มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ศาสนทูตของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์
ความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่ชาวสวรรค์จะได้รับ คือการได้เห็นอัลลอฮุตะอาลา อันเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ทุกคนขวนขวาย และใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับโอกาสนั้น ในขณะที่ผู้คนส่วนหนึ่งถูกตีตราว่าเป็นผู้ที่ห่างไกลจากความเมตตาของพระองค์ และจะถูกกีดกันมิให้ได้รับความโปรดปรานนี้
1) อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وُجُوهٞ يَوۡمَئِذٖ نَّاضِرَةٌ ٢٢ إِلَىٰ رَبِّهَا نَاظِرَةٞ ٢٣ ﴾ [القيامة : 22-23]
ความว่า “ในวันนั้น หลายๆใบหน้าจะเบิกบาน จ้องมองไปยังพระเจ้าของมัน” (อัล-กิยามะฮฺ: 22-23)
ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวอธิบายอายะฮฺนี้ว่า “คือ มองไปยังพระผู้เป็นเจ้าของมัน” (ซาดุลมะสีรฺ เล่ม 8 หน้า 422)
2) และพระองค์ตรัสว่า
﴿ لَهُم مَّا يَشَآءُونَ فِيهَا وَلَدَيۡنَا مَزِيدٞ ٣٥ ﴾ [ق : 35]
ความว่า “สำหรับพวกเขาจะได้รับสิ่งที่พวกเขาพึงประสงค์ในสวนสวรรค์ และ ณ เรานั้นยังมีสิ่งที่มากกว่า” (กอฟ: 35)
ท่านอะลีย์ บิน อบีฏอลิบ และท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า المَزيْد (สิ่งที่มากกว่า) ในที่นี้หมายถึง “การได้เห็นอัลลอฮฺ” (ซาดุลมะสีรฺ เล่ม 8 หน้า 21)
3) และในอีกดำรัสหนึ่งพระองค์ตรัสว่า
﴿ ۞لِّلَّذِينَ أَحۡسَنُواْ ٱلۡحُسۡنَىٰ وَزِيَادَةٞۖ ﴾ [يونس : 26]
ความว่า “สำหรับบรรดาผู้กระทำความดี จะได้รับความดี และได้เพิ่มขึ้นอีก” (ยูนุส: 26)
ซึ่ง الحُسْنى (ความดีงาม) ในที่นี้ หมายถึงสรวงสวรรค์ ส่วน الزِيَادَة (สิ่งที่เพิ่มขึ้นมา) หมายถึงการได้มองไปยังพระพักตร์อันทรงเกียรติของอัลลอฮฺตะอาลา ดังคำอธิบายของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งปรากฏในบันทึกรายงานของมุสลิมจากท่านศุฮัยบฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِذَا دَخَلَ أَهْلُ الْجَنَّةِ الْجَنَّةَ - قَالَ - يَقُولُ اللَّهُ تَبَارَكَ وَتَعَالَى: تُرِيدُونَ شَيْئًا أَزِيدُكُمْ، فَيَقُولُونَ: أَلَمْ تُبَيِّضْ وُجُوهَنَا، أَلَمْ تُدْخِلْنَا الْجَنَّةَ، وَتُنَجِّنَا مِنَ النَّارِ، - قَالَ - فَيَكْشِفُ الْحِجَابَ، فَمَا أُعْطُوا شَيْئًا أَحَبَّ إِلَيْهِمْ مِنَ النَّظَرِ إِلَى رَبِّهِمْ عَزَّ وَجَلَّ» [مسلم برقم 181]
