1. จงยำเกรงอัลลอฮฺ(ซบ.)ในทุกสภาวการณ์และสถานที่ พึงทราบว่าการยำเกรงอัลลอฮฺคือรากฐานแห่งความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า ผลแห่งความยำเกรงอัลลอฮฺคือ การหมั่นกระทำอิบาดัต(ภักดี)ต่ออัลลอฮฺผู้ทรงเอกาด้วยความบริสุทธิ์ใจ(อิคลาศ)ไม่มีการตั้งภาคีร่วมกับอัลลอฮฺ ทั้งนี้เนื่องจากอิคลาศคือ กุญแจสำคัญสำหรับอัลลอฮฺที่จะทรงตอบรับการกระทำของบ่าวและเป็นวิญญาณที่สร้างชีวิตชีวาแก่ความวิริยะอุตสาหะทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยสู่ความสำเร็จของชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้า (แด่พระองค์เท่านั้นที่เราภักดี - จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบผลสำเร็จ)
2. จงขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺในทุกกิจการของท่านไม่ว่าจะเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในโลกนี้หรือโลกหน้า และจงมั่นใจว่าอัลลอฮฺเท่านั้นที่มีความสามารถตอบสนองความต้องการทุกประการของเราและอัลลอฮฺทรงตอบรับการขอความช่วยเหลือจากบ่าวของพระองค์อย่างแน่นอน (เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเราขอความช่วยเหลือ)
3. จงตั้งใจทำงานด้วยกุศลเจตนาและบริสุทธิ์ใจแด่อัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ในทุกครั้งที่ท่านเริ่มต้นทำงาน ด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามกรอบของอิสลามและยึดมั่นในซุนนะฮฺท่านนบีมุฮำหมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) จงตั้งความหวังและวิสัยทัศน์ของท่านให้ไกลสุดถึงโลกหน้า และจงมุ่งกระทำกิจการของท่านให้สูงส่งทัดเทียมและเหมาะสมกับสวรรค์ฟิรดาวส์ แน่แท้ท่านจะได้รับเกียติอันสูงส่งทั้งโลกนี้และโลกหน้า – อินชาอัลลอฮฺ (ขอพระองค์ทรงให้ทางนำแก่พวกเราซึ่งแนวทางอันเที่ยงตรง ซึ่งเป็นแนวทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ทรงโปรดปรานแก่พวกเขา)
4. จงห่างไกลการกระทำที่นำไปสู่การตั้งภาคี (ชิรกฺ) การงมงาย (คุรอฟาต) การอุตริในศาสนา (บิดอะฮฺ) อบายมุข (มะอฺศิยะอฺ) สิ่งลามก (ฟัหฺชาอฺ) และสิ่งอกุศล (มุนกัร) ทั้งปวง เพราะการกระทำดังกล่าว คือ กิจวัตรของเหล่ามารร้าย (ชัยฏอน) ที่พยายามผลักไสท่านเข้าสู่ขุมแห่งความพินาศ ความเสื่อมถอย และความล่มสลายทั้งโลกนี้และโลกหน้า (มิใช่แนวทางของพวกที่ถูกกริ้ว และมิใช่แนวทางของพวกที่หลงผิด)
5. จงมุ่งมั่นใฝ่หาความรู้ที่ดีงามด้วยความวิริยะอุตสาหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่มีรากฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ ด้วยวิธีการขอพร(ดุอา)จากอัลลอฮฺโดยอาศัยแนวทางที่สามารถเพิ่มพูนความรู้ไม่ว่าด้วยวิธีการอ่าน การจดบันทึกและการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม พร้อมๆกับการใช้ประโยชน์อย่างเท่าทันกับวิทยาการสมัยใหม่ พึงทราบว่าความรู้มีหลายประเภทอาทิ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอัลลอฮฺ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺหรือการเคารพภักดีอัลลอฮฺ ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ถูกสร้างโดยอัลลอฮฺซึ่งเกี่ยวโยงกับการสร้างความสัมพันธ์และเรียนรู้ภาษาต่างๆที่จำเป็นสำหรับการสื่อสาร นอกจากนี้ยังมีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการจัดการ(คิลาฟะฮฺ) การพัฒนาและการบริหารโลกด้วยความบริสุทธิ์ใจและมีขันติ ทั้งนี้เนื่องจากความรู้คือแสงประทีปที่ส่องแสงสติปัญญา เป็นผู้นำที่คอยกระตุ้นให้เกิดการกระทำและกิจการความดี ตลอดจนเป็นพาหนะที่นำพาผู้รู้สู่การมีเกียรติอันสูงส่งทั้งในโลกนี้และโลกหน้า (โอ้อัลลอฮฺได้โปรดเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ฉันเถิด)
6. จงพยายามให้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางภาษาต่างๆ ดังนี้
ก. ภาษาอาหรับ เพราะเป็นภาษาของอัลกรุอานและอัลหะดีษ เป็นภาษาแห่งวิทยาการอิสลามในโลกนี้ ตลอดจนเป็นภาษาของชาวสวรรค์ในโลกหน้า
ข. ภาษามาลายู เพราะเป็นภาษาน้ำนมของมุสลิมเชื้อสายมาลายูและเป็นภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในอุษาคเนย์
ค. ภาษาอังกฤษ เพราะเป็นภาษาเทคโนโลยีและภาษานานาชาติ
ง. ภาษาไทย เพราะเป็นภาษาราชการ
จ. ภาษาจีน เพราะเป็นภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก (ผู้ใดที่เรียนรู้ภาษาของชนใด ผู้นั้นย่อมปลอดภัยจากเล่ย์กลของชนนั้น)
7. จงพยายามสร้างบรรยากาศของผู้ใฝ่รู้ ศึกษาค้นคว้า ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการเขียนบันทึก มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างวัฒธรรมการเรียนรู้ทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย(ความรู้และหิกมะฮฺคือสิ่งที่เคยอยู่ในครอบครองของมุอฺมีนแต่ก็ได้สูญหายไปดังนั้นใครก็ตามที่พบเจอมัน เขาผู้นั้นเป็นผู้ที่สมควรครอบครองมัน)
8. จงให้เกียรติบรรดาครูบาอาจารย์และผู้ให้การอบรมทุกท่าน สร้างบรรยากาศความเป็นภราดรภาพ(อุคุวะฮฺ)ที่มีความรักเอื้ออาทรระหว่างกัน รักเพื่ออัลลฮฺ และโกรธเพื่ออัลลอฮฺให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการสร้างสรรค์อิสลาม ห้ามปรามความชั่วร้ายและสิ่งอบายมุขทั้งปวง มีความอ่อนน้อมถ่อมตนและเมตตาปรานีแก่พี่น้องด้วยการยึดมั่นหลักจริยธรรมในอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สลาม ตลอดจนการเรียกขานพี่น้องด้วยชื่ออันไพเราะ ให้เกียรติผู้อาวุโสทั้งประสบการณ์ อายุหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน และเมตตาผู้อ่อนเยาว์กว่าทั้งประสบการณ์ อายุหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน พยายามสร้างความปรองดองระหว่างพี่น้องที่บาดหมางกัน (แท้จริงศรัทธาชนคือพี่น้องกันดังนั้นท่านจงสร้างความปรองดองในบรรดาพี่น้องของท่านด้วยเถิด)
