การละหมาด หรือ สวด (นมาซ หรือ นมัสการ) การละหมาดหรือการนมัสการพระเจ้าคือการแสดงความเคารพต่อพระเจ้า เป็นการปฏิบัติเพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า เป็นการปฏิบัติเพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า การสำรวมจิตระลึกถึงพระเจ้า การละหมาดเป็นการขัดเกลาจิตให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพลังให้แข้มแข็ง การสำรวมจิตหรือการทำสมาธิเพื่อมิให้จิตใจวอกแวกไปในเรื่องต่างๆ เป็นภาวะที่จิตใจได้เข้าไปสัมผัสกับความเป็นเอกภาพกับพระเจ้า ทำให้จิตสงบ ตั้งมั่น อดทน ผู้ที่มีความทุกข์และประสบปัญหาชีวิตในด้านต่างๆ การละหมาดเป็นเครื่องช่วยที่ดีที่สุด ทั้งยังฝึกตนเองให้ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ให้อยู่ในระเบียบวินัย รักษาความสะอาด และยังเป็นการบริหารร่างกายอย่างดียิ่ง หากเป็นการละหมาดรวมยังเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีพร้อมเพรียง ความเสมอภาค และภราดรภาพอีกด้วยการทำละหมาด เป็นกิจที่ต้องทำเป็นประจำในหลายวาระ คือ
1. รอบวัน ผู้เป็นมุสลิมจะต้องทำละหมาดวันละ 5 เวลา คือ
1.1 เวลาย่ำรุ่ง เรียกว่า ละหมาด ซุบหฺ ปฏิบัติ 2 ร็อกอะฮ์
1.2 เวลากลางวัน เรียกว่า ละหมาด ดุฮฺริอฺ ปฏิบัติ 4 ร็อกอะฮ์
1.3 เวลาเย็น เรียกว่า ละหมาด อะซัร ปฏิบัติ 4 ร็อกอะฮ์
1.4 เวลาพลบค่ำ เรียกว่า ละหมาด มัฆริบ ปฏิบัติ 3 ร็อกอะฮ
1.5 เวลากลางคืน เรียกว่า ละหมาด อิชาอ์ ปฏิบัติ 4 ร็อกอะฮ์
2. รอบสัปดาห์ ให้รวมทำกันในวันศุกร์ ณ มัสยิดสถาน จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
3. รอบปี ในรอบปีหนึ่งให้ทุกคนมาปฏิบัติการละหมาด ณ มัสยิดหรือสถานชุมนุมซึ่งมี 2 ครั้ง คือ
3.1 ละหมาดเมื่อสิ้นเดือนถือศีลอด (อีดุลพิฏร์) ซึ่งเรียกว่า "วันออกบวช" จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
3.2 ละหมาดในวันเชือดสัตว์พลีทาน เนื่องในเทศกาลฮัจญ์ (อีดุลอัฏฮา) ซึ่งเรียกว่า "วันออกฮัจญ์"จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
4. ตามเหตุการณ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์บางประการให้ละหมาดด้วย เช่น
4.1 ทำละหมาดขอพรแก่ผู้ตายก่อนนำไปฝัง เรียกว่า "ละหมาดญะนาซะฮ์"
4.2 ทำละหมาดขอฝน ในยามแห้งแล้ง เรียกว่า "ละหมาดอิสติสกออ์"
4.3 ทำละหมาดในกลางคืนของเดือนถือศีลอดจำนวน 20 ร็อกอะฮ์ เรียกว่า "ละหมาดตะรอวีห์"
4.4 ทำละหมาดระลึกถึงพระเจ้า เมื่อเกิดผิดปกติทางธรรมชาติ คือ
4.4.1 เมื่อเกิดจันทรุปราคา เรียกว่า "คูซูฟุลกอมัน" จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
4.4.2 เมื่อเกิดสุริยุปราคา เรียกว่า "กุซูฟุซซัมซิ" จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
4.5 ทำละหมาดขอต่อพระเจ้า ให้ชี้ทางเลือกในการประกอบการงานที่ตัวเอง ตัดสินใจไม่ได้ เรียกว่า ละหมาด "อิสติคงเราะย์" จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