ความว่า “เมื่อชาวสวรรค์ได้เข้าสู่สวรรค์แล้ว อัลลอฮฺตะอาลา จะตรัสถามว่า: 'พวกเจ้าต้องการสิ่งใดเพิ่มเติมจากข้าอีกไหม?' พวกเขาก็จะตอบว่า: 'มิใช่พระองค์ทรงทำให้ใบหน้าของพวกเราใสบริสุทธิ์แล้วหรอกหรือ? มิใช่พระองค์ทรงให้พวกเราได้เข้าสวรรค์ และรอดพ้นจากไฟนรกแล้วหรอกหรือ?' (แล้วพวกเราจะต้องการสิ่งใดอีก? – ผู้แปล) พระองค์จึงทรงปลดฉากที่กั้นอยู่ออก ซึ่งไม่มีความโปรดปรานใดๆ ที่พวกเขาได้รับ จะเป็นที่สิ่งที่พวกเขาปรารถนามากยิ่งไปกว่าการได้มองไปยังพระเจ้าของพวกเขา” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 181)
ท่านศุฮัยบฺกล่าวว่า แล้วท่านก็อ่านอายะฮฺนี้
﴿ ۞لِّلَّذِينَ أَحۡسَنُواْ ٱلۡحُسۡنَىٰ وَزِيَادَةٞۖ ﴾ [يونس : 26]
ความว่า “สำหรับบรรดาผู้กระทำความดี จะได้รับความดี และได้เพิ่มขึ้นอีก” (ยูนุส: 26)
บรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ก็อธิบายความหมายของอายะฮฺดังกล่าวไม่ต่างกัน ดังปรากฏในรายงานซึ่งบันทึกโดยอิบนุญะรีรฺ จากเศาะหาบะฮฺหลายท่าน เช่น ท่าน อบูบักรฺ ท่านหุซัยฟะฮฺ ท่านอบูมูซา อัล-อัชอะรียฺ และท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม (ญามิอุลบะยาน เล่ม 5 หน้า 4198-4201)
4) พระองค์ตรัสอีกว่า
﴿ كَلَّآ إِنَّهُمۡ عَن رَّبِّهِمۡ يَوۡمَئِذٖ لَّمَحۡجُوبُونَ ١٥ ﴾ [المطففين : 15]
ความว่า “มิใช่เช่นนั้น แท้จริงพวกเขาในวันนั้นจะถูกกั้นจากพระเจ้าของพวกเขา” (อัล-มุฏ็อฟฟิฟีน: 15)
ปราชญ์ในยุคสลัฟบางท่านใช้อายะฮฺนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าชาวสวรรค์จะได้เห็นอัลลอฮฺ ตะอาลา อิมามอัช-ชาฟิอียฺ กล่าวว่า “อายะฮฺนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ในวันนั้นบรรดาผู้ศรัทธาจะได้เห็นพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา” อิบนุกะษีรฺ กล่าวสนับสนุนทัศนะนี้ว่า “คำกล่าวของอิมามอัช-ชาฟิอียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ นั้นช่างงดงามลึกซึ้งยิ่งนัก เป็นการอธิบายบนพื้นฐานของความเข้าใจที่มีต่ออายะฮฺดังกล่าว ในทำนองเดียวกันกับตัวบทหลักฐานที่ระบุอย่างชัดเจนว่าบรรดาผู้ศรัทธาจะได้เห็นพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาในโลกอาคิเราะฮฺ เป็นการมองเห็นด้วยสายตาขณะที่อยู่ระหว่างการสอบสวนตัดสินและในสรวงสวรรค์อันยิ่งใหญ่สถาพร เช่น ดำรัสของพระองค์ความว่า “ในวันนั้น หลายๆ ใบหน้าจะเบิกบาน จ้องมองไปยังพระเจ้าของมัน” (อัล-กิยามะฮฺ: 22-23) หรือหะดีษที่มีความถูกต้องจำนวนมากมายซึ่งได้รับการถ่ายทอดผ่านสายรายงานที่ต่อเนื่องและเชื่อถือได้” (ตัฟสีรฺอิบนุกะษีรฺ เล่ม 14 หน้า 287)
