..... ให้สลามแก่สมาชิกในครอบครัวเมื่อเข้าบ้าน .....
พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า
“ดังนั้นเมื่อสูเจ้าเข้าบ้าน ก็จงกล่าวคำนับ (กล่าวสลาม) ให้แก่ตัวของสูเจ้า เป็นการคำนับอันจำเริญ และผ่องแผ้ว ซึ่งมาจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.)” (สูเราะฮฺ อันนูร อายะฮฺที่ 61)
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“เมื่อบุคคลหนึ่งพบพี่น้องของเขาที่เป็นมุสลิม เขาจงกล่าวทักทายว่า อัซซ่าลามู่อ้าลัยกุม ว่าเราะหฺม่าตุลลอฮฺ ( ขอความสันติสุข และความเมตตาจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จงประสบแด่ท่าน” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย ติรมีซีย์ หะดีษที่ 2940)
ดังนั้น เมื่อบุคคลหนึ่งเข้าบ้านพบสมาชิกในบ้านก็ให้เขากล่าวสลามแก่พวกเขา การเริ่มพูดคุยของสมาชิกในบ้าน ส่งเสริมอย่างยิ่งยวดที่จะเริ่มต้นด้วยการขอดุอาอ์ต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้แก่สมาชิกในบ้าน ส่วนกรณีที่เข้าบ้าน แล้วไม่พบสมาชิกคนใดเลยอยู่ในบ้าน ศาสนาก็ส่งเสริมให้ขอดุอาอ์ โดยกล่าวสลามด้วยสำนวนดังนี้
“อัซซาลามู่อ้าลัยนา ว่าอ้าลา อิบาดิ้ลลาฮิซวอลิฮีน”
คำแปล “ขอความสันติสุขจงประสบแด่เรา และแด่ปวงบ่าวของอัลลอฮฺ ที่ดี ๆ (ศอลิหฺ) ด้วยเถิด” (หะดีษหะสันเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อิบนุ อบี ฮาดิม หะดีษ 13860)
.. ส่งเสริมให้แขวนไม้เรียวไว้ในบ้าน .....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“ พวกท่านจงแขวนไม้เรียว (หรือแส้) ให้สมาชิกในบ้านได้เห็น (เพราะ) สิ่งนั้นเป็นการขู่สำหรับพวกเขา” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย เฏาะบะรอนีย์ หะดีษที่ 10523)
การที่หัวหน้าครอบครัวแขวนไม้เรียว หรือเครื่องมือในการลงโทษให้สมาชิกในครอบครัวได้เห็นหรือรับรู้นั้น จะเป็นสิ่งเตือนใจไม่ให้สมาชิกในบ้านกระทำความผิด ซึ่งถือว่าเป็นการอบรมสั่งสอนทางอ้อม พร้อม ๆ ไปกับกลัวเจ็บตัว หากฝ่าฝืนในสิ่งที่ศาสนากำชับใช้ให้กระทำ อาทิเช่น การละทิ้งนมาซ
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“จงกำชับหลานของพวกท่านให้นมาซ เมื่อพวกเขาอายุ 7 ขวบ และจงตี (ลงโทษ) พวกเขา (หากเขาละทิ้งนมาซ) เมื่ออายุ 10 ขวย และจงแยกที่นอนในระหว่างพวกเขา (ด้วยเช่นกัน)” (หะดีษหะสันเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษ 495)
ศาสนาส่งเสริมให้ลงโทษลูกหลานของตนเมื่อพวกเขาอายุครบ 10 ขวบ หากพวกเขาละทิ้งนมาซ นี่แสดงให้เห็นว่า อิสลามส่งเสริมให้ลงโทษบุตรหลานของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาละเมิดบทบัญญัติของศาสนา ฉะนั้นการลงโทษด้วยการตี จึงเป็นความชอบธรรม และเป็นการกระตุ้นให้ลูกหลานของตนไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก การแขวนไม้เรียว จึงเป็นการปราม หรือขู่ลูกหลานของเราไม่ให้หพวกเขาละเมิดหลักการศาสนานั่นเอง
อนึ่ง การลงโทษด้วยการตี มิได้หมายรวมว่าเป็นขั้นตอนแรก ๆ ทว่าจะต้องมีการตักเตือน และคาดโทษไว้ก่อน เพราะศาสนาสอนให้ลูกหลานของเราฝึกนมาซตั้งแต่ 7 ขวบ ครั้นอายุ 10 ขวบ ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ผู้ปกครองจะต้องว่ากล่าวตักเตือนจนกระทั่งเด็กไม่ละทิ้งการนมาซ แต่ถ้าละทิ้งก็ต้องลงโทษ ทำนองนี้เป็นต้น เรื่องอื่น ๆ ก็เช่นกัน บางครั้งอบรมแล้ว ตักเตือนแล้วไม่เชื่อฟัง การลงโ?ษด้วยการตีจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย
พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า