นอกจากที่กล่าวไว้นี้แล้ว ยังมีละหมาดอื่นๆ อีก ซึ่งปรากฏในตำราศาสนาโดยตรงและการละหมาดยังส่งเสริมให้กระทำโดยไม่ต้องรอวาระและเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวที่เป็นการกระทำโดยไม่ต้องมีเงื่อนไข ทำเมื่อระลึกถึงพระเจ้า จำนวนกระทำครั้งละ 2 ร็อกอะฮ์ และทำได้เรื่อยไป เรียกว่า ละหมาด "สนัตมุตลัก"
วิธีทำละหมาด ให้เริ่มด้วยการชำระร่างกายให้สะอาด และอาบน้ำละหมาดตามแบบดังนี้
1. ตั้งเจตนาว่าจะอาบน้ำละหมาด
2. ล้างมือทั้งสองข้างจนถึงข้อมือ
3. บ้วนปากและล้างรูจมูก 3 ครั้งให้สะอาด
4. ล้างหน้า 3 ครั้ง ให้ทั่วบริเวณหน้าให้สะอาด
5. ล้างแขนทั้งสองข้าง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปลายนิ้วมือถึงข้อศอกโดยล้างข้างขวาก่อนข้างซ้าย
6. เอามือขวาชุบน้ำลูบศรีษะ 3 ครั้ง ตั้งแต่ด้านหน้าถึงด้านหลัง
7. เอามือทั้งสองชุบน้ำเช็ดใบหูทั้งสองข้าง 3 ครั้ง ให้เปียกทั่วทั้งภายนอกและภายในโดยเช็ดพร้อมกันทั้งสองข้าง
8. ล้างเท้าทั้ง 2 ข้าง 3 ครั้ง ให้ทั่วจากปลายเท้าถึงเลยตาตุ่ม โดยล้างเท้าขวาก่อนเท้าซ้าย
เมื่อเสร็จจากการอาบน้ำละหมาดก็ให้สวมเสื้อผ้าที่สะอาด และปิดอวัยวะสงวนโดย
- ผู้ชายต้องปิดระหว่างสะดือกับหัวเข่า
- ผู้หญิงปิดทั้งร่าง ยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือ
แล้วหันหน้าไปทาง "กิบละฮ์" (กะอ์บะฮ์ บัยตุบเบาะห์) ด้วยจิตใจอันสงบ มีสมาธิและมุ่งต่อพระเจ้า แล้วปฏิบัติ ดังนี้
1. ตั้งเจตนาแน่วแน่ในการปฏิบัติ
2. ยกมือจดระดับบ่า พร้อมทั้งกล่าวตักบีร กล่าวอัลลอฮูกักบัร ซึ่งแปลว่า อัลลอฮ์ ทรงยิ่งใหญ่ แล้วยกมือลงมากอดอก
3. ยืนตรงในท่าเดิม พร้อมกับอ่าน "บางบทจากคัมภีร์อัลกุรอาน" หรือบทฟาตีฮะห์ หรือบทอื่นๆ ตามต้องการ
4. ก้มลง ใช้มือทั้งสองจับเข่าไว้ ศีรษะทำแนวตรงกับสันหลังไม่ห้อยลงและไม่เงยขึ้นพร้อมทั้งอ่านว่า "ซุบฮานะริบบิยันอะซีวะบิฮัมดิฮฺ" 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย
5. เงยขึ้นมาสู่ที่ยืนตรง พร้อมทั้งกล่าวว่า "สมิอัลลฮุลิมันฮะมิดะฮ์ รอบบะนาละกัลฮั้มดุ"
6. ก้มลงกราบโดยให้หน้าผากและจมูกจดพื้น มือวางแนบพื้นในระดับเข่า หัวเข่าทั้งสองวางบนพื้นและปลายนิ้วสัมผัสพื้นพร้อมกับอ่านว่า "ซุบฮานะรอบบิยัลอะฮฺลาวะบิฮัมดิฮี" 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย
7. ลุกขึ้นมานั่งพักพร้อมกับอ่านบทขอพร
8. ก้มลงกราบครั้งที่สองแบบเดียวกับครั้งแรก การกระทำตามลำดับดังกล่าวนั้นถือว่า "หนึ่งร็อกอะฮ์"
9. จากนั้นขึ้นมายืนตรง แล้วย้อนกลับไปเริ่มต้นปฏิบัติตามลำดับ ตามที่กล่าวไว้แล้ว และในร็อกอะฮ์ที่สองให้ทำอย่างนี้
10. เมื่อขึ้นจากการกราบครั้งที่สอง พร้อมกับอ่านตะฮียะฮ์ คือ "อัตตะฮียาตุลมูบารอกาตุสซอลาตุตตอยยิปิตุลิลลาฮ์ อัสลามุอาลัยกะอัยยุฮันนะปิยุวะ เราหมะตุลลอฮิวะบะรอกาตุฮอัสสะลามุอาลัยนาวะอะลาอิบาติซซอลิฮีนอัซฮะดุอัลา