ชัยคฺ อับดุรเราะหฺมาน บิน สะอฺดียฺ กล่าวว่า “และความเจ็บปวดทรมานจากการถูกปิดกั้นมิให้มองเห็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลโลก อันเนื่องจากความกริ้วโกรธและความไม่พอพระทัยที่พระองค์มีต่อพวกเขานั้น เป็นความทุกข์ทรมานอันแสนสาหัสยิ่งกว่าการถูกลงโทษแผดเผาด้วยไฟนรกเสียอีก ซึ่งจากอายะฮฺดังกล่าวเข้าใจได้ว่า ในวันกิยามะฮฺบรรดาผู้ศรัทธาจะได้เห็นพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาในสรวงสวรรค์ ในสภาพที่มีความสุขสำราญเหนือกว่าความสุขใดๆ ทั้งปวง พวกเขาจะมีความปลื้มปีติยินดีที่ได้สนทนาและใกล้ชิดกับพระองค์ ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ในหลายต่อหลายอายะฮฺ และดังที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยบอกเอาไว้ผ่านการรายงานที่ต่อเนื่องไปถึงท่าน” (ตัฟสีรฺ อัส-สะอฺดียฺ หน้า 875)
มีระบุในหนังสือชัรหฺ อัฏเฏาะหาวิยะฮฺ ว่า “บรรดาหะดีษที่รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเศาะหาบะฮฺ ซึ่งกล่าวถึงการมองเห็นอัลลอฮฺนั้น ได้รับการถ่ายทอดผ่านสายรายงานที่ถูกต้องเชื่อถือได้ และได้รับการบันทึกโดยนักบันทึกหะดีษจำนวนมาก ทั้งนี้ มีเศาะหาบะฮฺกว่าสามสิบท่านรายงานหะดีษที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งหากผู้ใดได้ทำการตรวจสอบหะดีษที่มีบันทึกไว้ทั้งหมด จะมั่นใจได้ว่าเป็นสิ่งที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวไว้อย่างแน่นอน นอกเหนือไปจากเรื่องการได้เห็นอัลลอฮฺแล้ว หะดีษเหล่านี้ยังระบุอีกว่า อัลลอฮฺจะทรงสนทนากับผู้ใดและเมื่อใดก็ได้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และในวันกิยามะฮฺพระองค์จะทรงปรากฏต่อหน้าสรรพสิ่งเพื่อตัดสินลงโทษ และยังระบุว่าพระองค์ทรงอยู่สูงเหนือทุกสิ่ง และทรงขานเรียกพวกเขาด้วยเสียงอันเป็นที่ได้ยินสำหรับผู้ที่อยู่ไกลออกไปในระดับที่ไม่ต่างจากผู้ที่อยู่ใกล้ นอกจากนี้ยังระบุว่าพระองค์ทรงหัวเราะ และทรงมีคุณลักษณะอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนถูกระบุไว้ในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ" (ชัรหฺ อัล-อะกีดะฮฺ อัฏ-เฏาะหาวิยะฮฺ หน้า 209-210)
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า มีบางคนถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า: ในวันกิยามะฮฺพวกเราจะได้เห็นพระเจ้าของพวกเราไหมครับ? ท่านกล่าวตอบว่า
«هَلْ تُضَارُّونَ فِي الشَّمْسِ لَيْسَ دُونَهَا سَحَابٌ؟، قَالُوا: لَا يَا رَسُولَ اللَّهِ، قَالَ: هَلْ تُضَارُّونَ فِي الْقَمَرِ لَيْلَةَ الْبَدْرِ لَيْسَ دُونَهُ سَحَابٌ؟، قَالُوا: لَا يَا رَسُولَ اللَّهِ، قَالَ: فَإِنَّكُمْ تَرَوْنَهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ كَذَلِكَ» [البخاري برقم 6573، ومسلم برقم 299]