“และบรรดาสตรีที่สูเจ้าหวั่นเกรงในความดื้อดึงของนางนั้น ก็จงกล่าวตักเตือนนาง และทอดทิ้งนางไว้แต่ลำพังในที่นอน และจงเฆี่ยนนาง (พอเข็ดหลาบ โดยไม่มีบาดแผล หรือรอยช้ำ” (สูเราะฮฺ นิสาอ์ อายะฮฺที่ 34)
ดังนั้น หากภรรยาของเราฝ่าฝืนหลักการศาสนา อาทิเช่น ไม่คลุมหิญาบ สามีจะต้องตักเตือนนาง หากนางยังฝ่าฝืนอีก ก็ให้เขาลงโทษนางด้วยการไม่นอนในห้องร่วมกับนาง ครั้นนางยังฝ่าฝืนอีก เช่นนี้ให้เขาตีนางได้ โดยให้หลาบจำ ไม่มีรอยช้ำ หรือมีบาดแผล เช่นนี้ เป็นการลำดับการตักเตือน ซึ่งสุดท้ายเมื่อลงโทษนางตามลำดับแล้ว แต่นางยังฝ่าฝืน เช่นนี้จึงอนุญาตให้ตีได้นั่นเอง
. พยายามอยู่ในบ้าน เพราะเป็นสถานที่ซึ่งปลอดภัยที่สุด .....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“บุคคลหนึ่งจะปลอดภัยจากความชั่วร้าย (ฟิตนะฮฺ) คือการที่เขาอยู่ในบ้านของเขา” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อัตตัยละมีย์ หะดีษที่ 13159)
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“หรือบุคคลที่นั่งอยู่ในบ้านของเขา เพื่อทำให้ผู้อื่นปลอดภัยจากเขา และเขาเองก็ปลอดภัยจากผู้อื่น” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อะหมัด หะดีษที่ 22746)
บ้านจึงเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด จะปกป้องทรัพย์สิน หรือชีวิตของสมาชิกในครอบครัว หรือแม้กระทั่งฟิตนะฮฺ หรือความชั่วต่าง ๆ ที่จะย่างกรายเข้ามา หรือแม้แระทั่งผู้อื่นก็ปลอดภัยจากเรา เราก็ปลอดภัยจากผู้อื่นเช่นกัน อีกทั้งหากฟิตนะฮฺ (ความชั่วร้าย) เข้าบ้าน สมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันปัดป้อง และช่วยเหลือให้ออกไปจากบ้านโดยเร็ว โดยเฉพาะอยางยิ่งสมาชิกในบ้านที่เป็นสตรี บ้านจึงเป็นสถานที่พำนักที่ดีที่สุดสำหรับนาง
พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า
“และพวกนางจงอยู่ในบ้านเรือนของพวกนางเถิด” (สูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ อายะฮฺที่ 33)
ฉะนั้นสตรีมุสลิมสมควรอย่างยิ่งยวดที่วิถีชีวิตส่วนใหญ่ของพวกนางจะต้องอยู่ในบ้านของพวกนาง ฟิตนะฮฺที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน หลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงสตรีคงไม่ได้ เพราะทุกวันนี้สตรีออกมาสู่สังคมอย่างมากมายภายใต้สโลแกนที่ว่าพวกนางมีสถานะเท่าเทียมผู้ชาย ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวขัดแย้งกับอิสลามอย่างสิ้นเชิง ศาสนากำชับให้สตรีมุสลิมอยู่บ้าน แม้กระทั่งนมาซฟัรฎู ศาสนายังกำชับ และส่งเสริมให้พวกนางนมาซฟัรฎูที่บ้านของนาง
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“พวกท่านอย่าห้ามบรรดาสตรี (ภรรยา) ออกไป (นมาซ) ที่มัสญิด, (แต่การนมาซฟิรฎูที่) บ้านของพวกนางประเสริฐยิ่งกว่าสำหรับพวกนาง” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษที่ 567)
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวไว้ว่า
“สตรี คือ เอาเราะฮฺ (สิ่งปกปิด) เช่นนั้นเมื่อนางออกจากบ้าน ชัยฏอน (มารร้าย) จะทำให้นาง (แลดู) สวยงาม (จากการมองของเพศตรงข้าม)” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย ติรมีซีย์ หะดีษที่ 1206)
ใช่แต่เท่านั้น บ้านยังปกป้อง และคุ้มครองจากเหล่าญินชัยฏอนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ต้องอยู่บ้านในช่วงเย็น ๆ หรือช่วงดวงอาทิตย์กำลังตกดิน
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“เมื่อใกล้เวลาพลบค่ำ หรือช่วงเย็น พวกท่านจงกำชับเด็ก ๆ ของพวกท่าน (ให้อยู่บ้าน) แท้จริงเหล่าชัยฏอนจะพวยพุ่งออกมาในช่วงเวลานั้น ครั้นเมื่อช่วงเวลาหนึ่งของกลางคืนได้ผ่านพ้นไป เช่นนั้นพวกท่านปล่อยเด็ก ๆ ออก (จากบ้าน) ได้” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษที่ 5623)