ฮะอิลลัลดอฮุวะอัซฮะดุอันนะมุฮัมมะดัรรอซูลุลลอฮิ อัลลอฮ์ฮุมมะซอลลิอะลามุฮำมัดอะลาอะลีมุฮัมมัด"
หากละหมาดนั้นมีเพียงสองร็อกอะฮ์ ก็ไม่ต้องขึ้นให้กระทำร็อกอะฮ์ต่อไป แต่ถ้าเป็นละหมาดที่มีร็อกอะฮ์ที่มี 3-4 ก็ให้ขึ้นกระทำตามลำดับดังกล่าวจนครบจำนวนโดย
- ถ้าเป็นละหมาด 3 ร็อกอะฮ์ ถึงการกราบครั้งที่ 2 ของร็อกอะฮ์ที่ 3 ลุกมาอ่านตะฮียะฮ์
- ถ้าเป็นละหมาด 4 ร็อกอะฮ์ ก็ลุกจากการกราบครั้งที่ 2 ของร็อกอะฮ์ ขึ้นมายืนตรงทำต่อในร็อกอะฮ์ที่ 4 ตามลำดับจนถึงการนั่งอ่านตะฮียะฮ์สุดท้าย
11. ให้สลาม คือ อ่านว่า "อัสลามุอะลัยกุม วะเราะห์มะตุลลอฮ์" ทำพร้อมกับเหลียวไปทางขวาและว่าอีกครั้งพร้อมกับเหลียวไปทางซ้าย จากนั้นก็ยกมือขึ้นลูบหน้า เป็นอันเสร็จพิธี อนึ่งก่อนพิธีละหมาดจะเริ่มขึ้นจะมีผู้บอกโดยใช้วิธีตะโกนจากหอสูง เมื่อทุกคนมาประชุมพร้อมกันแล้วหัวหน้าในพิธีการนั้นก็จะเป็นผู้นำ วันสวดมนต์ใหญ่ คือ วันศุกร์
การสวดมนต์หรือนมัสการมีอยู่ 3 ตอน คือ
- ตอนแรก เรียกว่า อาซาน คือ ตอนที่มุอาซินขึ้นไปตะโกนเรียกอยู่บนหอสูง มีเนื้อความ ว่า ไม่มีบุคคลอื่นที่ดีกว่าพระอัลลอฮ์ พระมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์จงมานมัสการกันเถิด มาทำความดีกันเถิด ดีกว่าการนอน
- ตอนสอง เรียกว่า ร็อกอะฮ์ เป็นการเริ่มสำรวม กาย วาจา และใจ คือ การกล่าวคำสวดที่ถูกต้อง ใช้อิริยาบถถูกต้องและตั้งจิตตรงต่อพระเจ้าองค์เดียวอย่างถูกต้อง
- ตอนสาม คือ ตอนกล่าวคำนมัสการโดยอิมาม หรือหัวหน้าในพิธีเป็นผู้นำกล่าวนำและกระทำนำพร้อมกัน เป็นการขอพรและสรรเสริญพระคุณของพระเจ้า อนึ่ง มุสลิมถือว่าในเทศกาลสำคัญอย่างการฉลองวันสิ้นสุดแห่งการถือศีลอด และวันฉลองการเสียสละครั้งใหญ่ (อีดุลอัฏฮา) คือ วันตรุษ จะต้องทำพิธีร่วมกันทุกคนขาดไม่ได้
ประโยชน์ของการทำพิธีละหมาด
ประโยชน์ปัจจุบันที่สำคัญที่สุด คือ เป็นการน้อมตนแก่พระเจ้าทั้งกาย วาจา และใจ ตามแบบอย่างพระศาสดาพระมุฮัมมัด และโองการที่พระเจ้ากำหนดไว้ ส่วนประโยชน์อื่นที่พึงได้รับมีดังนี้
1. เป็นการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา
2. เป็นการฝึกสมาธิและสร้างพลังจิตใจให้แข้มแข็ง
3. เป็นการช่วยแก้ปัญหาชีวิต (ระงับความทุกข์ใจ) ได้โดยทำจิตใจให้สงบ
4. เป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีหลายประการ เช่น ตรงต่อเวลา มีวินัย มีความรับผิดชอบ มีความอดทน การเอาชนะใจตัวเอง สร้างความสะอาดและความสามัคคี
5. เป็นวิธีการบริหารร่างกายทางอ้อม
6. เป็นการสร้างพลังกายให้เข้มแข็งเพื่อสามารถต่อต้านโรคภัยได้เป็นอย่างดี
7. เป็นการลดความตึงเครียดในหน้าที่การงานเพื่อดำเนินงานต่อไปอีกอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
**********************
Credit : muslimthaipost.com
Islam is my Life
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น