อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บ้านมุสลิมใต้ร่มเงาอิสลาม





..... สมาชิกในบ้านต้องไม่ตัดญาติขาดมิตร .....

ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“และบุคคลใดที่ศรัทธามั่นต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) และวันสุดท้าย เช่นนั้นจงเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติเถิด” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษที่ 6138)

ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ความเป็นเครือญาติ ถูกแขวนยังบัลลังก์ (ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)) ซึ่ง (ความเป็นเครือญาติ) จะกล่าวขึ้นว่า บุคคลใดที่เชื่อมสัมพันธ์กับฉัน (หมายถึงเชื่อมสัมพันธ์เครือญาติขณะอยู่บนโลกดุนยา) พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จักทรงเชื่อมสัมพันธ์กับเขา ส่วนบุคคลใดทีตัดขาดฉัน พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.ล.) ทรงตัดขาดเขาผู้นั้นด้วย” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย มุสลิม หะดีษที่ 6683)

ความสัมพันธ์กับเครือญาติในหมู่ญาติมิตรมีความสำคัญกับวิถีของมุสลิมอย่างมาก ฉะนั้น บ้านมุสลิมทุกหลังคาเรือนย่อมมีญาติพี่น้อง ฉะนั้นอย่าให้สมาชิกในบ้านมุสลิมเหล่านั้น ตัดญาติขาดมิตรโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้บ้านของเราขาดซึ่งความจำเริญ ความเมตตา

บ้านที่มีสมาชิกภายในบ้านซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงไม่เชื่อมสัมพันธ์ด้วย ถามว่า ภายในบ้านหลังนั้นจะมีความจำเริญจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้อย่างไร ?




..... สมาชิกภายในบ้านต้องไม่เนรคุณพ่อแม่ .....

พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า

“และสูเจ้าจงเคารพภัยกดีต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และจงอย่าตั้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีต่อพระองค์ และจงทำความดีต่อผู้บังเกิดเกล่าทั้งสองเถิด” (สูเราะฮฺ อันนิสาอ์ อายฮฺที่ 36)

ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ สามบุคคลที่พระองค์มิทรงมองไปยังพวกเขา (หนึ่งในสาม) คือ การเนรคุณต่อพ่อแม่ของเขา” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย นาซะอีย์ หะดีษที่ 2574)

บ้านมุสลิมจะขาดซึ่งความจำเริญ และความสุขทันที หากสมาชิกภายในบ้านเนรคุณพ่อแม่ของเขา ซึ่งการเนรคุณนี้เป็นบาปใหญ่ ใช่ว่าผู้กระทำความผิดดังกล่าวจะได้รับโทษจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อย่างสาสมในวันกิยามะฮฺเท่านั้น ทว่าภายในครอบครัวของเขาเองก็ไม่เป็นสุข การแสวงหาปัจจัยยังชีพก็ไม่ราบรื่น อีกทั้งความจำเริญ (บาเราะกะฮฺ) ก็หดหายลงไปด้วย ฉะนั้น บ้านคือทุกสิ่งทุกอย่างที่สมาชิกในครอบครัวจำเป็นจะต้องมีความรัก ความอาทร ความเป็นห่วงเป็นใยให้กันและกันมาก ๆ โดยเฉพาะอย่าเนรคุณผู้เป็นพ่อและแม่ของตนเองโดยเด็ดขาด



... สมาชิกในบ้านมีญุนุบต้องอาบน้ำยกหะดัษ .....


ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“สามประการที่มะลาอิกะฮฺไม่เข้าใกล้พวกเขา (1) คนมีญุนุบ (2) คนเมา และ (3) บุคคลที่ใส่น้ำหอม (ของหอม) ของสตรี (เพราะเลียนแบบผู้หญิง) (เช่น หญ้าฝรั่น)” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อัลบัซซาร หะดีษที่ 8198)