ความว่า "พวกท่านประสบปัญหาในการมองเห็นดวงอาทิตย์ในวันที่ไม่มีเมฆบดบังไหม?" พวกเขากล่าวว่า "ไม่เลยครับท่านเราะสูลุลลอฮฺ" ท่านกล่าวถามอีกว่า "แล้วพวกท่านประสบปัญหาในการมองเห็นดวงจันทร์ ในคืนจันทร์เต็มดวงที่ไม่มีเมฆบดบังไหม" พวกเขากล่าวว่า "ไม่เลยครับท่านเราะสูลุลลอฮฺ" ท่านกล่าวว่า "ในวันกิยามะฮฺพวกท่านก็จะได้เห็นอัลลอฮฺอย่างชัดเจนเช่นนั้น" (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 6573 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 299)
และท่านอบูมูซา เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«جَنَّتَانِ مِنْ فِضَّةٍ: آنِيَتُهُمَا وَمَا فِيهِمَا، وَجَنَّتَانِ مِنْ ذَهَبٍ: آنِيَتُهُمَا وَمَا فِيهِمَا، وَمَا بَيْنَ الْقَوْمِ وَبَيْنَ أَنْ يَنْظُرُوا إِلَى رَبِّهِمْ؛ إِلَّا رِدَاءُ الْكِبْرِ عَلَى وَجْهِهِ فِي جَنَّةِ عَدْنٍ» [البخاري برقم 4878، ومسلم برقم 180]
ความว่า "มีสวรรค์อยู่สองแห่งที่ภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ และทุกสิ่งทุกอย่างในนั้นทำมาจากโลหะเงิน และมีสวรรค์อีกสองแห่งที่ภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ และทุกสิ่งทุกอย่างในนั้นทำมาจากทอง ทั้งนี้ ระหว่างชาวสวรรค์กับการมองเห็นพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขานั้น มีเพียงฉากกั้นกลางเท่านั้น" (บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 4878 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 180)
บางส่วนจากสิ่งที่จะช่วยให้ได้รับความโปรดปรานด้วยการเห็นอัลลอฮฺในโลกอาคิเราะฮฺก็เช่น
ประการแรก: การศรัทธาต่ออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว พระองค์ตรัสว่า
﴿ ۞لِّلَّذِينَ أَحۡسَنُواْ ٱلۡحُسۡنَىٰ وَزِيَادَةٞۖ ﴾ [يونس : 26]
ความว่า “สำหรับบรรดาผู้กระทำความดี จะได้รับความดี และได้เพิ่มขึ้นอีก” (ยูนุส: 26)
ซึ่ง "อัล-อิหฺสาน" (الإحسان) นั้นถือเป็นการศรัทธาในระดับสูงสุด
ประการที่สอง: การดำรงรักษาไว้ซึ่งละหมาดฟัจญ์รฺและละหมาดอัศรฺ ท่านญะรีรฺ บิน อับดิลลาฮฺ เล่าว่า ขณะที่เรานั่งอยู่กับท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในคืนจันทร์เต็มดวง ท่านก็มองไปยังดวงจันทร์ แล้วกล่าวว่า
«أَمَا إِنَّكُمْ سَتَرَوْنَ رَبَّكُمْ كَمَا تَرَوْنَ هَذَا، لاَ تُضَامُّونَ فِى رُؤْيَتِهِ، فَإِنِ اسْتَطَعْتُمْ أَنْ لاَ تُغْلَبُوا عَلَى صَلاَةٍ قَبْلَ طُلُوعِ الشَّمْسِ وَقَبْلَ غُرُوبِهَا فَافْعَلُوا» يَعْنِى الْعَصْرَ وَالْفَجْرَ . [البخاري برقم 573، ومسلم برقم 633]
ความว่า "แน่นอนว่าพวกท่านจะได้เห็นพระผู้เป็นเจ้าของพวกท่าน เฉกเช่นกับที่พวกท่านมองเห็นดวงจันทร์นี้ โดยที่พวกท่านจะไม่ประสบปัญหาหรือความยากลำบากใดๆ ในการมองเห็นพระองค์ ดังนั้น หากว่าพวกท่านสามารถที่จะไม่พลาดการละหมาดก่อนตะวันขึ้น และก่อนตะวันตกดินได้ก็จงอย่าพลาดเถิด" หมายถึงละหมาดฟัจญ์รฺและละหมาดอัศรฺ แล้วท่านญะรีรฺก็อ่านอายะฮฺที่ว่า
