อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การเยาะเย้ยผู้ตักเตือน และเห็นเรื่องศาสนาเป็นที่ขบขัน



การเยาะเย้ยต่อบรรดาผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน ผู้สั่งใช้ให้ผู้อื่นทำความดี ละเว้นความชั่ว รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ทั้งหลาย ที่เป็นคนดีของสังคม อีกทั้งยังเรียกพวกเขา ด้วยสรรพนามที่น่ารังเกียจ หาเรื่องใส่ร้ายป้ายสี โดยทำให้เป็นเรื่องตลกขบขัน นักวิชาการบางท่าน กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ผู้ใดเยาะเย้ยผู้รู้ หรือผู้ที่สั่งใช้ผู้อื่น ให้ทำความดี ละเว้นความชั่ว ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ถือว่าเขานั้น ได้ออกจากวงจรแห่งศาสนาแล้ว อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَلَئِن سَأَلۡتَهُمۡ لَيَقُولُنَّ إِنَّمَا كُنَّا نَخُوضُ وَنَلۡعَبُۚ قُلۡ أَبِٱللَّهِ وَءَايَٰتِهِۦ وَرَسُولِهِۦ كُنتُمۡ تَسۡتَهۡزِءُونَ ٦٥ ﴾ [التوبة: ٦٥]

ความว่า “และถ้าหากเจ้าได้ถามพวกเขา แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า แท้จริงพวกเรา เป็นเพียงแต่พูดสนุก พูดเล่นเท่านั้น จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า ต่ออัลลอฮฺ และบรรดาโองการ ของพระองค์ และเราะสูลของพระองค์ กระนั้นหรือ ที่พวกท่านเย้ยหยันกัน? พวกท่านอย่าแก้ตัวเลย แท้จริงพวกท่าน ได้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว หลังจากการมีศรัทธา ของพวกท่าน” (อัต-เตาบะฮฺ: 65)

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการเยาะเย้ยต่อคนงาน หรือคนจน และคนอ่อนแอ รวมทั้งการดูถูกพวกเขาว่า เป็นคนสัญชาตินั้น สัญชาตินี้ หรือมาจากประเทศนั้น ประเทศนี้ มีชายคนหนึ่ง เดินผ่านท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วท่านกล่าวถาม ผู้ที่อยู่กับท่านว่า “พวกท่านเห็นว่า ชายคนนี้เป็นอย่างไร?” พวกเขาตอบว่า "แน่นอนเขาผู้นี้ หากไปขอใครแต่งงาน ก็คงได้รับการยินยอม ขอความช่วยเหลือใคร ก็ได้รับความช่วยเหลือ หรือพูดสิ่งใดก็มีคนรับฟัง" ท่านนบีก็เงียบ จนกระทั่งชายยากจนคนหนึ่ง เดินผ่านมา ท่านนบีจึงถามขึ้นอีกว่า “แล้วชายผู้นี้เล่า พวกท่านเห็นเป็นอย่างไร?” พวกเขาตอบว่า "แน่นอนเขาผู้นี้ หากไปขอใครแต่งงาน ก็คงไม่มีใครยกให้ ขอความช่วยเหลือใคร คงไม่มีใครยอมช่วยเหลือ หรือพูดสิ่งใด ก็คงไม่มีใครรับฟัง" ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า “ชายยากจนผู้นี้ ประเสริฐยิ่งกว่าผู้นั้น แม้ว่าจะมีจำนวนเต็มแผ่นดิน รวมกันเสียอีก” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 5091)

ผู้ที่เยาะเย้ยผู้อื่น เขานั้นไม่รู้หรอกว่า ผู้ที่เขาเยาะเย้ยนั้น อาจเป็นคนดี และเป็นผู้ที่ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ มากกว่าเขาเสียอีก พระองค์ ตรัสว่า

﴿إِنَّ أَكۡرَمَكُمۡ عِندَ ٱللَّهِ أَتۡقَىٰكُمۡۚ ﴾ [الحجرات: ١٣]

ความว่า “แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า” (อัล-หุญุรอต: 13)

มะหฺมูด อัล-ฆ็อซนะวียฺ กล่าวว่า:

فلا تَحْقِرَنَّ خَــلقًا مِن النـــاسِ عَلَّهُ  وَلِيُّ إِلَـــهِ العــــالمينَ وَمَـا تَدْرِي
فذو القَدْرِ عِنْدَ اللهِ خَافٍ عَنِ الوَرَى   كَمَا خَفِيَتْ عَنْ عِلْمِهِمْ ليلةُ القدرِ

