อิสลามถือว่า มนุษย์นั้นมีส่วนประกอบอยู่ 2 สิ่ง คือ จิตวิญญาณ หรือชีวะ และร่างกาย หรือสรีระ ทั้งจิตวิญาณและร่างกาย ต่างก็ต้องการอาหารเหมือนๆกัน เพียงแต่อาหารทั้งสองสิ่งนั้นแตกต่างกัน
อาหารของร่างกาย ได้แก่ อาหารทั้ง 5 หมู่ ยารักษาโรค ที่พักอาศัย หรือการร่วมเพศเพื่อการดำรงไว้ซึ่งเผาพันธุ์ เป็นต้น อิสลามจึงถือว่า การประกอบอาชีพ การแต่งงาน การรักษาพยาบาล การมีที่อยู่อาศัยล้วนเป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ)ทั้งสิ้น
สำหรับอาหารของจิตวิญญาณ หรือความต้องการของจิตวิญญาณ นั้นคือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ด้วยการประกอบอิบาดะฮฺต่อพระองค์ สิ่งนี้เป็นสิ่งเดียว ที่เป็นอาหารที่แท้จริงและอันยอมเยี่ยมของจิตวิญญาณ จิตวิญญาณจะรู้สึกถึงความสงบ ความแน่วแน่ และความอิ่มเอิบ ในขณะที่เขาได้เข้าใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าของเขา เขาจะรู้สึกถึงความมีอิสระจากสิ่งทั้งปวง หลุดพ้นจากพันธนาการแห่งวัตถุและชัยฏอนมารร้าย โดยมีจิตใจยึดเหนี่ยวอยู่แต่เฉพาะพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น
แต่มนุษย์โดยส่วนมากมักจะเห็นตรงกันข้าม กลับมักคิดว่าอาหารของจิตวิญญาณของคนเราก็คือ จำพวกเสียงเพลง เสียงดนตรี สิ่งมึนเมา การพนัน การมั่วโลกีย์ การมกมุ่นกับการดูละครน้ำเน่าในที่วี หรือภาพยนตร์ การติดเกมส์ หรือสิ่งไร้สาระทั้งมวล สิ่งเหล่านี้ อันแท้จริงคืออาหารจอมปลอมของจิตวิญญาณ อาหารที่เป็นพิษภัยร้ายแรง สร้างความเสื่อมเสียให้แก่จิตวิญญาณ ความสูญสลายให้กับชีวิตมนุษย์
อิสลามเป็นคำสอนจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นระบอบแห่งการดำเนินชีวิตอันสูงส่ง ทำให้ความสมดุลระหว่างด้านวัตถุ และด้านจิตวิญญาณ อิสลามไม่ต้องการให้มนุษย์ประพฤติตนสันโดษโดยไม่ยอมสังคมกับเพื่อนมนุษย์ หรือทำอิบาดะฮฺอยู่แต่ในมัสยิด ทำละหมาดทั้งคืน หรือถือศิลอดตลอดปี แต่อิสลามต้องการให้มุสลิมใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ ช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม มุสลิมต้องเป็นผู้ริมเริ่มในสิ่งดีงาม เป็นผู้ประกอบอาชีพ มีรายได้ที่หะล้าล และในขณะเดียวกันเขาก็ต้องไม่ลืมพระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา พระผู้ทรงให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่เขา การขวนขวายให้ได้มาซึ่งวัตถุอาหารของร่างกาย จะต้องไม่ทำให้เขาลืม หรือทำให้บกพร่องซึ่งอาหารของจิตวิญญาณ มุสลิมที่แท้จริง คือผู้ที่ไม่ลืมพระผู้เป็นเจ้าของเขา แม้ในขณะที่เขากำลังประกอบกิจการเกี่ยวกับดุนยาโลกนี้อยู่ก็ตาม
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น