(تحريم الدخان)
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ความเมตตาจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...
ส่วนหนึ่งจากพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมมุสลิม คือการสูบบุหรี่ ทั้งที่ผู้มีสติปัญญาใคร่ครวญทั้งหลายต่างรู้ดีถึงเป้าหมายของบัญญัติแห่งอิสลามว่า “บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่หะรอม” ด้วยเหตุผลหลายประการดังต่อไปนี้
หนึ่ง บุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของความเลวทรามและความชั่วช้า
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ตรัสว่า
﴿ٱلَّذِينَ يَتَّبِعُونَ ٱلرَّسُولَ ٱلنَّبِيَّ ٱلۡأُمِّيَّ ٱلَّذِي يَجِدُونَهُۥ مَكۡتُوبًا عِندَهُمۡ فِي ٱلتَّوۡرَىٰةِ وَٱلۡإِنجِيلِ يَأۡمُرُهُم بِٱلۡمَعۡرُوفِ وَيَنۡهَىٰهُمۡ عَنِ ٱلۡمُنكَرِ وَيُحِلُّ لَهُمُ ٱلطَّيِّبَٰتِ وَيُحَرِّمُ عَلَيۡهِمُ ٱلۡخَبَٰٓئِثَ وَيَضَعُ عَنۡهُمۡ إِصۡرَهُمۡ وَٱلۡأَغۡلَٰلَ ٱلَّتِي كَانَتۡ عَلَيۡهِمۡۚ فَٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ بِهِۦ وَعَزَّرُوهُ وَنَصَرُوهُ وَٱتَّبَعُواْ ٱلنُّورَ ٱلَّذِيٓ أُنزِلَ مَعَهُۥٓ أُوْلَٰٓئِكَ هُمُ ٱلۡمُفۡلِحُونَ﴾ [الأعراف : 157]
ความว่า “คือบรรดาผู้ปฏิบัติตามเราะสูลผู้เป็นนบีที่เขียนอ่านไม่เป็น ซึ่งพวกเขาพบเจอว่าเขา (มุหัมมัด) ถูกจารึกไว้ ณ ที่พวกเขาทั้งในคัมภีร์เตารอตและคัมภีร์อินญีล โดยที่เขาจะใช้พวกเขาให้กระทำในสิ่งที่ชอบและห้ามพวกเขามิให้กระทำในสิ่งที่ไม่ชอบและจะอนุมัติให้แก่พวกเขาในสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขาในสิ่งที่เลวร้ายทั้งหลาย และจะปลดเปลื้องออกจากพวกเขาต่อภาระหนักของพวกเขาและห่วงคอที่ปรากฏอยู่บนพวกเขา ดังนั้นบรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อเขาและให้ความสำคัญแก่เขาและช่วยเหลือเขา และปฏิบัติตามแสงสว่างทางนำ (คัมภีร์) ที่ถูกประทานลงมาแก่เขาแล้วไซร้ ชนเหล่านี้แหล่ะคือบรรดาผู้ที่ได้รับความสำเร็จ” (อัล-อะอฺรอฟ : 157 )
ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า บุหรี่เป็นสิ่งที่ชั่วร้ายในสายตาของผู้คนทั้งหลาย แม้นแต่ผู้ที่ทรนงตนหรือผู้ที่ปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของเขาเองก็ตาม บุหรี่เป็นสารขั้นต้นที่ได้วิวัฒนาการนำไปสู่การดื่มสุราและติดสิ่งเสพติดรวมถึงการฝ่าฝืนทั้งหลาย ในขณะที่ทางการแพทย์เองก็ได้มีการยืนยันว่า 80% ของผู้ที่ติดสิ่งเสพติดเริ่มมาจากการสูบบุหรี่
สอง การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุนำตนเองไปสู่ความหายนะ
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ตรัสว่า
﴿وَأَنفِقُواْ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ وَلَا تُلۡقُواْ بِأَيۡدِيكُمۡ إِلَى ٱلتَّهۡلُكَةِ وَأَحۡسِنُوٓاْۚ إِنَّ ٱللَّهَ يُحِبُّ ٱلۡمُحۡسِنِينَ﴾ [البقرة : 195]
ความว่า “จงใช้จ่ายทรัพย์สินของพวกเจ้าไปในหนทางของอัลลอฮฺเถิด และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าเองลงไปสู่ความพินาศด้วยน้ำมือของพวกเจ้าเอง จงทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรื่องดีงาม เพราะอัลลอฮฺทรงรักบรรดาผู้กระทำสิ่งที่ดีงาม” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 195 )
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ตรัสว่า
