อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พัฒนาการของวัยทารก




วัยทารก (มัรฺหะละฮฺ อัร-เราะฎออฺ)


          วัยทารกคือช่วงวัยที่เด็กกินนมแม่เป็นอาหารหลัก เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เกิดไปจนถึงช่วงปลายของขวบปีที่สอง นั่นคือมีระยะเวลาทั้งหมดสองปีโดยประมาณ อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

(وَالْوَالِدَاتُ يُرْضِعْنَ أَوْلادَهُنَّ حَوْلَيْنِ كَامِلَيْنِ لِمَنْ أَرَادَ أَنْ يُتِمَّ الرَّضَاعَةَ)  البقرة : 233

 "และมารดาทั้งหลายนั้น จะให้นมแก่ลูกๆ ของนางภายในสองปีเต็ม สำหรับผู้ที่ต้องการจะให้ครบถ้วนในการให้นม"

(2:233)


คุณลักษณะเฉพาะของวัยทารก

          ความสำคัญของช่วงวัยนี้อยู่ที่การแยกตัวของทารกออกจากแม่หลังจากที่ต้องอาศัยอยู่ในท้องของนาง และต้องออกมาอยู่ในโลกภายนอกที่ตนไม่เคยรู้จักก่อนหน้านี้ การดูแลของครอบครัวจะมีผลต่อเด็กทั้งในแง่ของการให้อาหาร การเลี้ยงดู และการให้ความอบอุ่น

          การดูแลเด็กทารกหลังจากคลอดแล้วนั้นมีความสำคัญยิ่ง ควรต้องระแวงระวังให้มาก เพราะทารกนั้นเปรียบเหมือนกิ่งไม้ ตราบใดที่มันยังติดอยู่กับต้น ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่ลมพายุจะพัดหรือตีมันให้หักโค่น แต่เมื่อใดมันถูกย้ายไปปลูกที่อื่นเสีย แน่นอนว่าแค่ลมพายุเพียงเล็กน้อยก็สามารถถอนรากมันได้ ดั้งนั้น เด็กเมื่อแยกออกจากท้องแม่แล้ว ด้วยการย้ายจากสถานที่ที่ตนเคยชินแบบกระทันหันในคราวเดียว ย่อมเป็นสิ่งที่หนักหนาสำหรับเขามาก เพราะมันไม่ได้เป็นไปอย่างที่ละเล็กที่ละน้อยหรือแบบค่อยเป็นค่อยไป


ปัจจัยที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อนิสัยของเด็กในช่วงวัยนี้ก็คือ การให้นม

          บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างยอมรับว่าเด็กทารกนั้น นอกจากจะได้รับประโยชน์จากนมที่เขาดูดแล้ว เขายังได้รับอิทธิพลในด้านนิสัยจากแม่นมมาด้วย ผ่านนมที่นางให้เขา หมายความว่า ควรต้องเลือกสรรแม่นมที่มีนิสัยดี ไม่ใช่คนเลวทราม เป็นผู้มีคุณธรรมความยำเกรง

         อิบนุ กุดามะฮฺ ได้กล่าวว่า อบู อับดิลลาฮฺ (อิมาม อะหฺมัด) ถือว่าการให้ลูกกินนมจากผู้หญิงที่มีนิสัยชั่วและผู้ที่ตั้งภาคีนั้น เป็นสิ่งที่มักรูฮฺ(น่ารังเกียจถึงขั้นต้องห้าม)

         อุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ และ อุมัรฺ อิบนุ อับดิลอาซีซ รอฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ก็ได้กล่าวว่า น้ำนมมีผลทางความคล้ายคลึง ดังนั้นจึงอย่ารับน้ำนมจากหญิงชาวยิว หญิงชาวคริสต์ หรือหญิงโสเภณี ... เพราะน้ำนมจากหญิงที่ชั่วอาจจะทำให้เด็กเติบโตคล้ายคลึงกับผู้ให้นมเขาในการทำชั่ว และยังทำให้แม่นมกลายเป็นมารดาของเขา นั่นจะทำให้เขามีตำหนิและได้รับผลเสียในทางนิสัยใจคอ

