มุสลิมจะต้องไม่เหมือนกับศาสนิกในความเชื่ออื่นๆ เราจะไม่เอาตำนานมาคิดเป็นพิธีกรรมขึ้นเอง หรือคิดค้นศาสนกิจขึ้นมาเพื่อทำตามหรือรำลึกถึงตำนานเล่าขาน ถึงแม้บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม และเขามักไม่มีการแยกแยะระหว่างพิธีกรรมศาสนากับประเพณี เพราะกระบวนการเกิดมันมาทำนองเดียวกัน คือมีตำนานมาก่อน แล้วก็มีคิดค้นพิธีกรรมหรือประเพณี แล้วก็ทำสืบต่อกันมา เช่น สงกรานต์, ลอยกระทง, บั้งไฟพญานาค, ทำบุญ (เปรต) เดือน 10, บวช-บวชนาค, คริสต์มาส, วาเลนไทน์ ฯลฯ
ส่วนบางกลุ่มประเพณีนิยมของมุสลิมเรา ก็มีการเล่าขานว่า ในสมัยนบีนูห์ ขณะที่น้ำท่วมโลกและอยู่ในเรือนั้น ผู้คนมีการร่วมกันทำอาหาร นำขนมมากวนร่วมกัน ก็เลยเป็นที่มาของพิธีกรรมกวนขนมในวันอาชูรอ ซึ่งตำนานน้ำท่วมสมัยนบีนูห์นั้น เป็นเรื่องจริง แต่ในส่วนของการร่วมกวนขนมนั้นไม่มีรายงาน เพียงแต่หากวิเคราะห์ตามความเป็นจริงแล้วมันก็อาจเป็นไปได้ เพราะการอยู่ในเรือเป็นเวลาหลายวันก็ต้องมีการกินอาหาร มันก็อาจจะมีการร่วมกันทำอาหารหรือขนม (สมัยก่อนอาหารกับขนมไม่ได้แยกประเภทกัน) แต่ไม่มีในบัญญัติศาสนาให้มีพิธีกรรมนี้เกิดขึ้นเพื่อรำลึกถึงประวัติตรงนั้น
ซึ่งหากจะมีศาสนกิจใดๆที่ทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงตำนานแล้วไซร้ มันก็จะต้องเป็นบัญญัติที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานมายังนบีท่านต่างๆในแต่ละประชาชาติ ซึ่งสำหรับประชาชาตินบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยวะซัลลัมนั้น ไม่มีบัญญัติเรื่องกวนขนมวันอาชูรออยู่ในอัลกุรอานและซุนนะฮฺเลย แล้วก็ไม่พบรายงานว่าเป็นศาสนกิจในประชาชาติก่อนๆด้วย
เรามีตัวอย่างพิธีกรรมที่รำลึกอดีตหรือตำนานจริง ก็เช่น การทำฮัจญ์, ขว้างหลุมเสาหิน, เดินสะแอ, อุฎฮิยะฮฺหรือเชือดกุรบ่าน ที่เราทำสิ่งเหล่านี้เพราะมีบัญญัติในอิสลาม มีสั่งในอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยวะซัลลัม มีรูปแบบถูกระบุไว้อย่างชัดเจน
หรืออย่างในวันอาชูรอนี้ก็มีศาสนกิจที่รำลึกตำนานเช่นเดียวกัน และมีแบบฉบับจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยวะซัลลัม ด้วยนั่นก็คือ การถือศีลอด ซึ่งในประชาชาติของชาวยิวสมัยก่อนเขารำลึกถึงความเมตตาที่อัลลอฮฺให้ท่านนบีมูซาและพวกเขารอดพ้นจากฟาโรห์ แยกน้ำข้ามทะเลมาได้ แล้วก็มีวะฮีย์มาถึงท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยวะซัลลัม คือเป็นศาสนกิจสำหรับประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัดด้วย เพราะมีความใกล้ชิดนบีมูซามากกว่า มีสิทธิ์ในตัวท่านนบีมูซามากกว่า (เป็นนบีของเรา มากกว่าที่จะเรียกว่าเป็นนบีของยิว เพราะนบีมูซา อะลัยฮิสลาม ถือเป็นศาสนาเดียวกับเรา อะกีดะฮฺเดียวกับเรา) แต่ตรงนี้เป็นเพียงเหตุผล ซึ่งสำหรับการปฏิบัติของเรานั้น จะกระทำได้ จะถือศีลอดก็เพราะมีซุนนะฮฺได้บัญญัติไว้ ไม่ใช่เพราะเรามาคิดเอง ดังหะดีษที่รายงานว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มาที่มะดีนะฮฺ ท่านเห็นพวกยิวทำการถือศีลอดในวันอาชูรอ ดังนั้นท่านนบีจึงถามว่า นี่คือวันอะไร พวกเขากล่าวว่า นี่คือวันดี เป็นวันที่อัลลอฮฺได้ให้ท่านนบีของบนีอิสรออีล (นบีมูซา) รอดพ้นจากศัตรู ดังนั้นท่านนบีมูซาจึงถือศีลอด ท่านนบีจึงกล่าวว่า ฉันมีสิทธิ์มากกว่าพวกท่านเกี่ยวกับมูซา ดังนั้นท่านนบีจึงถือศีลอดวันอาชูรอและสั่งใช้ให้ถือศีลอด” (บันทึกโดยบุคอรีย์)