﴿ وَلَا تَقۡتُلُوٓاْ أَنفُسَكُمۡۚ إِنَّ ٱللَّهَ كَانَ بِكُمۡ رَحِيمٗا ﴾ [النساء : 29]
ความว่า “และจงอย่าฆ่าตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ” (อัน-นิสาอ์ : 29)
จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ تَرَدَّى مِنْ جَبَلٍ فَقَتَلَ نَفْسَهُ فَهُوَ فِي نَارِ جَهَنَّمَ يَتَرَدَّى فِيهِ خَالِدًا مُخَلَّدًا فِيهَا أَبَدًا وَمَنْ تَحَسَّى سُمًّا فَقَتَلَ نَفْسَهُ فَسُمُّهُ فِي يَدِهِ يَتَحَسَّاهُ فِي نَارِ جَهَنَّمَ خَالِدًا مُخَلَّدًا فِيهَا أَبَدًا وَمَنْ قَتَلَ نَفْسَهُ بِحَدِيدَةٍ فَحَدِيدَتُهُ فِي يَدِهِ يَجَأُ بِهَا فِي بَطْنِهِ فِي نَارِ جَهَنَّمَ خَالِدًا مُخَلَّدًا فِيهَا أَبَدًا» [رواه البخاري برقم 5778 و مسلم برقم 109]
ความว่า “ใครที่ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงมาจากภูเขา เขาก็จะได้รับโทษด้วยการกระโดดอยู่เช่นนั้นตลอดไปในนรกญะฮันนัม และใครที่ฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาพิษ เขาก็จะได้รับโทษด้วยการดื่มยาพิษอยู่เช่นนั้นตลอดไปในนรกญะฮันนัม และใครที่ฆ่าตัวตายด้วยการทิ่มแทงตัวเองกับมีดดาบ เขาก็จะได้รับโทษด้วยการใช้มีดดาบทิ่มแทงตัวเองอยู่เช่นนั้นตลอดไปในนรกญะฮันนัม” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข : 5778 และมุสลิม หมายเลข : 109)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ قَتَلَ نَفْسَهُ بِشَيْءٍ فِي الدُّنْيَا عُذِّبَ بِهِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ» [رواه البخاري برقم 6105 و مسلم برقم 110]
ความว่า “ผู้ใดได้ฆ่าตัวตายด้วยสิ่งใดก็ตาม เขาก็จะได้รับการลงโทษด้วยสิ่งนั้นในวันกิยามะฮฺ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข : 6105 และมุสลิม หมายเลข : 110 )
ไม่เป็นที่สงสัยอันใดเลยว่าผู้ใดก็แล้วแต่ที่เสียชีวิตเนื่องจากสาเหตุที่เขาสูบบุหรี่ ถือว่าเขาเป็นผู้ที่ฆ่าตัวเองด้วยยาพิษที่แฝงอยู่ในบุหรี่นั่นเอง แม้นว่าจะเป็นการฆ่าตัวตายอย่างเลือดเย็นก็ตาม โดยบรรดานักวิชาการมีความเห็นตรงกันว่า ใครที่กระทำอะไรก็แล้วแต่ที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายจะเร็วหรือช้าก็ตามเขาจะมีความผิดและมีบาปจากการกระทำดังกล่าว
สาม พึงทราบเถิดว่าการสูบบุหรี่เป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ
บรรดาแพทย์ต่างรณรงค์กันมากสนับสนุนให้เลิกสูบบุหรี่ โดยมีข้อมูลทางการแพทย์ได้ระบุว่าในบุหรี่มีสารพิษที่ให้โทษต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารนิโคตินซึ่งมีพิษอย่างร้ายแรง หากเอาไปหยอดที่ปากสุนัขเพียง2 หยดเท่านั้นจะทำให้สุนัขตายทันที และสามารถฆ่าอูฐได้เพียงใช้แค่ 5 หยด
นายแพทย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ปริมาณสารนิโคตินที่มีอยู่ในบุหรี่แต่ละมวนเพียงพอที่จะฆ่าคนๆ หนึ่งได้ หากมีการใช้สารดังกล่าวฉีดลงไปในเส้นตามร่างกาย ดังที่มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า มีสองพี่น้องได้ท้าประลองกันสูบบุหรี่ว่าคอของใครจะแข็งกว่ากัน ปรากฏว่าทั้งสองต้องจบชีวิตลง โดยที่คนหนึ่งเสียชีวิตก่อนที่จะสูบมวนที่17 และอีกคนเสียชีวิตขณะสูบมวนที่ 18 นั่นเอง
และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือการสูบบุหรี่เป็นต้นเหตุหลักของการเป็นโรคมะเร็ง สถิติทางการแพทย์ระบุว่า “ผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคมะเร็งมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่” และยังเป็นเหตุของการเกิดโรคหัวใจอักเสบและโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
เล่าจากอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لَاضَرَرَ وَلَاضِرَارَ» [رواه احمد في مسنده 1/313]
ความว่า “อย่าทำร้ายตนเอง และอย่าทำร้ายผู้อื่น” (บันทึกโดยอะหฺมัด : 1/ 313)
สี่ การสูบบุหรี่เป็นการทำลายทรัพย์สิน
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ได้ตรัสว่า
﴿ إِنَّ ٱلۡمُبَذِّرِينَ كَانُوٓاْ إِخۡوَٰنَ ٱلشَّيَٰطِينِۖ وَكَانَ ٱلشَّيۡطَٰنُ لِرَبِّهِۦ كَفُورٗا ﴾ [الإسراء : 27]
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ฟุ่มเฟือยเป็นพลพรรคของบรรดาชัยฏอน และชัยฏอนนั้นเนรคุณต่อพระเจ้าของมัน” (อัน-นิสาอ์ : 29 )
ไม่เป็นที่กังขาแต่ประการใดเลยว่า ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นผู้ที่ฟุ่มเฟือยมากที่สุด หากเราเห็นมีใครคนหนึ่งนำธนบัตรมาจุดไฟเล่นเราคงจะพูดกันว่า “คนนี้คือคนบ้าอย่างแน่นอน”
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لَا تَزُولُ قَدَمَاعَبْدٍ يَوْمَ الْقِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ وَعَنْ عِلْمِهِ فِيمَ فَعَلَ وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَ أَنْفَقَهُ وَعَنْ جِسْمِهِ فِيمَ أَبْلَاهُ» [رواه الترمذي برقم 2426]
ความว่า “ในวันกิยามะฮฺเท้าทั้งสองข้างของบ่าวคนหนึ่งจะยังคงอยู่กับที่ (ต่อหน้าการพิพากษาของอัลลอฮฺ)จนกว่าจะต้องผ่านกระบวนการสอบสวนเกี่ยวกับอายุขัยของเขาว่าใช้ให้หมดไปอย่างไร? และต้องถูกสอบสวนถึงวิชาความรู้ที่ได้ศึกษามาได้ปฏิบัติอย่างไร? และสอบสวนถึงการแสวงหาทรัพย์สินของเขาและการใช้จ่ายทรัพย์ของเขา และสอบสวนถึงร่างกายของเขาที่แก่ชราลงและร่วงโรยไปในหนทางใด” (บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข : 2426)
ห้า การสูบบุหรี่ มิได้ให้โทษเฉพาะตัวผู้สูบเท่านั้นแต่จะให้โทษแก่คนรอบข้างด้วย
ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูกหลาน เพื่อนฝูง และบุคคลอื่นๆ ที่อยู่รายล้อมขณะที่เขาสูบบุหรี่ ในทางการแพทย์ระบุว่าอากาศบริเวณที่มีการสูบบุหรี่จะตลบอบอวลไปด้วยสารพิษซึ่งจะกระจัดกระจายไปทั่ว และจะให้โทษแก่ผู้คนที่อยู่ในสถานที่ดังกล่าวอย่างมิอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวความว่า “อย่าทำร้ายตนเอง และอย่าทำร้ายผู้อื่น” (บันทึกโดยอะหฺมัด : 1/ 313 )
หก การสูบบุหรี่จะทำให้ปาก ร่างกาย และเสื้อผ้ามีกลิ่นเหม็นเกิดขึ้น สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาไปละหมาดร่วมกับผู้อื่นที่มัสยิด จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่รอบข้าง รวมถึงบรรดามะลัก (เทวทูต) ของอัลลอฮฺ ท่านนบีได้กำชับให้ผู้ที่มีกลิ่นหัวหอม กระเทียมตามร่างกายออกไปจากบริเวณมัสยิด ทั้งที่ทั้งสองเป็นกลิ่นของสิ่งที่หะลาล แล้วนับประสาอะไรกับกลิ่นของผู้ที่สูบบุหรี่ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ أَكَلَ الْبَصَلَ وَالثُّومَ وَالْكُرَّاثَ فَلَا يَقْرَبَنَّ مَسْجِدَنَا فَإِنَّ الْمَلَائِكَةَ تَتَأَذَّى مِمَّا يَتَأَذَّى مِنْهُ بَنُو آدَمَ» [رواه البخاري برقم 854 ومسلم برقم 564]
