อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ขอสาบานด้วยมะเดื่อและมะกอก


ซูเราะฮฺ อัต – ตีน อายะฮฺที่ 1
...........................................................

ความหมาย อายะฮฺ : 1
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
ขอสาบานด้วยมะเดื่อและมะกอก (1)
..................................................

(1) นักอรรถธิบายกุรอานมีความเห็นแตกต่างกันมากเกี่ยวกับการอธิบายอายะฮฺนี้ ฮะซัน บัศรี, อิคริมะฮฺ, อะฎอ บิน อบีเราะบาฮฺ, ญาบิรรฺ บิน เซด, มุญาฮิดและอิบรอฮีม นะคออี กล่าวว่า มะเดื่อก็คือ มะเดื่อที่ผู้คนกินและมะกอกก็คือมะกอกที่ให้น้ำมัน อิบนุ อบีฮาติม และฮากิม ก็อ้างคำพูดจากอับดุลลอฮฺ บิน อับบาสมาสนับสนุนคำพูดนี้ และนักอรรถาธิบายกุรอานที่ยอมรับการอธิบายเช่นนี้ก็แสดงความเห็นจากทัศนะของประโยชน์จากมะเดื่อและมะกอกว่า อัลลอฮฺได้สาบานด้วยผลไม้สองประเภทนี้ก็เพราะคุณสมบัติและประโยชน์ของมัน ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าผู้อ่านภาษาอาหรับจะเข้าใจคำว่า “ตีน” (มะเดื่อ) และ “ซัยตูน” (มะกอก) ในความหมายเดียวกันนี้ แต่ก็มีเหตุผลสองประการที่ทำให้ไม่สามารถยอมรับความหมายเหล่านี้ได้ ประการแรก ในอายะฮฺถัดมาได้มีการสาบานด้วยภูเขาซีนายและเมืองมักกะฮฺ และดูเหมือนว่ามันจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันระหว่างคำสาบานด้วยผลไม้สองชนิดนี้กับคำสาบานด้วยสถานที่สองแห่ง ประการที่สอง เรื่องสำคัญที่ตามมาหลังจากคำสาบานนั้นก็เกี่ยวข้องกับภูเขาซีนายและเมืองมักกะฮฺ แต่ไม่เกี่ยวกับผลไม้สองชนิดนั้น ในกุรอาน ตรงไหนก็ตามที่อัลลอฮฺสาบานด้วยอะไรบางอย่าง พระองค์มิได้สาบานเพราะว่าความเลิศเลอของมันหรือประโยชน์ของมัน แต่ทุกคำสาบานจะมีความเกี่ยวข้องกับสาระสำคัญที่จะตามมาหลังจากนั้น ดังนั้น คุณสมบัติและประโยชน์ของผลไม้ทั้งสองนี้จึงไม่อาจถือว่าเป็นเหตุผลสำหรับการนำมาสาบาน

นักอรรถาธิบายบางคนอธิบายคำว่า “ตีน” และ “ซัยตูน” หมายถึงสถานที่บางแห่ง กะอับ อะฮฺบารฺ, เกาะตาด๊ะฮฺ แ ละอิบนุเซตกล่าวว่า “ตีน” หมายถึงเมืองดามัสกัส และ “ซัยตูน” หมายถึงบัยตุลมักดิศ (เยรูซาเล็ม) ทัศนะของอิบนุอับบาสได้ถูกอิบนุญะรีรฺ อิบนุ อาบีฮาติมและมัรฺดูยะฮฺ นำมาอ้างถึงขนาดที่ว่า “ตีน” หมายถึงมัสยิดของนบีนูฮฺซึ่งถูกสร้างอยู่บนภูเขาญูดี และ “ซัยตูน” หมายถึงบัยตุลมักดิศ แต่เมื่อชาวอาหรับทั่วไปได้ยินคำว่า “วัดตีน วัซซัยตูน” จะไม่มีใครคิดถึงความหมายนี้ และในหมู่ชาวอาหรับซึ่งเป็นชนหมู่แรกที่ได้ยินกุรอานก็ไม่รู้ว่า “ตีน” และ “ซัยตูน” เป็นชื่อของสถานที่

อย่างไรก็ตาม ในหมู่ชาวอาหรับจะมีประเพณีอย่างหนึ่งคือ ถ้าแผ่นดินแห่งใดผลิตผลไม้อย่างหนึ่งอย่างใดเป็นจำนวนมาก ชาวอาหรับก็จะเรียกชื่อแผ่นดินนั้นตามชื่อของผลไม้นั้น ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ตีน” และ “ซัยตูน” จึงอาจเป็นแผ่นดินที่ผลไม้เหล่านั้นเติบโต และนั่นก็คือแผ่นดินแห่งซีเรียและปาเลสไตน์ เพราะในหมู่ชาวอาหรับในยุคนั้น แผ่นดินแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่าปลูกมะเดื่อและมะกอกมาก อิบนุตัยมียะฮฺ, อิบนุก็อยยิม, ซามัคซารีและอาลีซูก็ได้อธิบายเช่นนี้และถึงแม้อิบนุญะรีรฺจะชอบทัศนะแรก แต่ก็ยังเปิดใจยอมรับว่า “ตีน” และ “ซัยตูน” อาจหมายถึงแผ่นดินที่ปลูกผลไม้เหล่านี้ด้วย ฮาฟิซ อิบนุกะซีรฺ ก็ยอมรับว่าคำอธิบายเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา
..............................................

จากหนังสือ : ตัฟฮีมุลกุรอาน ความหมาย คัมภีร์ อัล-กุรอาน เล่ม 8 //อรรถาธิบายโดย : เมาลานา ซัยยิด อบุล อะลา เมาดูดี // แปลโดย : บรรจง บินกาซัน
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น