อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ศอลาวาตหลังอ่านดุอาอ์ตะฮฺฮุดครั้งแรก



                ดุอาอฺขณะนั่งตะชะฮฺฮุดหรืออัตตะฮิยา กับการศอลาวาตนั้น เป็นคนละเรื่อง แยกกันต่างหาก มีตัวบทหลักฐานกำกับไว้โดยเฉพาะ ทั่งในเรื่องดุอาอ์ตะชะฮฺฮุด และศอลาวาต จึงไม่สามารถนำทั่งสองเรื่องมาปะปนกัน หรือเอาทั้งสองเรื่องมากระทำควบคู่กัน

เชคอัลบานี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ ได้ตอบโต้ผู้ที่กล่าวศอลาวาตแบบย่อๆ ในอัตตะฮิยาครั้งแรก (คือเมื่อกล่าวอัตตะฮิยาจบ ก็กล่าวสอลาวาตเพียง อัลลอฮุมม่าศ็อลลิอะลามูหัมมัด เท่านั้น ดั่งเช่น ผู้ที่ตามมัซฮับชาฟีอีย์ในบ้านเรา)

โดยได้อ้างข้อความในหนังสือ อัลอุม ของอิมามชาฟีอีย์ ว่า
“และตะชะฮฺฮุดครั้งแรกกับครั้งที่สองนั้นมีถ้อยคำเดียวกัน ไม่ต่างกัน  และความหมายคำพูดที่ว่า (ตะชะฮฺฮุด) คือ การตะชะฮฺฮุดและการศอลาวาตต่อท่านนบี และการทำอย่างหนึ่งโดยปราศจากอีกอย่างหนึ่งโดยปราศจากอีกอย่างหนึ่งถือว่าใช้ไม่ได้” 

การที่ท่านเชคอัลบานี นำข้อความนี้มาระบุไว้ในหนังสือของท่าน เป็นการยืนยันว่า การอ่านอัตตาฮิยากับศอลาวาตต้องกระทำควบคู่กันไปด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าตะชะฮฺฮุดครั้งแรกหรือครั้งสุดท้าย แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ นอกจากท่านเชคอัลบานีจะมุ่งเน้นไปในด้านการตอบโต้แก่ผู้อ่านศอลาวาตแบบย่อๆ โดยนำหลักฐานถ่อยคำที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม สอนให้กล่าวศอลาวาตเต็มรูปแบบเท่านั้น

สำหรับการนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรกให้กระทำเพียงสั่นๆ

รายงานจากท่านอิบนิมัสอูด ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า
ปรากฏว่าท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม เมื่อท่านนั่ง(ตะชะฮฺฮุด)ในสองร็อกอะฮฺแรกเหมือนท่านนั่งบนหินร้อนๆ(คือนั่งเดี๋ยวเดียว)” (บันทึกหะดิษโดยอะหฺมัด อิมามอัตติรมีซีย์ กล่าวว่า หะดิษนี้หะซัน เพียงแต่ว่าอุบัยดะฮฺไม่ได้ยินหะดิษนี้จากบิดาของเขา) 

ท่านอิมามอัตติรมีซีย์ กล่าวว่า
“นักวิชาการถือปฏิบัติตามที่ได้กล่าวมา(คือนั่งเพียงสั่นๆ) โดยที่คนหนึ่งจะนั่ง(ตะชะฮฺฮุดแรก) ในสองร็อกอะฮฺแรก ไม่นาน โดยไม่เพิ่มอันใดในการตะชะฮฺฮุดเลย" (คือไม่มีการศอลาวาตหลังจากนั้น)


วาญิบต้องศอลาวาตในตะชะฮุดแรกหรือไม่?

นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งว่าเป็นวาญิบ ฝ่ายหนึ่งเป็นเห็นว่าเป็นสุนัต อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอนุญาต หรือเป็นสิ่งที่สมควรเท่านั้น

ท่านอิบนุก็อยยิม ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า
“ไม่มีรายงานมาเลยว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวศอลาวาตแก่ตัวท่าน และวงญาติของท่านในตะชะฮุดแรกเลย และไม่ได้กล่าวคำขอความคุ้มครองให้พ้นจากการทรมานในสุสาน ในนรก ในเรื่องเรื่องฟิตนะฮฺขณะมีชีวิต ขณะตายแล้ว และการฟิตนะฮฺของดัจญาญ(ซึ่งเป็นคำขอในตะชะฮฺฮุดครั้งหลัง)แต่ประการใด"