สมาชิกคนใดที่อยู่ในบ้านเรา แล้วเขาหรือเธอมีญุนุบจะด้วยสาเหตุมีเพศสัมพันธ์, หมดรอบเดือน ฯลฯ ต้องรีบอาบน้ำยกหะดัษ ไม่ใช่ปล่อยเวลายืดนานจนเข้าเวลานมาซฟัรฎู โดยเพิกเฉย หรือตั้งใจก็ตาม หากใครกระทำ มะลาอิกะฮฺจะไม่เข้าใกล้เขา มิฉะนั้นต้องกำชับสมาชิกในบ้านให้รับอาบน้ำยกหะดัษทันที แต่ถ้าผู้มีญุนุบหลงลืม หรือไม่เคยกระทำเคยตัว เช่านี้ ถือว่าไม่เป็นไร

อย่างไรก็ตาม หากผู้มีญุนุบไม่สามารถอาบน้ำยกหะดัษได้ในทันทีทันใด จะด้วยเหตุใดก็ตาม เช่นนี้ ศาสนาสนับสนุนให้เขาผู้นั้นอาบน้ำนมาซไว้เสียก่อน จากนั้นค่อยอาบน้ำยกหะดัษทีหลัง

ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“สามประการที่มะลาอิกะฮฺไม่เข้าใกล้พวกเขา (1) ศพของกาฟิรฺ (2) บุคคลใส่น้ำหอม (ของหอม) ของสตรี (เพราะเลียนแบบผู้หญิง) (เช่น หญ้าฝรั่น) และ (3) มีญุนุบ ยกเว้นเขาอาบน้ำนมาซไว้เสียก่อน” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษที่ 4182)


..... อย่าปล่อยของเหม็นเน่าไว้ในบ้าน .....


ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“ปัสสาวะจะไม่ถูกปล่อยไว้ในภาชนะ (ตั้ง) ภายในบ้าน เพราะแท้จริงมะลาอิกะฮฺจะไม่เข้าบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีปัสสาวะวางทิ้งไว้ในบ้าน ?” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดยเฏาะบะรอนีย์ หะดีษที่ 2158)

อิบนุ อุมัรฺ เล่าว่า

“มะลาอิกะฮฺ (เราะหฺมะฮฺ) จะไม่เข้าบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีปัสสาวะ (แช่ทิ้งไว้) ในบ้าน (หลังนั้น)” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อิบนุ อบีชัยบะฮฺ หะดีษที่ 1845)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งสกปรก หรือนะญิสต่าง ๆ จะต้องขจัดให้หมดไปจากบ้านของมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งสกปรกประเภทใดก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ศาสนากำชับเป็นพิเศษ ห้ามทิ้งค้างไว้ค้างคาไว้ในบ้านโดยเด็ดขาด อีกทั้งส่งผลทำให้มะลาอิกะฮฺ (เราะหฺมะฮฺ) ไม่เข้าบ้านอีกด้วย สิ่งดังกล่าวนั่น คือ การทิ้งปัสสาวะไว้ในโถส้วม ในกระป๋อง หรือแช่ปล่อยไว้ในภาชนะใดก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่น่ารังเกีบจ เพราะกลิ่นของมันไม่พึงประสงค์เหม็นเน่าทั่วบ้าน

ท่านญาบิร เล่าว่า

ฉะนั้นบ้านของมุสลิมจะต้องไม่อบอวลไปด้วยกลิ่นเหม็นว่าซึ่งนั่นไม่ใช่เอกลักษณ์ของบ้านมุสลืม แม้กระทั่งอาหารการกินที่มีกลิ่นเหม็น ท่านนบียังกำชับไม่ส่งเสริมให้รับประทาน เพราะกลิ่นของมัน

ท่านญาบิรฺ เล่าว่า

“ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ห้ามรับประทานหัวหอม” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย มุสลิม หะดีษที่ 1280)

ท่านรสุลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ไม่ส่งเสีรมให้รับประทานหัวหอมซึ่งเป็นหัวหอมสดนั้น ก็เพราะกลิ่นของมันที่แรง และฉุน แต่ถ้าทานแล้วทำความสะอาดปากด้วยการแปรงฟัน เช่นนี้ก็อนุโลม จักเห็นได้ว่า แม้แต่เรื่องอาหารที่หะลาลทาน แต่น่ารังเกียจเพราะกลิ่นของมันไม่พึงประสงค์นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ แม้กระทั่งการปรุงอาหารของภรรยา ต้องพยายามอย่าปรุงอาหารเหลือจนบูดเน่าทิ้งคาไว้ภายในบ้าน

ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“เมื่อภรรยาให้อาหาร (แก่บุคคล) ในบ้านของนาง โดยไม่ปล่อยให้อาหารเน่าเสีย เช่นนี้นางจะได้รับผลบุญในสิ่งซึ่งนางให้อาหาร และสำหรับสามีของนางก็ได้รับผลบุญด้วยเช่นกัน ในสิ่งที่ (เขา) ได้แสวงหาปัจจัยยังชีพ (มาให้นาง)” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษที่ 1425)


..... ต้องไม่มีบุคคลที่เลียนแบบเพศตรงข้าม .....


ท่านอิบนุ อับบาส เล่าว่า

“ท่านนบีมุหัมมัด (ซ.ล.) สาปแช่งผู้ชายที่เลียนแบบผู้หญิง (กะเทย) และผู้หญิงที่เลียนแบบผู้ชาย (ทอมดี้), ท่านนบีกล่าวต่อว่า พวกท่านจงไล่พวกนั้นออกจากบ้านของพวกท่านเถิด” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษที่ 5886)

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า

“ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) สาปแช่งผู้ชายที่สวมใส่เสื้อผ้าของสตรี และ (สาปแช่ง) สตรีที่สวมใส่เสื้อผ้าของผู้ชาย” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษที่ 4100)

บ้านมุสลิมจะต้องปราศจากสิ่งที่น่ารังเกียจ น่ากักขฬะ โดยเฉพาะเรื่องหะรอม ยิ่งต้องขจัดให้หมดไปจากบ้านมุสลิมทันที และโดยเฉียบพลัน โดยเฉพาะเรื่องของสมาชิกภายในบ้านมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เช่น เป็นกะเทย เป็นทอมดี เพราะพฤติกรรมดังกล่าว ศาสนาถือว่าเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ จำเป็นจะต้องแก้ไขตัวเขาให้กลับมาสู่ความเป็นเพศเดิมของเขา หรือของเธอก็ตาม ด้วยการรักษา หากเขาหรือเธอไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว ศาสนาถึงกับให้ไล่บุคคลประเภทดังกล่าวออกจากบ้าน แสดงถึงความรุนแรงขั้นสุดท้ายแล้วว่า หากไม่เปลี่ยนจริง ๆ ก็ต้องบอยคอตด้วยการขับไล่ออกจากบ้าน

ดังนั้น บ้านมุสลิมต้องอบรมสั่งสอนสมาชิกในบ้านถึงการเป็นเพศของตัวเอง อย่าเบี่ยงเบนทางเพศโดยเด็ดขาด อีกทั้งการแต่งกายของสมาชิกภายในบ้านก็ต้องอบรมสั่งสอนตั้งแต่เด็ก ต้องหัดให้พวกเขาแต่งกายตามเพศของตัวเอง และสอนให้พวกเขามีพฤติกรรมตามเพศของพวกเขาเท่านั้น


..... ต้องไม่เล่นลูกเต๋าในบ้าน .....


ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“บุคคลใดที่เล่นลูกเต๋า แน่นอนเขาได้ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และรสูลของพระองค์แล้วนั่นเอง” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษที่ 4940)

ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“บุคคลใดที่เล่นลูกเต๋า ประหนึ่งเขาผู้นั้นเอามือจิ้มเข้าไปในเนื้อหมู และเอามือจุ่มลงในเลือดหมู” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย มุสลิม หะดีษที่ 4940)

ของเล่นเด็กในบ้านเมืองเรา มักจะมีการเล่นหลากหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งที่มีอยู่อย่างมากมายหนีไม่พ้นลูกเต๋า การทอยลูกเต๋า การเล่นลูกเต๋าแล้วเดินแต้ม ใครถึงเป้าหมายก่อนก็ชนะ หรือการทอยลูกเต๋าเพื่อคำนวณแต้ม

อนึ่ง ไม่ว่าจะใช้ลูกเต๋ามาเล่นจะเพื่อสิ่งใดก็ช่าง การใช้ลูกเต๋าถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ห้ามไว้อย่างชัดเจน ตำหนิถึงขั้นฝ่าฝืนอัลลอฮฺ และรสูลของพระองค์ด้วยซ้ำ ดังนั้น บ้านของมุสลิมสามารถมีกิจกรรมว่าด้วยการละเล่นได้ มีเกมเล่นได้ แต่ทว่า การละเล่นเหล่านั้น ต้องไม่มีลูกเต๋าเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด


..... ต้องไม่มีเสียงดนตรีภายในบ้าน .....


พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า

“และในหมู่มนุษย์ผู้ซื้อเอาเรื่องไร้สาระเพื่อทำให้เขาหลงไปจากทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยปราศจากความรู้” (สูเราะฮฺ ลุกมาน อายะฮฺที่ 6)

ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“จะปรากฏกลุ่มชนหนึ่งจากประชาชาติของฉัน พวกเขาทำให้การทำซินา, การสวมใส่ผ่าไหม (สำหรับผู้ชาย), สิ่งมึนเมา และเครื่องดนตรีเป็นที่อนุมัติ” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษที่ 5590)

จะสังเกตได้ว่า บ้านมุสลิมทุกวันนี้มักเปิดเพลงที่มีดนตรีในบ้าน บางครั้งก็ให้ลูก ๆ เต้นตามเนื้อเพลง สมาชิกในบ้านต่างหัวเราะชอบใจ เด็ก ๆ ก็ยิ่งเต้น เพราะเห็นสมาชิกในบ้านพึงพอใจ ใช่แต่เท่านั้น มุสลิมบางบ้านยังเปิดคาราโอเกะ ร้องกันทั้งบ้าน

สิ่งต่าง ๆ ข้างต้น เป็นสิ่งที่ผิดหลักการอิสลามทั้งสิ้น เสียงเพลงใดที่มีเสียงดนตรีปะปน เช่นนี้หลักการอิสลามถือว่าต้องห้าม (หะรอม) บ้านมุสลิมจะต้องไม่เปิดเพลง หรือนะชีดที่มีเสียงดนตรีโดยเด็ดขาด บ้านมุสลิมจะต้องปราศจากเสียงดนตรีดังกล่าว

อนึ่ง หากเสียงเพลง (นะชีด) ที่ไม่มีดนตรี นั่นถือว่าอนุญาตให้ฟัง ดังสังคมมุสลิมได้เริ่มทำนะชีดที่ไม่มีดนตรีออกมาจำหน่าย อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน


อุปการะเด็กกำพร้า .....


ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ฉันและผู้อุปการะเด็กกำพร้าจะอยู่ในสวรรค์แบบนี้ แล้วท่านรสูลก็ชูนิ้วชี้และนิ้วกลาง แล้วก็กางนิ้วออก” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษที่ 5304)

เด็กกำพร้า หมายถึง เด็กที่พ่อของเขาเสียชีวิต โดยที่เขายังไม่บรรลุศาสนภาวะ หากบ้านมุสลิมหลังใดที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กกำพร้า นั่นเท่ากับว่าเขาจะอยู่ใกล้ชิดกับท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ในสวรรค์ ใช่แต่เท่านั้น การเลี้ยงดูเด็กกำพร้าไว้ในบ้าน จะทำให้บ้านมีความจำเริญที่ได้เมตตาเด็กกำพร้าเลี้ยงดูเขาในขณะที่เขามีความเดือดร้อน ต้องการความรัก ความอบอุ่น แล้วบ้านของเราได้ทำให้เด็กกำพร้าได้รับความรัก ความอบอุ่น การเอาใจใส่เสมือนหนึ่งเขาได้อยู่กับครอบครัวของเขาจริง ๆ 

ยิ่งไปกว่านั้นบ้านซึ่งอุปการะ และให้ความช่วยเหลือ เอาใจใส่เลี้ยงดูเด็กกำพร้าทำให้บ้านหลังนั้นมีความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ) เป็นบ้านที่ดีที่สุดบนโลกดุนยา อีกทั้งได้รับรางวัล ได้รับเราะหฺมะฮฺจากปวงมะลาอิกะฮฺอีกด้วย

ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ผู้เมตตาทั้งหลาย พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.ล.) ทรงเมตตาพวกเขา, เช่นนั้นพวกท่านจงเมตตาผู้คนบนโลกดุนยานี้เถิด แล้วผู้ซึ่งอยู่ในชั้นฟ้าจะเมตตาพวกท่าน” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย ติรมีซีย์ หะดีษที่ 2049)


 ส่งเสริมให้นมาซสุนนะฮฺก่อนออกจากบ้านภายหลังเข้าบ้าน .....


ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“เมื่อท่านเข้าบ้าน ท่านจงนมาซ 2 ร็อกอะฮฺ ซึ่ง (นมาซดังกล่าว) จะห้ามท่านจากการเข้ามาพร้อมกับความชั่ว และเมื่อท่านออกจากบ้านท่าน จงนมาซ 2 ร็อกอะฮฺเช่นกัน ซึ่ง (นมาซดังกล่าว) จะห้ามท่านออก (จากบ้าน) พร้อมกับความชั่ว” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อัลบัซซารฺ หะดีษที่ 1926 จากหนังสือ “อัลญามิอุลกะบีรฺ)

บ้านมุสลิมที่ดีต้องมีการนมาซ โดยเฉพาะนมาซสุนนะฮฺ ซึ่งต้องทำอยู่บ่อย ๆ ครั้ง เพราะท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) มักจะนมาซสุนนะฮฺที่บ้าน ส่วนนมาซฟัรฎูท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) จะนมาซที่มัสญิด

ฉะนั้นบ้านมุสลิมจะขาดซึ่งการนมาซสุนนะฮฺนั้นคงเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยการนมาซสุนนะฮฺ ผู้กระทำได้ผลบุญที่ทำตามสุนนะฮฺ (แนวทาง) ของท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ซึ่งท่านรอสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวไว้ว่า

“ดังนั้น จำเป็นเหนือพวกท่านว่าด้วยการนมาซในบ้านของพวกท่าน แท้จริงการนมาซที่ดีที่สุดของบุคคลหนึ่งคือ (การนมาซ) ในบ้านของเขา ยกเว้นนมาซฟัรฎู (ต้องไปนมาซที่มัสญิดสำหรับบุรุษ)” ” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษที่ 6113)


ฉะนั้น การนมาซสุนนะฮฺ คือสิ่งที่ควบคู่อยู่กับสมาชิกภายในบ้านอย่างไม่ต้องสงสัย บ้านมุสลิมจึงต้องอบอวลไปด้วยการนมาซสุนนะฮฺ ซึ่งมีอย่างมากมาย ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน สามารถเลือกปฏิบัติได้ตามความสะดวก และเวลาจะเอื้อให้กระทำนั่นเอง

ใช่แต่เท่านั้น ศาสนายังส่งเสริมให้สมาชิกภายในบ้านได้นมาซสุนนะฮฺหนึ่ง นั่นคือทุกครั้งที่เข้าบ้านแล้ว หรือทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน มีสุนนะฮฺให้นมาซสุนนะฮฺ 2 ร็อกอะฮฺ ทั้งนี้หากเรานมาซสุนนะฮฺก่อนจะออกจากบ้าน ความชั่วก็จะไม่ออกนอกบ้านไปกับเขาผู้นั้นหรือภายหลังที่เข้าบ้าน แล้วเขานมาซสุนนะฮฺ 2 ร็อกอะฮฺ เช่นนี้ความชั่วก็จะไม่เข้าบ้านพร้อมกับเขาด้วย

อนึ่ง หากสมาชิกภายในบ้านกระทำเช่นนั้นได้ ก็จะเป็นการดีไม่น้อย ใช่ว่าความดีจะได้แก่ผู้ที่กระทำเท่านั้น แม้แต่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ยังได้ผลพวกแห่งความสิริมงคล (บะเราะกะฮฺ) อย่างไม่ต้องสงสัย

นี่แหละที่เรียกว่า บ้านมุสลิม อย่างแท้จริง


..............................
(จากหนังสือ : บ้านมุสลิม)
โดย : มุรีด ทิมะเสน
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น