الإيمان بالكرام الكاتبين
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์
อัฏ-เฏาะหาวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ระบุว่าหลักยึดมั่นศรัทธาประการหนึ่งของ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ คือการศรัทธาต่อ “อัล-กิรอม อัล-กาติบีน” (มลาอิกะฮฺผู้ทำหน้าที่จดบันทึกความดีความชั่ว) อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ وَإِنَّ عَلَيۡكُمۡ لَحَٰفِظِينَ ١٠ كِرَامٗا كَٰتِبِينَ ١١ يَعۡلَمُونَ مَا تَفۡعَلُونَ ١٢ ﴾ [الانفطار: ١٠-١٢]
ความว่า "และแท้จริงมีผู้คุ้มกันรักษาพวกเจ้าอยู่คือ (มลาอิกะฮฺ) ผู้ทรงเกียรติ เป็นผู้บันทึก พวกเขารู้ในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ" (อัล-อินฟิฏอรฺ: 10-12)
และตรัสว่า
﴿ إِذۡ يَتَلَقَّى ٱلۡمُتَلَقِّيَانِ عَنِ ٱلۡيَمِينِ وَعَنِ ٱلشِّمَالِ قَعِيدٞ ١٧ مَّا يَلۡفِظُ مِن قَوۡلٍ إِلَّا لَدَيۡهِ رَقِيبٌ عَتِيدٞ ١٨ ﴾ [ق: ١٧- ١٨]
ความว่า "จงรำลึกขณะที่มลาอิกะฮฺผู้บันทึกสองท่านบันทึก ท่านหนึ่งนั่งทางด้านขวา และอีกท่านหนึ่งนั่งทางด้านซ้าย ไม่มีคำพูดคำใดที่เขากล่าวออกมา เว้นแต่ใกล้ๆเขานั้นมีผู้เฝ้าติดตาม ผู้เตรียมพร้อมที่จะบันทึก" (กอฟ: 17-18)
มีรายงานหะดีษบันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ และมุสลิม จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« يَتَعَاقَبُونَ فِيكُمْ مَلاَئِكَةٌ بِاللَّيْلِ وَمَلاَئِكَةٌ بِالنَّهَارِ، وَيَجْتَمِعُونَ فِى صَلاَةِ الْفَجْرِ وَصَلاَةِ الْعَصْرِ، ثُمَّ يَعْرُجُ الَّذِينَ بَاتُوا فِيكُمْ فَيَسْأَلُهُمْ رَبُّهُمْ وَهُوَ أَعْلَمُ بِهِمْ: كَيْفَ تَرَكْتُمْ عِبَادِى؟ فَيَقُولُونَ: تَرَكْنَاهُمْ وَهُمْ يُصَلُّونَ، وَأَتَيْنَاهُمْ وَهُمْ يُصَلُّونَ » [رواه البخاري برقم 555 ومسلم برقم 632]
ความว่า "บรรดามลาอิกะฮฺจะคอยสลับสับเปลี่ยนกันติดตามเฝ้าดูพวกท่าน กลุ่มหนึ่งอยู่เวรในเวลากลางคืน และอีกกลุ่มหนึ่งอยู่เวรในเวลากลางวัน โดยพวกท่านเหล่านั้นจะรวมตัวกันช่วงเวลาละหมาดฟัจญรฺและอัศรฺ จากนั้นมลาอิกะฮฺซึ่งอยู่เวรติดตามพวกท่านในตอนกลางคืน ก็จะขึ้นไปสู่ฟากฟ้า แล้วพระผู้อภิบาลก็จะกล่าวถามพวกท่านว่า: 'พวกเจ้าพบเห็นว่าบ่าวของเราเป็นอย่างไรบ้าง?' ทั้งนี้ พระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงสภาพของพวกเขา บรรดามลาอิกะฮฺก็ตอบว่า: พวกข้าพระองค์จากพวกเขามาโดยที่พวกเขากำลังทำการละหมาด และเมื่อพวกข้าพระองค์ไปหาพวกเขา ก็พบว่าพวกเขากำลังทำการละหมาด" (อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 555 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 632)
