อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเพ้อฝันยาวไกล



(طول الأمل)

การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...

พระองค์อัลลอฮฺ ได้ทรงติเตียนบุคคลหลายกลุ่มที่วาดฝันหวานอย่างยาวไกลจนละเลยการงานเพื่ออนาคตในโลกอาคิเราะฮฺ ซึ่งจู่ๆ ความตายก็เข้ามาเยือนโดยที่พวกอยู่ในสภาพหลงระเริง พวกเขาวาดความฝันอย่างลมๆ แล้งว่าหากได้รับการต่ออายุไปอีกหน่อย พวกเขา คงสามารถกู้ภาระการงานที่ละเลยไปมาทำใหม่ได้ แต่มันสายเกินแก้เสียแล้ว

พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿ رُّبَمَا يَوَدُّ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ لَوۡ كَانُواْ مُسۡلِمِينَ ٢ ذَرۡهُمۡ يَأۡكُلُواْ وَيَتَمَتَّعُواْ وَيُلۡهِهِمُ ٱلۡأَمَلُۖ فَسَوۡفَ يَعۡلَمُونَ ٣ ﴾ [الحجر: ٢-٣]
ความว่า : “บางครั้ง บรรดาผู้ไม่ศรัทธานั้นได้ฝันหวานนึกอยากจะเป็นมุสลิม เจ้าจงปล่อยให้พวกเขากินไปเถอะ เฮฮาไปเถอะ และให้ความฝันหวานขับกล่อมพวกเขาไปเถอะ อีกไม่ช้าพวกเขาก็จะรู้เอง” (อัล-หิจญ์รฺ :2-3)

ฏูลุลอะมัล คือ ความคร่ำเคร่งในการแสวงหาและกระทำการเพื่อประโยชน์ทางดุนยาพร้อมกับหันหลังอย่างมากให้กับโลกอาคิเราะฮฺ (สารานุกรมนัฎเราะตุนนะอีม เรื่องมะการิมุ อัคลาก อัร-เราะสูล อัล-กะรีม เล่มที่ 11 หน้า 4857)

ทั้งนี้ ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้บอกว่ามีหลายคนที่ฝันหวานยาวไกลกว่าอายุที่มี
บุร็อยดะฮฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- ได้รายงานว่า
عن بريدة رضي الله عنه قَالَ خَطَّ النَّبِىُّ - صلى الله عليه وسلم - خُطُوطًا فَقَالَ « هَذَا الأَمَلُ وَهَذَا أَجَلُهُ ، فَبَيْنَمَا هُوَ كَذَلِكَ إِذْ جَاءَهُ الْخَطُّ الأَقْرَبُ » [البخاري برقم 6418]
ความว่า : ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้ขีดเส้นหลายเส้นและบอกว่านี่คือความใฝ่ฝันและนี่อายุขัยของเขา ซึ่งในขณะที่เขากำลังหลงอยู่ในความฝันอย่างนั้น อยู่ๆ เส้นที่ใกล้กว่า(หมายถึงความตาย)ก็มาหาเขา (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 4หน้า 176 หมายเลข 6418)

พฤติกรรมที่น่าแปลกของมนุษย์ประการหนึ่งก็คือ ยิ่งใกล้ถึงวันตาย ความฝันก็ยิ่งยาวไกล ความต้องการและปรารถนาในดุนยาก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ไม่มีใครรอดพ้นจากสิ่งนี้เว้นแต่ผู้ที่พระองค์อัลลอฮฺทรงคุ้มครอง ซึ่งมีน้อยมาก
อบู ฮุร็อยเราะฮฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- ได้รายงานว่า : ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :
«لاَ يَزَالُ قَلْبُ الْكَبِيرِ شَابًّا فِي اثْنَتَيْنِ: فِي حُبِّ الدُّنْيَا وَطُولِ الأَمَلِ» [البخاري برقم 7420]
ความว่า : หัวใจของคนแก่จะไม่แก่ในสองเรื่อง คือ ในเรื่องรักดุนยาและฝันหวานยาวไกล(เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 4 หน้า 176 หมายเลข 7420)