9. จงเป็นลูกที่กตัญญูต่อบุพการี (ลูกศอลิหฺ) ที่คอยปรนนิบัติและกระทำความดีแก่พ่อแม่ทั้งต่อหน้าท่านหรือลับหลัง มีความถ่อมตน ไม่พยายามกระทำการใดๆที่สร้างภาระและความเดือดร้อนแก่ท่านทั้งสอง รักษาชื่อเสียงของท่าน ให้บริการ ตักเตือนและช่วยเหลือท่านทั้งสองอย่างสภาพอ่อนโยนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ให้ความช่วยเหลือและสร้างความเอกภาพในหมู่พี่น้องด้วยกัน หมั่นขอดุอาให้ท่านทั้งสองได้รับการอภัยโทษและความปรานีจากอัลลอฮฺช่วงที่ท่านทั้งสองมีชีวิตโดยเฉพาะหากท่านทั้งสองเสียชีวิตแล้ว (และจงหมั่นทำความดีแก่บิดามารดาด้วยเถิด)
10. จึงยึดมั่นในกฏระเบียบ ของมหาวิทยาลัย ขอให้ฝังตัวท่านในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอบรมในอิสลาม (ตัรบียะฮฺอิสลามียะฮฺ) และกิจการในองค์กร (ญะมาอะฮฺ) ที่มีภารกิจในการฟื้นฟูประชาชาติที่มีต้นแบบการทำงานตามซุนนะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตักเตือนซึ่งกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรมและขันติธรรมด้วยความอิคลาศและการมอบภารกิจแด่อัลลอฮฺ (ตะวักกัล) (และจงให้มีในหมู่พวกเจ้าซึ่งประชาชาติหนึ่งที่เชิญชวนสู่ความประเสริฐ สั่งเสียในเรื่องความดีและห้ามปรามจากความชั่ว – ท่านทั้งหลายจงยึดมั่นในพลพรรคมุสลิม)
11. จงยึดมั่นแต่งกายตามศาสนบัญญัติด้วยการปกปิดอวัยวะที่พึงปกปิด(เอารัต)และพยายามตักเตือนตนเองและผู้อื่นให้รักษาศาสนบัญญัติดังกล่าวตามความเหมาะสม จงห่างไกลการแต่งกายที่คล้ายคลึงหรือเทียบเคียงการแต่งกายของคนที่ไม่ใช่มุสลิม จงห่างไกลความสัมพันธ์อันไร้ขอบเขตระหว่างชายหญิงที่ขัดกับหลักการอิสลาม เช่น การอยู่อย่างสองต่อสองระหว่างชายหญิงที่อนุมัติให้แต่งงานกัน การติดต่อสัมพันธ์ที่เกินขอบเขต หรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีส่วนของการกระทำที่เป็นภาคีต่ออัลลอฮฺ การกระทำที่ต้องห้ามในอิสลาม(หะรอม) หรือการกระทำอื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับปัญญาชนอิสลาม (ใครก็ตามที่ทำตัวเหมือนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเขาก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนั้น)
12. สร้างบรรยากาศการเผยแผ่อิสลามแก่ผู้คนทั่วไปทั้งที่เป็นมุสลิมด้วยการสร้างความเข้าใจอิสลามอันถ่องแท้และถูกต้อง หรือที่ไม่ใช่มุสลิมด้วยการเชิญชวนสู่อิสลามด้วยวิธีการที่เปี่ยมด้วยวิทยปัญญาและการให้บทเรียนที่ดี สานเสวนาธรรมที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของความบริสุทธิ์ใจและความอดทน (ท่านทั้งหลายจงเผยแผ่สู่เส้นทางของพระเจ้าด้วยวิธีการที่เปี่ยมด้วยวิทยปัญญาและการให้บทเรียนที่ดี และจงสานเสวนาพวกเขาด้วยวิธีการที่ดีกว่า)
