเป็นภาษาไทยว่า .. ในทำนองเดียวกัน .. เป็นคำบ่งชี้ถึงสองสิ่งที่อยู่ห่างไกลในลักษณะเปรียบเทียบความคล้ายคลึง ...
 นั่นคือ ท่านเช็คอุษัยมีน ถือว่า การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์  มีความ คล้ายคลึง กับการถือศีลอดเดือนรอมะฎอน! ในแง่ที่ว่า  อนุญาตให้แต่ละประเทศดูเดือน เพื่อกำหนดวันถือศีลอดทั้งสอง ภายในประเทศตนเองได้  และประชาชนในประเทศใดก็จะต้องปฏิบัติตามการกำหนดของผู้นำประเทศในการถือศีลอดทั้ง 2  กรณีนั้น ... 
ประเด็นนี้ ผมมีทัศนะที่ขัดแย้งกับทัศนะของท่านเช็คอิบนุอุษัยมีน ... 
เพราะเมื่อได้พิจารณาข้อความและเนื้อหาจากหะดีษ 2 บทที่กล่าวถึงเรื่องการถือศีลอดเดือนรอมะฎอนและการถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์แล้ว  
เห็นได้ชัดเจนว่า การถือศีลอดเดือนรอมะฎอน มีบรรทัดฐานและพื้นฐานที่ แตกต่าง กับการถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์ แน่นอน! ...
หากจะมีคำถามว่า บรรทัดฐานการถือศีลอดรอมะฎอนกับการถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์ต่างกันอย่างไร ?  ..  คำตอบก็คือ ...
พื้นฐานการถือศีลอดเดือนรอมะฎอน มาจากคำสั่งของท่านนบีย์ฯ ที่ว่า .. พวกท่านทั้งหลาย จงถือศีลอด  เพราะเห็นมัน (เดือนเสี้ยว.............. 
  ดังนั้น ในเรื่องการถือศีลอดเดือนรอมะฎอน  มุสลิมทุกคน --ไม่ว่าจะอยู่ ณ ประเทศใดก็ตาม --  จึงมีสิทธิ์ดูเดือนเสี้ยว เพื่อกำหนดวันถือศีลอดเดือนรอมะฎอน (ภายในประเทศของตนเองได้ .. ดังคำอธิบายของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ในหะดีษท่านกุร็อยบ์...
ส่วนพื้นฐานการถือศีลอดอะรอฟะฮ์ มาจากคำกล่าวของท่านนบีย์ที่ว่า .. การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์! .. ฉันหวังว่าพระองค์อัลลอฮ์จะทรงลบล้างบาปของปีที่ผ่านมา และปีที่จะถึงต่อไป” ...
ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมไม่เคยสั่ง -- อย่างที่เคยสั่งในเรื่องเดือนรอมะฎอน -- ว่า ให้มุสลิมทั้งหลาย (ในแต่ละประเทศ ดูเดือนเสี้ยวในวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์  เพื่อกำหนดวันถือศีลอดอะรอฟะฮ์ภายในประเทศของตนเองได้ ...  
แต่ .. ท่านศาสดาระบุมาอย่างชัดเจนว่า .. صِيَامُ يَوْمَ عَرَفَةَ (การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์!.. ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีดังได้อธิบายไปแล้วว่า วันอะรอฟะฮ์ จะมีแค่วันเดียวเท่านั้นในรอบปี! .. คือวันที่ผู้ทำหัจญ์ ไปร่วมชุมนุมกัน (วุกูฟณ ทุ่งอะรอฟะฮ์ ...
 ดังนั้น วันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ของประเทศใดก็ตาม  ถ้าไม่ตรงกับวันวุกูฟที่อะรอฟะฮ์ของผู้ทำหัจญ์แล้ว.. เราจะเรียกมันว่า  วันอะรอฟะฮ์..ได้อย่างไร ? ...
อีกนัยหนึ่ง  ความแตกต่างระหว่าง  การถือศีลอดเดือนรอมะฎอน กับ การถือศีลอดวันอะรอฟะฮ์ ก็คือ ... 
การให้ประชาชนแต่ละประเทศดูเดือนเพื่อกำหนด วันถือศีลอดเดือนรอมะฎอน ภายในประเทศของตนเอง.. เป็นสิ่งที่มีหลักฐานจากหะดีษรองรับ ...
แต่การอนุญาตให้ประชาชนแต่ละประเทศดูเดือนเพื่อกำหนด วันถือศีลอดอะรอฟะฮ์ภายในประเทศตนเอง (ในกรณีที่ประเทศนั้นๆสามารถรับรู้วันอะรอฟะฮ์ที่ทางประเทศซาอุกำหนดชัดเจนแล้ว.. เป็นเพียง ความเห็นส่วนตัวล้วนๆของผู้ฟัตวา ที่ไม่มีหลักฐานจากหะดีษบทใดมารองรับไว้เลย ... 
เพราะฉะนั้น คำฟัตวาของท่านเช็คอิบนุอุษัยมีนที่กล่าวว่า อนุญาตให้ประชาชนในแต่ละประเทศดูเดือน  เพื่อกำหนดวันถือศีลอดอะรอฟะฮ์ในวันที่ 9 เดือนซุลหิจญะฮ์ของประเทศตนเองได้  เหมือนกับการถือศีลอดเดือนรอมะฎอน  นั้น ...
 นอกจากจะไม่มีหลักฐานใดๆมารองรับดังที่ได้อธิบายไปแล้ว ... 
ผมยังถือว่า ..  คำฟัตวาดังกล่าวนี้ ขัดแย้งกับซุนนะฮ์! อีกด้วย ...
วัลลอฮุ อะอฺลัม.  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น