อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

การก่อการร้าย สาเหตุและแนวทางแก้ไข












สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่ของสภานิติศาสตร์อิสลาม (มัจญ์มะอฺ อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์) ในปี ฮ.ศ 1424 ณ เมืองมักกะฮฺ  ซึ่งที่ประชุมมีวาระสำคัญอยู่วาระหนึ่ง อันเป็นประเด็นสำคัญที่บรรดามุสลิมต้องร่วมกันหาทางออก นั้นคือปัญหาความท้าทายจากภัยก่อการร้าย ซึ่งจะต้องร่วมกันสืบหาสาเหตุ ผลกระทบ ข้อตัดสินทางศาสนา และแนวทางในการป้องกันภัยดังกล่าว
ในปัจจุบันพบว่าภัยก่อการร้ายเป็นปัญหาที่หนักหน่วงมาก ทุกคนต่างมีความสนใจอยากทราบความเป็นมาและการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้นข้าพเจ้าเห็นควรที่จะส่วนร่วมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อการร้าย พร้อมทั้งอธิบายถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
และก่อนที่ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาก่อการร้าย ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงนิยามของคำว่าก่อการร้าย และกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ควรตักเตือนพี่น้องมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมให้เกิดความเข้าใจเสียก่อน ความพยายามในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด ข้าพเจ้าวิงวอนขอความช่วยเหลือและทางนำจากเอกองค์อัลลอฮฺ

นิยาม การก่อการร้าย
คำว่า “ก่อการร้าย” เพิ่งปรากฏขึ้นในยุคหลังโดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 วาทกรรมนี้ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายจากสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปในระดับสากล ต่อมาได้เกิดสงความกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ข้าพเจ้าเห็นว่าความเคลื่อนไหวเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายเริ่มต้นจากการจำกัดกลุ่มเป้าหมายในวงแคบก่อน จนในที่สุดพวกเขาได้จำกัดความคำว่าการก่อการร้ายกับอิสลามและพี่น้องมุสลิมเท่านั้น พร้อมทั้งชี้นิ้วกล่าวหาว่ามุสลิมเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งถูกทำให้ดูเหมือนว่านี่คืออาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดในระดับสากล
สำหรับผู้ที่พิจารณาไตร่ตรอง จะพบว่านิยามของคำว่าก่อการร้ายดังกล่าวข้างต้น จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดให้คำนิยามจำกัดความที่สมบูรณ์ ครอบคลุมและชัดเจน ดังนั้นจึงมีการพุ่งโจมตีเป้าหมายอย่างคลุมเครือโดยมิได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าอะไรคือการก่อการร้าย พฤติกรรมใดบ้างที่เข้าข่ายการก่อการร้าย และบุคคลใด กลุ่มใด หรือรัฐใดที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายบ้าง
โจทย์ทั้งหมดนั้นในระดับนานาชาติเองก็ยังไม่มีคำตอบและคำจำกัดความอย่างชัดเจน มีบางคนกล่าวว่า การละเลยต่อการจำกัดความหมายของคำว่าก่อการร้ายให้ชัดเจนนั้น เป็นเจตนาอยู่แล้ว เนื่องจากมีผลประโยชน์บางอย่างแอบแฝงอยู่
อย่างไรก็ตามการสู้รบโจมตีเป้าหมายในระดับสากล โดยไม่มีความชัดเจนนั้น ถือว่าเป็นการสู้รบกับกลุ่มเป้าหมายที่ไร้ตัวตน ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เรามีข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับการก่อสงครามกับก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น บางครั้งมีการโจมตีเป้าหมายผู้บริสุทธิ์ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ในกรณีนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งกับผู้ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตยของตนเอง ในขณะเดียวกันมีการปล่อยปละละเลยให้อีกฝ่ายหนึ่งก่ออาชญากรรม สร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดินโดยไม่มีผู้ใดทักท้วงและคัดค้าน และไม่มีผู้ใดกล้ากล่าวหาพวกเขาคือผู้ก่อการร้าย ทั้ง ๆ ที่พวกเข้านั้นมีพฤติกรรมเข้าข่ายการก่อการร้ายอย่างชัดเจน
ในศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้เราใช้ศัพท์ที่มีความคลุมเครือ หรือคำที่สามารถตีความได้หลายแง่หลายความหมาย โดยไม่สามารถแยกแยะว่าต้องการสื่อถึงความหมายใดที่แน่นอน เนื่องจากศาสนาอิสลามถูกประทานมาด้วยความชัดเจน ตรงไปตรงมา และสัจจริง ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَكُونُواْ مَعَ ٱلصَّٰدِقِينَ﴾ [التوبة : 119]
ความว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงอยู่อยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่พูดจริง”  (อัต-เตาบะฮฺ :119)

ศาสนาอิสลามของเราถูกประทานมาด้วยความยุติธรรม ดังนั้นเราไม่สามารถอ้างความโกรธเคืองของเราเพื่อเอาไปสร้างความเดือดร้อนกับชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แม้กระทั่งการใช้คำเรียกขานด้วยฉายาต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความจริงพวกเขาก็ตาม อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَلَا يَجۡرِمَنَّكُمۡ شَنََٔانُ قَوۡمٍ عَلَىٰٓ أَلَّا تَعۡدِلُواْۚ ٱعۡدِلُواْ هُوَ أَقۡرَبُ لِلتَّقۡوَىٰۖ﴾ [المائدة : 8]
ความว่า “และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า”  (อัล-มาอิดะฮฺ : 8)

อิสลามสอนเราว่า บุคคลหนึ่งไม่สามารถแบกรับบาปแทนกันได้ นั้นหมายถึง เราไม่สามารถลงโทษบุคคลที่ไม่มีความผิดได้ อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿وَلَا تَزِرُ وَازِرَةٞ وِزۡرَ أُخۡرَىٰۚ﴾ [الأنعام : 164]
ความว่า “และไม่มีผู้แบกภาระคนใดจะแบกภาระของผู้อื่นได้” (อัล-อันอาม :164)