ห้ามแขวนรูปภาพคน, สัตว์ และกระดิ่งไว้ในบ้าน .....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“มะลาอิกะฮฺ (เราะหฺมะฮฺ) จะไม่เข้าบ้านหลังหนึ่งซึ่งบ้านหลังนั้นมีสุนัข และรูปภาพ (คน หรือรูปภาพสัตว์)”
(หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษที่ 3322)
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“มะลาอิกะฮฺ (เราะหฺมะฮฺ) จะไม่บ้านหลังหนึ่งซึ่งมีกระดิ่ง (แขวน) ไว้ในบ้านหลังนั้น” (หะดีษหะสันฆ็อยริฮี, บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษที่ 4233)
ดังนั้น บ้านมุสลิมจะต้องปราศจากรูปภาพคน หรือรูปภาพสัตว์โดยเด็ดขาด จะเห็นได้ว่าบ้านในยุคปัจจุบันมักนิยมแขวน หรือติดรูปภาพไว้ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพของตนเอง รูปภาพของสมาชิกในบ้าน หรือแม้แต่รูปดาราศิลปินที่ตนเองชื่นชอบก็ตาม
บ้านมุสลิมที่แท้จริงต้องปราศจากรูปภาพคน หรือรูปภาพสัตว์โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้บ้านมุสลิมมีความจำเริญ และมีบรรดามะลาอิกะฮฺอยู่ร่วมภายในบ้าน ซึ่งในทางตรงกันข้าม หากบ้านที่ปราศจากมะลาอิกะฮฺ แน่นอนอย่างยิ่งยวด เหล่ามารร้ายชัยฏอนจะเข้ามาสุมหัวในบ้านมุสลิมหลังซึ่งแขวน หรือติดรูปภาพคน หรือรูปภาพสัตว์
อนึ่ง ใช่แต่เท่านั้น หากบ้านมุสลิมหลังใดแขวนกระดิ่งไว้หน้าบ้าน ไว้ในบ้าน หรือส่วนใดของบ้านก็ตาม มะลาอิกะฮฺก็ไม่เข้าบ้านหลังนั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งนักวิชาการอธิบายว่า หากมะลาอิกะฮฺไม่เข้าบ้านหลังหนึ่ง ชัยฏอนก็จะเข้าบ้านหลังนั้นแทนที่ทันที
อีกทั้งกระดิ่งยังเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจจนกระทั่งท่านรสุลุลลอฮฺต้องระบุว่า กระดิ่งเป็นเครื่องดนตรีของชัยฏอน เพราะเวลามันสั่นจะมีเสียงอันดังและกังวาน ชวนหลงใหล ซึ่งหากผูกกระดิ่งไว้ที่เท้า มือ หรือกระเป๋าของสตรี ก็จะเชิญชวนให้ผู้ได้ยินหันมามอง โดยเฉพาะเพศตรงข้าม ซึ่งก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ศาสนาห้ามแขวน ผูก หรือห้อยกระดิ่งนั่นเอง
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“กระดิ่ง (ระฆัง) คือเครื่องเป่า (หรือเครื่องดนตรี) ของชัยฏอน” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 5670)
ห้ามเลี้ยงสุนัขไว้ภายในบ้าน .....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“มะลาอิกะฮฺ (เราะหฺมะฮฺ) จะไม่เข้าบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีสุนัข (เลี้ยง) ไว้ภายในบ้าน” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษที่ 3225)
บ้านมุสลิมห้ามเลี้ยงสุนัขไว้ภายในบ้านโดยเด็ดขาด เพราะมะลาอิกะฮฺเราหฺมะฮฺ (มะลาอิกะฮฺแห่งความจำเริญ) จะไม่เข้าบ้านหลังนั้น หมายถึงความประเสริฐ ความจำเริญที่จะบังเกิดในบ้านมุสลิมนั้นจะไม่เกิดขึ้น ครั้นเมื่อมะลาอิกะฮฺไม่เข้าบ้านหลังนั้น เหล่าชัยฏอนมารร้ายจะเข้าไปสุมหัวอยู่ในบ้านหลังนั้นแทน
ใช่แต่เท่านั้น บ้านมุสลิมหลังใดที่เลี้ยงสุนัขไว้ภายในบ้านของตน ไม่ใช่ว่ามะลาอิกะฮฺไม่เข้าบ้านหลังนั้นเพียงอย่างเดียว แม้กระทั่งผู้ที่เลี้ยงสุนัขไว้ในบ้าน ความดีอันมากมายของเขาจะถูกลบออกทุกวันอีกด้วย
ท่านรสุลุลลฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“บุคคลใดที่เลี้ยงสุนัจ (ภายในบ้าน) ซึ่งไม่ใช่เลี้ยงเพื่อเฝ้าสวน (ไร้) , เฝ้าปศุสัตว์ หรือเพื่อล่าสัตว์แล้วไซร้ ความดีของเขาจะลดลงทุกวัน ๆ ละหนึ่งกีรอต (กีรอต คือ ความดีอันมากมาย)” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 4112)
..... ไม่นอนค้างคืนในบ้านตามลำพังคนเดียว .....
