อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

เมื่อมีการละหมาดอีดสองวัน


การที่มุสลิมในเมืองไทยมีการกำหนดวันอีดิลอัฎฮาปีนี้ไม่ตรงกัน คือ บางที่วันที่ 4 ตุลาคม บางที่ วันที่ 5 ตุลาคม ก็ส่งผลให้มุสลิมหลายท่านเกิดความสับสน ว่าออกอีดวันไหนดี จะละหมาดอีดวันไหน หากละหมาดวันอีดวันที่ 4 แล้วจะละหมาดอีดวันที่ 5 อีกได้หรือไม่? ซึ่งมุสลิมบางคนทำงานอยู่ต่างจังหวัด และมีการละหมาดอีดในวันที่ 4 ไปแล้ว เมื่อกลับไปบ้านทางครอบครัวและหมู่บ้านของเขาจะมีการละหมาดอีดในวันที่ 5 ซึ่งมุสลิมคนนั้นอาจไม่กล้าบอกความจริงว่าตนได้ละหมาดอีดไปแล้วเมื่อวันที่ 4 เพราะกลัวจะมีปัญหาทางครอบครัว จึงไปร่วมละหมาดอีดอีกครั้ง เป็นครั้งที่สองจะได้หรือไม่?

ซึ่งละหมาดอีดนั้นเป็นละหมาดสุนัต ไม่ใช่วาญิบ ดังนั้น หากมุสลิมคนใดได้ละหมาดอีดไปแล้ว ก็สามารถไปร่วมการละหมาดอีดอีกก็ได้ โดยให้เนียตละหมาดสุนัตอื่น อย่างเวลาที่มีการละหมาดอีดจะอยู่ช่วงสายๆของกลางวัน ซึ่งตรงกับช่วงเวลาละหมาดฎุฮา ก็ให้เราเนียตละหมาดดุฮา 2 ร็อกอะฮ์ และขณะมีการตักบีรฺละหมาดอีด ผู้ที่เนียตละหมาดฎุฮาก็ให้กล่าวตักบีรฺพร้อมยกมือในครั้งแรกเท่านั้น ไม่ต้องกล่าวตักบีรฺและยกมือครั้งอื่นอีก (ตักบีรกับยกมือนั้นต่างกัน ตักบีรฺคือการกล่าวอัลลอฮูอักบัรฺ การตักบีรฺมิจำเป็นต้องยกมือเสมอไป ส่วนการตักบีรฺในละหมาดอีดทั้งสอง นั้นมีทัศนะต่างกัน ทัศนะหนึ่งให้ยกมือไปพร้อมกับตักบีรฺ อีกทัศนะหนึ่งไม่ต้องยกมือพร้อมตักบีรฺยกเว้นการตักบีรฺครั้งแรก) ส่วนกริยาบทอื่นก็ให้ปฏิบัติไปตามอิมามจนกล่าวสลามออกจากละหมาด

ส่วนการนั่งฟังการกล่าวคุฏบะฮ์ ก็สามารถนั่งฟังได้ตามปกติ และร่วมกิจกรรมอื่นๆที่กระทำในวันอีดได้ตามปกติเช่นกันไม่ว่าการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง หรือการเชือดกุรบานก็ตามที


والله ولي التوفيق



ท่านยะซีด บุตรของอัลอัสวัด ร่อฎียัลลอฮุอันฮ์ เล่าว่า
“ฉันอยู่กับท่านรสุลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิ วะซัลลัม ในการทำหัจญ์ของท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิ วะซัลลัม ฉันละหมาดศุบฮฺพร้อมกับท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิ วะซัลลัมที่มัสยิดอัลค็อยฟฺ ครั้นเมื่อละหมาดเสร็จ ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิ วะซัลลัม ก็หันไปเห็นชาย 2 คน ซึ่งเขาไม่ได้ละหมาดร่วมกับท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิ วะซัลลัม ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิ วะซัลลัม จึงกล่าวว่า ช่วยเรียก 2 คนนั้นมาหาฉันหน่อยซิ ชายทั้งสองก็มาหาท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิ วะซัลลัม ในสภาพที่ตัวสั่น (เนื่องจากความกลัว) ท่านรสูล ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิ วะซัลลัม ถามว่า มีสิ่งใดที่ยับยั้งท่านทั้งสองไม่ให้ละหมาดร่วมกับพวกเรา ชายทั้งสองตอบว่า ปรากฏว่าเราทั้งสองละหมาด(ศุบฮฺ) ที่บ้านของเรามาแล้ว ท่านรสูล ฮฺ ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิ วะซัลลัม จึงกล่าวว่า ทีหลังท่านทั้งสองอย่าทำเช่นนี้ แต่เมื่อท่านทั้งสองละหมาดที่บ้านของท่านทั้งสองแล้ว จากนั้นทั้งสองมาที่มัสยิด(ซึ่งกำลังละหมาด)ญะมาอะฮฺ เช่นนั้นท่านทั้งสองจงละหมาดร่วมกับพวกเรา แท้จริงการละหมาดของท่านทั้งสอง(ในครั้งที่สอง) เป็นละหมาด(ที่ได้รับผลบุญเท่ากับ)สุนนัต(ไม่ใช่ฟัรฎูสำหรับเขา)”
(บันทึกหะดิษโดยอัตติรฺมีซีย์ หะดิษเลขที่203 นะสาอีย์ หะดิษเลขที่ 8491 อะหฺมัด หะดิษเลขที่ 16829 และอัดดริมีย์ หะดิษเลขที่ 1332)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น