ดังนั้นในศาสนาอิสลามมีความชัดเจนมากในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากเราพบว่าหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ อิบาดะฮฺ (การประกอบศาสนกิจ) มุอามะลาต (การปฏิสัมพันธ์) และกฎหมายครอบครัว ฯลฯ ในบทบัญญัติอิสลามนั้นมีความชัดเจนอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุผลข้างต้น ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า ด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าของบรรดามุสลิมในศาสนาอิสลาม พวกเขาเรียกร้องให้มีการกำหนดนิยามคำว่า “การก่อการร้าย” ให้ชัดเจน และเป็นไปไม่ได้ที่มุสลิมจะยินยอมปล่อยให้คำนี้มีความคลุมเครืออีกต่อไป เนื่องในศาสนาอิสลามห้ามการกระทำดังกล่าว
เราทราบในความเป็นจริงอย่างดีว่า สาเหตุที่มีการจงใจละเลยไม่ให้มีความชัดเจนในการจำกัดความหมายของศัพท์บางคำ และปล่อยให้เกิดความคลุมเครือนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่ศาสนาอิสลามของเราไม่อนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากในอิสลามไม่มีการฉ้อโกง การหักหลัง การโกหก และตลบตะแลง แต่อิสลามคือศาสนาที่ชัดเจน สัจจริง และต้องมีหลักฐานที่ชัดแจ้ง
หากเราต้องการที่จะให้คำนิยามหรือคำจำกัดความของคำว่าก่อการร้ายในเชิงวิชาการตามมุมมองของอิสลามแล้ว เราจะต้องเริ่มจากการค้นหารากศัพท์ของคำนี้ในเชิงภาษาเสียก่อน เนื่องจากศาสนาอิสลามมาพร้อมกับภาษาอาหรับ เมื่อพิจารณาถึงความหมายเดิมเชิงภาษาแล้ว ให้พิจารณาการนำคำเหล่านั้นไปใช้ในทางศาสนาต่อไป โดยอาศัยหลักฐานต่าง ๆ มาประกอบ
และสิ่งที่เราควรคำนึง ก็คือ ในคำศัพท์หนึ่งคำนั้น มีองค์ประกอบอยู่ 3 องค์ประกอบคือ 1) ข้อเท็จจริงทางภาษา 2) ข้อเท็จจริงทางศาสนา 3) ข้อเท็จจริงทางจารีต
ดังนั้น เมื่อเราเมื่อเราต้องการทราบความหมายของคำศัพท์ หรือประโยคหนึ่งเราต้องค้นหาความหมายเชิงภาษาก่อน โดยยึดทัศนะของปราชญ์ภาษาอาหรับเป็นหลัก หากเราต้องการค้นหาความหมายในเชิงวิชาการศาสนา ก็จะต้องยึดทัศนะของปราชญ์ศาสนาเป็นหลัก และหากต้องการค้นหาความหมายทางจารีต ก็ต้องสังเกตจากการที่คนทั่วไปใช้คำเหล่านั้นว่าหมายถึงอะไร
คำว่า “การก่อการร้าย” ในภาษาอาหรับคือ อัล-อิรฮาบ มาจากรากคำ( ر هـ ب )  เราะอ์ ฮาอ์ บาอ์
อิบนุ ฟาริสกล่าวว่า คำนี้มีความหมายเดิมอยู่สองความหมายคือ 1) สิ่งที่ชี้ถึงความกลัว 2) สิ่งที่ชี้ถึงความละเอียดอ่อนและซ่อนเร้น
ความหมายแรก คือ ความกลัว เช่น คำกล่าว (رهبت الشيء رهبا ورهبا ورهبة)   ฉันกลัวต่อสิ่งหนึ่ง  
คำว่า (التَرَهُّب) อัต-ตะร็อฮฮุบ  หมายถึง การประกอบศาสนกิจ และส่วนหนึ่งของคำว่า (الإِرْهَاب)  อัล-อิรฮาบ  คือ การกันอูฐให้ออกจากแอ่งน้ำ
ในหนังสือลิสาน อัล-อะร็อบ (พจนานุกรมภาษาอาหรับ) คำว่า  (رَهِبَ) เราะฮิบะ  โดยพยัญชนะฮาอ์ มีสระกัสเราะฮฺข้างล่าง คือ ความกลัว
คำว่า (ورهب الشيء)  ร็อฮฮิบะ อัช-ชัยอฺ  คือ ทำให้หวาดกลัวต่อสิ่งหนึ่ง
คำว่า(أَرْهَبَهُ)   อัรฮะบะฮุ  คือ สร้างความตื่นตระหนกแก่เขา
สรุปแล้วรากศัพท์ของคำว่า อัล-อิรฮาบ มีความหมายเกี่ยวข้องกับความกลัว หรือสร้างความหวาดกลัว ซึ่งความหมายของคำนี้ไม่ได้ชี้ว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือเลวแต่อย่างใด ความกลัวหรือการสร้างความหวาดกลัวไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่น่าตำหนิหรือน่าชมเชยแต่อย่างใด เพราะเมื่อใดที่มนุษย์เกิดอาการกลัวต่อสัตว์ดุร้าย อันนี้คือความกลัวที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่สมควรตำหนิในความกลัวดังกล่าว เช่นเดียวกัน มนุษย์มีความกลัวเมื่อมีผู้อื่นจะทำร้ายร่างกายของเขา เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นสัญชาติญาณของมนุษย์และสัตว์  อัลลอฮฺได้ให้ทุกสรรพสิ่งมีความรู้สึกโดยสัญชาติญาณที่จะปกป้องตนเองจากภยันตรายที่ตนเองประสบ ดังที่พระองค์ได้ตรัสในสูเราะฮฺ ฏอฮา อายะฮฺที่ 50
﴿ٱلَّذِيٓ أَعۡطَىٰ كُلَّ شَيۡءٍ خَلۡقَهُۥ ثُمَّ هَدَىٰ﴾ [طه : 50]
ความว่า “(อัลลอฮฺ) คือ ผู้ทรงประทานทุกอย่างแก่สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างแล้วพระองค์ก็ทรงชี้แนะแนวทางให้” (ฏอฮา :50)
พฤติกกรมกลัวจะแสดงออกมาเมื่ออยู่ในภาวะอันตราย ซึ่งเราไม่สามารถที่จะไปตำหนิได้
ส่วนความหมายเชิงวิชาการศาสนานั้น เราพบว่าคำนี้ (อัล-อิรฮาบ) ไม่ปรากฏในหลักฐานทางศาสนา นอกจากรากคำที่มีพยัญชนะสามตัวอักษร และคำที่ผันมาจากคำเดิมที่มีพยัญชนะสี่ตัวอักษร ดังคำดำรัสของอัลลอฮฺ
﴿وَأَوۡفُواْ بِعَهۡدِيٓ أُوفِ بِعَهۡدِكُمۡ وَإِيَّٰيَ فَٱرۡهَبُونِ﴾ [البقرة : 40]
ความว่า “และจงปฏิบัติ ตามสัญญาของข้าให้ครบ แล้วข้าจะปฏิบัติตามสัญญาที่ทำกับพวกสูเจ้าให้ครบด้วย และเฉพาะข้าเท่านั้นที่พวกสูเจ้าต้องเกรงกลัว” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 40 )

﴿وَلَمَّا سَكَتَ عَن مُّوسَى ٱلۡغَضَبُ أَخَذَ ٱلۡأَلۡوَاحَۖ وَفِي نُسۡخَتِهَا هُدٗى وَرَحۡمَةٞ لِّلَّذِينَ هُمۡ لِرَبِّهِمۡ يَرۡهَبُونَ﴾ [الأعراف : 154]
ความว่า “และเมื่อความกริ้วโกรธได้สงบลงจากตัวของมูซา เขาก็เอาบรรดาแผ่นจารึกนั้นไป และในสิ่งที่ถูกจารึกไว้ในนั้นมีคำแนะนำและความเอ็นดูเมตตาแก่บรรดาผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้าของพวกเขา” (อัล-อะอฺร็อฟ :154)
﴿وَقَالَ ٱللَّهُ لَا تَتَّخِذُوٓاْ إِلَٰهَيۡنِ ٱثۡنَيۡنِۖ إِنَّمَا هُوَ إِلَٰهٞ وَٰحِدٞ فَإِيَّٰيَ فَٱرۡهَبُونِ﴾ [النحل : 51]
ความว่า “และอัลลอฮฺตรัสว่า พวกเจ้าอย่ายึดถือพระเจ้าสององค์ แท้จริงพระองค์คือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เฉพาะข้าเท่านั้นที่พวกเจ้าต้องเกรงกลัว” (อัน-นะหฺล : 51)

﴿إِنَّهُمۡ كَانُواْ يُسَٰرِعُونَ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِ وَيَدۡعُونَنَا رَغَبٗا وَرَهَبٗاۖ﴾ [الأنبياء : 90]
ความว่า “แท้จริง พวกเขาแข่งขันกันในการทำความดีและพวกเขาวิงวอนขอด้วยความหวังที่มีต่อเราและด้วยความเกรงกลัวต่อเรา” (อัล-อันบิยาอ์ : 90 )

ทั้งหมดคือหลักฐานที่ชี้ถึงการให้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และเป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการกระทำเช่นนั้นเนื่องจากเป็นการภักดีประเภทหนึ่ง ส่วนคำที่ใกล้เคียงกับคำว่า อัล-อิรฮาบ มากที่สุด คือคำในอายะฮฺต่อไปนี้
﴿وَأَعِدُّواْ لَهُم مَّا ٱسۡتَطَعۡتُم مِّن قُوَّةٖ وَمِن رِّبَاطِ ٱلۡخَيۡلِ تُرۡهِبُونَ بِهِۦ عَدُوَّ ٱللَّهِ وَعَدُوَّكُمۡ﴾ [الأنفال : 60]
ความว่า “และพวกเจ้าจงเตรียมไว้สำหรับ (ป้องกัน) พวกเขา ด้วยสิ่งที่พวกเจ้าสามารถเตรียมไว้ได้ อันได้แก่กำลังอย่างหนึ่งอย่างใด และการผูกม้าไว้พร้อมใช้งาน โดยที่พวกเจ้าทำให้ศัตรูของอัลลอฮฺและศัตรูของพวกเจ้าหวั่นเกรงด้วยสิ่งนั้น” (อัล-อันฟาล : 60 )