ท่าน อิบนุ อุมัรฺ เล่าว่า
“ แท้จริงท่านนบีมุหัมมัด (ซ.ล.) ห้ามอยู่ตามลำพุง (กล่าว) คือ “บุคคลที่นอนค้างคืนคนเดียว (ตามลำพัง) หรือเดินทางคนเดียวตามลำพัง” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อะหมัด หะดีษที่ 5783)
ท่านอุมัรฺ บุตรของค็อฏฏอบ เล่าว่า
“บุคคลหนึ่งอย่าเดินทางคนเดียวตามลำพัง และอย่านอนในบ้านคนเดียวตามลำพัง” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อัลดุลเษะซาก หะดีษที่ 29607)
อันว่าสังคมปัจจุบันนี้ มุสลิมมักชอบเช่าบ้าน คอนโดฯ อยู่ตามลำพัง โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา ทว่าทัศนะอิสลามถือว่าการอยู่แบบนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นมุสลิม เพรามุสลิมถูกส่งเสริมให้อยู่รวมกันเป็นญะมาอะฮฺ มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เจ็บป่วย ได้รับอันตราย หรือแม้กระทั่งอาจะมีผู้ไม่หวังดีทำร้าย ก็จักได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หากปลีกวิเวกอยู่ตามลำพัง การช่วยเหลือดังกล่าวก็จะขาดหายไปทันที
เชิญคนมีอีมานและผู้รู้ศาสนามาเยี่ยมบ้าน .....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“โอ้ พระผู้อภิบาลของฉัน ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่ฉันและแก่พ่อแม่ของฉัน และผู้ที่เข้าบ้านของฉันในสภาพผู้ศรัทธา” (สูเราะฮฺ นุหฺ อายะฮฺที่ 28)
ผู้ที่มีอีมาน หรือผู้รู้ ส่งเสริมให้เชื้อเชิญพวกเขามาเยี่ยมบ้าน เพราะสมาชิกที่อยู่ในบ้านจะได้ไต่ถามถึงปัญหาศาสนาต่าง ๆ ที่สงสัย การได้นั่งสนทนากับผู้รู้ หรือผู้ศรัทธา สมาชิกในครอบครัวจะได้เพิ่มพูนความรู้ไปด้วย หรือได้รับการอบรมขัดเกลาจิตใจให้แก่สมาชิกในบ้าน
นั่นหมายถึงสิ่งดี ๆ เข้าบ้าน อีกทั้งทำให้บ้านของเรามีความสำคัญและอบอวลไปด้วยความดีงาม อีกทั้งป้องกันความชั่วมีให้ย่างกรายเข้ามาภายในบ้านของเราอีกต่างหาก
ใช่แต่เท่านั้น ศาสนายังส่งเสริมให้เลี้ยงอาหารแก่คนดี ๆ มีศาสนาในบ้านของเราอีกด้วย
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.บ.) กล่าวว่า
“ไม่คบเพื่อน ยกเว้น (เพื่อน) ที่ศรัทธามั่น และท่านจะไม่รับประทานอาหารร่วมกับใคร นอกจากผู้ยำเกรงเท่านั้น” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษที่ 4834)
จะเห็นได้ว่าศาสนาส่งเสริมให้เลี้ยงอาหารแก่คนดี ๆ มีศาสนาเป็นผู้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) อย่างน้อยการที่เราเลี้ยงอาหารแก่เขา, เขาขอดุอาอ์ให้แก่เขา เขาส่งเสริมให้เราทำอิบาดะฮฺ, ขณะรับประทานอาหารกับเขา เราก็ได้รับความรู้จากเขา หรือได้รับการแนะนำตักเตือนขัดเกลาจากเขา ยิ่งมาเลี้ยงอาหารที่บ้านของเรา สมาชิกที่อยู่ในบ้านของเราก็ได้รับการขัดเกลานั้นด้วยเช่นกัน
ปกปิดความลับของครอบครัว .....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“แท้จริงมนุษย์ที่มีตำแหน่งที่เลวที่สุด ณ ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในวันกิยามะฮฺนั้น คือ สามีที่มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของเขา และภรรยามีเพศสัมพันธ์กับเขา ภายหลังจากนั้นเขาก็นำความลับของนางมาเปิดเผย” (
(หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย มุสลิม หะดีษที่ 3615)
การรักษาความลับของครอบครัวโดยหลักฐานจากหะดีษข้างต้นจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ไม่เปิดเผยความลับเรื่องส่วนตัวของสมาชิกภายในบ้าน
2. ไม่แพร่กระจายเรื่องความขัดแย้งของสมาชิกภายในบ้าน
3. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของสมาชิกภายในบ้าน ซึ่งอาจจะเกิดผลเสียตามมาในอนาคต
อนึ่ง ปัญหาของครอบครัวโดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ศาสนาไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวในความขัดแย้งนั้นได้ เพราะจะทำให้เรื่องเลวร้ายไปกว่าเดิม ซึ่งสามีภรรยาทั้งคู่มีความใกล้ชิดกันอยู่แล้ว จะต้องแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าบุคคลอื่น แต่ถ้าเป็นปัญหาที่ใหญ่โต หรือลุกลามใหญ่โตจนทั้งคู่ไม่สามารถปรับความเข้าใจกันได้ เช่นนี้ศาสนากำชับให้เรียกกอฎี (ผู้ตัดสิน) หรือผู้รู้มาตัดสิน หรือแก้ไขปัญหานั้น ๆ ให้
พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า
“ก็จงส่งผู้ตัดสินคนหนึ่งจากครอบครัวของฝ่ายชาย และผู้ตัดสินคนหนึ่งจากครอบครัวฝ่ายหญิง หากทั้งสอง (สามีภรรยา) ปรารถนาให้มีการประนีประนอมกันแล้ว อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงทำให้เกิดความสำเร็จในระหว่างทั้งสอง” (สูเราะฮฺอันนิสาอ์ อายะฮฺที่ 35)
ปฏิบัติศาสนกิจภายในบ้าน .....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“จำเป็นสำหรับพวกท่านจะต้องนมาซในบ้านของพวกท่าน แท้จริงการนมาซที่ประเสริฐที่สุดของบุคคลหนึ่ง คือการนมาซในบ้านของเขา ยกเว้นนมาซฟัรฎู (ที่มัสญิดประเสริฐกว่าสำหรับผู้ชาย” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรี หะดีษที่ 6113)
บ้านมุสลิมจะต้องการมีการนมาซสุนนะฮฺ ไม่ว่าเพศหญิงหรือเพศชายก็ตาม เพราะเอกลักษณ์หนึ่งของบ้านมุสลิม คือการนมาซ ไม่ว่านมาซฟัรฎู หรือสุนนะฮฺ แต่สำหรับผู้ชาย การนมาซฟัรฎูที่มัสญิดประเสริฐยิ่งสำหรับเขา
ส่วนมุสลิมะฮฺการนมาซฟัรฎูที่บ้านของนาง ถือว่าประเสริฐกว่าที่มัสญิด
ท่านรสูลลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“การนมาซของมุสลิมะฮฺที่ดีที่สุดคือ การนมาซในสถานที่ซึ่งมิดชิดที่สุดในบ้านของนาง” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อะหมัด หะดีษที่ 27329)
ไม่นอนบนดาดฟ้าที่ไม่มีฝากั้น.....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“บุคคลที่นอนบนดาดฟ้า (บนหลังคา) โดยไม่มีฝากั้น ถือว่าไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งใด (หากเขาตกลงมา)” (
(หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษที่ 5043)
บ้านคือสถานที่ซึ่งปลอดภัยที่สุด ฉะนั้นการสร้างบ้านสำหรับมุสลิมจะต้องป้องกัน และระมันระวังอย่างยิ่งยวดที่จะสร้างบ้านให้ปลอดภัยแก่สมาชิกภายในบ้าน และปลอดภัยทั้งทรัพย์สินของสมาชิภายในบ้านด้วย
ดังนั้น หากบ้านมุสลิมหลังใดมีดาดฟ้า ก็ต้องสร้างที่กั้นให้ปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกในบ้านเกิดอันตราย หรือได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตก
## ไม่นำเพื่อนหรือผู้ที่ไม่ดีเข้าในบ้าน ##
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“อุปมาเพื่อนที่เลว อุปมัยช่างเชื่อมเหล็ก” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดยอบูดาวู หะดีษที่ 4831)
“อุปมาเพื่อนที่ดีกับเพื่อนที่เลว อุปมัยพ่อค้าน้ำหอม และช่างเชื่อมเหล็ก ดังนั้นพ่อค้าน้ำหอมบางครั้งเขาอาจจะมอบให้แก่ท่าน และบางครั้งเขาอาจจะขายให้แก่ท่าน ซึ่งบางครั้งท่านจะได้รับกลิ่นหอมจากเขา ทว่าช่างเชื่อมเหล็ก บางครั้งเขาอาจะทำให้เสื้อผ้าของท่านไหม้ และบางครั้งท่านจะพบกลิ่นเหม็นจากเขา” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย มุสลิม หะดีษที่ 6860)