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ لَهُۥ مُعَقِّبَٰتٞ مِّنۢ بَيۡنِ يَدَيۡهِ وَمِنۡ خَلۡفِهِۦ يَحۡفَظُونَهُۥ مِنۡ أَمۡرِ ٱللَّهِۗ ١١ ﴾ [الرعد: ١١]
ความว่า "สำหรับเขามีมะลาอิกะฮฺผู้เฝ้าติดตาม ทั้งข้างหน้าและข้างหลังเขา คอยปกป้องดูแลเขาตามพระบัญชาของอัลลอฮฺ" (อัรฺ-เราะอฺด์: 11)
อิบนุ กะษีรฺ กล่าวว่า "หมายความว่า มีมลาอิกะฮฺกลุ่มหนึ่งคอยหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันเฝ้าติดตามบ่าว โดยแบ่งเป็นเวรกลางวัน และเวรกลางคืน โดยพวกท่านมีหน้าที่ปกป้องเขาจากสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มีมลาอิกะฮฺอีกกลุ่มหนึ่ง คอยจดบันทึกการงานทั้งความดีและความชั่ว โดยส่วนหนึ่งคอยจดบันทึกในเวลากลางคืน และอีกส่วนหนึ่งคอยจดบันทึกในเวลากลางวัน ทั้งนี้ มีมลาอิกะฮฺสองท่านอยู่ประจำทางขวามือและทางซ้ายมือ โดยท่านที่อยู่ทางขวามือจะคอยจดการงานที่ดี ส่วนท่านที่อยู่ทางซ้ายมือจะคอยจดบาปความผิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีมลาอิกะฮฺอีกสองท่านคอยปกป้องดูแลเขา โดยท่านหนึ่งจะประจำอยู่ข้างหลังเขา ส่วนอีกท่านจะประจำอยู่ข้างหน้า จึงสรุปได้ว่ารอบๆตัวเรานั้นมีมลาอิกะฮฺประจำอยู่สี่ท่านในตอนกลางวัน และอีกสี่ท่านในตอนกลางคืน โดยสองท่านทำหน้าที่ปกป้องดูแล ส่วนอีกสองท่านทำหน้าที่จดบันทึกความดีความชั่ว" (ตัฟสีรฺ อิบนิ กะษีรฺ เล่ม 8 หน้า 114-115)
ท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« مَا مِنْكُمْ مِنْ أَحَدٍ إِلاَّ وَقَدْ وُكِّلَ بِهِ قَرِينُهُ مِنَ الْجِنِّ » ، قَالُوا: وَإِيَّاكَ يَا رَسُولَ اللَّهِ؟ قَالَ: « وَإِيَّاىَ إِلاَّ أَنَّ اللَّهَ أَعَانَنِي عَلَيْهِ فَأَسْلَمَ، فَلاَ يَأْمُرُنِي إِلاَّ بِخَيْرٍ »
ความว่า “ทุกคนในหมู่ท่านล้วนมี ‘เกาะรีน’ (ผู้ตามประกบ) ซึ่งเป็นญิน คอยติดตามทั้งสิ้น” เศาะหาบะฮฺก็ถามว่า: แม้แต่ท่านหรือครับท่านเราะสูลุลลอฮฺ? ท่านกล่าวตอบว่า “ใช่ แม้แต่ฉัน เพียงแต่ว่าอัลลอฮฺทรงช่วยเหลือฉัน โดยให้เขาเข้ารับอิสลาม เขาจึงชักชวนฉันแต่ในทางที่ดี” ในอีกสายหนึ่งซึ่งรายงานโดยสุฟยานระบุว่า
« وَقَدْ وُكِّلَ بِهِ قَرِينُهُ مِنَ الْجِنِّ، وَ قَرِينُهُ مِنَ الْمَلائِكَةِ » [رواه مسلم برقم 2814]
ความว่า “ทุกคนในหมู่ท่านล้วนมี ‘เกาะรีน’ (ผู้ตามประกบ) คอยติดตามทั้งสิ้น โดยตนหนึ่งเป็นญิน และอีกหนึ่งเป็นมลาอิกะฮฺ” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2814)
นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันว่า "أسلَمَ" ในหะดีษมีความหมายว่าอย่างไร? ฝ่ายหนึ่งมีทัศนะว่า หมายถึงการนอบน้อมศิโรราบด้วยความต่ำต้อย อีกฝ่ายหนึ่งมีทัศนะว่า หมายถึงการเข้ารับอิสลาม อัน-นะวะวีย์ กล่าวแสดงความเห็นว่า "ทัศนะนี้คือสิ่งที่เห็นชัดจากตัวบท" อัล-กอฎีย์ อิยาฎ กล่าวว่า "ดังนั้นจงทราบเถิดว่าปวงประชาชาติได้เห็นพ้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นรอดพ้นปลอดภัยจากการคุกคามของชัยฏอนมารร้าย ไม่ว่าจะทางร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด หรือวาจาคำพูดของท่าน" (ชัรหฺ เศาะฮีหฺ มุสลิม เล่ม 6 หน้า 158) ทั้งนี้ ญินมีทั้งที่เป็นผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธ ซึ่งชัยฏอนก็คือญินฝ่ายที่ปฏิเสธศรัทธา ส่วนญินที่เป็นผู้ศรัทธาจะไม่เรียกว่าชัยฏอน
ตัวบทหลักฐานต่างๆระบุว่า มลาอิกะฮฺจะทำการจดบันทึกคำพูด การกระทำ และเจตนาซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในใจ จึงอยู่ในข่ายของคำตรัสที่ว่า “พวกเขารู้ในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ" (อัล-อินฟิฏอรฺ: 10-12)
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ هَٰذَا كِتَٰبُنَا يَنطِقُ عَلَيۡكُم بِٱلۡحَقِّۚ إِنَّا كُنَّا نَسۡتَنسِخُ مَا كُنتُمۡ تَعۡمَلُونَ ٢٩ ﴾ [الجاثية : ٢٩]
ความว่า "นี้คือบันทึกของเราจะพูดถึงเรื่องของพวกเจ้าด้วยความจริง แท้จริงเราได้ให้บันทึกไว้ตามที่พวกเจ้าได้กระทำไว้" (อัล-ญาษิยะฮฺ: 29)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ أَمۡ يَحۡسَبُونَ أَنَّا لَا نَسۡمَعُ سِرَّهُمۡ وَنَجۡوَىٰهُمۚ بَلَىٰ وَرُسُلُنَا لَدَيۡهِمۡ يَكۡتُبُونَ ٨٠ ﴾ [الزخرف: ٨٠]
ความว่า "หรือพวกเขาคิดว่าเราไม่ได้ยินความลับและการประชุมลับของพวกเขา แน่นอน (เราได้ยิน) และทูตของเราอยู่กับพวกเขาเพื่อจดบันทึก" (อัซซุครุฟ: 80)
ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِذَا تَحَدَّثَ عَبْدِي بِأَنْ يَعْمَلَ حَسَنَةً، فَأَنَا أَكْتُبُهَا لَهُ حَسَنَةً مَا لَمْ يَعْمَلْ، فَإِذَا عَمِلَهَا فَأَنَا أَكْتُبُهَا لَهُ بِعَشْرِ أَمْثَالِهَا، وَإِذَا تَحَدَّثَ بِأَنْ يَعْمَلَ سَيِّئَةً، فَأَنَا أَغْفِرُهَا لَهُ مَا لَمْ يَعْمَلْهَا، فَإِذَا عَمِلَهَا فَأَنَا أَكْتُبُهَا لَهُ بِمِثْلِهَا »
ความว่า "อัลลอฮฺตรัสว่า: เมื่อบ่าวของข้าคิดที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นความดี แล้วไม่ได้ทำ ข้าก็จะบันทึกสิ่งนั้นเป็นหนึ่งความดีสำหรับเขา แต่ถ้าเขาได้ลงมือทำสิ่งนั้น ข้าก็จะบันทึกมันเป็นความดีสิบเท่า และเมื่อเขาคิดที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นความชั่ว แล้วไม่ได้ลงมือทำ ข้าจะอภัยให้แก่เขา แต่ถ้าหากเขาได้ลงมือทำสิ่งนั้น ข้าก็จะบันทึกมันเป็นความผิดเท่ากับสิ่งที่เขาได้ทำ"
ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวต่อว่า
« قَالَتِ الْمَلاَئِكَةُ: رَبِّ! ذَاكَ عَبْدُكَ يُرِيدُ أَنْ يَعْمَلَ سَيّئَةً (وَهُوَ أَبْصَرُ بِهِ) فَقَالَ: ارْقُبُوهُ، فَإِنْ عَمِلَهَا فَاكْتُبُوهَا لَهُ بِمِثْلِهَا، وَإِنْ تَرَكَهَا فَاكْتُبُوهَا لَهُ حَسَنَةً، إِنّمَا تَرَكَهَا مِنْ جَرّايَ» [البخاري برقم 42، ومسلم برقم 129]
ความว่า “มลาอิกะฮฺจึงกล่าวว่า: ‘โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ บ่าวของพระองค์ผู้นั้นคิดที่จะทำความชั่ว’ พระองค์ตรัสตอบ (โดยที่พระองค์ทรงรู้ดีถึงสภาพของบ่าวผู้นั้น) ว่า”พวกเจ้าจงคอยติดตามเขา ถ้าเขาได้ทำความชั่วตามที่คิด ก็จงจดบันทึกมันเป็นความผิดเท่ากับสิ่งที่เขาได้ทำ แต่ถ้าเขาได้ละเว้นความชั่วดังกล่าว พวกเจ้าก็จงบันทึกสิ่งนั้นเป็นหนึ่งความดีสำหรับเขา เพราะแท้จริงเขาได้ละเว้นความชั่วดังกล่าวเพราะยำเกรงต่อข้า” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 42 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 129)
และมีบันทึกในหนังสือ อัล-มุอฺญัม อัล-กะบีรฺ ของอัฏ-เฏาะบะรอนีย์ จากท่านอบูอุมามะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِنَّ صَاحِبَ الشِّمَالِ لَيَرْفَعُ القَلَمَ سِتَّ سَاعَاتٍ عَنِ العَبْدِ المُسْلِمِ المُخْطِئِ، فَإِنْ نَدِمَ وَاسْتَغْفَرَ اللهَ مِنْها وإِلا كُتِبَتْ واحِدة »
ความว่า "มลาอิกะฮฺที่คอยจดบันทึกอยู่ทางด้านซ้าย จะยังไม่จดบันทึกความผิดของบ่าวมุสลิม จนกว่าเวลาจะล่วงเลยไปหกชั่วโมง ถ้าในระหว่างนั้นเขาสำนึกผิดและขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺในสิ่งที่กระทำไป ความผิดของเขาก็จะไม่ถูกจดบันทึก แต่ถ้าเขาไม่สำนึก มันจะถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งความผิด" (บันทึกโดยอัฏเฏาะบะรอนีย์ หะดีษเลขที่ 7765 โดยชัยคฺ อัล-อัลบานีย์ ระบุไว้ในเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ เล่ม 1 หน้า 422 หะดีษเลขที่ 2097 ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)
กวีท่านหนึ่งกล่าวว่า
واذكـرْ مناقَشـةَ الحسَـابِ فـإنَّـهُ لابَدَّ يُحْصِي مـا جَنَيْـتَ ويُكتَـبُ
لـم يَنْسَـهُ الملَكَانِ حِيـنَ نَسِيْتَـهُ بــل أثْـبَـتَـاهُ وَأَنْــتَ لاهٍ تلـعَـبُ
"และจงตระหนักถึงวินาทีแห่งการสอบสวนพิพากษา
เมื่อทุกสิ่งที่ทำไปและถูกบันทึกไว้จะได้รับการเปิดเผย
มลาอิกะฮฺทั้งสองไม่เคยลืมแม้ว่าคุณนั้นจะหลงลืมไป
โดยได้จดบันทึกทุกๆสิ่งขณะที่คุณหลงระเริงเพลินใจ”
ผลของการศรัทธาต่อมลาอิกะฮฺผู้จดบันทึก:
ประการแรก: ทำให้เกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮฺทั้งในที่ลับและที่แจ้ง พร้อมทบทวนตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ ในสิ่งที่ได้พูดหรือกระทำไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า
﴿ مَّا يَلۡفِظُ مِن قَوۡلٍ إِلَّا لَدَيۡهِ رَقِيبٌ عَتِيدٞ ١٨ ﴾ [ق: ١٨]
ความว่า "ไม่มีคำพูดคำใดที่เขากล่าวออกมา เว้นแต่ใกล้ๆเขานั้นมีผู้เฝ้าติดตาม ผู้เตรียมพร้อมที่จะบันทึก" (กอฟ: 18)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ كِرَامٗا كَٰتِبِينَ ١١ يَعۡلَمُونَ مَا تَفۡعَلُونَ ١٢ ﴾ [الانفطار: ١٠، ١٢]
ความว่า "คือ (มลาอิกะฮฺ) ผู้ทรงเกียรติ เป็นผู้บันทึก พวกเขารู้ในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ" (อัล-อินฟิฏอรฺ: 11-12)
ประการที่สอง: ทำให้เกิดความละอายใจ ไม่กล้าที่จะให้มลาอิกะฮฺผู้จดบันทึกเหล่านั้นพบเห็นตนซึ่งเป็นผู้ศรัทธา ในสภาพที่ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวถึงความประเสริฐของท่านอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า
« ألا أَسْتَحِي مِنْ رَجُلٍ تَسْتَحِي مِنْهُ المَلائِكَةُ؟ » [مسلم برقم 2401]
ความว่า "จะไม่ให้ฉันเขินอายต่อผู้ที่ขนาดมลาอิกะฮฺยังเขินอายต่อเขาได้อย่างไรกัน?" (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2401)
ประการที่สาม: ทำให้มีความจริงจังในการทำความดี เพราะมลาอิกะฮฺเหล่านั้นจะนำบันทึกการงานต่างๆของเราขึ้นถวายต่ออัลลอฮฺ ดังที่พระองค์ตรัสว่า
﴿ إِلَيۡهِ يَصۡعَدُ ٱلۡكَلِمُ ٱلطَّيِّبُ وَٱلۡعَمَلُ ٱلصَّٰلِحُ يَرۡفَعُهُۥۚ ١٠ ﴾ [فاطر: ١٠]
ความว่า “คำกล่าวที่ดีย่อมจะขึ้นไปสู่พระองค์ และการงานที่ดีนั้นพระองค์ทรงยกย่องสรรเสริญมัน" (ฟาฏิรฺ: 10)
ท่านริฟาอะฮฺ บิน รอฟิอฺ อัซซุเราะกีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า
كُنَّا يَوْماً نُصَلِّي وَرَاءَ النَّبِيِّ صلى الله عليه وسلم، فَلَمَّا رَفَعَ رَأْسَهُ مِنَ الركْعَةِ قال « سَمِعَ اللهُ لِمَنْ حَمِدَهُ »، قَالَ رَجُلٌ وَراءَهُ: رَبَّنَا وَلَكَ الحَمْدُ، حَمْدًا كَثِيْرَا طَيِّبًا مُبَارَكًا فيهِ، فَلَمَّا انْصَرَفَ قال: « مَنِ المُتَكّلِّمُ؟ » قال: أنَا، قال: « رَأَيْتُ بِضْعَةً وَثَلاثِيْنَ مَلَكًا يَبْتَدِرُونَها، أَيُّهُم يَكْتُبُها أَوَّلُ؟ » [البخاري برقم 799]