อิบนุญะรีรฺ อัฏ-เฏาะบะรีย์ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า คำนี้มีการไปใช้โดยกล่าวว่า
أَرْهَبْت الْعَدُوّ وَرَهَّبْته ، فَأَنَا أُرْهِبهُ وَأُرَهِّبهُ إِرْهَابًا وَتَرْهِيبًا ، وَهُوَ الرَّهَب وَالرُّهْب
อันหมายถึง การทำให้ศัตรูเกิดความหวาดกลัว ซึ่งมีนักกวีอาหรับท่านหนึ่งนามว่า ฏุฟัยลฺ อัล-เฆาะนะวีย์ กล่าวว่า
وَيْل أمّ حَيّ دَفَعْتُمْ فِي نُحُورهمْ          بَنِي كِلَاب غَدَاة الرُّعْب وَالرَّهَب
ความว่า "ความพินาศย่อมประสบแก่กลุ่มชนใดก็ตาม ที่ถูกชนเผ่ากิลาบบุกเข้าโจมตีในเช้าแห่งความตื่นตระหนกและหวาดกลัว" (กวีผู้นี้ได้ชื่นชมชนเผ่ากิลาบที่มีความกล้าหาญในการทำสงคราม เป็นที่หวาดกลัวของศัตรู)
และท่านได้อธิบายความหมายของอายะฮฺอัลกุรอานข้างต้นว่า "และพวกเจ้าจงตระเตรียมสรรพกำลังเต็มความสามารถ สำหรับต่อสู้กับผู้ปฏิเสธศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งระหว่างพวกเจ้ากับพวกเขาเหล่านั้นมีพันธะสัญญา และพวกเจ้าเกรงว่าพวกเขาอาจจะบิดพลิ้วสัญญานั้นเมื่อไรก็ได้”
คำว่า "เต็มความสามารถที่จะตระเตรียมได้" ก็คือ การเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ สัตว์พาหนะ เช่น ม้า เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่ศัตรูของพวกท่านและศัตรูของอัลลอฮฺ อีกนัยหนึ่งหมายถึงการสร้างหวาดกลัวแก่พวกที่เป็นศัตรูกับพวกเจ้าและเป็นศัตรูกับอัลลอฮฺ จากบรรดาผู้ตั้งภาคีกับพระองค์ ด้วยการที่พวกเจ้าตระเตรียมกองกำลังให้พร้อมอยู่เสมอ
จากจุดนี้จะเห็นว่าวัตถุประสงค์หลักของการตระเตรียมสรรพกำลังและการแสดงแสนยานุภาพทางทหารก็คือการสร้างความหวาดกลัวแก่บรรดาศัตรูที่คิดจะมาทำร้ายเรา หรือบิดพลิ้วสนธิสัญญาของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ศาสนากำหนดไว้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่จะละเลยในเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านทหาร เพราะหากละเลยในเรื่องดังกล่าวแล้วนั้นหมายถึงการยอมสวามิภักดิ์ต่ออริราชศัตรูที่จะมาบุกรุกอธิปไตยประเทศของตน ในที่สุดประเทศนั้นอาจจะตกอยู่ใต้อาณัติของประเทศอื่นอย่างง่ายดาย
สำหรับบทบัญญัติของอิสลามแล้ว การละเลยในประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเป็นการกระทำที่ขัดกับปัญญา และขัดกับระเบียบปฏิบัติของนานาประเทศ ที่ระบุถึงการปกป้องชีวิตจากภัยคุกคาม สิ่งนี้ชี้ว่าเป็นจารีตปฏิบัติของทุกประชาชาติบนโลกใบนี้ ในกฎบัตรสหประชาชาติ หมวดที่ 7 มาตรา 51 ระบุว่า
"ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะลิดรอนสิทธิประจำตัวในการป้องกันตนเองโดยลำพังหรือโดยร่วมกัน หากการโจมตีด้วยกำลังอาวุธบังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ..."
นั่นหมายถึง สิทธินี้ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะคัดค้านได้ และจากนี้เองทำให้รู้ได้ว่าคำว่า อัล-อิรฮาบ (การก่อการร้าย) ไม่มีที่มาตั้งแต่แรกในศาสนาอิสลาม แต่เป็นคำที่ใช้กันโดยผันจากรากศัพท์เดิม ดังนั้นจึงไม่พบนิยามก่อการร้ายเชิงวิชาการของอิสลาม แม้ว่าความหมายเชิงภาษาจะมีความชัดเจนก็ตาม คือ การสร้างความหวาดกลัว และการที่ศัพท์นี้ไม่มีนิยามในเชิงวิชาการศาสนานั้น มิได้หมายถึงศาสนาของเรามีความบกพร่องในการอธิบายปัญหาหาการก่อการร้ายแต่อย่างใด  แท้จริงแล้วศาสนาอิสลามได้อธิบายในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งเราจะได้อธิบายต่อไป อินชาอัลลอฮฺ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ชัดเจน เราไม่สามารถที่จะมากำหนดคำนิยามสำหรับคำศัพท์ที่ไม่มีที่มาแต่เดิมในศาสนา ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะกำหนดข้อตัดสิน (หุก่ม) ตลอดจนบทลงโทษโดยพลการได้ แต่กระนั้นก็ตามข้อเท็จจริงความหมายทางภาษาของศัพท์นี้ (อัล-อิรฮาบ) ชัดเจนมาก นั่นคือการสร้างความหวาดกลัว หรือความตื่นตระหนก ส่วนที่เหลือคือนิยามตามจารีต ซึ่งเราสามารถเสนอเฉพาะบางคำนิยาม เพราะยังไม่มีอะไรสรุปออกมาชัดเจนเท่าใดนัก
1. พจนานุกรมการเมืองระบุว่า การก่อการร้าย หมายถึงการใช้ความรุนแรงนอกกฎหมาย หรือขมขู่คุกคามด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การลอบสังหาร การทรมาน การทำลายเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองบางอย่าง เช่นเพื่อให้บุคคลหรือองค์กรเสียขวัญในการต่อต้านอำนาจ หรือเพื่อเป็นวิธีการเพื่อได้มาซึ่งข้อมูล หรือทรัพย์สิน และอาจกล่าวโดยรวมคือการบังคับขู่เข็ญอีกฝ่ายหนึ่งให้ยอมสวามิภักดิ์ต่ออำนาจของฝ่ายที่ก่อการร้าย
2. สารานุกรมอาหรับนานาชาติ ระบุว่า การก่อการร้ายคือการใช้ความรุนแรง หรือขมขู่เพื่อให้เกิดความหวาดกลัว
3.พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด (The Oxford Dictionary) ระบุว่าผู้ก่อการร้าย คือผู้ที่ใช้ความรุนแรงอย่างมีระบบเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าประสงค์ทางการเมือง
เมื่อพิจารณาจากคำนิยามทั้งหลายแล้วพบว่าคำนิยามดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับคำนิยามเชิงภาษาเท่านั้นคือ การเจตนาสร้างความน่ากลัว หรือทำให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ทว่ายังมีบางคำในนิยามนั้นยังไม่การจำกัดความที่ชัดเจน เช่นคำว่า นอกกฎหมาย หรือ คำว่า ฝ่ายหนึ่ง
ในนิยามแรกที่ระบุคำว่า "กฎหมาย"  แล้วเราจะใช้กฎหมายฉบับใด กฎหมายของประเทศไหน หากแม้นว่าตรงกับกฎหมายของทุกประเทศ แล้วก่อการร้ายระดับสากลเราต้องใช้กฎหมายฉบับใดมาบังคับ
ส่วนคำว่า ฝ่ายหนึ่ง บางทีฝ่ายก่อการร้ายอาจกล่าวปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้เป็นฝ่ายก่อการการร้าย ตกลงใครที่เป็นฝ่ายแรก ? หรือว่าทุกฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับอีกฝ่ายจะถือว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเสมอไปเช่นนั้นหรือ? และยังมีคำอื่น ๆ อีกที่มิได้จำกัดความอย่างชัดเจน
ในคำนิยามที่สอง ถามว่าทุก ๆ เหตุการณ์ความรุนแรงที่ทำให้กลัว ถือว่าเป็นก่อการร้ายใช่หรือไม่ ? แน่นอนคำตอบคือ ไม่ เพราะการเห็นความรุนแรงสยดสยองที่เราพบเห็นทุกวันก็ไม่ได้เรียกว่าก่อการร้ายเสมอไป
เช่นเดียวกับคำนิยามตามที่ปรากฏในพจนานุกรมของออกซ์ฟอร์ด ก็ถือว่ายังไม่สมบูรณ์ครอบคุลม เพราะว่าบางครั้งเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้ก่อการมิได้มีเจตนาเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองก็ได้
ดังนั้น ทุกคนต่างเห็นพ้องว่า ก่อการร้าย คือ การเจตนาสร้างความหวาดกลัว แต่กระทำถึงระดับไหน วิธีการเป็นเช่นได ยังเป็นข้อถกเถียงกันซึ่งยังไม่สามารถกำหนดคำนิยามร่วมกันที่ทุกฝ่ายยอมรับ
ส่วนคำว่าก่อการร้ายเริ่มปรากฏเมื่อใดนั้น ตามพจนานุกรมสากลแล้ว คำนี้เกิดขึ้นหลังปฏิวัติในฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1789 -1799 ตอนผู้ประท้วงได้ยึดครองอำนาจในฝรั่งเศส พวกเขาได้ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับพวกเขา ดังนั้นในสมัยนั้นจึงรู้จักกันว่า สมัยการปกครองของพวกก่อการร้าย หลังจากนั้นก็มีเหตุก่อการร้ายและ กลุ่มก่อการร้ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นกลุ่มต่อไปนี้
กลุ่มคูคลักซ์แคลน[1] เป็นกลุ่มก่อการร้ายในอเมริกา ที่ใช้ความรุนแรงกับอเมริกันชนผิวสี ตลอดจนผู้ที่ให้ความเห็นใจกับคนผิวสี
กองพลน้อยแดงอิตาลี (Red Brigades) กลุ่มกองทัพแดงในเยอรมันทั้งสองกลุ่มนี้เกิดขึ้นใน ประมาณปี ค.ศ. 1960 ในศตวรรษที่ 20
ทั้งสองกลุ่มดังกล่าวนั้นมีจุดมุ่งหมายหลักคือทำลายระบบการเมืองการปกครอง ตลอดจนระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่ในประเทศของตนเพื่อจะนำระบบใหม่มาแทนที่
ชาวยิวเองก็มีองค์กรลับมากมาย ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อตั้งขึ้นก่อนที่ชาวยิวจะเข้ายึดครองปาเลสไตน์  เช่น องค์กรฮาฆอนาฮ์ (Haganah) ฮาโชเมอร์ (Hashomer) ปาลมาค (Palmach) เออร์ฆูน  (Irgun) ชิตร็อน หรือเลฮี (Lehi) และกาค (Kach)
ส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียงในการใช้ความรุนแรงปราบปรามศัตรูทางการเมืองของตน เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์(Adolf Hitler) เบนิโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini) และโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) แห่งสหภาพโซเวียต
จากประวัติศาสตร์ข้างต้นสามารถสรุปได้ดังนี้
1. คำว่า ก่อการร้ายได้ปรากฏขึ้นในช่วงตอนปลายของศตวรรษที่ 18 ในขณะที่ศาสนาอิสลามถือกำเนิดก่อนการเกิดคำศัพท์มายาวนานถึง 12 ศตวรรษ
2.  ผู้ที่ใช้ศัพท์คำว่าก่อการร้าย คนแรกในประวัติศาสตร์ คือชาวตะวันตก(ชาวยุโรป) หาใช่เป็นชาวอาหรับหรือชาวมุสลิมแต่อย่างใด
3. ประวัติหรือลำดับเหตุการณ์ของการกำเนิดและวิวัฒนาการของศัพท์ก่อการร้ายนั้นถูกบันทึกว่าผู้ก่อการร้ายทั้งหมดนั้นมิใช่ชาวมุสลิมเลย และไม่ใช่ชาวอาหรับด้วย
4. การที่มีกลุ่มหรือบุคคลทีที่เป็นชาวมุสลิม แต่มีพฤติกรรมสอดคล้องกับนิยามก่อการร้ายนั้น ไม่ได้หมายถึงว่าศาสนาของเขาเป็นสาเหตุให้เขากลายเป็นผู้ก่อการร้าย เรื่องนี้เราสามารถยืนยันด้วยประวัติศาสตร์และสติปัญญา เพราะหากเรายอมรับว่าอิสลามคือสาเหตุของการก่อการร้ายตามที่กล่าวอ้างแล้ว ทั้ง ๆ ที่ศาสนาอิสลามมีก่อนการเกิดขึ้นของศัพท์เหล่านี้ประมาณ 1,400 กว่าปี ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่าโลกนี้เต็มไปด้วยการก่อการร้ายที่ยาวนานมีระยะเวลาถึง 1,400 กว่าปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นับประสาอะไรที่จะไปเชื่อถือเช่นนั้น
แต่ตามที่เราทราบนั้นศาสนาอิสลามได้กำหนดการกระทำที่เป็นอาชญากรรมรุนแรง และการการกระทำที่เป็นบาปมหันต์มานานกว่า 1,400 ปีมาแล้ว ในขณะที่กฎหมายภายหลังเพิ่งระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการก่อการร้าย ซึ่งแสดงว่าอิสลามได้มีกำหนดวิธีการปราบปรามและป้องกันการก่อการร้ายมาก่อนกฎหมายใด ๆ ที่มีอยู่บนโลก
และการกระทำดังกล่าวมีดังเช่นต่อไปนี้
1. การฆ่าผู้บริสุทธิ์โดยเจตนา การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างยิ่งในอิสลาม และการลงโทษสำหรับผู้ก่ออาชญากรรมนี้คือประหารชีวิต ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอานว่า
  ﴿ مِنۡ أَجۡلِ ذَٰلِكَ كَتَبۡنَا عَلَىٰ بَنِيٓ إِسۡرَٰٓءِيلَ أَنَّهُۥ مَن قَتَلَ نَفۡسَۢا بِغَيۡرِ نَفۡسٍ أَوۡ فَسَادٖ فِي ٱلۡأَرۡضِ فَكَأَنَّمَا قَتَلَ ٱلنَّاسَ جَمِيعٗا ﴾ [المائ‍دة: ٣٢] 
ความว่า “เนื่องจากเหตุนั้นแหละ เราจึงได้บัญญัติแก่วงศ์วานอิสรออีลว่า แท้จริงผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิใช่เป็นการชดเชยอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เนื่องจากการบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้วก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล” (อัล-มาอิดะฮฺ :32)
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلۡقِصَاصُ فِي ٱلۡقَتۡلَىۖ ﴾ [البقرة : 178]
ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! อัล-กิศ็อศ (การประหารฆาตกรให้ตายตามในกรณีที่มีผู้ถูกฆ่าตาย)นั้นได้ถูกกำหนด แก่พวกเจ้าแล้ว” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 178)