ส่วนผู้ที่ถือว่าการศอลาวาตใตตะชะฮฺฮุดแรกเป็นสุนัตด้วยนั้น เขาเอาความเข้าใจมาจากตัวบทที่มีความหมายกว้างๆ ซึ่งที่จริงก็ด้มีกำหนดที่เฉพาะไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าอยู่ในตะชะฮฺฮุดครั้งหลัง

ท่านเชคบินบาซ ร่อหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า
“อาศัยข้อความโดยรวมของหะดิษที่ใช้ให้ศอลาวาต" (หมายถึงคำสั่งใช้ให้ศอลาวาตโดยทั่วไปไม่ได้จำกัดเฉพาะในละหมาดเท่านั้น)

และท่านยังกล่าวอีกว่า
“ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ก็เคยลุกขึ้นทำร็อกอะฮฺที่สามโดยไม่ได้กล่าวศอลาวาตในอัตตะฮิยาครั้งแรก” ท่านจึงมองว่า การกล่าวศอลาวาตในอัตตาฮิยาครั้งแรกเป็นสิ่งที่สมควรทำเท่านั้น ไม่ใช่วาญิบ

นักวิชาการที่มีทัศนะว่าไม่เป็นวาญิบในการกล่าวศอลาวาตหลังอ่านอัตตาฮิยา ในขณะนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรกเนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ระบุหรือชี้ชัดจนสามารถนำไปออกหุก่มวาญิบได้เลยแม้แต่บทเดียว และได้มีการวิเคราะห์หลักฐานหะดิษต่อไปนี้

1. จากหะดิษศอเฮียมุสลิม

รายงานจากท่านซะอด์ บิน ฮิชาม เล่าว่า
“ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้แปรงฟัน และอาบน้ำละหมาด แล้วละหมาด 9 ร็อกอะฮฺ โดยไม่ได้นั่งพักระหว่างนั้นนอกจากในร็อกอะฮฺที่ 8 โดยกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ สรรเสริญต่อพระองค์ และวิงวอนขอต่อพระองค์ หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นโดยไม่ได้สลาม แล้วท่านได้ละหมาดร็อกอะฮฺที่ 9 จึงได้นั่ง โดยกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ สรรเสริญต่อพระองค์ และวิงวอนขอต่อพระองค์ เสร็จแล้วก็ให้สลาม" (บันทึกหะดิษโดยอิมามมุสลิม หะดิษเลขที่ 1233)

ในเนื้อความศอเฮียะฮฺมุสลิมไม่ได้ระบุว่า ท่านนบีอ่านศอลาวาตในอัตตาฮิยา

2.จากหะดิษสุนันอิบนิมาญะฮฺ

รายงานจากท่านซะอด์ บิน ฮิชาม เล่าว่า
“ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้แปรงฟัน และอาบน้ำละหมาด แล้วจากนั้นท่านได้ละหมาด 9 ร็อกอะฮฺ โดยไม่ได้นั่งพักระหว่างนั้นนอกจากในร็อกอะฮฺที่ 8 โดยวิงวอนขอต่อองค์อภิบาลของท่าน ด้วยการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ สรรเสริญต่อพระองค์ และวิงวอนขอต่อพระองค์ หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นโดยไม่ได้สลาม แล้วท่านได้ละหมาดร็อกอะฮฺที่ 9 จึงได้นั่ง โดยกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ สรรเสริญต่อพระองค์ และวิงวอนขอต่ออภิบาลของท่าน และศอลาวาตต่อนบีของพระองค์ เสร็จแล้วก็ให้สลาม" (สุนัน อิบนิมาญะฮฺ หะดิษเลขที่ 1181)

ในเนื้อความ หะดิษที่บันทึกอิบนุมาญะฮฺ ไม่ได้ระบุว่าท่านนบี ศอลาวาตในอัตตาฮิยาครั้งแรก แต่ระบุว่าท่านบี ศอลาวาตในอัตตาฮิยาครั้งที่สอง