﴿ وَسَبِّحۡ بِحَمۡدِ رَبِّكَ قَبۡلَ طُلُوعِ ٱلشَّمۡسِ وَقَبۡلَ غُرُوبِهَاۖ ﴾ [طه : 130]
ความว่า "และจงแซ่ซ้องสดุดีด้วยการสรรเสริญพระเจ้าของเจ้า ก่อนตะวันขึ้นและก่อนตะวันลับลงไป" (ฏอฮา: 130)
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 573 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 633)
ประการที่สาม: การหลีกห่างจากบาปความผิดและการฝ่าฝืน ท่านอบูซัรฺ อัล-ฆิฟารียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«ثَلاَثَةٌ لاَ يُكَلِّمُهُمُ اللَّهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَلاَ يَنْظُرُ إِلَيْهِمْ وَلاَ يُزَكِّيهِمْ وَلَهُمْ عَذَابٌ أَلِيمٌ» قَالَ فَقَرَأَهَا رَسُولُ اللَّهِ -صلى الله عليه وسلم- ثَلاَثَ مِرَارٍ. قَالَ أَبُو ذَرٍّ: خَابُوا وَخَسِرُوا مَنْ هُمْ يَا رَسُولَ اللَّهِ؟، قَالَ «الْمُسْبِلُ وَالْمَنَّانُ وَالْمُنَفِّقُ سِلْعَتَهُ بِالْحَلِفِ الْكَاذِبِ» [مسلم 106]
ความว่า ""ในวันกิยามะฮฺ มีบุคคล 3 จำพวกที่อัลลอฮฺจะไม่ทรงสนทนากับพวกเขา ไม่ทรงมองไปยังพวกเขา ไม่ทรงทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์ และพวกเขานั้นจะได้รับการลงโทษอย่างแสนสาหัส” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวเช่นนี้ 3 ครั้ง อบูซัรฺจึงกล่าวว่า “แน่นอนพวกเขาคือผู้ที่พ่ายแพ้และขาดทุนอย่างยิ่ง พวกเขาคือใครกันหรือครับท่านเราะสูลุลลอฮฺ?” ท่านเราะสูลกล่าวตอบว่า “ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้ายาวเลยตาตุ่ม ผู้ที่มอบสิ่งใดแก่ผู้อื่นแล้วลำเลิกบุญคุณ และผู้ที่นำเสนอสินค้าของเขาด้วยถ้อยคำสาบานที่ไม่เป็นความจริง” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 106 )
ประการที่สี่: การวิงวอนขอดุอาอ์ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَإِذَا سَأَلَكَ عِبَادِي عَنِّي فَإِنِّي قَرِيبٌۖ أُجِيبُ دَعۡوَةَ ٱلدَّاعِ إِذَا دَعَانِۖ فَلۡيَسۡتَجِيبُواْ لِي وَلۡيُؤۡمِنُواْ بِي لَعَلَّهُمۡ يَرۡشُدُونَ ١٨٦﴾ [البقرة : 186]
ความว่า "และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้าแล้วก็จงตอบเถิดว่า แท้จริงนั้นข้าอยู่ใกล้ ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอนเมื่อเขาวิงวอนต่อข้า ดังนั้น พวกเขาจงตอบรับข้าและศรัทธาต่อข้าเถิด เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในทางที่ถูกต้อง" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 186)
ท่านอัมมารฺ บิน ยาสิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยกล่าวดุอาอ์บทต่อไปนี้