﴿وَمَن يَقۡتُلۡ مُؤۡمِنٗا مُّتَعَمِّدٗا فَجَزَآؤُهُۥ جَهَنَّمُ خَٰلِدٗا فِيهَا﴾ [البقرة : 93]
ความว่า “และผู้ใดฆ่าผู้ศรัทธาโดยจงใจ การตอบแทนแก่เขาก็คือ นรกญะฮันนัม โดยที่เขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล” (อัน-นิสาอ์ : 93)

﴿وَلَا تَقۡتُلُواْ ٱلنَّفۡسَ ٱلَّتِي حَرَّمَ ٱللَّهُ إِلَّا بِٱلۡحَقِّۚ﴾ [الأنعام : 151]
ความว่า “และอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น” (อัล-อันอาม:151 )
           
2. การสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน ด้วยการปล้นสะดม การสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คนที่อยู่อย่างสงบสันติ ซึ่งรวมถึงการวางระเบิด การจี้เครื่องบิน เรือ รถไฟ หรือพาหนะโดยสารชนิดต่าง ๆ การกระทำเช่นนี้ในอิสลามถือว่าเป็นบาปที่มหันต์ และต้องได้รับโทษอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการประหารชีวิต การตัดมือ หรือเท้า หรือจำคุก นอกจากในวันกิยามะฮฺเขาผู้นั้นต้องรับโทษจากอัลลอฮฺอีกด้วย ดังที่อัลลอฮตรัสว่า
﴿إِنَّمَا جَزَٰٓؤُاْ ٱلَّذِينَ يُحَارِبُونَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ وَيَسۡعَوۡنَ فِي ٱلۡأَرۡضِ فَسَادًا أَن يُقَتَّلُوٓاْ أَوۡ يُصَلَّبُوٓاْ أَوۡ تُقَطَّعَ أَيۡدِيهِمۡ وَأَرۡجُلُهُم مِّنۡ خِلَٰفٍ أَوۡ يُنفَوۡاْ مِنَ ٱلۡأَرۡضِۚ ذَٰلِكَ لَهُمۡ خِزۡيٞ فِي ٱلدُّنۡيَاۖ وَلَهُمۡ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ عَذَابٌ عَظِيمٌ﴾ [المائدة : 33]
ความว่า “แท้จริงการตอบแทนแก่บรรดาผู้ที่ทำสงครามต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และพยายามบ่อนทำลายในแผ่นดิน ก็คือการที่พวกเขาจะถูกฆ่า หรือถูกตรึงบนไม่กางเขน หรือมือของพวกเขาและเท้าของพวกเขาจะถูกตัดสลับข้าง หรือถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดิน เหล่านั้นคือความอัปยศที่พวกเขาจะได้รับในโลกนี้ และพวกเขาจะได้รับการลงโทษอันใหญ่หลวงในปรโลก” (อัล-มาอิดะฮฺ : 33)

3. ความพยายามเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองที่มีความชอบธรรมด้วยวิธีการที่รุนแรง การก่อการเช่นนี้ถือเป็นบาปมหันต์อย่างหนึ่งและบทลงโทษ คือการประหารชีวิต ท่านบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَنْ أَتَاكُمْ وَأَمْرُكُمْ جَمِيعٌ عَلَى رَجُلٍ وَاحِدٍ يُرِيدُ أَنْ يَشُقَّ عَصَاكُمْ أَوْ يُفَرِّقَ جَمَاعَتَكُمْ فَاقْتُلُوهُ»
ความว่า “ผู้ใดที่ก่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง (เพื่อให้อำนาจพวกท่านกระทบกระเทือน หรือต้องการให้พวกท่านแตกแยกในหมู่คณะ) ในขณะที่พวกท่านมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อผู้นำคนหนึ่งอยู่แล้ว ก็จงประหารชีวิตผู้ก่อการเช่นนั้น” (บันทึกโดยมุสลิม บทว่าด้วย อัล-อิมาเราะฮฺ (การปกครอง) เลขที่หะดีษ 1852 และอะหฺมัด 4/341)

            นี้คือกลไกที่อิสลามพยายามพิทักษ์ปกป้องระบบของสังคมมุสลิมโดยรวม

            4. การลักขโมย บทลงโทษในศาสนาอิสลามคือการตัดมือผู้ที่ลักขโมยทรัพย์ผู้อื่น ดังที่ปรากฏในสูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 38 
﴿وَٱلسَّارِقُ وَٱلسَّارِقَةُ فَٱقۡطَعُوٓاْ أَيۡدِيَهُمَا جَزَآءَۢ بِمَا كَسَبَا نَكَٰلٗا مِّنَ ٱللَّهِۗ وَٱللَّهُ عَزِيزٌ حَكِيمٞ﴾ [المائدة : 38]
ความว่า “ขโมยชายและขโมยหญิงนั้นจงตัดมือของเขาทั้งสองคน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่ทั้งสองนั้นได้แสวงหาไว้ (และ) เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างการลงโทษจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพ ทรงปรีชาญาณ”

            และยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเราพบว่าบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้านั้นเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับทั่วพื้นแผ่นดินนี้ กับผู้คนที่แตกต่างทางฐานะ ภูมิประเทศ ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งเมื่อใดที่บทบัญญัติของอัลลอฮฺถูกนำมาใช้ก็จะนำมาซึ่งความสันติสุขแก่มวลมนุษย์ทุกคน
ด้วยเหตุนี้เอง ที่ประชุมสภานิติศาสตร์อิสลาม จัดโดยองค์กรสันนิบาตโลกอิสลาม ครั้งที่ 16 ปี ฮ.ศ. 1422 ณ เมืองมักกะฮฺ จึงได้มีมติกำหนดคำนิยามก่อการร้าย คือ “การก่อเหตุร้ายที่กระทำโดยบุคคล กลุ่มองค์กร หรือรัฐ ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา สติปัญญา ทรัพย์สิน หรือเกียรติยศ ซึ่งรวมถึงการก่อให้เกิดความกลัว การสร้างความเดือดร้อน การข่มขู่ หรือการคร่าชีวิตโดยไม่ชอบธรรม และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกองโจร ซุ่มทำร้าย ปล้นสะดมตามเส้นทางสัญจร และทุกการกระทำที่รุนแรง หรือการข่มขู่ที่กระทำโดยตัวบุคคลหรือกลุ่มองค์กร เพื่อให้ผู้คนทั่วไปเกิดความหวาดกลัว สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิต ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และทำให้สถานการณ์อยู่ในภาวะอันตราย เช่นเดียวกับการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือระบบสาธารณูปโภคของส่วนบุคคลหรือส่วนรวม หรือทำอันตรายต่อทรัพยากรของชาติหรือที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งหมดเป็นรูปแบบของการบ่อนทำลายบนหน้าแผ่นดินที่อัลลอฮฺได้ห้ามมวลมุสลิมกระทำการเช่นนั้น”
คำนิยามนี้ถือว่าเป็นนิยามของการก่อการร้ายที่สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด
และอีกประการหนึ่งที่เราควรระมัดระวัง คือ ความพยายามที่จะลบล้างคำศัพท์เฉพาะของศาสนาอิสลามที่ปรากฏในอัลกุรอาน เช่นคำว่า ญิฮาด (การต่อสู้) ในหนทางของอัลลอฮฺ อัล-วะลาอ์ (ความรักและภักดีต่อมุสลิม) และ อัล-บะเราะอ์ (การตัดขาดจากผู้ปฏิเสธศรัทธา)และคำอื่น ๆ อีกมากมาย
มีบางประเทศและบางคนที่เรียกร้องให้มีการลบล้างคำศัพท์เหล่านั้นในหลักสูตรการศึกษาและการใช้ชีวิตประจำวัน พวกเขาพยายามกดดันให้มีการลบศัพท์เหล่านั้นด้วยเหตุผลเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายและเผยแพร่ความเอื้ออาทรต่อกัน แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่าการกระทำของเขาเป็นสาเหตุสำคัญที่จะให้การก่อการร้ายเผยแพร่มากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการแทรกแซงในศาสนาที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมาแก่มวลมนุษยชาติ พระองค์ทรงพอพระทัยและยินยอมให้อิสลามเป็นศาสนา การแทรกแซงเช่นนี้ถือเป็นการก่อร้ายทางความคิดและความเชื่ออย่างรุนแรงที่สุด
2. คำศัพท์เฉพาะทางศาสนาเหล่านี้แม้นว่าจะพยายามสุดความสามารถในการที่จะลบล้าง แต่ทว่าคำเหล่านั้นจะคงอยู่อย่างนิจนิรันดร์ เนื่องจากเป็นคำที่ชาวมุสลิมและผู้ปฏิเสธศรัทธารู้จักกัน เนื่องจากศาสนาอิสลามและคัมภีร์อัลกุรอานคือสิ่งที่อัลลอฮฺรับประกันว่าพระองค์จะปกปักษ์รักษาชั่วกาลนาน 
﴿إِنَّا نَحۡنُ نَزَّلۡنَا ٱلذِّكۡرَ وَإِنَّا لَهُۥ لَحَٰفِظُونَ [الحجر : 9]
ความว่า “แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) ลงมา และแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน” (อัล-หิจญ์รฺ : 9)

ความพยายามที่จะลบล้างคำศัพท์ทางศาสนาและอิบาดะฮฺ จะไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้องบรรลุผลขั้นหนึ่งคือ พยายามกีดกั้นไม่ให้มีการศึกษาเกี่ยวกับคำเหล่านี้โดยตรง ทั้ง ๆ ที่ทราบกันดีว่าคำเหล่านี้จะคงอยู่ในอัลกุรอานและในใจของชาวมุสลิมอย่างถาวร ซึ่งเป็นความเชื่อมันที่ชาวมุสลิมยึดถือ นั่นหมายความว่า การกล่าวถึงคำเหล่านี้จะคงมีอยู่ต่อไป แต่จะมีคนบางกลุ่มฉวยโอกาสนี้ห้ามไม่ให้มีการศึกษาคำศัพท์เฉพาะเหล่านี้โดยข้ออ้างต่าง ๆ นานา ในที่สุดพวกเขาจะตีความคำศัพท์เหล่านี้ตามแนวคิดหรืออารมณ์ที่พวกเขาต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะมุสลิมไม่สามารถที่จะปฏิเสธคำศัพท์ที่ถูกต้องตามที่ปรากฏในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ อันเป็นพจนารถที่สัจจริงที่สุดและเป็นคัมภีร์ที่เที่ยงตรงที่สุด
ส่วนที่เหลือคือความหมายของคำศัพท์เหล่านั้น เมื่อมีการกีดกั้นไม่ให้อธิบายด้วยความหมายที่ถูกต้อง ความหมายที่เป็นเท็จก็จะปรากฏแทนที่โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ และเมื่อนั้นแหละมวลมนุษย์จะถูกคุกคามโดยก่อการร้ายอย่างยาวนานจนกว่าพวกเขาจะหันกลับออกมาจากจุดยืนอันเลวร้ายนั้น จุดยืนที่นำพาซึ่งความหายนะและความเสียหาย นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าจะเรียนถึงคำศัพท์เหล่านี้และสิ่งที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุของการเกิดการก่อการร้าย
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้าย ข้าพเจ้าขอสรุปพอสังเขปดังนี้
สาเหตุที่ 1 การหันหลังให้กับบทบัญญัติหรือกฎหมายของอัลลอฮฺ
และถือเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาการก่อร้ายอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ คือ การหันหลังให้กับบทบัญญัติหรือกฎหมายของอัลลอฮฺ มิได้นำมาบังคับใช้บนพื้นแผ่นดิน แท้จริงเมื่ออัลลอฮฺทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกใบนี้พระองค์ทรงรอบรู้เป็นอย่างดีว่าสิ่งไหนคือส่งที่เหมาะสมกับบ่าวของพระองค์ (รวมถึงกฎหมายด้วย) ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัล-มุลกฺ อายะฮฺที่ 14
﴿أَلَا يَعۡلَمُ مَنۡ خَلَقَ وَهُوَ ٱللَّطِيفُ ٱلۡخَبِيرُ﴾ [الملك : 14]
ความว่า “พระผู้ทรงสร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือ ? พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนผู้ทรงตระหนักยิ่ง”

อัลลอฮฺได้ประทานศาสนาอิสลามให้เป็นศาสนาสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุด เหมาะสมกับมวลมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับโลกนี้และโลกหน้า อัลลอฮฺจะรักษาศาสนานี้ดังที่พระองค์รักษาธรรมนูญของพระองค์เอง นั่นคือคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นพระพจนารถของพระผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก
และความจริงอีกประการหนึ่งซึ่งเราส่วนใหญ่อาจจะคิดไม่ถึง นั่นคือ เราในฐานะที่เป็นมุสลิม ทุกครั้งที่เราเรียกร้องให้มีการนำกฎหมายอิสลามมาใช้ในโลกนี้ มิได้หมายถึงว่าเรานั้นจะบังคับมนุษย์ทุกคนนับถือศาสนาอิสลาม นั่นไม่ใช่เป้าหมายของการเรียกร้องของเรา เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสอย่างชัดแจ้งแล้วว่า
﴿لَآ إِكۡرَاهَ فِي ٱلدِّينِۖ [البقرة: 256]
ความว่า “ไม่มีการบังคับกันในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 256 )

เรามีหน้าที่ต้องเชิญชวนและส่งเสริมมวลมนุษย์สู่ศาสนาอิสลาม แต่ทว่าเราไม่สามารถที่จะไปบีบบังคับผู้หนึ่งผู้ใดเข้ารับอิสลาม อัลลอฮฺตรัสในสูเราะฮฺ ยูนุส อายะฮฺ ที่ 99 ว่า
﴿وَلَوۡ شَآءَ رَبُّكَ لَأٓمَنَ مَن فِي ٱلۡأَرۡضِ كُلُّهُمۡ جَمِيعًاۚ أَفَأَنتَ تُكۡرِهُ ٱلنَّاسَ حَتَّىٰ يَكُونُواْ مُؤۡمِنِينَ﴾ [يونس : 99]
ความว่า “และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอน ผู้ที่อยู่ในแผ่นดินทั้งมวลจะศรัทธา เจ้าจะบังคับมวลชนจนกว่าพวกเขาจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ ?”