อัลลอฮฺ อัซซะวะญัล ผู้ซึ่งสร้างทุกสรรพสิ่ง ทุกชีวิต พระองค์ได้สร้างศาสนาสำหรับมนุษย์ แล้วก็ออกแบบพิธีกรรมไว้ครบถ้วน กำหนดวิธีอิบาดะฮฺที่มีรูปแบบไว้เรียบร้อย พิธีกรรม ศาสนกิจต่างๆ ไม่ได้เกิดจากความคิดของนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเอง ท่านนบีเผยแพร่ไว้เป็นแบบฉบับเพราะได้รับวะฮีย์จากอัลลอฮฺ ดังที่มีอายะฮฺกล่าวว่า “และเขามิได้พูดเองตามอารมณ์ สิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นวะฮีย์ที่ถูกประทานลงมา” (ซูเราะฮฺอันนัจมฺ อายะฮที่ 3-4) ท่านนบีไม่ได้คิดเองว่าละหมาดต้องทำท่าไหนบ้าง หรือเห็นว่าการสุญูดแบบนี้จะทำให้คลายเครียด หรือการถือศีลอดตั้งแต่แสงอาทิตย์ขึ้นยันอาทิตย์ตก จะเป็นผลดีกับร่างกาย หรือเห็นยิวทำได้ นบีก็ทำบ้าง คิดเองไม่ได้เลย แต่เป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺกำหนดรูปแบบมาทั้งสิ้น เหตุผลต่างๆที่เราพบว่าดี มันก็อยู่ ณ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ส่วนความมีเหตุผลที่สุดของมนุษย์ก็คือ ‘ทำแบบนี้ ปฏิบัติแบบนี้เพราะพระเจ้าบัญญัติไว้’ (ส่วนผลพลอยได้ต่างๆ จะค้นพบหรือไม่ค้นพบไม่ใช่ประเด็น) การกระทำโดยไม่มีใครบัญญัติ กระทำเพราะต้องรักษาประเพณีไว้ แบบนี้อิสลามถือว่างมงายไร้เหตุผล ซึ่งตรงนี้ต่างกับศาสนิกอื่นๆ และมีบางกลุ่มความเชื่อที่ปฏิบัติพิธีกรรมหรือประเพณีอย่างละเลิกไม่ได้ ต้องอนุรักษ์ ต้องรักษาไว้ โดยที่ตนเองก็เชื่อว่าไม่มีผลต่อบาปบุญคุณโทษ แค่ทำตามวินัย เช่นการกำหนดรูปแบบและสีของเครื่องนุ่งห่ม, การโกนผม ฯลฯ
ฉะนั้นเราเองยิ่งล้ำหน้าท่านนบีไม่ได้ไปใหญ่ มาคิดเองว่าแบบนั้นดี แบบนี้สวยงาม แล้วเอามาเป็นพิธีกรรม ซึ่งถือว่าต้องห้ามโดยเด็ดขาด แม้แต่เราเองหากออกแบบสิ่งใดไว้ แล้วให้คนทำตามสั่ง แต่คนกลับทำสิ่งนอกสั่ง คิดเองเออเองว่าดี ต่อเติมอย่างที่เราไม่ต้องการ เราก็ยังไม่พอใจ แล้วนี่คือศาสนาอิสลาม ศาสนาที่สมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว ก็ห้ามที่จะคิดค้นพิธีกรรมใดๆเพิ่มขึ้นมาเอง (ยกเว้นการกระทำความดีใดๆโดยไม่อ้างเป็นรูปแบบจากศาสนา) เราไม่ได้เปรียบเทียบความคิดเรากับพระเจ้า เพราะเทียบกันไม่ได้ และคุณลักษณะต่างกันทุกแง่มุม แต่อัลลอฮฺ อัซซะวะญัล ได้แจ้งไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้วว่าห้ามต่อเติม ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่า อิสลามห้ามมีการต่อเติม ดังหะดีษที่กล่าวว่า “...และทุกๆบิดอะฮฺนั้นหลงผิด และทุกๆความหลงผิดนั้นอยู่ในนรก” (บันทึกโดยอัน-นาสาอีย์)
ศอฮาบะฮฺอย่างท่านอิบนุ อับบาส ได้กล่าวว่า “แท้จริงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงเกลียดชังที่สุดคือบิดอะฮฺ” และได้กล่าวอีกว่า “เมื่อใดบิดอะฮฺถูกสร้างขึ้น เมื่อนั้นซุนนะฮฺก็ตาย และจะเป็นเช่นนี้จนกระทั่งบิดอะฮฺดำรงอยู่และซุนนะฮฺได้ตายจากไป” เหมือนที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ผลจากที่ผู้คนละทิ้งซุนนะฮฺ แล้วประดิษฐ์ของใหม่มาแทน ยุคของเราจึงกลายเป็นว่า มีซุนนะฮฺไม่ปฏิบัติ และอนุรักษ์รักษาสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ
วันนี้สำหรับตัวเรา ท่านผู้อ่านหากยังมีการกระทำใดๆที่ผิด ค่อยๆแก้ไขกันไปทีละเรื่องสองเรื่อง วันนี้หากเรายังเปลี่ยนแปลงคนอื่นไม่ได้ ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ละทิ้งบิดอะฮฺ แล้วหันไปรักษาซุนนะฮฺ และที่น่าเสียดายคือซุนนะฮฺบางอย่างนั้นมีปีละครั้ง หรือนานๆมีที ..ไม่เป็นไร ตั้งใจเริ่มกันใหม่โอกาสหน้า
......................
**สำหรับภาพประกอบที่เป็นภาพวาดนั้น เป็นการจำลองจากจินตนาการของชาวตะวันตก อาจไม่เหมือนตามเหตุการณ์จริง และนำเสนอเพื่อให้เห็นบางมุมว่า ความเชื่อของเขาเรื่องการแต่งกายของชาวยิวในอดีตนั้น ก็แทบจะไม่ต่างจากมุสลิมในปัจจุบัน**
.....................
โดย อัซซาบิกูน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น