การได้รับน้ำนมจากหญิงผู้ตั้งภาคีจะทำให้นางได้เป็นแม่ของเด็กเช่นกัน ซึ่งนางจะอยู่ในฐานะแม่ทั้งๆที่นางเป็นผู้ตั้งภาคี เด็กอาจจะผูกพันกับนางจนกระทั่งเห็นชอบในศาสนาของนางด้วย การให้นมจากหญิงที่โง่เขลาเบาปัญญาก็เป็นมักรูฮฺเช่นกัน เพื่อไม่ให้เด็กคล้ายกับนาง คือเติบใหญ่เป็นคนโง่เหมือนนาง เพราะมีผู้กล่าวว่า การให้นมนั้นสามารถเปลี่ยนนิสัยได้ วัลลอฮฺ อะอฺลัม



          สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอีกประการคือ ไม่ควรให้นมจากน้ำนมที่หะรอม ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายด้วยค่าตอบแทนที่หะรอม หรือแม่นมเป็นคนที่ละเลยและทำเป็นเรื่องเล็กน้อยกับการดื่มกินของหะรอม อิมาม อัล-เฆาะซาลีย์ กล่าวว่า แท้จริงน้ำนมที่ได้มาจากสิ่งหะรอมนั้นไม่มีความประเสริฐอยู่เลย เมื่อใดที่ทารกได้รับมันแล้ว เลือดเนื้อของเขาก็จะก่อตัวจากสิ่งที่เลวทราม นิสัยใจคอก็จะเอนเอียงไปสู่สิ่งที่เลวทรามเช่นกัน

         ถ้าหากการให้นมที่ไม่ควรส่งผลเสียต่อเด็กแล้ว เช่นเดียวกันนั้นถ้าหากเป็นการให้นมที่ดีก็จะทำให้เด็กได้รับผลดีในด้านนิสัยใจคอตามไปด้วย แม่ที่ให้นมลูกด้วยความรักจะมอบความอบอุ่นและอาหารทางจิตใจให้เขาในขณะที่นางอุ้มเขาอยู่ นอกจากที่ลูกจะยังได้รับนมที่มีประโยชน์จากนางอีกด้วย การให้นมคือการสื่อสารระหว่างลูกกับแม่ เขาจะรู้สึกอุ่นและปลอดภัยในตักและอ้อมแขนทั้งสองของนาง

การให้นมไม่เพียงให้ความอิ่มทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังให้ความอิ่มทางใจแก่เด็กที่โหยหาความรัก การดูแลเอาใจอีกด้วย การที่เขารู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลายทางจิตใจจะทำให้เขาเป็นคนที่มีสมดุลในด้านความรู้สึกและนิสัยใจคอ เพราะไม่มีปัจจัยด้านลบที่เกิดจากความบกพร่องในการให้นมและความอบอุ่นทางใจที่มาพร้อมกับการให้นมนั้น



• ควรสังเกตว่าในวัยนี้เด็กจะยังไม่สามารถสื่อถึงความรู้สึกและอาการเจ็บปวดด้วยภาษาพูด แต่วิธีที่เขาสามารถสื่อได้ก็คือด้วยการร้อง และใช้มือจับที่ที่รู้สึกเจ็บ

• คุณลักษณะเฉพาะอีกประการหนึ่งก็คือ การไวต่อความรู้สึกเมื่อเห็นภาพที่น่ากลัว หรือสิ่งที่ทำให้ตกใจ สิ่งนี้อาจจะส่งผลต่อสติปัญญาของเด็กได้ด้วย

• วัยนี้มีลักษณะทางร่างกายที่ยังไม่แข็งแรงพอ เหตุเพราะเพิ่งออกจากท้องแม่ ดังนั้นควรต้องไม่ฝึกให้ลูกเดินก่อนถึงเวลาอันควร เพราะจะทำให้ขาโค้งงอได้ และไม่ควรนำเด็ก “เฏาะวาฟ” (เดินเวียนรอบกะอฺบะฮฺ) จนกว่าจะครบสามเดือน

• เด็กในวัยนี้อาจจะขี้ร้องเมื่อถึงเวลาหิว แต่พ่อแม่ไม่ควรรู้สึกหนักใจกับสิ่งนี้ การร้องของเด็กมีประโยชน์ที่ใหญ่หลวง เพราะมันจะช่วยพัฒนาอวัยวะกล้ามเนื้อ เปิดลำไส้ให้กว้าง ขยายปอด ทำให้สมองอุ่น ดูแลความสมดุล ช่วยกระเพาะและลำไส้ให้ขับถ่ายของเสีย และยังช่วยขับสิ่งที่ตีบตันในสมองได้ด้วย