ณ จุดนี้ เราขอเรียกร้องให้ทุกรัฐบาลประเทศมุสลิมนำกฎหมายอิสลามมาใช้ในการปกครองบ้านเมือง เนื่องจากจะทำให้สังคมเกิดสันติสุข ผู้คนในยุคแรกของอิสลามได้ลิ้มรสของความสงบสุขภายใต้การปกครองที่มีความมั่นคง สังคมที่ปลอดภัย และความเจริญมั่งคั่งมากมาย ทั้งผู้ที่เป็นมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมล้วนแล้วได้รับอานิสงค์ภายใต้การปกครองของอิสลาม
อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงชี้แนะแก่เราวิธีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในเรื่องการปกครองและการพิพากษา พระองค์ตรัสว่า
﴿فَإِن جَآءُوكَ فَٱحۡكُم بَيۡنَهُمۡ أَوۡ أَعۡرِضۡ عَنۡهُمۡۖ وَإِن تُعۡرِضۡ عَنۡهُمۡ فَلَن يَضُرُّوكَ شَيۡ‍ٔٗاۖ وَإِنۡ حَكَمۡتَ فَٱحۡكُم بَيۡنَهُم بِٱلۡقِسۡطِۚ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُقۡسِطِينَ ٤٢ ﴾ [المائ‍دة: ٤٢] 
ความว่า "ถ้าหากพวกเขามาหาเจ้า ก็จงตัดสินระหว่างพวกเขา หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงพวกเขาเสีย และถ้าหากเจ้าหลีกเลี่ยงพวกเขา พวกเขาก็จะไม่ให้โทษแก่เจ้าได้แต่อย่างใดเลย และหากเจ้าจะตัดสิน ก็จงตัดสินระหว่างพวกเขา ด้วยความยุติธรรม แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ยุติธรรม" (อัล-มาอิดะฮฺ : 42)

การผินหลังให้กับบทบัญญัติหรือกฎหมายของอัลลอฮฺเป็นสาเหตุหลักให้มนุษย์หลงทาง มืดบอด และมีความทุกข์ ดังที่พวกเราต่างประสบอยู่ในปัจจุบัน อัลลอฮฺได้ตรัสในสูเราะฮฺ ฏอฮา อายะฮฺที่ 124
﴿وَمَنۡ أَعۡرَضَ عَن ذِكۡرِي فَإِنَّ لَهُۥ مَعِيشَةٗ ضَنكٗا وَنَحۡشُرُهُۥ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِ أَعۡمَىٰ﴾ [طه : 124]
ความว่า “และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงข้า แท้จริงสำหรับเขาคือการมีชีวิตอยู่อย่างคับแค้น และเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺ (วันปรโลก )ในสภาพของคนตาบอด”

ความเป็นอยู่ที่คับแค้นก็คือ ความทุกข์นั้นเอง
ดังนั้น การที่ระบบปกครองที่ห่างไกลจากบทบัญญัติอิสลามในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และอื่น ๆ (ซึ่งสิ่งเหล่านั้นศาสนาได้อธิบายอย่างชัดเจนและครบถ้วนสมบูรณ์)เป็นสาเหตุที่ให้เกิดความทุกข์ และหนึ่งในประเภทความทุกข์ก็คือ การก่อการร้าย

สาเหตุที่ 2 ความสุดโต่ง
            และส่วนหนึ่งจากสาเหตุของการเกิด การก่อการร้าย คือ ความสุดโต่ง นั่นคือ ความเกินเลยขอบเขตที่ได้กำหนด ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อันตรายอย่างยิ่งในทุกด้าน แม้ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาก็ตาม อิสลามได้เตือนระวังเกี่ยวกับความสุดโต่งในศาสนา ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า 
«إِيَّاكُمْ وَالْغُلُوَّ»   [رواه النسائي 3057، وابن ماجه 3029]
ความว่า “พวกท่านพึงระวัง การเกินเลยขอบเขตในศาสนา” (อัน-นะสาอีย์ 3057, อิบนุ มาญะฮฺ 3029)

«هَلَكَ الْمُتَنَطِّعُونَ» [رواه مسلم 2670]
ความว่า “บรรดาผู้ที่สุดโต่งเกินเลยขอบเขตทั้งในเรื่องศาสนาและทางโลกได้มีความวิบัติแล้ว” (มุสลิม 2670)

ความสุดโต่งบางครั้งเกิดขึ้นในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และบางครั้งเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านหรือต่อสู้กับศาสนา ซึ่งนับว่าเป็นความสุดโต่งที่ตรงข้ามกัน เป็นที่ทราบดีว่าทั้งสองฝ่ายจะขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดบุคคลที่มีแนวคิดสุดโต่ง เพราะความสุดโต่งที่มีมูลเหตุจูงใจจากการต่อต้านศาสนา จะทำให้เกิดปฏิกิริยาย้อนกลับและเกิดบุคคลที่มีความคิดสุดโต่งในศาสนา และในทางตรงข้ามก็เป็นเช่นนั้นด้วย
ศาสนาของอัลลอฮฺเป็นศาสนาที่อยู่ตรงกลางระหว่างความสุดโต่งกับความละเลย ประชาชาติอิสลามถือว่าเป็นประชาชาติสายกลางจากประชาชาชาติที่มีอยู่ทั้งหมด คนที่มีแนวคิดสุดโต่งในศาสนาเขาผู้นั้นมิได้ถือว่าเป็นบุคคลที่ยึดมั่นกับหลักคำสอนของศาสนาอย่างแท้จริง ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวถึงบุคคลประเภทนี้ว่า
«فَمَنْ رَغِبَ عَنْ سُنَّتِي فَلَيْسَ مِنِّي» متفق عليه .
ความว่า "ดังนั้นบุคคลใดที่ไม่ปรารถนาแบบฉบับของฉัน (เขาผู้นั้น) ก็ไม่ใช่พวกของฉัน" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 5063  และมุสลิม :1401 )

ส่วนผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับพวกสุดโต่งในศาสนา คือ พวกที่ต่อต้านศาสนาโดยสิ้นเชิงไปเลย พวกนี้คือพวกที่ไม่สนใจในเรื่องศาสนา ความสุดโต่งแบบนี้จะทำให้เกิดความสุดโต่งทางแนวคิด หรือเกิดกลุ่มที่ติดอาวุธ หรืออาจจะกลายเป็นสาเหตุของการขยายตัวความสุดโต่งแบบแรก เนื่องจากเป็นแรงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อแนวทางแบบหลังที่หลงผิดนั่นเสียเอง

สาเหตุที่ 3 การตีความที่ผิดพลาด
สาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้าย คือ การตีความที่ผิดพลาด ผู้ที่ก่อเหตุร้ายเขาจะไม่ลงมือกระทำการนั้นนอกจากจะต้องวางแผนเตรียมการ หรือพิจารณาไตร่ตรองล่วงหน้า โดยเฉพาะในด้านแนวคิด บางครั้งอาจจะเกิดข้อผิดพลาดในการเตรียมการ บางครั้งเขาประเมินสถานการณ์ผิดพลาด หรือขัดแย้งกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เป็นอยู่ หรือ ผู้ที่ก่อการนั้นกระทำไปตามอารมณ์ของตนเองโดยลืมสัจธรรมหรือแกล้งลืม แต่พยายามหาสารพัดเหตุผลเพื่อให้การก่ออาชญากรรมของเขานั้นมีความชอบธรรม และบางครั้งการตีความที่ผิดพลาดเกิดจากการให้ข้อมูลผิด ๆ จึงทำให้เกิดตัดสินใจที่ผิดพลาดจนสู่การกระทำที่ทำให้เกิดผลร้ายตามมา
อัลลอฮฺได้ตรัสถึงความคิดของชาวนรกหรือผู้ที่ถูกทรมานด้วยการลงโทษอันเจ็บแสบ ทั้ง ๆ ที่พวกเขานั้นคิดว่าพวกเขาได้อยู่บนสัจธรรมแล้ว
﴿قُلۡ هَلۡ نُنَبِّئُكُم بِٱلۡأَخۡسَرِينَ أَعۡمَٰلًا ١٠٣ ٱلَّذِينَ ضَلَّ سَعۡيُهُمۡ فِي ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَا وَهُمۡ يَحۡسَبُونَ أَنَّهُمۡ يُحۡسِنُونَ صُنۡعًا ١٠٤ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ بَِٔايَٰتِ رَبِّهِمۡ وَلِقَآئِهِۦ فَحَبِطَتۡ أَعۡمَٰلُهُمۡ فَلَا نُقِيمُ لَهُمۡ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِ وَزۡنٗا ١٠٥﴾ (الكهف: 103-105)
ความว่า “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) เราจะแจ้งแก่พวกท่านไหม ถึงบรรดาผู้ที่ขาดทุนยิ่งในการงาน คือบรรดาผู้ที่การขวนขวายของพวกเขาสูญสิ้นไป ในการมีชีวิตในโลกนี้และพวกเขาคิดว่าแท้จริงพวกเขาปฏิบัติความดีแล้ว เขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาต่อโองการทั้งหลายของพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และการพบปะกับพระองค์ ดังนั้นการงานของพวกเขาจึงไร้ผล และในวันกิยามะฮฺเราจะไม่ให้มันมีค่าแก่พวกเขาเลย” (อัล-กะฮฺฟ :103-105)

สาเหตุที่ 4 อุปสรรคต่าง ๆ ในการเผยแพร่สัจธรรม
และส่วนหนึ่งจากสาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้าย คือ อุปสรรคต่าง ๆ ในการเผยแพร่สัจธรรม การมีอุปสรรคด้านสื่อสารและประชาสัมพันธ์ หรืออุปสรรคด้านความมั่นคง หรืออุปสรรคอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถเผยแพร่สัจธรรมศาสนาของอัลลอฮฺที่แท้จริง หรือหลักศาสนาที่ถูกต้องปราศจากความสุดโต่งและความละเลย และปฏิเสธความสุดโต่งทุกรูปแบบ ก็เป็นส่วนหนึ่งจากสาเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้ายได้ อีกทั้งยังทำให้แนวคิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายเผยแพร่ไปยังรวดเร็วโดยเฉพาะในหมู่ผู้คนที่มีความว่างเปล่าในความคิดหรือถูกชักจูงอย่างหลงผิด เพราะหัวใจของเรานั้นอยู่ระหว่างสัจธรรมและความเท็จ เมื่อใดที่สัจธรรมเกิดความอ่อนแอเมื่อนั้นความเท็จจะเข้ามาครอบงำบุคคลนั้นทันที ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสในสูเราะฮฺ ยูนุส อายะฮฺที่ 32 ว่า
﴿فَمَاذَا بَعۡدَ ٱلۡحَقِّ إِلَّا ٱلضَّلَٰلُۖ فَأَنَّىٰ تُصۡرَفُونَ﴾ [يونس : 32]
ความว่า “ฉะนั้น หลังจากความจริงแล้วจะมีอะไรอีกเล่านอกจากความหลงผิดเท่านั้น แล้วทำไมเล่าพวกท่านจึงถูกให้หันเหออกไปอีก ?

การแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย
การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. การทำงานอย่างขันแข็งเพื่อให้หลักคำสอนของอิสลามเข้าถึงไปยังทุกคนพร้อมกับนำคำสอนอิสลามมาปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยการนำเสนอคำสอนอิสลามอย่างง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครอง การทหาร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งอื่น ๆ เผยแพร่ไปยังทุกคนพร้อมกับส่งเสริมให้ทุกคนนำคำสอนอิสลามมาประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ เนื่องจากอิสลามเป็นหลักประกันว่าสังคมจะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง และขจัดความชั่วร้ายในทุกรูปแบบ ผู้ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบงานนี้อย่างหนัก คือ บรรดาปราชญ์ นักวิชาการ และนักสื่อสารมวลชนในโลกมุสลิมทุกคน ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวต้องกระทำเพื่อเป็นการภักดีและเพื่อแสวงหาความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ
2. การให้ความรู้ศาสนาที่ถูกต้องบนบรรทัดฐานของคัมภีร์อัลกุรอาน จริยวัตรของท่านนบี ตามความเข้าใจของชาวสะลัฟ (บรรพชนยุคแรกของอิสลาม) เมื่อเรายอมรับว่าการเดินตามแนวทางสายกลางคือหนทางแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ ทั้งที่เราทราบและรูปแบบที่เราไม่ล่วงรู้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องหาหนทางสายกลางว่ามันเป็นเช่นใด หนทางสายกลางที่แท้จริง ที่รับประกันว่าเป็นหนทางที่มันคงและยั่งยืนนั่นคือ การยึดมั่นกับหลักคำสอนของอัลกุรอานและอัสสุนนะฮฺอย่างครบถ้วนสมบูรณ์บนบรรทัดฐานความเข้าใจของชาว สะลัฟ (บรรพชนรุ่นแรกของอิสลาม) เนื่องจากพวกเขามีชีวิตทันกับสมัยที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา และพวกเขาคือ ผู้ที่เข้าใจเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของอัลลอฮฺและคำสอนของศาสนทูตของพระองค์เป็นอย่างดีมากกว่าบุคคลอื่น ๆ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَأَنَّ هَٰذَا صِرَٰطِي مُسۡتَقِيمٗا فَٱتَّبِعُوهُۖ وَلَا تَتَّبِعُواْ ٱلسُّبُلَ فَتَفَرَّقَ بِكُمۡ عَن سَبِيلِهِۦۚ (الأنعام : 153)
ความว่า “และแท้จริงนี้คือทางของข้าอันเที่ยงตรงพวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิด และอย่าปฏิบัติตามหลาย ๆ ทาง เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกไปจากทางของพระองค์” (อัล-อันอาม :153)

เส้นทางที่ทอดยาวให้มวลมนุษย์ตัดสินใจเดินนั้นมีสองสายด้วยกัน คือ หนทางอันเที่ยงตรง กับหนทางที่หลงผิดและหายนะ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสในสูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ อายะฮฺ ที่ 115
﴿وَمَن يُشَاقِقِ ٱلرَّسُولَ مِنۢ بَعۡدِ مَا تَبَيَّنَ لَهُ ٱلۡهُدَىٰ وَيَتَّبِعۡ غَيۡرَ سَبِيلِ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ نُوَلِّهِۦ مَا تَوَلَّىٰ وَنُصۡلِهِۦ جَهَنَّمَۖ وَسَآءَتۡ مَصِيرًا﴾ [النساء : 115]
ความว่า “และผู้ใดที่ฝ่าฝืนศาสนทูตของอัลลอฮฺ หลังจากที่คำแนะนำอันถูกต้องได้ประจักษ์แก่เขาแล้ว และเขายังปฏิบัติตามแนวทางที่มิใช่ทางของบรรดาผู้ศรัทธานั้น เราก็จะให้เขาหันไปตามที่เขาได้หันไป และเราจะให้เขาเข้านรกญะฮันนัม และมันเป็นที่กลับอันชั่วร้าย” (อัน-นิสาอ์ : 115)

การปลูกฝังหลักคำสอนดั้งเดิมอิสลามที่ถูกต้องนั้น จำเป็นต้องดำเนินการโดยผ่านกระบวนการปรับหลักสูตรการศึกษา เช่นเดียวกับการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเข็มข้น และควรดำเนินการโดยบรรดานักปราชญ์ นักวิชาการ นักเผยแพร่ และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นต้องดึงพวกเขาเหล่านั้นให้มาอาสาดำเนินการ โดยหวังผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ เมื่อนั้นสังคมของเราทุกหย่อมหญ้าจะมีแต่ความผาสุก สงบและสันติ

3. ความชัดเจนและโปร่งใสในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย โดยดำเนินการผ่านสื่อประชาสัมพันธ์และกระบวนการเชิญชวนเผยแพร่ ไม่เปิดโอกาสสำหรับการใช้สำนวนที่คลุมเครือ มีความหมายไม่ชัดเจนในการต่อสู้กับโรคร้ายที่รุกคืบเข้ามาในสังคมมุสลิม เราจะยืนหยัดอย่างเด็ดขาดโดยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อพระพักตร์อัลลอฮฺ หรือว่าเราจะปล่อยปละละเลยปัญหาดังกล่าว จนทำให้เกิดสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์ ซึ่งในที่สุดเราทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อการปล่อยปละละเลยนั้นเมื่อเราถูกสอบสวนต่อหน้าอัลลอฮฺ
﴿وَإِذۡ أَخَذَ ٱللَّهُ مِيثَٰقَ ٱلَّذِينَ أُوتُواْ ٱلۡكِتَٰبَ لَتُبَيِّنُنَّهُۥ لِلنَّاسِ وَلَا تَكۡتُمُونَهُۥ فَنَبَذُوهُ وَرَآءَ ظُهُورِهِمۡ وَٱشۡتَرَوۡاْ بِهِۦ ثَمَنٗا قَلِيلٗاۖ فَبِئۡسَ مَا يَشۡتَرُونَ (آل عمران :187)  
ความว่า "และจงรำลึกถึงขณะที่อัลลอฮฺทรงเอาคำมั่นสัญญาจากบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ว่าแน่นอนยิ่งพวกเจ้าจะต้องแจกแจงคัมภีร์นั้นให้แจ่มแจ้งแก่ประชาชนทั้งหลาย และพวกเจ้าจะต้องไม่ปิดบังมัน แล้วพวกเขาก็เหวี่ยงมันไว้เบื้องหลังของพวกเขา และได้แลกเปลี่ยนมันกับราคาอันเล็กน้อย ช่างเลวแท้ ๆ กับที่พวกเขาแลกเปลี่ยนมา" (อาล อิมรอน :187 )

            4. ดำเนินการบัญญัติศัพท์ทางศาสนาด้วยกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการฉกฉวยโอกาสจากบุคคลที่ประสงค์ร้ายนำไปใช้ในทางที่ผิดและสร้างความเสียหาย เช่น นิยามของคำว่า อัล-ญิฮาด (การต่อสู้) ดารฺ อัล-หัรบฺ (รัฐที่เป็นคู่สงคราม) ดารฺ อัลอิสลาม (รัฐอิสลาม) วะลีย์ อัล-อัมรฺ (ผู้ปกครอง) หน้าที่ของผู้ปกครอง การทำสนธิสัญญา การละเมิดสนธิสัญญา ข้อกำหนดเกี่ยวกับการก่อกบฏ และศัพท์อื่น ๆ ที่แพร่หลายและเป็นคำที่อ่อนไหวและมีผลกระทบอย่างกว้างขวางในสังคมมุสลิมปัจจุบัน
            เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งทีเราต้องกำหนดคำนิยามศัพท์ทางศาสนาเหล่านั้นให้ชัดเจน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องสภาศาสนาบัญญัติจัดการประชุมวาระพิเศษ โดยให้นักปราชญ์และนักวิชาการมุสลิมมาถกและเสนอข้อคิดเห็นในการกำหนดศัพท์ทางศาสนาเหล่านั้นให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการฉกฉวยโอกาสจากบุคคลที่ประสงค์ร้ายนำไปใช้ในทางที่ผิด
            และก่อนที่ข้าพเจ้าจะจบการกล่าวปาฐกถานี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภัยการก่อการร้ายในสังคม นั้นคือ บาปและอบายมุขที่เกิดขึ้นและแพร่หลายในสังคม อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสในสูเราะฮฺ อัร-รูม อายะฮฺที่ 41
﴿ظَهَرَ ٱلۡفَسَادُ فِي ٱلۡبَرِّ وَٱلۡبَحۡرِ بِمَا كَسَبَتۡ أَيۡدِي ٱلنَّاسِ لِيُذِيقَهُم بَعۡضَ ٱلَّذِي عَمِلُواْ لَعَلَّهُمۡ يَرۡجِعُونَ﴾ [الروم : 41] 
ความว่า “การบ่อนทำลาย ได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากสิ่งที่มือของมนุษย์ได้ขวนขวายไว้เพื่อที่พระองค์จะให้พวกเขาลิ้มรสบางส่วนที่พวกเขาประกอบไว้ โดยที่หวังจะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว”
และพระองค์ตรัสว่า
﴿وَمَآ أَصَٰبَكُم مِّن مُّصِيبَةٖ فَبِمَا كَسَبَتۡ أَيۡدِيكُمۡ وَيَعۡفُواْ عَن كَثِيرٖ﴾ [الشورى: 30]
ความว่า “และเคราะห์กรรมอันใดที่ประสบแก่พวกเจ้า ก็เนื่องด้วยน้ำมือของพวกเจ้าได้ขวนขวายไว้ และพระองค์ทรงอภัย(ความผิดให้)มากต่อมากแล้ว” (อัช-ชูรอ :30)
           
