
คำว่าฮัจญีอักบัร แปลว่า ฮัจญ์ที่ยิ่งใหญ่
พวกเราในอดีตมักจะกล่าวกันว่า ถ้าปีไหนวันศุกร์ตรงกับวันวุกูฟ ปีนั้นจะเป็นฮัจญีอักบัร ใครที่ไปทำฮัจญ์ในปีนั้นจะได้ภาคผลเท่ากับทำฮัจญ์พร้อมท่านท่านนบี 70 ครั้ง
ความเข้าใจเช่นนี้เป็นที่โจษขานกันมาเนิ่นนาน แต่หาหลักฐานทางศาสนามายืนยันไม่ได้ การที่กล่าวอ้างว่า ทำอย่างนี้ได้เท่านั้น หรือทำอย่างนั้นได้เท่านี้ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาทึกทักกันเอง และถ้าอ้างว่าท่านนบีเป็นคนกล่าว ก็ต้องหาตัวบทหลักฐานที่ศอเฮียะห์ (ฮะดีษศอเฮียะห์) มายืนยันให้ได้ หากไม่มีหรือหาไม่ได้ก็ต้องหยุดกล่าว ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการแอบอ้างโกหกมดเท็จต่อท่านนบี
จริงอยู่..แม้ว่าในปีที่นบีไปทำฮัจญ์ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายนั้น วันวูกุฟของท่านจะตรงกับวันศุกร์ก็ตามแต่ก็มิใช่เป็นกรณีพิเศษ ท่านมิได้สั่งการหรือบอกกล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พวกเราเข้าใจ
ส่วนข้อความในอัลกุรอาน ซูเราะห์อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 3 ที่พระองค์อัลลอฮ์ได้กล่าวว่า
وَآذَانٌ مِنَ اللهِ وَرَسُوْلِهِ اِلىَ النَاسِ يَوْمَ الحَجِّ الأكبَرِ اِنَّ اللهَ بَرِئٌ مِنَ المُشْرِكِيْنَ وَرَسُوْلُهُ
“และนี่เป็นประกาศจากอัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์ที่มีต่อมนุษยชาติ ณ วันฮัจญ์ที่ยิ่งใหญ่ แท้จริงอัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์ได้พ้นจากข้อสัญญาที่มีต่อบรรดามุชรีกีน”
ผู้ที่กล่าวอ้างเรื่องฮัจญีอักบัรก็จะใช้อายะห์ข้างต้นนี้เป็นหลักฐาน แต่ข้อความในอายะห์ข้างต้นนี้ แม้จะมีคำว่า ฮัจญีอักบัร (ฮัจญ์ใหญ่) อยู่จริง แต่ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าเป็นเช่นไร จึงมีบางคนทึกทักเอาว่า น่าจะเป็นกรณีที่วันศุกร์ตรงกับวันวุกูฟมั้ง เพราะวันวุกูฟของท่านนบีตรงกับวันศุกร์ นี่เป็นการนำเอา 2 เรื่องมาประกบกันเอง และทึกทักกันเอาเอง
แต่ในหนังสือตัฟซีรทั้งหลายได้อรรถาธิบายคำว่า เยาว์มัลฮัจญิลอักบัร (วันฮัจญ์ใหญ่) ก็คือ วันอะรอฟะห์ หมายถึงวันวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะห์ และบางท่านก็อธิบายว่า คือวันนะฮัร หมายถึงวันเชือดวันแรกหรือวันอีดิ้ลอัฏฮานั่น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวว่าวันอะรอฟะห์ หรือวันนะฮัร จะตรงกับวันศุกร์หรือไม่ ฉะนั้นฮัจญีอักบัรจึงหมายถึงการทำฮัจญ์ที่มีทุกปี ส่วนฮัจญ์เล็ก ก็คือการทำอุมเราะห์นั่นเอง
และเมื่อเราเข้าใจเรื่องนี้ผิดพลาด ก็จึงไปกล่าวหาซาอุดี้ว่าเลื่อนวันวุกูฟเพราะกลัวจะตรงกับวันศุกร์ เราผิดยังไม่พอ ยังต้องไปกล่าวหาผู้อื่นว่าผิดอีกด้วย
ที่สำคัญก็คือ บรรดาแซะห์ที่พาคนไปทำฮัจญ์มักจะเอาเรื่องฮัจญีอักบัร ตามนิยายปรัมปราเป็นจุดขาย แต่..
ท่านมีรายได้จากการขายศาสนา มันจะคุ้มกันหรือ?
........................................
โดยอาจารย์ฟารีด เฟ็นดี้
Sulaimarn Darakai โพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น