3. จากหะดิษบันทึกของอบี อะวานะฮฺ 

รายงานจากท่านซะอด์ บิน ฮิชาม เล่าว่า
“ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้แปรงฟัน และอาบน้ำละหมาด แล้วจากนั้นท่านได้ละหมาด 9 ร็อกอะฮฺ โดยไม่ได้นั่งพักระหว่างนั้นนอกจากในร็อกอะฮฺที่ 8 ท่านวิงวอนขอต่อองค์อภิบาลของท่าน และศอลาวาตแก่ท่านนบีของพระองค์ หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นโดยไม่ได้สลาม แล้วละหมาดร็อกอะฮฺที่ 9 จึงได้นั่ง โดยท่านได้กล่าวสรรเสริญต่อองค์อภิบาลของท่าน และศอลาวาตต่อนบีของพระองค์ แล้วขอดุอาอ์ เสร็จแล้วก็ให้สลาม (สุนัน อิบนิมาญะฮฺ หะดิษเลขที่ 1181)

คำรายงานบทนี้ระบุว่า ท่านนบีได้นั่งร็อกอะฮฺที่แปด และกล่าวสอลาวาต และจากนั้นได้นั่งร็อกะฮฺที่เก้าและศอลาวาต

ทั้ง 3 หะดิษ ข้างต้น เป็นสายรายงานเดียวกัน คือ จากท่านสะอี๊ด บิน อบีอัรวะบะฮ์ จากก่อตาดะฮฺ

ซึ่งเป็นหะดิษที่รายงานเหตุการณ์เดียวกัน ผู้รายงานคนเดียวกัน แต่คำรายงานมีเนื้อหาต่างกัน

คำรายงานของมะอ์มัร ที่ระบุอยู่ในบันทึกอื่นๆ
“ส่วนคำรายงานของมะอ์มัร บิน รอชิด จากก่อตาดะฮฺ นั้น นอกจากจะมีระบุอยู่ในบันทึกของอบีอะวานะฮฺแล้ว ยังมีระอยู่ในบันทึกอื่นๆอีก โดยในคำรายงานไม่ได้ระบุว่า ท่านนบีอ่านศอลาวาตในอัตตาฮิยาครั้งแรก

เมื่อสำรวจคำรายงานและสายรายงานจากบันทึกต่างๆแล้วเห็นได้ว่ามีเพียงรายงานของสะอี๊ด บิน อบีอัรวะบะฮฺ ในบันทึกของอบี อะวานะฮฺ เท่านั้น ที่รายงานแหวกแนวที่บันทึกแหวกแนวจากบันทึกศอเฮียะฮฺอื่นๆ กล่าวคือ จากสายของสะอี๊ด บิน อัรวะบะฮฺ , จากสายของมะอ์อัร บิน รอชิด และสายของฮิชาม บิน อบีอับดิลลาฮฺ ได้รายงานว่าท่านนบีนั่งตะชะฮฺฮุดครั้งแรกโดยไม่ได้สอลาวาต แล้วลุกร็อกอะฮฺถัดไป แต่สายรายงานของสะอี๊ด บินอัรวะบะฮฺ ในบันทึกของ อบี อะวานะฮฺ กลับบอกว่า ท่านนบี ศอลาวาตในตะชะฮฺฮุดครั้งแรกด้วย

สถานะของ สะอี๊ด บิน อบีอัรวะบะฮ์

สะอี๊ด บิน อบีอัรวะบะฮ์ หรือ มิฮ์รอน มีสร้อยว่า อะบุ้ลนัฏร์ มีถิ่นทีเมือง บัศเราะฮฺ เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 156 เป็นรุ่นตาบิอิตตาบีอีน

สถานะของ สะอี๊ด เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการ สรุปตรงกันของบรรดานักหะดิษ คือ เขาเป็นบุคคลที่วิเกาะฮฺ(เชื่อถือได้) แต่คำรายงานของเขาส่วนมากตัดลีส(ไขว้เขว) และผสมปนเป โดยเฉพาะในช่วงบั่นปลายชีวิต เขามักจะรายงานไข้เขวและสลับข้อความเป็นิจ จนถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน มุดัลลัส (ต๊กรีบุตตะฮฺซีบ เล่ม 1 หน้าที่ 360 ลำดับที่ 2372)

หะดิษดังกล่าวข้างต้น ที่มีเนื้อหาแตกต่างกันถึง 3 กรณี จึงเป็นหะดิษที่ไม่ได้อยู่ในสถานะศอเฮียะฮฺลิซาติฮี (ศอเฮียะฮฺด้วยสายรายงานของตนเอง) ไม่ว่าอยู่บันทึกใดก็ตาม นอกจากจะมีรายงานอื่นมาสำทับและสนับสนุน

