อันแท้จริงจำนวนเดือนของปีจันติ ที่อัลลอฮฺทรงจารึกไว้ในคัมภีร์ นับแต่พระองค์ทรง
สร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินนั้นมี 12 เดือน ไม่ใช่ 13 เดือน อย่างที่พวกมุชริกีนอ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับความเข้าใจของพวกเขา
และในจำนวน 12 เดือนดังกล่าวนั้น อัลลอฮฺทรงให้มี 4 เดือน เป็นเดือนที่ต้องห้าม ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงกำหนดให้ชาวอาหรับนับตั้งแต่สมัยท่านนบีอิบรอฮีม และบุตรชายของท่าน คือ ท่านนบีอิสมอีล อะลัยฮิมัสสลาม ได้ให้เกียรติแก่ 4 เดือนนี้ คือ มี 3 เดือนซึ่งติดต่อกัน คือ เดือนซุลเกี๊ยะอฺดะฮฺ เดือนซุลฮิจญะฮฺ เดือนมุฮัรรอม และอีกเดือนหนึ่งอยู่ต่างหากไม่ติดกับเดือนใด คือ เดือนร่อญับ พระองค์อัลลอฮฺทรงห้ามการสู้รบในเดือนเหล่านั้นด้วย
พระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
إِنَّ عِدَّةَ الشُّهُورِ عِندَ اللَّهِ اثْنَا عَشَرَ شَهْرًا فِي كِتَابِ اللَّهِ يَوْمَ خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ مِنْهَا أَرْبَعَةٌ حُرُمٌ ذَٰلِكَ الدِّينُ الْقَيِّمُ فَلَا تَظْلِمُوا فِيهِنَّ أَنفُسَكُمْ وَقَاتِلُوا الْمُشْرِكِينَ كَافَّةً كَمَا يُقَاتِلُونَكُمْ كَافَّةً وَاعْلَمُوا أَنَّ اللَّهَ مَعَ الْمُتَّقِينَ ( 36 )
“แท้จริงจำนวนเดือน ณ อัลลอฮ์นั้นมีสิบสองเดือน ในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินจากเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือน ซึ่งเป็นเดือนที่ต้องห้าม นั่นคือบัญญัติอันเที่ยงตรง ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าอธรรม แก่ตัวของพวกเจ้าเองในเดือนเหล่านั้นและจงต่อสู้บรรดามุชริกทั้งหมด เช่นเดียวกับที่พวกเขากำลังต่อสู้พวกเจ้าทั้งหมด และพึงรู้เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่ยำเกรง”
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ 9:36)
รายงานจากท่านอบีบักเราะฮฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ เล่าวว่า
“พึงทราบเถิดว่า แท้จริงกาลเวลาได้หมุนเวียนกลับมาเหมือนดังสภาพวันที่อัลลอฮฺทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน นั้นคือ ปีหนึ่งมี 12 เดือน ในจำนวนนั้นมี 4 เดือน เป็นเดือนต้องห้าม คือ 3 เดือนติดต่อกัน อันได้แก่ ซุลเกี๊ยะอฺดะฮฺ ซุลฮิจญะฮฺ และมุฮัรรอม และเดือนร่อญับ ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนญุมาดัษษานีย์กับเดือนชะอฺบาน...” (บันทึกหะดิษโดย อิมามบุคอรีย์ อิมามมุสลิม และอิมามอะหฺมัด)
พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้บางเวลาและบางสถานที่มีลักษณะพิเศษ โดยพระองค์ทรงให้บางเวลาและสถานที่มีส่วนเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งถือเป็นการเรียกร้องให้ละเว้นสิ่งที่ต้องห้ามในบางเวลาและสถานที่นั้นๆ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เพิ่มการดูแลเอาใจใส่ดังกล่าวด้วย
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น