ท่านอย่าได้ดูถูกผู้หนึ่งผู้ใด เป็นอันขาด เพราะเขาคนนั้น
อาจเป็นที่รัก ของพระเจ้า แห่งสากลโลก โดยที่ท่านไม่รู้
ผู้ที่มีสถานะอันสูงส่ง ณ อัลลอฮฺ มักไม่ปรากฏต่อสายตาผู้อื่น
เหมือนที่พวกเขาไม่อาจรู้ได้ว่า คืนใดคือลัยละตุลก็อดรฺ

และอีกตัวอย่างหนึ่ง คือการเยาะเย้ย ต่อเพื่อนบ้าน เพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง ซึ่งสาเหตุของการดูถูกเยาะเย้ยนี้นั้น อาจเกิดจากความอิจฉาริษยา กล่าวคือ บางคนอาจโดดเด่น เหนือญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง ทั้งในเรื่องการค้าขาย เรื่องความรู้ รวมทั้งเรื่องการศึกษา จึงมีผู้อิจฉา และแสดงออก ด้วยการพูดดูแคลน เยาะเย้ยนินทา พวกเขาเหล่านี้ ในที่ชุมนุม เพื่อให้พวกเขา ดูไม่ดี ในสายตาผู้อื่น

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«لَا تَحَاسَدُوْا ، وَلَا تَنَاجَشُوْا ، وَلَا تَبَاغَضُوْا ، وَلَا تَدَابَرُوْا ، وَلَا يَبِعْ بَعْضُكُمْ عَلىَ بَيْعِ بَعْضٍ ، وَكُوْنُوْا عِبَادَ اللهِ! إِخْوَانًا ، المُسْلِمُ أَخُو المُسْلِمِ ، لَا يَظْلِمُهُ وَلَا يَخْذُلُهُ وَلَا يَحْقِرُهُ ، التَّقْوَى هَهُنَا» ويشير إلى صدره ثلاث مرات «بِحَسْبِ امْرِئٍ مِنَ الشَّرِّ أَنْ يَحْقِرَ أَخَاُه المُسْلِمَ ، كُلُّ المُسْلِمِ عَلَى المُسْلِمِ حَرَامٌ : دَمُهُ وَمَالُهُ وَعِرْضُهُ» [مسلم برقم 2564]

ความว่า “พวกท่านจงอย่าอิจฉาริษยาผู้อื่น อย่าเพิ่มราคาสินค้า โดยที่ท่านเองไม่ต้องการซื้อ เพื่อเป็นหน้าม้า ให้ผู้ขายได้รับประโยชน์ อย่าได้โกรธเคืองซึ่งกันและกัน อย่าได้ขัดแย้งกันเอง อย่าได้ขายของตัดหน้ากัน และพวกท่านจงเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ ที่มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน มุสลิมทุกคนคือพี่น้องกัน ท่านอย่าได้อธรรมต่อกัน อย่าได้ให้ร้ายต่อกัน และอย่าดูถูกซึ่งกันและกัน แท้จริงการยำเกรง ต่อพระองค์อัลลอฮฺอยู่ที่นี่” แล้วท่านนบี ก็ชี้ไปที่หน้าอกของท่าน สามครั้ง และกล่าวว่า “ถือเป็นความชั่วร้าย ที่มุสลิมจะดูถูกพี่น้องมุสลิมด้วยกัน เพราะมุสลิมทุกคนนั้น เลือดเนื้อของเขา ทรัพย์สินของเขา และเกียรติของเขานั้น เป็นสิ่งต้องห้ามระหว่างกัน” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2564)

والحمد لله رب العالمين،
وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.




.................................
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ

islamhouse.com

*****
การเยาะเย้ยต่อผู้ตักเตือน ทำเรื่องศาสนาเป็นที่ขบขัน นำมาเป็นที่หยอกเล่น ล้อเลียนกัน ไม่ได้มีความจริงใจต่อสิ่งที่นำเสนอ หนำซ้ำยังไม่พอใจในสิ่งที่ถูกแนะนำ หรือตักเตือนนั้น ท่านผู้นั้น โปรดกลับไปทบทวนความศรัทธาในหัวอกของท่านต่ออิสลามที่ได้ติดตัวท่านมาตั้งแต่กำเนิดด้วยเถิด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น