การฝันหวานยาวไกล คนส่วนใหญ่มักจะถอนตัวไม่ได้ เพราะหากไม่ใช่ความฝันหวานยาวไกลแล้ว ทุกคนก็คงไม่มีความสุขกับชีวิตเลย กวีอาหรับได้ร่ายกลอนว่า
أعلل النفس بالآمال أرقبها ما أضيقَ العيشَ لولا فسحة الأمل
ฉันปล่อยให้ใจเพ้ออยู่กับความฝันหวานยาวไกล และคอยเฝ้ามองดูมัน
ชีวิตช่างคับแคบเหลือเกิน หากไม่ใช่เพราะความกว้างไกลของการฝันหวาน

อิบนุ หะญัรฺ ได้กล่าวมีความว่า : ความฝันหวานนั้นมีคุณค่าอย่างลึกซึ้ง เพราะหากไม่ใช่เพราะมัน ทุกคนก็คงไม่มีความสุขในชีวิต ไม่มีอารมณ์ที่จะทำงานดุนยาใดๆ เลย เพียงแต่ว่าที่ถือเป็นข้อเสียและน่ารังเกียจก็คือ การฝันหวานอย่างเลื่อนลอยและไม่มีการเตรียมตัวเพื่ออาคิเราะฮฺ ซึ่งหากผู้ใดไม่เป็นอย่างนั้น ศาสนาก็ไม่บังคับให้เขาลบล้างความฝันหวานนั้น (ฟัตหฺ อัล-บารียฺ เล่มที่ 11 หน้า 237 )
คนมีปัญญาจึงเป็นคนที่ไม่ถูกความฝันหวานหลอกและกล่อมให้ลืมความสุขสบายในอาคิเราะฮฺที่พระองค์อัลลอฮฺเตรียมไว้สำหรับทุกคน พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿كُلُّ نَفۡسٖ ذَآئِقَةُ ٱلۡمَوۡتِۗ وَإِنَّمَا تُوَفَّوۡنَ أُجُورَكُمۡ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِۖ فَمَن زُحۡزِحَ عَنِ ٱلنَّارِ وَأُدۡخِلَ ٱلۡجَنَّةَ فَقَدۡ فَازَۗ وَمَا ٱلۡحَيَوٰةُ ٱلدُّنۡيَآ إِلَّا مَتَٰعُ ٱلۡغُرُورِ ١٨٥﴾ [آل عمران: ١٨٥]
ความว่า : “แต่ละชีวิตนั้นจะได้ลิ้มรสแห่งความตาย และในวันอาคิเราะฮฺเท่านั้นที่พวกเจ้าจะได้รับผลตอบแทนอย่างสมบูรณ์ โดยผู้ใดที่ถูกกระชากออกจากไฟนรกและถูกผลักให้เข้าสวรรค์แล้วไซร้ แน่นอน ผู้นั้นก็ประสบความสำเร็จแล้ว ชีวิตในโลกนี้นั้น มิใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นเพียงสิ่งหลอกลวงเท่านั้น” (อาล อิมรอน : 185)


อับดุลลอฮฺ บินอุมัรฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- ได้รายงานว่า
أَخَذَ رَسُولُ اللَّهِ - صلى الله عليه وسلم - بِمَنْكِبِى فَقَالَ «كُنْ فِى الدُّنْيَا كَأَنَّكَ غَرِيبٌ ، أَوْ عَابِرُ سَبِيلٍ» . وَكَانَ ابْنُ عُمَرَ يَقُولُ إذا أصبحت فلا تنتظر المساء وإِذَا أَمْسَيْتَ فَلاَ تَنْتَظِرِ الصَّبَاحَ ، وَخُذْ مِنْ صِحَّتِكَ لِمَرَضِكَ ، وَمِنْ حَيَاتِكَ لِمَوْتِكَ. [البخاري برقم 6416]
ความว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้จับไหล่ของฉันทั้งสองข้างและบอกว่า “เจ้าจงอยู่ในดุนยาเหมือนกับเจ้าเป็นคนแปลกหน้าหรือคนเดินผ่านทาง” และท่านอิบนุ อุมัรฺ มักกล่าวอยู่เสมอว่า : เมื่อถึงเช้า ท่านจงอย่าคอยค่ำ เมื่อถึงค่ำท่านจงอย่าคอยเช้า จงฉกฉวยตอนแข็งแรงไว้เผื่อตอนเจ็บไข้ และฉกฉวยตอนมีชีวิตไว้เผื่อตอนสิ้นใจ (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 4 หน้า 176 หมายเลข 6416)