• เด็กมักจะไม่หย่านมได้ในคราวเดียว ดังนั้นควรต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการหย่านมในคราวเดียวขัดกับธรรมชาติของเด็กที่สามารถจะรับได้




คำแนะนำของอิสลามสำหรับช่วงวัยทารก

         อิสลามได้ให้ความสำคัญกับการดูแลอุปนิสัยของทารกตั้งแต่แรกเกิดหลังจากออกมาจากท้องแม่ โดยให้แวดล้อมด้วยการเลี้ยงดูและจริยธรรมอิสลาม สิ่งแรกที่ควรต้องเข้าไปสัมผัสโสตหูของเด็กคือถ้อยคำแห่งเตาฮีด ดังที่มีรายงานจากอบู รอฟิอฺ จากบิดาของท่านว่า

“ฉันได้เห็นท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ทำการอะซานตรงหูของหะสัน บุตรของอะลี เมื่อครั้งที่ฟาฏิมะฮฺได้ให้กำเนิดเขา”

ท่านอิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวถึงประโยชน์ของอะซานว่า

“ไม่ต้องปฏิเสธเลยว่า ผลดีของอะซานนั้นจะส่งผลไปยังหัวใจของเด็ก เขาจะมีปฏิกริยากับสิ่งนั้นถึงแม้จะไม่รู้สึกอะไรก็ตาม พร้อมกับข้อดีอีกประการ นั่นคือการหนีห่างของชัยฏอนจากเสียงอะซาน”

หลังจากนั้นให้ทำการ ตะหฺนีก (คือการเปิดปากตามที่เข้าใจกันในหมู่ชาวมุสลิม) ของเด็กด้วยผลอินทผาลัม มีหลักฐานที่เศาะฮีหฺจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเล่าโดย อบู มูซา ว่า

“ตอนที่ลูกคนหนึ่งของฉันเกิด ฉันได้นำเขาไปหาท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้ตั้งชื่อเขาว่า อิบรอฮีม และได้เปิดปากเขาด้วยผลอินทผาลัม”

เหตุผลที่ให้ทำเช่นนั้น อาจจะเป็นเพราะเพื่อให้กล้ามเนื้อปากแข็งแรงด้วยการได้ขยับลิ้นและได้เปิดปากกว้างขึ้นจากการตะหฺนีก เพื่อให้พร้อมต่อการดูดนม



          หนึ่งในมารยาทของอิสลามคือการทำ อะกีเกาะฮฺ (การเชือดสัตว์เช่น แพะ แกะ วัว ตอนเด็กแรกเกิด) เพื่อแสดงถึงความดีใจและสุขใจที่มีสมาชิกใหม่กำเนิด

เล่าจากอุมมู กัรซ์ อัล-กะอฺบิยะฮฺ นางได้ถามท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถึงการทำอะกีเกาะฮฺ ท่านรอซูลได้ตอบนางว่า

“สำหรับเด็กชายนั้นแพะสองตัว สำหรับเด็กผู้หญิงนั้นแพะตัวเดียว ไม่จำเป็นว่าแพะนั้นจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย”

          ในจำนวนมารยาทของอิสลามเกี่ยวกับทารกก็คือ การขจัดสิ่งสกปรก(หมายถึงเส้นผลที่มีมาพร้อมเด็กตั้งแต่กำเนิด)จากศรีษะของเขาในวันที่เจ็ดหลังจากคลอด ท่านอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เล่าว่า

"ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ทำอะกีเกาะฮฺให้กับหะสันและหุสัยน์ในวันที่เจ็ด ได้ตั้งชื่อให้ทั้งสอง และได้สั่งให้ขจัดสิ่งสกปรก"

         เป็นหนึ่งในมารยาทอันงดงามมากที่จะมอบให้เด็ก นั่นคือการเลือกชื่อที่สวยงามให้เขา ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

“เมื่อคืนได้ถูกกำเนิดแก่ฉันซึ่งลูกชายคนหนึ่ง ดังนั้นฉันจึงได้ตั้งชื่อเขาด้วยชื่อของบิดาฉัน นั่นคือ(ท่านนบี)อิบรอฮีม”

ท่านยังได้กล่าวว่า

“แท้จริงชื่อของพวกเจ้าอันเป็นที่รักยิ่งที่สุดของอัลลอฮฺคือ อับดุลลอฮฺ และ อับดุรเราะห์มาน”