ความว่า “ผู้ใดที่รับประทานหัวหอม กระเทียม และต้นหอม เขาอย่าได้เข้าใกล้มัสยิดของเราโดยเด็ดขาด หากว่ามนุษย์รังเกียจต่อสิ่งใด มะลักก็มีความรู้สึกรังเกียจต่อสิ่งนั้นด้วยเช่นกัน” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข : 854 และมุสลิม หมายเลข : 564 )
อนึ่ง...สิ่งที่เราจะต้องรณรงค์ในเวลานี้ คือการไม่ไปสนับสนุนร้านค้าที่มีการจำหน่ายบุหรี่ และต้องให้ความสำคัญกับการไปสนับสนุนร้านค้าที่ไม่มีการจำหน่ายบุหรี่ เพราะเท่ากับเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณงามความดี อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ได้ตรัสว่า
﴿ وَتَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡبِرِّ وَٱلتَّقۡوَىٰۖ وَلَا تَعَاوَنُواْ عَلَى ٱلۡإِثۡمِ وَٱلۡعُدۡوَٰنِۚ وَٱتَّقُواْ ٱللَّهَۖ إِنَّ ٱللَّهَ شَدِيدُ ٱلۡعِقَابِ ﴾ [المائدة : 2]
ความว่า “และพวกจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง และจงอย่าช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นบาปและเป็นศัตรูกัน และพึงกลัวเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงหนักหน่วงในการลงโทษ” (อัล-มาอิดะฮฺ : 2)
บุคคลหนึ่งอาจจะพูดว่า “ฉันไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้” เราอาจกล่าวย้อนกลับไปว่า “แล้วการที่คุณสามารถงดสูบบุหรี่เป็นเวลามากกว่าสิบชั่วโมงในเดือนเราะมะฎอน คุณยังไม่สามารถงดได้อีกหรือ? ดังนั้น เรื่องที่จะเลิกสูบบุหรี่ขึ้นอยู่กับความตั้งใจมากกว่า หลายคนที่เขาเลิกสูบบุหรี่ได้เกิดเพราะความตั้งใจ เป็นความจริงอาจจะมีความรู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิดบ้างในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเห็นว่าเขามีความจริงใจและตั้งใจที่จะเลิกอย่างแน่วแน่ อัลลอฮฺก็จะให้ความช่วยเหลือแก่เขาจนสามารถเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ได้ตรัสว่า
﴿ وَٱلَّذِينَ جَٰهَدُواْ فِينَا لَنَهۡدِيَنَّهُمۡ سُبُلَنَاۚ وَإِنَّ ٱللَّهَ لمَعَ ٱلۡمُحۡسِنِينَ ﴾ [العنكبوت :69]
ความว่า “และบรรดาผู้ที่ต่อสู้ดิ้นรนในทางของเรา แน่นอนเราจะชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาสู่ทางของเรา และแท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่ร่วมกับผู้กระทำความดีทั้งหลาย ” (อัล-อันกะบูต : 69)
และในบ้านเมืองของเราก็มีองค์กร หน่วยงาน หรือสถานบำบัดในหลายที่ด้วยกันที่สามารถทำให้เลิกสูบบุหรี่มาแล้วมีมากมายหลายคน หลายองค์กรด้วยกัน วัลฮัมดุลิลลาฮฺ ท่านนบีได้พูดให้กำลังใจแก่ผู้ที่เลิก ละจากอบายมุขและสิ่งอื่นๆ ว่า
«إِنَّكَ لَنْ تَدَعَ شَيْئًا لِلَّهِ عَزَّ وَجَلَّ إِلَّا أبَدلَكَ اللَّهُ بِهِ مَا هُوَ خَيْرٌ لَكَ مِنْهُ» [رواه أحمد في مسنده 1/313]
ความว่า “พึงทราบเถิดว่า สิ่งใดก็แล้วแต่ที่ท่านได้ละเว้นเพื่ออัลลอฮฺ แน่นอนว่าอัลลอฮฺจะทดแทนให้แก่ท่านด้วยสิ่งที่ดีกว่านั้นอย่างเหลือคณานับ” (บันทึกโดยอะหฺมัด : 1/ 313)
والحمد لله رب العالمين ، وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين .
........................
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อับดุศศอมัด อัดนาน
ตรวจทานโดย : ยูซุฟ อบูบักรฺ
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
อัล-มุลกอฮฺ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น