อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความหมายของดุอาอ์



ในทางรากศัพท์ “ดุอาอ์” دعاء หมายถึง การขอ การวิงวอน การเรียก
ส่วนความหมายของมันในทางศาสนบัญญัตินั้นหมายถึง การวิงวอนของจากอัลลอฮฺ รวมถึงการสรรเสริญและสดุดีพระองค์
นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ความหมายอื่นอีก แต่ทั้งนี้ลักษณะการให้ความหมายมีความคล้ายกัน เช่น

1.การแสดงความปรารถนาต่ออัลลอฮฺ
2.การขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ
3.การแสดงตนว่าต้องพึ่งอัลลอฮฺ ไม่แสดงทิฐิ สำนึกในความเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อย และยอมรับในความประเสริฐอันมหาศาลของอัลลอฮฺ ด้วยการสรรเสริญพระองค์
4.การขอสิ่งที่เป็นประโยชน์ และให้พ้นจากสิ่งที่เป็นพิษภัย
5.การนอบน้อมวิงวอนต่ออัลลอฮฺ และมอบตนต่อหน้าพระองค์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนาและให้ปลอดภัยจากสิ่งที่ไม่ประสงค์ (อ้างอิง 2)

ประเภทของดุอาอ์
บรรดาอุละมาอฺได้แบ่งดุอาอ์ไว้สองประเภทด้วยกัน
1.ดุอาอ์ อิบาดะฮฺ นั่นคือ การขอด้วยการภักดี
2.ดุอาอ์มัสอะละฮฺ นั่นคือ การขอด้วยการกล่าววิงวอน

ประเภทที่ 1 ดุอาอ์ อิบาดะฮฺ นั่นคือการเรียกร้องผลบุญจากอัลลอฮฺ ด้วยการปฏิบัติความดีต่างๆ ทั้งที่เป็นภารกิจบังคับหรือภารกิจที่ให้เลือกทำโดยเสรี เช่น การกล่าวปฏิญาณ(ชะฮาดะฮฺ) และทำตามเงื่อนไขต่างๆ ของมัน การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาต การทำฮัจญ์ การเชือดสัตว์พลี การบนบานต่ออัลลอฮฺ ฯลฯ เพราะแก่นแท้ของการปฏิบัติความดีเหล่านี้ก็คือการหวังให้อัลลอฮฺทรงตอบแทน นั่นก็คือการขอจากพระองค์นั่นเอง ถึงแม้จะไม่ได้เปล่งด้วยวาจา แต่ภาษาของการกระทำได้แสดงการขอและวิงวอนจากอัลลอฮฺแล้ว เช่นนี้จึงถือว่าการงานทุกอย่างที่เราปฏิบัติด้วยความหวังในผลตอบแทนจากผู้ทรงตอบแทนได้ดีที่สุด หรือทำเพราะยำเกรงต่ออำนาจและการลงโทษขององค์ผู้อภิบาล ย่อมเรียกได้ว่าเป็น ดุอาอ์ นั่นคือ ดุอาอ์ อิบาดะฮฺ (อ้างอิง 3)

ดุอาอ์ประเภทนี้ไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจกันในคนส่วนใหญ่ เพราะทุกครั้งที่เราพูดถึงดุอาอ์ เรามักจะคิดถึงเฉพาะ ดุอาอ์ ที่เป็นการของด้วยการกล่าววิงวอน และไม่เคยคิดว่าทุกๆ อิบาดะฮฺของเราก็เป็นดุอาอ์ (อ้างอิง 2)

การแยกให้มีดุอาอ์อิบาดะฮฺ เป็นการยกอ้างมาจากดำรัสของอัลลอฮฺใน สูเราะฮฺ อัล-ฟุรกอน อายะฮฺสุดท้ายว่า
قل ما يعبأ بكم ربي لولا دعاؤكم فقد كذبتم فسوف يكون لزاما
ความว่า จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) พระผู้เป็นเจ้าของฉันจะไม่ใยดีต่อพวกท่าน หากไม่มีการวิงวอนภักดีของพวกท่าน เพราะพวกท่านได้ปฏิเสธไม่รับฟัง ดังนั้นการลงโทษจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
คำว่าดุอาอ์ ที่ทรงกล่าวถึงในอายะฮฺข้างต้น ได้มีผู้อธิบายด้วยว่า ความหมายของมันก็คือ การอิบาดะฮฺ นั่นเอง (มุคตะศ็อรฺ ตัฟสีรฺ อัล-บะฆอวีย์ 2/667)

ดังนั้นจึงมีผู้กล่าวว่า ความหมายของอายะฮฺดังกล่าวได้รวมเอาทั้งดุอาอ์อิบดะฮฺและดุอาอ์มัสอะละฮฺ ทั้งสองประเภทไว้ด้วยกันแล้ว (อ้างอิง 1)

ประเภทที่ 2 ดุอาอ์มัสอะละฮฺ นั่นคือการดุอาอ์ในรูปแบบของการขอ วิงวอนในสิ่งที่เป็นคุณแก่ผู้ขอ หรือขจัดภัยจากเขา รวมทั้งการขอในสิ่งตนต้องการ (อ้างอิง 3)

สรุปแล้ว ดุอาอ์มัสอะละฮฺ คือการดุอาอ์ทั่วๆ ไปตามที่เราถือปฏิบัติและตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ดุอาอ์ทั้งสองประเภทอาจจะใช้การอธิบายรวมๆ กันได้ เพราะตามที่เราทราบมาแล้วว่า ทุกๆ อิบาะฮฺของเราคือการดุอาอ์ ส่วนตัวดุอาอ์เอง ก็ถือเป็นอิบาดะฮฺ ดังที่มีในหะดีษของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า
الدعاء هو العبادة
ความว่า ดุอาอ์ นั้นคือ อิบาดะฮฺ

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ จึงมิควรที่เราจะเพิกเฉยหรือรู้สึกเหนื่อยหน่ายต่อการปฏิบัติตนในกรอบของอิบาดะฮฺ เพราะนั่นย่อมหมายถึงทุกเวลาเราอยู่ในสภาพผู้ที่กำลังวิงวอนต่ออัลลอฮฺ และใกล้ชิดพระองค์ แม้ในอิริยาบทปกติและกิจกรรมประจำวันทั่วไป ทั้งนี้งานที่เราทำนั้นจะต้องอยู่ในกรอบความหมายรวมของอิบาดะฮฺ อันหมายถึงการทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงพอใจและงดเว้นสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม
วัลลอฮฺ อะอฺลัม

...................
อ้างอิง
1. อบูซัยด์, บักรฺ อับดุลลอฮฺ. ตัศฮีหฺ อัด-ดุอาอ์
2. อัล-หัมด์, มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม. อัด-ดุอาอ์ มัฟฮูมุฮุ อะหฺกามุฮุ อัคฏออ์ ตะเกาะอุ ฟีฮิ
3. อัล-เกาะห์ฏอนีย์, สะอีด อะลี วะฮฺฟ์. ชุรูฏ อัด-ดุอาอ์ วะ มะวานิอฺ อัล-อิญาบะฮฺ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น