ในหนังสือของอัต-ติรฺมิซียฺมีเสริมว่าท่านอับดุลลอฮฺยังกล่าวอีกว่า
وَعُدَّ نَفْسَكَ مِنْ أَهْلِ الْقُبُورِ، فَإِنَّكَ لاَ تَدْرِى يَا عَبْدَ اللَّهِ مَا اسْمُكَ غَدًا. [الترمذي برقم 2323]
ความว่า: ท่านจงคิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งในจำนวนชาวกุโบร์ เพราะท่านไม่รู้หรอก โอ้ อับดุลลอฮฺว่าพรุ่งนี้ท่านจะมีชื่อว่ากระไร (สุนัน อัต-ติรฺมิซียฺ เล่มที่ 4 หน้า 568 หมายเลข 2333 )

อิบนุ เราะญับ ได้กล่าวว่า : หะดีษนี้เป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญในเรื่องก็อศฺรุลอะมัล (การลดการใฝ่ฝันให้สั้น) ซึ่งคนมุอ์มินผู้ศรัทธาไม่ควรจะยึดติดกับดุนยาเป็นที่ตั้ง แต่เขาควรใช้ชีวิตเหมือนกับอยู่บนช่องผู้โดยสารที่เตรียมพร้อมสำภาระเพื่อออกเดินทาง (ญามิอฺ อัล-อุลูม วัล หิกัม หน้า 377)
มีชายคนหนึ่งเข้ามาพบอบู ซัรฺ แล้วสอดสายตาจ้องมองของในบ้านท่านและถามว่า โอ้ อบู ซัรฺ สิ่งของเครื่องใช้ของท่านอยู่ที่ไหนล่ะ? ท่านตอบว่า ยังมีบ้านอีกหลังหนึ่งที่เรากำลังจะไป เขาถามว่า แล้วท่านจำเป็นจัดเตรียมสำภาระตั้งแต่เดียวนี้เลยเชียวหรือ? ท่านตอบว่า ก็เจ้าของบ้านที่โน่นเขาไม่เตรียมอะไรให้เราเลยนี่ (ญามิอฺ อัล-อุลูม วัลหิกัม หน้า 377)
มีรายงานจากอัล-หะสัน (อัล-บัศรีย์) ว่า :
عَنِ الْحَسَنِ قَالَ لَمَّا احْتُضِرَ سَلْمَانُ بَكَى وَقَالَ إِنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَهِدَ إِلَيْنَا عَهْدًا فَتَرَكْنَا مَا عَهِدَ إِلَيْنَا أَنْ يَكُونَ بُلْغَةُ أَحَدِنَا مِنْ الدُّنْيَا كَزَادِ الرَّاكِبِ قَالَ ثُمَّ نَظَرْنَا فِيمَا تَرَكَ فَإِذَا قِيمَةُ مَا تَرَكَ بِضْعَةٌ وَعِشْرُونَ دِرْهَمًا أَوْ بِضْعَةٌ وَثَلَاثُونَ دِرْهَمًا. [مسند أحمد 5/438، ورواه ابن حبان برقم 2480 وقال حديث صحيح]
ความว่า เมื่อคราวที่สัลมาน อัล-ฟาริสียฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- กำลังจะสิ้นใจ ท่านร้องไห้พร้อมกับพูดว่า แท้จริงแล้วท่านเราะสูลุลลอฮฺ -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้สั่งเสียสิ่งหนึ่งกับพวกเรา แล้วพวกเราก็ลืมสิ่งที่ท่านสั่งเสีย ที่สั่งให้พวกเรามีเสบียงดุนยาเท่าเพียงเสบียงคนเดินทางที่ขี่พาหนะเท่านั้น อัล-หะสันได้รายงานต่อไปว่า : แล้วพวกเราก็มองหามรดกที่ท่านทิ้งไว้ ปรากฏว่าราคาของมรดกที่ท่านทิ้งไว้มีเพียงยี่สิบดิรฺฮัม หรือ สามสิบดิรฺฮัมกว่าๆ เท่านั้นเอง (มุสนัด อิหม่ามอะหฺมัด เล่มที่ 5 หน้า 438 และ อิบนุหิบบานกล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺหมายเลข 2480)