สำหรับหะดิษที่บันทึกโดยอิมามมุสลิมข้างต้น ท่านอิมามมุสลิมไม่ได้บันทึกหะดิษนี้ จาก สะอี๊ด บิน อบีอัรวะบะฮฺ โดยลำพัง หากแต่มีมุตาบะฮฺ(รายงานสำทับ) และชาวาฮิด(หะดิษเศาะเฮียะฮฺในสายงานอื่นมาสนับสนุน) เช่น จากสายของ มะอ์มัร บิน รอชิด และสายรายงานของ ฮิชาม บิน อบีอับดิลลาฮ์
ซึ่งทั้งสองสาย ไม่ได้รายงานผ่านสะอี๊ด บิน อบีอัรวะบะฮ์ และทั้งสองรายงานก็อยู่ในสถานะศอเฮียะฮฺ ลิซาติฮี (ศอเฮียะฮฺด้วยสายรายงานของตนเอง) และในรายงานจากเศาะเฮียะฮฺดังกล่าว ไม่ได้ระบุว่าท่านนบีอ่านศอลาวาตในตะชะฮฺฮุดครั้งแรกแต่อย่างใด

ทั่งมีรายงานหะดิษว่า ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวกับชายผู้หนึ่ง ว่า เมื่อผู้ใดละหมาดก็จงเริมด้วยการสรรเสริญองค์อภิบาลของเขา และเทิดทูนต่อพระองค์ หลังจากนั้นก็จงขอพรให้แก่ท่านนบี แล้วจากนั้นจึงขอดุอาอ์ตามที่ประสงค์  ซึ่งการขอดุอาอ์ตามที่ประสงนี้ ท่านรสูลกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่าอยู่ในตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้าย ก่อนให้สลาม

รายงานจากท่านฟะฏอละฮ์ บุตรของ ฮุมัยด์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า
"ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้ยินชายคนหนึ่งขอพรในละหมาดของเขา โดยไม่ได้กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ ผู้ทรงเกียรติและสูงส่ง และไม่ได้ขอพรให้แก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม จึงกล่าวว่า เขารีบร้อนเหลือเกิน หลังจากนั้นท่านได้เรียกเขา โดยท่านกล่าวแก่เขาและคนอื่นๆว่า เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านละหมาดก็จงเริ่มด้วยการสรรเสริญองค์อภิบาลของเขา และเทิดทูนต่อพระองค์ หลังจากนั้นก็จงขอพรให้แก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม แล้วจึงขอดุอาอ์หลังจากนั้นตามแต่ประสงค์" (บันทึกหะดิษโดยอิมามอะหิมัด หะดิษเลขที่ 2281 และอิมามอัตติรมีซีย์ หะดิาเลขที่ 3399)

รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า
ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า
"เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านเสร็จจากการตะชะฮฺฮุดครั้งสุดท้าย ก็จงขอความคุ้มครองต่ออัลลออฺจากสี่ประการนี้ : จากการทรมานในนรกญะฮันนัม , จากการทรมานในหลุ่มศพ , จากฟิตนะฮ์ทั้งยามเป็นและยามตาย และจากความชั่วร้ายของมะเซียะฮ์อัลดัจญาล" (บันทึกหะดิษโดยอิมามมุสลิม หะดิษเลขที่ 926)
หลักฐานหะดิษข้างต้นจึงเป็นหลักฐานการอ่านอัตตาฮิยา ศอลาวาตและการขอดุอาอ์ในครั้งสุดท้ายก่อนให้สลามเสร็จสิ้นการละหมาด ไม่ใช่หลักฐานในเรื่องการศอลาวาตในตะชะฮฺฮุดครั้งแรกแต่อย่างใด


ดังนั้น การอ่านศอลาวาตในตะชะฮฺฮูดหรืออัตตาฮิยาครั้งแรก ไม่ใช่วาญิบ  เพราะไม่มีหลักฐานที่ระบุหรือชี้ชัดจนสามารถนำไปออกหุก่มวาญิบได้เลยแม้แต่บทเดียว ผู้ใดไม่อ่านศอลาวาตในตะชะฮฺฮูดครั้งแรก การละหมาดของเขาก็ใช้ได้ ไม่ต้องสุญูดซะฮฺวี และไม่มีบาปจากการทิ้งแต่อย่างใด


والله أعلم بالصواب


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น