ดังนั้น บ้านมุสลิมควรเชิญชวนคนดี ๆ มาพูดคุยในบ้าน หรือเชิญคนดี ๆ มารับประทานอาหารที่บ้าน หลีกเลี่ยงการเชิญคนไม่ดีเข้าบ้าน เช่น คนชอบนินทา คนชอบใส่ร้ายพี่น้องกันเอง หรือคนที่ชอบสร้างฟิตนะฮฺ เพราะจะทำให้ความไม่ดี และความไม่จำเริญเข้าบ้าน แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับเขา ทว่าเขาทำให้บ้านของเราเปื้อนมลทินและที่ปฏิเสธไม่ได้ เราทำให้เขามีสถานที่ซึ่งสร้างฟิตนะฮฺ
อ่านอัลกุรอานในบ้าน เพื่อขับไล่ชัยฏอน ##
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“พวกท่านอย่าทำให้บ้านของพวกท่านเป็นกุบูร (สุสาน) แท้จริงชัยฏอนจะหนีออกจากบ้านหลังหนึ่งซึ่งสูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺถูกอ่านในบ้านหลังนั้น” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย มุสลิม หะดีษที่ 1860)
การอ่านอัลกุรอานในบ้านแม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ภายในบ้านแล้วก็ตาม ทว่าอัลกุรอานบางอายะฮฺ หรือบางสูเราะฮฺยังเป็นการขับไล่ชัยฏอนให้ออกจากบ้านของมุสลิมอีกด้วย
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงบันทึกสิ่งหนึ่งก่อนที่พระองค์จะทรงสร้างชั้นฟ้า และแผ่นดินถึง 2,000 ปี ซึ่งพระองค์ทรงประทานสองอายะฮฺสุดท้ายของสูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ (หาก) สองอายะฮฺดังกล่าวไม่ถูกอ่านในบ้านหลังหนึ่งภายในสามคืน (เช่นนี้) ชัยฏอนจะเข้าใกล้บ้านหลังนั้น” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย ติรมีซีย์ หะดีษเลขที่ 3124)
ทำให้บ้านเป็นสถานที่รำลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ##
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
"อุปมาบ้านหลังซึี่ง (นาม) อัลลอฮฺถูกกล่าวในบ้านหลังนั้น กับบ้านหลัง ซึ่ง (นาม) อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่ได้ถูกกล่าวในบ้านหลังนั้น อุปมัยดั่งคนเป็นกับคนตาย" (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 1859)
บ้านมุสลิมต้องอบอวลไปด้วยการรำลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) (ซิกรุลลอฮฺ) การรำลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) อาทิเช่น การอ่าน (หรือเปิด) อัลกุรอาน, การเปิดฟังการบรรยายธรรม, การเรียนการสอนศาสนา, การนมาซ หรือการนั่งซิกรุลลอฮฺเพียงลำพัง เป็นต้น
ฉะนั้น เอกลักษณ์ของบ้านมุสลิมคือ บ้านที่รำลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่ใช่ว่าบ้านมุสลิมมีนามของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ติดไว้หรือมีอายะฮฺอัลกุรอานเท่านั้น ทว่าบ้านมุสลิม เจ้าของบ้านต้องมีการรำลึกถึงอัลลอฮฺตลอดเวลา หรือกระทำอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
ควรมีอินทผลัมติดบ้าน .....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“บ้านซึ่งไม่มีอินทผลัมอยู่ในบ้านหลังนั้น ประหนึ่งบ้านที่ไม่มีอาหารอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว (หะดีษหะซัน บันทึกโดย อิบนุ มาญะฮฺ หะดีษที่ 3454)
ดังนั้น บ้านมุสลิมควรมีผลอินทผลัมติดบ้านบ้าง ไม่มากก็น้อยอย่างน้อยการรับประทานผลอินทผลัมยังบ่งบอกให้รู้ว่า บ้านมุสลิมหลังนั้นมีอาหารติดบ้าน หรือมีอาหารทาน วันหนึ่งหาอะไรทานไม่ได้ ยังได้ทานอินทผลัม ซึ่งสามารถบรรเทาความหิวได้ในลำดับหนึ่ง
..... ช่วยเหลือร่วมมือกันทำงานบ้าน .....