คนที่มีปัญญาจึงควรฉวยโอกาสตอนที่มีชีวิต ซึ่งก็ไม่แน่ เขาอาจมีชีวิตเพียงอีกไม่วันเท่านั้น
อิบนุล ก็อยยิม -เราะหิมะฮุลลอฮฺ- ได้กล่าวว่า : สิ่งที่ผ่านไปเป็นความฝันจริง สิ่งที่ยังไม่มาเป็นความฝันหลอก แล้วเวลาก็เสียไปในช่วงทั้งสองฝันนี้ (อ้างจากหนังสือนัฎเราะตุน นะอีม เล่มที่ 10 หน้า 4865)
การฝันหวานยาวไกลยังทำให้เกิดความเกียจคร้านจะภักดีตนต่อพระองค์อัลลอฮฺและประวิงเวลาการเตาบัตกลับตัว ทำให้มุ่งหวังเพียงดุนยาและลืมการกระทำเพื่ออาคิเราะฮฺ ทำให้หัวใจกระด้างสกปรก เพราะหัวใจจะอ่อนนุ่มและสะอาดได้ก็ด้วยเพียงการระลึกถึงความตาย คิดถึงหลุมฝังศพ บาปบุญคุณโทษและความโกลาหลของวันกิยามะฮฺ ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿فَطَالَ عَلَيۡهِمُ ٱلۡأَمَدُ فَقَسَتۡ قُلُوبُهُمۡۖ﴾ [الحديد: ١٦]
ความว่า : “แล้วช่วงเวลาได้เนิ่นนานเกินไปแก่พวกเขา จิตใจของพวกเขาจึงแข็งกระด้าง” (อัล-หะดีด :16)


ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอะลียฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- จึงกล่าวว่า :
عَنْ عَلِيٍّ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ، قَالَ: " إِنَّ أَخْوَفَ مَا أَخَافُ عَلَيْكُمُ اتِّبَاعُ الْهَوَى، وَطُولُ الْأَمَلِ، أَمَّا اتِّبَاعُ الْهَوَى فَأَنَّهُ يَصُدُّ عَنِ الْحَقِّ، وَأَمَّا طُولُ الْأَمَلِ فَيُنْسِي الْآخِرَةَ "وَقَالَ عَلِىٌّ ارْتَحَلَتِ الدُّنْيَا مُدْبِرَةً ، وَارْتَحَلَتِ الآخِرَةُ مُقْبِلَةً ، وَلِكُلِّ وَاحِدَةٍ مِنْهُمَا بَنُونَ ، فَكُونُوا مِنْ أَبْنَاءِ الآخِرَةِ ، وَلاَ تَكُونُوا مِنْ أَبْنَاءِ الدُّنْيَا ، فَإِنَّ الْيَوْمَ عَمَلٌ وَلاَ حِسَابَ ، وَغَدًا حِسَابٌ وَلاَ عَمَلَ.
ความว่า แท้จริง สิ่งที่ฉันกลัวจะเกิดกับพวกท่านมากที่สุดก็คือ การหลงตามอารมณ์และการฝันหวานยาวไกล ซึ่งการหลงตามอารมณ์นั้นจะทำให้เข้าไม่ถึงความสัจจริง ส่วนการฝันหวานยาวไกลทำให้ลืมวันอาคิเราะฮฺ ดุนยาผ่านพ้นไปแล้ว อาคิเราะฮฺกำลังใกล้จะมาถึง พวกท่านจึงอย่าเป็นลูกหม้อลูกหาบของดุนยาให้มากนัก เพราะวันนี้คือวันแห่งการทำงาน ยังไม่ใช่การตรวจสอบ แต่พรุ่งนี้คือวันแห่งการตรวจสอบ ไม่มีการทำงานอีกต่อไป (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 4 หน้า 176 หมายเลข 6416)


والحمد لله رب العالمين ،
وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين .

..................
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

แปลโดย : ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
อัล-มุลกอฮฺ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น