13. บริจาคทานส่วนหนึ่งของทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ ผู้ขัดสน เด็กกำพร้า และกิจการอิสลามอื่นๆ บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้ต้องการความช่วยเหลือและกิจกรรมพัฒนาอื่นๆ (มนุษย์ที่ประเสริฐสุด คือ มนุษย์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นมากที่สุด)
14. พยายามใช้โอกาสที่มีอยู่เยี่ยมเยียนพ่อแม่และญาติสนิท (Ziarah Ihsaniah) เยี่ยมครูบาอาจารย์ และญาติที่ห่างไกล (Ziarah Takrim) เยี่ยมบรรดามิตรสหาย (Ziarah Ukhawiyyah) เยียมพี่น้องต่างศาสนิก (Ziarah Da'wiyyah) และเยียมกุโบร์ (Ziarah Doa) (จงกระทำความดีเถิด แท้จริงอัลลอฮฺรักผู้กระทำความดี)
15. พึงระวังแผนการณ์ของกลุ่มผู้ไม่หวังดี ที่พยายามเติมเชื้อเพลิงสร้างความแตกแยกในกลุ่มประชาชาติมุสลิมด้วยกันหรือประชาสังคมทั่วไป ยุยงให้กิดความบาดหมางในสังคมอย่างไม่รู้จบสิ้น ทั้งที่อิสลามสอนให้มุสลิมกำชับให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสังคมมนุษย์ด้วยกัน (โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเข้าอยู่ในความสันติโดยทั่วทั้งหมด และจงอย่าตามย่างก้าวของชัยฏอน)
16. พึงทราบว่าอิสลามที่นำเสนอโดยอัลกุรอานและซุนนะฮฺเป็นศาสนาที่ถูกประทานลงมาบนโลกนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความโปรดปรานแก่มนุษย์และสิ่งอื่นๆบนโลกนี้ ทั้งกลุ่มผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺหรือไม่ก็ตาม จุดยืนของมุสลิมก็คือจะไม่เป็นผู้สร้างความเดือดร้อนและความปั่นป่วนให้แก่ผู้อื่น แต่มุสลิมเป็นผู้ถือธงแห่งความโปรดปรานและสันติภาพแก่มวลมนุษยชาติ ยกเว้นในภาวะฉุกเฉินที่ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะตอบโต้ความอยุติธรรมเว้นแต่ด้วยการใช้กำลังหรืออำนาจตามความสามารถที่มีอยู่ตราบใด พึงทราบว่าส่วนหนึ่งของการยึดมั่นในซุนนะฮฺคือการมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจและศาสนบัญญัติเท่าที่ตนเองมีความสามารถพร้อมกับพยายามยับยั้งความชั่วร้ายตามศักยภาพที่มีอยู่เช่นเดียวกัน และพึงระวังกับการห้ามปรามความชั่วร้ายที่อาจเป็นสาเหตุของการปะทุความชั่วร้ายที่รุนแรงกว่า พึงทราบว่าความชั่วร้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺและการอุตริ(บิดอะฮฺ) ในศาสนา เพราะทั้งสองประการดังกล่าวเป็นเหตุให้ฐานแห่งการกล่าวคำปฏิญาณตน (ชะฮาดะฮฺ) เป็นโมฆะและไร้ซึ่งความหมาย
- ฉันขอปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่เคารพบูชาเว้นแต่อัลลอฮฺ
- และฉันขอปฏิญาณตนว่ามุหัมมัดคือศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ
คำกล่าวปฏิญาณท่อนแรกมีนัยของความบริสุทธิ์ใจ ความตั้งใจอันสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากการตั้งภาคีใดๆ ส่วนคำกล่าวปฏิญาณท่อนที่สองมีนัยของการปฏิบัติตามนบีมุหัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) โดยไม่มีการอุตริในศาสนาใดๆ พึงทราบว่าความวุ่นวายปั่นป่วนที่เป็นภัยพิบัติอันใหญ่หลวงของประชาชาติมุสลิมในขณะนี้คือ การมลายหายไปซึ่งความเป็นภราดรภาพ ความเป็นปึกแผ่นได้ขาดสะบั้นลง ด้วยสาเหตุของการมีอีมานที่อ่อนแอ เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกที่บางครั้งอาจนำไปสู่ความรุนแรงและสงครามระหว่างพี่น้องด้วยกันเอง เป็นเหตุให้พลานุภาพของประชาชาติมุสลิมหมดไปและประชาชาติต้องประสบกับความขมขื่นไร้เกียรติทั้งโลกนี้และโลกหน้า – ขออัลลอฮฺทรงช่วยเหลือด้วยเทอญ (และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่สากลโลก)
17. ละหมาด 5 เวลาประจำวันโดยญะมาอะฮฺที่มัสยิดทุกครั้งสำหรับนักศึกษาชาย ส่วนนักศึกษาหญิงขอให้ละหมาด 5 เวลา ณ มุศ็อลลาในช่วงต้นเวลาด้วยอิริยาบถที่สำรวม (คุชูอฺ) และจงรักษาละหมาดก่อนหลัง (เราะวาติบ) พร้อมกับปิดท้ายด้วยละหมาดวิตรฺในทุกๆคืน หมั่นละหมาดฎูฮาและเอาวาบีนในทุกๆเช้า หมั่นอ่านเอาร็อดและดุอาหลังละหมาดทุกครั้ง (การละหมาดถือเป็นภาระที่หนักมาก เว้นแต่สำหรับผู้ที่สำรวม)
18. อ่านอัลกุรอานอย่างน้อยวันละ 1 ญุซ โดยการไตร่ตรองความหมาย อ่าน Azkar Nabawiyyah ทั้งเช้าเย็น ตลอดจนอ่านดุอา ณ สถานที่และเวลาที่ได้กำหนดไว้ เช่น ดุอาก่อนหลังรับประทานอาหาร ก่อนนอน ตื่นนอน เข้าออกมัสยิด เข้าออกจากบ้าน เข้าออกห้องน้ำ สวมถอดเสื้อผ้า เป็นต้น (เจ้าทั้งหลายจงรำลึกถึงฉัน (อัลลอฮฺ) เถิด แน่นอนฉันจะรำลึกถึงเจ้า)
19. ถือศีลอดสุนัต 3 วันต่อเดือน เช่น ถือศีลอดสุนัตในทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เป็นต้น (ไม่มี่ผู้ใดที่ถือศีลอดเพื่ออัลลอฮฺเพียง 1 วัน เว้นแต่อัลลอฮฺทำให้เขาห่างไกลจากนรกเป็นระยะเวลา 70 ปี)
20. จงสร้างชีวิตบนพื้นฐานของความเชื่อมั่นที่มั่นคง การทำอิบาดะฮ.ที่ถูกต้อง กริยามารยาทที่สวยงามและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่ควรแก่การยกย่อง (เจ้าจงยืนหยัดในความเที่ยงธรรม เช่น ที่เจ้าถูกบัญชา)
นี่คือคำสั่งเสีย 20 ประการที่หวังว่าบรรดาลูกหลานนิสิตนักศึกษาทั้งชายและหญิงทุกท่านได้ยึดมั่นเป็นวิถีชีวิต และหวังว่าบรรดาพี่น้องทั้งหลายทั้งคณะผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้ให้การอบรม บุคลากรและแกนนำนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุน อำนวยความสะดวกและสร้างบรรยากาศที่สามารถเอื้อให้การปฏิบัติตามคำสั่งเสียดังกล่าวเป็นไปอย่างระเบียบเรียบร้อยสู่การสร้างอนุชนที่เป็นบ่าวของอัลลอฮฺ (อิบาดุรรอฮฺมาน) ผู้มีสติปัญญา (อุลุลอัลบ็าบ) และผู้เป็นที่รักของอัลลอฮฺ (เอาลิยาอุลลอฮฺ) ที่คงไว้ซึ่งหน้าที่ของประชาชาติที่ดีเลิศที่ยืนหยัดในหลักการสายกลางที่สร้างความโปรดปรานและสันติภาพสู่สากลจักรวาล – ขออัลลอฮฺทรงประทานเตาฟิกและฮิดายะฮฺสู่แนวทางอันเที่ยงตรงด้วยเทอญ
***********************
ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น