         อันเนื่องมาจากชื่อคือสิ่งที่บ่งชี้และแสดงถึงความหมาย ดังนั้นจึงเป็นวิทยปัญญาประการหนึ่งที่เราพบว่ามีความสัมพันธ์และความสอดคล้องกันระหว่างชื่อและความหมายนั้น ชื่อต่างๆ ยังมีส่วนต่อความรู้สึกของผู้เป็นเจ้าของ และเจ้าของชื่อเองจะมีความรู้สึกต่อชื่อของตนเองทั้งที่งดงามหรือน่าเกลียด เบาบางหรือหนักแน่น อ่อนโยนหรือแข็งกระด้าง เป็นต้น



กวีท่านกล่าวว่า “น้อยนักที่ตาท่านจะมองไปยังสิ่งใดที่มีชื่อ เว้นแต่ความหมายของมันจะซ่อนอยู่ในชื่อนั้นถ้าท่านพินิจดูให้ดี”

ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ชอบให้ตั้งชื่อที่ดี

          สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกประการคือ การคิตาน (การขลิบอวัยวะเพศ) ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวไว้ความว่า

“การดูแลความสะอาดที่นับเป็นธรรมชาติของคนนั้นมีห้าประการ คือ การคิตาน การโกนขนลับ การตัดหนวด การตัดเล็บ และการถอนขนใต้วงแขน”

         การคิตานมีประโยชน์ในด้านความสะอาดและความงาม โดยเฉพาะความสมดุลของอารมณ์ใคร่ ที่หากมีมากเกินไปก็จะเหมือนสัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าไม่มีเลยก็จะทำให้มนุษย์กลายเป็นเหมือนของแข็ง ดังนั้นการคิตานคือตัวที่ช่วยให้เกิดความสมดุล ด้วยเหตุนี้เราจะพบว่า ผู้ที่ไม่คิตานมักจะไม่รู้สึกพอกับการมีเพศสัมพันธ์ สิ่งนี้นี่เองที่อาจจะเป็นตัวช่วยปรับนิสัยของมนุษย์ในการสนองความใคร่ให้พอดี เขาจะไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ใคร่ และจะไม่เป็นเจ้าของที่ไม่รู้จักใช้ประโยชน์ของมันในการสืบทอดเผ่าพันธุ์และวงศ์ตระกูล ดังนั้นจะต้องไม่เลยเถิดและต้องไม่ตกขอบ แต่ต้องมีความสมดุลและความพอดีระหว่างทั้งสองภาวะนั้น

          สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนสำหรับวัยนี้คือ การให้ความสำคัญของอิสลามในเรื่องมารยาทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทารกเช่น การตะหฺนีก(การเปิดปาก) การให้นม อะกีเกาะฮฺ การตั้งชื่อ การคิตาน ฯลฯ เหล่านี้เป็นคุณลักษณะเฉพาะของคำสอนอิสลามที่อาจจะไม่พบเห็นได้ในคำสอนอื่น




การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

          - ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามซุนนะฮฺในการเปิดปากทารก การอะซานที่หูขวา การทำอะกีเกาะฮฺในวันที่เจ็ด การคิตานก่อนจะบรรลุเพศภาวะ(บาลิฆฺ) การเอาใจใส่เรื่องการให้นมจากแม่ ไม่หันไปใช้นมผงเว้นแต่มีความจำเป็นและไม่มีสิ่งใดที่ทดแทน เพราะนมแม่ประกอบด้วยธาตุต่างๆที่ไม่มีในนมชนิดอื่น

          - เลือกแม่นมที่มีคุณธรรม ถ้าหากจำเป็นต้องหาแม่นมให้กับทารก สิ่งเหล่านี้นี่เองที่อาจจะส่งผลในทางจริยธรรมแก่ทารก ตามวัยและการเจริญเติบโตทางร่างกายที่แข็งแรง เพราะร่างกายที่แข็งแรงจะส่งผลให้มีปัญญาที่ดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อนิสัยและพฤติกรรมของมนุษย์

          - สถาบันต่างๆ ในสังคมควรต้องทำหน้าที่ในการให้ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น


 .................................................................
บทความโดย ศ.ดร.คอลิด บิน หามิด อัล-หาซิมีย์
ถอดความโดย ซุฟอัม อุษมาน / www.e-daiyah.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น