อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ซูเราะฮฺ อัต – ตีน : บทนำ


**** บทนำ ****

ชื่อ : ซูเราะฮฺนี้ได้ชื่อมาจากคำว่า التِّينِ (อัต – ตีน) ในอายะฮฺแรก

ระยะเวลาของการประทานซูเราะฮฺ : เกาะตาด๊ะฮฺ นักวิชาการคนสำคัญคนหนึ่งกล่าวว่า ซูเราะฮฺนี้เป็นซูเราะฮฺมะดะนียะฮฺ แต่อิบนุอับบาสก็มีความเห็นแตกต่างกันว่าเป็นซูเราะฮฺ มักกียะฮฺ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่าเป็นซูเราะฮฺที่ถูกประทานลงมาที่มักกะฮฺ โดยจะเห็นได้จากการใช้คำว่า “ฮาซัล บะละดิล อะมีน” (เมืองแห่งความสงบนี้) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมักกะฮฺ นอกจากนี้แล้ว การศึกษาเนื้อหาของซูเราะฮฺก็แสดงให้เห็นว่าซูเราะฮฺนี้ไดถูกประทานลงมาในมักกะฮฺ เพราะไม่มีสัญญาณใด ๆ ชี้ให้เห็นว่าระหว่างที่มีการประทานซูเราะฮฺนี้ลงมานั้น ได้มีความขัดแย้งระหว่างอิสลามกับการปฏิเสธเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ลักษณะของถ้อยคำในซูเราะฮฺนี้ยังได้แสดงให้เห็นว่ามันได้ถูกประทานมาในช่วงต้น ๆ ในมักกะฮฺด้วย เพราะถ้อยคำที่ใช้เป็นถ้อยคำกระชับที่เตือนให้ผู้คนตระหนักถึงการตัดสินใจในโลกหน้าว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นสิ่งที่มีเหตุผล
เนื้อหาสาระ : สาระสำคัญของซูเราะฮฺนี้ก็คือ เรื่องรางวัลตอบแทนและการลงโทษในโลกหน้า เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงได้มีการสาบานด้วยถิ่นที่อยู่ของนบีคนสำคัญบางคน และได้มีการกล่าวว่าอัลลอฮฺได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาในลักษณะที่ดีที่สุด ถึงแม้ว่าในกรุอานหลายแห่ง ความจริงดังกล่าวนี้จะถูกกล่าวไว้ในลักษณะต่าง ๆ แล้วก็ตาม เช่น “อัลลอฮฺได้ทรงแต่งตั้งมนุษย์ให้เป็นตัวแทนของพระองค์บนหน้าแผ่นดินและได้บัญชามลาอิกะฮฺให้ก้มกราบต่อเขา” (อัลบะกอเราะฮฺ : 30, 34, อัล-อันอาม : 165, อัล-อะอฺรอฟ : 11, อัล-ฮิจญ์ : 28,29, อัน-นัมลุ : 62, ศอด : 71-73) และในอีกที่หนึ่งได้กล่าวว่า : “มนุษย์ได้เป็นผู้แบกรับความไว้วางใจของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งแผ่นดินและชั้นฟ้าและภูเขาไม่มีอำนาจที่จะแบก” (อัล-อะฮฺซาบ : 72) และ : “เราได้ให้เกียรติลูกหลานของอาดัมและยกย่องพวกเขาให้เหนือกว่าสิ่งที่ถูกสร้างอื่น ๆ ของเรา” (นบีอิสรออีล : 70) แต่ในที่นี้ก็ยังได้มีมการกล่าวคำสาบานด้วยถิ่นที่อยู่ของนบีบางคนว่า มนุษย์ได้ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบที่ดีที่สุดเพื่อเป็นการยืนยันว่ามนุษย์ได้รับคุณสมบัติดีเลิศที่สุดที่ทำให้มนุษย์สามารถได้รับตำแหน่งสูงสุดแห่งการเป็นนบี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงเกินกว่าที่สิ่งถูกสร้างอื่นใดจะได้รับ
หลังจากนั้นก็ได้มีการกล่าวว่ามนุษย์มีสองประเภทด้วยกัน นั่นคือ ประเภทที่ถึงแม้จะมีรูปแบบดีที่สุด แต่ก็ยังคล้อยไปตามความชั่วและความเสื่อมทรามทางศีลธรรมซึ่งเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาตกต่ำลงไปอีก และอีกประเภทหนึ่งก็คือคนที่ยึดถือแนวทางแห่งความศรัทธาและความดียังคงรอดพ้นจากความตกต่ำและได้รับตำแหน่งอันมีเกียรติสมกับที่เขาได้ถูกสร้างมาในรูปแบบที่ดีที่สุด การที่มนุษยชาติมีคนสองประเภทนี้อยู่เป็นความจริงที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้เพราะมันเป็นที่พบเห็นได้ในสังคมทุกแห่งตลอดเวลา
กล่าวโดยสรุปก็คือ ความจริงดังกล่าวข้างต้นนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นข้อโต้แย้งเพื่อพิสูจน์ว่า เมื่อในสังคมมนุษย์มีคนสองประเภทที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนดังที่กล่าวมานี้ เราจะปฏิเสธการตัดสินและการตอบแทนการกระทำได้อย่างไร ? ถ้าหากความเสื่อมทรามทางศีลธรรมไม่ถูกลงโทษและความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมไม่ได้รับรางวัลตอบแทน และจุดหมายปลายทางของคนทั้งสองประเภทคือฝุ่นธุลีเหมือนกันแล้ว มันก็หมายความว่าไม่มีความยุติธรรมในอาณาจักรของพระเจ้า ในขณะที่ธรรมชาติและสามัญสำนึกของมนุษย์ต้องการให้ศาลรักษาความยุติธรรม ดังนั้น เป็นไปได้อย่างไรที่ใครจะมาคิดว่าอัลลอฮฺผู้ทรงยุติธรรมที่สุดในบรรดาผู้พิพากษาทั้งหลายจะไม่รักษาความยุติธรรม ? ****


..................................................
จากหนังสือ : ตัฟฮีมุลกุรอาน ความหมาย คัมภีร์ อัล-กุรอาน เล่ม 8 //อรรถาธิบายโดย : เมาลานา ซัยยิด อบุล อะลา เมาดูดี // แปลโดย : บรรจง บินกาซัน
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น