มีผู้ถามท่านหญิงอาอีชะฮฺ ว่า
“ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ทำอะไรภายในบ้านบ้าง ? นางตอบว่ ท่านรสูล (ซ.ล.) เป็นมนุษย์ปุถุชน คนหนึ่ง ท่านซักผ้าเอง, ท่านรีดนมแพะเอง และบริการตนเอง (เฉกเช่นคนทั่วไป)” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อะบู ยะอฺลา หะดีษที่ 6425)
พ่อบ้าน หรือผู้ชายหลายคนปฏิเสธการทำงานบ้าน เพราะว่าความเชื่อในอดีตฝังลึกว่า ผู้ชายต้องเป็นใหญ่ในบ้าน การดูแลบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ถ้าผู้ชายทำงานบ้านกลัวเสียศักดิ์ศรี แต่สำหรับท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ท่านจะทำงานบ้านด้วยตัวเอง อาทิเช่น เย็บ ปะเสื้อผ้าเอง ซ่อมรองเท้าเอง รีดนมสัตว์เอง ฯลฯ
หากพ่อบ้าน หรือผู้ชายในบ้านกระทำเฉกเช่นท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) แล้วไซร้ เขาจะได้รับคุณานุประโยชน์ อาทิเช่น
1. ได้ปฏิบัติตามสุนนะฮฺ (แบบฉบับ) ของท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.)
2. ช่วยแบ่งเบาภาระภรรยาและสมาชิกภายในบ้าน
3. ทำให้รู้สึกว่าตนเองอ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่เย่อหยิ่งยโส
ฉะนั้น หากภรรยาทำอาหารให้ล่าช้า ก็ไม่ต้องบ่น แต่ให้สามีไปช่วยภรรยาปรุงอาหาร หรือลูกร้องก็ช่วยอุ้ม หรือช่วยชงนม เป็นต้น
..... ขจัดพฤติกรรมที่ไม่ดีของสมาชิกให้ออกไปจากบ้าน .....
มีผู้ถามท่านหญิงอาอีชะฮฺ เล่าว่า
“ปรากฏว่าเมื่อท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ทราบว่าสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของท่านรสูล (ซ.ล.) โกหกเพียงเรื่องเดียว ท่านจะผินหลังให้ (บอยคอต) จนกว่าสมาชิกผู้นั้นจะสำนึก (เตาบะฮฺ) เสียก่อน” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย หากิม, หนังสือ “เศาะฮีหุลญามิล” หะดีษที่ 8804)
ครอบครัวต่าง ๆ มักจะพานพบกับความผิดของสมาชิกภายในบ้าน อาทิเช่น การโกหก การด่าทอ การนินทา การใส่ร้าย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เกิดได้กับทุกครัวเรือน
บางครั้งการแก้ปัญหาของหัวหน้าครอบครัว คือ การเฆี่ยนตี หรือด่าทอ เพื่อขจัดสิ่งที่ไม่ดีออกจากครอบครัวของตน หากเราพิจารณาแนวทางของท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) จะพบกว่าท่านรสูลจะขจัดความชั่วให้พ้นจากครอบครัวด้วยการบอยคอตไม่คุยด้วย ผินหลังให้ จนกระทั่งผู้กระทำความผิดสำนึกผิด แล้วเตาบะฮฺตัว
อันที่จริงการลงโทษข้างต้นอาจจะดูรุนแรงไปบ้าง ทว่าผลที่ได้รับกลับมา ย่อมได้ผลมากกว่าวิธีอื่น ๆ
แย่งกันเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่ชราในบ้านของตน .....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“อัปยศเสียนี่กระไร, อัปยศเสียนี่กระไร และช่างอัปยศเสียนี่กระไร, มีผู้ถามว่า ใครกันครับท่านรสูลของอัลลอฮฺ (ซ.ล.) (ที่อัปยศ) ท่านรสูลตอบว่า บุคคลที่อยู่ร่วมกับพ่อแม่ที่แก่ชรา หนึ่งจากทั้งสอง หรือทั้งสอง แต่ (สิ่งข้างต้น) ไม่ทำให้เขาได้เข้าสวรรค์” (หะดีษหะสัน บันทึกโดย มุสลิม หะดีษที่ 6674)
ปัจจุบันเป็นสังคมที่ทุกตนแข่งขันกันแสวงหาปัจจัยยังชีพ การเป็นสังคมเดี่ยว หรือครอบครัวเดี่ยวก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ฉะนั้นไม่เว้นแม้แต่มุสลิมที่ซึมซับแนวคิดข้างต้น มักแยกตัวจากครอบครัวใหญ่ จนกระทั่งละทิ้งหรือละเลยผู้ที่เป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่แก่ชรา ลูก ๆ ในยุคปัจจุบันไม่ค่อยสนใจ ทว่าอิสลามกำชับให้มุสลิมเลี้ยงดูพ่อแม่ อยู่กับพ่อแม่ หรือคนหนึ่งจากทั้งสอง, นบีจึงตำหนิลูก ๆ ที่มีพ่อแม่แก่ชรา หรือบุคคลหนึ่งจากทั้งอยู่ในบ้านของเขา แต่เขากลับไม่ทำความดีแก่บุคคลทั้งสอง
พูดภาษาง่าย ๆ ลูกที่ทำความดีต่อพ่อแม่ที่แก่ชรา สิ่งตอบแทนที่เราจะได้รับคือสวรรค์ ดังนั้นพ่อแม่ หรือหนึ่งจากทั้งสองที่อยู่ในบ้านของเรา เท่ากับว่าสวรรค์อยู่ในบ้านของเราแล้ว เพียงแต่เราจะเป็นผู้ที่ทำให้บ้านของเราเป็นสวรรค์หรือไม่เท่านั้นเอง
..... กล่าวนามของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก่อนปิดประตู หน้าต่าง .....
