...... อาการ ..........
โรคที่ก่อให้เกิดอีหม่านอ่อนนั้นมีหลายโรคและปรากฏอาการที่หลากหลาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
15. อาการหนึ่งของอีหม่านอ่อน ก็คือ การขาดความสนใจต่อประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของมุสลิม และไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับพวกเขาไม่ว่าจะเป็นดุอาอ์ (การขอพรให้) การบริจาค หรือการให้ความช่วยเหลือ เขาจึงเป็นที่มีความรู้สึกเย็นชาต่อสิ่งที่ประสบกับพี่น้องของเขาในส่วนอื่น ๆ ของโลกจากการครอบงำของศัตรู ความอดอยาก การถูกกดขี่ และภัยพิบัติต่าง ๆ เขาพึงพอใจกับความสงบสุขที่มีอยู่กับตัวเอง
นี่คือผลลัพธ์ที่เกิดจากอีหม่านอ่อน แต่ผู้มีอีหม่านที่เข้มแข็งนั้นย่อมแตกต่างจากสภาพดังกล่าว
ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า
“แท้จริงผู้มีอีหม่านเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนแห่งอีหม่าน เช่น ฐานะของศีรษะเป็นส่วนหนึ่งของเรือนร่างผู้มีอีหม่านจะปวดร้าวร่วมไปกับกลุ่มชนแห่งอีหม่าน ประหนึ่งเรือนร่างที่ย่อมปวดร้าวจากสิ่ง (ที่เกิดขึ้น) ในศีรษะ” มุสนัด อะหมัด 5/340 และ อัซ-ซิลซิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะหฺ 1137
16. เกิดความแตกแยกระหว่างพี่น้อง
อาการหนึ่งของอีหม่านอ่อน จะทำให้ความสัมพันธ์แห่งความเป็นพี่น้องระหว่างสองฝ่ายต้องแตกแยก
ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า“จะไม่มีคนสองคนที่รักกันใน (นามของ) อัลลอฮฺ (ซ.บ.) หรือใน (นามของ) อิสลามแล้วจะแตกแยกกัน เว้นเสียแต่จะเกิดจากบาปครั้งแรกของคนใดคนหนึ่ง (ในบางรายงาน – เว้นเสียแต่จะเกิดจากบาปที่คนใดคนหนึน่งประกอบเอาไว้)” รายงานโดยบุคอรี ในอัล-อะดับ อัล-มุฟร็อด หมายเลข 401 และอะหมัด ในอัล-มุสนัด 2/68 และในอัช-ซิลซิละฮฺ อัศ-เศาะฮีฮะอฺ 637
นี่เป็นการบ่งชี้ว่า การละเมิดคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพัน์แห่งความเป็นพีน้องและเกิดความแตกร้าวระหว่างกันได้
ความห่างเหินดังกล่าว ซึ่งคนหนึ่งจะพบในระหว่างเขาและพีน้องของเขา บางครั้งเป็นผลมาจากความตกต่ำของอีหม่าน อันเนื่องจากการบาปเพราะอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทำให้ผู้กระทำบาปนั้นสูญเสียสถานะ (ที่มีเกียรติ) ของเขาในสายตาของบ่าวของพระองค์ ดังนั้นเขาจึงอยู่ในฐานะที่ดูน่าอนาถ ไม่ได้รับความนับถือขณะเดียวกันเขาก็จะสูญเสียกลุ่มพีน้องร่วมศรัทธารวมทั้งการคุ้มครองจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และอัลลอฮฺ (ซ.บ.) นั้น พระองค์คือผู้คุ้มครองผู้มีอีหม่าน
17. ขาดสำนึกในการ่ทำงานอิสลาม
อาการหนึ่งของอีหม่านอ่อนคือ การไร้จิตสำนึกที่จะเข้ามารับผิดชอบการทำงานเพื่ออิสลาม ไม่มีความเพียรพยายามที่จะเผยแผ่อิสลาม และไม่มีความมุ่งมั่นที่จะรับใช้มันซึ่งตรงกันข้ามกับบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี (ซ.ล.) เมื่อพวกเขาเข้ารับอิสลาม ก็จะเกิดสำนึกที่จะรับผิดชอบงานอิสลามในทันที
ยกตัวอย่างท่านฏุฟัยลฺ อิบนุ อัมรฺ (ร.ฎ.) นั้น เขาเป็นมุสลิมไม่ทันไร เขาก็ตรงไปหาเผ่าของเขาเพื่อทำการเชิญชวนพวกเขามาสู่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เพียงแค่เข้ารับอิสลามก็มีความกระหายเป็นอย่างยิ่งที่จะกลับไปสู่เผ่าของเขา แล้วเขาก็ได้หวนกลับไปในสภาพของนักดะวะฮฺ (นักทำงานอิสลาม) แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลายาวนานในฐานะคนเคร่งครัดศาสนา แล้วจึงค่อยก้าวไปสู่ขั้นตอนของงานดะอฺวะฮฺ (การทำงานอิสลาม)
บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านเราะซูล (ซ.ล.)นั้น จะปฏิบัติการหลังจากการเข้ารับอิสลาม เริ่มจากความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับกุฟฟารฺ (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) โดยการถอนตัวจากการเกี่ยวพันกับพวกเขาและแยกเส้นทางออกจากพวกเขาอย่างชัดเจน ดังตัวอย่าง (การเข้ารับอิสลาม) ของท่านษุมามะฮฺ บิน อุษาล (ร.ฎ.) หัวหน้าของพวกอัล-ยะมามะฮฺ ซึ่งถูกจับเป็นเชลยศึกและถูกนำตัวมามัดไว้ที่มัสญิด จากนั้นท่านนบี (ซ.ล.) ได้เสนอคำสอนอิสลามให้แก่เขา ในที่สุดอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็ประทานความสว่างสู่หัวใจของเขา เขาได้รับอิสลาม แล้วได้ตรงไปทำอุมเราะฮฺ เมื่อมาถึงมักกะฮฺ เขาก็ได้กล่าวกับพวกกุฟฟารฺ ว่า “จะไม่มีเมล็ดข้าวสาลีแม้แต่เมล็ดเดียวที่พวกท่านจะได้ รับจากอัล-ยะมามะฮฺ จนกว่าท่านเราะซูล (ซ.ล.) จะอนุญาต”
การประกาศแยกเส้นทางกับพวกกุฟฟารฺ และการตั้งกำแพงทางเศรษฐกิจและทุ่มเทศักยภาพที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อรับใช้งานดะอฺวะฮฺ ซึ่งได้เกิดขึ้นทันที เพราะว่าอีหม่านที่เข้มแข็งย่อมมีปฏิกิริยาออกมาดังข้างต้น
........................................
(จากหนังสือ : อีหม่านอ่อน)
เชค มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล – มุนัจญิด : เขียน
อับดุลมะญีด อับดุรรออูฟ : แปลและเรียบเรียง
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น