ความว่า "วันหนึ่งขณะที่เรากำลังละหมาดตามหลังท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อยู่นั้น เมื่อท่านเงยศีรษะขึ้นจากการรุกูอฺท่านก็กล่าวว่า سَمِعَ اللهُ لِمَنْ حَمِدَهُ(อัลลอฮฺทรงได้ยินผู้ที่สรรเสริญพระองค์) แล้วก็มีชายคนหนึ่งซึ่งละหมาดอยู่ข้างหลังท่านกล่าวขึ้นมาว่า رَبَّنَا وَلَكَ الحَمْدُ، حَمْدًا كَثِيْرَا طَيِّبًا مُبَارَكًا فيهِ (โอ้พระผู้อภิบาลของเรา มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของพระองค์ เป็นการสรรเสริญที่ดีงามมากมายและเต็มไปด้วยความจำเริญ) เมื่อเสร็จสิ้นการละหมาดท่านก็กล่าวถามว่า ‘เมื่อกี้นี้ใครเป็นคนพูด?’ ชายคนนั้นจึงกล่าวว่า: ฉันเองครับ ท่านนบีจึงกล่าวว่า ‘ฉันเห็นมลาอิกะฮฺสามสิบกว่าท่านยื้อแย่งกัน เพื่อจะเป็นคนแรกที่จดบันทึกคำพูดเหล่านั้น’" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 799)
ประการที่สี่: ทำให้เกิดความรักในบรรดามลาอิกะฮฺผู้ได้รับมอบหมายให้จดบันทึกการงานของปวงบ่าว อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ بَلۡ عِبَادٞ مُّكۡرَمُونَ ٢٦ لَا يَسۡبِقُونَهُۥ بِٱلۡقَوۡلِ وَهُم بِأَمۡرِهِۦ يَعۡمَلُونَ ٢٧ ﴾ [الأنبياء: ٢٦-٢٧]
ความว่า "แต่พวกเขา (มลาอิกะฮฺ) เป็นบรรดาบ่าวผู้ได้รับเกียรติ พวกเขาจะไม่ชิงกล่าวคำพูดก่อนพระองค์ และพวกเขาปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์" (อัล-อันบิยาอ์: 26-27)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ لَّا يَعۡصُونَ ٱللَّهَ مَآ أَمَرَهُمۡ وَيَفۡعَلُونَ مَا يُؤۡمَرُونَ ٦ ﴾ [التحريم: ٦]
ความว่า "พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนสิ่งที่อัลออฮฺทรงสั่งใช้ และจะปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาถูกสั่งใช้ให้กระทำ" (อัต-ตะหฺรีม: 6)
ประการที่ห้า: ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ มลาอิกะฮฺเหล่านั้น ท่านญาบิรฺ บิน อับดิลลาฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ أَكَلَ مِنْ هَذِهِ البَقْلَةِ، الثُوْمِ (وقال مَرَّةً: مَنْ أَكَلَ البَصَلَ والثُوْمَ والكُرّاثَ)، فَلا يَقْرَبَنَّ مَسْجِدَنَا، فَإِنَّ المَلائِكَةَ تَتأَذَّى مِمَّا يَتَأَذَّى مِنْهُ بَنُو آدَمَ» [البخاري برقم 855، ومسلم 564]
ความว่า "ผู้ใดทานพืชสมุนไพรนี้ หมายถึงกระเทียม (ในอีกบทหนึ่งท่านกล่าวว่า: ผู้ใดทานหัวหอม กระเทียม และหอมแดง) ก็อย่าได้เข้าใกล้มัสยิดของเรา เพราะมลาอิกะฮฺก็ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากสิ่งที่ทำให้มนุษย์เดือดร้อนรำคาญเช่นเดียวกัน" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 855 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 564 โดยสำนวนนี้เป็นของมุสลิม)
والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد، وعلى آله وصحبه أجمعين.
........................
แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-
มุลกอฮฺ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น