อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อีหม่านอ่อน



...... อาการ ..........

โรคที่ก่อให้เกิดอีหม่านอ่อนนั้นมีหลายโรคและปรากฏอาการที่หลากหลาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

13. พิจารณากิจการต่าง ๆ เพียงบาปหรือไม่บาปเท่านั้น

อาการหนึ่งของอีหม่านอ่อน ก็คือ การที่คนหนึ่งพิจารณาเรื่องใดเขาจะมุ่งประเด็นเพียงแค่ว่ามันบาปหรือไม่บาปเท่านั้น และไม่ได้ละสายตาจากการกระทำที่น่ารังเกียจ ดังนั้น บางคนเมื่อต้องการจะกระทำอะไรสักอย่าง เขาจะไม่ถามว่างานนั้นถูกต้องตามหลักคุณธรรมของอิสลามหรือไม่ ? แต่เขาจะถามว่างานนั้นนับว่าเป็นเรื่องบาปหรือไม่ ?, งานนั้นมันฮะรอม (ต้องห้าม) หรือ “เพียง” แค่ มักรูฮฺ (น่ารังเกียจ)

การตั้งคำถามในทำนองนี้นำไปสู่หลุมพรางของ ซุบุฮาตฺ (สิ่งน่าเคลือบแคลง) และมักรุฮฺ และไม่วันใดก็วันหนึ่งมันจะนำเขาไปติดกับดักของสิ่งที่ฮะรอม คนที่คิดเช่นนี้ ไม่มีอะไรจะยับยั้งเขาให้กระทำสิ่งมักรุฮฺ หรือ ซุบฮษตฺ ตราบใดที่สิ่งนั้นยังไม่ถึงขั้นฮะรอม นี่เป็นเรื่องที่ท่านนบี (ซ.ล.) ได้แจ้งให้ทราบไว้ว่า

“คนที่ตกไปสู่การกระทำที่คลุมเครือ เขาได้ตกไปสู่การกระทำที่ต้องห้าม เปรียบเหมือนกับคนเลี้ยงสัตว์รอบ ๆ เขตหวงห้าม ไม่ช้ามันก็จะเข้าไปในเขตหวงห้ามนั้น” รายงาน โดย อัล-บุคอรีย์ มุสลิม สำนวนเป็นของ มุสลิม หมายเลข 1599

บางคนเมื่อเขาขอคำฟัตวาในเรื่องใด และได้รับคำตอบว่า ฮะรอม เขาจะถามต่อว่า มันบาปมากหรือเปล่า ? จะมีบาปตามมาสักเท่าไร ? คำถามเช่นนี้แสดงว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำตัวให้ออกห่างจากความชั่วร้ายต่าง ๆ แต่เขากลับเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปกระทำขั้นตอนแรกของสิ่งที่ ฮะรอม และเขามองความผิดจ่าง ๆ เป็นสิ่งเล็กน้อย ผลลัพธ์ของมันก็คือ การละเมิดต่อสิ่งต้องห้ามต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้กำหนดไว้ในที่สุดเครื่องกั้นขวางระหว่างเขากับการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็หายไป ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านเราะซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ในฮะดีษเศาะฮีฮฺบทหนึ่งว่า

“แน่แท้ ฉันได้รับรู้ถึงกลุ่มชนต่าง ๆ จากประชาชาติของฉัน พวกเขาได้มาถึงวันกิยามะฮฺด้วยความดีงามต่าง ๆ ด้วยขนาดเท่ากับภูเขาติฮามะฮฺสีขาว แต่แล้วอัลลออฺ (ซ.บ.) ได้ทำให้มันสลายกลายเป็นฝุ่นที่ปลิวว่อน” ท่านเษาบานถามว่า “โอ้ เราะซูล ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) โปรดบอกลักษณะของพวกเขา โปรดอธิบายถึงพวกเขา เราจะได้ไม่เป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา (เพราะ) เรานั้นไม่ทราบ”

ท่านเราะซูล (ซ.บ.) ได้กล่าวว่า “พวกเขาคือพี่น้องของพวกท่าน และพวกเขาเหมือนกับพวกท่าน พวกเขาละหมาดในยามค่ำคืนเช่นเดียวกบพวกท่าน แต่ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มชนที่หากว่ามีโอกาสที่จะละเมิดขอบเขตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) พวกเขาจะละเมิดมัน” รายงานโดย อิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 4245 ท่านกล่าวไว้ใน อัซ-ซะวาอิดว่า สายรายของมันเศาะฮีฮฺ บุคคลที่รายงานเชื่อถือได้ ดูเศาะฮีฮฺ ญามิอฺ 5028

ฉะนั้น ท่านจะพบว่าบุคคลเช่นนี้ได้กระทำสิ่งต้องห้ามโดยไม่รอช้าและไม่ฉุกคิด ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นผู้ที่เลวร้ายกว่าผู้ที่กระทำสิ่งต้องห้าม หลังจากรีรอและยั้งคิด บุคคลทั้งสองจำพวกนี้ตกอยู่ในอันตราย แต่บุคคลจำพวกแรกนั้นอันตรายยิ่งกว่าบุคคลจำพวกที่สอง

บุคคลประเภทนี้มองเห็นบาปเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากอีหม่านที่อ่อนแอของเขา เขาไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เขาได้ทำนั้นเป็นความชั่วร้าย ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านอิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.ฉ ได้อธิบายความแตกต่างระหว่างลักษณะของผู้มีอีหม่าน และลักษณะของมุนาฟิก (กลับกลอก) ไว้ว่า

“ผู้มีอีหม่านนั้นมองเห็นบาปของเขา เสมือนหนึ่งเขานั่งอยู่ใต้ภูเขา ซึ่งเขากลัวว่ามันจะถล่มมาทับเขา แต่คนชั่วมองเห็นบาปของเขาเสมือนแมลงวันที่บินผ่านจมูกของเขา แล้วเขาก็ปัดมันไป” รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ อัล-ฟัตหฺ 11/102 ดูจะลีก อัต-ตะอฺลีก 5/136 โดย อัล-มักตับ อัล-อิสลามียฺ

........................................
(จากหนังสือ : อีหม่านอ่อน)
เชค มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล – มุนัจญิด : เขียน
อับดุลมะญีด อับดุรรออูฟ : แปลและเรียบเรียง
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น