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“และจงปิดประตู (หน้าต่าง) พวกท่านจงกล่าวนามของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) (เพราะ) แท้จริงชัยฏอนจะไม่เปิดประตู (บานที่) ถูกปิด (ด้วยนามของอัลลอฮฺ (ซ.บ.))” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษที่ 3304)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าบ้านของมุสลิมก็มีชัยฏอนเข้าไปปะปนอยู่ในบ้านของเขาด้วย ศาสนาจึงสั่งให้มุสลิมขจัดสิ่งต่าง ๆ เพื่อทำให้ชัยฏอนออกจากบ้านของเขา เพราะการที่ชัยฏอนอยู่ในบ้านย่อมไม่มีความจำเริญและสิริมงคลอย่างแน่นอน
ฉะนั้น ศาสนาจึงสั่งใช้ให้กล่าวนามของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ขณะปิดประตูหรือหน้าต่าง เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ชัยฏอนไม่สามารถเปิดประตูหน้าต่างบานใดก็ตามที่ถูกกล่าวนามของพระองค์ นี่คืออีกมาตรการหนึ่งที่ป้องกันมิให้ชัยฏอนเข้าบ้านของตน
ใช่แต่เท่านั้น แม้กระทั่งการที่เปิดภาชนะที่อยู่ในบ้าน ศาสนายังกำชับให้กล่าวนามของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ด้วยเช่นกัน
“และพวกท่านจงปิดภาชนะ พวกท่านจงกล่าวนามของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษ 5623)
..... ปลูกฝังการศรัทธาแก่สมาชิกในบ้าน .....
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า
“ปรากฏว่าท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) นมาซในยามค่ำคืน (นมาซตะหัจญุด) ครั้นเมื่อท่านรสูล (ซ.ล.) จะนมาซวิตรฺ ท่านรสูลกล่าวว่า โอ้อาอิชะฮฺเอ๋ย เธอจงลุกขึ้นมาละหมาดวิตรฺเถิด” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย มุสลิม หะดีษที่ 1768)
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเมตตาชายผู้หนึ่งที่เขาลุกขึ้นนมาซในยามค่ำคืน และปลุกภรรยาของเขา ซึ่งนางก็ตื่นขึ้นนมาซ หากนางไม่ตื่น เขาก็พรมน้ำที่หน้าของนาง, พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเมตตากับสตรีผู้หนึ่งซึ่งนางลุกขึ้นนมาซในยามค่ำคืน ซึ่งนางปลุกสามีของนาง หากเขาไม่ตื่นขึ้นนมาซ นางก็พรมน้ำที่ใบหน้าของเขา” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย อบูดาวูด หะดีษที่ 1452)
ฉะนั้นบ้านของมุสลิม สมาชิกภายในบ้านจะต้องตักเตือนซึ่งกันและกัน ส่งเสริม และปลูกฝังความศรัทธา (อีมาน) ในทุกรูปแบบ มีโอกาสก็ตักเตือนกัน อาทิเช่น ในขณะที่รับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามีภรรยาปลุกขึ้นมาทำอิบาดะฮฺในยามค่ำคืน นมาซตะหัจญุด ซึ่งท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หากสามีหรือภรรยาไม่ตื่น ให้ปลุกด้วยการพรมน้ำที่ใบหน้า แสดงให้เห็นถึงการกระตุ้นให้สมาชิกภายในบ้านทำอิบาดะฮฺร่วมกันอย่างแข็งขัน หรืออาจจะเป็นอิบาดะฮฺในรูปแบบอื่น ๆ ก็ได้ อาทิเช่น อ่านอัลกุรอานร่วมกัน, ถือศีลอดสุนนะฮฺ และอื่น ๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่บรรดาสามีจะต้องเน้นหนัก และกำชับให้ภรรยากระทำคือ การบริจาคทาน เพื่อทำให้พวกนางมีเสบียงไว้ในวันอาคิเราะฮฺและด้วยการบริจาคของพวกนางส่งผลช่วยให้พวกนางพ้นจากไฟนรก
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“โอ้สตรีทั้งหลาย พวกเธอจงบริจาคเถิด แท้จริงฉันเห็นพวกเธอสิ่งใหญ่อยู่ในนรก” (หะดีษเศาะหี้หฺ บันทึกโดย บุคอรีย์ หะดีษ 1462)
...............................
(จากหนังสือ : บ้านมุสลิม)
โดย : มุรีด ทิมะเสน
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น