อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ศรัทธาด้วยคำพูดการปฏิบัติและจิตใจ






ความสำคัญในการเรียนรู้หลักการศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลาม เป็นพื้นฐานการปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมทุกคน

และการศรัทธาของมุสลิมนั้น จะไม่สมบูรณ์ ตราบใดที่ไม่มีการปฏิบัติออกมา ซึ่งการศรัทธา ต้องประกอบไปด้วยความเชื่อบริสุทธิ์ออกมาจากใจจริง , คำพูด และการปฏิบัติท่าทางด้วยส่วนของร่างกาย

ท่านอิมามบุคอรีย์ ร่อหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า

“การศรัทธานั้น คือการแสดงออกทั้งคำพูดและการกระทำ หมายถึง คำว่าศรัทธาในอิสลามต้องประกอบด้วย 3 ประการ คือ

1) เชื่อด้วยใจ
2) พูดด้วยปาก และ
3) ปฏิบัติด้วยกาย

ดังกล่าวเป็นหลักยึดมั่นของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ

ซึ่งต่างกับพวกมุนาฟิก พวกผู้ไหว้หลังหลอก ที่ขาดข้อแรก ซึ่งมีแต่คำพูดและการปฏิบัติแต่ใจหาศรัทธามั่นไม่

และต่างกับกลุ่มมุรญิอะฮฺ ที่ไม่นับข้อสาม มีความเชื่อ พูดด้วยปาก แต่ไม่มีการปฏิบัติ

และกลุ่มอัลกัรรอมียะฮฺที่นับแต่ข้อสอง นั้นคือ ไม่เชื่อ ไม่ปฏิบัติ มีแต่คำพูด

ส่วนอัลมัวะอฺตะซิละฮฺ ก็ยึดทั้ง 3 ประการเช่นเดียวกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺ แต่ต่างกันที่มุมมองปฏิบัติทางกาย พวกเขามองว่าการปฏิบัติเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ให้อิมาน “ถูกต้องใช้ได้”

ขณะที่อะฮิลุสสุนนะฮฺถือว่าเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้อีมาน “สมบูรณ์”


ท่านอัลฮาฟิซ อิบนุ ฮะญัร ระบุไว้ว่า
“อีมานที่ต้องมี 3 สิ่งนี้ เป็นประเด็นระหว่างบ่าวกับอัลลอฮฺ

แต่หากเป็นประเด็นระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้ถือเอาตามคุณลักษณะที่ปรากฏภายนอก หมายถึงหากมีผู้กล่าวปฏิญาณตนอย่างถูกต้องแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นมุสลิม มีสิทธิและหน้าที่เหมือนกับมุสลิมทุกประการ

ส่วนในทางลับจะเป็นเช่นไรให้อัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นผู้ตัดสินเท่านั้น

ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม เคยคัดค้านการกระทำของท่านอุซามะฮฺ อิบนุ ซัยดฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์ ที่สังหารผู้ที่กล่าวปฏิญาณระหว่างสงคราม โดยอ้างปัจจัยแวดล้อมว่าการปฏิญาณที่เกิดขึ้นนั้นเพื่อรักษาชีวิตตนเอง ท่านนบี ศ็อลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัมอแย้งว่า

“ท่านแหวกใจเขาดูหรือ?” (บันทึกหะดิษโดยอิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ก็ปฏิบัติกับมุนาฟิกในเมืองมาดีนะฮฺเฉกเช่นที่ปฏิบัติต่อมุสลิมอื่นๆ แม้มีศอหาบะฮฺขออนุญาตสังหารพวกเขา แต่ท่านกล่าวว่า

“บุคคลพวกนี้ คือพวกที่อัลลอฮฺห้ามทำอะไรพวกเขา” (บันทึกหะดิษโดยอิมามอะหฺมัด)

والله أعلم بالصواب

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น