«اللَّهُمَّ بِعِلْمِكَ الْغَيْبَ وَقُدْرَتِكَ عَلَى الْخَلْقِ أَحْيِنِي مَا عَلِمْتَ الْحَيَاةَ خَيْرًا لِي وَتَوَفَّنِي إِذَا عَلِمْتَ الْوَفَاةَ خَيْرًا لِي، اللَّهُمَّ وَأَسْأَلُكَ خَشْيَتَكَ فِي الْغَيْبِ وَالشَّهَادَةِ، وَأَسْأَلُكَ كَلِمَةَ الْحَقِّ فِي الرِّضَا وَالْغَضَبِ، وَأَسْأَلُكَ الْقَصْدَ فِي الْفَقْرِ وَالْغِنَى، وَأَسْأَلُكَ نَعِيمًا لَا يَنْفَدُ، وَأَسْأَلُكَ قُرَّةَ عَيْنٍ لَا تَنْقَطِعُ، وَأَسْأَلُكَ الرِّضَاءَ بَعْدَ الْقَضَاءِ، وَأَسْأَلُكَ بَرْدَ الْعَيْشِ بَعْدَ الْمَوْتِ، وَأَسْأَلُكَ لَذَّةَ النَّظَرِ إِلَى وَجْهِكَ، وَالشَّوْقَ إِلَى لِقَائِكَ، فِي غَيْرِ ضَرَّاءَ مُضِرَّةٍ، وَلَا فِتْنَةٍ مُضِلَّةٍ، اللَّهُمَّ زَيِّنَّا بِزِينَةِ الْإِيمَانِ، وَاجْعَلْنَا هُدَاةً مُهْتَدِينَ» [النسائي برقم 1305 وصححه الألباني]
ความว่า "โอ้อัลลอฮฺ ด้วยความรอบรู้ของพระองค์ในสิ่งเร้นลับ และเดชานุภาพของพระองค์เหนือสรรพสิ่ง ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์ได้มีชีวิตอยู่ต่อไปหากว่าการมีชีวิตอยู่นั้นเป็นการดีกว่าสำหรับข้าพระองค์ และขอพระองค์ทรงปลิดชีวิตข้าพระองค์ไป หากพระองค์ทรงรู้ว่าการตายนั้นเป็นการดีกว่าสำหรับข้าพระองค์ โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์ยำเกรงต่อพระองค์ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์ยืนหยัดในสัจจะวาจาทั้งในขณะที่พอใจหรือกำลังโกรธ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์มีความพอดีทั้งในยามยากและในยามมั่งมี ขอพระองค์ทรงประทานความโปรดปรานที่ไม่มีวันสิ้นสุด ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์มีความสุขสบายใจอยู่เสมอ ขอให้ข้าพระองค์มีความพึงพอใจในสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนด ขอให้ข้าพระองค์มีชีวิตหลังความตายที่รื่นรมย์ ขอให้ข้าพระองค์ได้มีความปีติยินดีกับการมองเห็นพระพักตร์ของพระองค์ และรอคอยการกลับไปหาพระองค์อย่างใจจดใจจ่อ โดยปราศจากความทุกข์ร้อนลำเค็ญ หรือฟิตนะฮฺความวุ่นวายที่ทำให้หลงผิด โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้พวกข้าพระองค์เปี่ยมด้วยอีหม่านศรัทธา และขอพระองค์ทรงให้พวกข้าพระองค์เป็นผู้ที่นำผู้อื่นสู่ทางนำ และเป็นผู้ที่ได้รับทางนำ" (บันทึกโดยอัน-นะสาอียฺ หะดีษเลขที่ 1305 โดยชัยคฺ อัล-อัลบานียฺมีทัศนะว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)
والحمد لله رب العالمين،
وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
อัล-มุลกอฮฺ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น