ส่วนวิธีแก้ไขของปัญหานี้คือ การเตาบะฮฺ (กลับตัวสู่อัลลอฮฺ) เนื่องจากอัลลอฮฺจะไม่ทรงทดสอบหรือลงโทษผู้ใด นอกจากเขาผู้นั้นมีประพฤติผิดกับพระองค์ และพระองค์จะไม่ทรงปลดเปลื้องบททดสอบนั้น ยกเว้นด้วยการเตาบะฮฺของบ่าวผู้นั้น
            ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺเพื่อให้พระองค์ประทานทางนำแก่ทุกคนสู่การกลับตัวที่แท้จริง ขอพระองค์ทรงปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของมวลมุสลิมทุกคน และขอพระองค์ทรงปกป้องมวลมุสลิมจากความชั่วร้ายและบททดสอบต่าง ๆ แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ควบคุมและพระองค์ทรงเดชานุภาพในการจัดการในเรื่องดังกล่าว
บทสรุป
1. คำว่า “การก่อการร้าย” เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อทำสงความทั้งด้านสื่อและความมั่นคงจากบางประเทศ แต่มิได้กำหนดคำจำกัดความอย่างชัดเจนจวบจนปัจจุบัน
2. คำว่า “การก่อการร้าย” เชิงภาษาหมายถึง พฤติกรรมรุนแรงซึ่งมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความกลัวและหวาดผวา
3. คำว่า “การก่อการร้าย” ไม่ปรากฏในหลักฐานทางศาสนาแต่มีบางคำที่รากศัพท์คล้ายกัน
4. คำว่า “การก่อการร้าย” ยังไม่มีคำนิยามในทางศาสนา เนื่องจากเป็นคำที่ไม่มีหลักฐานทางศาสนา
5. คำว่า “การก่อการร้าย” เกิดขึ้นครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ. 1789 - 1799 ในหมู่ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเรียกยุคนั้นว่าเป็น ยุคแห่งการก่อการร้าย
6. อิสลามกับการก่อการร้ายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ซึ่งสามารถยืนยันได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางศาสนาและหลักฐานทางปัญญา
7. ในประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่าอิสลามได้มีมาตรการป้องกันและปราบปรามปัญหาดังกล่าวมานานแล้ว
8. มีความพยายามกำหนดคำนิยามของคำว่าการก่อร้ายอย่างมากมาย แต่คำนิยามที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ คือ คำนิยามที่กำหนดโดยสภานิติศาสตร์อิสลาม ภายใต้องค์กรสันนิบาตโลกมุสลิม เมื่อการประชุมสามัญครั้งที่ 16 ปี ฮ.ศ. 1422 ณ เมืองมักกะฮฺ ซึ่งได้มีมติกำหนดคำนิยามก่อการร้าย คือ “การก่อเหตุร้ายที่กระทำโดยบุคคล กลุ่มองค์กร หรือรัฐ ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา สติปัญญา ทรัพย์สิน หรือเกียรติยศ รวมถึงการก่อให้เกิดความกลัว การข่มขู่ หรือการคร่าชีวิตโดยไม่ชอบธรรม และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความหวาดกลัวบนท้องถนน การปล้นสะดม และทุกการกระทำที่รุนแรง หรือการข่มขู่ที่กระทำโดยตัวบุคคลหรือกลุ่มองค์กร เพื่อให้ผู้คนทั่วไปเกิดความหวาดกลัว สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิต ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และทำให้สถานการณ์อยู่ในภาวะอันตราย เช่นเดียวกับการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือระบบสาธารณูปโภคของส่วนบุคคล หรือส่วนรวม หรือทำอันตรายต่อทรัพยากรของชาติและที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งหมดเป็นรูปแบบของการบ่อนทำลายบนหน้าแผ่นดินที่อัลลอฮฺได้ห้ามมวลมุสลิมกระทำการเช่นนั้น”
9. การขัดขวางสัญลักษณ์ทางศาสนา โดยอ้างเหตุผลเพื่อทำสงครามกับการก่อการร้ายนั้น ถือว่าเป็นการก่อการร้ายทางความคิดนั่นเอง และเป็นเหตุให้ภัยก่อการร้ายยิ่งเจริญเติบโตและแพร่ขยายในทุกรูปแบบมากขึ้น
10. มูลเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้ายมีมากมาย ส่วนหนึ่งก็คือ การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือกฎหมายของอัลลอฮฺบนหน้าแผ่นดิน ความสุดโต่งและความเกินเลยขอบเขตของศาสนา การมีทัศนคติที่ผิด และอุปสรรคที่ขัดขวางการเผยแพร่สัจธรรม
11. การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสามารถกระทำได้หลายวิธี ส่วนหนึ่งคือ การนำบทบัญญัติหรือกฎหมายทางศาสนามาปฏิบัติ การปลูกฝังความรู้ทางศาสนาที่แท้จริง ความชัดเจนและโปร่งใสในการป้องกันและแก้ปัญหานี้ และการกำหนดคำนิยามของศัพท์ทางศาสนาที่ชัดเจน
12. ขอเรียกร้องให้มีการจัดเวทีสัมมนาระดมความคิดที่ประกอบด้วยบรรดานักปราชญ์ และนักวิชาการอิสลาม มาร่วมถกประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดศัพท์เฉพาะทางศาสนาที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน ตลอดจนถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ตามกรอบของศาสนาอย่างชัดเจน
13. ส่วนหนึ่งจากสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการก่อการร้ายในรูปแบบที่หลากหลาย นั่นคือ การกระทำบาป การประพฤติชั่ว และความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคม แต่ทว่าไม่มีผู้ใดที่อาสาจะลุกขึ้นมาคัดค้านหรือต่อต้านปรากฏการณ์เหล่านั้น ดังนั้นวิธีแก้ไขที่สำคัญที่สุดของปัญหานี้คือ การเตาบะฮฺ (กลับตัวสู่อัลลอฮฺ)
           
ท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ประทานประโยชน์ให้กับความอุตสาหะของผู้เขียน และผู้อ่าน ขอให้พระองค์ได้ทรงปกป้องประชาชาติอิสลามจากไฟแห่งฟิตนะฮฺ (บททดสอบ) ที่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า  ตลอดจนขอให้พระองค์ให้เราได้มองสิ่งที่เป็นสัจธรรมเป็นสัจธรรมอย่างแท้จริง และให้เราได้ทำตามสัจธรรมนั้นด้วย และให้เราได้มองเห็นความเท็จว่าเป็นความเท็จอย่างแท้จริง และให้เราได้หลีกห่างจากความเท็จอันนั้น แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงดูแลและทรงเดชานุภาพ

وصلى الله وسلم وبارك على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين


ที่มาของบทความ วารสาร อัล-บุหูษ อัล-อิสลามิยะฮฺ ฉบับที่ 70 ประจำเดือนเราะญับ-เชาวัล ปี ฮ.ศ. 1424
(مجلة البحوث الإسلامية العدد السبعون - الإصدار : من رجب إلى شوال لسنة 1424هـ)
http://www.alifta.net/Fatawa/fatawaDetails.aspx?BookID=2&View=Page&PageNo=1&PageID=10289


[1] คู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan) เป็นองค์กรลับภายในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ดําเนินการโดยคนอเมริกันผิวขาว ส่วนใหญ่พบทางใต้ของประเทศ องค์กรนี้มีเเนวคิดเหยียดสีผิวเเบบสุดโต่งและมีจุดประสงค์เพื่อกําจัดคนผิวสีให้หมดไปจากสหรัฐอเมริกา โดยก่อตั้งขึ้นในปี 1865 สมาชิกของกลุ่มจะแต่งตัวด้วยชุดสีขาวและมีหมวกคลุมศีรษะ เปิดให้เห็นแค่เพียงดวงตาและปาก ในสมัยประธานาธิบดี ยูลิซิส เอส. แกรนต์ (Ulysses S. Grant) ได้มีการประกาศว่า คู คลักซ์ แคลน เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายนอกกฎหมาย ซึ่งมีอันตรายต่อระบอบการปกครอง จึงมีการกวาดล้างกลุ่มเอียงขวาจัดอย่างจริงจังในช่วงปี 1868-1870 จนทําให้กลุ่มสลายไปอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง-ผู้แปล





อับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮฺ อาล อัช-ชัยค์





แปลโดย : อันวา สะอุ
ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : สำนักงานเพื่อการวิจัยและการฟัตวากรุงริยาด





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น